fbpx
รถไฟฟ้า-คมนาคม

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลยังไม่เริ่มสร้างจริง! แค่ฝากทางด่วนปักเสาเข็มให้ก่อน…

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะเริ่มสร้างจริงๆ แล้วใช่ไหม? แนวรถไฟฟ้าซ้อนทับทางด่วนจะสร้างอย่างไร? สรุปว่าช่วงที่ผ่าน ม.เกษตร จะสร้างแบบไหน? วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล” และ “ทางด่วนขั้นที่ 3” กันครับ เผื่อใครที่กำลังดูบ้าน/คอนโดในย่านนี้ จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ว่าถ้าซื้อตอนนี้แล้วจะได้เริ่มใช้รถไฟฟ้าหรือทางด่วนจริงๆ เมื่อไหร่?

ตามไปดูกันเลยครับ


ก่อนจะไปที่บทสรุปว่าจะสร้างเมื่อไหร่ สร้างอย่างไร? ผมอยากพาทุกคนมาปูพื้นเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันก่อนครับ โดยจะขอเริ่มจาก “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล” ก่อนเลย ว่ามีรูปแบบและแนวเส้นทางเป็นอย่างไรบ้างครับ ^^

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เป็นรถไฟฟ้าสายน้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งปรากฎใน Masterplan โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองครับ โดยออกแบบเป็นรถไฟฟ้าระบบ “โมโนเรล” เหมือนกับสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งถือเป็นระบบคมนาคมสายรอง ที่เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่นอกเมืองเข้ากับรถไฟฟ้าสายหลักๆ ที่จะวิ่งเข้าสู่ใจกลางเมืองอีกทีครับ

แนวเส้นทางเริ่มจาก “แยกแคราย” ซึ่งปัจจุบันมีสถานีกระทรวงสาธารณสุข ของ “MRT สายสีม่วง” ตั้งอยู่ก่อนแล้ว และใกล้ๆ กันก็มีการก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ที่จะเปิดบริการในปีหน้า เมื่อรวมกับสายสีน้ำตาลก็เท่ากับว่าที่แยกแครายนี้จะเป็นชุมทางรถไฟฟ้าถึง 3 สายเลยครับ

จากแยกแคราย แนวเส้นทางจะวิ่งตรงไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านถนนวิภาวดี ม.เกษตรศาสตร์ แล้ววิ่งเข้าสู่ถนนประเสริฐมนูกิจ หรือถนนเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งในส่วนตรงนี้จะเป็นส่วนที่ซ้อนทับกับ “ทางด่วนขั้นที่ 3” ที่เราจะพูดถึงในภาพถัดไปด้วยครับ

พอถึงแยกตัดกับถนนนวมินทร์ แนวรถไฟฟ้าจะเลี้ยวขวาวิ่งไปตามถนนนวมินทร์ แล้วไปสุดที่สถานี “แยกลำสาลี” ซึ่งตอนนี้มีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีส้มกำลังก่อสร้างรออยู่แล้วครับ

รวมระยะทางประมาณ 22.1 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 20 สถานี โดยจะเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสายอื่นๆ ถึง 5 สถานีเลยครับ

ตอนนี้รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลอยู่ในช่วงของการออกแบบรายละเอียดว่าจะปักเสาตรงไหน แนวเส้นทางชัดๆ จะเป็นอย่างไร รวมถึงอยู่ในช่วงของการทำรายงานขออนุมัติ EIA ด้วยครับ


แนวเส้นทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ในยุคเริ่มแรกเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

รู้จักกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลกันแล้ว ขอพามารู้จักกับ “โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ” กันต่อครับ ในภาพจะเป็นแผนที่ที่ผมวาดให้เห็นแนวเส้นทางดั้งเดิมของทางด่วนโครงการนี้ครับ

ไอเดียของการสร้างทางด่วนสายนี้ คือการ “เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างเมืองฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก” ลองนึกภาพตามนะครับ แนวเส้นทางด่วนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวตั้ง วิ่งจากเหนือลงใต้ จุดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นแนวตั้งทั้ง 4 สาย จะไปอยู่รวมกันที่ส่วนกลางๆ ล่างๆ ของเมือง คือทางด่วนบางนา และทางด่วนพญาไท-พระราม 9

