เมื่อพูดถึงการขยายพันธุ์พืชทั่วๆไป หลายคนมักจะนึกถึง การเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่คุ้นเคยกัน แล้วแคคตัสหรือกระบองเพชรล่ะ? อย่างที่รู้ๆ กันว่า แคคตัสสามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธี วิธีที่นิยมใช้ในการขยายพันธุ์แคคตัส ได้แก่ การเพาะเมล็ด การกราฟต์ และการชำหน่อ (เพื่อนๆ สามารถศึกษาการขยายพันธุ์ด้วยวิธีกราฟต์เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.livingpop.com/grafting-cactus/ )
สำหรับวันนี้สวนหลังบ้านจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักการขยายพันธุ์แคคตัสด้วยวิธีการล่อราก/ชำหน่อ ที่จะสามารถทำให้เพื่อนๆ เพิ่มจำนวนของแคคตัสได้อย่างรวดเร็วทันใจ และสามารถเลือกวัสดุชำได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ตามผมมาได้เลยครับ
การชำหน่อดียังไง?
การขยายพันธุ์แคคตัสด้วยการชำหน่อ มีข้อดีมากมายนอกเหนือไปจากการทำจำนวนได้อย่างรวดเร็วแล้ว การชำหน่อยังทำให้เราได้แคคตัสรุ่นลูกที่มีหน้าตาเหมือนแม่พันธุ์อย่างไม่มีผิดเพี้ยน แคคตัสเจริญเติบโตเร็วกว่าการขยายพันธุ์แบบเพาะเมล็ด และยังได้แคคตัสที่มีรากเป็นของตัวเอง ที่เรียกว่า “ไม้ราก” ทำให้แคคตัสของเราสวยงาม ไม่ต้องอาศัยรากของตอกราฟต์ในการเจริญเติบโตครับ
แคคตัสสายพันธุ์ไหนชำหน่อได้บ้าง?
ถ้าพูดกันตามตรง สามารถขยายพันธุ์แคคตัสด้วยวิธีชำหน่อได้เกือบทุกชนิดครับ หากแคคตัสสกุลนั้นๆ มีการให้หน่อ เช่น แคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียม แมมมิลลาเรีย อิชินอปซิส โลโฟฟอล่า โลบีเวีย และอีกหลากหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ ตอที่เรานำมากราฟต์ก็สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีชำหน่อได้ด้วยนะฮะ
วิธีการชำทำยังไง?
ก่อนจะเริ่มทำการชำหน่อ เราต้องมีหน่อของแคคตัสก่อนครับ แล้วจะไปหาจากไหน? ก็ไปเด็ดหน่อมาจากต้นแคคตัสของเรานั่นเอง แคคตัสบางสกุลอาจสามารถใช้มือเด็ดได้เลย เช่น ยิมโนคาไลเซียม อิชินอปซิส แต่แคคตัสบางสกุลอาจต้องใช้มีดเล็กๆ ไปเฉือนออกมา เนื่องจากโคนของหน่ออาจฝังอยู่ชิดลำต้น เช่น แมมมิลลาเรีย
เมื่อเด็ดหรือตัดหน่อมาแล้ว หากแผลที่ต้นไม่ใหญ่มาก ไม่ต้องทำอะไรนะฮะ ปล่อยให้แผลแห้งไปเอง อาจงดน้ำซัก 2-3 วัน แต่หากแผลใหญ่มาก โดยเฉพาะเวลาเฉือนหน่อของแมมมิลลาเรีย อาจต้องใช้ปูนแดง หรือผงอะลูมิเนียม ทาบางๆ ที่แผลรอยตัด แล้วทิ้งให้แห้ง งดน้ำ 2-3 วันเช่นกันครับ
เมื่อได้หน่อมาแล้ว แต่ละสวนก็มีเทคนิคต่างกัน ขึ้นอยู่กับถนัดเลยครับ สามารถทำได้ทุกวิธี หากเป็นหน่อของแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียม เพื่อนๆสามารถ เด็ดปุ๊ปชำปั๊บได้เลย หรือจะป้ายยาเร่งรากบางๆ หรือ B1 ที่บริเวณแผลที่เด็ดออกมา ผึ่งลมให้แห้งแล้วค่อยนำไปชำที่วัสดุปลูกหรือวัสดุล่อรากก็ได้ครับ
แต่หากเป็นแคคตัสสกุลที่เมื่อเด็ดหรือเฉือนเอาหน่อออกมาแล้วมีแผลค่อนข้างใหญ่ เช่น แมมมิลลาเรีย เพื่ออัตราการรอดที่สูงขึ้น แนะนำเพื่อนๆ อย่าเพิ่งนำไปลงวัสดุชำนะครับ ควรผึ่งลมให้แผลแห้งก่อน หากไม่อยากทายาเร่งราก ก็ไม่เป็นไร แต่หลักสำคัญคือ แผลต้องแห้งก่อนลงชำหรือล่อรากฮะ เพราะหากแผลยังไม่แห้ง จะทำให้เกิดการติดเชื้อ และหน่อแคคตัสของเราจะได้รับความชื้นเกินไป จนทำให้เน่าฮะ
ชำลงวัสดุปลูกเลย หรือล่อรากก่อนดี?
