fbpx
สายพันธุ์แคคตัส

พารู้จัก “โลโฟฟอร่า” แคคตัสไร้หนาม

เมื่อพูดถึงกระบองเพชรหรือแคคตัส สิ่งแรกที่คิดถึง คือ “หนาม” ใช่มั๊ยล่ะครับ แต่เพื่อนๆ รู้มั๊ยครับ ว่านอกเหนือจากสายพันธุ์แอสโตรไฟตัมที่ไม่มีหนามแล้ว ยังมีแคคตัสอยู่ชนิดนึง ที่ไม่มีหนามแม้แต่เส้นเดียวเลยแหละครับ วันนี้ สวนหลังบ้าน LivingPop จะพาเพื่อนๆ ไปท่องโลกของแคคตัสไร้หนาม ตัวนุ่มๆ สีเขียวๆ ที่ชื่อว่า “โลโฟฟอร่า” กันครับ

โลโฟฟอร่า (Lophophora) หรือคนไทยมักเรียกสั้นๆว่า “โลโฟ” มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Phoreus และ Lophos ซึ่งหมายถึง “กระจุก” ซึ่งใช้เรียกลักษณะการรวมเป็นกระจุกตรงกลางของตุ่มหนาม ทั้งๆ ที่ไม่มีหนาม และบอกถึงลักษณะการออกดอกบริเวณกลางยอดแบบเป็นกระจุกครับ




ลักษณะเด่น ที่เห็นได้ในโลโฟ

ลักษณะทั่วไปของโลโฟฟอร่า จะมีรากขนาดใหญ่ เนื่องจากรากของโลโฟฟอร่าจะเป็นส่วนที่ใช้ในการหาและสะสมอาหารเป็นหลักคล้ายๆ กับไม้โขด ลำต้นของโลโฟฟอร่าจะเป็นทรงกลมๆ ป้อมเตี้ย ผิวมีสีเขียวฟ้าอมเทาๆ สีหม่นๆ เรียบด้าน เมื่อจับที่ลำต้นจะรู้สึกนุ่มๆ ที่มือ คล้ายจับลงบนผิวของลูกโป่งที่ใส่น้ำ มีเนินหนามนูนขึ้นเล็กน้อย เป็นลักษณะคล้ายคลื่นในทะเล เรียกเนินหนามแต่ไม่มีหนามนะครับ บริเวณเนินจะมีปุยสีขาวขนาดเล็ก บางชนิดเนินหนามมีขนเป็นกระจุกขนาดใหญ่ ปุยฟู เมื่ออายุมากขึ้นสามารถให้หน่อฟอร์มเป็นกอได้ครับ

ดอกของโลโฟฟอร่าก็สวยไม่แพ้แคคตัสสกุลอื่นๆ เลยนะครับ ดอกโลโฟจะมีดอกขนาดเล็กขึ้นตรงกลางจุดของลำต้น อาจให้ดอกครั้งละ 1 ดอก หรือบางครั้ง อาจให้ 2-3 ดอก ออกมาจากกระจุกเดียวกันตรงกลาง ดอกมักมีสีขาวหรืออมชมพูขึ้นกับสายพันธุ์ ส่วนลักษณะฝัก ก็คล้ายๆ แคคตัสทั่วไปครับ คือมีลักษณะเป็นแท่ง ยาว รี สีชมพูหรือแดงอ่อน แต่ขนาดฝักจะค่อนข้างเล็ก ภายในฝักมีเมล็ดสีดำขนาดเล็ก จำนวนเมล็ดขึ้นอยู่กับขนาดของฝักครับ

ในส่วนของราคาโลโฟโฟร่า จะไม่พูดถึงเห็นจะไม่ได้ ราคาค่าตัวนอกจากจะขึ้นกับชนิดสปีชีส์ จะขึ้นกับขนาดของลำต้นและความเรียบเนียนสวยงามของผิวด้วยครับ ด้วยโลโฟฟอร่ามีลักษณะทรงกลมๆ ผู้เล่นแคคตัสมักตั้งชื่อน่ารักๆให้กับเจ้าแคคตัสไร้หนามสกุลนี้ เช่น เจ้าซาลาเปา เจ้าอ้วน หรือเจ้าตูด น่ารักมั๊ยล่ะครับ



