การปลูกแคคตัส

การเลี้ยงแคคตัสตามฤดู เรื่องน่ารู้สำหรับมือใหม่

เป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยของเรามีหลายฤดูครับ ทั้งฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนสุดๆ 555 ล้อเล่นครับ ประเทศไทยของเรามีเพียง 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน ซึ่งการเลี้ยงและดูแลแคคตัสในแต่ละฤดูนั้นก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องของการให้น้ำ แสงแดด โรงเรือน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันทุกฤดูไปเสียทั้งหมด วันนี้สวนหลังบ้านเลยมีสาระเกี่ยวกับการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับมือใหม่ในการเลี้ยงแคคตัสในแต่ละฤดูมาฝากกันฮะ 



ฤดูฝน

แคคตัสมีต้นกำเนิดมาจากทะเลทราย เติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อน และแคคตัสไม่ค่อยชื่นชอบน้ำซักเท่าไหร่ ฤดูฝนจึงถือเป็นฤดูที่เหล่านักเลี้ยงแคคตัสต้องให้ความใส่ใจต่อแคคตัสเป็นพิเศษเลยก็ว่าได้ สำหรับสาวกแคคตัสมือใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการไม้หนาม อาจมีความกังวลว่าแคคตัสไม่ชอบน้ำ และไม่ชอบความชื้นที่มากจนเกินไป แล้วในฤดูฝนจะให้น้ำยังไง ต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร ผมบอกเลยว่าสำหรับมือใหม่แล้ว ในฤดูฝนนี้เรื่องสำคัญหลักๆ คือสถานที่เลี้ยงครับ แต่ละคนก็มีพื้นที่ในการเลี้ยงแคคตัสแตกต่างกัน เช่น โรงเรือนปิด โรงเรือนเปิด ชายคาบ้าน ริมระเบียง หรือกลางแจ้ง แต่ละสถานที่ล้วนมีผลต่อการดูแล การให้น้ำและการแห้งของดินที่แตกต่างกัน

สำหรับในฤดูฝนการเลี้ยงแคคตัสแบบโรงเรือนปิด ที่ไม่มีน้ำฝนสาดหรือกระเด็นเข้าในโรงเรือนได้ จะค่อนข้างได้เปรียบ เพราะสามารถควบคุมการให้น้ำได้ง่าย โดยช่วงฤดูนี้แนะนำให้ลดปริมาณน้ำ หรือเพิ่มระยะห่างในการรดน้ำแคคตัสฮะ ช่วงฤดูฝนนี้ฟ้าจะค่อนข้างครึ้ม ฟ้าปิด บางครั้งอาจไม่มีแสงแดดติดต่อกันหลายวัน ความชื้นในอากาศเยอะ ทำให้ดินแห้งช้ากว่าฤดูอื่นๆ และในช่วงที่ฝนใกล้ตก จะเป็นช่วงที่อากาศร้อนและเย็นมาเจอกัน ภายโรงเรือนจะมีความอบและความชื้นสูง ดินหรือวัสดุปลูกกักเก็บความชื้นไว้ ทำให้แคคตัสของเราเกิดโรคหรือเน่าได้ง่าย หากทำได้แนะนำให้ใช้พัดลมระบายอากาศ หรือเปิดโรงเรือนให้ลมผ่าน ก็สามารถระบายความอบและความชื้นได้

หากเลี้ยงบริเวณริมระเบียง ชายคาบ้าน หรือโรงเรือนแบบกึ่งเปิด ในฤดูฝนนี้แคคตัสอาจโดนน้ำฝนได้ นอกจากการลดปริมาณการให้น้ำและเพิ่มระยะห่างในการรดน้ำแล้ว สิ่งที่ต้องสังเกตเป็นหลักเลยคือการแห้งของหน้าดินและวัสดุปลูกครับ ในช่วงฤดูนี้หากพบว่าหน้าดินหรือวัสดุปลูกยังมีความชื้นอยู่ สามารถเว้นระยะห่างการให้น้ำไปได้ยาวๆ เลย

สำหรับวิธีการเช็กความชื้นของวัสดุปลูกก็ทำได้ง่ายๆ เพียงใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มลงในดินปลูก หากมีดินชื้นๆ หรือไม้มีความชื้นติดขึ้นมา แสดงว่าดินยังมีความชื้นอยู่ ก็ยังไม่ต้องรดน้ำ หรืออีกวิธี คือการยกกระถางเทียบน้ำหนักเพื่อเช็กว่าน้ำหนักกระถางเมื่อรดน้ำชุ่มจะหนักประมาณไหน และเว้นระยะห่างประมาณ 5 – 7 วัน ยกอีกครั้ง ลองเทียบน้ำหนักดูก็จะสามารถกะได้คร่าวๆ ฮะ ว่าดินหรือเครื่องปลูกของเรานั้นเก็บความชื้นได้ประมาณกี่วัน

ส่วนการเลี้ยงแคคตัสแบบกลางแจ้งหรือแดดร้อยฝนร้อย ในฤดูฝนนี้หากมีฝนตกต่อเนื่องติดกันหลายวัน ดินจะชื้นมาก เราแทบไม่ต้องรดน้ำเลย เพียงสังเกตสภาพอากาศและสภาพดิน ให้ดินแห้งจริงๆ ค่อยรดน้ำ

ผลเสียและสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน คือ เกิดความชื้นที่สะสมในดินและอากาศ ภูมิต้านทานของต้นไม้ต่ำลง ทำให้แคคตัสของเรามีโอกาสเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเกิดรอยคราบต่างๆ ที่ผิวต้นก็จะมากขึ้น โรคของแคคตัส เช่น ราสนิม เพลี้ยหอย เกิดเชื้อราที่รากแล้วลุกลามมาสู่ลำต้น สามารถป้องกันอาการเหล่านี้ได้ โดยเลี่ยงการใช้วัสดุรองก้นกระถางที่เก็บความชื้นสูง เช่น กากมะพร้าวสับ แนะนำให้ใช้เป็นหินภูเขาไฟ หรือถ่านจะช่วยให้ระบายความชื้นได้ดีกว่า

อีกเรื่องสำคัญสำหรับการเลี้ยงแคคตัสฤดูฝน คือ ไม่ควรเปลี่ยนกระถางในช่วงนี้ เพราะจะเสี่ยงต่อการเน่ามากที่สุด แต่หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนกระถางจริงๆ ไม่ควรรดน้ำทันทีนะครับ ควรเว้นระยะประมาณ 5 – 7 วัน จึงค่อยรดน้ำตามปกติ แต่ถ้าได้มีการผึ่งรากให้แห้งสนิทแล้วก็สามารถรดน้ำได้เลยหลังจากปลูกเสร็จครับ 

สำหรับสายพันธุ์แคคตัสที่ต้องหมั่นสังเกตและดูแลเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน คือ แมมมิลลาเรีย เพราะในฤดูฝนความชื้นค่อนข้างเยอะ ด้วยความที่เจ้าแมมไม่ชอบความชื้นเอาซะเลย จึงกลับดาวได้ง่ายในช่วงนี้ สำหรับแมมมิลลาเรียแล้ว หน้าฝนนี้สามารถงดน้ำได้ยาวๆ ไปเลยฮะ




ฤดูหนาว

“ฤดูหนาว” จะว่าเป็นฤดูที่เลี้ยงแคคตัสง่ายกว่าฤดูอื่นๆ ก็คงไม่ผิด แม้ในประเทศไทยจะมีอากาศที่หนาวเย็น แต่ก็ไม่ได้เย็นมากจนแคคตัสเติบโตไม่ได้ แต่กลับเป็นฤดูที่อากาศดี แสงแดดดี ไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย ไม่ต้องให้น้ำมาก ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย แคคตัสบางสายพันธุ์ในต่างประเทศจะเข้าสู่ระยะพักตัวในฤดูหนาว หยุดหรือชะลอการเจริญเติบโต รากไม่ดูดซึมอาหารมากเท่าฤดูอื่นๆ แต่ในเมืองไทยบ้านเรา ฤดูหนาวไม้ได้มีความหนาวจัดจนแคคตัสต้องพักตัว แคคตัสสามารถเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ที่ต้องระวัง คือความแตกต่างของอุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืน เจ้าแคคตัสอาจปรับตัวไม่ทัน เกิดการไหม้หรือรากเน่าเสียได้ ถึงแม้ฤดูหนาวจะไม่ต้องดูแลอะไรมากมายเป็นพิเศษแต่ก็ยังต้องดูแลบ้างน้าาา หากปล่อยปะละเลย แคคตัสของเราอาจแอบกลับดาวแบบเงียบๆ ไปในฤดูหนาวนี้ได้ง่ายๆ

การให้น้ำในฤดูหนาว สำหรับการปลูกแคคตัสในเมืองไทย สามารถทำได้ปกติ คือให้น้ำเมื่อหน้าดินแห้ง หรือ 4 – 5 วันโดยประมาณ เพราะการให้น้ำมากไป จะเกิดความชื้นมากและรากเน่าได้ แล้วดินก็ต้องระบายน้ำได้ดีด้วย

นอกจากเรื่องการให้น้ำในฤดูหนาวแล้ว แสงแดดก็เป็นปัจจัยสำคัญ แม้ในฤดูหนาวจะมีแสงแดดเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของแคคตัส แต่ก็อาจมีบางวันหรือบางพื้นที่ที่มีอากาศหนาว ครึ้ม แสงแดดไม่มี เลยเกิดความชื้นในอากาศติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนธันวาคม – ต้นเดือนมกราคมของทุกปี อาจทำให้เจ้าแคคตัสของเราได้รับแสงไม่เพียงพอได้

วิธีสังเกตว่าแสงแดดเพียงพอหรือไม่ นอกจากสังเกตว่าลำต้นยืดยาวแล้ว อีกจุดสังเกตคือลักษณะของหนาม ว่ามีการหดเล็กลงรึเปล่า โดยเฉพาะแคคตัสสกุลที่มีหนามขนาดใหญ่ เช่น Ferocactus หรือเล็บเหยี่ยว นอกจากนี้ลักษณะสีของแคคตัสด่างก็บอกได้ฮะ สีสันของลำต้นมีสีจางลงหรือไม่ โดยเฉพาะแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียม หากพบว่าต้นไม้มีอาการของการได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ควรปรับเปลี่ยนสถานที่ปลูกไปในที่ที่แสงแดดส่องถึงอย่างเพียงพอต่อวัน หรือลดการพรางแสงลงโดยเอาผ้าสแลนออกชั่วคราวในช่วงนี้ก่อน

ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่แคคตัสสกุล แมมมิลลาเรีย (Mammillaria) เจริญเติบโตได้ดีและให้ดอกจำนวนมาก ถือเป็นช่วงที่แมมมิลลาเรียสวยงามที่สุดเลยครับ


ฤดูร้อน 

ฤดูร้อน ถือเป็นฤดูที่แคคตัสค่อนข้างชอบที่สุดเลยก็ว่าได้ ปัจจัยหลักๆ ที่เราจะเลี้ยงแคคตัสให้สวยงามได้นั้น คือการเลี้ยงแคคตัสในสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับถิ่นกำเนิดมากที่สุด นั่นคือทะเลทราย สำหรับเมืองไทยในฤดูร้อนนั้นก็ช่างใกล้เคียงกับสภาพอากาศของทะเลทรายเหลือเกินฮะ สาวกแคคตัสส่วนใหญ่ในเมืองไทยต่างกล่าวว่า ฤดูร้อน เป็นฤดูที่คนเลี้ยงแคคตัสไม่ค่อยสุขเท่าไร เพราะอากาศเมืองไทยร้อนมากๆ แต่แคคตัสกลับมีความสุขมากที่สุด

อย่างที่ผมได้กล่าวไปในช่วงแรก เมืองไทยของเราค่อนข้างอากาศร้อนอบอ้าวถึงร้อนมากๆ ในช่วงฤดูร้อน จะว่าเป็นอากาศจำลองในทะเลทรายขนาดย่อมๆ ก็ว่าได้ ฤดูร้อนนี้สาวกแคคตัสจึงควรให้ความสำคัญกับสถานที่เพาะเลี้ยงแคคตัสเป็นที่สุด นั่นคือ “โรงเรือนแคคตัส” หรือสถานที่ในการเลี้ยงแคคตัสครับ

แม้แคคตัสจะชื่นชอบแสงแดดเพียงใด แต่ใช่ว่าการได้รับแสงแดดปริมาณมากๆ เป็นเวลานานหรือตลอดทั้งวัน จะดีกับแคคตัสเสมอไป การถูกแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานานๆ จะมีความร้อนเกิดขึ้นที่ผิวของแคคตัส เกิดอาการไหม้แดด และกลายเป็นแผลได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้แคคตัสของเราสุก เน่า และตายไปในที่สุด ควรพรางแสงให้ได้แสงแดดประมาณ 50% เพราะโดยส่วนมากสาเหตุหลักที่ทำให้แคคตัสตาย คือแสงแดดที่แรงและระยะเวลานานมากเกินไป (ภาวะไหม้แดดหรือเบิร์นแดด) มากกว่าการตายจากการขาดน้ำฮะ แนะนำให้มีการพรางแสงด้วยสแลน การเลือกสแลนที่เหมาะสม เพื่อนๆ สามารถศึกษาข้อมูลแบบละเอียดยิบได้ที่นี่เลยครับ www.livingpop.com/suitable-slan

ในฤดูร้อน การรดน้ำก็ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ฤดูฝนเลยฮะ อาจต้องปรับการให้น้ำให้ถี่มากขึ้นกว่าเดิม ควรรดน้ำแคคตัสในช่วงเช้า เพราะหากมีน้ำค้างอยู่ที่ขน หนาม หรือลำต้น น้ำก็จะได้ระเหยไปหมดในตอนกลางวัน ไม่เกิดปัญหาต้นเน่าหรือถูกแสงแดดเผาจากอากาศที่ร้อน ที่ไม่แนะนำให้น้ำในตอนกลางคืน เพราะจากแสงแดดจัดและอากาศที่อบอ้าวในตอนกลางวัน เมื่อรดน้ำไปหากดินไม่โปร่งพอ ดินร้อนๆ ที่ถูกรดน้ำอาจทำให้ระบบรากติดเชื้อราได้ง่าย

สำหรับเจ้าแคคตัสที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในฤดูนี้ คือสกุลยิมโนคาไลเซียมด่างครับ แม้เสน่ห์ความสวยงามของยิมโนคาไลเซียมจะอยู่ที่การได้รับแสงแดดที่เพียงพอและเหมาะสมจึงจะทำให้ยิมโนคาไลเซียมมีสีสันที่จัดจ้าน คมชัด แต่หากถูกแดดเผา ความสวยงามจะหมดลงในทันทีฮะ


แม้การปลูกเลี้ยงและการดูแลแคคตัส จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล และมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น แสงแดด น้ำ สิ่งแวดล้อมอื่นๆ แต่หากเรามีความเข้าใจในธรรมชาติของแคคตัส และมีการเตรียมพร้อมในการดูแลที่เหมาะสม แม้ฤดูจะเปลี่ยนไป การเลี้ยงแคคตัสให้รอดและสวยงามก็ไม่ยากอีกต่อไปครับ 🌵👍🏻



Related posts
การปลูกแคคตัสเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

“ไอเดียจัดสวนถาดแคคตัสแบบสวยเก๋”

การปลูกแคคตัส

รวมหลากหลายเทคนิคการล่อราก/ชำหน่อ ทำอย่างไรให้อัตรารอดสูงสุด

การปลูกแคคตัส

11 ไอเทมสามัญประจำบ้าน สำหรับชาวไม้หนาม

การปลูกแคคตัส

3 Trick ฟื้นคืนชีพผิวเหี่ยว โคนยุบของแคคตัส ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง