fbpx
สายพันธุ์แคคตัส

เรนโบว์แคคตัส กระบองเพชรสายรุ้ง ชื่อนี้มีแต่ความน่ารัก

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ Livingpop จะมาแนะนำ แคคตัสที่มีสีสันสวยละมุนตาที่ไม่ต้องออกดอกก็สวยได้ด้วยตัวเอง แคคตัส หรือกระบองเพชรสายพันธุ์นี้มี ชื่อว่า “เรนโบว์” แคคตัส (Rainbow Cactus) เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่เหมาะกับคนที่ชอบแคคตัสที่มีความหวานน่ารักไม่แพ้สายพันธุ์อื่นๆ เรามาทำความรู้จัก เรนโบว์แคคตัส กันให้มากขึ้นกันเลย!!



เรนโบว์แคคตัส

เรนโบว์แคคตัส หรือ แคคตัสสายรุ้ง เป็นกระบองเพชรสายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่า Echinocereus rigidissimus ซึ่งมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันอาทิเช่น Arizona Rainbow หรือ Hedgehog Cactus แต่คนไทยนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า เรนโบว์ แคคตัสสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศเม็กซิโก ซึ่งตอนเล็กๆ มันจะทรงกลมน่ารักน่าเอ็นดู เมื่อเวลาผ่านไปเรนโบว์โตขึ้นจะมีลำต้นเป็นทรงกระบอก และเมื่อโตเต็มที่จะสูงได้ประมาณ 20 เซนติเมตร หรือถ้าบางต้นอาจจะสูงได้มากกว่า 25 เซนติเมตรขึ้นไปก็มีเหมือนกัน ด้วยความสูงของต้นขนาดนี้จึงต้องใช้ไม้มาช่วยพยุงลำต้นเพื่อไม่ให้เอน หรือล้มลงมา

เรนโบว์แคคตัส มีลักษณะเด่นอยู่ที่หนามสีแดง-ชมพูเข้มไล่เฉดสีคล้ายรุ้งในส่วนของยอดของต้น และยังมีหนามแหลมเล็กๆเรียงกันอย่างเป็นระเบียบไปตามลำต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีความน่ารักน่าเอ็นดูเพียงแค่ได้เห็นไม่ว่าใครก็ย่อมต้องสะดุดตาในสีสันและรูปทรง

นอกจากนี้ เรนโบว์แคคตัสยังสามารถให้ดอกที่มีสีสันสวยงาม ดอกเป็นสีชมพูม่วงเข้ม ดอกมีขนาดใหญ่ได้ถึงประมาณ 6 – 10 เซนติเมตร ซึ่งจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึง เดือนกรกฎาคม จึงเรียกได้ว่าเป็นแคคตัสที่มีความสวยทั้งต้น ทั้งดอกเลยก็ว่าได้


เรนโบว์แคคตัสมีอะไรบ้าง?

Rainbow hedgehog cactus (Echinocereus rigidissimus rubispinus) in small pot
  1. Echinocereus rigidissimus ธรรมดาซึ่งจะมีลักษณะเป็นหนามสีชมพูบริเวณส่วนบนของลำต้น เมื่อเจริญเติบโตหนามสีชมพูก็จะค่อย ๆ เคลื่อนลงมาด้านล่างตามแนวของลำต้นและสีจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีซีดจางลงหรือกลายเป็นสีขาวไปในที่สุด
  2. Echinocereus rigidissimus var. rubrispinus จะเป็นเรนโบว์แคคตัสสายพันธุ์เดียวกันกับเรนโบว์แคคตัสในหัวข้อ 1 แต่จะแตกต่างกันเฉพาะส่วนหนาม ที่ var. rubrispinus นั้นจะมีหนามสีชมพูเข้มปกคลุมตลอดทั้งลำต้นไม่ซีดหายไปเหมือนเรนโบว์แคคตัสสายพันธุ์ธรรมดา
  3. Echinocereus pectinatus ที่จะมีลักษณะคล้ายกันกับเรนโบว์แคคตัส ในทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวไปก่อนหน้า เพียงแต่ว่าการเรียงตัวของหนามจะอยู่ชิดกันน้อยกว่าทำให้เผยส่วนที่เป็นสีเขียวของลำต้นได้ชัดเจนมากกว่า
  4. คริสตาต้า (Cristata) หรือเรนโบว์ที่มีรูปทรงที่มีความผิดปกติ จากรูปทรงไม้ลำกลายไปเป็นไม้ที่มีทรงคล้ายกับหงอนไก่ โดยตำแหน่งหนามที่เป็นสีชมพูก็จะอยู่บริเวณด้านบนส่วนกลางของลำต้น และเรนโบว์คริสตาต้านั้นก็เป็นสายพันธุ์ที่พบได้น้อยในธรรมชาติ รวมถึงยังมีความแพร่หลายในการเลี้ยงค่อนข้างน้อยอีกด้วย

