เพื่อนๆ จำกันได้มั๊ยครับว่าก่อนหน้านี้สวนหลังบ้านของเราได้พูดถึงโลกของแมมมิลาเรียกันไปแล้ว แต่ความน่ารักของเจ้าแคคตัสสายพันธุ์นี้ยังไม่หมดฮะ วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับแคคตัสตระกูลเเมมมิลลาเรียอีกชนิดนึง ซึ่งมีชื่อสุดเท่ว่า “แมมมิลลาเรีย คามิเน่” (Mammillaria carmenae) หน้าตาจะเป็นยังไง ตามไปดูกันเล้ยยยย
แมมมิลลาเรีย คามิเน่
(Mammillaria carmenae)
แมมมิลลาเรีย คามิเน่ (Mammillaria carmenae) หรือคุ้นชินกับการเรียกสั้นๆ ว่า “คามิเน่” เหล่าสาวกก็รู้เเล้วว่าหมายถึงเจ้าแมมมิลลาเรียที่มีลักษณะตะมุตะมิชนิดนี้ คามิเน่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ตอนกลางของเม็กซิโก ตั้งขึ้นมาจากชื่อของศาสตราจารย์ Carmen Gonzales-Castaneda ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1953 แล้วก็สูญหายไปช่วงนึง และกลับมาค้นพบในธรรมชาติอีกครั้ง ปี ค.ศ.1977 แต่เจอน้อยมากๆ ว่ากันว่าเป็นไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ในสมัยนั้นครับ แต่ปัจจุบันได้มีการเพาะพันธุ์ขึ้นมากมายตามโรงเรือนอนุบาลไม้หลายแห่ง ทั้งในต่างประเทศและในเมืองไทย จนปัจจุบันนี้ แมมมิลลาเรีย คามิเน่ ไม่ใช่ไม้หายากอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงพันธุ์เป็นลูกผสม หรือมีการกลายพันธุ์เป็นรูปแบบอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น คริส (Mammillaria carmenae cristata) และมอนส์ (Mammillaria carmenae monstrose) เป็นต้น
เป็นที่รู้กันว่า ในแคคตัสภายในตระกูลแมมมิลาเรียเอง ก็มีความหลากหลายจนจำกันไม่หมดอยู่แล้ว คามิเน่เองก็เป็นหนึ่งในนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นแคคตัสขนาดเล็กทรงกลมรีและสูงขึ้นตามธรรมชาติจะไม่แตกหน่อเป็นกอ แต่แตกหน่อออกรอบลำต้น ลักษณะหนามที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ จัดเป็นช่อๆ สานชิดกัน แล้วแผ่ออกคล้ายพลุที่ถูกจุดขึ้นกลางท้องฟ้า คามิเน่ที่นิยมปลูกมีอยู่ 3 ชนิด โดยนิยมเรียกแยกชนิดกันตามสีของขนหนาม ไม่ว่าจะเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีแดง สามารถให้ดอกได้ทั้งสีขาว และสีชมพู ตามแต่สายพันธุ์ แถมเจ้าคามิเน่ยังนิยมเลี้ยงในกลุ่มนักเลี้ยงแคคตัสมือใหม่ เพราะนอกจากราคาค่าตัวที่เป็นมิตรกับสาวกมือใหม่มากๆ แล้ว น้องยังอึดถึกทนต่อทุกสภาพแวดล้อมอีกด้วยฮะ
แมมมิลาเรีย คามิเน่ ก็มีความคล้ายกับแคคตัสสกุลอื่นๆ คือมีทั้งสายพันธุ์แท้ เเละลูกผสม หรือไฮบริด มีคริส มีมอนส์ แต่ไม่ว่าจะถูกปรับปรุงพันธุ์ไปแค่ไหน คามิเน่ก็ยังความเป็นคามิเน่ คือลักษณะลำต้นและหนามที่น่ารักนั่นเอง มีคามิเน่บางสายพันธุ์เป็นที่ฮอตฮิต และต้องมีในครอบครองของเหล่าสาวกที่สะสมแมมมิลลาเรียกลุ่มคามิเน่ เพราะเอกลักษณะที่โดดเด่นของขนหนาม จึงเป็นที่จับตาต้องใจของสาวกคามิเน่เป็นที่สุด ยกตัวอย่างเช่น
แมมมิลาเรีย คามิเน่ บุดดา (Mammillaria carmenae Buddha)
มีลักษณะเด่นๆ เลยคือ ฐานของดอกจะมีขนาดใหญ่กว่าคามิเน่ทั่วไป และสีของขนหนามจะมีสีทองเหลืองอร่าม บางตำรากล่าวว่า ที่เรียกว่า บุดดา (Buddha) เพราะลักษณะขนหนามแผ่ช่อออกมาคล้ายกับพระเกศาบนเศียรของพระพุทธเจ้า เลยถูกเรียกว่า “พุทธา” แผลงไปแผลงมา กลายเป็น “บุดดา” นั่นเอง
