หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่าแคคตัสต้องมีหนามเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังมีกระบองเพชรอีกหลายสายพันธุ์เลยครับ ที่ไม่มีหนามทิ่มให้ระคายมือ วันนี้สวนหลังบ้าน ขอแนะนำแคคตัสที่เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยุ่งยาก มีทั้งแบบไร้หนามและมีหนามนะ ซึ่งคนทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อ “แอสโตรไฟตัม (Astrophytum)” มาจากภาษากรีก άστρον (astron) หมายความว่า “ดาว” และ φυτόν (phyton) หมายความว่า “พืช” ซึ่งสายพันธุ์นี้มีทั้งหมด 6 ชนิดด้วยกัน นอกจากสีเขียวล้วนแล้ว ยังมีแบบด่างให้ดูเพลินๆ ด้วย เราไปดูกันว่าแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันยังไง จะสวยแค่ไหนกันน้า
แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) เป็นสกุลของแคคตัสที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในสหรัฐอเมริกา รัฐเท็กซัส และประเทศเม็กซิโก แต่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจังในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในญี่ปุ่นจะเรียกว่า Kabuto (คาบูโตะ)「兜」 แปลว่าหมวก หรือหมวกซามูไรของญี่ปุ่น โดยสายพันธุ์แอสโตรไฟตัมแบ่งเป็น 6 ชนิดด้วยกัน คือ
- Astrophytum asterias ( แอสโตรไฟตัมแอสทีเรียส )
- Astrophytum capricorne (แอสโตรไฟตัม แคปริคอร์น)
- Astrophytum caput-medusae (แอสโตรไฟตัม คาปุด เมดูซ่า)
- Astrophytum coahuilense (แอสโตรไฟตัม โคฮุยเลนส์)
- Astrophytum myriostigma (แอสโตรไฟตัม ไมริโอสติกมา : ไม-ริ-โอ-สะ-ติ๊ก-ม่า)
- Astrophytum ornatum (แอสโตรไฟตัม ออนาตัม)
แค่ดูชื่อก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะครับ เราจะพาไปดู แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) กันว่าแต่ละชนิดจะมีความพิเศษแค่ไหนกันน้า
1. Astrophytum asterias
(แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส)
หลายๆ คนอาจจะพอคุ้นกับแคคตัสชนิดนี้อยู่บ้าง Astrophytum asterias (แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส) เป็นพันธุ์ที่ไม่มีหนาม จับได้สบายมือ ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Sand Dollar Cactus หรือ Sea Urchin Cactus (sand dollar หรือ sea urchin เป็นสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็งตระกูลเดียวกับปลาดาว หรือหอยเม่น ภาษาไทยเรียก อีแปะทะเล)
การขยายพันธุ์
1.การผสมเกสรและการเพาะเมล็ด : การผสมเกสร ควรทำในวันที่ดอกบานวันแรก โอกาสที่ติดฝักมีมากกว่า โดยเริ่มจากการใช้แหนบดึงปลายเกสรตัวผู้ บริเวณอับละอองเรณูอย่างระมัดระวัง แล้วนำไปใส่ในยอดเกสรตัวเมีย หรือจะใช้เป็นพู่กัน ปั่นเอาแค่ละอองเกสรตัวผู้ ไปปั่นใส่ในยอดเกสรตัวเมียก็ได้ หลังจากผสมเกสร ประมาณ 3 -5 วัน ถ้าก้านดอกที่เราผสมไว้ มีลักษณะพองขึ้น ไม่เหี่ยว หรือฝ่อ เอามือเขี่ยเบาๆ ก็ไม่หลุด แสดงว่าผสมติด
แต่ถ้าหากก้านดอกเหี่ยว ลองเอามือเขี่ยเบาๆ แล้วหลุดเลย แสดงว่าการผสมเกสรไม่สำเร็จ จากนั้น 3 – 8 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บเมล็ด และทำการเพาะเมล็ดได้ หากได้เมล็ดมาแล้วยังไม่มีเวลาเพาะ ให้ล้างเมล็ดแล้วผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำไปเก็บไว้ช่องแช่ผักในตู้เย็น แต่ไม่ควรจะเกิน 2 – 3 เดือน เพราะจะทำให้คุณภาพของเมล็ดลดน้อยลงไป