การเลี้ยงและดูแล เรนโบว์แคคตัส

การรดน้ำ

เรนโบว์แคคตัสเป็นอีกหนึ่งแคคตัสที่เลี้ยงไม่ง่ายสักเท่าไหร่ เพราะเนื่องจากเป็นแคคตัสที่ค่อนข้างไวต่อความชื้นมาก หากได้รดน้ำมากเกิน หรือว่าดินชื้นเกินอาจจะส่งผลทำให้รากของเรนโบว์เน่าและจะทำให้ตาย ดังนั้นการรดน้ำควรจะรดน้ำ ซึ่งเวลาเรนโบว์แคคตัสเน่าตายนั้นลำต้นจะยังคงสภาพของส่วนขนหนามสวยๆ ไว้เหมือนเดิม ดังนั้นการรดน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

ควรจะสังเกตุวัสดุโรยหน้าดินแห้งโดยการลองใช้ไม้จิ้มฟันหรือไม้เสียบลูกชิ้นจิ้มลงไปในดินแล้วดึงขึ้นมาว่ามีดินติดขึ้นมาด้วยไหม หากมีดินติดปลายไม้แปลว่าดินยังชื้นยังไม่ต้องรดน้ำ แต่หากไม่มีเศษดินติดตามขึ้นมาแปลว่าดินแห้งแล้วให้รดน้ำได้ ซึ่งอยากจะแนะนำว่าควรจะรดน้ำในช่วงตอนเช้าๆ เนื่องจากดินจะโดนแสงแดดทั้งวันจะช่วยทำให้ดินไม่ชื้นจนเกินไปนั่นเอง

วัสดุปลูก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เรนโบว์แคคตัส เป็นไม้ที่อ่อนไหวต่อความชื้นดังนั้นวัสดุปลูกควรจะมีความโปร่งและสามารถระบายน้ำได้ดีไม่เก็บกักความชื้นมากเกินไป ดังนั้นควรจะรองก้นกระถางด้วยวัสดุปลูกจำพวกหินภูเขาไฟ หรือถ่านดำทุบประมาณ 1 ส่วน ในชั้นถัดมาเป็นดินปลูกแคคตัสที่เน้นวัสดุปลูกที่ช่วยระบายน้ำได้ดี เช่น ทรายหยาบ,หินภูเขาไฟ, แกลบดำ เป็นต้น 

โดยวัสดุปลูกที่เป็นหินพวกนี้ควรมีมากกว่าส่วนดินเพื่อไม่ให้ชื้นจนเกินไป และก็อย่าลืมใส่สตาร์เกิลจี และปุ๋ยละลายช้า (ออสโมโค้ท) เข้าไปด้วยนะครับ ส่วนสุดท้ายจะเป็นวัสดุโรยหน้ากระถางโดยถ้าเป็นไปได้แนะนำว่าใช้เป็นดินญี่ปุ่น เนื่องจากจะสามารถสังเกตุได้ง่ายว่าดินยังชื้นอยู่รึเปล่า สุดท้ายนี้สูตรดินเพื่อนๆสามารถปรับเปลี่ยนวัสดุปลูก และสัดส่วนได้ตามการเลี้ยงของเพื่อนๆ ได้เลยนะครับ เพียงคำนึงว่าดินนี้ต้องโปร่งและระบายน้ำได้ดี



