เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

3 สิ่งที่ต้องรู้!! ก่อนตัดสินใจทำโรงเรือนแคคตัส

สำหรับคนรักแคคตัสหรือกระบองเพชรอย่างเราๆ แคคตัสต้องมาอันดับหนึ่ง ต้องได้อยู่ในที่ที่เหมาะสม แดดได้ น้ำได้ อากาศพอเหมาะ แรกๆ เราปลูกไม่กี่ต้นก็อาจจะยังเป็นลูกหอบได้ (หอบไปจ๊ะเช้าแดดซีกนี้ บ่ายแดดซีกนี้) แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งต้นไม้เราจะงอกครับ เริ่มหอบและยกไม่ไหว จึงเป็นที่มาว่าทำไมโรงเรือนสำหรับแคคตัสจึงสำคัญ วันนี้สวนหลังบ้านไม่อยากให้ทุกคนเป็นลูกหอบอีกต่อไป เรามาดูกันว่าถ้าอยากจะมีโรงเรือนสักหลังจะต้องเตรียมพร้อมอะไรกันบ้าง? ไปดูกันเล้ยยย



สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องทำโรงเรือน

โดยธรรมชาติของแคคตัส สามารถอยู่กลางแจ้งและมีแสงแดดแบบจัดเต็มได้ แต่ลักษณะของแคคตัสโดยเฉพาะผิวที่ไม่มีหนามปกคลุมหรือขนปกคลุม เมื่ออยู่กลางแจ้งจะมีผิวที่กร้านแดด ผิวไหม้ สีสันไม่สดใส ถ้าเทียบกับต้นที่เลี้ยงโดยมีการพรางแสงผ่านสแลนโรงเรือน ดังนั้นประโยชน์ของการสร้างโรงเรือนแคคตัสก็เพื่อปกป้องแคคตัสจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น แสงแดด และฝนที่มากเกินความต้องการของแคคตัสนั่นเอง โดยเราจะแยกรายละเอียดเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1. สถานที่ตั้ง และทิศทางของแสงแดด

ก่อนเริ่มทำโรงเรือนต้องดูตำแหน่งการตั้งโรงเรือน และดูแนวแสงแดดก่อน

  • การดูแนวแสงแดด สามารถใช้แอปพลิเคชันชื่อ “sun surveyor lite” ได้ โดยจะแสดงองศาการส่องแดด โดยการวางโทรศัพท์แนวระนาบ แล้วดูว่าพระอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาอยู่ตรงส่วนไหน
  • ควรตั้งโรงเรือนให้โดนแสงแดด อย่างน้อยควรเป็นแดดเช้ามากกว่าแดดบ่าย
  • ในฤดูหนาวไม้ในโรงเรือนจะมีโอกาสไหม้แดดมากที่สุด เนื่องจากคนส่วนใหญ่กลางสแลนไว้เฉพาะหลังคา แต่พอเข้าหน้าหนาวพระอาทิตย์เปลี่ยนเส้นทางมาส่องด้านข้าง ซึ่งไม่ได้กางสแลน ดังนั้นเราอาจจะต้องมีการกางสแลนเพิ่มฮะ

2. รูปแบบและขนาดที่เหมาะกับพื้นที่

การทำโรงเรือนต้องคำนึงถึงสถานที่ตั้งและขนาดพื้นที่ เพื่อจะได้ทำโรงเรือนให้เข้ากับพื้นที่ใช้งานและขนาดของแต่ละบ้านหรือแต่ละสวนนั่นเอง 

ประเภทพื้นภายในโรงเรือน

อย่างพื้นสนามหญ้าหรือพื้นปูน มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนี้ครับ

  • พื้นดิน : 
    • ข้อดี : แคคตัสหรือกระบองเพชรชอบความชื้นในพื้นดิน เวลาแสงแดดส่องลงมาจะไม่เก็บหรือสะท้อนความร้อนขึ้นมา 
    • ข้อเสีย : หญ้าจะขึ้นเยอะ ต้องคอยถอน หรือต้องแก้ไขโดยการใช้พลาสติกคลุมดินมาปูทับ หรือโรยหินเพื่อป้องกันให้หญ้าขึ้นช้าลง
  • พื้นปูน : 
    • ข้อดี : ดูแลทำความสะอาดง่าย และไม่มีแมลงหรือสัตว์ที่อยู่ในดิน
    • ข้อเสีย : เก็บความร้อนมากเกินไป จะทำให้ภายในโรงเรือนอุณหภูมิสูง (เราไม่สามารถสัมผัสพื้นปูนที่โดนแดดส่องตอนกลางวันได้ เพราะมันจะร้อนมาก) แถมยังมีต้นทุนสูง เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการเทปูน ซึ่งราคาก็แรงอยู่ครับ

Tip : สำหรับพื้นปูนที่ต้องการให้มีความชื้น สามารถใช้ทรายใส่ไว้ในถาดใหญ่ๆ หรือถาดไดโซะ แล้วนำกระถางแคคตัสมาวาง หรือบางที่จะเทปูนทำทางเดินแต่โต๊ะวางแคคตัสจะวางไว้บนพื้นดิน เพื่อไม่ให้แคคตัสร้อนจนเกินไป

รูปแบบของโรงเรือน

โรงเรือนที่เหมาะกับการปลูกแคคตัส ต้องสามารถทนแดดในฤดูร้อน และทนน้ำได้ในฤดูฝน สามารถป้องกันแมลงและสัตว์ต่างๆ ที่เป็นอันตรายได้ ซึ่งโรงเรือนก็จะมีลักษณะแบบเปิดและแบบปิด หากเป็นโรงเรือนเปิด ก็มีทั้งเปิดข้าง 100% หรือ ลดทอนตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม จะเลือกทำโรงเรือนแบบเปิดหรือปิดนั้น ให้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ตั้งของโรงเรือน และลักษณะการเลี้ยง หรือประเภทไม้ที่เราเลี้ยงเป็นหลักฮะ



3. งบประมาณของโครงสร้างโรงเรือน

วัสดุที่เลือกใช้นั้น ย่อมเป็นไปตามงบประมาณที่เรามี แต่ต้องเน้นความแข็งแรง ทนทาน เพื่อให้แคคตัสได้รับประโยชน์สูงสุดด้วย โดยวัสดุที่นิยมนำมาใช้ มีดังนี้

3.1 โครงสร้างของโรงเรือน

ก็มีหลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำโรงเรือนแบบชั่วคราวหรือถาวร มีทั้งเหล็ก ไม้ ท่อพีวีซี และท่อเหล็ก ที่สามารถต่อเชื่อมกัน เป็นโครงสร้างแบบสำเร็จรูปได้เลย

3.2 โครงสร้างหลังคา

หรือมุงผนังโรงเรือน มีหลากหลายแบบ ซึ่งความคงทนจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่เราเลือกใช้ครับ ไม่ว่าจะเป็น

  • ผ้าใบพลาสติก ราคาไม่สูงมาก ติดตั้งง่าย สามารถทำได้ด้วยตัวเอง รื้อถอน ปรับเปลี่ยนง่าย แต่อายุการใช้งานก็จะสั้น ต้องคอยเปลี่ยนเมื่อขาดและชำรุด ไม่ทนต่อแรงลม และต้องกางสแลนทับเพื่อปรับระดับแสง สามารถดูเรื่องสแลนเพิ่มเติมได้ที่ www.livingpop.com/suitable-slan
  • แผ่นเมทัลชีทใส ลักษณะเป็นลอน ช่วยบังคับทิศทางน้ำได้ดี ทนทานอายุการใช้งาน ใช้ไปนานๆ จะมีสีขุ่นขึ้น เหมาะกับโรงเรือนประเภทถาวร
  • แผ่นโพลีเอสเตอร์ใส ลักษณะเป็นแผ่นเรียบ มีทั้งแบบเป็นลอนลูกฟูกและแบบตัน ราคาค่อนข้างสูง ทนทาน อายุการใช้งานนาน ใช้ไปนานๆ จะมีสีขุ่นขึ้น เหมาะกับโรงเรือนประเภทถาวร
  • แผ่นอะคริลิคใส ลักษณะเป็นแผ่นเรียบ เหมาะกับโรงเรือนถาวร ทนทาน ไม่ขุ่นมัวเมื่อใช้งานนาน แข็งแรง แต่ราคาค่อนข้างสูง
  • แผ่นกระจก ลักษณะเป็นแผ่นเรียบ เหมาะกับโรงเรือนถาวร ทนทาน ไม่ขุ่นมัวเมื่อใช้งานนาน แต่ราคาสูง

เกร็ดความรู้ท้ายบทความ

สำหรับคนที่อยากทำโรงเรือนกระจก

เนื่องจากโรงเรือนประเภทนี้จะร้อนและอบมาก ส่งผลทำให้แคคตัสมีโอกาสที่จะสุกได้ ดังนั้นเราควรจะทำให้อากาศถ่ายเทมากๆ โดยการทำหน้าต่างรอบโรงเรือน และหากหลังคาเป็นแบบหน้าจั่วก็ให้ทำช่องระบายอากาศใหญ่ๆ แล้วติดมุ้งให้รอบ เพื่อป้องกันแมลง แต่ที่ดีที่สุด คือการทำทรงจั่ว 2 ชั้น (แต่งบก็จะแพงขึ้นมากฮะ) 

โต๊ะ

โต๊ะสำหรับใช้วางแคคตัสในโรงเรือน แบบทำเองได้ ราคาถูกสุด สามารถทำได้โดยเอาอิฐมาวางทำเป็นเสา แล้วเอาหลังคารอนคู่มาวางเพื่อกระจายน้ำหนัก จากนั้นใช้สมาร์ทบอร์ด 8 – 15 มม.มาวางทับ

สำหรับระบบไฟ

ควรเดินท่อร้อยสาย เพราะโรงเรือนเป็น outdoor ควรใช้สายไฟเป็นสายเฉพาะสำหรับ outdoor เท่านั้น ส่วนกล่องไฟต้องเป็นกล่องปิด มียางป้องกันน้ำเข้า ไฟในโรงเรือนด้านบน ควรใช้ LED สีขาว (ข้อดี ถ้าฟ้าครึ้มๆ แล้วเปิดไฟ จะช่วยให้ไม้โตได้ แต่ไม่มีแสง UV สีไม้ก็จะไม่ออกนะ)

เห็นไหมครับว่ากว่าจะเป็นโรงเรือนที่ใช่ ที่เหมาะสมกับแคคตัสต้นโปรดของเราได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองและเลือกสรรสิ่งที่ดีสุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเลือกให้เพียงพอกับงบประมาณในกระเป๋าของเราด้วยนะครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นไอเดียในการออกแบบโรงเรือนให้กับเพื่อนๆ ได้นะค้าบบบบ



Related posts
สายพันธุ์แคคตัสเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

รวมแคคตัสสายพันธุ์กลิ่นดอกหอม Vs ดอกกลิ่นสะพรึง

การปลูกแคคตัสเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

“ไอเดียจัดสวนถาดแคคตัสแบบสวยเก๋”

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

ส่อง 10 ยิมโนคาไลเซียม “โคลนชื่อดัง” ที่เหล่านักสะสมต้องมีครอบครอง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

วันแรกกับน้องแคคตัสต้นใหม่ แกะกล่องแล้วเริ่มดูแลยังไง?