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามคาใจเหล่าสาวกนักชำ ถ้าพูดกันตามความถนัดแล้ว ขึ้นอยู่กับความถนัดครับ สำหรับโดยส่วนตัวแล้วขึ้นอยู่กับชนิดของสกุลแคคตัสครับ ยกตัวอย่างเช่น ยิมโนคาไลเซียม ที่เมื่อเด็ดออกมาแล้วขนาดแผลไม่ใหญ่ เมื่อเตรียมหน่อเรียบร้อยแล้ว ก็ชำได้เลยโดยไม่ต้องล่อราก แต่หากเป็นแคคตัสสกุลแมมมิลลาเรีย ที่มีแผลขนาดใหญ่ จะแนะนำว่าให้ล่อรากก่อนลงชำฮะ แต่สามารถทำได้ทั้งสองวิธีนะครับ หากเพื่อนๆ ลองแล้ว วิธีไหนอัตราการรอดดีกว่า ทักมาแนะนำกันได้นะครับ
การเลือกวัสดุให้เหมาะกับหน่อแคคตัส
สำหรับวัสดุที่ใช้ในการชำหน่อหรือล่อรากแคคตัสนั้น มีมากมายให้เลือกสรรค์ครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณด้วยนะฮะ มีวัสดุอะไรบ้าง มาดูกัน
หินภูเขาไฟ (Pumice stone)
เป็นหินที่มีประโยชน์และแร่ธาตุสำคัญต่างๆ ที่แคคตัสชอบ มีประโยชน์ในการเติบโตของแคคตัส เพิ่มอากาศทำให้วัสดุโปร่ง ไม่จับตัวเป็นก้อนช่วยทำให้รากเดินดี มักใช้ในการล่อราก เพราะหินภูเขาไฟช่วยควบคุมอุณหภูมิได้ดี หินภูเขาไฟมีหลายขนาด สำหรับการล่อราก นิยมใช้ขนาด เบอร์ 01 ที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป สามารถนำหน่อแคคตัสที่เตรียมไว้วางบนหินภูเขาไฟได้เลย จากนั้นพรมน้ำให้มีความชื้นแต่ไม่ชุ่มจนน้ำขังนะครับ เพราะอีกหนึ่งปัจจัยในการแทงรากคือความชื้นนั่นเอง ราคาในท้องตลาดขนาด 20 กิโลกรัม อยู่ที่ 300-350 บาท
ดินญี่ปุ่น อคาดามะ (AKADAMA) หรือ ดินภูเขาไฟ
มีแร่ธาตุสูง เป็นดินที่เก็บน้ำและอากาศได้ดี เม็ดดินมีความพรุน อากาศถ่ายเทได้ดี ทำให้รากพืชไม่เน่าเสีย มีค่า PH ที่เป็นกลาง ได้รับความนิยมมากที่สุดในการล่อราก สามารถเช็คความชื้นได้ง่ายจากการดูการเปลี่ยนสีของดิน หากดินมีสีน้ำตาลเข้มแสดงว่าดินยังคงมีความชื้น ดินญี่ปุ่นมีหลายขนาดให้เลือกใช้เช่นกัน ขนาดที่นิยมนำมาล่อรากและผสมในวัสดุปลูกเพื่อชำหน่อ คือขนาด จิ๋ว-เล็ก (Thin-Small) คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-6 มิลลิเมตร สามารถนำหน่อแคคตัสที่วางบนดินญี่ปุ่นได้เลย จากนั้นพรมน้ำให้มีความชื้นจนดินเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นวางไว้ในที่ทีมีอากาศถ่ายเท หมั่นเช็คสีดินทุกวัน หากสีดินจางลงให้พรมน้ำเพื่อเพิ่มความชื้น ซึ่งการล่อรากและการชำหน่อความชื้นจำเป็นมากๆ ครับ
วัสดุปลูกผสมเสร็จ/ดินปลูกแคคตัส
สำหรับวัสดุปลูกชนิดผสมเสร็จหรือดินปลูกแคคตัสสำเร็จรูปนั้น ไม่นิยมนำมาล่อรากครับ เนื่องจากมีความหนาแน่นค่อนข้างสูง แต่หากเป็นแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียม จะสามารถชำในดินปลูกแคคตัสได้เลย แต่สกุลแมมมิลาเรีย แนะนำให้ทำการล่อรากก่อน เมื่อมีรากแล้วจึงค่อยนำมาชำต่อในดินปลูกแคคตัสครับ เมื่อชำแล้วก็สามารถโรยทับด้วยวัสดุโรยหน้ากระถาง โรยบางๆ เพื่อประคองไม่ให้หน่อแคคตัสที่เราชำไว้เอนล้ม (เพื่อนๆ สามารถศึกษาเรื่องวัสดุโรยหน้าเพิ่มเติมได้ที่ https://www.livingpop.com/cactus-stone-pot/ )
Tip. ในวัสดุล่อรากและดินแคคตัสที่นำมาใช้ชำหน่อ เพื่อนๆสามารถผสมปุ๋ยสูตรเสมอ 13-13-13 ลงไปในวัสดุปลูก หรือใช้รองก้อนกระถางเพื่อเพิ่มสารอาหารและเร่งการเจริญเติบโตได้นะฮะ นอกจากนี้ ยังสามารถเติมผงกำจัดแมลงสตาร์เกิ้ลจี ลงไปในวัสดุปลูกได้เลย เพราะในระยะการล่อรากและชำหน่อนี้ แคคตัสต้องการความชื้นค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดโรคในดินและแมลงมารบกวนได้ครับ
ทราบเทคนิคการล่อรากและชำหน่อกันแล้ว หวังว่าเพื่อนๆ จะสนุกกับการขยายพันธุ์แคคตัสกันนะครับ วันนี้สวนหลังบ้านขอลาไปก่อน เจอกันอีกครั้งในบทความหน้าค้าบบบบบบ