วันนี้สวนหลังบ้านจะชวนเพื่อนๆ มาท่องโลกของสายพันธุ์แคคตัสสุดเท่นามว่า “โอพันเทีย” กันครับ ก็ถือเป็นอีกสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในไทย ดังนั้นหลากหลายเรื่องราวของโอพันเทียจะถูกรวบรวมไว้ที่นี่แน่นอน เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ตามผมมาได้เลยครับ
โอพันเทียคืออะไร?
โอพันเทีย (Opuntia) มาจากภาษากรีก เดิมทีใช้เรียกพืชที่เติบโตในพื้นที่เมือง Opus ประเทศกรีซ และยังมีอีกชื่อเรียกเท่ๆ ว่า “พริกคลี่ แพร์” (Prickly Pear) แต่ในเมืองไทยมักเรียกกันติดปากว่า ใบเสมา หรือต้นเสมา คุ้นๆ กันมั๊ยครับ โอพันเทียเป็นพืชในวงศ์ “Cactaceae” หรือเป็นแคคตัสนั่นเอง
แคคตัสสกุลโอพันเทีย ปลูกอย่างแพร่หลายในแถบแม็กซิโก แต่ปัจจุบันแคคตัสโอพันเทียแพร่กระจายทั่วไป ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และแถบเมดิเตอร์เรเนียน ว่ากันว่าสาเหตุที่แพร่กระจาย เกิดจากการเดินเรือข้ามทวีป ในสมัยก่อนนักเดินเรือได้นำต้นโอพันเทียติดเรือไว้เป็นเสบียงอาหาร เนื่องจากคงสภาพความสดได้นาน ด้วยความที่โอพันเทียเติบโตได้ง่าย เพียงแค่โยนชิ้นส่วนลำต้นทิ้งไว้บนพื้นดิน ก็สามารถเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แถมยังเป็นไม้ที่ อึด ถึก และทนแดดได้เป็นอย่างดี จึงทำให้มีการแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกที่เช่นในปัจจุบันฮะ
โอพันเทียมีหลายขนาด ตั้งแต่เป็นต้นขนาดเล็กๆ เป็นพุ่มเตี้ย จนถึงต้นขนาดใหญ่ สูงได้มากกว่า 5 เมตรเลยทีเดียว หรือจะเรียกว่าเป็นแคคตัสสายพันธุ์ต้นใหญ่เลยก็ได้ฮะ เอกลักษณ์ของแคคตัสสกุลโอพันเทีย ที่แตกต่างจากแคคตัสทั่วไปคือ โอพันเทียจะมีลำต้นแบนเป็นแผ่น หรือเรียกว่า แพด (Pad) ที่ใบมีตุ่มหนาม เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ทุกๆ ตุ่มหนามสามารถออกรากได้ ถือเป็นลักษณะพิเศษของโอพันเทียเลยฮะ และจากการที่ตุ่มหนามสามารถออกรากได้เนี่ยแหละ จึงทำให้โอพันเทียสามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย และพบได้ในทุกทวีป
หนามของแคคตัสโอพันเทียมีหลายแบบ ทั้งชนิดหนามสั้นและหนามยาว ที่โคนของหนามยังมีหนามขนาดเล็กคล้ายขนแปรงเรียงอยู่อย่างอัดแน่น มองคล้ายๆ กระจุกขน แต่ระมัดระวังอย่าให้โดนมือหรือเผลอไปจับเชียวนะครับ ทั้งเจ็บทั้งแสบ แถมเอาออกยากอีกด้วย ส่วนดอกมีหลายสี ไม่ว่าจะเป็นเหลือง ชมพู หรือส้ม
โอพันเทียเป็นแคคตัสที่ติดดอกออกผล และผลบางชนิดทานได้ด้วยนะครับ ผลของมันจะปกคลุมด้วยหนามแหลม สายพันธุ์ที่นิยมทาน คือ Opuntia ficus incida หรือมักเรียกกันว่า “กระบองเพชรมะเดื่อ” สามารถทานได้ทั้งใบและผล ผลมีรสชาติคล้ายแก้วมังกร ส่วนใบ เมื่อนำหนามออกแล้วหั่นใส่ไข่เจียว หรือนำมาทำหน้าพิซซ่าก็ได้
นอกจากนี้ยังสามารถปลูกในเมืองไทยได้ด้วย ใช้เวลา 2 – 3 ปี ก็จะติดผล แต่ค่อนข้างออกดอกและติดผลยากกว่าในแถบแม็กซิโก เอ้า!! แล้วต้นใบเสมาที่เราพบเจอกันเยอะแยะในเมืองไทยคืออะไร? กินได้มั๊ย? ต้นนี้ก็คือ Opuntia cochenillifera สามารถทานผลได้เช่นกัน แต่คนไทยก็ไม่ค่อยนิยมทานนะครับ
สายพันธุ์โอพันเทีย ที่นิยมเลี้ยงในเมืองไทย
ในปัจจุบัน โอพันเทียเป็นแคคตัสอีกหนึ่งสกุลที่นิยมปลูกเลี้ยงเพื่อประดับตกแต่ง ด้วยลักษณะของลำต้นและใบที่มีเอกลักษณ์ มีหนามที่สวยงาม ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในไทยจะมีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ด้วยกันครับ
โอพันเทีย โรบัสต้า ไจแอ้น (Opuntia Robusta giant)
“โอพันเทีย โรบัสต้า ไจแอ้น” หรือชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “โรบัสต้า” เป็นโอพันเทียที่เมื่อโตเต็มฟอร์มจะมีขนาดใหญ่สมชื่อ “ไจแอ้น” ที่แปลว่ายักษ์เลยฮะ ส่วนใหญ่ใบจะมีลักษณะกลม สีฟ้าอมเขียว แตกใบใหม่ต่อจากใบเดิมได้เรื่อยๆ ฟอร์มเป็นรูปทรงสวยงาม นิยมปลูกในกระถางตั้งประดับตกแต่ง หรือปลูกลงดินเพื่อจัดสวนก็สวยงาม
โอพันเทีย รูฟิด้า (Opuntia rufida)
“โอพันเทีย รูฟิด้า” หรือมักเรียกกันว่า โอพันเทีย “หูมิกกี้เม้าส์” ด้วยลักษณะพิเศษเป็นแคคตัสใบกลม สีเขียว แต่งแต้มด้วยตุ่มหนามสีแดง ขนาดไม่ใหญ่เท่าโอพันเทีย โรบัสต้า ไจแอ้น จึงทำให้รูฟิด้าดูน่ารักตะมุตะมิ เมื่อเจ้าหูมิกกี้เม้าส์แตกใบใหม่ต่อกันขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งสวยงามมากขึ้น บางคนก็ชอบเลี้ยงแค่ 3 ใบ เพราะจะเหมือนมิกกี้เม้าส์ที่สุด แต่ภายใต้ความน่ารักนี้ แฝงไปด้วยกระจุกตุ่มหนามที่สุดแสนจะอันตราย เพราะเจ้าหนามนี้มีขนาดเล็กแต่มีจำนวนมาก หากเผลอไปจับที่ใบหรือโดนทิ่มจะทั้งแสบทั้งคันแน่นอนครับ
โอพันเทีย ไวโอลาซี ซานตาริต้า (Opuntia violacea v. santa rita)
โอพันเทีย ไวโอลาซี ซานตาริต้า เรียกสั้นๆ ว่า “ซานตาริต้า” เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ของแคคตัสโอพันเทียที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสีใบ ที่มีสีม่วง ซึ่งสีม่วงนั้นจะเข้มมากเข้มน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอากาศ ถ้าอากาศหนาวเย็น สีของซานตาริต้าจะค่อนข้างม่วงเข้ม แต่ถ้าอากาศร้อนสีจะออกโทนเขียวมากกว่า แต่ก็มีบางสายพันธุ์ซานตาริต้าที่นำเข้ามาจากประเทศแถบอเมริกา เช่น สกุลที่มีผิวสีฟ้า หากเลี้ยงแดดจัดๆ ผิวของใบจะออกสีม่วงอย่างชัดเจน สวยงามน่าสะสมมากๆ ฮะ
โอพันเทีย แมคโครเซนต้า (Opuntia macrocentra)
โอพันเทีย แมคโครเซนต้า เป็นโอพันเทียที่มีแผ่นใบสีม่วง คล้ายกับซานตาริต้า แต่แตกต่างกันที่ความหนาของแผ่นใบจะมีความบางกว่าซานตาริต้าเล็กน้อย และหนามของโอพันเทีย แมคโครเซนต้า จะยาวกว่าซานตาริต้ามาก ถือเป็นจุดเด่นของแมคโครซานต้าเลย
โอพันเทีย ไมโครดาซิส หรือ หูกระต่าย (Opuntia microdasys ,Bunny ear cactus)
ปิดท้ายด้วยโอพันเทียสุดคิวท์ ตะมุตะมิโดนใจวัยใสแน่นอน กับ “โอพันเทีย ไมโครดาซิส” มีชื่อเล่นสุดน่ารักว่า “หูกระต่าย” ด้วยขนาดเล็กน่ารัก ใบกลมรี แตกใบใหม่เรียงต่อกันขึ้นคล้ายหูกระต่าย มีทั้งชนิดขนหนามสีขาวและขนหนามสีเหลือง นอกจากรูปร่างน่ารักแล้ว ราคาค่าตัวยังน่ารักอีกด้วย ปัจจุบันหาซื้อมาสะสมได้ในราคาหลักสิบ เหมาะมากๆ สำหรับมือใหม่ที่จะเข้าสู่วงการโอพันเทียครับ
วิธีการเลี้ยงและดูแล
ด้วยความที่เป็นแคคตัสสกุลที่อึด ถึก ทน ฉะนั้นการเลี้ยงและดูแลจะง่ายที่สุดในสามโลกเลยฮะ โอพันเทียสามารถเจริญเติบโตได้ดีด้วยดินแคคตัสทั่วไป หรือจะปลูกด้วยดินทั่วไปเท่าที่จะจัดหาได้ น้องก็สามารถมีชีวิตรอดได้
ให้บำรุงด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ออสโมโค้ทนิดหน่อย ทุก 4 – 6 เดือน เพียงเท่านี้ น้องก็เจริญเติบโตงอกงามแล้ว ส่วนการให้น้ำ ด้วยความที่โอพันเทียเป็นแคคตัสสายพันธุ์อึด รดน้ำ 7 – 10 วัน/ครั้ง โอพันเทียก็อยู่ได้สบายๆ ในส่วนของแสงแดด จัดเต็มได้เลยฮะ จะเลี้ยงแดดรำไร หรือแดด 100 ฝน 100 โอพันเทียรับได้หมด โอพันเทียเป็นแคคตัสที่ค่อนข้างโตเร็ว อย่าลืมเผื่อพื้นที่ให้น้องได้แตกใบด้วยนะ
วิธีปลูกและขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์ทำได้ง่ายมากๆ วิธีที่นิยมที่สุดคือการเด็ดใบ (pad) นำไปปักชำ เรียกว่า “การชำใบ” ครับ ใบของโอพันเทียจะมีการแตกแยกออกมาคล้ายหูกระต่าย เพื่อนๆ สามารถหัก หรือตัดออกมาปักชำเพื่อขยายพันธุ์ได้เลย อย่างที่ได้บอกไปว่าทุกตุ่มหนามของโอพันเทียสามารถออกรากได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะปักชำในแนวนอน หรือแนวตั้ง น้องก็พร้อมออกรากครับ หรือจะตัดเป็นชิ้นในการชำปลูกก็ได้ และยังสามารถเจริญเติบโตได้ค่อนข้างเร็ว เมื่อได้รับน้ำและแสงแดดที่เพียงพอ
ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ดก็สามารถทำได้ แต่ไค่อยได้รับความนิยมเท่าการปักชำ เพราะการเพาะเมล็ดงอกค่อนข้างยากและใช้เวลานานครับ
การขยายพันธุ์ที่พบเห็นได้อีกหนึ่งวิธี คือการกราฟต์ จุดประสงค์หลักๆ เลยคือการทำจำนวนให้ได้มากๆ โดยใช้โอพันเทียใบเสมาเป็นตอหลักในการกราฟต์โอพันเทียสกุลอื่นๆ เช่น โอพันเทีย ซานตาริต้า หรือ โอพันเทีย โรบัสต้า ไจแอ้น เป็นต้น แต่วิธีที่นิยมอันดับต้นๆ ก็ยังคงเป็นการชำใบอยู่ดีครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลของโอพันเทีย แคคตัสสกุลอึก ถึก ทน จริงๆ แล้วในเมืองไทย พบเห็นการเลี้ยงแคคตัสโอพันเทียหลากหลายชนิดกว่านี้นะฮะ แต่สายพันธุ์ที่ผมหยิบยกมาเป็นเพียงตัวอย่างสายพันธุ์ที่นิยมและพบเห็นบ่อยๆ เท่านั้น หากเพื่อนๆ หลงเสน่ห์แคคตัสรูปร่างแปลกตา กับความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในหนามที่แหลมคม ชอบความฟอร์มกอใหญ่โตอลังการงานสร้างอย่างโอพันเทีย ก็สามารถจัดหามาปลูกสะสม หรือตกแต่งบ้านกันได้เลย รับรองถูกใจแน่นอนครับ