fbpx
สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลก “แอริโอคาปัส” แคคตัสไร้หนาม ในนามก้อนหินมีชีวิต

ก่อนหน้านี้สวนหลังบ้าน ได้พาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับแคคตัสไร้หนามกันมาบ้างแล้ว แต่วันนี้เราจะพาไปท่องโลกของแคคตัสไร้หนามอีกสกุลหนึ่ง ที่มีความพิเศษ สวยงามจนอยากหยิบยกมาแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกัน ผมเชื่อว่าแคคตัสสกุลนี้จะสามารถเข้าไปอยู่ในใจเหล่าสาวกแคคตัสได้อย่างแน่นอน จะพิเศษแค่ไหน เรามาทำความรู้จักแคคตัสที่มีชื่อว่า “แอริโอคาร์ปัส” กันค้าบบบบ



แอริโอคาร์ปัส (Ariocarpus)

เรียกสั้นๆ ว่า “แอริโอ” เป็นอีกหนึ่งสกุลแคคตัสไร้หนามที่มีความไฮโซหรูหรา นอกจากรูปทรงที่โดดเด่น ค่อนข้างหายาก โตช้า และราคาสูงแล้ว ยังมีความท้าทายของการเลี้ยงเป็นหัวใจหลักอีกด้วย

แอริโอคาร์ปัส (Ariocarpus) มีรากศัพท์มาจากคำว่า Sorbusaria (Whitebeam tree) และ karpos (Fruit) มีความหมายรวมกันว่า ต้นไม้ที่มีผลคล้ายผลของต้นไวท์บีม (Whitebeam) ซึ่งเป็นพืชตระกูลกุหลาบ ค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1838 โดย Scheidweiler และได้ตั้งชื่อสกุลว่า Ariocarpus ซึ่งต้นกำเนิดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากกับแคคตัสในสกุลแมมมิลลาเรีย (Mammillaria) และ อิชิโนแคคตัส (Echinocactus) นักพฤกษศาสตร์จึงพยายามที่จะจัดแอริโอคาร์ปัสให้อยู่ในสกุลเดียวกับแมมมิลลาเรีย แต่เนื่องจากมีรูปทรงและรูปร่างที่แตกต่างกันมาก จึงเห็นพ้องต้องกันว่าให้ใช้ชื่อสกุลว่า “Ariocarpus” เช่นเดิม

ตามบันทึกกล่าวไว้ว่าแอริโอคาร์ปัสทุกชนิดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเทือกเขาหินปูนในประเทศแม็กซิโก ยกเว้น Ariocarpus fissuratus var. fissuratus เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกาในรัฐ Texas

ว่ากันว่าในปัจจุบัน แอริโอคาร์ปัสเป็นแคคตัสที่ค่อนข้างหายาก ใกล้จะสูญพันธุ์จากถิ่นกำเนิดแล้ว เพราะมีอัตราการเติบโตช้า ให้ดอกยาก และปลูกเลี้ยงยาก แต่ด้วยความที่แอริโอคาร์ปัสมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากแคคตัสทั่วไปคือ ไม่มีหนาม รูปร่างแปลกคล้ายหิน แอริโอคาร์ปัสจึงยังคงเป็นแคคตัสที่เหล่านักสะสมต้องการมีไว้ครอบครอง ความยากในการเลี้ยงที่กล่าวมา จึงเป็นการท้าทายความสามารถของเหล่านักปรับปรุงพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้แอริโอคาร์ปัสเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสมแคคตัส เป็นที่ต้องการของตลาด และตามมาด้วยราคาที่สูงอีกด้วย

ลักษณะของแอริโอคาร์ปัส

แอริโอคาร์ปัส มีลักษณะพิเศษ คือ รูปร่างทรงกลมแบน (Flat glbuar) รากอวบใหญ่สีน้ำตาลคล้ายหัวแครอท ใช้สะสมอาหาร มีเนินหนาม (tubercle) ตุ่มหนามีลักษณะกระจุกขน และมีกลีบใบคล้ายกลีบดอกไม้รอบๆ ลำต้น แต่ละพันธุ์จะแตกต่างกันไป ทั้งกลีบใหญ่ กลีบเล็ก กลีบใบมีความหนาและขรุขระคล้ายหิน ตามธรรมชาติของถิ่นกำเนิดมักเจริญเติบโตที่พื้นดิน ตามซอกหิน จึงทำให้แอริโอคาร์ปัส ดูกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม จึงทำให้แอริโอคาร์ปัส มีชื่อสามัญอีกชื่อว่า “Living Rock” หรือ “หินมีชีวิต”