ใครที่อยู่ค่อนไปทางด้านบนๆ อาจจะเป็นแถวรามอินทรา นวมินทร์ ถ้าจะไปนนทบุรี หรือข้ามแม่น้ำไปฝั่งบางใหญ่ จะไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากวิ่งไปถามถนนพื้นราบ และติดไฟแดงมากมาย ทั้งที่จริงๆ เราอาจจะไม่ได้อยากเข้าไปกระจุกตัวอยู่ในเมือง เราแค่ต้องการจะข้ามไปอีกฝั่งต่างหาก

ทางด่วนสายนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมเครือข่ายทางตอนเหนือเข้าด้วยกันครับ โดยแนวเส้นทางจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  • ช่วง N1 จะซ้อนทับอยู่บนถนนรัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน ตั้งแต่สามแยกบางใหญ่ (ตรงห้างเซ็นทรัลเวสต์เกต) ยาวมาจนถึงหน้า ม.เกษตรศาสตร์ โดยที่ตรงส่วนปลายที่สามแยกบางใหญ่ มีแผนจะก่อสร้างมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างเมือง ไปถึงนครปฐม-กาญจนบุรี และเชื่อมลงไปสู่ภาคใต้ได้ด้วย
  • ช่วง N2 จะอยู่บนแนวถนนตัดใหม่ (ในยุคนั้น) คือถนนเกษตร-นวมินทร์ หรือถนนประเสริฐมนูกิจในปัจจุบันครับ
  • ช่วง N3 จะเป็นแนวเส้นทางใหม่ จากแยกถนนนวมินทร์ อ้อมโค้งลงมาบรรจบกับถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี (ทางหลวงพิเศษสาย 7) ที่แยกต่างระดับหัวหมาก จุดเริ่มต้นของมอเตอร์เวย์สายนี้ครับ
    1
  • ช่วง East-West Corridor (E-W) เป็นแนวเส้นทางช่วงสั้นๆ ที่เชื่อมเข้ากับถนนกาญจนาภิเษกวงแหวนตะวันออก (ทางหลวงพิเศษสาย 9)
    ทางด่วนสายนี้ไม่ได้เพิ่งจะโผล่มาช่วงไม่กี่ปีนี้นะครับ แต่มีการวางแนวเส้นทางมากว่า 20 ปีแล้ว (มาพร้อมๆ กับการสร้างถนนเกษตร-นวมินทร์นั่นแหละ) ในรูปถัดไปผมจะมาไล่เรียง Timeline คร่าวๆ ให้ดูกันครับ

เรามาดู TIMELINE แบบคร่าวๆ กันดีกว่าครับ ว่าทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร โดยผมสรุป List ของแหล่งอ้างอิงมาให้ด้านล่างสุดของบทความนี้นะครับ (เยอะมาก สืบค้นกันให้ตาแตก 555)

สรุปแบบคร่าวๆ ก็คือ แผนเดิมนั้นจะสร้างแค่ทางด่วนอย่างเดียว แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจโครงการจึงถูกพักไว้ชั่วคราว หลังจากนั้นกว่าสิบปี โครงการถูกนำมาสานต่อ แล้วก็ถูกคัดค้านจาก ม.เกษตรศาสตร์ ด้วยเหตุผลต่างๆ และมีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการให้ “สร้างรถไฟฟ้าดีกว่า พอกันทีกับการสร้างทางด่วนมาสนับสนุนส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์”

หลังจากนั้นก็มีการ “เปลี่ยนรูปแบบโครงการไปเลย” จากทางด่วนสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จนกระทั่งถึงยุค 2559 ที่มีการหยิบมาพิจารณากันใหม่ตามเหตุผลและความจำเป็น เพราะทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า ก็มีจุดมุ่งหมายในการใช้งานที่แตกต่างกัน เพราะเราไม่สามารถขนสินค้าทุกอย่างผ่านขบวนรถไฟฟ้าได้ จึงมีการศึกษาว่า “ถ้าสร้างทั้งสองอย่างเลยล่ะ จะเป็นไปได้ไหม?”

