ในการปลูกแคคตัสหรือต้นไม้นั้น สิ่งสำคัญที่คนปลูกจะให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ก็คือดินที่ใช้ปลูกแคคตัสนั่นเองครับ วันนี้สวนหลังบ้านเลยจะมาชวนคุยกันเรื่อง “พีทมอส (Peat Moss)” ที่นิยมนำมาใช้เพาะเมล็ด และเป็นส่วนผสมในวัสดุปลูกกันครับ
“พีทมอส” คืออะไร?
เพื่อนๆ เคยสงสัยไหมครับว่า “พีทมอส (Peat Moss)” ที่เป็นเหมือนดินละเอียดๆ นี้คืออะไร ความจริงแล้วพีทมอส เกิดจากคำว่า Peat คือซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันมานาน และคำว่า Moss คือพืชจำพวกมอส มีหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะมอสตระกูลสแฟคนั่มพีทมอส (Sphagnam) ที่ตายแล้ว เกิดการทับถมกันมาเป็นเวลาหลายพันปี เราจะพบพีทมอสอยู่ชั้นล่างของสแฟคนั่มมอสที่ยังมีชีวิต การที่จะเกิดพีทมอสได้หนาประมาณ 2-3 ฟุต ต้องใช้เวลาสะสมและย่อยสลายกว่าพันพันปีเลยนะครับ
โดยพีทมอสจะมีอยู่มากในแถบที่อากาศหนาว อย่างสถานที่ หรือและประเทศเมืองหนาว เช่น รัสเซีย และแคนาดา เป็นต้น นอกจากนี้พีทมอสในธรรมชาติ มีเพียง 3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับพื้นดินบนโลก การขุดพีทมอสจึงเป็นเรื่องที่เคร่งครัดในหลายๆ ประเทศ แต่เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ดังนั้นพีทมอสที่เราใช้กันนั้นจึงเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทำให้พีทมอสมีราคาสูงกว่าดินทั่วไป
ลักษณะและประเภทของพีทมอส
พีทมอสมีลักษณะเป็นเส้นใยสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ คล้ายขุยมะพร้าว มีคุณสมบัติรักษาความชื้นได้ดี ร่วนซุยไม่ติดกันเป็นก้อน น้ำไหลผ่านได้ดี และเป็นวัสดุที่ต่อต้านเชื้อรา โดยพีทมอส แบ่งแต่ละประเภทด้วยระดับความทับถมเป็นชั้นๆ ซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- White Peat (สีน้ำตาลอ่อน) เป็นพีทที่อายุการทับถมน้อยสุด ลักษณะเนื้อโดยธรรมชาติจะมีความหยาบ นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการปลูกแคคตัส
- Brown Peat (สีน้ำตาล) เป็นพีทที่พบในความลึกระดับกลาง มีลักษณะตรงกลางระหว่าง White Peat และ Black Peat โดยจะเห็นเส้นใยมอสในเนื้อวัสดุ
- Black Peat (สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ) เป็นพีทที่พบในส่วนลึกสุด จะมีสีน้ำตาลจนถึงดำ เนื้อมีความละเอียดสูง เมื่อเปียกน้ำจะเก็บความชื้นได้นาน ทำให้การระบายน้ำและอากาศไม่ดี จึงไม่เหมาะสำหรับปลูกแคคตัส
ทั้งนี้คุณสมบัติที่ต่างกันของพีท คือความสามารถในการดูดซับความชื้น พีทสีดำจะมีความสามารถในการดูดซับความชื้นสูงที่สุด มีคุณสมบัติเป็น Humus สูงที่สุด จึงไม่เหมาะที่จะนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อใช้ในการเกษตรและปลูกแคคตัส นอกจากนี้พีทสีดำยังมีราคาสูงที่สุดด้วย เพราะใช้ต้นทุนในการขุดเจาะเยอะ เนื่องจากถูกทับอยู่ชั้นล่างสุด ต่ำกว่าชั้นผิวดินหลายร้อยเมตร จึงไม่นิยมนำมาใช้ในการเกษตร แต่นิยมนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานให้ความร้อนในบ้านเรือนและอุตสาหกรรมทั่วไป
ข้อดีของพีทมอส