แสงแดด

เรนโบว์แคคตัสก็จะไม่แตกต่างจากแคคตัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ต้องการแสงแดดที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ ควรได้รับแสงแดดสัก 6-8 ชั่วโมง หรือยิ่งมากยิ่งดี  ถึงแม้เรนโบว์แคคตัสจะมีหนามปกคลุมทั่วต้นแต่ถ้าเป็นไปได้ควรเลี้ยงในโรงเรือนใส่กรองแสงลงสัก 50% เนื่องจากเรนโบว์บางต้นอาจจะมีหนามที่ห่างแล้วหากโดนแสงแดดตอนกลางวันเข้าไปเต็มๆ อาจจะส่งผลทำให้ไหม้แดดได้ ในทางกลับกันหากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอจะทำให้หนามที่เป็นสีชมพูสวยนั้นจะค่อยๆ สีซีดจนกลายเป็นสีขาว และจะส่งผลทำให้ลำต้นมีรูปร่างเรียว ไม่เป็นทรงกระบอกจนผิดรูปทรงไปเลยก็เป็นไปได้ ดังนั้นควรหาสถานที่ว่างให้เหมาะสมเพื่อที่เราจะได้เห็นการเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง

การขยายพันธุ์

ในการทำจำนวนหรือเพิ่มจำนวนในการเลี้ยงเรนโบว์แคคตัสนั้น หลักๆ 2 แบบ คือ

  1. การเพาะเมล็ด ซึ่งเกิดจากการใช้พู่กันจิ้มไปที่เกสรตัวผู้จากต้นหนึ่ง นำมาป้ายยังเกสรตัวเมียของอีกต้นหลังจากนั้นก็รอให้ติดฝัก พอฝักแก่ได้ที่ก็นำฝักมาล้างและนำไปเพาะเมล็ดเหมือนแคคตัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้เลย
  2. การปาด จะช่วยทำให้เกิดหน่อใหม่ที่แยกออกมาจากต้นเดิม โดยการปาดขั้นตอนจะไม่ยุ่งยากเพียงนำมีดหรือใบมีดที่คมๆ ปาดตรงลำต้นให้ขาดเป็น 2 ท่อน หลังจากนั้นนำส่วนยอดไปพักให้แผลแห้งหลังจากนั้นค่อยนำไปชำรากหากในอนาคตรากมาและต้นโตพอเพื่อนๆ ก็นำมาปาดซ้ำได้อีกด้วย กลับมาที่ส่วนโคนด้านล่างหลังจากปาดก็นำไปหลบแดด ไม่ให้ชื้น และรอเวลาให้มันแตกหน่อออกมา 
    โดยจำนวนหน่อใหม่ที่แตกออกมานั้นเฉลี่ยแล้วอาจจะได้ประมาณ 1 – 3 หน่อ พอหน่อโตได้ที่ก็เด็ดออกมาแล้วนำไปชำราก พอโตได้ที่อีกก็สามารถนำไปปาดอีกได้ การทำแบบนี้วนไปจะช่วยให้เราได้เรนโบว์แคคตัสในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ระยะเวลาแตกหน่อนั้นอาจจะนานและอาจจะต้องระวังตัวต้นเน่าก่อนที่จะได้หน่อกันด้วยนะครับ



สำหรับเพื่อนๆ ที่ชอบต้นที่มีความสวยน่ารักหวานๆ ในตัว และเวลามีดอกก็น่าเอ็นดูไม่แพ้กัน แนะนำให้หามาเลี้ยงกันได้เลย แล้วอย่าลืมติดตามบทความที่มีประโยชน์แบบนี้จากสวนหลังบ้าน LivingPop กันในบทความหน้านะค้าบบบบ

Related posts
สายพันธุ์แคคตัส

ทำความรู้จัก "โคเปียโป" แคคตัส ชื่อแปลก หายาก

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลกแคคตัสสีหวาน นามเพราะ "พิงค์ไดมอนด์" (Pink Diamond)

สายพันธุ์แคคตัส

แคคตัสนักกล้าม ชื่อน่าเกรงขามแต่ตัวจริงน่ารักนะ

สายพันธุ์แคคตัส

ท่องโลก"เฟรเลีย" แคคตัสชื่อแปลก