fbpx
สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลกดึกดำบรรพ์กับ “แคคตัสไข่ไดโนเสาร์”

วันนี้สวนหลังบ้านบอกเลยว่าพิเศษมากๆ ฮะ เพราะเพื่อนๆ จะได้ไปเที่ยวชมโลกดึกดำบรรพ์ของแคคตัสหน้าตาสุดแปลกชื่อว่า “Tephrocactus Geometricus” หรือไข่ไดโนเสาร์นั่นเอง แค่ชื่อก็เหมือนเราได้ย้อนกลับไปในยุคไดโนเสาร์แล้ว และน้องจะมีหน้าตาเหมือนไข่ไดโนเสาร์แค่ไหน ตามไปดูกันเล้ยยย



แคคตัสไข่ไดโนเสาร์

เทปโรแคคตัส จีโอเมทรีคัส (Tephrocactus geometricus) มีชื่อเรียกสุดอลังการว่า “แคคตัสไข่ไดโนเสาร์” บางคนเรียก “ไข่มังกร” หรืออีกชื่อที่น่ากินมากๆ “แคคตัสลูกชิ้น” แล้วแต่จะถนัดเรียกฮะ ในที่นี้ผมขอเรียกว่าแคคตัสไข่ไดโนเสาร์ก็แล้วกันนะครับดูยิ่งใหญ่ดี

เทปโรแคคตัส เป็นแคคตัสที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบอาร์เจนตินา คำว่า “tephros” มาจากภาษากรีก แปลว่า สีเทา ซึ่งลำต้นและสีผิวของไข่ไดโนเสาร์ก็จะมีสีเทาๆ อมฟ้านั่นเอง ลักษณะลำต้นมีรูปทรงแปลกตา กลมรีคล้ายไข่ ผิวเรียบ มีตุ่มหนามเล็กๆ สีน้ำตาลเป็นกระจุกอยู่รายรอบคล้ายโอปันเทียหรือแคคตัสใบเสมา หนามเล็กๆ นี่ทิ่มทีมีร้องครับ เพราะเล็กและแหลมมาก แต่บางสายพันธุ์ก็ไม่มีหนาม ซึ่งได้รับความนิยมมาก แต่ก็ตามมาด้วยราคาค่อนข้างสูง

แคคตัสไข่ไดโนเสาร์จะแตกหน่อเป็นกอเตี้ยๆ เป็นข้อๆ ต่อเรียงกันไปเรื่อยๆคล้ายนำไข่มาเรียงต่อกันหรือลูกชิ้นเสียบไม้ พูดอีกผมก็ชักหิวแล้วแหละฮะ>.< ต้นเต็มวัยสูงประมาณ 1 ฟุต นอกจากลำต้นจะสวยแปลกตาแล้ว ดอกของแคคตัสไข่ไดโนเสาร์ถือว่าสวยมากๆ เป็นดอกสีขาวหรือชมพูอ่อนขนาดใหญ่ มีทั้งชนิดกลีบชั้นเดียว หรือกลีบซ้อนในบางสายพันธุ์ แต่ในเมืองไทยหาดูได้ยากมากเพราะไข่ไดโนเสาร์ค่อนข้างหวงดอกพอสมควรฮะ


การปลูกเลี้ยง และดูแล

การดูแลไม่ยากเลยฮะ ถือเป็นแคคตัสอีกชนิดนึงที่เลี้ยงง่าย ตามแบบฉบับแคคตัสคือชอบแสงแดด อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ชอบความชื้นที่มากเกินไป แต่หากอยากให้มีผิวที่สวยงามสามารถพลางด้วยสแลนประมาณ 50 % ได้ฮะ เพราะหากได้รับแสงแดดตรงๆ ต่อวันนานเกินไปผิวอาจมีรอยไหม้ได้

สำหรับดินปลูกควรมีความโปร่งมากกว่าปกติ การผสมเครื่องปลูกคล้ายๆ การปลูกแมมมิลลาเรียเพื่อการระบายน้ำที่ดีครับ ส่วนการรดน้ำก็เหมือนแคคตัสทั่วไปเลย โดยรดน้ำให้เต็มที่จนดินชุ่มน้ำทะลุถึงก้นกระถางและรดน้ำครั้งต่อไปเมื่อดินเริ่มแห้ง 

แคคตัสไข่ไดโนเสาร์ค่อนข้างอึก ถึก ทน จึงไม่ค่อยเป็นโรคเหมือนแคคตัสสกุลอื่นๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโรคเลยนะฮะ โรคที่เจอส่วนใหญ่มักเกิดจากอาการโคนเน่าจากความชื้น หรือมีเชื้อราหรือไวรัสกระจายตามลำต้น วิธีการแก้ไข ง่ายมากๆ ครับ เพียงตัดส่วนที่เป็นโรคทิ้งไป แล้วทายากันราบางๆ บริเวณแผลที่เราเฉือนออก ทิ้งไว้ให้แห้ง งดน้ำ 1-2 วัน ให้แผลแห้ง เพียงเท่านี้เจ้าแคคตัสไข่ไดโนเสาร์ก็รอดแล้วฮะ

ส่วนรอยสีน้ำตาลเข้มๆ ที่มักเกิดขึ้นที่โคนของไข่มังกรเมื่อเลี้ยงไปนานๆ อันนั้นไม่ใช่โรคนะครับ ไม่ต้องตกใจ เป็นเพียงโคนที่มีการเปลี่ยนสีเท่านั้น สบายใจได้ฮะ




การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์แคคตัสไข่ไดโนเสาร์ที่นิยมในเมืองไทยคือการกราฟต์และชำหน่อครับ แต่มักเริ่มต้นด้วยการกราฟต์ก่อน เพราะสามารถทำจำนวนได้เร็ว และยังเป็นการเร่งให้โตและให้หน่อได้เร็วขึ้นกว่าการปลูกเป็นไม้ราก แล้วนำหน่อมาตัดชำอีกทีครับ

สำหรับการชำหน่อ ไม่ยากเลย เนื่องจากเจ้าแคคตัสไข่ไดโนเสาร์มีลักษณะของลำต้นเป็นข้อๆ ต่อกันอยู่แล้ว เราจึงสามารถตัดบริเวณข้อต่อของลำต้นได้เลย หลังจากตัดหน่อแล้ว วางไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ซัก 1-3 สัปดาห์ วางแบบลืมๆ ไปได้เลยฮะ เดี๋ยวจะมีรากเล็กๆ แทงออกมา แล้วจึงนำไปลงปลูก หรือหลังตัดหน่อผึ่งลมให้แห้งแล้วทายาเร่งรากบางๆ บริเวณรอยแผล รอยาแห้งก็สามารถนำไปชำหรือล่อรากในวัสดุปลูกได้เลยครับ

หากเลือกการชำแบบนี้ ให้งดน้ำในช่วงแรกก่อนนะฮะ เนื่องจากไข่มังกรยังไม่มีรากในการช่วยดูดน้ำ จะทำให้เน่าได้ เว้นซัก 5-6 วัน ค่อยโชยให้เบาๆนะครับ

ส่วนการกราฟต์นั้นก็คล้ายกับการกราฟต์แคคตัสทั่วไปเลยครับ สามารถกราฟต์ได้บนตอหลายชนิด แต่ที่นิยมมักกราฟต์บนตอเฟอโรแคคตัส โอพันเทีย หรือใบเสมา นอกจากเป็นการเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วแล้ว การกราฟต์ยังใช้เป็นวิธีรักษากรณีเจ้าแคคตัสไข่ไดโนเสาร์เป็นโรคหรือเน่าบางส่วนได้อีกด้วย 

เนื่องจากแคคตัสไข่มังกรสามารถออกหน่อและรากได้ทุกตุ่มหนาม ดังนั้น ไข่มังกร 1 หน่อสามารถหั่นได้จำนวนเยอะมาก เพียงตัดส่วนที่เน่าหรือเป็นโรคออก แล้วนำส่วนที่ยังปกติมากราฟต์ เพื่อต่อชีวิตเจ้าไข่ไดโนเสาร์ได้ เมื่อกราฟต์ติดแล้วเจ้าไข่ไดโนเสาร์ก็จะเริ่มให้หน่อ เพื่อนๆ ก็สามารถตัดหน่อมาชำเป็นไม้รากตามวิธีข้างต้นได้เลย

ส่วนการเพาะด้วยเมล็ดนั้นนิยมเพาะแบบปิดคล้ายแคคตัสทั่วไป แต่การงอกค่อนข้างยากและใช้เวลานาน เนื่องจากเมล็ดมีขนาดใหญ่และมีเปลือกแข็ง และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนักครับ  


เห็นมั๊ยฮะว่า การเลี้ยงแคคตัสไข่ไดโนเสาร์มันช่างง่ายมากๆ สาวกแคคตัสแทบไม่ต้องปรับอะไรเลยก็สามารถเลี้ยงเจ้าแคคตัสไข่ไดโนเสาร์ได้ แต่แคคตัสไข่ไดโนเสาร์เป็นไม้โตช้ามาก ให้หน่อและออกดอกค่อนข้างยาก อาจต้องใช้ความอดทนในเรื่องนี้ซักนิดนึง สวนหลังบ้านขอเอาใช้ช่วยเพื่อนๆ ทุกคนที่เลี้ยงเจ้าแคคตัสไข่ไดโนเสาร์นะค้าบบบบ



Related posts
สายพันธุ์แคคตัส

ทำความรู้จัก "โคเปียโป" แคคตัส ชื่อแปลก หายาก

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลกแคคตัสสีหวาน นามเพราะ "พิงค์ไดมอนด์" (Pink Diamond)

สายพันธุ์แคคตัส

แคคตัสนักกล้าม ชื่อน่าเกรงขามแต่ตัวจริงน่ารักนะ

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลก"เฟรเลีย" แคคตัสชื่อแปลก