fbpx
การปลูกแคคตัส

เลี้ยงไม้อวบน้ำให้แฮปปี้ ต้องมี 4 หัวใจหลักนี้เลย

สำหรับหลายๆ คนที่อยากหันมาลองปลูกไม้อวบน้ำ ซึ่งอาจจะมีบางอย่างคล้ายๆ กับการปลูกแคคตัสอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียวนะครับ ไม้อวบน้ำก็มีความหลากหลาย ทั้งรูปทรง ลักษณะต้น ใบ ดอก รวมถึงถิ่นกำเนิดของไม้อวบน้ำชนิดนั้นๆ สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงไม้อวบน้ำอย่างเราๆ วันนี้สวนหลังบ้านได้รวบรวม 4 หัวใจหลักในการเลี้ยงไม้อวบน้ำที่ทุกคนควรรู้มาฝากกันครับ 



ไม้อวบน้ำ… ชอบน้ำมากหรือน้อยแค่ไหนนะ

ไม้อวบน้ำหรือที่เรียกกันว่า Succulent (ซัค’คิวเลินทฺ) คือต้นไม้ที่พัฒนาเนื้อเยื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ในเซลล์ตามส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ส่วนนั้นดูอวบหนา ไม่ว่าจะเป็นราก ลำต้น หรือใบ เพื่อให้เติบโตและสามารถอยู่ได้ในสภาพที่แห้งแล้ง ไม้อวบน้ำที่นิยมเลี้ยงกันก็จะมีเอชิวาเลีย หรือกุหลาบหิน, ฮาโวร์เทีย, ซีดัม, ยูโฟเบีย ซูโด โกลโบซ่า, ไลทอปส์ และแอนนาแคมเซโรส์ รูเฟสเซนส์ หรือ ลูกชุบนั่นเอง

แต่อย่าคิดว่าเมื่อเค้าสามารถทนกับสภาพที่แห้งแล้งได้แล้ว เราจะไม่ต้องรดน้ำเลยก็ได้นะครับ  เพราะจริงๆ แล้วไม้อวบน้ำก็ต้องการน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้เค้าเติบโตและสวยงาม ซึ่งสูตรของการรดน้ำก็ยังไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่าจะต้องกี่วันถึงจะรดน้ำหนึ่งครั้ง แต่หลักสำคัญในการตัดสินใจว่าจะรดน้ำดีหรือไม่รดดี จะขึ้นอยู่กับสภาพดิน ควรรดน้ำเมื่อดินแห้งจะดีที่สุด ถ้าความชื้นโดยรอบยังเยอะอยู่ก็ยังไม่ควรรด เพราะจะทำให้เน่าตายได้ และยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ในฤดูร้อนควรรดน้ำบ่อยกว่าในฤดูหนาว เพราะในฤดูร้อนต้นไม้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ในช่วงฤดูหนาวพืชอวบน้ำจะอยู่ในภาวะกึ่งหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว เพราะเวลากลางวันสั้นกว่า

แต่ถ้าหากไม้อวบน้ำของเพื่อนๆ เกิดได้รับน้ำน้อยเกินไปจนทำให้เกิดการขาดน้ำ ซึ่งอาการขาดน้ำจะสังเกตได้จาก ใบด้านบนเริ่มแห้งและกรอบ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วเราควรจะทำการฟื้นฟูโดยการ

  1. ฉีดพรมน้ำเบาๆ ในระหว่าง 1 – 5 วันแรกหลังจากที่ต้นขาดน้ำ โดยวิธีนี้จะช่วยปรับสภาพต้นไม้เข้าสู่การรดน้ำตามปกติ แต่ยังไม่ควรให้น้ำ ‘เต็มปริมาณ’ เพราะหลังจากที่ต้นไม้ไม่ได้น้ำมานาน อาจทำให้ต้นไม้เสียหายได้
  2. หลังจากวันที่ 6 ค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำที่รด หลังจากที่ต้นไม้เริ่มจะคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ค่อยๆ กลับเข้าสู่ตารางการรดน้ำปกติ จากนั้นสามารถรดน้ำด้วยบัวรดน้ำได้ และต้นไม้ก็น่าจะกลับมาฟื้นเป็นปกติใน 1 – 3 สัปดาห์

เทคนิคการรดน้ำไม้อวบน้ำ 

ควรให้น้ำในช่วงพระอาทิตย์ตก หรือตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะหากเพื่อนๆ ให้น้ำไม้อวบน้ำในช่วงเช้าหรือกลางวัน น้ำอาจจะขังอยู่ตามซอกใบ หรือ บนใบของเขา ทำให้น้องไม้อวบน้ำของเพื่อนๆ สุกได้เลย (เพราะแดดเมืองไทยร้อนมาก)




แสงแดดแบบไหนดีกับไม้อวบน้ำ

โดยส่วนมากไม้อวบน้ำค่อนข้างชอบแสงแดดคล้ายกับแคคตัส แต่ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของไม้อวบน้ำด้วยนะครับ บางชนิดสามารถทนต่อแสงอาทิตย์ได้ อย่างอากาเว่ ยูโฟร์เบีย ฟัวคาเรีย (Faucaria) หรือที่เรียกกันว่า “กรามเสือ” ชอบอากาศเย็น มีแสงแดดมาก แต่ควรปลูกในโรงเรือนเพื่อกันฝน เพราะไม่ชอบความแฉะ บางชนิดไม่สามารถทนต่อแสงอาทิตย์โดยตรง ชอบแดดรำไร หรือแดดตอนเช้าอ่อนๆ อย่างพวกซีดัม, ฮาโวร์เทีย, ไลทอป และลูกชุบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม้อวบน้ำจะไม่ชอบแฉะเลยนะครับ รดน้ำเมื่อดินแห้งเท่านั้น

ทริคสำหรับเรื่องแสงแดด

แสงแดดที่ดีที่สุดสำหรับไม้อวบน้ำและแคคตัสจะเป็นแดดช่วงเช้า ประมาณ 8.00 – 12.00 น. และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น. แคคตัสและไม้อวบน้ำสามารถปลูกด้วยกันได้ เพียงเลือกไม้ที่มีความชอบเหมือนกัน ก็เติบโตร่วมกันได้เลยครับ


ดินที่ดีสำหรับไม้อวบน้ำ

สิ่งสำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นใดคือการใช้ดินสำหรับปลูก ควรเป็นดินที่โปร่ง ร่วน ระบายน้ำดี คล้ายๆ กับดินสำหรับแคคตัส แต่ไม้อวบน้ำต้องการสารอาหารที่น้อยกว่า ส่วนใหญ่จึงนิยมใช้ดินที่เหลือจากการปลูกแคคตัสมาปลูกไม้อวบน้ำต่อ แต่ถ้าอยากจะประหยัดอีกนิดก็สามารถลดส่วนผสมดินได้ครับ เช่น ใช้ส่วนผสมเป็น ดินใบก้ามปู+ทราย+ถ่านป่น โดยอัตราส่วนในการผสมคือ 2:3:1

ทริคการเลือกกระถางปลูก

การเลือกใช้ภาชนะปลูกที่เหมาะกับขนาดต้นก็เป็นสิ่งสำคัญ กระถางไม่ควรใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้ต้องใส่ดินเยอะ แล้วดินก็จะอุ้มน้ำ แถมสะสมความชื้นจนเกินความพอดี โดยส่วนใหญ่จะเว้นระยะกระถางจากตรงส่วนลำต้นจนถึงขอบกระถางประมาณ 1 นิ้ว  


ไม้อวบน้ำขยายพันธุ์อย่างไร

ไม้อวบน้ำแต่ละชนิดจะมีลักษณะการขยายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะขยายพันธุ์แบ่งเป็น 3 แบบด้วยกัน

  • การเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่นิยมน้อยที่สุด เพราะใช้เวลานานกว่าต้นจะโต ทำได้โดยหว่านเมล็ดลงในวัสดุที่ใช้เพาะ และไม่ต้องกลบเมล็ดปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน เมล็ดก็จะงอกออกมา 
  • การปักชำใบ ดึงใบออกจากลำต้นวางทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนจะนำไปวางบนดินที่เตรียมเพาะปลูก วางกาบมะพร้าวเพื่อช่วยรักษาความชื้นให้เหมาะสม แล้วโรยทับด้วยดินปลูกเพราะกาบมะพร้าวจะช่วยรักษาความชื้นได้ดีทำให้รากมาไว้ขึ้นและรดน้ำให้ชุ่ม แค่นี้ก็เรียบร้อย
  • การชำหน่อ เลือกหน่อที่มีขนาดใหญ่และมีรากแล้วจะดีมาก เพราะจะมีความสมบรูณ์ แข็งแรงและโอกาสที่นำไปลงดินแล้วรอดสูงครับ

อุปกรณ์สำหรับการชำหน่อก็จะมีเพียงแค่มีดเล็กๆ หนึ่งเล่มสำหรับช่วยในการแงะแล้วเราก็ค่อยๆ แหวกใบออกให้เห็นมุมที่เราจะตัดชัดๆ ก่อน แล้วก็ค่อยๆ ทิ่มมีดลงไปตรงโคนของหน่อ แล้วแซะให้หน่อนั้นขาดหลุดจากต้นแม่ เป็นอันเสร็จพิธี ต่อจากนั้นก็นำไปลงปลูกในกระถางได้เลย


เห็นไหมละครับว่า ไม้อวบน้ำเลี้ยงไม่ยากอย่างที่หลายคนคิดเลย มีความคล้ายคลึงกับการเลี้ยงแคคตัสด้วย ซึ่งสำหรับใครที่เลี้ยงแคคตัสอยู่แล้วลองเปิดใจรับไม้อวบน้ำมาเลี้ยงสักต้นก็ดีเหมือนกันนะครับ ผมรับรองเลยว่าเพื่อนๆ จะต้องติดใจอย่างแน่นอน 😉



Related posts
การปลูกแคคตัสเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

“ไอเดียจัดสวนถาดแคคตัสแบบสวยเก๋”

การปลูกแคคตัส

รวมหลากหลายเทคนิคการล่อราก/ชำหน่อ ทำอย่างไรให้อัตรารอดสูงสุด

การปลูกแคคตัส

11 ไอเทมสามัญประจำบ้าน สำหรับชาวไม้หนาม

การปลูกแคคตัส

3 Trick ฟื้นคืนชีพผิวเหี่ยว โคนยุบของแคคตัส ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง