กระบองเพชรหรือแคคตัสแต่ละสายพันธุ์มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เอกลักษณ์ที่หรือลักษณะเฉพาะตัวที่แสดงออกมาอย่างแตกต่างกันของไม้ ก็เป็นที่มาของชื่อที่ถูกตั้งขึ้น เพื่อให้เหล่านักเลี้ยงได้จดจำชื่อของแต่ละต้น นอกจากลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นที่มาของชื่อแคคตัสแต่ละต้นแล้ว ชื่อของผู้ค้นพบหรือผู้ที่มีความสัมพันธุ์กับแคคตัสต้นนั้นๆ ก็ถูกหยิบจับมาตั้งเป็นชื่อของแคคตัสเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ค้นพบเช่นกัน
วันนี้สวนหลังบ้าน LivingPop จะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับแคคตัสสกุลหนึ่ง ที่มีรูปร่างลักษณะแปลกตา มาพร้อมกับชื่ออันแสนไพเราะ เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เราไปทำความรู้จักกับแคคตัสสกุล “เฟรเลีย” กันได้เลยครับ
ทำความรู้จักแคคตัส “เฟรเลีย”
“เฟรเลีย” (Frailea) เป็นพืชในวงศ์ Cactaceae หรือแคคตัสที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ชื่อเฟรเลียนี้ (Frailea) มาจากคำว่า “Fraile” ซึ่งเป็นชื่อของ Manuel Fraile ผู้ดูแลตัวอย่างแคคตัส ของกระทรวงเกษตร ในประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อนี้จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ Manuel Fraile นั่นเองครับ
เฟรเลียจะพบในธรรมชาติที่ความสูง 20 – 900 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลในทวีปอเมริกาใต้ แถบประเทศโบลิเวีย ปารากวัย บราซิล โคลอมเบีย อาร์เจนตินา และอุรุกวัย มักพบเป็นหัวเดี่ยวๆ ลำต้นไม่แตกกอ อาจพบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ในทุ่งหญ้าที่เป็นหินหรือดินปนทราย บางชนิดขึ้นรวมกับมอสและไลเคน
ปัจจุบันถูกนำเข้ามาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ในเมืองไทยหลากหลายชนิด ที่นิยมได้แก่ เฟรเลีย กาเรียนา (Frailea Grahliana), เฟรเลีย คัสตาเนีย (Frailea castanea) และเฟรเลีย เด็นซิวไปน่า (Frailea buenekeri v.densispina)
ลักษณะทั่วไปที่แสนพิเศษ
ลักษณะทั่วไป ของเฟรเลีย (Frailea) คือมีลำต้นขนาดเล็ก โตช้า มักไม่แตกหน่อ มีลักษณะหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบหัวกลมเตี้ยและเป็นลำทรงกระบอก ผิวของลำต้นเรียบ สีเขียว เขียวอมม่วงหรือม่วง ลักษณะหนามค่อนข้างสั้น บางชนิดหนามจะแนบไปกับลำต้น หนามมีได้หลายสี ได้แก่ สีเหลือง สีน้ำตาล และสีขาว
เฟรเลียให้ดอกสีเหลือง ซึ่งดอกจะออกมาจากตุ่มหนามบริเวณยอด และดอกจะบานเพียงวันเดียวเท่านั้นฮะ มักไม่ค่อยได้เห็นดอกของเฟรเลียบานเท่าไรนัก เพราะเฟรเลียมีลักษณะที่พิเศษที่ไม่เหมือนกับแคคตัสสกลุอื่นๆ คือแคคตัสเฟรเลีย มีกลไกการผสมเกสรและติดเมล็ดได้ในตัวเอง (self-pollinate) โดยที่ดอกยังไม่บาน โดยไม่ต้องพึ่งพาเกสรตัวผู้จากดอกของเฟรเลียต้นอื่นเลย เรียกว่า Cleistogamous หรือการผสมพันธุ์ในดอกตูมนั่นเอง
เมื่อเฟรเลียติดฟัก จะมีฝักหรือผลขนาดเล็ก บางครั้งไม่ได้สังเกตก็แทบมองไม่เห็นเลยฮะ เพราะฝักจะอยู่บริเวณยอดที่มีหนามสานเรียงกันอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อฝักสุก ฝักจะแห้งลง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลหรือสีดำอมน้ำตาล สามารถนำเมล็ดภายในฝักมาเพาะขยายพันธุ์ต่อได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมไม่ค่อยได้เห็นดอเฟรเลียบานเลย เพราะน้องผสมกันเองในดอกตูมและข้ามขั้นไปติดฝักเลย เป็นการขยายพันธุ์ด้วยตัวเองตามธรรมชาติที่มหัศจรรย์มากๆ ครับ
การเลี้ยงการขยายพันธุ์
เฟรเลีย (Frailea) สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธี ดังเช่นแคคตัสสกุลอื่น แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เพราะเฟรเลียมีความสามารถพิเศษคือสามารถติดฝักได้ตลอดทั้งปี และบ่อยมาก เอาเป็นว่า เพาะเมล็ดจนเบื่อกันไปข้างนึงเลยทีเดียว ซึ่งเหมาะมากๆ กับนักเพาะเลี้ยงมือใหม่ ถือเป็นการซ้อมฝีมือในการเพาะเมล็ดได้ดี มือใหม่ที่ต้องการฝึกเพาะเมล็ดอย่าลืมนึกถึงเฟรเลียนะฮะ
ส่วนการชำหน่อ ก็สามารถทำได้นะฮะ ในเฟรเลีย กาเรียนา (Frailea Grahliana) จะสามารถขยายได้พันธุ์ด้วยการแตกหน่อ โดยเด็ดหน่อที่งอกออกมาข้างๆ ลำต้นไปปักชำได้เลยครับ
ในส่วนของการเลี้ยงและดูแลเฟรเลียนั้นไม่ยากเลยครับ เนื่องจากถิ่นกำเนิดเดิมของเฟรเลียมาจากที่แห้งแล้ง จึงทำให้เฟรเลียค่อนข้างทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนได้ โดยเฉพาะในเมืองไทย สามารถเลี้ยงรวมกับแคคตัสสกุลอื่นๆ ได้เลย
แต่อาจต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการรดน้ำ ควรรดน้ำเมื่อดินแห้งเท่านั้น เพราะการให้น้ำในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ระบบรากเกิดความชื้น และเน่าเสียได้ หากต้องเลี้ยงรวมกันแคคตัสต้นอื่นๆ ที่ต้องการปริมาณน้ำไม่เท่ากัน ซึ่งตรงนี้สามารถปรับแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการเพิ่มความโปร่งของดินหรือวัสดุปลูกให้โปร่งขึ้น เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความชื้นที่มากเกินไปได้ฮะ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับเจ้าเฟรเลียดอกสีเหลืองๆ ต้นนี้ นอกจากชื่อจะมีความแปลกแล้ว ลักษณะการดำเนินชีวิตของเฟรเลียยังมีความแปลกและมหัศจรรย์อีกด้วย คงหาไม่ได้ในแคคตัสสกุลไหนอีก รู้อย่างงี้แล้วสวนหลังบ้านขอฝากแคคตัสเฟรเลียต้นนี้ไว้ในอ้อมใจของเพื่อนๆ ด้วยนะครับ 😊