fbpx
สายพันธุ์แคคตัส

3 แคคตัส หน่อเยอะ เลี้ยงง่าย ใครๆ ก็เลี้ยงได้

สำหรับใครที่ชอบความคุ้ม!! ต้องอ่านบทความนี้ เพราะวันนี้สวนหลังบ้านของเราจะรวมแคคตัสสายพันธุ์แห่งความคุ้มที่ออกหน่อดก และยังขยายพันธุ์ง่ายแสนง่าย มาให้เพื่อนๆ ได้ลองปลูกกันครับ จะมีสายพันธุ์อะไรบ้าง? ตามไปดูกันเล้ยยย



“แคคตัสหน่อเยอะ” มีสายพันธุ์อะไรบ้าง?

แคคตัสที่มีหน่อเยอะจะมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ครับ โดยเราจะมาเริ่มจากต้นแรกที่มีหน่อเยอะมากกกกกก จนต้องร้องขอชีวิตกันเลยนั้นก็คือ

แคคตัส ยิมโนคาไลเซียม “แม่ลูกดก”

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Gymnocalycium damsii
ชื่ออื่นๆ : ยิมโนลูกดก, ยิมโนแม่ลูกดก, ยิมโนหน่อดก, ยิมโนหน่อเยอะ, ยิมโนลูกชุบ
พืชในวงศ์ : Cactaceae
ลักษณะ​​ลำต้น : มีลักษณะทรงกลม มีสันพูค่อนข้างเด่นชัด มี 8 พู รูปร่างคล้ายตลับกลมๆ ลำต้นไม่สูงมาก มีตุ่มหนามสีขาวและหนามแทรกแทงออกมาจากตุ่ม หนามสีน้ำตาลปลายแหลม ยาวประมาณ 5 – 8 มิลลิเมตร ใน 1 ตุ่มจะมีหนามออกมาประมาณ 3 – 4 หนาม หนามยาวขนาดปานกลาง 5 เส้นขึ้นตลอดสันพู ปกติจะมีสีเขียวเข้ม และแต่สายพันธุ์นี้มีเป็นแบบด่างด้วย พอเป็นด่างก็มีสีเขียวแซมด้วยสีเหลืองและแดงแทรกเข้ามา ทำให้เพิ่มความมีสีสันและความน่ารักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งราคาที่อาจจะแพงกว่าไม้สีเขียวด้วยนั่นเอง

อย่างที่เราบอกไปแล้วว่าต้นนี้หน่อดกดีจริงๆ โดยหน่อของยิมโนแม่ลูกดก จะเกิดบริเวณส่วนยอดของหนาม ใกล้ๆ บริเวณส่วนยอดรอบๆ ลำต้นครับ

การขยายพันธุ์ของยิมโน “แม่ลูกดก”

ยิมโนแม่ลูกดกสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งเมล็ดและหน่อ แต่ส่วนใหญ่จะใช้หน่อเพราะแตกหน่อเก่งมาก แม้จะแตกหน่ออกมาแล้ว ก็มีหน่อเล็กๆ แตกซ้อนออกจากหน่อนั้นอีก และหน่อหลุดง่าย เผลอเอามือไปโดนก็หลุดออกมาแล้วครับ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตกใจเวลาเปลี่ยนกระถางยังไงหน่อก็หลุดออกมาง่ายแน่นอน

สำหรับหน่อที่หลุด หากนำไปปักลงดินก็สามารถออกรากได้ การขยายพันธุ์ของสายพันธุ์แม่ลูกดกจึงมักนิยมปักหน่อลงปลูกนั่นเอง เพราะรากออกง่าย และโตเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเพาะเมล็ด เราก็ได้ต้นใหม่ตามมาอีกหลายต้นในเวลาที่เร็วขึ้นฮะ

ส่วนบางต้นที่ต้นแม่มีหน่อเยอะมาก เราต้องทำการเด็ดหน่อออกบ้างไม่เช่นนั้นต้นแม่จะโตช้า เพราะโดนหน่อที่เป็นลูกแย่งกินอาหารจากต้นแม่ไปหมดนะครับ

วิธีการเลี้ยงยิมโนแม่ลูกดก

สามารถเลี้ยงได้ด้วยดินแคคตัสทั่วไป เป็นไม้ทนแดด ทนฝน เลี้ยงได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบกลางแจ้ง แต่ด้วยแดดเมืองไทยมีความร้อนแรงเกินไป ถ้าจะให้ผิวออกมาสวย ควรพรางด้วยสแลน เพื่อพรางแสงพระอาทิตย์ให้เบาลง เพราะผิวของลำต้นอาจไหม้ได้ โดยเฉพาะต้นแม่ลูกดกแบบด่าง ที่จะไม่ทนเท่ากับไม้ที่มีสีเขียวทั้งต้นครับ

