ผมเชื่อว่ามือใหม่หัดเลี้ยงแคคตัสเกือบทุกคน จะต้องเคยเลี้ยงสายพันธุ์ “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ยิมโน” โดยเป็นแคคตัสที่คนทั่วโลกนิยมเลี้ยง แล้วเพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่าราคาซื้อ/ขายของ “ยิมโน” เริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบบาท และสูงจนไปถึงหลักแสนบาทขึ้นไปก็มีครับ ทุกท่านอ่านไม่ผิดนะฮะ ราคาหลักแสน!! กันเลยทีเดียว วันนี้ LivingPop เลยจะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับ “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” กันว่าเพราะอะไร ทำไมแคคตัสชนิดนี้ถึงฮิตไปทั่วโลก 🌵
ต้นกำเนิดของ ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)
“ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Gymnos ที่แปลว่า เปลือย และ Colyx แปลว่า วงกลีบเลี้ยง เมื่อนำมารวมกันจึงเป็นกลีบเลี้ยงเปลือย (ไม่มีขน) มีถิ่นกำเนิดในทวีบอเมริกาใต้ แถบประเทศอาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย อาร์เจนตินา อุรุกวัย และปารากวัย แคคตัสสกุลนี้มีราว 80 ชนิด ซึ่งมีชื่อสามัญ คือ “Chin Cactus” นิยมนำมาเลี้ยงและปรับปรุงสายพันธุ์เป็นลูกผสมทำให้แตกต่างไปจากต้นแบบเดิม เช่น ยิมโนด่าง หรือบางชนิดมีหนามยาวและใหญ่ทนต่อสภาพอากาศร้อน
ลักษณะทั่วไป
เป็นลำต้นเดี่ยว หรือแตกหน่อจากตุ่มหนาม หนามมีรูปทรงและขนาดหลากหลาย ดอกออกจากตุ่มหนามบริเวณยอด มีหลากหลายสี เช่น ชมพู ขาว เขียว เหลือง ส้ม เป็นต้น โดยดอกจะบานตอนช่วงกลางวัน และจะหุบช่วงกลางคืน จะบานประมาณ 3 – 4 วัน ซึ่งยิมโนเป็นแคคตัสที่มีระยะเวลาการบานนานกว่าหลายๆ สายพันธุ์ที่บานไม่ถึงวันก็มี ทำให้เราสามารถชื่นชม “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” ขณะที่ดอกกำลังเบ่งบานได้ ผลของยิมโนที่เกิดจากการถูกทำการผสมเกสรจากผู้เลี้ยงหรือแมลงที่มากินน้ำหวาน จะมีลักษณะรูปไข่หรือรูปกระสวย เมื่อผลสุกจะมีสีแดง ส้ม หรือชมพูสดซึ่งภายในมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กจำนวนมากครับ
จุดเด่น
ปัจจัยที่ทำให้ “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” ที่ผู้เลี้ยงทั้งมือใหม่และมืออาชีพนิยม เป็นไม้ที่ต้องมีติดบ้าน และนำมาประกวดอวดโฉมในงานอีเวนท์แคคตัสต่างๆ นั่นคือ ยิมโนมีรูปทรงลำต้นที่หลากหลายรูปแบบแล้วแต่ชนิด เช่น รูปแบบทรงออกกลม เตี้ย หนามน้อย ทรงกลมป้านมีหนามยาว และมีหนามเดี่ยวสั้น เป็นต้น นอกจากรูปทรงที่แตกต่างกันแล้ว ยิมโน เป็น 1 ในสายพันธุ์ที่ผู้เลี้ยงนำมาผสมพันธุ์ให้ได้ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมา โดยชนิดใหม่นี้จะมีรูปทรงของบั้ง(กลีบ) ของลำต้นที่แตกต่างจากเดิม รวมทั้งมีสีสันสวยงามแตกต่างกันไป ซึ่งผู้เลี้ยงจะเรียกกันว่า “ยิมโนด่าง” (มีสีอื่นๆ ปนอยู่ในต้นนอกเหนือจากสีเขียว) บางชนิดลำต้นเป็นสีเขียวสลับเหลือง, เขียวสลับแดง, เขียวสลับชมพู ถึงแม้ว่ายิมโนจะเป็นชนิดเดียวกัน แต่รูปทรงของไม้ไม่เหมือนกัน ทำให้ความสวยงามและราคาของต้นนั้นแตกต่างกัน
สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง
สายพันธุ์ของ “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” หรือนักเลี้ยงยิมโนจะใช้คำว่า “โคลน” โดยโคลนใหม่ๆ จะถูกตั้งชื่อจากผู้ค้นพบ หรือการเพาะพันธุ์ขึ้นมาเป็นชนิดใหม่ที่มีเอกลักษณ์ 1 เดียวแล้วนำมามาตั้งชื่อ ผมขอยกตัวอย่างโคลนที่ผู้เลี้ยงยิมโนนิยมเลี้ยง มาให้เพื่อนๆ ทำความรู้จักกันฮะ
ยิมโนคาไลเซียม มิฮาโนวิชิอาย แอลบี 2178 อะกวาดูลเซ
แค่ชื่อก็คือยาวมากกก เขาเลยนิยมเรียกสั้นๆ กันว่า “LB2178” ถูกค้นพบโดย คุณ Ludwig Bercht นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลนี้ ซึ่งค้นพบในประเทศปารากวัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ก่อนเมล็ดกระจายพันธุ์ไปสู่คนเลี้ยงแคคตัสในแถบประเทศรัสเซียและเยอรมัน ปี ค.ศ. 2001 ในชื่อ G. Friedrichii LB2178 เอกลักษณ์ของพันธุ์นี้คือ สันพาดขวางบริเวณผิวดูคมชัด และมีหนามเดี่ยวสั้น โค้งแนบตามพู
ซีเปีย
สำหรับพันธุ์ซีเปีย เป็นยิมโนที่ถูกเพาะพันธุ์มาจาก อาป้อม-คุณพิกุล สังข์สุวรรณ และคุณภูเขา ชากะสิก เจ้าของสวนชั้นนำ “กระท่อมลุงจรณ์” ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กระบองเพชรชั้นนำของประเทศ โดยการคัดเลือกสายพันธุ์มาพัฒนาเป็นสายพันธุ์เด่นๆ เป็นที่นิยมมากมาย โดย 1 ในสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จัก คือ ซีเปีย ยิมโนด่างสีน้ำตาลแดง มีลายเขียว โดยคุณภูเขาตั้งชื่อนี้ตามชื่อที่ใช้เรียกโทนสีของภาพเก่า อันมาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า “σηπία” (sēpía) ที่หมายถึงปลาหมึกกระดอง ซึ่งจะพ่นน้ำหมึกที่มีสีน้ำตาลแดง เดิมทียิมโน ‘ซีเปีย’ มีอยู่สองโคลน คือโคลนเอ ที่มีสีอมเหลืองและให้หน่อยากกว่า กับโคลนบี ที่มีสีอมน้ำตาลแดง และให้หน่อมากกว่า
พิงค์ไดมอนด์
เป็นแคคตัสอีก 1 โคลนที่เป็นผลผลิตจากกระท่อมลุงจรณ์ พิงค์ไดมอนต้นนี้จะมีโทนสีชมพู มีความสว่างสดใสกว่าสีชมพูอื่นๆ โดยใช้ระยะเวลาในการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้มั่นใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดีไม่หลุดจากต้นแม่พันธุ์ จึงเป็นยิมโนที่ได้รับความนิยมอีกชนิดทั้งในไทยและต่างประเทศ
VoS
โคลน VoS ถูกพบโดย Mr. Volker Schädlich ชาวเยอรมันที่เชี่ยวชาญเรื่องสายพันธุ์ Gymnocalycium ได้ใช้ชื่อย่อหมายเลขรหัส collection number ที่เขาพบว่า Vos 01-014/a และอีกกลุ่มในบริเวณใกล้เคียงกันชื่อว่า VoS 12-1241 ซึ่งทั้งคู่มีจำนวนพูน้อยกว่า LB 2178 คือเฉลี่ย 8 – 10 และบางต้นก็มีดอกสีชมพู
เทคนิคการเลี้ยง
แสงแดด
“ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” ต้องการแสงแดดทั้งวัน หรืออย่างน้อยๆ ครึ่งวันเช้า ไม่ควรรับแดดโดยตรงเพราะจะทำให้ผิวเป็นแผลหรือมีรอยไหม้ ซึ่งจะทำให้ไม้ไม่สวย ดังนั้นควรจะเลี้ยงไว้ในโรงเรือน ที่ๆ โดนแดดแบบรำไร หรือจะใช้สแลน 60% เพื่อกรองความเข้มของแสงแดดจะดีที่สุด
การรดน้ำ
ควรจะรดนำ้ “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” ก็ต่อเมื่อดินแห้ง โดยวิธีการสังเกตุว่าดินแห้งไหม หากเลี้ยงไม้ไม่มากก็ใช้วิธีการนำไม้จิ้มฟันหรือไม้ลูกชิ้นจิ้มลงไปในดินแล้วดึงขึ้นมาดูว่ามีเศษดินติดขึ้นมาไหม หากมีแปลว่าดินยังชื้นก็ยังไม่ต้องรด แต่หากไม่มีดินติดขึ้นมาแปลว่าถึงเวลารดน้ำ ในการรดน้ำมีมือใหม่หลายท่านที่เข้าใจผิดใช้ฟอกกี้ (กระบอกฉีดน้ำ) ฉีดเข้าไปที่ลำต้น เพราะคิดว่าแคคตัสต้องการน้ำน้อย เป็นความเข้าใจที่ผิด ในความเป็นจริงแล้วแคคตัสต้องการน้ำปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นต้องรดให้น้ำไหลทะลุก้นกระถางเพื่อให้รากได้รับน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตต่อไปครับ
ดินที่ปลูก
ดินที่ใช้ปลูกก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงแคคตัสทุกสายพันธุ์ สำหรับ “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” นั้นต้องการดินที่มีสารอาหารเพียงพอ ระบายน้ำได้ดีและดินต้องไม่แน่นเกินไป จนทำให้รากของต้นไม้ไม่สามารถขยายลงไปก้นกระถางได้ ดังนั้นวัสดุปลูกต้องต้องโปร่ง โดยส่วนใหญ่ที่คนปลูกจะนิยมใช้กันคือ รองก้นกระถางด้วย หินภูเขาไฟ/ถ่านหุงต้มที่ทุบให้เล็กๆ ดินแคคตัสที่มีส่วนผสมหินภูเขาไฟขนาดเล็ก, ดินใบกล้ามปู, เพอร์ไรท์, ทรายหยาบ, ปุ๋ยออสโมโค้ท และสตาร์เกิลจี โดยสัดส่วนและสูตรดินนั้นสามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเลี้ยงของแต่ละคนได้ วัสดุก็สามารถปรับเปลี่ยนตามของที่หาได้ในแต่ละพื้นที่ด้วย แต่ไม่ว่าจะใช้สูตรไหนก็ขอให้ดินระบายน้ำได้ดีไว้ก่อน จะได้ไม่อุ้มน้ำมากจนเกินไป
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนของ “ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)” จะเหมือนกับสายพันธุ์อื่นๆ คือผสมเกสรและนำไปเพาะเมล็ด และการนำหน่อจากต้นแม่มาชำ ซึ่งการขยายพันธุ์ทั้ง 2 แบบนั้น มีโอกาสเพาะสำเร็จแตกต่างกัน โดยมีปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบ เช่น ความสมบูรณ์ของหน่อ หรือการเลี้ยงหลังจากเพาะพันธุ์ เป็นต้น
การผสมเกสรและการเพาะเมล็ด
