“เมื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นสมัยนี้ ไม่ใช่แค่ถูพื้นได้ แต่ซักผ้าให้ด้วย”
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะทำอะไรแทนเราได้บ้าง??? ถ้าเป็นเมื่อก่อนแค่ออกมาเดินรอบห้อง ดูดฝุ่นแทนเราแค่นั้นก็เก่งแล้วล่ะครับ แต่วันเวลาผ่านไป spec และความฉลาดของน้องก็ถูกอัพเกรดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีระบบแผนที่ เริ่มมีกล้องไว้หลบสิ่งของ เริ่มมีระบบถูพื้นเพิ่มเข้ามา ทำให้เดี๋ยวนี้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำได้มากกว่าการเป็นเครื่องดูดฝุ่นเดินได้แล้ว
ซึ่งวันนี้ เราจะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับ Roborock S7 MaxV Ultra ที่จะทำให้ฟีเจอร์ที่พูดมาเมื่อกี้เป็นเรื่องธรรมดาเลยครับ เพราะเค้ามาพร้อมไฮไลท์ การ “ซักผ้าถูพื้น” เองได้ และดูดฝุ่นออกจากเครื่องเองได้เช่นกัน
คือน้องทำความสะอาดห้อง และทำความสะอาดตัวเองได้อีกที เรามีหน้าที่แค่เป็นคุณนาย ชี้นิ้วสั่งน้อง แถมตัวน้องก็มีฟีเจอร์หลายอย่างใส่เข้ามาจนแน่น จะเป็นยังไง เดี๋ยวเรามาทำความรู้จักหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวท็อปตัวนี้ไปพร้อมๆ กันครับ
จุดเด่น Roborock S7 MaxV Ultra
สำหรับ Roborock S7 MaxV Ultra จะเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวท็อป ฟังก์ชั่นแน่นตัวล่าสุดของปี 2022 จากทาง Roborock ครับ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็เคยมีรีวิว Roborock S6 MaxV กันไปแล้ว ต้องบอกว่ารุ่นนี้ก็จะเป็นเหมือนรุ่นที่อัพเกรดขึ้นมาให้เก่งขึ้นและฉลาดขึ้นอีกสเต็ปนึงฮะ
สำหรับตัวทีมงานเอง ก็เป็นคนนึงที่ใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาหลายปีแล้วครับ ถ้าใครเคยอ่านรีวิวเก่าๆ ก็จะเห็นว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรกที่เราใช้ก็จะเป็นเจ้า Roborock S5 นี่เองครับ ซึ่งตอนนั้นใช้แล้วค่อนข้างประทับใจมาก เลยเอามารีวิวในเว็บ เป็นรีวิวตัวแรกๆ ที่รีวิวใน LivingPop เลย ในตอนนั้น Roborock ยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำ ^^’
จนปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อย สำหรับตัวทีมงานเอง ถ้ารวมเครื่องนี้ด้วย ก็มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ผ่านมือมาเป็นเครื่องที่ 4 ได้แล้ว ทั้งซื้อใช้เอง และซื้อให้ที่บ้าน เดี๋ยววันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันครับว่าหลังจากใช้งาน Roborock S7 MaxV Ultra แล้วเป็นอย่างไร
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจำเป็นแค่ไหน ในมุมคนที่ใช้มา 3 ปี?
สำหรับใครที่ลังเลอยู่ ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นดีไหม จำเป็นหรือเปล่า ขอเล่าในมุมคนที่ใช้งานมาซักพักแล้วนิดนึงฮะ เราจำเป็นต้องเสียเงินหลักหมื่น เพื่อแค่ไม่ต้องกวาดบ้านถูบ้านเองจริงๆ หรอ??
ส่วนตัวแล้วทีมงานมองว่าเหมือนเป็นการซื้อเวลาและความสะดวกครับ คืองานบ้านบางอย่างมันก็เป็นงาน routine ที่ต้องทำซ้ำๆ และค่อนข้างจะน่าเบื่อ อย่างเช่นการล้างจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน และงานบางอย่างเราก็ไม่จำเป็นต้องทำเองก็ได้ครับ
นึกภาพว่าเราเอาเวลาไปเข้าครัว เข้าครัวพันครั้งยังมีโอกาสเป็นคนทำอาหารเก่ง แต่กวาดบ้านพันครั้ง เราได้อะไร?? นึกภาพออกใช่ไหมคับ ว่างานบางอย่างทำเป็นพันเป็นหมื่นครั้งก็ไม่ได้พัฒนาอะไรเราเท่าไหร่ ดังนั้น ปล่อยให้งานที่ไม่จำเป็นต้องทำเองแบบนี้ เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ทำแทน แล้วเราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ได้ประโยชน์ หรืออย่างน้อยเอาเวลาไปดูหนัง เล่นเกมก็ยังดี
และที่สำคัญคือหุ่นยนต์ไม่เหนื่อย ไม่โอ้เอ้ ไม่บอกแปปนึงรอซีรี่ย์จบ ep นี้ก่อนค่อยไป สามารถทำงานได้ทุกวัน วันละกี่รอบก็ได้ ความขยันของน้องตรงนี้แหละครับเป็นจุดเด่นจุดนึงที่คนสู้ไม่ได้ ให้น้องเค้าทำงานที่น่าเบื่อๆ ไป
ดังนั้นเวลาใครถามว่าซื้อหุ่นยนต์ดีไหม ทีมงานก็ค่อนข้างจะป้ายยาแบบที่บอกไปฮะ ถ้ามองหาความสะดวกก็ซื้อเร้ยยย คิดว่าคุ้มค่าในการลงทุนนะ แต่ spec เป็นตัวไหนก็ว่าไปตามงบอีกที
Roborock S7 MaxV
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวท็อปของ Roborock สเปคเกินร้อย สาวน้อยคนเก่ง!
รุ่นที่เรารีวิววันนี้จะเป็น Roborock S7 MaxV Ultra ที่จะเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวท็อป ฟังก์ชั่นแน่นตัวล่าสุดของปี 2022 ดังนั้นเทคโนโลยีทุกอย่างที่มีของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ก็จะมาอยู่ใน S7 MaxV ตัวนี้ครับ
สำหรับ Roborock S7 MaxV Ultra จะแยกออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ครับ คือตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่เป็น Roborock S7 MaxV กับอีกส่วนคือ Roborock Ultra Dock ที่เป็น Dock สำหรับดูดฝุ่นออกจากเครื่อง/ซักผ้าถูพื้น/เติมน้ำให้หุ่นยนต์/ชำระล้าง Dock ทำให้หมดทุกอย่างเลย
ซึ่งเราสามารถซื้อ S7 MaxV พร้อม Ultra Dock ได้ หรือจะซื้อเฉพาะเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นก็ได้เช่นกัน
ไม่ได้บังคับว่าจะต้องมี Dock ซักผ้าติดมาด้วย ดังนั้นรีวิวเลยจะขอแบ่งออกเป็น 2 Part ระหว่างตัวเครื่องกับ Dock นะครับ เผื่อใครเล็งๆ เป็นตัวเครื่องแค่อย่างเดียว (แต่บอกก่อนเลยว่า Dock นี่ก็จุดเด่นของรุ่นนี้เลยนะ)
เริ่มแกะกล่อง
อย่างที่บอกไปครับว่าตัว Roborock S7 MaxV เค้ามีทั้งรุ่นที่เป็นรุ่นธรรมดา และรุ่นพร้อม Ultra Dock ซักผ้า สำหรับรุ่นที่รีวิวนี่ก็จะเป็นรุ่นที่มาพร้อมกับ Ultra Dock ครับ ดังนั้นกล่องของน้องที่มา ก็จะมาเป็นกล่องใหญ่ๆ แบบนี้เลยยย
อุปกรณ์ในกล่อง
ตัวเครื่อง :
เปิดกล่องมาอย่างแรกเราก็จะเจอกับตัวเครื่องเลยครับ สำหรับตัวเครื่องก็จะมีการบรรจุอุปกรณ์มาให้แล้วเรียบร้อย ทั้งผ้าถูพื้น และกล่องเก็บฝุ่น+ถังน้ำในตัวเครื่อง พร้อมใช้งานได้เลย
Ultra Dock :
ตัวนี้ชิ้นใหญ่สุดในกล่องเลยครับ จะเป็นฐาน Ultra Dock มีการแพคกล่องใส่น้ำ ใส่ฝุ่นมาเรียบร้อย มีหน้าที่ชาร์จไฟ/เติมน้ำ/ดูดฝุ่นออก/ซักผ้าให้ ด้านล่างที่ฐานจะมีการใส่โฟมรองไว้ ก่อนใช้อย่าลืมแกะออกก่อนนะฮะ
ฐานรอง Dock :
ตัวนี้เอาไว้ให้หุ่นยนต์สไลด์ขึ้น Dock เพื่อไปชาร์จ/ซักผ้าได้ครับ และช่วยไม่ให้ผ้าที่เปียก หลังถูพื้นเสร็จสัมผัสกับพื้นบ้านด้วยครับ เผื่อสำหรับบางบ้านที่เป็นพื้นไม้
สายไฟ :
จะเป็นสาย power มาตรฐานเสียบกับหลังเครื่องได้เลย ตัวนี้จะไม่มีอแดปเตอร์ออกมาเกะกะครับ ที่ด้านหลัง Dock มีที่พันสายไฟไว้ให้ด้วยนะครับ สำหรับบ้านใครที่วาง Dock ใกล้ปลั๊ก ไม่ต้องมีสายห้อยเกะกะ
ถุงเก็บฝุ่นใน Ultra Dock :
การเก็บฝุ่นของ Ultra Dock ตัวนี้จะใช้ลักษณะเป็นถุงเก็บครับ เมื่อเต็มแล้วก็สามารถทิ้งได้เลยแล้วใส่อันใหม่ ที่เห็นอันนี้จะเป็นชิ้นที่ 2 ที่ให้มานะครับ มีอีกตัวนึงที่อยู่ใน Dock ให้มาอยู่แล้ว
คู่มือการใช้งาน :
เล่มค่อนข้างหนาเลยครับ มีบอกวิธีใช้ต่างๆ อยู่ในคู่มือตัวนี้
หน้าตาตัวเครื่อง
หน้าตาตัวเครื่องของ Roborock S7 MaxV ไม่ว่าจะซื้อรุ่น Dock แบบไหน จะได้ตัวเครื่องเหมือนกัน มีฟังก์ชั่นการดูดฝุ่น การทำความสะอาดหลักๆ ที่เหมือนกันครับ โดยหน้าตาของรุ่นนี้ก็จะยังมาในสไตล์หุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบบที่เราๆ คุ้นเคยกันนั่นแหละฮะ โดยดีเทลการออกแบบของรุ่นนี้จะใช้สีดำเป็นหลักซึ่งก็จะมีจุด concern นิดนึงคือเวลาฝุ่นเกาะน้องก็จะเห็นค่อนข้างชัดหน่อยครับ โดยวัสดุตัวเครื่องในรอบนี้เปลี่ยนมาเป็นวัสดุพลาสติกแบบดำด้านหมด ก็ช่วยให้ทำความสะอาดง่ายขึ้นไม่ทิ้งคราบครับ ใครใช้ๆ ไปแล้วรู้สึกฝุ่นเริ่มเยอะก็เช็ดน้องหน่อยได้ครับ
เริ่มต้นใช้งาน
ใช้งานง่าย แต่จะใช้ผ่านแอปในมือถือเป็นหลักนะครับ ดังนั้นที่บ้านต้องมี Wi-Fi นะ
สำหรับการเริ่มต้นการใช้งานครั้งแรก อย่างที่บอกไปว่าเครื่องค่อนข้างจะเน้นการใช้งานผ่านแอปเป็นหลัก เพราะฟังก์ชั่นค่อนข้างเยอะมาก ดังนั้นปุ่มบนตัวเครื่องสำหรับใช้งานจึงมีมาแค่ 3 ปุ่มครับ คือปุ่มเริ่ม/Pause, ปุ่มกลับ Dock และปุ่ม Spot Cleaning สำหรับทำความสะอาดเฉพาะจุด
แต่การใช้งานทั้งหมดของรุ่นนี้จะอยู่ในแอปเลย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้กับทั้งแอป Mi Home และแอป Roborock ครับ ซึ่งในการรีวิวนี้จะใช้แอป Roborock เป็นหลักนะครับ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าต่างกันอย่างไรระหว่าง 2 แอปนี้ อย่างที่บอกไปว่าหุ่นยนต์ Roborock จะสามารถเชื่อมต่อกับ Mi Ecosystem ได้ ถ้าหากว่าใช้ผ่านแอป Mi สำหรับใครที่มีอุปกรณ์ Mi หลายอย่าง ก็สามารถเชื่อม Automation ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ครับ เล่นกับเซนเซอร์ Smart home ต่างๆ ของ mi ได้ ส่วนฟีเจอร์การควบคุมเครื่องต่างๆ แทบจะเหมือนในแอป Roborock เลย
แล้วทำไมเราถึงใช้แอป Roborock?? ก็ต้องบอกว่าบ้านของทีมงานมีของ Mi อยู่ไม่เยอะครับ และไม่ได้ใช้เป็นหลัก สิ่งที่สังเกตตอนใช้งานเครื่องก่อนๆ ก็คือเวลามีฟีเจอร์ใหม่ๆ แอปฝั่ง Roborock จะได้อัปเดตก่อนเล็กน้อยครับ ดังนั้นทีมงานก็เลยใช้ฝั่งแอป Roborock เป็นหลักครับผม แต่ใครสะดวกทางไหนก็ไปอันนั้นได้เลยย แทบไม่ต่างกัน
ส่วนการเชื่อมต่อก็จะใช้ Wi-Fi 2.4GHz เป็นหลักครับ (อย่าลืมเชคตรงนี้ที่บ้านก่อนด้วยนะ) สามารถเพิ่มอุปกรณ์ ทำตาม step ที่ในแอปบอกไม่ยากมากครับ เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อย น้องหุ่นยนต์ก็จะเข้ามาในแอปพร้อมใช้งานแล้ว
เซนเซอร์ในตัวเครื่อง
สำหรับตัวเครื่อง Roborock S7 MaxV ก็จะมีเซนเซอร์ค่อนข้างจะรอบตัวเลยครับ เอาไว้สำหรับ Map แผนที่ห้องและช่วยในการเดินไม่ให้ชนวัตถุสิ่งของ เซนเซอร์หลักๆ ได้แก่
- Precisense Lidar : LiDAR ที่ด้านบน จะหมุนไปรอบๆ ตลอดเวลาเพื่อ scan พื้นที่ห้องและสิ่งกีดขวางรอบๆ
- กล้องคู่ ReactiveAI 2.0 จับวัตถุด้านหน้า + ไฟสำหรับใช้งานกล้องตอนกลางคืน
- แผงกันชนด้านหน้าเพื่อรับรู้การกระทบหรือชนกับวัตถุ (ที่เป็นแผงหน้าใหญ่ๆ)
- เซนเซอร์วัดระยะห่างจากผนัง ที่ด้านข้างกันชนทั้ง 2 ฝั่ง