ส่วนดอกออกยิมโนลูกดก จะแทงออกมาตรงตุ่มหนาม แรกเริ่มจะออกมาเป็นตุ่มดอกค่อนข้างเล็กสีชมพู จากนั้นค่อยขยายใหญ่และส่งก้านชูขึ้นสูงประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร สีของดอกจะมีสีขาวไปจนถึงสีชมพู บานประมาณ 2 – 3 วัน




แคคตัส อิชินอป ดาวล้อมเดือน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Echinopsis calochlora K.Schum.
พืชในวงศ์ : Cactaceae
ลักษณะลำต้น : สำหรับที่มาของชื่อดาวล้อมเดือนนั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วยแต่มาจากลักษณะรูปทรงของลำต้นที่มักจะมีหน่อเล็กๆ งอกออกจากตุ่มหนาม มาล้อมรอบหัวต้นแม่ไว้นั่นเอง และยิ่งต้นแม่มีความอุดมสมบูรณ์มากเท่าไร เขาก็จะสามารถออกหน่อได้มากเยอะขึ้น หากปล่อยไว้นานๆ ไม่เด็ดหน่อออก ก็จะทำให้หน่อทั้งหลายนั้นล้อมบังหัวต้นแม่ได้อย่างแน่นหนา โดยแบ่งออกเป็นพูย่อยตั้งแต่ 10 พูขึ้นไป ลักษณะสันพูจะยกนูนมีความโค้งมนโดยเฉพาะบริเวณส่วนหัวด้านบน ตามแนวสันพูจะมีหนามสีเหลืองอ่อนงอกออกมาตลอดแนว และตรงตุ่มหนามนี้เองที่เป็นตำแหน่งที่งอกของหน่อและดอก

วิธีการเลี้ยงดาวล้อมเดือน

แคคตัสดาวล้อมเดือน จะเลี้ยงค่อนข้างง่าย และมีความอดทนกว่าแคคตัสในสกุล Echonopsis อื่นๆ ชอบแดด แต่ไม่ชอบแฉะ ถ้าแฉะนานก็จะมีอันเป็นไปได้ คือให้รดน้ำเมื่อดินในกระถางแห้ง หากดินปลูกในกระถางยังชื้นแฉะอยู่ก็ควรเว้นช่วงการรดน้ำไปก่อน เพราะยิ่งรดน้ำบ่อยก็จะยิ่งเสี่ยง ทำให้เกิดการเน่าตายได้

นอกจากนี้ควรให้เขาได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้ลำต้นยืดเสียทรง แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับแดดจัดมากเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวลำต้นเกิดการไหม้แดดได้ครับ

สำหรับการออกดอกของแคคตัสสายพันธุ์นี้ออกดอกค่อนข้างยาก มักจะออกดอกให้ชมกันในช่วงหน้าร้อน ลักษณะคือจะมีก้านชูดอกยาว และดอกเป็นสีขาวขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาให้ดอกเป็นสีชมพูอ่อนและเข้มได้แล้ว

การขยายพันธุ์แคคตัสดาวล้อมเดือน

วิธีการขยายพันธุ์โดยส่วนมากนั้นจะนิยมใช้วิธีการชำหน่อ เพราะดาวล้อมเดือนเป็นแคคตัสที่ให้หน่อง่ายมาก การชำหน่อจึงเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการเพิ่มจำนวนแคคตัสสายพันธุ์นี้
หลังจากเด็ดหน่อออกมา ดูว่ารอยแผลตรงตำแหน่งที่เด็ดมาว่าเป็นแผลใหญ่หรือไม่ หากเป็นรอยแผลใหญ่นำหน่อวางทิ้งไว้ และรอให้แผลแห้ง (ประมาณ 3-4 วัน) จึงนำไปชำลงในดินปลูกหรือในดินแคคตัสต่อไป แต่หากไม่มีรอยแผลอะไรก็สามารถปักชำลงดินได้เลยครับ

การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มักไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร ซึ่งการเพาะเมล็ด จะต้องทำการผสมเกสรดอกดาวล้อมเดือนแบบข้ามต้นกันเสียก่อน แล้วรอจนกระทั่งติดฝัก จากนั้นจึงนำเมล็ดที่ได้ไปเพาะต่อไป


แคคตัส โลบิเวีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lobivia sp.
ลักษณะลำต้น : โดยทั่วไปของแคคตัสสายพันธุ์โลบิเวียจะมีลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม แต่บางสายพันธุ์อาจมีผิวเข้มออกสีดำได้ มีสันพูเกือบยี่สิบพู ยกนูนรอบลำต้น และมีหนามแหลมสั้นยื่นออกมาตามแนวสันพู เนื่องจากปลายหนามนั้นไม่ค่อยคมเท่าไรนัก จึงทำให้เราสามารถหยิบจับลำต้นโลบิเวียด้วยมือเปล่าได้โดยไม่รู้สึกเจ็บสักเท่าไร

จุดเด่นอย่างเดียวที่แคคตัสสายพันธุ์โลบิเวียมี ก็คือลักษณะดอกที่มีความสวยงามหลากหลาย คอนเซ้ปของต้นนี้คือ “ต้นอาจไม่สวยแต่ดอกสวยมาก” ถึงแม้ส่วนลำต้นของโลบิเวียแต่ละสายพันธุ์จะค่อนข้างเหมือนกัน แต่ว่าสีดอกของแคคตัสต้นนี้จะมีความแตกต่างกันตามเฉดสี มีตั้งแต่สีขาว ชมพู เหลือง ส้ม แดง เฉดความเข้มอ่อนต่างกัน ไปจนถึงสีผสม อย่างสีเหลืองลายสีแดง สีขาวลายสีชมพูครับ

วิธีการเลี้ยงโลบีเวีย

ต้องรับแดดให้เพียงพอ โดยทั่วไปรูปทรงของโลบิเวียจะเป็นแคคตัสหัวกลมแต่หากได้รับแสงแดดน้อย หรือเลี้ยงในที่ร่มมากเกินไป ก็จะทำให้ลำต้นของค่อยๆ ยืดยาวขึ้นเพื่อหาแสง ดังนั้นหากต้องการเลี้ยงให้มีหัวกลมสวยไม่เสียทรง ควรจะวางกระถางโลบิเวียไว้ในจุดที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวันช่วงเช้า ส่วนการรดน้ำก็ไม่แตกต่างจากแคคตัสสายพันธุ์อื่น คือให้รดน้ำเมื่อดินแห้ง เพราะอย่าลืมว่าแคคตัสไม่ชอบแฉะนะครับ

ทำอย่างไรให้โลบิเวียออกดอก

การออกดอกของโลบิเวียนั้นจะไม่ขึ้นอยู่กับความเล็กใหญ่ของลำต้นเพียงอย่างเดียว แต่จะขึ้นกับอายุของต้น ความสมบูรณ์ของลำต้น และความแข็งแรงของรากเป็นหลัก เพราะโลบิเวียต้นเล็กก็สามารถออกดอกให้ชมได้เช่นกัน ดังนั้นหากใครอยากให้โลบิเวียออกดอก ก็ต้องปลูกเค้าในดินที่มีความโปร่งและมีธาตุอาหารอย่างครบถ้วน

การขยายพันธุ์โลบิเวีย

โลบิเวียเป็นแคคตัสที่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายมากและเป็นที่นิยมโดยการชำหน่อ วิธีจะเหมือนกับดาวล้อมเดือนเลยครับ ส่วนการเพาะเมล็ดก็ไม่เป็นที่นิยมเช่นกัน


นี่ก็เป็นแคคตัส 3 สายพันธุ์ที่เรียกได้ว่ามีหน่อเยอะ และขยายพันธุ์ได้ง่ายจริงๆ เหมาะอย่างมากถ้าเพื่อนๆ กำลังหาแคคตัสที่ผสมพันธุ์ง่ายๆ ได้หน่อเยอะ เพื่อจะนำไปขายต่อ 3 สายพันธุ์นี้ก็ตอบโจทย์แน่นอนครับ หรือถ้าใครอยากจะขยับขยายโรงเรือนของตัวเอง ก็ลองซื้อสายพันธุ์เหล่านี้ไปลองปลูกกันดูได้นะครับ



Related posts
สายพันธุ์แคคตัส

ทำความรู้จัก "โคเปียโป" แคคตัส ชื่อแปลก หายาก

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลกแคคตัสสีหวาน นามเพราะ "พิงค์ไดมอนด์" (Pink Diamond)

สายพันธุ์แคคตัส

แคคตัสนักกล้าม ชื่อน่าเกรงขามแต่ตัวจริงน่ารักนะ

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลก"เฟรเลีย" แคคตัสชื่อแปลก