หลายๆ คนมักจะไม่ทราบว่า บัลเดียนั่มเป็นแคคตัสในตระกูลยิมโนคาไลเซียม และบัลเดียนั่มเป็นยิมโนที่มีสีดอกจี๊ดจ๊าดกว่ายิมโนสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยนะครับ รวมทั้งรูปทรงของเจ้าบัลเดียนั่มก็ไม่เหมือนกับยิมโนสายพันธุ์อื่นๆ ที่เราเคยเห็น ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นแคคตัสที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลยิมโนคาไลเซียมนั่นเอง วันนี้สวนหลังบ้านจะพามารู้ลึกรู้จริงกับแคคตัสสายพันธุ์นี้ให้มากขึ้น ตามไปดูกันเล้ยยย
มารู้จัก “แคคตัสบัลเดียนั่ม” กัน
- บัลเดียนั่ม ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Dwarf Chin Cactus หรือ Dwarf Chin
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Gymnocakycium baldianum (Speg.) Speg. เป็นกระบองเพชรขนาดเล็ก ที่มีพูเยอะ ในหนึ่งลำต้นจิ๋วๆ อาจจะมีพูได้มากถึง 9 พูเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีความหยักเป็นคลื่นๆ เหมือนกับหลังเต่าที่เห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นเอกลักษณ์ ต้นนี้สามารถเติบโตได้ถึงขนาดที่ประมาณ 12.5 เซนติเมตรหรือประมาณ 5 นิ้วนั่นเอง
- ถิ่นกำเนิดของแคคตัสสายพันธุ์นี้อยู่ที่ประเทศอาร์เจนติน่า เห็นไหมครับว่าต้นนี้ไม่ธรรมดาเลย
สำหรับจุดเด่น เรียกว่าเป็นไฮไลต์ของแคคตัสสายพันธุ์นี้ นั่นก็คือดอกของเค้าที่มีสีสวยมากกกก สีสดจนแสบตา แต่สีดอกออกขาว ชมพูอ่อนก็มีให้เห็นบ้างแต่ไม่มากครับ ซึ่งต่างจากยิมโนสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีสีดอกแบบสีพาสเทล สีนุ่มๆ ละมุนๆ
แต่ดอกจะออกก็ต่อเมื่อขนาดลำต้นมีขนาดเกิน 5 เซนติเมตรแล้วเท่านั้น โดยดอกของบัลเดียนั่มจะมีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร หรือ 1.6 นิ้ว ดอกมักจะออกในช่วงต้นฤดูร้อน (ยิมโนสายพันธุ์อื่นๆ ก็ออกช่วงนี้เช่นกัน)
วิธีเลี้ยงและดูแล
แคคตัสบัลเดียนั่ม เป็นแคคตัสที่ดูแลไม่ยากเลยครับ แค่รู้ใจ และเลี้ยงแบบถูกวิธี น้องก็สามารถเติบโตและออกดอกสีสันสุดจี๊ดให้กับเราได้แล้ว
- แสงแดด
กระบองเพชรบัลเดียนั่มค่อนข้างชอบแดดสม่ำเสมอ สำหรับใครที่สามารถพรางสแลนได้แนะนำให้พรางสแลน 50 % จะดีที่สุดครับ แต่ถ้าบ้านใครไม่สามารถกางสแลนได้ ก็อยากแนะนำให้นำน้อง หลบแดดช่วงเที่ยงๆ สักนิดเพราะแดดช่วงเที่ยง – บ่าย 2 เป็นแดดที่รุนแรงและสามารถทำลายผิวของน้องให้เกิดรอยไหม้ได้เลยละครับ แคคตัสก็เหมือนเราผิวสามารถไหม้แดดและเป็นรอยแผลได้เหมือนกันครับ
- การให้น้ำ
สำหรับแคคตัสบัลเดียนั่มก็เหมือนแคคตัสต้นอื่นๆ ชอบน้ำที่พอดี ไม่มากไปหรือน้อยไป ควรรดน้ำเมื่อดินแห้งเท่านั้น ถ้าช่วงฤดูฝน ดินจะชื้นง่าย เราอาจจะรดน้ำห่างจากการรดน้ำในฤดูอื่นๆ แต่สำหรับฤดูร้อนสามารถรดน้ำถี่กว่าเดิมได้ ให้สังเกตที่ดินว่าแห้งหรือไม่ ถ้าแห้งแล้วก็สามารถรดน้ำน้องได้เลยครับ
ข้อควรระวังก็คือ อย่าให้มีน้ำขังในกระถาง เพราะถ้าชื้นสะสมจะทำให้น้องกลับดาว (ตาย) ได้เลย
- ด้านการให้ปุ๋ย
หมั่นใส่ปุ๋ยออสโมโค้ท เพื่อเป็นอาหารเสริมให้กับแคคตัสบัลเดียนั่ม ต้นจะได้แข็งแรง อวบๆ และเติบโตได้ดียิ่งขึ้น สำหรับปุ๋ยออสโมโค้ท ที่เราจะแนะนำวันนี้มี 3 สูตรด้วยกัน- สูตร 13-13-13 (3 เดือน)
- สูตร 16-16-16 (4 เดือน)
- สูตร 13-25-6 (6 เดือน)
การขยายพันธุ์ของแคคตัสบัลเดียนั่ม
การขยายพันธุ์แคคตัสบัลเดียนั่มจะมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ
การเพาะเมล็ด
โดยการใช้การผสมเกสรข้ามต้น ซึ่งวิธีอาจจะช้าสักหน่อย เพราะต้องทำการผสมเกสรก่อน เมื่อผสมเกสรติดแล้ว นำฝักเมล็ดมาเพาะเมล็ดต่อไป แต่ข้อดีนั้นคือ จะได้ยิมโนบัลเดียนั่มที่ลุ้นสีดอกไม่เหมือนกันเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแม่พันธุ์ของต้นด้วย
การปักชำ
ได้รับความนิยมในการขยายพันธุ์เนื่องจากน้องจะโตเร็วกว่า เพราะไม่ต้องเริ่มจากการเพาะเมล็ด และได้ต้นที่เหมือนกับต้นแม่เป๊ะๆ แต่ก็จะไม่ได้ต้นที่มีสีดอกใหม่ๆ
วิธีการปักชำหน่อไม่ยากเลยครับ เพียงเราเด็ดหน่อจากต้นแม่ไปวางผึ่งลมไว้ในร่มประมาณ 2 วันให้แผลแห้ง และนำหน่อไปล่อรากโดยวันนี้ขอแนะนำ เป็นการล่อรากโดยใช้หินภูเขาไฟเบอร์เล็ก 00 แทนดินแคคตัสนะ โดยนำหน่อมาวางบนหินภูเขาไฟและวางหลบแดด สามารถรดน้ำพอเปียกๆ ไม่ต้องชุ่มได้ครับ จากนั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์รากจะเริ่มมา หลังจากนั้นเราก็นำลงปลูกใส่กระถางได้เลย
เกร็ดความรู้ท้ายบทความ
มีหลายคนสับสน ระหว่าง ยิมโนบัลเดียนั่ม กับ ยิมโนออคโช เรามาดูความเหมือนที่แตกต่างกันว่ามีอะไรบ้าง
สีดอก
ทั้งคู่เป็นสายพันธุ์ยิมโน ที่ให้ดอกขนาดใหญ่ ยิมโนบัลเดียนั่มสามารถมีดอกได้หลากหลายมากกว่า เช่น ขาว ส้ม แดง ชมพูเหลือง ส้ม เป็นต้น ขณะที่ ออคโช โดยมากจะให้ดอกสีขาว
หนาม
สำหรับหนามของยิมโนบัลเดียนั่มจะยาวกว่าและงอได้มากกว่า ราบเรียบไปกับลำต้นและสันพู ขณะที่ยิมโนออคโช หนามจะตรง แข็งกว่า ไม่โค้ง และเวลาจับนั้นสามารถจะตำมือได้เลยละครับ
สันพู
สำหรับสันพูของยิมโนบัลเดียนั่มจะดูไม่ตรงและไม่เป็นระเบียบ ส่วน ยิมโนออคโชจะมีพูที่ตรงและเป็นระเบียบกว่า
ความหยักของสันพู
ยิมโนบัลเดียนั่มจะมีมากกว่า ยิมโน ออคโช
เรียกได้ว่าแคคตัสต้นนี้เป็นแคคตัสที่น่าสนใจและน่าเลี้ยงสะสมอีกต้นหนึ่งเลยนะครับ ยิ่งถ้าคนชอบสายดอกจะยิ่งชอบเพราะสีดอกนั้นสีจัดจ้าน และมีหลายสีควรสะสมให้ครบทุกสีกันไปเลยฮะ แล้วกลับมาพบกันใหม่กับสวัสดีคร้าบบบ 🙂