สวัสดีครับ กลับมาพบกันกับสวนหลังบ้าน LivingPop ที่เก่าเวลาเดิม เพิ่มเติมคือวันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปท่องแดนมังกรกันครับ แดนมังกรที่ว่าไม่ใช่เมืองจีนนะฮะ แต่เป็นโลกของต้นไม้สุดแปลก ชื่อก็แปลก ต้นก็แปลก เป็นต้นอะไรกันนั้น ตามมาเลยครับ

ซีโรเพเจีย โบเซอรี่
(Ceropegia bosseri)
ต้นไม้สุดแปลกที่กล่าวถึงนั่นคือ ซีโรเพเจีย โบเซอรี่ (Ceropegia bosseri) หรือ คนไทยเรียกว่า “มังกรดำ” เป็นตระกูลไม้เลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Ceropegia bosseri Rauh & Buchloh คำว่า “Ceropegia” มาจากภาษาละตินว่า keros หมายถึง ขี้ผึ้ง และ pege หมายถึง น้ำพุ ซึ่งเป็นลักษณะของดอก ส่วนคำว่า“bosseri” มาจากชื่อของนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฌอง มารี บอสเซอร์ (Jean Marie Bosser) ผู้ค้นพบพืชชนิดนี้

ซีโรเพเจีย โบเซอรี่ หรือ มังกรดำ เป็นไม้หายากชนิดหนึ่ง ที่พบเฉพาะถิ่นจากเมืองอิโฮซี ( Ihosy ) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะมาดากัสการ์ ตามธรรมชาติเติบโตบนหน้าผาหินแกรนิตสูงประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางคนเรียกว่าติดปากว่า “แคคตัสมังกรดำ” หรือ “เก๋งมังกรดำ”
แต่จริงๆ แล้ว เจ้ามังกรดำตัวนี้ไม่ใช่แคคตัสหรือกระบองเพชรนะฮะ เพราะไม่ได้อยู่ในวงศ์ Cactaceae แต่มังกรดำอยู่ในสกุลสายป่าน (เซโรพีเจีย) Ceropegia ซึ่งอยู่ในวงศ์ Apocynaceae หรือไม้อวบน้ำนั่นเอง มีชื่อสามัญ ว่า “Black Dragon” หรือมังกรสีดำ และ “Madagascar succulents” หรือ “ไม้อวบน้ำจากดินแดนมาดากัสการ์” นั่นเอง


ทำไมคนไทยถึงเรียกว่ามังกรดำ เพราะเจ้าไม้ชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ รูปร่างและหน้าตาคล้ายกับมังกร มีลำต้นสีดำยาวเลื้อย บ้างมีสีน้ำตาลเข้มอมดำ ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงที่ได้รับ ผิวของลำต้นขรุขระ มีความยับย่นคล้ายผิวของมังกร มีใบขนาดเล็กสีเขียวเข้ม หรือดำ เรียงอยู่ตามความยาวของลำต้น มองคล้ายขาของมังกร บางคนก็บอกว่าคล้ายกิ้งก่า แล้วแต่จะจินตนาการนะครับ
ให้ดอกรูปร่างเป็นกระเปาะสีขาวที่ปลายยอดลำต้น และมีการแผ่ของปลายดอกดอกมาคล้ายกับน้ำพุ ปัจจุบันถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ และได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้เลี้ยงแคคตัสเมืองไทยแม้มังกรดำจะไม่ใช่แคคตัสก็ตาม นอกจากนี้ยังนิยมนำมังกรดำมาเลี้ยงในกรง เพื่อให้มังกรดำเลื้อยไต่กรง เพิ่มความเก๋ สวยงามและแปลกตา

วิธีเลี้ยงและดูแลมังกรดำ
เนื่องจากมังกรดำค่อนข้างโตช้า จึงทำให้การนำเข้ามาในช่วงแรกมีราคาสูง แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ในเมืองไทย จึงทำให้ราคาไม่สูงเช่นเมื่อก่อน และการเลี้ยงไม้สุดแปลกอย่างมังกรดำนั้นก็ไม่ยากอย่างที่คิดเลยฮะแม้จะเป็นไม้นำเข้า สามารถเลี้ยงในโรงเรือนเดียวกันกับแคคตัสได้เลย เติบโตได้ดีในดินปลูกที่โปร่งและระบายน้ำได้ดี ดูแลง่ายชอบแสงแดดเหมือนแคคตัส
ด้วยความที่มังกรดำเป็นไม้เลื้อย หากได้รับแสงแดดที่เพียงพอ เมื่อเข้าสู่ต้นเต็มวัยจะทำให้มังกรดำสีคมเข้ม ให้ดอกและให้หน่อหรือแตกกิ่งออกมาที่ด้านข้างของลำต้น จึงสามารถขยายพันธุ์ง่ายๆด้วยวิธีการ ตัดและปักชำกิ่ง
นอกจากมังกรดำแล้ว ยังมี ซีโรเพเจีย อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้มังกรดำ คือ ซีโรเพเจีย อาแมนดิอาย (Ceropegia armandii) หรือ “มังกรเขียว” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมังกรดำทุกระเบียบนิ้ว แต่มีลำต้นและใบเป็นสีเขียว จึงถูกเรียกว่า “มังกรเขียว” นั่นเอง

เป็นอย่างไรบ้างฮะกับความดุดันและน่าเกรงขามของไม้สุดแปลกอย่าง “มังกรดำ” เลี้ยงและขยายพันธุ์ทำจำนวนไม่ยากเลย เชื่อว่าเจ้ามังกรดำคงเข้าไปอยู่ในใจของหลายๆ คนแล้ว โดยเฉพาผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงไม้แปลกๆ จบบทความนี้ เพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้ซื้อกรงเพิ่มความสวยงามมาให้เจ้ามังกร รีบไปจัดหากันนะฮะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าของสวนหลังบ้าน ที่จะนำความรู้และความแปลกของแคคตัสและไม้อวบน้ำมาฝากเพื่อนๆ ในโอกาสถัดไป วันนี้สวัสดีครับ