fbpx
การปลูกแคคตัส

6 เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับมือใหม่ เลี้ยงแคคตัสให้โตได้ ไม่ตายชัวร์

เมื่อพูดถึงกระบองเพชร หรือ แคคตัส ตอนนี้ก็กลายเป็นต้นไม้ยอดฮิตติดลมบนไปแล้ว หลายๆ คนอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่า แคคตัสนั้น ต้นกำเนิดเป็นพืชทะเลทราย มีความทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย โตเร็ว รูปทรงสวยงามแปลกตา แคคตัสจึงถือเป็นต้นไม้อันดับต้นๆ ที่สายรักษ์โลกเริ่มหัดเลี้ยงต้นไม้จะเลือกแคคตัสเป็นต้นแรก วันนี้ Livingpop ได้นำ เคล็ด(ไม่)ลับ ที่ควรรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงและดูแลแคคตัสสำหรับมือใหม่มาฝากกันครับ




1. เลือกแคคตัส สำหรับหัดเลี้ยง

สำหรับมือใหม่ที่เลือกแคคตัสเป็นไม้ต้นแรกที่จะเริ่มหัดเลี้ยง ก่อนอื่นเลยต้องเลือกแคคตัสสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย มีความทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม และราคาไม่สูงมาก สายพันธุ์ที่นิยมสำหรับมือใหม่ ได้แก่ อิชินอปซิส หรือดาวล้อมเดือน, ยิมโนคาเลเซียม, แอสโตรไฟตัมแอสทีเรียส, แมมมิลาเรียพลูโมซ่าหรือแมมขนนกขาว, ถังทอง และเมโลแคคตัส เป็นต้น สายพันธุ์เหล่านี้ค่อนข้างดูแลง่าย ไม่ต้องคอยประคบประหงมครับ


2. ดินดีเป็นศรีแก่ต้น

สำหรับการปลูกแคคตัส ปัจจัยสำคัญหลักคือ “ดิน” ที่ใช้สำหรับปลูกแคคตัสโดยเฉพาะครับ โดยทั่วๆ ไปนั้นจะต้องเป็นดินที่ค่อนข้างโปร่ง สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี จึงมีการผสมดินด้วยสูตรต่างๆ ที่มีส่วนผสมของวัสดุปลูกหลายๆ ชนิด วัสดุปลูกเหล่านั้นจะเป็นสารอาหารหลักให้แก่แคคตัสครับ และยังช่วยให้แคคตัสเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้นด้วย เพื่อนๆ สามารถหาซื้อดินปลูกแคคตัสได้ตามตลาดต้นไม้ทั่วไป หรือร้านที่จำหน่ายแคคตัส โดยดินเหล่านี้จะผสมด้วยสูตรกลางๆ มีความโปร่งที่เหมาะกับการปลูกแคคตัสทุกประเภท แต่ถ้าอยากลองผสมเอง ก็สามารถซื้อวัสดุปลูกมาผสมได้นะ ไว้เราจะนำสูตรการผสมดินปลูกสำหรับแคคตัสแบบง่ายๆ มาเล่าในโอกาสถัดไปนะครับ


3. รดน้ำอย่างไรไม่ให้เน่า

มีคนเข้าใจผิดเยอะมากๆ ว่าแคคตัส ไม่ต้องรดน้ำหรือรดน้ำน้อยๆ ก็อยู่ได้ หรือบางคนอาจเข้าใจว่า เป็นต้นไม้ต้องรดน้ำทุกวันนะ ซึ่งเราจะมาแก้ไขความเข้าใจเหล่านี้กันฮะ เพราะว่าการให้น้ำแคคตัสมีความสำคัญมากๆ ถ้าเราให้น้ำที่มากหรือน้อยเกินไป จะทำให้แคคตัสตายได้ครับ

ถ้าเราไม่รดน้ำเลย หรือรดน้อยจนเกินไป จะทำให้แคคตัสเหี่ยว แห้ง และตายไปในที่สุด เนื่องจากแคคตัสเหล่านี้เป็นแคคตัสที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติในทะเลทราย การทนต่อภาวะขาดน้ำจึงน้อยกว่าฮะ ส่วนการให้น้ำที่มากเกินไปจะทำให้แคคตัสฉ่ำน้ำหรือบวมน้ำ และรากเน่าตายครับ แล้วถ้าถามว่าจะรดน้ำอย่างไรให้เหมาะสม? ก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้นด้วย สำหรับสายพันธุ์ทั่วๆ ไป การให้น้ำที่เหมาะสมคือ 3 – 4 วัน/ครั้ง ในฤดูร้อนที่อากาศค่อนข้างแห้ง และให้น้ำ 7 วัน/ครั้ง ในฤดูหนาวและฤดูฝน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วยนะ เช่น การสังเกตหน้าดิน หากหน้าดินแห้งแข็ง ก็สามารถรดน้ำได้เลย ไม่ต้องจนรอครบจำนวนวัน เพราะดินที่แข็งเกินไป จะทำให้รากของแคคตัสไม่สามารถหาอาหารได้ และที่สำคัญ ไม่ควรฉีดน้ำแรงๆ ไปที่ลำต้นโดยตรงนะครับ เพราะอาจจะทำลำต้นช้ำได้ ถ้าปลูกในกระถางแนะนำให้วางกระถางปลูกไว้ในกระบะที่ใส่น้ำตื้นๆ รอจนกระทั่งหน้าดินในกระถางที่ปลูกชุ่มน้ำ แล้วยกออกครับ แต่หากปลูกจำนวนมาก ก็สามารถใช้ฝักบัวรดน้ำที่จำนวนรูฝักบัวถี่ๆ ได้นะครับ สายน้ำที่ออกจากฝักบัวจะนุ่ม ไม่ทำลายผิวของแคคตัส


4. แสงแดดอ่อนๆ นี้ ที่แคคตัสต้องการ

ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งอย่างในการเลี้ยงแคคตัสคือ “แสงแดด” ครับ แสงแดดเป็นเสมือนอาหารหลักของแคคตัสเลยก็ว่าได้ เพราะแสงแดดช่วยในการสังเคราะห์แสง สร้างสารอาหารให้แก่แคคตัส การรับแสงแดดที่เหมาะสมของแคคตัสคือ อย่างน้อย 5 – 8 ชั่วโมง/วัน แต่ด้วยเมืองไทยของเราขณะนี้ แดดค่อนข้างแรงมาก การให้แคคตัสโดนแสงแดดโดยตรงจะทำให้เกิดการไหม้ที่ผิวของแคคตัสได้ ดังนั้นควรพรางแสงด้วยสแลนความหนา 40 – 50% จะช่วยให้น้องแคคตัสของเราได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเหมาะครับ แล้วถ้าหากแคคตัสของเราได้รับแสงแดดน้อยเกินไป จะทำให้เจ้าแคคตัสยืดตัวเพื่อหาแสงแดด แคคตัสจะสูงขึ้นจนเสียรูปทรงได้ครับ


5. ปุ๋ย อาหารชั้นดีสำหรับแคคตัส

การให้ปุ๋ยแก่แคคตัสก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญครับ เพื่อให้แคคตัสได้มีการสร้างอาหารมาเลี้ยงลำต้นได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ เคล็ดลับการให้ปุ๋ยของแคคตัสนั้นไม่ยาก ชนิดปุ๋ยที่แคคตัสชอบและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ ปุ๋ยละลายช้า ออสโมโค้ท สูตร 13-13-13 ครับ ซึ่งมีข้อดีคือ มันละลายช้า เนื่องจากว่าปุ๋ยจะค่อยๆ ออกฤทธิ์และใช้เวลาละลายค่อนข้างนาน ให้ปุ๋ยเพียงครั้งเดียวก็สามารถอยู่ได้ 5 – 6 เดือนแล้วฮะ ซึ่งเหมาะกับแคคตัสมากๆ เพราะไม่ได้ต้องการอาหารจากปุ๋ยมากนัก ในหนึ่งปีเราจะให้ปุ๋ยเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น คือ ครั้งแรกที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยผสมลงไปในดินปลูก และให้ปุ๋ยหลังปลูกหรือเปลี่ยนดินในครั้งถัดไป และจะให้ปุ๋ยอีกครั้ง ในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า นอกจากปุ๋ยจะช่วยเพิ่มการเติบโตของแคคตัสแล้ว ยังช่วยให้แคคตัสออกดอกตามช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วยครับ


6. ป่วยกายหรือป่วยใจ ดูอย่างไรไม่ให้แคคตัสกลับดาว

หลังจากเรียนรู้วิธีการเลี้ยงแคคตัสฉบับมือใหม่มาพอสมควรแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่มือใหม่ควรรู้ คือโรคของแคคตัสครับ จะสังเกตอย่างไรว่าแคคตัสของเราป่วยหรือเป็นโรค ไม่ยากเลย มันจะมีจุดที่บ่งบอกว่าแคคตัสของเรามีการอาการป่วยอยู่ฮะ เช่น ลำต้นฟีบหรือเหี่ยวย่นผิดปกติ หากเราได้รดน้ำอย่างเหมาะสมแล้ว ลำต้นฟีบอาจเกิดจากรากของแคคตัสมีปัญหา ให้ถอดกระถางเพื่อรื้อดูว่ารากมีปัญหาหรือไม่ครับ 

ลำต้นนิ่ม เป็นอีกหนึ่งจุดสังเกตครับว่าแคคตัสของเราอาจได้รับน้ำมากเกินไปและเกิดอาการเน่า หรือมีแผลและรอยผิดปกติต่างๆ สำหรับรอยแผลหากเกิดจากการขูดขีดของหนามก็ไม่ต้องกังวลครับ ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต แต่อาจทำให้ไม่สวยและรำคาญใจเพียงแค่นั้น ไม่นานก็ไล่ลงและหายไป แต่ถ้าเป็นรอยที่เกิดจากเพลี้ยต่างๆ โรคราสนิม หรือแคงเกอร์ อันนี้อันตรายมากๆ ต้องรีบจัดการด้วยการฉีดพ่นยากำจัดเพลี้ย หรือยาเฉพาะโรคที่ใช้สำหรับแคคตัส ซึ่งมีจำหน่ายที่ร้านขายยากำจัดศัตรูพืชทั่วไปครับ เพื่อนๆ ควรตรวจสอบฉลากให้รอบคอบและปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดนะฮะ


เป็นยังไงกันบ้างครับ? การเลี้ยงแคคตัสไม่ยากอย่างที่คิดใช่มั๊ยฮะ เอาจริงผมเป็นคนนึงที่เคยเลี้ยงแคคตัสนะ แต่คือตายทุกต้นจนเลิกเลี้ยงไปเลย แต่พออ่านบทความนี้จบเริ่มอยากลองท้าทายตัวเองดูอีกครั้งครับ 5555 หวังว่าบทความ 6 เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับมือใหม่ เลี้ยงแคคตัสให้โตได้ ไม่ตายชัวร์ จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ สามารถนำไปทำตามกันได้ไม่ยาก จะได้เลี้ยงเจ้าแคคตัสกันอย่างมีความสุขฮะ ส่วนบทความหน้าจะมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับแคคตัสมาแชร์ให้เพื่อนๆ อีก รอติดตามเอาไว้เลยน้าาาา 😁




Related posts
การปลูกแคคตัสเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส

“ไอเดียจัดสวนถาดแคคตัสแบบสวยเก๋”

การปลูกแคคตัส

รวมหลากหลายเทคนิคการล่อราก/ชำหน่อ ทำอย่างไรให้อัตรารอดสูงสุด

การปลูกแคคตัส

11 ไอเทมสามัญประจำบ้าน สำหรับชาวไม้หนาม

การปลูกแคคตัส

3 Trick ฟื้นคืนชีพผิวเหี่ยว โคนยุบของแคคตัส ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง