สำหรับวันนี้พลาดไม่ได้อย่างแน่นอนครับ เพราะสวนหลังบ้านของเราจะพาเพื่อนๆ มาชมแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียมโคลนหนึ่ง จากสวนชื่อดังของประเทศไทยที่ในปัจจุบันได้โด่งดังไปทั่วโลก ขึ้นชื่อเรื่องความสวยหวานหยาดเยิ้ม
นอกจากจะมีลักษณะสีสันของลำต้นที่สวยงามแล้ว ยังมีชื่อที่ไพเราะเพราะพริ้ง หวานยิ่งกว่าต้นเสียอีก เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเราไปท่องโลกของแคคตัสสีหวาน นามเพราะที่ชื่อว่า “ยิมโนคาไลเซียม พิงค์ไดมอนด์” (Gymnocalycium “Pink Diamond” ) กันครับ
ทำความรู้จัก “พิงค์ ไดมอนด์”
“ยิมโนคาไลเซียม พิงค์ ไดมอนด์” (Gymnocalycium ‘Pink Diamond’) หรือเรียกกันสั้นๆว่า “พิงค์ ไดมอนด์” ที่แปลว่า “เพชรสีชมพูนั่นเอง” พิงค์ ไดมอนด์ เป็นแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียม มิฮาโนวิชิอาย (Gymnocalycium mihanovichii) ตัว rare item จากสวนผู้พัฒนาสายพันธุ์หรือที่เรียกกันว่า บรีดเดอร์ (Breeder) ที่มีฝีมือ นั่นคือ “สวนกระท่อมลุงจรณ์” ที่หลายๆ คนรู้จักนั่นเอง
ซึ่งสวนกระท่อมลุงจรณ์จัดว่าเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์แคคตัสแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ในไทยเลยก็ว่าได้ โดยเจ้ายิมโนคาไลเซียมสีชมพูหวานเจี๊ยบตัวนี้ ถูกปล่อยออกมาสู่สายตาชาวไทยและชาวโลกเมื่อปลายปี 2560 นี่เองฮะ
เอกลักษณ์โดดเด่นมองเห็นแต่ไกล
ลักษณะโดยทั่วไปของ “พิงค์ ไดมอนด์” ด้านลำต้นนั้นจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียมต้นเขียวๆ ที่เราคุ้นเคย แต่จุดที่ทำให้ พิงค์ ไดมอนด์ มีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากยิมโนคาไลเซียมหัวเขียวๆ คือสีชมพูที่ไม่เหมือนชมพูทั่วไปที่พวกเราเคยเห็นกัน แต่เป็นโทนสีชมพูสดใสหวานเจี๊ยบที่ถูกสลับอยู่กับสีเขียวอย่างโดดเด่น
การกระจายของสีชมพูที่แทรกอยู่ระหว่างสีเขียวมีหลากหลายรูปแบบ บางต้นมีสีชมพูแทรกสลับกับสีเขียวอย่างเป็นระเบียบมีแพทเทินสวยงาม แต่บางต้นสีชมพูอาจกระจัดกระจายไปทั่วพื้นเขียวๆ ของลำต้น แม้จะดูไม่เป็นระเบียบ แต่กลับสร้างความแปลกตาและสวยงามอย่างบอกไม่ถูก และไม่ทิ้งลายของความเป็น พิ้งค์ ไดมอนด์ ไม่ว่าสีชมพูจะกระจายไปในรูปแบบใด แต่สำหรับสาวกแคคตัสแล้ว มองแว๊ปเดียวก็รู้ว่าเจ้ายิมโนคาไลเซียมสีชมพูหวานต้นนี้คือ “พิงค์ ไดมอนด์”
จึงทำให้เจ้ายิมโนต้นนี้กลายเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ยิมด่างที่ไม่ว่าใครเห็นก็ต่างอยากจับจองเป็นเจ้าของและเป็นที่ต้องการในท้องตลาดอย่างมากครับ นอกจากจะมีต้นสีชมพูแล้ว ดอกและฟักของพิงค์ไดมอนด์ยังมีสีชมพูหวานอีกด้วย เรียกได้ว่า ชมพูไปซะทุกอย่างจริงๆ
สำหรับนักเล่นแคคตัสมือใหม่อาจสับสนว่าสีชมพูแบบนี้ใช่ พิงค์ไดมอนด์ หรือไม่? เพราะแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียมด่างบางต้นอาจมีสีชมพูสด จนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็น พิงค์ไดมอนด์
วิธีการแยกง่ายๆ สามารถดูได้จากลักษณะภายนอก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ พิ้งค์ไดมอนด์ อยู่แล้ว แต่หากยังไม่แน่ใจ ก็มีวิธีทดสอบฮะ สำหรับยิมโนคาไลเซียม พิงค์ไดมอนด์ เมื่อได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่และเพียงพอ หรือแดดจัดๆ ตรงส่วนสีชมพูจะมีสีที่เข้มขึ้น แต่จะไม่เปลี่ยนสีเป็นสีแดง แต่สำหรับยิมโนคาไลเซียมด่างทั่วไป บริเวณสีชมพูอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีที่ผิดเพี้ยนไปกลายเป็นสีแดงเมือได้รับแสงแดดมาก หรือเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแสงแดดลดลงครับ
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ พิงค์ไดมอนด์ ทำได้หลากหลายวิธีไม่ต่างจากแคคตัสทั่วไป ทั้งการเพาะเมล็ด การปักชำหน่อ และการกราฟต์ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยการกราฟต์ เพราะติดง่าย โตไวและให้หน่อเร็ว และยังสามารถนำหน่อที่ได้จากหัวกราฟต์อาจนำไปกราฟต์ต่อ หรือนำไปชำได้ ซึ่งเป็นการทำจำนวนได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดนั้นก็สามารถทำได้เช่นกันครับ แต่ที่ไม่ค่อยเห็นมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของพิงค์ไดมอนด์ตามท้องตลาด เพราะการทำเมล็ดค่อนข้างยาก และต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ดจะมีราคาสูงกว่าต้นที่เกิดจากการชำหน่อหรือการกราฟต์ เจ้าของเมล็ดจึงมักจะเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้ไว้เพาะขยายพันธุ์เอง
ส่วนเกสรของพิ้งค์ไดมอนด์มักถูกนำไปผสมกับยิมโนคาไลเซียมชนิดอื่นๆ เพื่อให้ได้สีชมพูจากพิงค์ได้มอนด์ ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ยิมโนคาไลเซียมลูกผสมที่ติดสีชมพูสูงเลยทีเดียว เรียกได้ว่านำไปเข้ากันอะไรก็สวยไปหมด เมื่อใดที่ยิมโนคาไลเซียมในสวนดอกบานพร้อมๆ กับพิงค์ไดมอนด์บาน ไม่ต้องคิดอะไรเลยฮะ จับผสมเกสรกันได้เลย รับรองว่าจ่ายลูกสีสวยสดใสแน่นอน
การเลี้ยงและดูแล
การเลี้ยงและดูแล Pink Diamond ในภาพรวมไม่ต่างจากการเลี้ยงแคคตัสสายพันธุ์อื่นเลยครับ แต่เพราะความสวยหวานของสีชมพูจึงอาจต้องให้การดูแลในส่วนนี้เป็นพิเศษ นั่นคือแสงแดดนั่นเอง ต้องระวังอย่าให้โดนแสงแดดจัดมากหรือน้อยจนเกินไป หากได้รับแสงแดดน้อยไป อาจทำให้สีชมพูดรอปหรือจืดลง แต่ถ้าหากโดนแดดจัดเป็นระยะเวลานานเกินไปก็อาจทำให้ผิวของ Pink Diamond เสียได้ หรือเรียกว่าไหม้แดดนั่นเอง
ส่วนเรื่องความชื้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะความชื้นหรือน้ำที่มากเกินไปอาจทำให้รากของ Pink Diamond เน่าได้ครับ ส่วน Pink Diamond ที่เป็นไม้กราฟต์ หากมีปริมาณไม่มากแนะนำว่าไม่ควรรดน้ำโดนบริเวณหัวไม้นะครับ เพราะอาจทำให้ผิวของ Pink Diamond มีริ้วรอยจากคราบน้ำได้ แต่หากไม่สามารถเลี่ยงได้จริงๆ สามารถใช้ฝักฝัวชนิดรูถี่ๆ เพื่อเพิ่มความอ่อนนุ่มของสายน้ำได้ครับ
หาซื้อได้ที่ไหน?
จะว่าไป Pink Diamond เป็นไม้แรร์มั๊ย ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เรามักจะไม่ค่อยพบเห็น Pink Diamond วางจำหน่ายตามร้านขายต้นไม้หรือร้านขายแคคตัสทั่วไป อาจเป็นเพราะยังมีราคาสูง และยังมีการทำจำนวนได้ไม่มากเมื่อเทียบกับยิมโนคาไลเซียมด่างชนิดอื่นๆ
หากเพื่อนๆ อยากได้น้องพิงค์มาครอบครองจริงๆ ก็อาจต้องเจาะจงไปหาซื้อตามร้านที่จำหน่ายยิมโนคาไลเซียมด่างโดยเฉพาะ หรืออีกหนึ่งช่องทางคือ กลุ่มซื้อขายแคคตัสใน Facebook หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ มีมากมายให้เลือกซื้อเลยครับ ราคาค่าตัว ณ ตอนนี้ ไม่มีตายตัว ขึ้นอยู่กับความสวยงามของลวดลายและคาวมพึงพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อที่ตกลงกัน แต่รับรองว่าเอื้อมถึงแน่นอนครับ
สำหรับสวนหลังบ้านแล้ว Pink Diamond ถือเป็นแคคตัสโคลนหนึ่งของสกุลยิมโนคาไลเซียมที่น่าสะสมเลยทีเดียว นอกจากจะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และประดับตกแต่งให้สวนของเราแล้ว เชื่อว่าจะในอนาคต Pink Diamond อาจเป็นไม้ที่มีมูลค่าทั้งทางราคาและคุณค่าแห่งการสะสมต้นหนึ่งที่หลายๆ คนอยากเป็นเจ้าของแน่นอนฮะ จบบทความนี้ ตกหลุมรักน้องพิงค์ไปกี่คนแล้ว ทักมาบอกกันบ้างนะครับ แล้วกลับมาพบกับสวนหลังบ้านได้ใหม่ในบทความถัดไป สำหรับวันนี้สวัสดีครับ 😁