จากนั้นในปี 2561 จึงมีการสรุปผลการศึกษาออกมาว่าสามารถสร้างได้ทั้ง 2 ระบบ โดยมีส่วนที่ซ้อนทับกันในบางช่วง และแนวเส้นทางของทางด่วนก็มีการปรับเส้นทางใหม่ เพื่อเลี่ยงด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีการวางแนวเส้นทางทดแทนช่วง N1 เนื่องจากพื้นที่ถนนส่วนใหญ่ถูกนำไปสร้างเป็นรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้วนั่นเองครับ


จากผลการศึกษาล่าสุด แนวเส้นทางของทางด่วนขั้นที่ 3 จึงถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นดังภาพนี้แทนครับ

จะเห็นว่าช่วง N1 เดิม ถูกยกเลิกหายไป เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะที่จะสร้างทางด่วน (ติดโครงสร้างทางวิ่งและสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงบนถนนรัตนาธิเบศร์) และติดปัญหาการผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีการปรับแนวเส้นทางอ้อมไปทางด้านหลัง ผ่านคลองบางบัว แล้วหักเลี้ยวตีคู่ขนานกับทางด่วนโทลล์เวย์มาจนถึงแยกต่างระดับรัชวิภา และเชื่อมต่อกับ “โครงการทางเชื่อม​ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกกับโทลล์เวย์” ที่การทางพิเศษฯ ได้ออกแบบไว้แล้ว (แต่ไม่มีเอกชนสนใจจะมาร่วมประมูล เพราะระยะทางสั้นมากกลัวจะไม่คุ้ม)

ทำให้แนวเส้นทางทดแทนเส้นนี้ สามารถเชื่อมไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้ตามจุดประสงค์เดิม แต่เปลี่ยนมาเชื่อมผ่านทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกแทน นอกจากนี้ยังมีการตัดช่วง N3 ทิ้งไป เนื่องจากพื้นที่มีการพัฒนาไปมาก ไม่คุ้มค่าเวนคืน คงเหลือเพียงการเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนตะวันออก (ทางหลวงพิเศษสาย 9) ตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจที่สร้างเอาไว้แล้วครับ

สรุปว่าแนวเส้นทางใหม่ก็ยังเชื่อมต่อตะวันออก-ตะวันตกได้เหมือนเดิมนะ แต่อาจจะคดเคี้ยวนิดนึง 555


เจาะลึกแนวเส้นทางของทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 และ East-West Corridor

จุดเริ่มต้นของโครงการช่วง N2

จุดเริ่มต้นของช่วง N2 จะอยู่ห่างจากปากอุโมงค์ลอดใต้แยกเกษตรมาทางถนนประเสริฐมนูกิจประมาณ 600 เมตรครับ โดยจะเป็นทางขึ้นและทางลงอย่างละ 1 เลน มุ่งหน้าข้ามคลองบางบัวไปบรรจบกับทางด่วนสายหลัก (จะเห็นว่าแนวของทางด่วนจะเลี้ยวหักขึ้นไปตามคลอง ซึ่งจะเป็นส่วนของช่วง N1 ที่ยังไม่ก่อสร้างในตอนนี้นะครับ

ทางขึ้นลงนี้จะมี “สถานีคลองบางบัว” ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ซ้อนอยู่ด้านบนด้วยครับ

ทางด่วนสายนี้ถ้าเราวิ่งจากในเมืองออกมาจะ “ไม่มีทางขึ้นระหว่างทาง” เลยครับเรียกว่าต้องตัดสินใจตั้งแต่แยกเกษตรแล้วล่ะ ว่าจะขึ้นทางด่วนหรือไม่ขึ้น โหดไหมล่ะ 555

พอวิ่งมาเรื่อยๆ จนถึงทางแยกที่ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม (ถนนเลียบด่วน) ตรงนี้จะมีการยกเครื่องปรับปรุงทางแยกใหม่หมดเลยครับ โดยจะยกเลิกไฟเขียวไฟแดงของเดิมทั้งหมด แล้วทำเป็นทางแยกต่างระดับ ซึ่งจะเป็นทางแยกต่างระดับ 2 ระบบซ้อนกัน ชั้นล่างจะเป็นแยกต่างระดับของถนนประเสริฐมนูกิจและประดิษฐ์มนูธรรม (ถนนฟรี) และชั้นบนจะเป็นทางแยกต่างระดับของทางด่วนขั้นที่ 3 และทางด่วนฉลองรัช สามารถเลี้ยวไปได้ทุกทิศทางเลยครับ จะมีด่านเก็บเงินอยู่ตรงนี้ด้วยฮะ

หลังจากผ่านทางแยกเลียบด่วนมา จะมีทางลงอยู่ 1 จุดอยู่ตรงถนนรัชดา-รามอินทราครับ คนที่ขึ้นทางด่วนมาจากในเมืองสามารถลงตรงนี้ได้ โดยทางลงจะข้ามถนนนวลจันทร์ไปเลยครับ

หลังจากนั้นจะมีทางลงอีกจุดหนึ่งที่ปลายทางที่เชื่อมกับถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก) โดยสามารถเลือกได้ว่าจะลง “ทางคู่ขนานวงแหวน” หรือจะลง “ด้านในถนนวงแหวน” ก็ได้

ส่วนขาเข้าเมือง ถ้าไม่นับทางแยกต่างระดับที่สามารถเข้าทางด่วนสายนี้จากทางด่วนฉลองรัชเดิมได้ ก็จะมีทางขึ้นอยู่แค่ 2 จุด คือ ขึ้นมาจากด้านในถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก และทางขึ้นสำหรับคนที่มาจากถนนเลียบวงแหวนครับ โดยจะต้องเลี้ยวเข้ามาที่ถนนประเสริฐมนูกิจประมาณ 1 กิโลเมตร ตามภาพด้านล่าง

คนที่ขึ้นทางด่วนตรงนี้เข้าเมือง มี 2 ทางเลือกครับ ทางเลือกแรกก็คือไปลงที่แยกเกษตรเลย หรืออีกทางคือเลี้ยวไปเข้าทางด่วนฉลองรัชแล้วเสียเงินค่าทางด่วน 2 สาย ไม่มีทางลงจุดอื่นอีกแล้วครับ T__T


รู้จักกับโครงการทางด่วนและรถไฟฟ้าไปแล้ว ต่อไปผมขอมาแนะนำคร่าวๆ เกี่ยวกับส่วนประกอบของโครงสร้างทางยกระดับเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกับข่าวกันครับ โดยผมจะพยายามใช้คำที่ง่ายๆ ในการอธิบาย เนื่องจากผมเองก็ไม่ได้จบสายวิศวกรรมมา หากผิดพลาดตรงไหนก็แนะนำกันได้ฮะ

สำหรับโครงสร้างของเสาทางยกระดับ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือทางด่วนนั้น จะแบ่งคร่าวๆ ออกได้เป็น 4 ส่วนครับ เริ่มจาก…

  • เสาเข็ม เป็นเสายาวๆ ที่เจาะลึกลงไปในดินจนถึงชั้นหินหรือทรายลึกหลายสิบเมตร สำหรับกระจายน้ำหนักของโครงสร้างลงสู่ดิน ในเสาทางยกระดับ 1 เสา อาจจะมีเสาเข็มมากกว่า 1 ก็ได้ การก่อสร้างจะมีทั้งแบบที่นำเสาสำเร็จรูปมาตอกลงไปในดิน และแบบที่ขุดหลุมลงไปแล้วกรอกปูนหล่อเสาในหน้างานเลย
  • ฐานราก เป็นคอนกรีตก้อนสี่เหลี่ยมที่เชื่อมระหว่างเสาเข็มกับตัวเสาทางยกระดับ ใช้ถ่ายน้ำหนักจากเสาทางยกระดับลงไปที่เสาเข็มแต่ละต้นด้านล่าง
  • เสาทางยกระดับ เป็นส่วนที่โผล่พ้นดินขึ้นไป ใช้วางคานทางวิ่งด้านบน
  • คานทางวิ่งของถนน-รถไฟฟ้า เป็นส่วนที่วางเชื่อมจากเสาต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง สำหรับให้รถวิ่งได้

ที่เราอยากปูพื้นตรงนี้คร่าวๆ เพราะจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ ไปดูกันต่อเลย!


ภาพตัวอย่างจะเห็นว่าเสาของทางด่วนและรถไฟฟ้าแยกกันต่างหาก

จากพื้นฐานในภาพที่แล้ว เมื่อนำมาเทียบกับสภาพของถนนประเสริฐมนูกิจในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีการก่อสร้าง “เสาเข็มและฐานรากของทางด่วนขั้นที่ 3” เอาไว้แล้ว แต่ยังขาดส่วนของเสาและทางวิ่งของรถยนต์ใช่ไหมครับ

ทีนี้จากการออกแบบเบื้องต้นรอบล่าสุด ส่วนที่มีการซ้อนทับกันของทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะออกแบบให้มีการสร้างเสาทางวิ่งของรถไฟฟ้าขึ้นใหม่ โดยแทรกอยู่ระหว่างเสาทางด่วน ห่างกันประมาณ 20-30 เมตรครับ ซึ่งนั่นหมายความว่าในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนั้น จะต้องมีการทำโครงสร้างเสาทางวิ่งใหม่ทั้งหมด ไม่ได้ใช้ร่วมกับเสาทางด่วนที่มีการสร้างเอาไว้แต่เดิมเลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากตัวเสาเข็มฐานรากของทางด่วนนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับน้ำหนักของทั้ง 2 ระบบเอาไว้แต่แรกครับ แต่หากจะปรับปรุงให้รองรับสามารถทำได้ไหม? ก็ต้องบอกว่าทำได้ฮะ แต่ก็ต้องมีการทุบฐานรากเดิม ปักเสาเข็มเพิ่ม ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างใหม่อยู่ดี

อีกเหตุผลนึงที่ทีมงานวิเคราะห์เอาเอง ก็น่าจะเป็นเรื่องของ “ความรับผิดชอบของหน่วยงาน” ตามสไตล์ไทยๆ ด้วยละครับ ทางด่วนก็เป็นหน้าที่ของการทางพิเศษฯ รถไฟฟ้าเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ คนละหน่วยงานกัน ก็แยกโครงสร้างกันไป มีปัญหาอะไรจะได้ไม่ต้องข้ามเส้นกัน อะไรประมาณนั้น

อีกอย่าง ในส่วนของทางด่วนนั้นมีการออกแบบเสร็จแล้วพร้อมสร้าง แต่ส่วนของรถไฟฟ้านั้นยังออกแบบ ยังทำ EIA กันไม่เสร็จเลยครับ


สรุปก็คือ จากข่าวที่ รฟม. ออกมาล่าสุดว่า “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเริ่มก่อสร้างแล้ว รฟม.อนุมัติงบประมาณ 1,400 ล้านบาท” แท้จริงก็คือ

— การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กำลังจะเริ่มเปิดประมูลและเตรียมการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 และ E-W ทาง รฟม. จึงต้องการจะฝากให้ก่อสร้างเสาเข็มและฐานรากของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ไปพร้อมกับการก่อสร้างทางด่วนเลย เพื่อที่เวลาสายสีน้ำตาลเริ่มลงมือจริงๆ จะได้ไม่ต้องมาปิดถนนกันอีกรอบ และมีโครงสร้างทางด่วนมากีดขวางพื้นที่ก่อสร้างด้วย —

โดยงบประมาณที่ รฟม. นำมาลงทุนในส่วนของงานฐานรากอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังห่างไกลจากมูลค่างานก่อสร้างของ “สายสีน้ำตาล” จริงๆ ที่มีราวๆ 45,000-50,000 ล้านบาทครับ แน่นอนว่าจะต้องเป็นการเปิดประมูลสัมปทานร่วมทุนให้เอกชนมาดำเนินการให้เช่นเดียวกับสายอื่นๆ

แล้วสายสีน้ำตาลจะสร้างจริงๆ เปิดใช้จริงๆ เมื่อไหร่?

ผมสรุปมาให้จากข้อมูลข่าวต่างๆ ว่าล่าสุดนั้นทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้ามีการประมาณการว่าจะสร้างเมื่อไหร่ เสร็จเมื่อไหร่ ก็ตามภาพเลยครับ ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล บอกเลยว่าไม่ใช่เร็วๆ นี้แน่นอนฮะ

อ่านมาถึงตรงนี้ผมหวังว่าเพื่อนๆ จะเข้าใจมากขึ้น และสามารถมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่กำลังมองหาบ้านหรือคอนโดในแถบนี้ จะได้ประมาณการได้ว่าควรจับจองตอนนี้เลยหรือเปล่าครับ


และก็เช่นเคยขอปิดท้ายด้วยช่วงขายของ สำหรับเพื่อนๆ ที่คิดว่าคอนเทนต์ของเรามีประโยชน์และน่าสนใจ ผมขอฝากให้กดติดตามเพจของเรา กด like และแชร์ต่อไปให้เพื่อนของคุณด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า เราจะพาไปรู้จักกับ “รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” กันฮะ สายนั้นก็ใกล้จะเริ่มสร้างแล้วเหมือนกัน กดติดตามไว้แล้วเจอกันใหม่ที่ LivingPop สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค้าบ



แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2