- Cliff Sensor ใต้ตัวเครื่อง 4 จุด เอาไว้วัดระยะใต้เครื่อง ป้องกันการตกบันได
- เซนเซอร์จับการชนด้านบนตัวเครื่อง เผื่อการมุดที่ต่างๆ แล้วติด อย่างเช่นใต้โซฟา
- เซนเซอร์วัดการหมุนของล้อ ไว้จับระยะทางการวิ่ง
- เซนเซอร์วัดการกดของล้อ ให้เครื่องหยุดทำงานเวลาถูกยก + รับรู้เวลาเดินขึ้นพรมเพื่อเข้าโหมด carpet
- Gyroscope, Accelerometer และ Electronic Compass ทำให้รู้การหมุน รู้ทิศ รู้การเคลื่อนไหวของตัวหุ่นยนต์เอง
- เซนเซอร์ตรวจจับแท่นชาร์จ สำหรับการกลับที่ชาร์จ
ระบบแผนที่
จุดเด่นของแบรนด์ Roborock เลย ที่แผนที่ค่อนข้างแม่น และระบบค่อนข้างฉลาด รุ่นนี้อัพเกรดกว่าเดิมด้วยนะ
ซึ่ง Sensor ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวของหุ่นยนต์นี่เองครับ ที่จะมาช่วยสร้างแผนที่ห้องให้เรา ระหว่างที่น้องทำความสะอาดห้อง ต้องบอกว่าจุดเด่นของแบรนด์ Roborock มาตั้งแต่แรกเลยคือระบบแผนที่ของเจ้านี้ค่อนข้างแม่นยำครับ คือวาดผังห้องเราได้ค่อนข้างละเอียดเลย โดยเฉพาะรุ่นที่มีกล้องหน้านี่นอกจากวางผังแล้ว ก็จะรู้ด้วยว่าห้องเรามีสิ่งกีดขวางอะไรอยู่ตรงไหน ทำให้สามารถวางแผนการทำความสะอาดได้ค่อนข้างหลากหลายรูปแบบมากๆ ครับ
เรามาดูกันครับว่าฟังก์ชั่นที่เกี่ยวกับระบบแผนที่ ที่ S7 MaxV มีมาให้ สามารถทำอะไรได้บ้าง
ติดตามการทำงาน Real-time
พอมีระบบแผนที่ หุ่นยนต์ก็จะรู้ครับว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของบ้าน ทีนี้เวลาทำความสะอาด เราก็จะสามารถ Track ได้เลยว่ารอบนี้น้องวิ่งไปทางไหน ทำความสะอาดตรงไหนแล้วบ้าง ซึ่งจะขึ้นมาให้ดูในแอปแบบ Real-Time เลยครับ สำหรับใครบ้านใหญ่ สงสัยว่าน้องทำงานไปถึงไหนแล้วก็ไม่ต้องเดินตามหา เปิดแอปดูเอา
สร้างห้องได้ ก็เลือกห้องทำความสะอาดได้
แต่ฟังก์ชั่นการติดตามเป็นแค่ฟีเจอร์พื้นฐานครับ ความฉลาดของระบบแผนที่คือพอรู้ว่าหน้าตาพื้นที่ที่ต้องทำความสะอาดทั้งหมดเป็นอย่างนี้ เครื่องก็จะทำการแบ่งห้องให้อัตโนมัติ ดูจากรูปร่างของผังฮะ ซึ่งเครื่องก็จะปรับรูปแบบการเดินทำความสะอาดให้เหมาะสม ให้ใช้เวลาน้อยที่สุดแต่ได้พื้นที่ครอบคลุม ไม่เดินมั่วสะเปะสะปะ
แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่าห้องที่แอปแบ่งให้ยังไม่ถูกต้อง เราก็สามารถมาปรับแผนที่ ตั้งโซนห้องให้ถูกต้องได้เองครับ ซึ่งพอรู้ว่าห้องไหนเป็นห้องไหนแล้วเนี่ย เราสามารถเลือกได้เลยว่าห้องนี้ครัว ดูดแรงพร้อมถูพื้นไปเลย ห้องนี้ห้องนอน ตอนเช้าไม่ต้องทำความสะอาดเพราะยังไม่ตื่นก็ได้ครับ และสามารถตั้งลำดับได้ด้วยว่าจะให้ไปห้องไหนก่อนหลัง
ตั้งโซนอันตราย ไม่ให้น้องเข้าไปยุ่ง
สำหรับบางบ้าน อาจจะโซนรก โซนของเล่นเกลื่อนพื้น หรือมีโซนอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ต้องการให้หุ่นยนต์เข้าไปทำความสะอาด อย่างของห้องทีมงานเองนี่ก็จะกั้นโซนห้องน้ำไว้ครับ ไม่ให้น้องเข้าไป ซึ่งเราก็สามารถตั้งในแอปได้เลย ด้วยการสร้าง Virtual Wall แค่นี้ก็จะเหมือนมีกำแพงกั้น ไม่ให้หุ่นยนต์เดินเข้าไปแล้ว
หรือถ้ามีพื้นที่ไหนที่ไม่ต้องการให้เข้า ก็สามารถกดสร้าง No-Go Zone เป็นโซนห้ามเข้าได้เช่นเดียวกัน
รู้ว่าตรงไหนเป็นพื้นอะไร
นอกจากจะรู้ตำแหน่งห้องแล้ว ตัวหุ่นยนต์จะสามารถตรวจจับได้ด้วยครับว่าห้องที่ไปทำความสะอาดแต่ละห้อง พื้นของห้องเป็นวัสดุอะไร ซึ่งน้องสามารถแยกได้ว่าเป็นพื้นกระเบื้อง พื้นไม้ หรืออื่นๆ
แต่จุดเด่นของระบบนี้คือน้องจะสามารถรับรู้ได้ครับว่าตรงไหนเป็นพื้นพรม แล้วขึ้นในแผนที่ด้วยเช่นกัน พอขึ้นไปบนพรมปุ๊บก็จะมี Carpet Mode ที่เร่งแรงดูดเป็นระดับสูงสุด พร้อมทั้งตัว Mop ถูพื้นก็จะยกขึ้นเอง ไม่ให้ถูพรมเปียก เป็นระบบที่ใช้ความสามารถของเครื่องได้ดีเลย และเป็นจุดที่แตกต่างที่สำคัญที่อัพเกรดขึ้นมาจากรุ่น S6
Spot Cleaning สั่งเดินไปเฉพาะจุดได้เลย
สำหรับการทำความสะอาดแบบเฉพาะจุด เผื่อบางทีเผลอปัดอะไรตก หรือทำห้องสกปรกเฉพาะที่ เราก็สามารถสั่งให้น้องไปทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่เล็กๆ ได้เช่นเดียวกันครับ ถ้ากลัวไม่สะอาดก็มีปุ่มให้กดทำความสะอาดซ้ำแบบสองรอบสามรอบได้ มีโหมด Joy Stick ให้ขับน้องเป็นเหมือนรถบังคับได้ด้วยนะ
ผังห้องแบบ 3D และ Matrix
ระบบนี้เป็นลูกเล่นที่เพิ่มเข้ามาใหม่ครับ คือนอกจากเราจะสามารถเห็นภาพห้องเป็นแผนที่แบบ 2D จากด้านบนแล้วเนี่ย ใครคราวนี้จะมีตัวเลือกให้กดเป็นแบบ 3D ได้ เราก็จะเห็นภาพห้องเราเป็นฟีลแบบ The Sims มากยิ่งขึ้น เผื่อใครที่ดูแผนที่ 2 มิติแล้วไม่ค่อยเห็นภาพครับ
ซึ่งๆๆๆ โหมดแผนที่ 3D ว่าเจ๋งแล้ว ตัวนี้เค้ามีลูกเล่นยิ่งกว่าอีกครับ ด้วยโหมด Matrix ให้เราใช้ความสามารถของ AR โดยจะให้เราแพนกล้องมือถือไปรอบห้อง แอปก็จะเก็บโครงสร้างต่างๆ ของบ้านเราไว้ แล้วพอถ่ายจนครบทั้งบ้านปุ๊บ ระบบก็จะมาทำการ Map เป็นห้อง 3 มิติแบบสมจริงให้เลย เป็นโหมดที่เว่อมากกกกกกกกก เป็นลูกเล่นที่แบบโอโหห แต่ยังไม่ได้มีการลงสีให้นะครับ มาแต่โครง
(สำหรับตัวทีมงานใช้ iPhone 13 Pro Max ที่กล้องมี Lidar สำหรับใช้งาน AR อันนี้ไม่แน่ใจว่าถ้าใช้กับมือถือรุ่นอื่นจะเป็นอย่างไรบ้างนะครับ แต่สำหรับตัวนี้บอกเลยว่าค่อนข้างว้าวมากครับ ตรงมาก ถึงจะยังไม่ได้มีลูกเล่นที่ใช้กับแผนที่แบบ Matrix มากนัก)
กล้องหน้า ReactiveAI 2.0
ช่วยตรวจจับของบนพื้น หลบรองเท้า อึ๊น้องหมา ปลั๊กไฟ ไม่ให้น้องเผลอดูดเข้าเครื่อง
น่าจะเห็นภาพฟีเจอร์ระบบแผนที่ ที่มากับ Roborock S7 MaxV กันไปแล้ว ทีนี้มาพูดถึงฟีเจอร์เด็ดของ “MaxV” ที่เพิ่มมาจาก S7 ปกติกันบ้างครับ นั่นก็คือกล้องคู่หน้า ReactiveAI นั่นเองครับ
สำหรับใครที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ขออธิบายสั้นๆ อย่างงี้ฮะ คือปกติหุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะใช้ LiDAR ที่ติดตั้งอยู่บนตัวเครื่อง ส่องไปรอบๆ ตัวนี้จะเป็น Sensor มีหน้าที่วัดระยะใกล้ไกลครับว่าจะชนกับสิ่งต่างๆ หรือยัง ซึ่งพอใกล้ชนกับกำแพงหรือสิ่งกีดขวางนี่ ตัวเครื่องก็จะทำการชะลอ แล้วเดินเข้าไปหาวัตถุต่างๆ เบาๆ ให้กันชนหน้ากระทบกับวัตถุนั้น ก็จะรู้ว่าไปไม่ได้แล้ว แล้วก็จะเปลี่ยนทิศทางไปทางอื่น
ซึ่งข้อจำกัดของระบบนี้คือเขาจะรู้ครับว่าข้างหน้าหรือรอบข้างมีสิ่งกีดขวางอะไรบ้าง แต่เค้าไม่รู้ว่ามันคืออะไร ดังนั้นเพื่อการทำความสะอาดที่แม่นยำยิ่งขึ้น ระบบที่พูดไปก็ยังมีอยู่เหมือนเดิมครับ แต่จะเพิ่มกล้อง ReactiveAI ที่เป็นกล้องคู่หน้าเข้ามา ช่วยประมวลผลว่าวัตถุที่เข้าไปเจอนี่คือเรากำลังเจอกับอะไร ควรเข้าไปยุ่งไม๊ หรือหนีดีกว่า
แล้วทำไมต้องมี 2 กล้อง? อันนี้ก็จะคล้ายกับตาของคน หรือกล้อง iPhone ที่เราใช้งานกันครับ พอมี 2 กล้อง ก็จะช่วยในการวัดระยะความลึกต่างๆ ของวัตถุได้ โดยจะเป็นกล้องระบบ Structure Light 3D Scanning คู่กับกล้องถ่ายสีแบบ RGB ปกติ นอกจากนี้สำหรับเวลากลางคืน ตัวนี้ก็จะมีไฟส่องสว่างสำหรับทำงานตอนปิดไฟได้ด้วยครับ
หลบสิ่งของเล็กๆ
สำหรับกล้องในหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เวอร์ชั่นนี้จะเป็นเวอร์ชั่น 2.0 ถูกอัพเกรดมาจากรุ่นที่แล้ว การใช้งานหลบสิ่งของต่างๆ ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเลยครับ ถ้าเทียบกับหุ่นยนต์ที่ไม่มีกล้องเลย สิ่งที่แตกต่างกันแบบเห็นได้ชัดก็จะเป็นพวกของต่างๆ ที่วางอยู่บนพื้น ยกตัวอย่างเป็นรองเท้าใส่ในบ้านครับ ถ้ารุ่นไหนไม่มีกล้องเวลาน้องไปเจอบางทีก็จะดันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพ้นทาง เพราะรองเท้ามีน้ำหนักเบา บางทีก็จะไปอยู่ใต้โซฟาบ้าง ใต้เตียงบ้าง
แต่พอเป็นรุ่นมีกล้อง ระบบค่อนข้างตรวจจับได้ถูกต้องครับ ก็จะไม่เดินไปยุ่งละ เดินมาถึงรองเท้า ทำความสะอาดรอบๆ แล้วก็เดินหลบให้ รวมไปถึงสิ่งของต่างๆ ในห้องที่สุ่มเสียงเวลาดูดฝุ่น อย่างเจอปลั๊กไฟ ก็จะไม่เข้าไปยุ่งครับ กันปัญหาดูดสายไฟเข้าเครื่อง ซึ่งให้ความถูกต้องประมาณ 70-80% ครับ
โดยเราสามารถดูวัตถุทุกชิ้นที่น้องเจอได้ผ่านแอปเลยว่ามีอะไร อยู่ตรงไหนบ้าง ตัว AI ก็จะประเมินว่าภาพที่เก็บมาได้นี่น่าจะเป็นอะไร เช่นดูแล้วน่าจะเป็นเครื่องชั่งน้ำหนักนะ มั่นใจประมาณ 60% เป็นต้น แต่บางอย่างก็อาจจะบอกเป็น Unknown หรือบอกประเภทผิด ซึ่งหลักๆ คือถ้าเจอวัตถุกีดขวางก็จะหลบให้อยู่ดีฮะ (ความสามารถในการตรวจจับขึ้นอยู่กับพื้นผิวด้วยนะครับ อย่างเช่นบนพรมก็อาจจะจับได้แม่นยำน้อยกว่า)
รู้ว่าตรงไหนคือเฟอร์นิเจอร์
นอกจากสิ่งของชิ้นเล็กแล้ว กล้องจะสามารถตรวจจับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ๆ ได้ อย่างเช่นโคมไฟ เก้าอี้ โซฟา ซึ่งเครื่องจะมีโหมด Less Collission คือจะพยายามหลีกเลี่ยงการชนเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ สำหรับใครที่เฟอร์นิเจอร์อาจจะบอบบางครับ ซึ่งก็อาจจะแลกมากับการเก็บงานในที่แคบที่น้อยลงหน่อย
แต่ AI ก็จะมาช่วยดูตรงนี้ครับว่าอะไรที่ดูจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ก็เช่นเดียวกับโหมดจับสิ่งกีดขวาง คือ AI อาจจะไม่ได้ถูกต้อง 100% นะครับ แต่สำหรับที่ห้องก็เจอเตียงว่าเตียง เจอโซฟาว่าโซฟาครับ ซึ่งเราสามารถตั้งค่าห้องเพิ่มเองทีหลังได้ แล้วทีนี้ในการใช้งาน เราก็สามารถจิ้มเตียง หรือจิ้มโซฟา เพื่อทำความสะอาดเฉพาะจุดนั้นๆ ได้เลย
Pet Mode
เคยเห็นภาพหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเดินทับอึ๊น้องแล้วลากไปเป็นทางไหมครับ โหมดนี้ก็จะเป็นโหมดที่กล้องจะพยายาม detect สิ่งเหล่านี้ในบ้าน แล้วพยายามหลบให้ครับ ซึ่งห้องทีมงานเป็นคอนโด อาจจะไม่ได้มีสัตว์เลี้ยงมาให้ทดสอบ ดังนั้นอาจจะตอบอะไรไม่ได้กับการใช้งานจริง แต่ลองสั่งอุนจิปลอมมาแกล้งน้องแล้ว ผลก็คือน้องก็หนีครับ
กล้อง Video Call เคลื่อนที่ได้
นอกจากน้องจะเป็นแม่บ้านทำความสะอาดบ้านแล้ว ยังมีฟีเจอร์เสริมในการตรวจตราบ้านเวลาเราออกมาข้างนอกได้ด้วยนะครับ เป็นทั้งแม่บ้าน ทั้งยามในคนเดียว (นี่มันคุณรุจน์ชัดๆ) คือตัวหุ่นยนต์จะสามารถใช้กล้องหน้าที่มากับตัวเครื่องในโหมด Remote Viewing ได้ พูดง่ายๆ ก็คือสามารถใช้หุ่นยนต์เป็นกล้อง ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านจากห้องนั่งเล่น จากเซนทรัลเวิลด์ จากเชียงใหม่ หรือจากที่ไหนในโลกก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ต โดยเราจะสามารถสั่งหุ่นยนต์เดินไปที่ไหนในบ้านก็ได้ครับ ฟีลเหมือนเล่นเกมขับรถอยู่เลย แต่แมพเป็นบ้านเราเอง
ซึ่งระบบก็จะ concern เรื่องความเป็นส่วนตัวพอสมควร ดังนั้นถ้าจะใช้โหมดนี้ เราจะต้องกดอนุญาตที่ตัวเครื่องหุ่นยนต์ก่อนนะครับ (แค่ครั้งแรกครั้งเดียว) ส่วนกดดูภาพก็ต้องใส่ passcode ไม่ใช่ใครจะแอบหยิบมือถือเราสุ่มสี่สุ่มห้าไปไล่ขับวนดูของมีค่าในบ้านเราได้
นอกจากนี้ เราก็จะสามารถคุยโต้ตอบได้ด้วยนะครับ เสียงชัดใช้ได้ เป็นฟีลวีดีโอคอล เผื่อใครเหงาไปเที่ยวไกลๆ ก็ขับน้องไปคุยกับหมาแมวที่บ้านได้
(โหมดนี้เวลาวิ่งไปไหน ชุดแปรงปัดจะทำงานด้วยครับ ดังนั้นก็จะมีเสียงนะ ไม่ได้ไปแบบเงียบๆ พร้อมกับจะมีเสียงแจ้งว่าโหมด Remote Viewing Active เพื่อให้คนที่บ้านรู้ว่าตัวเองถูกถ่ายอยู่)
แรงดูดเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
แรงดูดสูงสุด 5100Pa แรงขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า แต่เสียงดังเท่าเดิม
สำหรับการดูดฝุ่นของ Roborock S7 MaxV จะมีแปรงปัดฝุ่นเข้าเครื่อง 1 ตัวอยู่ที่ด้านหน้าครับ โดยตัวนี้จะมีลักษณะเป็นยาง สามารถถอดเปลี่ยนได้ ส่วนชุดแปรงปัดฝุ่นสำหรับดูดตัวหลักจะอยู่ที่บริเวณใต้เครื่องอีกหนึ่งตัว เป็นแปรงแบบยางเช่นเดียวกัน
โดยเครื่องจะทำการดูดฝุ่นมาเก็บไว้ในกล่องเก็บฝุ่นที่อยู่ภายในตัวเครื่องครับ ซึ่งจะมีฟิลเตอร์กรองฝุ่นให้ ไม่ให้ฝุ่นที่ดูดฟุ้งกระจาย โดยกล่องตัวนี้ก็จะมีขนาดกำลังพอดี ไม่ใหญ่ไม่เล็กไป สำหรับใครที่ไม่ได้ซื้อ Dock แบบที่ดูดฝุ่นออกให้ ก็สามารถถอดกล่องไปเทฝุ่นทิ้งเองได้ ซึ่งชุดอุปกรณ์ตรงนี้สามารถถอดทำความสะอาด ล้างน้ำได้ทั้งหมด
ในด้านประสิทธิภาพของการดูดฝุ่น ตัวนี้เคลมไว้ว่ามีกำลังในการดูดฝุ่นสูงสุด 5100Pa หรือแรงกว่ารุ่นเดิมถึง 2 เท่าครับ โดยที่เสียงในการใช้งานจะยังคงดังอยู่ในระดับเดิม ซึ่งเพื่อให้เห็นภาพการทำความสะอาดมาขึ้น เราเลยจะลองทดสอบเทมาม่าป่นลงบนพื้น พร้อมเครื่องปรุง แล้วลองให้น้องเค้าทำความสะอาดดูครับว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ทดสอบการดูดฝุ่น
โหมดที่ใช้จะเป็นโหมดดูดฝุ่นอย่างเดียว (ปิดโหมดถูพื้น) เปิดไว้ทีความแรงสูงสุด ให้ทำความสะอาดเฉพาะบริเวณ zone ห้องนั่งเล่น โดยตั้งให้ทำซ้ำที่เดิม 3 ครั้งครับ
จากการลอง รอบแรกน้องก็จะเก็บเศษไปได้ค่อนข้างส่วนใหญ่แล้วครับ เรียกว่าถ้าชิ้นไหนเครื่องวิ่งผ่าน ก็ดูดขึ้นมาได้หมด แต่ก็จะมีบางส่วนที่เป็นเศษชิ้นใหญ่ที่ถูกแปรงปัดด้านหน้าปัดกระเด็นออกมาบ้าง ส่วนที่เป็นผงเล็กอย่างผงเครื่องปรุง พวกนี้ก็จะถูกดูดแทบจะทั้งหมดตั้งแต่รอบแรกแล้วครับ
พอมารอบ 2 เครื่องจะมีการปรับเส้นทางใหม่ให้ด้วย จากรอบแรกวิ่งแนวตั้ง มารอบสองก็จะวิ่งแนวนอน เพื่อเปลี่ยนทิศการทำความสะอาด รอบนี้ก็จะเก็บเศษมาม่าบนพื้นไปได้อีกพอสมควรครบ แต่ก็จะมีบางส่วนที่ยังถูกแปรงปัด ทำให้ไม่เข้ามาใต้เครื่องอีกเช่นกัน
พอรอบ 3 เหมือนเป็นการเก็บงานอีกรอบ รอบนี้พวกเศษต่างๆ ที่เหลืออยู่ก็ถูกเก็บหมดเรียบร้อย ลองมาสำรวจที่พื้น ก็จะเห็นว่าเก็บหมดจริงๆ ครับ ส่วนตรงที่เทเครื่องปรุงไว้ จุดนี้ก็ถูกดูดไปจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแล้วเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเอานิ้วลูบ ก็จะมีเศษๆ ผงเล็กๆ ติดมาบ้างครับ ด้วยความเป็นผงละเอียด อันนี้ก็จะต้องใช้ฟังก์ชั่นถูมาถูอีกรอบครับ พอถูเสร็จ มาลองเชคอีกที พื้นก็สะอาดเรียบร้อย
เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน
สำหรับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ก็จะเหมาะกับงานทำความสะอาดประเภท Routine เป็นหลักครับ คืออาจจะตั้งเวลาทำความสะอาดไปเลย วันละครั้งหรือ 2 ครั้ง เช้าเย็นว่าไป แบบแต่ละครั้งไม่ถึงกับสกปรกมาก เน้นทำความสะอาดบ่อยๆ เรื่อยๆ ซึ่งจากที่ใช้มาในระยะหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ห้องก็สะอาดเรียบร้อย ไม่รู้สึกถึงฝุ่นหรืออะไรบนพื้นเลยครับ ของกินกรอบๆ ที่กินแล้วเศษหล่นลงพื้น พอน้องเดินมาเก็บก็หายเกลี้ยง แรงดูดสำหรับการใช้งานทั่วไปค่อนข้างจะหายห่วง
ส่วนในคลิปการทดสอบ อันนี้ก็เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างเกินปกติไปนิดนึง ออกแนวไปทำอะไรหกเต็มพื้นแล้วขี้เกียจกวาด ถามว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้แล้วน้องยังสามารถไหม ก็ยังสามารถอยู่ครับ แต่อาจจะต้องกดให้ทำความสะอาดซ้ำจุดเดิมหลายรอบหน่อย อาจจะไม่สะอาดในทีเดียว (มีปุ่มให้เลือกได้เลยว่าโซนที่ทำความสะอาดจะให้ทำกี่ครั้ง) ก็น่าจะพอเห็นภาพการใช้งานของน้องหุ่นยนต์เค้าฮะ
อ่อ แล้วก็จะมีจุดบางจุดที่เครื่องเข้าไม่ถึง อย่างเช่นซอกตู้เย็น หรือมุมกำแพง ที่น้องอาจจะเข้าไปไม่ได้นะครับ ก็จะเหลือมุมเล็กๆ ในห้องส่วนนี้ที่นานๆ ครั้งเราต้องทำความสะอาดเอง
ระบบถูอัพเกรดใหม่ ช่วยสั่นถูพื้นได้
ระบบถูจากเดิมแค่เป็นผ้าลากไปบนพื้น ถูกอัพเกรดใหม่ให้มีการสั่นของผ้าถู เพิ่มแรงขัดพื้น
