เมื่อพูดถึงแคคตัส แว๊ปแรกของหลายๆ คนคงต้องคิดถึงต้นไม้ต้นเล็กๆ กลมๆ มีขนหรือหนามอยู่รอบๆ ต้น อยู่ในกระถางเล็กๆ ดูน่าทะนุถนอมกันใช่มั๊ยครับ แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ ว่า ในโลกของแคคตัส ยังมีแคคตัสอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ดูแข็งแรงบึกบึน รูปทรงดูน่าเกรงขาม ซึ่งวันนี้สวนหลังบ้านจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ 5 สายพันธุ์แคคตัสสุดเท่ ที่มีลำต้นขนาดใหญ่กันครับ ตามมาเล้ยยย!
ถังทอง
(Echinocactus Grusonii /Golden Barrel Cactus)
ถังทอง เป็นแคคตัสที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ชื่อค่อนข้างยาวอย่าง เอ็คชิโนแคคตัส กรูซอนนิอาย หรือ โกเด้น บาร์เรล แคคตัส แต่เรามักรู้จักกันอย่างคุ้นเคยในชื่อ “ถังทอง” แคคตัสชื่อมงคลที่นิยมปลูกไว้ประดับบ้าน ตามความเชื่อว่าเป็นแคคตัสเสริมดวงในเรื่องของโชคลาภเงินทอง มีเงินมีทองเป็งถุงเป็นถัง
เจ้าถังทองนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเม็กซิโก ลำต้นแบ่งเป็นสันพูจำนวนมากรอบต้น ผิวลำต้นสีเขียวอ่อน ลักษณะค่อนข้างกลม ส่วนบนสุดตัดเว้าคล้ายปากถัง มีหนามสีขาว หรือสีเหลืองทองขนาดใหญ่อยู่ล้อมปกคลุมรอบลำต้น เป็นแคคตัสที่มีขนาดใหญ่มากเมื่อโตเต็มที่ อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางและสูงได้ถึง 1 เมตรเลยทีเดียว
ถังทองมีดอกสีเหลืองทองออกมาบริเวณยอดของลำต้น ออกดอกได้ครั้งละหลายๆ ดอก จะเริ่มให้ดอกเมื่อมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีขนาดโตเต็มที่ หรือมีขนาดมากกว่า 50 เซนติเมตร เรียกได้ว่าอายุยืน เลี้ยงกันยาวๆ ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ปัจจุบันนักปรับปรุงพันธุ์ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ถังทองจากหนามยาวๆ ให้มีลักษณะหนามที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ Echinocactus grusonii ‘inermis’ (Togenashi kinshachi) หรือถังทองไร้หนาม, Echinocactus grusonii ‘brevispinus’ (Tanshi kinshachi) หรือถังทองหนามสั้น และ Echinocactus grusonii ‘curvispinus’ (Kyoshi kinshachi) หรือถังทองหนามบิด
สำหรับการเลี้ยงและดูแลถังทองทำได้ไม่ยากเลยฮะ จะปลูกในกระถางขนาดใหญ่ หรือจะปลูกลงดินเลยก็ได้ สามารถเลี้ยง ดูแล ให้ปุ๋ย และรดน้ำเหมือนแคคตัสทั่วไป เพียงแต่มีข้อระวังเพิ่มเติมนิดหน่อยหากปลูกกลางแจ้งหรือกลางแดดจัด ผิวอาจไหม้แดดได้ง่าย เพราะผิวของถังทองค่อนข้างบาง แต่หากมีการเทรนแดดโดยค่อยๆ ให้ถังทองปรับตัวกับแสงแดดที่เปลี่ยนไป มีการพรางแสงในช่วงแรกก่อน แล้วจึงค่อยๆ ลดการพรางแสงลง หากหนามยังมีขนาดปกติ ไม่เหี่ยว หรือหดเล็กลงก็ถือว่าโอเคครับ
เล็บเหยี่ยว
(Ferocactus peninsulae)
เฟอโรแคคตัส เพนนินซูล่า (Ferocactus peninsulae) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เฟอโรแคคตัส หรืออีกชื่อคือ “แคคตัสเล็บเหยี่ยว” มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศเม็กซิโกเช่นเดียวกันกับถังทอง เป็นแคคตัสขนาดใหญ่ ลำต้นอวบอ้วนสีเขียว คล้ายถังเบียร์ (Barrel cactus) มีพูรอบต้น พูเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้เรื่อยๆ ตามอายุ
จุดเด่นของเฟอโรแคคตัสคือ “หนาม” ที่มีขนาดใหญ่ หนาแบน โค้งงอปลายงุ้มลงคล้ายเล็บเหยี่ยว นี่แหละฮะที่มาของชื่อเล็บเหยี่ยวสุดเท่ สีของหนามมีหลายสี หลายแบบ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น แดง น้ำตาล เทา ชมพู และขาว เป็นต้น
เฟอโรแคคตัส มีดอกออกจากตุ่มเนินหนามบริเวณยอด กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น มีหลายสีเช่นกัน ได้แก่ แดง เหลือง ส้ม และม่วง นิยมการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ด้วยความที่เล็บเหยี่ยวมีหนามที่ดุดัน แต่สวยงาม จึงนิยมปลูกในกระถางประดับตกแต่งตามอาคารครับ
เมโลแคคตัส
(Melocactus azureus)
เมโลแคคตัส (Melocactus azureus) เรียกสั้นๆ ว่า “เมโล” มาจากภาษากรีกว่า Melos ( Melon ) แปลว่า รูปทรงของต้นที่เป็นทรงกลมแป้นหรือทรงกระบอก เมโลแคคตัสมีผิวสีเขียวเข้ม พบมากที่สุดในบริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะเวสต์อินดีส ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกาและบราซิล เป็นแคคตัสขนาดใหญ่อีกสกุลหนึ่ง สามารถสูงได้ถึง 20 เซนติเมตร บางสายพันธุ์โตได้มากกว่านั้นอีกครับ
เมโลแคคตัสจะมีตุ่มหนามรูปไข่ ตุ่มหนามประกอบไปด้วยหนามข้างที่โค้งงอขนานไปกับนำต้น หนามกลางชี้ตรงพุ่งออกมาจากลำต้น ทั้งหนามข้างและหนามกลางมีขนาดใหญ่และแข็งแรงมาก สีหนามมีหลายสี เช่น สีดำ น้ำตาลออกแดงเข้ม เป็นต้น
ลักษณะพิเศษของเมโลแคคตัสคือ เมื่อโตเต็มฟอร์ม หรืออายุตั้งแต่ 6 – 7 ปี จะมีกลุ่มขนสีขาวหรือสีอื่นๆ อย่างสีแดงอ่อนหรือสีส้ม เป็นวงขนาดใหญ่เกิดขึ้นบริเวณยอดของลำต้น เรียกว่า “เซฟาเลี่ยม” (Cephalium) หรือบางคนเรียก “หมวก” บ่งบอกว่าเมโลแคคตัสพร้อมจะออกดอกแล้ว โดยดอกและผลจะโผล่ออกมาบนยอดของเซฟาเลี่ยมนั่นเอง
นิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ลักษณะเด่นที่น่าจับตาของเมโลแคคตัสนอกจากเซฟาเลี่ยมแล้ว คือรูปแบบการกระจายของหนามที่เป็นระเบียบลงตัวสวยงาม เพื่อนๆ ที่ชื่นชอบแคคตัสหนามโหดๆ เมโลแคคตัสเป็นอีกหนึ่งสกุลที่น่าสะสมครับ
ซีรีอุส จามาคารู
(Cereus Jamacaru)
ซีรีอุส จามาคารู (Cereus Jamacaru) คนไทยมักเรียกสั้นๆว่า “จามาคารู” หรือ “ตอจามาคารู” ที่เรียกตอ เพราะจามาคารูเป็นแคคตัสที่มีลักษณะเป็นลำสูงขึ้นไป สามารถนำมาเป็นตอสำหรับกราฟต์ได้ฮะ จามาคารูมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล เป็นแคคตัสที่สามารถแตกกอขนาดใหญ่ใหญ่ สูงได้ถึง 5 เมตร รอบต้นมีตุ่มหนามกลางและหนามรอบ
มีดอกสีขาวใหญ่ออกด้านข้างของลำต้น ดอกแอบบานตอนกลางคืน มีกลิ่นหอมจางๆ ละมุนๆ และจะหุบในตอนสายของอีกวัน เรียกได้ว่าดอกมาเร็วไปเร็ว เมื่อผสมเกสรแล้วติดฝักจะให้ฝักสีแดงขนาดใหญ่ แต่ไม่ค่อยพบติดฝักในเมืองไทย เพราะน้องแอบบานตอนกลางดึก ขณะนั้นสาวกแคคตัสคงนอนหลับฝันดีไปแล้ว ยกเว้นแต่มีแมลงมาช่วยผสม ก็อาจได้เห็นผลของจาคามารูครับ
จามาคารูเติบโตได้ดีในเมืองไทย นิยมปลูกเพื่อประดับตกแต่ง หรือปลูกภายนอกอาคารหรือกลางแจ้ง เนื่องจากเมื่อโตเต็มที่จามาคารูมีขนาดใหญ่ใช้ได้เลย การขยายพันธุ์ก็สามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดและการตัดชำเลยครับ เพื่อนๆ ที่ชื่นชอบแคคตัสต้นใหญ่ ทรงลำต้นเป็นลำ ได้ฟีลแบบทะเลทราย จามาคารูคือคำตอบครับ
ปราสาทนางฟ้า / คอนโดนางฟ้า
(Cereus peruvianus / Fairytale castle)
แคคตัสปราสาทนางฟ้า หรือคอนโดนางฟ้า เป็นแคคตัสที่สามารถปลูกเลี้ยงได้ทั้ง 2 ขนาด ไม่ว่าจะเป็นขนาดจิ๋วในกระถางแบบตะมุตะมิ หรือจะเลี้ยงให้เติบโตแตกกอออกเป็นรูปร่างคล้ายปราสาทเหมือนในภาพยนต์หรือการ์ตูนเจ้าหญิงเจ้าชายก็ได้ ลำต้นมีรูปร่างทรงกระบอก 5 เหลี่ยม สีเขียวเข้ม แบบด่างก็มีนะครับ มีหนามสีขาวเล็กๆ ขึ้นอยู่ที่รอบลำต้น มักแตกกอขึ้นเป็นกลุ่ม ทำให้ดูคล้ายกับปราสาทหรือป้อมปราการ
ปราสาทนางฟ้านิยมปลูกเลี้ยงประดับตกแต่ง บ้าน ที่อยู่อาศัย ปลูกได้ทั้งในตัวอาคารและกลางแจ้ง เนื่องจากเลี้ยงง่าย ไม่ต้องการน้ำเยอะ ขยายพันธ์ุได้ง่ายๆ โดยการตัดชำหน่อ ปราสาทนางฟ้า ถูกนำเข้ามาปลูกในเมืองไทย โดยสวนกระท่อมลุงจรณ์เป็น ซึ่งแต่ก่อนมีชื่อไทยว่า “ปราสาทนางฟ้า” เรียกกันเพี้ยนไปเพี้ยนมาเป็น “คอนโดนางฟ้า” หาซื้อได้ตามท้องตลาด เดินเข้าร้านแคคตัสร้านไหน จะพบว่ามีวางจำหน่ายเกือบทุกร้านเลย ที่สำคัญราคาค่าตัวก็ยังไม่แพงอีกด้วย เป็นอีกหนึ่งสกุลแคคตัสที่สาวกแคคตัสสายพันธุ์ต้นใหญ่ต้องมีประดับสวนหน้าบ้านครับ
ปัจจุบันมีแคคตัสสายพันธุ์ต้นใหญ่ๆ ที่เป็นลำต้นทรงกลมหรือถังเบียร์ และแคคตัสที่มีลำต้นเป็นทรงกระบอก ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยมากมายหลากหลายชนิด แต่ละต้นล้วนมีเอกลักษณ์และความสวยงามเฉพาะตัว ใครยังไม่มีต้นไหน ไปหามาปลูกกันได้นะครับ