หลากหลายสปีชีส์ ฮิตๆ กับโลโฟฟอร่า

แคคตัสสกุลโลโฟฟอร่า นั้นมีหลากหลายชนิดหลายฟอร์มมากครับ ที่นิยมเลี้ยงและสะสมกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย ได้แก่ โลโฟฟอร่า วิลเลียมซิอาย (Lophophora williamsii) โลโฟฟอร่า ฟริซิอาย (Lophophora fricii) โลโฟฟอร่า ดิฟฟูซา (Lophophora diffusa) โลโฟฟอร่า ดิฟฟูซา คริสตาต้า เรียกสั้นๆ ว่า โลโฟคริส (Lophophora diffusa cristata) และ โลโฟฟอร่า ฟริซิอาย ด่าง Lophophora fricii (variegated) หรือเรียกกันว่า โลโฟด่าง

โลโฟฟอร่า วิลเลียมซิอาย (Lophophora williamsii)

สำหรับสายพันธุ์นี้มีตำนานครับ บางคนจะเรียกโลโฟตระกูลนี้ว่า “โลโฟสายมึนเมา” เนื่องจากพันธุ์นี้จะมีสารอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “เม็สคาลิน (Mescaline)” อยู่ในลำต้น ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศถิ่นกำเนิดของโลโฟฟอร่า เรียกมันว่า “เพโยตี” (Peyote) เจ้าสารเม็สคาลิน เนี่ยมีฤทธิ์กระตุ้นการรับรู้ทางกายภาพ ทำให้เกิดการรับรู้ ภาพ สี และ แสงมากกว่าปกติ หากกินเข้าไปจะมีอาการมึนงง ง่วงซึม เคลิบเคลิ้ม และเกิดภาพหลอนได้

ปัจจุบันการส่งออกหรือนำเข้าโลโฟฟอร่า วิลเลียมซิอายในประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นเรื่องผิดกฎหมายนะครับ ส่วนในไทยมีการเพาะเลี้ยงโลโฟฟอร่า วิลเลียมซิอาย กันอย่างแพร่หลายจนเป็นไม้ยอดฮิดติดตลาด น้อยคนมากที่จะรู้ว่ามันมีฤทธิ์เป็นสารเสพติด เลี้ยงเพื่อความสุขและความสวยงาม ไม่แนะนำให้กินนะครับ

โลโฟฟอร่า วิลเลียมซิอาย (Lophophora williamsii)

โลโฟฟอร่า ฟริซิอาย (Lophophora fricii)

อีกหนึ่งสปีชีส์ที่มีเอกลักษณ์ของสกลุโลโฟฟอร่า คือ โลโฟฟอร่า ฟริซิอาย ในต้นเต็มวัยจะมีลักษณะพิเศษคือ มีเนินหนามเป็นเต้าๆ มีกระจุกขนเล็กๆอยู่บนจุดสูงสุดของเต้า ด้วยเอกลักษณ์พิเศษนี้ จึงได้รับความนิยมมากในเมืองไทยครับ

โลโฟฟอร่า ฟริซิอาย (Lophophora fricii)

โลโฟฟอร่า ดิฟฟูซา คริสตาต้า (Lophophora diffusa cristata)

เรียกสั้นๆ ว่า โลโฟคริส “คริส” เป็นอีกหนึ่งลักษณะพิเศษที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้สะสมไม้แปลกๆ ลักษณะคริส เกิดการเจริญของลำต้นออกทางด้านข้างเรียงติดๆกัน แล้วขดรวมกันคล้ายตัวหนอน ลักษณะคริส เกิดขึ้นได้กับไม้หลายสกุล ในโลโฟฟอร่าก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่ก็ยังคงความเป็นโลโฟฟอร่าอยู่ คือไม่มีหนามครับ โลโฟฟอร่าคริส มีความสวยงามแปลกตาไม่แพ้ไม้สกุลอื่นๆที่มีลักษณะคริสเลย และราคาก็ไม่เบาเช่นกันครับ

โลโฟฟอร่า ดิฟฟูซา คริสตาต้า (Lophophora diffusa cristata)

โลโฟฟอร่า ฟริซิอาย ด่าง (Lophophora fricii (variegated))

หรือเรียกกันว่า โลโฟด่าง เป็นอีกหนึ่งสปีชีส์ที่นักเล่นแคคตัสผู้คลั่งไคล้โลโฟต้องมีไว้ในครอบครอง ความด่างที่เกิดขึ้นในโลโฟฟอร่านั้นก็เกิดขึ้นได้เหมือนกับแคคตัสสายพันธุ์อื่นๆทั่วไปครับ ซึ่งเกิดจากคลอโรฟิลล์บริเวณผิวของลำต้นหายไปบางส่วนแล้วมีการปรากฏเม็ดสีชนิดอื่นขึ้นมาแทน ในโลโฟฟอร่ามักเกิดด่างเป็นสีเหลืองครับ

โลโฟฟอร่า ฟริซิอาย ด่าง (Lophophora fricii (variegated))

เลี้ยงอย่างไรให้โลโฟรอด

โลโฟฟอร่า การเลี้ยงก็เหมือนแคคตัสทั่วไปครับ แต่คำถามยอดฮิตที่มักถูกถามบ่อยที่สุดสำหรับการเลี้ยงแคคตัสสกุลโลโฟฟอร่าคือ รดน้ำอย่างไร รดน้ำบ่อยมั๊ย ไม่รดน้ำได้มั๊ย ปัญหาโลกแตกนี้จะหมดไปในบทความนี้ครับ

สำหรับคำตอบนั้น ไม่มีอะไรตายตัวสำหรับเจ้าโลโฟฟอร่าครับ การให้อาหารแคคตัสด้วยน้ำขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความโปร่งและระบายอากาศของดินและวัสดุปลูก สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมที่เลี้ยง การให้น้ำที่เหมาะสมสำหรับโลโฟฟอร่า คือให้น้ำเมื่อเรารู้สึกว่าดินแห้งแล้ว โดยประมาณก็ 7-10 วันครับ แต่ถ้าวัสดุปลูกค่อนข้างโปร่ง จะรดทุก 7 วันก็ไม่ผิดครับ แต่เมื่อถึงฤดูฝน อาจเพิ่มจำนวนวันเป็น 14-20 วันก็ได้ครับ ถ้าไม่แน่ใจว่าดินแห้งหรือยัง ใช้หลักการเดิมๆได้เลยครับ คือ ใช้ไม้เล็กๆ หรือไม้ขีดไฟแทงลงไปในดิน ถ้าดึงออกมาแล้วไม้ชื้นๆ ก็แสดงว่าดินยังไม่แห้ง อย่าเพิ่งรดน้ำนะครับ เดี๋ยวเจ้าโลโฟของเราจะเน่าเสียก่อน

การรดน้ำด้วยฝักบัวให้น้ำชุ่มถึงรากหรือรดจนชุ่มทะลุก้นกระถางก็สำคัญครับ เพราะน้ำจะช่วยชะล้างเศษผงฝุ่นหรือสารพิษออกจากหน้าดิน แต่ข้อเสียก็คืออาจทำให้กระจุกขนของเจ้าโลโฟของเราเกาะกันเป็นก้อน หากมีเศษฝุ่นเกาะที่ต้นก็จะทำให้เกิดคราบเหลืองๆบนต้นได้ครับ ถ้าเพื่อนๆ มีเวลาเพียงพอและอยากให้ผิวของโลโฟฟอร่าดูเนียนสวย ขนปุกปุยฟูๆ สามารถใช้วิธีการรดน้ำแบบใส่อ่างแล้วนำกระถางโลโฟมาจุ่ม รอจนน้ำซึมขึ้นถึงหน้าดินก็ได้ครับ วิธีนี้จะทำให้ผิวหน้าของโลโฟไม่สัมผัสน้ำ ขนฟูๆ ก็จะไม่ฟีบหรือเกาะกัน

แสงแดด ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงเจ้าโลโฟของเราครับ การได้แดดครึ่งวันเช้าจะค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นแดดอ่อนกว่าแดดช่วงบ่าย จะทำให้เจ้าอ้วนของเราผิวไม่เสียครับ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับเจ้าโลโฟคือ การเลือกกระถางครับ ด้วยความที่เป็นแคคตัสที่มีรากขนาดใหญ่ ควรเลือกกระถางทรงสูงที่มีพื้นที่พอที่จะให้รากได้เติบโตและสะสมอาหารเพื่อมาเลี้ยงลำต้นครับ


วิธีการขยายพันธุ์

สำหรับโลโฟฟอร่านั้น การขยายพันธุ์มีหลากหลายวิธีคล้ายๆกับแคคตัสสกุลอื่นๆครับ ไม่ว่าจะเป็น การเพาะเมล็ด การปักชำหน่อ และการกราฟต่อยอด โลโฟฟอร่าสามารถให้ดอกได้ทั้งปี บางต้นสามารถติดฝักได้เองโดยไม่ต้องทำการผสมเกสรด้วยนะครับ จึงสามารถขยายพันธ์ุได้ง่าย เมื่อเจ้าโลโฟของเราให้ฝัก ก็สามารถเด็ดฝักเพื่อนำเมล็ดข้างในไปทำการเพาะได้ครับ

สำหรับการชำหน่อนั้นไม่ยากเลยครับ เมื่อเจ้าโลโฟฟอร่าของเรามีอายุพอสมควร เขาจะให้หน่อรอบๆ ต้น สามารถใช้มีดเล็กๆ เฉือนหน่อออกมา พักตากลมไว้ 2-3 วัน ให้แผลบริเวณที่ตัดออกแห้ง ก็สามารถนำไปชำในดินปลูก หรือทำการล่อรากบนหินภูเขาไฟได้เลยครับ

ส่วนกราฟต์ (Grafting) ก็ไม่ยากเช่นกัน สามารถทำได้เหมือนแคคตัสสกุลอื่นๆ เลย ไม่ยากเลยใช่มั๊ยล่ะครับ ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์เกิดเป็นลูกผสมใหม่ๆ และคัดสรรค์สายพันธุ์จนมีฟอร์มแปลกตาจากต้นที่พบโดยธรรมชาติ โลโฟฟอร่าจึงจัดเป็นแคคตัสอีกสกุลหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเล่นแคคตัสชาวไทยเลยแหละครับ


เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับแคคตัสสกุลโลโฟฟอร่า จัดว่าเป็นสกุลที่ได้รับความนิยมสำหรับนักสะสมแคคตัสเลยทีเดียว จากความหลากหลายและความสวยงามแบบไร้หนาม มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การดูแลและการขยายพันธุ์ที่ทำได้ง่ายๆ เจ้าโลโฟคงสามารถเข้าไปอยู่ในใจของคนรักแคคตัสหลายๆ คนได้ไม่ยาก แล้วกลับมาพบกับสวนหลังบ้าน LivingPop ได้ในบทความถัดไปครับ



Related posts
สายพันธุ์แคคตัส

ทำความรู้จัก "โคเปียโป" แคคตัส ชื่อแปลก หายาก

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลกแคคตัสสีหวาน นามเพราะ "พิงค์ไดมอนด์" (Pink Diamond)

สายพันธุ์แคคตัส

แคคตัสนักกล้าม ชื่อน่าเกรงขามแต่ตัวจริงน่ารักนะ

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลก"เฟรเลีย" แคคตัสชื่อแปลก