พูดถึงเรื่องของการดูดฝุ่นไปแล้ว อีกฟีเจอร์ที่เป็นจุดขายของรุ่นนี้เลยคือระบบถูพื้นครับ ระบบถูของรุ่นนี้ค่อนข้างถูกอัพเกรดมาจากรุ่นก่อนๆ พอสมควร อย่างรุ่นเก่าหน่อย ระบบถูพื้นของ Roborock จะเป็นแค่ระบบใส่น้ำในถาด อาศัยน้ำหยดลงผ้า และผ้าก็ถูพื้นห้องไป เลิกถูก็ถอดถาดออก
หลังจากนั้นรุ่นใหม่ขึ้นก็เริ่มมีระบบปั๊มไฟฟ้าเข้ามา สามารถใส่น้ำทิ้งไว้ในตัวเครื่องได้เลย จะถูห้องไหน ตรงไหน ก็ set ในแอป เครื่องก็จะปั๊มน้ำออกมาถู กำหนดว่าใช้น้ำมากน้ำน้อยได้
ถูพร้อมระบบสั่น Sonic Mopping
มาถึงรุ่นล่าสุด อย่าง S7 ระบบถูก็มีการอัพเกรดไปให้ใช้งานได้จริงมากขึ้นอีก ด้วยการใส่ระบบสั่นที่ตัว mop ถูครับ นึกภาพจากของเดิมที่ตัว Mop ถูพื้นจะถูกลากแปะไปกับพื้นเฉยๆ มาคราวนี้ได้เพิ่มระบบ VibraRise ที่จะมีการสั่งที่ตัว Mop สูงสุด 3,000 ครั้งต่อนาที ก็จะเป็นการถูที่เหมือนมีการออกแรงขัดมากขึ้นครับ
ซึ่งหลังจากลองเทสให้ถูบ้าน ในห้องนี้จะมีจุดนึงที่ไม่ได้ผ่านการถูมาหลายเดือนครับ คือบริเวณหน้าประตูของคอนโด เป็นจุดที่เวลาใส่รองเท้าเข้าห้องบางทีก็ย่ำน้ำเข้ามาบ้าง อะไรบ้าง ทำให้พื้นตรงนี้ค่อนข้างเละ และมีคราบแห้งติดกับพื้นห้องมาระยะนึงแล้วครับ ซึ่งเป็นโอกาสดีเลยที่จะได้ลองฟีเจอร์การถูของเจ้าตัว Roborock S7 MaxV ว่าระบบสั่นจะช่วยได้แค่ไหน
ผลก็คือคราบตรงที่ถูออกหมดเลยครับ ส่วนตัวถือว่าใช้ได้นะ ดีกว่าที่คาดไว้เยอะเลยครับ คือคราบออกแบบเกลี้ยงเลยตั้งแต่การถูครั้งแรก แต่ๆๆๆๆ มีแต่ครับ จะเห็นจากในรูปใช่ไหมครับว่ามีส่วนริมประตูที่มีคราบอยู่ น่าจะเป็นข้อจำกัดของเครื่องที่ถูในส่วนชิดขอบประตูได้ไม่ได้เท่าข้างนอก ทำให้ตรงขอบยังมีรอยอยู่ อันนี้ก็อาจจะต้องใช้แรงคนเก็บงานครับ แต่พื้นที่เกือบทั้งหมดของห้องไม่มีปัญหา
ดังนั้นเรื่องของการถู สำหรับงานถูทั่วไป ตัวนี้ค่อนข้างจะเอาอยู่แล้วครับ ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ ชัดเจน ซึ่งการใช้งานตัว mop ก็จะค่อนข้างเน้นงานถูบ้านแบบ routine เป็นหลักอยู่แล้วครับ แต่ถ้าเป็นคราบที่หนักจริงๆ ที่ต้องใช้แรง ส่วนตัวก็คิดว่ายังต้องเป็นคนอยู่ครับ หรือถ้าแบบต้องทำความสะอาดจาก accident ใหญ่ๆ อย่าง ชามก๊วยเตี๋ยวคว่ำ ถุงแกงตกแตก ด้วยตัว Mop ที่ไม่ได้ใหญ่มาก งานพวกนี้ก็จะเกินตัวน้องไปครับ
ระบบ Mop ยกตัวเองได้
ระบบนี้ก็จะเป็นระบบใหม่ที่เพิ่งใส่เข้ามาตอนรุ่น S7 และได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ mop ถูพื้นของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะลากไปกับเครื่องใช่ไหมครับ สำหรับ S7 MaxV จะเพิ่มการยกตัวของตัว mop ได้แบบ Auto Lifting โดยจะยกขึ้นได้ประมาณค่อนเซนติเมตร ข้อดีก็คือโซนหรือห้องที่เราไม่อยากให้เปียกหรือให้ถูจริงๆ ก็จะไม่เปียกเลย เพราะผ้าไม่โดนพื้น
นอกจากนี้ระบบนี้ยังทำงานคู่กันกับ Carpet Mode ได้ด้วยครับ คือใต้เครื่องจะมีเซนเซอร์ถ้าเจอพรมปุ๊บสามารถตั้งให้ตัวถูพื้นยกหนีได้เลย เพื่อเวลาขึ้นพรมแต่ไม่ให้พรมเปียกแต่ยังดูดฝุ่นให้ตามปกติ เหมาะสำหรับพรมบางประเภทที่ไม่ถูกกับน้ำ ซึ่งเครื่องจะสามารถ detect พรมได้อัตโนมัติเลยครับ
แต่ต้องบอกว่าระบบยกได้ประมาณครึ่งเซนนะครับ ดังนั้นถ้าพรมที่ขนยาวมากๆ แล้ว concern เรื่องการเปียกของพรม เครื่องก็มีให้เลือก Carpet Mode เป็นแบบที่เจอพรมแล้วไม่ขึ้นเลยก็ได้เหมือนกัน
โหมดการทำงาน
โดยปกติ เครื่องจะทำงานดูดฝุ่นพร้อมกับถูพื้นไปด้วยเลยครับ เพื่อประหยัดเวลา แต่สำหรับใครที่อยากดูดฝุ่นโดยเฉพาะ หรือถูพื้นโดยเฉพาะ ก็สามารถเลือกได้เช่นกัน
โดยโหมดถูพื้นที่มีก็จะสามารถปรับระดับความแรงของการทำงานได้ ถ้าเบาก็จะใช้น้ำน้อยลง สั่นน้อยลง ถ้าปรับเป็นสูงสุด ก็จะใช้น้ำเยอะสุดและมีแรงขัดสูงสุดครับ ซึ่งนอกจากนี้ในโหมดถูอย่างเดียว ยังมีตัวเลือก Deep Cleaning ที่จะปรับวิธีการเดิน ให้เดินถี่ขึ้น เพื่อทำความสะอาดมากกว่าปกติครับ
การทำความสะอาด
สำหรับระบบถูจะมาพร้อมกับถังน้ำความจุประมาณ 200ml ครับ ในโหมดแรงสุดก็จะใช้น้ำต่อครั้งเยอะหน่อยประมาณ 1 ใน 3 ของถังครับ แต่ถ้าโหมดปกติก็จะน้อยลงมา โดยถาดที่ใส่ mop สามารถถอดออกได้นะ ไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ตลอด ในกรณีที่ต้องไปดูดฝุ่นบนพื้นทางวิบากหน่อย สมบุกสมบันหน่อย ถอด mop ที่พื้นก็จะช่วยให้ไม่เกะกะใต้ท้องครับ (ในกรณีที่ระบบยก mop ถูพื้นช่วยแล้วก็ยังไม่พ้น)
ซึ่งการถอดถาด mop ออกก็จะเป็นเหมือนกับการปิดโหมดถูพื้นโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ตัวผ้าสำหรับถูพื้นก็สามารถถอดออกมาซักได้ง่ายครับ เป็นตีนตุ๊กแกล๊อกกับช่อง ซักเสร็จก็ใส่คืนที่เดิมได้ แต่ไฮไลท์ของ Roborock S7 MaxV Ultra อยู่ที่ข้อถัดไป สำหรับใครที่อยากแค่กดใช้อย่างเดียวครับ
Ultra Dock
Dock ตัวใหม่ เก็บฝุ่นให้ได้ เติมน้ำให้ด้วย ซักผ้าถูพื้นให้อีก เราแค่นั่งดูอย่างเดียว
Ultra Dock ถือว่าเป็นของใหม่ ที่เพิ่งมีมาใน Roborock S7 MaxV เป็นครั้งแรกเลยครับ กับ Dock ที่นอกจากจะดูดฝุ่นในตัวเครื่องไปเก็บไว้ได้แล้ว ยังมีระบบเติมน้ำ และซักผ้าถูอัตโนมัติให้ด้วย
