fbpx
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

“รางน้ำฝน” แบบไหนที่เหมาะกับบ้านเรา?

“รางน้ำฝน” อุปกรณ์เสริมที่บ้านเกือบทุกหลังจะต้องมี ในสมัยก่อนการมีรางน้ำฝนนั้นถือว่าจำเป็นสำหรับกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ ทั้งอุปโภคและบริโภค มีโอ่งเล็กใหญ่วางเรียงตามชายคาจนเป็นภาพชินตาของหลายๆ บ้าน แต่ปัจจุบันเมื่อมีระบบการกรองที่ดี รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้ามา ทำให้หน้าที่ของรางน้ำฝนจึงเปลี่ยนไปควบคุมทิศทางการสาดเทของน้ำฝน ไม่ให้กระเด็นกระดอนจนน่ารำคาญใจ และยังเพิ่มความเรียบร้อยของบ้านให้มากขึ้น

วันนี้ Living Pop เลยถือโอกาสพาทุกคนมาทำความรู้จักกับรางน้ำฝนที่อาจต่างไปจากเมื่อก่อน ว่าแบบไหนที่เหมาะกับบ้านและการใช้งานที่คุณต้องการ เราลองมาดูกันครับ



ที่มา : www.connectforwater.org

วัสดุสำหรับรางน้ำฝน

สังกะสี

แผ่นเหล็กเคลือบสังกะสีที่นิยมนำมาเป็นรางน้ำตั้งแต่อดีต ราคาไม่แพง สามารถติดตั้งได้โดยช่างทั่วไป
(ราคาเมตรละ 3XX บาท / อายุการใช้งาน 5 ปีขึ้นไป)

เหล็กชุบสี

วัสดุรางน้ำอีกประเภทที่เน้นความแข็งแรง โดยทำจากเหล็กผ่านกรรมวิธีกันสนิม และชุบสีให้สวยงาม
(ราคาเมตรละ 3XX บาท / อายุการใช้งาน 5 ปีขึ้นไป)

ไวนิล

โพลิเมอร์สังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีความแข็งแรง ไม่ลามไฟ ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และยังมีกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานต่ำ สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
(ราคาเมตรละ 4XX บาท / อายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป)

ไฟเบอร์กลาส

เส้นใยของแก้วชนิดละเอียดที่ใช้เสริมแรงในพอลิเมอร์หลายประเภท รวมทั้งพลาสติกเรซิน มีความแข็งแรง ทนแรงดึงได้สูง ไม่เป็นสนิมและทนต่อการกัดกร่อน
(ราคาเมตรละ 8XX บาท / อายุการใช้งาน 20 ปีขึ้นไป)

สแตนเลส

โลหะที่สามารถพับขึ้นรูปได้เช่นเดียวกับสังกะสี แต่มีความแข็งแรงมากและทนทานมากกว่า และที่สำคัญไม่เป็นสนิม
(ราคาเมตรละ 1,XXX บาท / อายุการใช้งาน 20 ปีขึ้นไป)


ประเภทสำหรับรางน้ำฝน

รางน้ำฝนแบบทั่วไป

รางน้ำฝนประเภทนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปและนิยมใช้กันมาก ติดตั้งรอบเชิงชายเพื่อรองรับน้ำฝนที่สาดเทลงมา ซึ่งสังกะสีถือเป็นวัสดุที่หลายบ้านนิยมใช้ เนื่องจากราคาที่ไม่แพงมาก แต่แลกมากับอายุการใช้งานก็สั้นตามไปด้วย จึงเกิดมีตัวเลือกอื่นๆ เพิ่มขึ้น อย่างไวนิล สแตนเลส ไปจนถึงไฟเบอร์กลาส ที่ถูกพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์สำเร็จรูปที่สามารถติดตั้งได้ง่ายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ที่มา : www.ebenezerroofingva.com

สำหรับบ้านที่ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามมากขึ้น สามารถเลือกใช้วิธีซ่อนรางน้ำฝนอยู่หลังเชิงชายก็ช่วยได้

การเลือกใช้ตามขนาดที่เหมาะสมในการรับน้ำ

  • รางน้ำฝนขนาดความกว้าง 4 นิ้ว ใช้กับหลังคาที่มีความยาวไม่เกิน 5 เมตร
  • รางน้ำฝนขนาดความกว้าง 5 นิ้ว ใช้กับหลังคาที่มีความยาวไม่เกิน 5-15 เมตร
  • รางน้ำฝนขนาดความกว้าง 6 นิ้ว ใช้กับหลังคาที่มีความยาวมากกว่า 15 เมตร

รางน้ำฝนควรมีรูปร่างของรางน้ำเป็นรูป ป.ปลา ด้านหลังสั้นกว่าด้านหน้า เพราะถ้าตื้นเกินไปจะเกิดน้ำล้นไหลย้อนเข้าเชิงชายและฝ้าเพดานได้

ที่มา : www.pinterest.com

ปัจจุบันหลายบ้านนิยมใช้โซ่แทนท่อระบายน้ำที่เชื่อมจากรางด้านบนมายังพื้น หรือในกรณีที่ไม่ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ เพื่อความสวยงามและป้องกันการชำรุดจากเดินชน ลมพัด และคราบสนิมต่างๆ รองรับด้านล่างด้วยหินกรวดเพื่อลดการกระเด็นของน้ำและลดเสียงดังมากเกินไป หรือจะซ่อนรางระบายน้ำไว้ก็ช่วยลดการล้นเอ่อได้


รางน้ำฝนแบบสั่งทำพิเศษ

บางครั้งรางน้ำฝนแบบสำเร็จรูปทั่วไปอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบ้านบางหลังได้ โดยเฉพาะบ้านที่มีการต่อเติมทีหลังกับขนาดที่ไม่มาตรฐาน อย่างรางน้ำฝนเพื่อรองรับน้ำร่องระหว่างหลังคา 2 ฝั่งที่ใช้ร่วมกันได้ สามารถสั่งทำพิเศษด้วยแผ่นสังกะสีหรือสแตนเลสพับขึ้นรูปเพื่อรองรับพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม

ที่มา : www.pinterest.com

รางน้ำฝนแบบซ่อนในหลังคา

สำหรับบ้านหรืออาคารที่มีหลังคาขนาดใหญ่ มักเลือกใช้รางน้ำฝนแบบซ่อนเพื่อลดแรงเทจากความลาดชันของหลังคาลง โดยใช้วิธีแบ่งหลังคาออกเป็น 2 ช่วง กั้นด้วยรางน้ำฝนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งควรวางแผนก่อสร้างพร้อมกับงานโครงสร้างเพื่อความแข็งแรงและป้องกันการรั่วซึมภายหลัง

ที่มา : www.yellowpages.co.th

หรือถ้าหลังคานั้นจำเป็นต้องต่อเติมรางน้ำฝนแบบซ่อนทีหลัง นอกจากโครงสร้างรางคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว อาจซ้อนด้านบนรางด้วยแผ่นสังกะสีหรือสแตนเลสพับขึ้นรูปอีกชั้น รวมถึงการทาน้ำยากันซึมก็ช่วยให้มั่นใจมากกว่าเดิมได้

ที่มา : www.pinterest.com

ผ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงรู้จักกับรางน้ำฝนมากขึ้น ซึ่งนอกจากรางแบบสังกะสีที่เห็นกันทั่วไปตามชายคาแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเภท หลายวัสดุ ที่สามารถเลือกไปใช้ให้เหมาะกับบ้าน อาคาร และที่อยู่อาศัย คราวหน้าเราจะมีเรื่องอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามที่เว็บไซต์ www.livingpop.com และเพจ Living Pop ไว้นะครับ ^^

Related posts
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

พาไปดูเทคโนโลยีล่าสุด “AIS Fibre Home Network Solution” เดินสายไฟเบอร์โปร่งใสทั้งหลัง เน็ตแรง 1Gbps เท่ากันทั้งบ้าน

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

12 ข้อที่ต้องรู้ก่อนจ้างบริษัท Built-in ตกแต่งห้อง!!!

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

7 เทคนิค Life Hack เปลี่ยนห้องขนาดจำกัด ให้จัดพื้นที่ได้เยอะขึ้น

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

สร้างบ้านแบบล้ำๆ ด้วยเทคโนโลยี 3D-PRINTED อยู่ได้จริงไม่จกตา!