ในปัจจุบัน มีการแบ่ง แอริโอคาร์ปัส เป็น 7 ชนิด (Species) 7 ชนิดย่อย (Variety) และ 2 รูปแบบ (Form) ได้แก่

  1. Ariocarpus agavoides
  2. Ariocarpus bravoanus
  3. Ariocarpus fissuratus var. fissuratus, var. hintonii, var. lloydii, ‘lntermedius’
  4. Ariocarpus kotschoubeyanus var.albiflora, var. macdowellii ‘Elephantidens’
  5. Ariocarpus retusus var. furfuraceus, var. retusus
  6. Ariocarpus scaphirostris
  7. Ariocarpus trigonus

สำหรับในเมืองไทย สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงสะสมกันได้แก่ แอริโอคาร์ปัส ฟิซซูลาตัส ก๊อตซิล่า (Ariocarpus fissuratus cv. GODZILLA) เรียกสั้นๆ ว่า “ก๊อตซิล่า” แอริโอคาร์ปัส คอทชูบียานัส (Ariocarpus kotschoubeyanus) เรียกสั้นๆ ว่า “คอทชู” และแอริโอคาร์ปัส รีทูซัซ เฟอเฟอเรซีอุส (Ariocarpus retusus var. furfuraceus)

การขยายพันธุ์

สำหรับการดูแลและการขยายพันธุ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของแอริโอคาร์ปัส การปลูกเลี้ยงแอริโอคาร์ปัสให้เจริญเติบโต มีดอกที่สวยงาม และขยายพันธุ์ทำจำนวนได้ จึงเป็นการท้าทายความสามารถของเหล่านักปรับปรุงพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง

เริ่มที่การขยายพันธุ์แอริโอคาร์ปัส ที่ได้รับความนิยมคือ การกราฟต์และการเพาะเมล็ด สำหรับการกราฟต์นั้นไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อน เมื่อแอริโอคาร์ปัสเติบโตเต็มที่ จะมีการให้หน่อ สามารถตัดหนอมากราฟต์ได้เลย ตอที่นำมาใช้กราฟต์สามารถใช้ตออะไรก็ได้ครับ ตามที่หาได้เลย เช่น ริทเทอโร เฟอโรแคคตัส ตอหนามดำ ตอโบตั๋น ตอฟ้า แต่ตอที่นิยมนำมากราฟต์แอริโอคาร์ปัส ได้แก่ ริทเทอโร เฟอโรแคคตัส

สำหรับไม้เพาะเมล็ดที่อายุยังน้อย 2-3 เดือน ไม่แนะนำให้กราฟต์ต้นอ่อนด้วยตอริทเทอโรฮะ มักไม่ค่อยติด แต่ถ้าอายุมากกว่า 3 เดือน ได้ทุกตอเลยฮะ ซึ่งทำได้ง่ายมากๆ เพียงตัดแปะ แล้วใช้ถุงคลุม ลดการคายน้ำ และกันลมกันฝุ่น 3-5 วัน ก็โอเคแล้วครับ หากต้นหรือยอดที่นำมากราฟต์มีขนาดใหญ่อาจต้องใช้เทปปิดซักหน่อย เพื่อไม่ให้หัวกราฟต์ดีดออกครับ

ไฮไลต์อยู่ที่การเพาะเมล็ดครับ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้ความอดทนสูงและท้าทายที่สุด เนื่องจากแอริโอคาร์ปัสจะให้ดอกในฤดูหนาว เพียงปีละ 1 ครั้ง และดอกจะบานอยู่เพียง 2 วันเท่านั้น เป็นนาทีทองเลยแหละ หลังจากนี้จะเข้าสู่ระยะเวลาแห่งความอดทน คือหลังจากผสมเกสร จะใช้เวลากว่า 2-3 เดือนที่แอริโอคาร์ปัสจะเริ่มติดฝัก และใช้เวลาฝักแก่อีกเป็นเดือน รวมระยะเวลาตั้งแต่ผสมเกสรจนถึงฝักแก่ก็ใช้เวลารวมๆ กว่า 4 เดือน ถือว่านานทีเดียว

เมื่อฝักแก่เต็มที่จะมีการแทงฝักออกมาพ้นต้นออกมายาวประมาณ 1 เซนติเมตร จนเห็นได้ชัดเจน ก็สามารถเก็บฝักได้แล้วครับ ต้องเก็บให้ทันนะครับ เพราะฝักจะอยู่เพียง 3 วัน จากนั้นจะเหี่ยวไป เห็นมั๊ยฮะว่า สำหรับแอริโอคาร์ปัสแล้ว ทุกนาทีมีค่าจริงๆ เมื่อเก็บฝักเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการเพาะเมล็ดครับ ตรงนี้ไม่ยากเพราะสามารถเพาะด้วยระบบปิดได้เช่นเดียวกับแคคตัสทั่วไป ยิ่งเป็นเมล็ดสดใหม่ จะงอกภายใน 2 สัปดาห์ และมีอัตราการงอกจะสูงถึง 80-90% เลย สามารถเพาะในระบบปิดได้ถึง 3-5 เดือน หรือมากกว่านั้นก็ได้ฮะหากไม่มีปัญหาตะไคร่เกาะข้างถุง แต่เพื่อนๆต้องหมั่นดูว่าน้ำในวัสดุเพาะแห้งเกินไปมั๊ย สามารถเปิดถุงเพื่อเติมน้ำได้เลยฮะ

อีกหนึ่งวิธีที่ใช้ในการขยายพันธุ์คือการล่อรากปักชำครับ วิธีทำไม่ยากฮะ คล้ายแคคตัสทั่วไป แต่อัตราการรอดค่อนข้างน้อยกว่า 2 วิธี ข้างต้น วิธีนี้มักใช้กรณีกราฟต์แล้วตอกราฟต์เมื่อ หรือเน่า ต้องการเอาไม้ลงจากตอ หรือ ทำการตัดเพื่อแยกหน่อครับ

วิธีคือตัดแล้วทาด้วยยาเร่งราก แล้วหงายส่วนแผลผึ่งลมตากแดดไว้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ปล่อยไว้แบบลืมๆไปเลยฮะ จะเริ่มมีตุ่มรากงอกออกมา จากนั้นค่อยนำไปวางล่อรากต่อที่หินภูเขาไฟเพื่อให้รากมามากกว่าเดิม ช่วงนี้ต้องรักษาความชื้นของหินภูเขาไฟให้คงที่ครับ เมื่อรากออกมาประมาณหนึ่ง ก็สามารถย้ายไปปลูกในดินสำหรับปลูกแคคตัสทั่วไปได้เลยฮะ

วิธีการดูแล

สำหรับการดูแลเจ้าแอริโอคาร์ปัสนั้น ก็ค่อนข้างเอาใจยากนิดนึง แต่หากเพื่อนๆ ได้ทำความรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของแอริโอคาร์ปัสแล้ว จะทำให้การดูแลแอริโอคาร์ปัสไม่ยากอย่างที่คิดฮะ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นแคคตัสนั้นย่อมมีความทนต่อทุกสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว แอริโอคาร์ปัสก็เช่นกันครับ

ด้วยความที่เป็นแคคตัสที่มีการสะสมอาหารไว้ที่โคนราก ดังนั้นดินปลูกที่เหมาะสมก็ต้องมีความโปร่งพอสมควร อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดที่เพียงพอจะทำให้แอริโอคาร์ปัสมีสีสด และไม่เป็นโรคได้ง่าย ส่วนการรดน้ำนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากแอริโอคาร์ปัสไม่ชอบความชุ่มเท่าไรนัก สามารถให้น้ำห่าง 5-7 วันได้เลย

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนกระถางและวัสดปลูก อย่างที่กล่าวไปว่าแอริโอคาร์ปัสสะสมอาหารที่โคนราก หมั่นเติมปุ๋ยและเพิ่มคุณค่าทางอาหารในดินสม่ำเสมอทุก 6 เดือน ก็จะช่วยให้แอริโอคาร์ปัสของเราสวยสดและงดงามให้ดอกตามฤดูกาลครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ “แอริโอคาร์ปัส” แคคตัสสกุลสุดคลาสสิก มีเสน่ห์ในตัวเอง แม้จะเป็นแคคตัสที่ต้องใช้ทักษะและความอดทนหลากหลายรูปแบบในการปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์ แต่สวนหลังบ้านเชื่อว่า ไม่เกินความสามารถของเพื่อนๆ แน่นอนครับ



Related posts
สายพันธุ์แคคตัส

ทำความรู้จัก "โคเปียโป" แคคตัส ชื่อแปลก หายาก

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลกแคคตัสสีหวาน นามเพราะ "พิงค์ไดมอนด์" (Pink Diamond)

สายพันธุ์แคคตัส

แคคตัสนักกล้าม ชื่อน่าเกรงขามแต่ตัวจริงน่ารักนะ

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลก"เฟรเลีย" แคคตัสชื่อแปลก