หน้าตาของตัว Dock ก็จะเป็นสีดำแบบเดียวกับเครื่อง ขนาดต้องยอมรับว่าใหญ่ครับ ด้านล่างจะเป็นพื้นที่สำหรับแปรงซักผ้าถูและให้หุ่นยนต์มาชาร์จ ส่วนด้านบนก็จะเป็นพื้นที่ของกล่องเก็บฝุ่น กล่องใส่น้ำดี และกล่องใส่น้ำเสีย ซึ่งตัวกล่องน้ำทั้งสองนี้ เค้าก็ดีไซน์มาเป็นหูหิ้ว สามารถหิ้วถังไปใส่น้ำ/เททิ้งในห้องน้ำได้เลย ไม่หกเลอะเทอะครับ
ระบบดูดฝุ่นในตัวเครื่อง
มาดูระบบเก็บฝุ่นกันก่อนครับ สำหรับ Dock ตัวนี้ ใน Dock จะมีถังเก็บฝุ่นขนาดใหญ่มาให้ ซึ่งทุกครั้งหลังจากที่หุ่นยนต์ทำความสะอาดห้องเสร็จแล้วกลับมาจอดที่ Dock ตัว Dock ก็จะทำการดูดฝุ่นในตัวหุ่นยนต์ มาไว้ที่ตัวเอง
ข้อดีก็คือเราไม่ต้องมาแกะฝุ่นในตัวเครื่องออกบ่อยๆ ครับ ยิ่งใครที่มีบ้านมีพื้นที่หน่อย หรือเป็นบ้านพื้นที่เปิดรับลม รับอากาศธรรมชาติ ที่มีฝุ่นในบ้านไวหน่อย ระบบนี้ก็จะค่อนข้างตอบโจทย์เลยครับ เพราะเราสามารถให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดวันละครั้งสองครั้ง โดยที่ตัวกล่องฝุ่นในเครื่องจะไม่ได้เต็มไวเหมือนเมื่อก่อน ตัว Dock นี่เคลมไว้ที่ประมาณ 7 อาทิตย์สำหรับการใช้งานต่อเนื่องครับ (แต่ห้องทีมงานเป็นคอนโดห้องปิด ดังนั้นเท่าที่ใช้งานมาเลยยังไม่เต็มเลยครับ)
ซึ่งตัวเก็บฝุ่นจะเป็นถุงครับ มีระบบสามารถกรองฝุ่นได้ เก็บแล้วไม่ฟุ้งกระจายแน่นอน หลังจากเต็มก็สามารถถอดเอาฝุ่นไปเททิ้งได้ครับ ซึ่งตัวถุงสามารถถอดเปลี่ยนได้ มีอะไหล่ขาย
ระบบซักผ้าและเติมน้ำถูพื้น
ตัวนี้เป็น Killing Feature ของ Dock ตัวนี้เลยครับ กับการซักผ้าถูพื้นให้ โดยหลังจากที่ถูพื้นเสร็จ เครื่องจะมาจอด เอาผ้าถูมาให้แปรงด้านล่างของ Dock ซักผ้าถูให้ โดยจะมีเสียงดังพอประมาณ ใช้เวลาประมาณ 3 นาที ก็จะเป็นการซักผ้าเรียบร้อย น้ำที่ใช้ในการซักก็จะถูกดูดไปไว้ในถังน้ำเสียครับ
ซึ่งน้ำดีที่ใส่ไว้ใน Ultra Dock นอกจากจะใช้ในการซักผ้าได้แล้ว ยังมีระบบเติมน้ำเข้าในเครื่องหุ่นยนต์แบบออโต้ด้วยครับ ดังนั้นเรื่องการซักผ้า เติมน้ำ เราไม่ต้องยุ่งเลย Dock จัดการให้หมด
และสำหรับใครที่บ้านมีพื้นที่กว้าง แล้วต้องถูทั้งบ้าน แต่จะซักผ้าถูแค่ตอนสุดท้ายหลังถูทั้งบ้านเสร็จก็อาจจะไม่สะอาด กลายเป็นถูโคลนไปทั้งบ้านแทน ตัว Roborock เค้าก็มีระบบให้แวะกลับมาซักระหว่างทางนะครับ สามารถเลือกได้ อย่างเช่นให้กลับมาซักผ้าถู หลังจากทำความสะอาดเสร็จแต่ละห้อง หรือให้กลับมาซักผ้า หลังจากถูไปแล้วทุกๆ 10-50 นาที (แล้วแต่เลือก) อันนี้ก็จะเหมือนกับเวลาเราถูบ้านจริงๆ มากขึ้น ที่จะซักผ้าบ่อยๆ หน่อยถ้าสกปรก
ดังนั้นทีมงานมองว่า Ultra Dock นี่มันไม่ใช่ว่าเก็บฝุ่นได้ หรือซักผ้าได้ เติมน้ำให้ได้ครับ แต่มันเหมือนเป็นการซื้อฟีเจอร์การใช้งาน automate แบบค่อนข้างจะครบวงจรเลย
จากเดิมที่เรามีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น/ถูพื้นให้ แต่ถ้าถูก็ยังต้องมาแกะผ้าไปซัก หรือเติมน้ำก่อนใช้ทุก 2-6 ครั้ง มันจะมาทำให้ทุกอย่างออโต้แบบสมบูรณ์มากขึ้นครับ เราสามารถสั่งได้เลยว่าอาทิตย์นึงจะให้เครื่องถูพื้นตอนไหนบ้าง จะถูวันละหลายรอบก็ได้ ไม่ต้องคอยเติมน้ำ ผ้าสกปรกเดี๋ยวเค้าไปซักเอง น้ำในเครื่องหมดเดี๋ยวก็เดินไปเติมเอง ฝุ่นในเครื่องก็ดูดออกเอง ปล่อยให้เค้าทำงานของเค้าไป เราแค่นานๆ มาเอาฝุ่นออก/เปลี่ยนน้ำ โดยเฉพาะฟีเจอร์เกี่ยวกับถูพื้น ที่จะมีข้อจำกัดเรื่องของน้ำ ตัวนี้ก็จะตัดปัญหาไปเลย
ยิ่งถ้าเป็นบ้านใหญ่ๆ ที่การทำความสะอาดแต่ละครั้งใช้พื้นที่เยอะ ฟีเจอร์ของ Ultra Dock ก็จะดูมีประโยชน์มากขึ้นไปอีกครับ เมื่อรวมกับความสามารถในการถูของ Roborock S7 MaxV ที่อัพเกรดระบบให้ถูได้จริงจังมากขึ้นกว่าเดิม ก็ทำให้ฟีเจอร์ด้านกาารถูพื้นพร้อม Ultra Dock เป็นอะไรที่ค่อนข้างโดดเด่นสำหรับรุ่นนี้ครับ แต่ก็แลกมากับราคาที่สูงขึ้นประมาณนึงอยู่ฮะ
แล้วผ้าหลังการซักสะอาดแค่ไหน??
อันนี้เป็นผ้าที่ผ่านการซักมาแล้ว 3 อาทิตย์ครับ ส่วนน้ำอันนี้คือน้ำที่ได้จากการซักครับผม ฟีลคลองแสนแสบยุค 10 ปีที่แล้วได้เลยครับ ใครที่กลัวซักไม่สะอาดอันนี้ก็พอจะยืนยันได้ว่าใช้งานได้จริงฮะ ไม่ได้เป็นฟีเจอร์จกตาหลอกเอาเงินครับผม
มีรุ่นไหนให้เลือกบ้าง
มี 3 รุ่นย่อยให้เลือก มีทั้งรุ่น Dock ธรรมดา Dock ดูดฝุ่น และ Ultra Dock
สำหรับ Roborock S7 MaxV จะมีให้เลือก 3 รุ่นหลักๆ ครับ คือตัวเครื่องของน้องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเนี่ย ก็จะได้เหมือนกันทุกประการ ไม่มีฟีเจอร์ไหนหายไป แต่สิ่งที่ต่างกันคือ Dock ที่ได้ครับผม
Roborock S7 MaxV :
ตัวนี้จะเป็นรุ่นที่มาพร้อมกับ Dock แบบมาตรฐานสำหรับชาร์จไฟครับผม จะไม่ได้มีระบบดูดฝุ่นออกจากเครื่องหรือซักผ้าให้ ราคาตัวนี้จะเบาสุดฮะ
Roborock S7 MaxV+ :
ตัวนี้จะเพิ่ม Auto-Empty Dock ที่สามารถดูดฝุ่นออกจากตัวเครื่องได้ เพิ่มเข้ามาครับ สำหรับใครที่ไม่อยากมาแกะกล่องฝุ่นออกจากตัวเครื่องบ่อยๆ ตัวนี้ที่เก็บฝุ่นละเลือกได้ทั้งใส่เป็นถุง หรือตัวกรองที่ถอดออกมาล้างได้ครับ
Roborock S7 MaxV Ultra :
ตัวนี้จะมาพร้อมกับ Ultra Dock ที่ได้ฟังก์ชั่นครบครับ ทั้งดูดฝุ่นออกจากตัวเครื่อง มีกล่องใส่น้ำสำหรับเติมน้ำให้กับหุ่นยนต์แบบออโต้ มีระบบซักผ้า พร้อมกล่องใส่น้ำทิ้ง และสามารถล้าง Dock ได้ด้วยตัวเอง อันนี้ก็จะเป็นตัว Dock ที่เรารีวิวไป
แล้วเลือกรุ่นไหนดี?
อย่างที่บอกไปครับว่า จุดที่ต่างของ 3 รุ่นนี้ หลักๆ อยู่ที่ Dock เลย ดังนั้นทีมงานมองว่าก็จะอยู่ที่พื้นที่ในการใช้งานเป็นหลักครับ สำหรับใครที่พื้นที่ในการทำความสะอาดไม่เยอะมาก อย่างเช่นคอนโดที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็พื้นที่ประมาณ 20-40 กว่าตารางเมตร ตัวนี้ก็ถือว่าเอาอยู่ครับ เพราะกว่าฝุ่นจะเต็มถังครั้งนึงก็ใช้เวลานานหลายอาทิตย์อยู่ อิงจากจากประสบการณ์ที่ใช้รุ่นเก่าๆ มา หรือถ้าใช้ในบ้านที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ก็ยังโอเคนะ อาจจะต้องเปิดเครื่องมาเทฝุ่นซักสองอาทิตย์ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพฝุ่นและการเปิดโล่งและขนาดพื้นที่ของแต่ละบ้าน
แต่ถ้ามองความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ตัว S7 MaxV+ ที่มี Auto-Empty Dock สามารถเก็บฝุ่นมาให้ หลังจากใช้งานเสร็จตัวเครื่องก็จะดูดฝุ่นจากหุ่นยนต์มาเก็บไว้ใน Dock ให้เลย ตัวนี้ก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับใครที่ไม่อยากเทฝุ่นบ่อยๆ ครับ ซึ่งตัว Dock ก็จะมีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ตัวเก็บฝุ่นใน Auto-Empty Dock สามารถใส่ได้ทั้งไส้กรองฝุ่นที่ถอดล้างได้ หรือถ้าใครไม่อยากถอดล้าง ก็สามารถเลือกเป็นใช้ถุงเก็บฝุ่นที่เต็มแล้วทิ้งได้เหมือนกัน
ส่วนใครที่จริงจังกับงานถูพื้นด้วย ตัวปกติก็สามารถถูได้ แต่เราต้องเติมน้ำเองกับถอดผ้ามาซักเองครับ ซึ่งถ้าใครที่บ้านมีพื้นที่เยอะ ความจุถังในหุ่นยนต์ที่เติมน้ำได้ 200ml ก็อาจจะหมดไวหน่อยครับ ดังนั้นถ้าหากว่าบ้านพื้นที่ใหญ่ แล้วเน้นใช้เครื่องมาถูบ้านบ่อยๆ ตัว Ultra Dock ก็จะตอบโจทย์เลย เป็นอะไรที่อัตโนมัติหมดมากๆ เราสามารถสั่งเครื่องถูบ้านเช้าเย็นก็ได้ น้ำหมดเดี๋ยวก็เดินมาเติม ผ้าที่ถูไปแล้วซักพัก ยังไม่ครบทั้งบ้านก็เดินกลับมาซักก่อน แล้วค่อยไปถูต่อได้ โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งกับเค้า
หรือถ้าใครบ้านพื้นที่ไม่เยอะ แต่อยากได้ความอัตโนมัติ ไม่ต้องแกะผ้าเองหลังถู ตัวนี้ก็จะมาช่วยเรื่องนี้ได้ครับ แต่ก็ต้องบอกว่าตัว Ultra Dock เองก็มีขนาดตัวที่ใหญ่นิดนึงนะครับ ดังนั้นก็อาจจะต้องเผื่อที่วางให้กับเค้าหน่อย และสำหรับ Ultra Dock ก็จะมีระบบดูดฝุ่นออกจากตัวเครื่องเช่นกัน แต่รุ่นนี้จะเป็นแบบถุงเก็บฝุ่นใช้แล้วทิ้งฮะ
ความรู้สึกหลังจากใช้งาน
ฟีเจอร์แน่น แต่ใช้งานได้จริง สำหรับใครที่กำลังมองหาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นงบ 2 หมื่นต้นๆ – กลางๆ
สำหรับ Roborock S7 MaxV ก็เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวท็อปของ Roborock ประจำปีนี้ครับ ซึ่งก็ต้องบอกว่าหลังจากใช้งาน จุดเด่น จุดขายต่างๆ ที่หุ่นยนต์ Roborock รุ่นก่อนๆ เคยทำได้ ก็ยังอยู่ในรุ่นนี้ครบครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนที่ เรื่องกล้องหน้า AI ที่ช่วยแยกของ เรื่องฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ค่อนข้างละเอียด จากการที่เป็นยี่ห้อที่ทำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาค่อนข้างนาน ก็สะสมฟีเจอร์มาเรื่อยๆ
และในรุ่นนี้ได้มีการปรับฟีเจอร์การถูที่ดีกว่าเดิมมากขึ้น จากแค่แปะผ้าและลากตามพื้น มารอบนี้มีระบบสั่น Sonic Mopping ช่วยออกแรงถูมากกว่าเดิม ก็ช่วยให้การถูพื้นโดยรวมดีขึ้นกว่าเดิมแบบเห็นได้ชัดครับ ส่วนตัวคิดว่าเป็นหุ่นยนต์ที่ทั้งดูดทั้งถู ที่ระบบถูใช้งานได้จริงแล้วนะ
ซึ่งใครที่กำลังมองหาหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แล้วมีงบอยู่ในช่วง 2 หมื่นต้นๆ – กลางๆ ตัวนี้ก็เป็นตัวนึงที่น่าสนใจครับ คือให้ฟีเจอร์มาค่อนข้างครบ เป็นตัวที่ซื้อมาแล้วค่อนข้างจบพอสมควร แล้วฟีเจอร์ต่างๆ ในการใช้งานจริง มันไม่มีอะไรที่ใช้แล้วชวนหงุดหงิดครับ เป็นยี่ห้อนึงที่ทีมงานมองว่าของไว้ใจได้นะ
พูดมาเหมือนจะมีแต่ข้อดีหมด แล้วข้อเสียหรือจุดสังเกตมีบ้างไหม?? ก็ต้องบอกว่ามีครับ อย่างแรกคือหุ่นยนต์ดูดฝุ่นพวกนี้จะเหมาะกับงาน Routine เป็นหลักนะครับ ดังนั้นงานอะไรที่ต้องทำความสะอาดหนักๆ มากก็ยังเป็นข้อจำกัดของหุ่นยนต์ประเภทนี้อยู่ และอย่างต่อมาก็จะเป็นเรื่องของซอกมุมต่างๆ จุดเล็กๆ ที่ตัวเครื่องอาจจะเข้าไม่ถึง อาจจะต้องมาเก็บงานเองบ้าง นานๆ ครั้ง
ส่วนกล้อง ReactiveAI คู่หน้า โดยรวมใช้งานได้ดีเลย แต่ก็มีจุดที่อาจจะต้องทำความเข้าใจว่าเป็นระบบที่เข้ามาช่วยประเมินของที่อยู่ด้านหน้า โดยใช้ภาพจากกล้องนะครับ ดังนั้น มันก็จะมีปัจจัยหลายอย่างในการทำงาน อย่างเช่นขนาดวัตถุ แสง พื้นผิวรอบข้าง ซึ่งก็อาจจะถูกต้องไม่ครบ 100% ฮะ แต่ถ้าน้องเจอวัตถุอะไรแล้วไม่รู้จัก โดยพื้นฐานก็จะพยายามหลบก่อนให้อยู่แล้วครับ
ส่วนจุดเด่นอีกอย่างของรอบนี้ อย่าง “Ultra Dock” ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่เซอร์ไพร้มากครับ คือเราอาจจะเคยเห็น Dock แบบดูดฝุ่นออกจากหุ่นยนต์ได้ หรือซักผ้าถูพื้นให้ได้ ซึ่งตัวนี้รวมฟีเจอร์สองอย่างเข้าด้วยกันในตัวเดียวเลย
ซึ่งถ้าพูดว่าซักผ้าให้ได้ ดูดฝุ่นให้ได้ มันก็จะฟังดูเป็นอะไรที่ Nice to Have แบบ อืมๆ ซักผ้าได้หรอ ก็ดีนะ แต่พอใช้จริง ค่อนข้างจะคนละเรื่องเลยครับ คือมันไม่ใช่แค่ “ซักผ้าได้” แต่มันเหมือนเราซื้อฟีเจอร์ Automate ในการใช้งานเครื่องเพิ่มมาครับ
คือนึกภาพ เราแค่เติมน้ำใส่ถังไว้ เดี๋ยว Dock จัดการเติมน้ำใส่หุ่นยนต์ให้เอง, เดี๋ยวเครื่องออกไปถูพื้น กลับมาเดี๋ยวซักผ้าให้ ถูไปครึ่งบ้าน ผ้าสกปรก ก็เดี๋ยวแวะกลับมาซักผ้าให้ก่อน จะถูบ้านทุกวันก็ได้ ไม่ต้องมาเติมน้ำเองบ่อยๆ ไม่ต้องแกะเอาผ้าถูไปซักบ่อยๆ ฝุ่นในเครื่องก็ดูดออกมาเก็บไว้ให้
ซึ่งยิ่งบ้านมีพื้นที่ใหญ่ ก็จะยิ่งได้ Benefit จากความสามารถของ Dock ตัวนี้ครับ ดังนั้นส่วนตัวทีมงานมองว่าจุดขายของตัวนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่า Dock มันทำอะไรได้ แต่อยู่ที่เราไม่ต้องทำอะไรเลยนั่นเองครับ
แต่ Dock อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดที่ค่อนข้างใหญ่นิดนึงนะครับ ดังนั้นอาจจะต้องหาที่วางให้เค้าหน่อย ส่วนใครที่มอง Dock รุ่น Auto-Empty ใน S7 MaxV+ ไว้ ถ้าเพิ่มเงินอีกนิดไหวแล้วพื้นที่ไม่ใช่ปัญหา ก็อยากเชียร์ให้อัพมาเป็น Ultra Dock ตัวนี้ไปเลยครับ
สำหรับใครที่สนใจ
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นถูพื้น Roborock S7 MaxV มีทั้งรุ่นแบบ Dock ปกติ เริ่มต้นที่ 26,900 บาท และมีรุ่น S7 MaxV+, S7 MaxV Ultra เริ่มต้น 37,900 – 42,900 บาท มีให้เลือกทั้งแบบรับประกัน 2 และ 3 ปีครับ หรือใครจะซื้อ Dock แยกทีหลัง ก็มีขายแยกเช่นเดียวกันครับผม
และสามารถผ่อน 0% ได้นานสูงสุด 10 เดือนด้วยครับ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ :
https://www.roborockthailand.com/Roborock_S7_MaxV_Series
รีวิวนี้ ได้รับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในการรีวิวจาก Roborock Thailand