หากวันใดแคคตัสต้นโปรด ต้นสวยของเรา เริ่มซูบ เริ่มเหี่ยว มีแผลโดยเราหาสาเหตุยังไม่ได้ เจ้าของอย่างเราๆ ก็เริ่มใจคอไม่ค่อยดี เริ่มกลัวว่าแคคตัสของเราจะเป็นอะไรไป ซึ่งโดยปกติแล้วแคคตัสของเราจะมีศัตรูพืชที่คอยมาเกาะแกะทำร้ายต้นของเราได้ แต่ไม่ต้องตกใจไปนะครับ ถ้าเรารู้เท่าทันและรู้จักวิธีป้องกันศัตรูพืชเหล่านี้ได้ เจ้าพวกนี้ก็จะมากวนใจแคคตัสของเราได้ยาก วันนี้สวนหลังบ้านจะมาเป็นฮีโร่ปราบศัตรูพืชให้กับเพื่อนๆ เองฮะ
ศัตรูแคคตัสและไม้อวบน้ำมีอะไรบ้าง
ศัตรูพืชตัวร้ายที่บ่อนทำลายต้นแคคตัสอันเป็นที่รักของเรานั้นมีหลายชนิดด้วยกันครับ เรามาทำความรู้จักศัตรูพืชเหล่านี้ให้มากขึ้นกันครับ
เพลี้ยหอย (Scale Insect)
เพลี้ยหอยศัตรูตัวร้ายหมายเลข 1 ที่ทำให้เราสุดเพลียได้เลย เพลี้ยหอย (ที่ไม่ใช่หอย) เป็นแมลงศัตรูประเภทปากดูด รูปร่างเป็นแผ่นกลม นูน หรือเป็นขีดๆ คล้ายฝาหอยขนาดจิ๋ว ชอบหลบอยู่ใต้ขนปุยตามยอด บริเวณตุ่มหนาม และที่โคนต้นในด้านที่เราจะยังมองไม่ค่อยเห็นถ้าไม่สังเกตดีๆ หรือติดอยู่ตามผิวต้น และคอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้น หากลุกลามมาก อาจทำให้ไม้เกิดอาการซีดเหลืองขาดอาหาร อ่อนแอลงจนถึงตายได้เลยทีเดียว

เพลี้ยหอยมักพบในแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) เมโลแคคตัส (Melocactus) ใบเสมา (Opuntia) ซีรีอุส (Cereus) แก้วมังกรหรือตอสามเหลี่ยม (Hylocercus undatus) และแอสโตรแอสทีเรียส (Astrophythum asterias)
วิธีการรักษา
- ใช้แปรงสีฟันเก่า ขัดตัวเพลี้ยออก แล้วฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น มาลาไธออน (Malathion) หรือนิโคตินซัลเฟต (Nicotine Sulphate) ตามอัตราที่ระบุ หลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ ฉีดพ่นซ้ำเพื่อทำลายตัวอ่อนที่เพิ่งฟักจากไข่อีกครั้ง
- ถ้าระบาดเล็กน้อยหลังจากเขี่ยตัวเพลี้ยออก โรยสารป้องกันกำจัดแมลงที่นิยมใช้กันมากคือ สตาร์เกิลจี (Starkle G : ชื่อการค้า) หรืออิมิดาคลอพริด (imidacloprid : ชื่อสามัญ)
- ถ้าต้นทรุดโทรมมาก อาจเปลี่ยนดินปลูกใหม่ พร้อมฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เพื่อป้องกันการลุกลาม
เพลี้ยแป้ง (Mealybug)
อีกหนึ่งในศัตรูพืชตัวร้ายของแคคตัส เพลี้ยแป้งเป็นแมลงประเภทปากดูด ที่คอยดูดกินน้ำเลี้ยงตามยอดอ่อนของแคคตัสและไม้อวบน้ำ มีลักษณะกลมแบนอ่อนนุ่ม ทั่วทั้งลำตัวจะถูกปกคลุมด้วยปุยผงสีขาว เวลาเขี่ยที่ตัวมันก็จะมีผงแป้งหลุดกระจายออกมา เพลี้ยแป้งจะเกาะอยู่ตามยอดอ่อน แล้วคอยดูดน้ำเลี้ยงของแคคตัสและไม้อวบน้ำ ทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และตายไปในที่สุด มีลำตัวสีขาว และมักอาศัยร่วมกับมด โดยมดจะเป็นตัวคอยคาบเพลี้ยมาให้เกาะตามต้น บางทีพบอยู่ตามรากใต้ดินทำให้เรามองไม่เห็น แต่มีข้อสังเกต ถ้าต้นแคคตัสและไม้อวบน้ำของเราเริ่มโทรม สันนิษฐานก่อนว่าอาจมีแมลงศัตรูอยู่ในดินของเราก็เป็นได้

มักพบในแคคตัสสกุลกลุ่มเก๋งจีน กุหลาบหิน ฮาโวเทีย แมมชนิดต่างๆ มะพร้าวทะเลทรายและไม้โขดอีกหลายๆ ชนิดเลยครับ
วิธีการรักษา
- เราถอดแคคตัสออกจากกระถางมาก่อน จากนั้นล้างเอาดินที่มีเพลี้ยแป้งออกทั้งหมดจนเหลือแต่ราก
- หลังล้างรากเสร็จ ให้ทำการผึ่งรากให้แห้งก่อนลงปลูกอีกครั้ง หากพบว่ากระบองเพชรต้นนั้นมีรากฝอยเป็นจำนวนมากก็สามารถใช้กรรไกรตัดแต่งรากออกไปได้ การแต่งรากจะมีประโยชน์ตรงที่หลังจากเราตัดรากเก่าออกไป เค้าก็จะสร้างรากใหม่ที่หาอาหารได้ดีกว่ารากเดิมขึ้นมาทดแทน เนื่องจากในระหว่างการล้างรากนั้นอาจมีบาดแผลฉีกขาดที่รากหรือมีรอยช้ำ หากเราไม่ผึ่งรากไว้ให้แห้งสนิทแล้วนำลงปลูกเลย ความชื้นที่อยู่ในดินก็อาจจะทำให้เกิดอาการรากเน่าและลุกลามเป็นต้นเน่าตามมาได้ (การผึ่งนั้นก็ให้เราวางกระบองเพชรไว้ในที่ร่มอย่างน้อย 3-7 วัน เมื่อพบว่าแผลที่รากแห้งดีแล้วก็ให้ลงปลูกได้เลย)

ไรแดง หรือ ไรแมงมุมแดงคันซาวา (Kanzawa Spider Mite)
ศัตรูพืชแคคตัสที่หลายคนๆ ไม่รู้จัก และอาจจะไม่ทันสังเกตเห็น เนื่องจากตัวไรแดงมีขนาดค่อนข้างเล็กมาก ต้องสังเกตดีๆ ลักษณะโดยทั่วไปจะมีส่วนเปลือกหุ้มลำตัวเป็นสีออกส้มแดง มี 8 ขา และถูกจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับแมงมุม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Kanzawa Spider Mite

ลักษณะของต้นเมื่อถูกไรแดงเล่นงาน จะมีเส้นใยสีขาวที่เกาะอยู่กับผิวแคคตัสซึ่งก็คือรังของไรแดงนั้นเอง จากนั้นไรแดงก็จะใช้ปากของมันดูดกินน้ำเลี้ยงจากแคคตัส ทำให้ลักษณะผิวแคคตัสเปลี่ยนสีเป็นสีซีดลง หรือเห็นเป็นจุดสีขาวละเอียดกระจายทั่ว และผิวอาจแห้งตายจนมีลักษณะผิวเหมือนสีสนิม หากไรแดงมาดูดกินน้ำเลี้ยงมากๆ ก็จะทำให้แคคตัสเกิดอาการยอดไม่เดินและอาจทำให้ต้นตายได้
วิธีการรักษา
การฉีดพ่นแคคตัสด้วยน้ำไม่สามารถไล่ไรแดงเหล่านี้ออกไปได้ ดังนั้นการกำจัดจึงจะต้องใช้สารเคมีชนิดพิเศษ ที่มีชื่อว่า “ออทุส (Ortus)” เป็นตัวยา “เฟนไพโรซิเมท (Fenpyroximate)” เนื่องจากออทุสจัดเป็นสารเคมีที่อันตราย ควรสวมถุงมือป้องกันไว้ตลอดเวลาในระหว่างที่ใช้สารเคมีชนิดนี้
อัตราส่วนการผสมออทุสลงในน้ำเปล่า ใส่ออทุส 2-3 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 2 ลิตร จากนั้นจึงฉีดพ่นให้ทั่วหัวแคคตัส และเว้นระยะอีกประมาณ 3 วัน แล้วฉีดพ่นซ้ำเพื่อกำจัดไรแดงที่ยังหลงเหลืออยู่ และควรฉีดซ้ำประมาณ 3 ครั้งเนื่องจากในการฉีดพ่นครั้งแรกอาจไม่สามารถฉีดโดนตัวไรได้หมด หรืออาจมีตัวอ่อนของไรแดงที่ยังไม่ฟักตัวออกจากไข่ ดังนั้นการฉีดพ่นซ้ำจึงมีประโยชน์ตรงที่จะช่วยกำจัดไรแดงให้หายขาด
เพลี้ยญี่ปุ่น (Cochineal Insect)
เพลี้ยชนิดนี้จะแฝงตัวอยู่บริเวณตุ่มหนามบนยอด อยู่รวมกันเป็นกระจุก ลักษณะเป็นปุยสีขาวฟูขึ้นมา ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะคิดว่าเป็นขนที่ตุ่มหนาม ซึ่งเป็นลักษณะปกติของแคคตัสหลายสายพันธุ์ แต่ถ้าก้อนปุยสีขาวใหญ่เร็วขึ้นอย่างผิดปกติ ให้ระวังว่าจะเป็นเพลี้ยญี่ปุ่น เมื่อลองเขี่ยดูจะพบเป็นตัวเพลี้ยสีชมพูอมม่วง ซึ่งมักอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานกันเพลี้ยญี่ปุ่นจะมาจากไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศจีนและญี่ปุ่น มักจะเกิดกับไม้ในสกุล แอสโตร ยิมโน เมโล และแคคตัสอื่นๆ เกือบทุกสกุล เมื่อเขี่ยดูหรือฉีดน้ำให้เปียกจะพบเป็นตัวเพลี้ยสีชมพูอมม่วงเข้มๆ อยู่ข้างใน

ลักษณะการทำลายล้างของเพลี้ยตัวนี้คือ จะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ยอดเสีย ยอดหยุดเจริญ ผิวบริเวณที่ถูกทำลายจะเป็นตำหนิ แม้จะรักษาหายแล้วก็จะเป็นรอยแผลเป็นสีน้ำตาลดำ ทิ้งไว้ให้ดูเป็นอนุสรณ์ชั่วกาลนานเลยทีเดียว
วิธีการรักษา
หากเป็นแล้ว ต้องใช้ยาแรงอย่างพวก พอสซ์ เอราท็อกซ์ ฉีดสัปดาห์ละครั้ง สัก 3-4 สัปดาห์ อาการก็จะเริ่มดีขึ้น แต่เมื่อหายแล้วจะยังคงจารึกแผลเป็นนั้นไว้กับต้นของเราตลอดไป เพราะฉะนั้นถ้าหากพบเจอตัวนี้ตั้งแต่แรกให้รีบทำการรักษาในทันที อย่าปล่อยให้บานปลายนะครับ
เกร็ดความรู้ท้ายบทความ

ตัวยาที่แนะนำสำหรับการกำจัดเพลี้ยญี่ปุ่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย คือ เอราท็อกซ์ (ไทอะมีทอกแซม) ออกฤทธิ์โดยตรงกับพวกเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยญี่ปุ่น เพลี้ยแป้งที่ราก และเพลี้ยอื่นๆ
คุณสมบัติ ไม่เหม็น ใช้น้อย อันตรายต่อคนและสัตว์ค่อนข้างน้อย ที่สำคัญได้ผลจริงครับ ใช้ผสมน้ำฉีดพ่นให้ทั่วต้นที่เป็นและควรพ่นต้นอื่นๆ ที่ยังไม่เป็นด้วย เพื่อเป็นการป้องกันและตัดวงจรการระบาดครับ
วิธีใช้ : 1 ซอง = 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 0.25 กรัม (ประมาณช้อนกาแฟเซเว่นอันเล็กๆ ด้ามยาวๆ นะครับ) ต่อน้ำ 1 ลิตร (ประมาณ 1 ขวดฟร็อกกี้) ฉีดพ่นให้ทั่วต้นที่เป็นถ้าเป็นมากฉีดสัปดาห์ละครั้ง ติดกัน 3 สัปดาห์ จะเห็นเพลี้ยแห้งตายหลุดร่อนออกมาเลยครับ และใช้น้ำเปล่าฉีดแรงๆ อีกครั้ง เพลี้ยก็จะหลุดออกมากับน้ำ และควรฉีดต้นอื่นๆ ทั่วทั้งโรงเรือนหรือบริเวณที่ปลูกด้วยเพื่อป้องกัน สัก 1 – 2 เดือนต่อครั้ง หรือใช้สลับกับยาตัวอื่นเช่น อะบาแมกติน หรือไซเปอร์เมทธิล เพื่อป้องกันการดื้อยา
ได้รู้จักเหล่าศัตรูพืชแคคตัสแล้ว เป็นยังไงกันบ้างฮะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย เพราะเจ้าศัตรูพวกนี้จะทำให้แคคตัสของเรากลับดาวไปได้ง่ายๆ แถมบางชนิดยังสังเกตยากด้วย เราก็ต้องหมั่นเฝ้าระวัง สังเกต และดูแลแคคตัสดีๆ นะครับ ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนโจมตีโดยไม่รู้ตัวได้