1. เป็นวัสดุปลูกพืชและแคคตัสที่สะอาด ปราศจากแมลง เชื้อโรค เชื้อราและแบคทีเรีย มีแร่ธาตุที่จำเป็นเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของแคคตัส เก็บความชื้นได้ดี และปลดปล่อยออกมาให้ต้นไม้อย่างช้าๆ ลดปัญหาการสลายตัวของธาตุอาหาร เป็นตัวให้ปุ๋ยอย่างช้าๆ ช่วยประหยัดปุ๋ย ช่วยปกป้องความแน่นแข็งของดิน และช่วยเติมอินทรียวัตถุในเนื้อดินให้มีสารอาหารครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
2. ช่วยเร่งการทำปุ๋ยหมัก ลดการเกิดกลิ่นเหม็นและช่วยควบคุมการถ่ายเทอากาศและน้ำในกองปุ๋ยหมัก
3. ช่วยเพิ่มอากาศในดิน ปรับให้ดินร่วนซุย ช่วยในการถ่ายเทน้ำและอากาศได้สะดวกเมื่อใช้กับดินทราย ช่วยเพิ่มเนื้อดิน ปรับให้ดินเก็บรักษาธาตุอาหารและความชื้นรวมไปถึงลดการชะล้างธาตุอาหารของน้ำด้วย
ข้อเสียของพีทมอส
1. พีทมอส เก็บความชื้นได้ดี จึงไม่เหมาะกับการนำไปปลูกแคคตัสที่ไม่ชอบความชื้น เช่น กุหลาบหิน ไม้อวบน้ำต่างๆ ควรผสมพีทมอสกับวัสดุปลูกชนิดอื่น เช่น ทรายหรรือหินภูเขาไฟ เพื่อไม่ให้วัสดุปลูกอุ้มน้ำจนเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้ต้นไม้ที่ไม่ชอบความชื้นตายได้
2. ราคาพีทมอสสูง เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น
พีทมอสใช้ปลูกต้นไม้ชนิดไหน
1. การเพาะเมล็ดและต้นกล้า จากข้อดีของพีทมอส ที่มีทั้งเนื้อดินโปร่ง น้ำหนักเบา ทำให้รากของต้นอ่อนที่เริ่มงอกสามารถขยายออกมาได้ง่าย และเวลาที่เราดึงต้นกล้าออกมาจากพีทมอสก็ไม่ยาก สามารถออกมาได้อย่างง่ายดาย โดยจะไม่ทำให้รากของต้นอ่อนเสียหาย
2. ต้นไม้ที่มีราคาแพงหรือต้นไม้บางประเภทที่อ่อนไหวง่ายต่อเชื้อโรคหรือแมลงต่างๆ ซึ่งวิธีการใช้นั้นมีหลากหลาย โดยเรานำพีทมอสมาเป็นส่วนผสมในวัสดุปลูกได้ตามความเหมาะสมของต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความเหมาะสม
พีทมอสกับดินทั่วไปต่างกันยังไง
พีทมอส โปร่ง สะอาด ปราศจากเชื้อโรคหรือแมลง ส่วนดินทั่วไปจะมีส่วนผสมของปุ๋ยคอกหรือสิ่งอื่นๆ ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ก็จริง แต่ก็จะมาพร้อมกับเชื้อโรค วัชพืช และแมลงต่างๆ ด้วย
หาซื้อพีทมอสได้ที่ไหน
พีทมอสสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป หรือสามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้ ซึ่งจะมีขายแบบถุงเล็กๆ ไปจนถึงกระสอบใหญ่ๆ แต่ถ้าเราหาซื้อไม่ได้ หรือมีงบประมาณที่จำกัด นอกจากพีทมอสที่ทำมาจากมอสแล้ว ตอนนี้ก็มี “โคโค่ พีท (Coco Peat)” ทำมาจากขุยมะพร้าว และนำมาปรับค่าต่างๆ ที่อยู่ในขุยมะพร้าว ให้มีความสะอาด ปลอดเชื้อ เนื้อละเอียด และไม่ต่างจากการใช้พีทมอส เพื่อให้เหมาะกับการเพาะต้นกล้า แถมโคโค่ พีท ยังผลิตภายในประเทศไทยได้ จึงทำให้ราคาย่อมเยาว์กว่าพีทมอสมาก และประสิทธิภาพในการปลูกก็ไม่ได้แตกต่างกันครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆ เริ่มมีเข้าใจ “พีทมอส” กันมากขึ้นแล้วใช่ไหมละครับ ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นเกร็ดความรู้ให้เพื่อนๆ ได้ปลูกหรือเลี้ยงแคคตัสกันอย่างสนุกสนานและเพลิดเพลินนะครับ ส่วนบทความต่อไปจะเป็นอะไร อย่าลืมติดตามกันที่สวนหลังบ้านของ LivingPop น้าาา 😉