แมมมิลาเรีย คามิเน่ (สีโคล่า)
เป็นอีกหนึ่งคามิเน่ที่นิยมเลี้ยงและสะสม อาจเป็นเพราะสีขนหนามของน้อง คล้ายสีของโคล่า เลยถูกเรียกชื่อเล่นน่ารักๆ แบบนี้ฮะ สาวกคามิเน่กล่าวว่า ยิ่งโดนแดดมากๆ หนามน้องจะยิ่งแน่นและสีจะยิ่งเข้มขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดและนักสะสมพอสมควรเลยนะ
เทคนิคการเลี้ยงและดูแล “คามิเน่”
สำหรับสวนหลังบ้านแล้ว ในบรรดาแคคตัสสกุลแมมมิลาเรีย คิดว่าคามิเน่เป็นเเมมมิลาเรียที่เลี้ยงง่ายอันดับต้นๆ เลย ด้วยพื้นเพดั้งเดิมของเเมมมิลาเรียค่อนข้างทนในสภาพอากาศที่แห้ง เป็นแคคตัสที่ชอบแสงแดดปานกลางถึงแดดจัด แคคตัสสกุลแมมมิลาเรียจึงสามารถเลี้ยงแดด 100% ได้ คามิเน่ก็เช่นกัน เพราะมีหนามคลุมต้นอย่างหนาแน่นช่วยบดบังแสงแดดได้ดีอยู่เเล้ว แต่แดดเมืองไทยค่อนข้างใจร้ายไปนิดนึง หากเลี้ยงคามิเน่ในจุดที่แดดส่องตลอดทั้งวัน แนะนำเพื่อนๆพรางด้วยสะแลน ซัก 50% กำลังดีฮะ
ในส่วนของดินสำหรับปลูกคามิเน่นั้น ก็เหมือนกับการปลูกแคคตัสสกุลแมมมิลลาเรียทั่วไป หัวใจหลักเลย คือ ต้องระบายน้ำได้ดี เพราะหากดินไม่โปร่งและระบายน้ำได้ไม่ดีพอ จะทำให้น้ำระบายได้ช้า เกิดการอุ้มน้ำไว้ที่ดิน น้องแมมของเราอาจรากเน่าได้
ข้อที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับการเลี้ยงแมมมิลลาเรียทุกตระกูล รวมถึง คามิเน่ด้วย คือ นางไม่ค่อยชอบน้ำฮะ การรดน้ำที่เยอะเกินไปจะทำให้ลำต้นฉ่ำน้ำ และเน่าตายในที่สุด การรดน้ำแมมมิลลาเรียที่เหมาะสม ควรรดน้ำ 5 – 7 วันครั้ง ก็เพียงพอครับ
การขยายพันธุ์
สำหรับแคคตัสสกุลแมมมิลลาเรียนั้น สามารถขยายพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนได้หลายวิธี ได้แก่ การเพาะเมล็ด การแยกชำหน่อ การปาดยอด และการกราฟต์ครับ แต่การขยายพันธุ์หลักๆ ที่นิยมทำกันคือ การเพาะเมล็ด เนื่องจากแมมมิลลาเรียสามารถให้ดอกได้ตลอดทั้งปี จึงสามารถขยายพันธ์ุได้ง่ายด้วยการผสมเกสร อีกวิธีที่ได้รับความนิยม และใช้เวลาน้อยกว่า คือ การแยกชำหน่อครับ เมื่อแมมมิลลาเรียของเราให้หน่อรอบต้น ก็สามารถเด็ด หรือใช้มีดเล็กๆ เฉือนหน่อออกมา ผึ่งลมให้แห้ง ก็สามารถนำไปชำลงดินได้เลย
2 วิธีข้างต้นที่กล่าวมาอาจไม่ทันใจนักขยายพันธุ์ทำจำนวนนัก เพราะต้องใช้เวลา ยังมีอีก 2 วิธี ที่สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ในการสร้างฟอร์มของคามิเน่ให้เป็นรูปทรงแบบฟอร์มกอแบบทางลัดได้อีกด้วย นั่นคือ การปาดยอด และการกราฟต์ฮะ เพื่อนๆ สามารถศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ด้วยการปาดยอด และการกราฟต์ ได้ที่นี่ฮะ www.livingpop.com/how-to-fix-a-stretched-cactus สวนหลังบ้านของเราเคยเขียนบทความนี้ไว้แล้วฮะ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับแคคตัสสกุลแมมมิลลาเรียชื่อเท่ๆ อย่างคามิเน่ นอกจากชื่อจะเท่แล้ว คามิเน่ยังแฝงไปด้วยความน่ารักและสตอรี่ที่น่าสนใจอีกด้วย ถือว่าเป็นแคคตัสที่สู้ชีวิตตัวยงเลย เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้วนะเนี้ยยยย ถ้าเพื่อนๆ ชอบ อย่าลืมลองหามาเลี้ยงกันดูนะค้าบบบ