2.การแยกหน่อ : วิธีการแยกหน่อจะได้ต้นใกล้เคียงกับต้นแม่มากที่สุด แต่สำหรับสายพันธุ์แอสโตรแอสทีเรียส ให้หน่อค่อนข้างน้อย หรือส่วนใหญ่แทบไม่มีหน่อออกมา วิธีนี้จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าไรครับ
ลักษณะลำต้น
ลำต้นค่อนข้างเล็ก รูปร่างออกกลมแป้น ชนิดดั้งเดิมจะมี 8 พู ลักษณะของสันพูจะเรียบแบน ร่องระหว่างพูจะค่อนข้างตื้น มีตุ่มหนาม (areole) เรียงเป็นแนวอยู่บริเวณกลางพู แต่ไม่มีหนาม ในปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ และ ที่นิยมสะสมกันมากๆ เช่น
Astrophythum asterias var. nudum (แอสโตรไฟตัมแอสทีเรียส วา นูดัม) เป็นแอสโตรไฟตัม แอสทีเรียสที่ไม่มีลายจุดสีขาวบนผิวต้น คำว่า นูดัม (nudum) หมายถึง nude ที่แปลว่า เปลือยเปล่านั่นเอง
Astrophytum asterias (แอสโตรไฟตัมแอสทีเรียส) “Super” (ซุปเปอร์) จะมีลายจุดสีขาวขนาดใหญ่กว่าปกติ
Astrophytum asterias (แอสโตรไฟตัมแอสทีเรียส) “Star-shape” (สตาร์เชฟ) มีรูปร่างของสันพูเว้าและทรงต้นค่อนข้างแบนจนเหมือนกับรูปปลาดาว
Astrophytum asterias (แอสโตรไฟตัมแอสทีเรียส) “Kikko” (กิ๊ก-โก๊ะ) มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนามจ นดูคล้ายกับกระดองเต่า (คำว่า Kikko เป็นภาษาญี่ปุ่นหมายถึง กระดองเต่า)
Astrophytum asterias (แอสโตรไฟตัมแอสทีเรียส) “Kabuto”(คาบูโตะ) จะเป็นต้นที่มีลายจุดขาวๆ เล็กๆ แต่จะมีอีกชนิดที่นิยมเลี้ยงคือ Super Kabuto ( ซุปเปอร์ คาบูโตะ) จะมีลายจุดขาวๆ ที่ใหญ่เต็มต้น
2. Astrophytum capricorne
(แอสโตรไฟตัม แคปริคอร์น)
เป็นแอสโตรไฟตัมชนิดที่มีหนาม ปัจจุบันมีคนที่ชอบแอสโตรไฟตัมชนิดนี้ไม่มากนัก ชื่อสามัญคือ Goat’s horn cactus ( ตามลักษณะของหนามที่ยาวโค้งจนดูเหมือนเขาแพะ ส่วนการขยายพันธุ์ จะเหมือนกับ แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส
ลักษณะลำต้น
ลักษณะโดยทั่วไป เป็นไม้หัวกลม ลำตัวเป็นสีเขียวเข้ม มี 8 พู มีลักษณะเด่นที่หนามยาว คล้ายเขาแพะ แต่ตอนอายุยังน้อยจะยังไม่มีหนาม แต่เมื่อไม้มีอายุหนามจะยาวขึ้น หนามจะมีลักษณะยาวและโค้งไปมา หนามใหม่ที่ขึ้นมาจะมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ ส่วนหนามเก่าจะมีสีขาว ในหนึ่งต้นมักจะมีมากกว่า 8-10 หนามต่อหนึ่งตุ่มหนาม
3. Astrophytum caput-medusae
(แอสโตรไฟตัม คาปุด เมดูเซ่)
คนส่วนใหญ่จะนิยมออกเสียงว่า “เมดูซ่า” กันมากกว่า เป็นแอสโตรไฟตัมทื่มีรูปร่างแปลก แหวกแนวจากเพื่อนๆ ในสายพันธุ์เดียวกัน ด้วยหนามยาว และลักษณะเลื้อยเหมือนงู ชื่อสามัญคือ Caput-medusae (คาปุท-เมดูเซ่) แปลว่า หัวเมดูซ่า ตามตำนานกรีกซึ่งมีผมเป็นงู การขยายพันธุ์นั้น ไม่นิยมการเพาะเมล็ด จะงอกยากกว่า เพราะมีเปลือกหนา การเลี้ยงแบบไม้เมล็ด จะโตช้า แต่นิยมกราฟบนตอเฟอโรแคคตัส หรือ เมโลแคคตัส
ลักษณะลำต้น
ลักษณะแตกต่างจากแอสโตรไฟตัมชนิดอื่นค่อนข้างมาก คือเป็นลักษณะไม้ใบยาว มีลายประจุดกระจายไปตามใบ มีตุ่มหนามที่บริเวณเกือบสุดปลายใบ ไม่มีหนาม ลักษณะคล้ายกับแคคตัสสกุล Ariocarpus แต่มีประจุดและให้ดอกติดฝักลักษณะเหมือนกับ Astrophytum
4. Astrophytum myriostigma
(แอสโตรไฟตัม ไมริโอสติกมา)
มักจะเรียกกันผิดๆ ว่า มาริโอ้ เป็นแอสโตรไฟตัมที่เลี้ยงง่ายมากๆ ชนิดหนึ่ง การขยายพันธุ์ จะเหมือนกับ แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียสเลยครับ ชื่อสามัญคือ Bishop’s cap cactus หรือไทยเราเรียกว่า หมวกสังฆราช จากรูปร่างทรงต้นที่ดูคล้ายกับหมวกของบิชอปในศาสนาคริสต์
ลักษณะลำต้น
ชนิดดั้งเดิมมี 5 พู ลักษณะพูเป็นสันขึ้นมาประกอบกันจนมองดูเหมือนกับรูปดาว 5 แฉก ไม่มีหนาม มีทั้งชนิดดั้งเดิมที่มีประจุดกระจายทั่วทั้งต้น และชนิด v. nudum ที่ไม่มีลายเลย
5. Astrophytum coahuilense
(แอสโตรไฟตัม โคฮุยเลนส์)
เป็นแคคตัสที่ไม่ค่อยพบในตลาดบ้านเรามากนัก เนื่องจากโตช้า และดูแลยาก ชื่อสามัญคือ coahuilense และการขยายพันธุ์จะเหมือนกับ แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส
ลักษณะลำต้น
คล้ายคลึงกับ Astrophytum myriostigma เป็นอย่างมาก จะต่างกันตรงที่ลายประจุดของ Astrophytum coahuilense จะมีลักษณะเป็นปุยขนฟูแน่นมากกว่า Astrophytum myriostigma
6. Astrophytum ornatum
(แอสโตรไฟตัม ออนาตัม)
แอสโตรไฟตัม ออนาตัม เป็นแคคตัสหายาก ที่น่าสะสมมากๆ ครับ ชื่อสามัญคือ Star Cactus การขยายพันธุ์จะเหมือนกับ แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส
ลักษณะลำต้น
จุดสังเกตคือเป็นแอสโตรมีหนามขนาดใหญ่ คล้ายหมวกมังฆราช มีสันพูแหลมๆ เติบโตได้เร็ว ต้นโตมีขนาดใหญ่
“แอสโตรด่าง” ความสวยที่ไม่เหมือนใคร
จากที่เราได้รู้จักแคคตัส สายพันธุ์แอสโตรไฟตัมทั้ง 6 ชนิดกันแล้ว ยังมีแอสโตรไฟตัมชนิดพิเศษ สีสันสดใส แปลกตา และเค้าไม่ได้มีแค่สีเขียวอย่างเดียวด้วยนะ นั้นคือ Astrophytum Asterias Variegated หรือแอสโตรด่าง
เกิดจากลักษณะสีผิวที่กลายเป็นสีแปลกตาออกไป เช่น เหลือง ส้ม หรือชมพู ซึ่งเกิดจากเม็ดสีที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงในเซลล์ หรือคลอโรฟิลด์หายไปบางส่วน ทำให้เม็ดสีอื่นปรากฏขึ้นมาชัดเจนแทน สีแดงก็สวยแปลกตาไปอีกแบบ และเนื่องจากมีความสวยแปลกตาราคาก็จะแรงกว่าแอสโตรไฟตัมแบบสีเขียวอย่างแน่นอน วิธีการขยายพันธุ์จะเหมือนกับ แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ความด่างมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับต้นแม่ฮะ
เทคนิคการเลี้ยง
- ตำแหน่งการวางแคคตัสต้องได้รับแสงแดด 4 – 5 ชม. ต่อวัน ภายใต้สแลนหรือถ้าโดนแดดทั้งวันได้ยิ่งดี แต่ไม่ควรรับแดดตรงๆ เพราะจะทำให้ผิวไหม้แดด แต่ถ้าเลี้ยงแดดตรงๆ ไม่ได้ก็ขอแนะนำให้รับแดดเช้าได้ไม่เกิน 11 โมงเช้า
- รดน้ำเมื่อดินแห้ง หรือ ประมาณ 5-7 วัน ต่อหนึ่งสัปดาห์
- ใช้ดินสำหรับปลูกแคคตัส และดินต้องมีความโปร่ง ดินต้องระบายน้ำได้เร็ว ดินถุงแบบที่ปลูกต้นไม้ทั่วไปไม่ควรใช้เพราะดินจำพวกนั้นอุ้มน้ำได้ดีเกินไป จะทำให้ต้นไม้ตายได้
- เปลี่ยนดินปีละ 1 ครั้ง หรือ ขยายกระถางเพื่อให้เค้าเติบโตได้เต็มที่
- ใส่ปุ๋ยออสโมโค้ท ปีละ 1 – 2 ครั้ง
วันนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ของแอสโตรไฟตัมกันไปแบบหมดเปลือก เพื่อนๆ สนใจอยากลองเลี้ยงแอสโตร หรือที่เลี้ยงอยู่แล้วสามารถนำความรู้และเทคนิคดีๆ ไปต่อยอดในการเลี้ยง หรือเลือกซื้อแอสโตรต้นใหม่กันได้เลยนะครับ วันนี้สวนหลังบ้านต้องขอตัวลากันไปก่อน แล้วมาพบกันใหม่ในบทความหน้า จะมีแคคตัสสายพันธุ์สวยๆ หรือเรื่องน่ารู้อะไรเกี่ยวกับแคคตัสอีก อย่าลืมติดตามนะค้าบบบ 😆