นำ ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) 2 ต้นที่ออกดอกและบานพร้อมกัน มาผสมเกสร โดยนำเกสรตัวผู้ของต้นหนึ่ง มาจิ้มกับเกสรตัวเมียอีกต้นหนึ่ง เริ่มจากการตัดตรงขั้วดอกออกทั้ง 2 ต้น แต่ต้องระวัง อย่าไปตัดโดนเกสรตัวเมียที่ซ่อนอยู่ภายในดอก ดังนั้นควรจะใช้ใบมีดที่คมและสะอาด หลักจากนั้นใช้ฟอเซป คีบเกสรตัวผู้ที่มีลักษณะผงๆ ที่อยู่ตรงปลายดอกต้นหนึ่งไปใส่ไว้ในเกสรตัวเมียอีกต้น (ใช้ฟอเซปเปิดเกสรตัวเมียไว้) เท่าก็เป็นอันเสร็จกระบวนการผสมเกสร
หากฝักผสมเกสรสำเร็จ ฝักนั้นจะไม่ล่วง จะค่อยๆ เปลี่ยนสี และเปล่งโตมากขึ้นจนกลายเป็นสีเข้ม ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง – 2 เดือน ฝักเมล็ดถึงจะสุกเต็มที่ เมื่อถึงเวลาก็เด็ดฝักออกมานำไปล้างน้ำในตะแกรงตาถี่ๆ เอาเนื้อของฝักออกให้หมด หลังจากนั้นนำไปตากให้แห้ง ก็สามารถนำไปเพาะเมล็ดได้ ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะไม่เหมือนกับต้นพ่อแม่พันธุ์มาก หรืออาจจะได้หน้าตาที่แตกต่างกันออกไปเลยก็เป็นไปได้ครับ
การชำหน่อ
การชำหน่อเริ่มจากเด็ดหน่อจากต้นแม่พันธุ์ โดยหน่อนั้นจะต้องมีสีเขียวปน ห้ามเป็นสีด่างล้วน เพราะต้นด่างล้วนจะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้นำไปชำแล้วตายได้ นอกจากนี้หน่อควรมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร มีโอกาสที่รากจะงอกออกมาสูงกว่า จากนั้นเตรียมกระถางสำหรับใช้ในการเพาะชำ หรือเรียกอีกอย่างว่าการล่อราก ให้เรานำวัสดุปลูกรองก้นกระถาง ใส่ดินปลูกผสมปุ๋ยออสโมโค้ทและสตาร์เกิลจีในกระถาง (วัสดุปลูกจะแตกต่างกันตามแต่ละสูตร) นำหน่อมาวางไว้บนดินกดลงไปเล็กน้อย ใช้ฟอกกี้พรมน้ำให้ดินชุ่มๆ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
การชำมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ ชำแบบระบบปิด และชำแบบระบบเปิด ซึ่ง 2 วิธีนี้แตกต่างกัน แบบระบบปิดจะนำกระถางที่ชำหน่อใส่ในกล่องหรือถุงพลาสติกเติมน้ำที่ก้นกล่องและปิดฝาให้สนิท ส่วนการชำแบบระบบเปิดจะไม่ใส่ถุง แต่จะคอยพรมน้ำให้ดินชื้นๆ ตลอดเวลา ควรวางไว้ในที่โดนแสงแดดรำไรทั้ง 2 รูปแบบ ระยะเวลาที่รากจะงอกออกมา ประมาณ 1 เดือน หรือจะแตกต่างกันแล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้น
และนี่ก็คือ ยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) ครับ สวยอย่างเดียวไม่พอ ยังเพาะพันธุ์ ดัดแปลง ตัดแต่ง และขยายพันธุ์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้เยอะมากด้วยนะ ถ้าเพื่อนๆ ชอบแคคตัสสายพันธุ์นี้แล้วล่ะก็ ลองไปหามาเลี้ยงและขยายพันธุ์ด้วยตัวเองได้นะครับ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ยิมโนหนึ่งเดียวในโลกก็ได้นะฮะ 555555 ใครที่รอแคคตัสสายพันธุ์อื่นๆ อยู่ รออ่านบทความต่อไปได้เล้ยยยยย รับรองว่าสวยไม่แพ้กันแน่นอนฮะ 👍🏻