เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม-ต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้รวบรวมข้อมูลและสรุปความคืบหน้าของรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ทั้งที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และอยู่ในแผนอนาคต ลงในเพจ LivingPop บน Facebook ครับ โดยเราได้โพสต์ลงวันละสาย วันละสี ตอนนี้ลงครบทั้ง 14 สายเรียบร้อยแล้ว ก็เลยขอยกทั้งหมดเอามารวมไว้บนเว็บไซต์ เพื่อให้สะดวกกับการอ่านและการสืบค้นข้อมูลกันต่อไปครับ
โดยเราสรุปแยกเป็นสายต่างๆ เรียงลำดับตามปีที่เปิดบริการ ส่วนสายที่ยังไม่เปิดบริการ เราจะเรียงตามสายที่มีความชัดเจนหรือมีกำหนดการเปิดบริการ และเราจะเรียงแบบเดียวกับในแผนที่รถไฟฟ้าของทาง LivingPop ที่เราทำเอาไว้เป็นมาตรฐาน (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ คลิก!) หรือสั่งซื้อแบบกระดาษได้ทาง SHOPEE โดยคลิกที่ภาพด้านล่างครับ
สารบัญ
สามารถคลิกที่ชื่อสายเพื่อข้ามไปดูข้อมูลสายนั้นๆ ได้ครับ
1. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว (สุขุมวิท)
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
ประเดิมด้วยรถไฟฟ้าสายแรกของ กทม. “BTS สายสุขุมวิท” นั่นเอง สำหรับสายนี้จะมีโครงการส่วนต่อขยายอยู่ 2 ท่อนด้วยกันครับ
— ส่วนต่อขยาย คูคต – ลำลูกกา —
เป็นส่วนต่อขยายระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร มีสถานีเพิ่มจากเดิม 4 สถานี คือ สถานีคลองสาม (N25) สถานีคลองสี่ (N26) สถานีคลองห้า (N27) และสถานีวงแหวนลำลูกกา (N28)
ความคืบหน้า:
โครงการมีการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำ EIA เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2556 แต่ปัจจุบันทาง รฟม. ยังไม่มีกำหนดการเริ่มก่อสร้าง
— ส่วนต่อขยาย สมุทรปราการ – บางปู —
เป็นส่วนต่อขยายระยะทางประมาณ 9.2 กิโลเมตร มีสถานีเพิ่มจากเดิม 5 สถานี คือ สถานีสวางคนิวาส (E24) สถานีเมืองโบราณ (E25) สถานีศรีจันทร์ประดิษฐ์ (E26) สถานีบางปู (E27) และตำหรุ (E28)
ความคืบหน้า:
โครงการมีการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำ EIA เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2556 แต่ปัจจุบันทาง รฟม. ยังไม่มีกำหนดการเริ่มก่อสร้างเช่นเดียวกัน
กลับไปที่สารบัญ
2. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว (สีลม)
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
มาต่อกันครับกับรถไฟฟ้าสายหลักอีกสายนั่นก็คือ #รถไฟฟ้าสายสีเขียว (สีลม) ครับ สำหรับสายนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ 5 ธันวาคม 2542 เช่นเดียวกันกับสายสุขุมวิทครับ
สำหรับสายนี้ก็จะมีแผนสร้างส่วนต่อขยายทั้ง 2 ปลายเช่นเดียวกัน
— ส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน —
เป็นส่วนต่อขยายระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร โดยหากอ้างอิงจากผลการศึกษาของ กทม. จะมีสถานีเพิ่มจากเดิม 6 สถานี คือ สถานีบางแวก (S13) สถานีบางเชือกหนัง (S14) สถานีบางพรม (S15) สถานีอินทราวาส (S16) สถานีบรมราชชนนี (S17) และสถานีตลิ่งชัน (S18) ครับ
ความคืบหน้า:
โครงการมีการศึกษาเบื้องต้นไว้เมื่อปี 2558 แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ ล่าสุดกรุงเทพมหานครจะเสนอของบประมาณปี 2568 มาดำเนินการต่อ รวมถึงหารือกับกรมทางหลวงชนบทเพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้าง
— ส่วนต่อขยาย สนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส —
เป็นส่วนต่อขยายระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มีสถานีเพิ่มจากเดิม 1 สถานี คือ สถานียศเส (W2) เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
ความคืบหน้า:
ยังเป็นแค่เส้นทางในแผนแม่บท รอดำเนินการเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยายมาถึงหัวลำโพง
— ส่วนต่อขยาย ตลิ่งชัน-รัตนาธิเบศร์ —
เป็นส่วนต่อขยายระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ถ้าอิงจากแผนผัง M-MAP 2 จะมีสถานีเพิ่มจากเดิม 7 สถานีต่อออกไปจากสถานีตลิ่งชัน คือ สถานีบางกรวย (S19) สถานีพระราม 5 (S20) สถานีบางกรวย-ไทรน้อย (S21) สถานีเตรียมพัฒน์ (S22) สถานีอ้อมนนท์ (S23) สถานีบางรักน้อย (S24) และสถานีบางรักน้อยท่าอิฐ (S25)
ความคืบหน้า:
เป็นแนวเส้นทางใหม่ที่เพิ่งถูกบรรจุในแผนแม่บทระบบรางฉบับที่ 2 (M-MAP 2) ซึ่งอยู่ระหว่างรอสรุปและนำเสนอ ครม. ซึ่งยังไม่ได้มีการระบุหน่วยงานเจ้าภาพ
กลับไปที่สารบัญ
3. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
สำหรับ #รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะมีส่วนต่อขยาย 1 โครงการ คือส่วนต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ครับ ส่วนต่อขยายนี้จะมีสถานีที่สร้างเพิ่ม 4 สถานี คือ
- สถานีพุทธมณฑล สาย 2 (BL39) – อยู่ตรงซอยเพชรเกษม 98 หน้าบิ๊กซี (+เมเจอร์+แมคโคร) ห่างจากแยกสาย 2 ประมาณ 1.3 กิโล
- สถานีทวีวัฒนา (BL40) – อยู่ตรงซอยเพชรเกษม 73 หน้าบิ๊กซีเพชรเกษม 2 (คาร์ฟูร์เก่า) ห่างจากแยกสาย 3 ประมาณ 350 เมตร
- สถานีพุทธมณฑล สาย 3 (BL41) – อยู่ตรงซอยเพชรเกษม 79 หน้าสำนักงานเขตหนองแขม ห่างจากแยกสาย 3 ประมาณ 1.6 กิโล
- สถานีพุทธมณฑล สาย 4 (BL42) – อยู่ติดกับแยกสาครเกษม (พุทธมณฑลสาย 4 ตัดกับถนนเพชรเกษมและพุทธสาคร)
ความคืบหน้า:
หลังจากที่มีการศึกษาแนวเส้นทางเบื้องต้น ตำแหน่งสถานี และจัดทำรายงาน EIA ผ่านเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2562 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรครับ 😢
กลับไปที่สารบัญ
4. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
มาดูความคืบหน้า (ที่ไม่คืบหน้า) ของ #รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) กันบ้างครับ
โดยที่มาที่ไปของโครงการนี้สั้นๆ คือ รัฐบาลสมัย คสช. เมื่อปี 2560 ต้องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงมีแนวคิดจะพัฒนารถไฟฟ้า ARL เดิม ที่วิ่งจากพญาไปไปสนามบินสุวรรณภูมิ และเคยมีการศึกษาขยายจากพญาไทไปจนถึงสนามบินดอนเมือง ให้ขยายออกมาทางภาคตะวันออก ผ่านเมืองเศรษฐกิจภาคตะวันออกไม่ว่าจะเป็นฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จึงออกมาเป็นโครงการ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”
โดยโครงการจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่เป็น Airport Link เดิม จะโอนสิทธิ์ไปให้เอกชนบริหาร
- ส่วนต่อขยายจาก Airport Link พญาไท-สนามบินดอนเมือง
- ส่วนต่อขยาย สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
- สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ในย่านสถานีมักกะสันและศรีราชา
โครงการนี้มีการประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนในปี 2561 และมีการเซ็นสัญญากับกลุ่มบริษัท CP เมื่อปี 2562 และตั้งบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด มาบริหารโครงการ โดยตอนนั้นคาดว่าจะเปิดให้บริการส่วนสุวรรณภูมิ-พัทยา-อู่ตะเภาในปี 2566 และเปิดช่วงพญาไท-ดอนเมืองในปี 2568
แต่ด้วยบรรดาสารพัดเหตุผล (และข้ออ้าง) ต่างๆ นานา ทำให้ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปี 2567 ก็ยังไม่มีอะไรคีบหน้ามากนักอย่างที่หลายๆ คนอาจจะเห็นตามข่าวเป็นระยะๆ เช่น
🚩 ขอต่อรองการจ่ายค่าโอนสิทธิ์ Airport Link จากการจ่ายเงินก้อน 10,671 ล้านบาท เป็นการผ่อนจ่าย
🚩 ถ้าการรถไฟส่งมอบพื้นที่ดินไม่ครบ 100% จะยังไม่เริ่มสร้าง
🚩 โยนกันไปมาว่าใครจะเป็นคนสร้างทางช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน
🚩 ขอให้รัฐช่วยจ่ายคืนค่าก่อสร้างให้เร็วขึ้น จากเดิมก่อสร้างให้เสร็จในปีที่ 6 และรัฐจ่ายค่าก่อสร้างในปีที่ 10 เป็น รัฐจ่ายตั้งแต่เดือนที่ 21 เป็นต้นไป ในรูปแบบก่อสร้างไป จ่ายไป
🚩 บัตรส่งเสริมการลงทุน BOI หมดอายุ
🚩 โควิดมันทำร้าย
ความคืบหน้า:
ซึ่งในเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ หลายข้อก็จะต้องมีการแก้ไขสัญญาที่เซ็นกันไว้เมื่อปี 2562 ซึ่งเรื่องการ “แก้ไขสัญญา” นี่เอง ที่มีความล่าช้ายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครที่ใจกล้ามาฟันธงได้ว่าจะแก้ หรือจะเลิก ทำให้ #ความคืบหน้า: ณ วันนี้ก็คือความเงียบงัน และปล่อยให้ ARL มีสภาพแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะเคลียร์สัญญากันลงตัวครับ
UPDATED: ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ทางคณะกรรมการ EEC ออกมาให้ข่าวว่าถ้า CP ไม่เริ่มสร้างก็จะยกเลิกสัญญาละครับ ไม่รู้ว่าแค่ขู่หรือเอาจริง ต้องติดตามกันต่อไปครับ
กลับไปที่สารบัญ
5. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีม่วง
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
สำหรับ #รถไฟฟ้าสายสีม่วง สายนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนเหนือตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่ (PP01) จนถึงสถานีเตาปูน (PP16) ซึ่งได้ก่อสร้างและเปิดบริการไปแล้วตั้งแต่ปี 2559 และส่วนใต้ตั้งแต่สถานีรัฐสภา (PP17) ถึงสถานีครุใน (PP33) ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างอยู่ครับ
ความคืบหน้า:
ความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธา ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 ภาพรวมอยู่ที่ 26.26% คาดว่าจะเปิดบริการในปี 2571 ครับ
ถ้าแยกเป็นรายสถานี จะมีความคืบหน้าดังนี้
PP17 | สถานีรัฐสภา – 33.64%
PP18 | สถานีศรีย่าน – 29.74%
PP19 | สถานีวชิรพยาบาล – 35.61%
PP20 | สถานีหอสมุดแห่งชาติ – 28.27%
PP21 | สถานีบางขุนพรหม – 27.55%
PP22 | สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – 25.55%
PP23 | สถานีสามยอด – 12.59%
PP24 | สถานีสะพานพุทธฯ – 29.35%
PP25 | สถานีวงเวียนใหญ่ – 22.40%
PP26 | สถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า – 25.17%
PP27 | สถานีดาวคะนอง – 0.22%
PP28 | สถานีบางปะแก้ว – 0.22%
PP29 | สถานีบางปะกอก – 0.42%
PP30 | สถานีแยกประชาอุทิศ – 0.68%
PP31 | สถานีราษฎร์บูรณะ – 0.50%
PP32 | สถานีพระประแดง – 0.67%
PP33 | สถานีครุใน – 0.75%
อาคารจอดแล้วจร บางปะกอก 1 – 0.00%
อาคารจอดแล้วจร บางปะกอก 2 – 0.00%
อาคารจอดแล้วจร ราษฎร์บูรณะ 1 – 0.00%
อาคารจอดแล้วจร ราษฎร์บูรณะ 2 – 0.00%
อาคารจอดรถไฟฟ้า – 0.00%
กลับไปที่สารบัญ
6. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีทอง
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
มาอัปเดตกับส่วนต่อขยายสั้นๆ ระยะทางไม่ถึง 1 กิโลกันครับ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเนี่ย ตามที่มีการออกแบบเส้นทางและทำรายงาน EIA เอาไว้ จะมีสถานีทั้งหมด 4 สถานี คือสถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) สถานีคลองสาน (G3) และสถานีประชาธิปก (G4)
แต่เนื่องจากสายนี้เป็นการก่อสร้างจากเงินสนับสนุนของเอกชนเจ้าของห้าง ICONSIAM และทางเอกชนสนับสนุนแค่ค่าก่อสร้างในส่วนของ 3 สถานีแรก ทาง กทม. ก็เลยสร้างแค่ส่วนของ 3 สถานีแรกนั้นก่อน ส่วนติ่งที่เหลืออีกประมาณ 900 เมตร ก็พักเอาไว้เป็นโครงการระยะที่ 2 รอการขยายต่อไปครับ
ซึ่งเงื่อนไขที่จะเอามาพิจารณาว่าจะต่อเส้นทางให้ครบเมื่อไหร่ ก็คือ “ปริมาณผู้โดยสาร” ซึ่งปรากฎว่ารถไฟฟ้าสายสีทองมีปริมาณผู้โดยสารที่น้อยกว่าที่ประมาณการเอาไว้มาก ก่อนหน้านี้ข่าวจะออกประมาณว่า รอให้สายสีม่วงใต้เปิดก่อนบ้าง หรือ รอให้ ICONSIAM สนับสนุนงบเพิ่มเติมบ้าง แต่รวมๆ ก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรครับ
นอกจากนี้ในช่วงปลายปีที่แล้ว ยังมีข่าวว่าทาง กทม. มีแนวคิดจะโอนสายนี้ไปให้ รฟม. ดูแลด้วย ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ สามารถอ่านข่าวได้ที่ลิงค์อ้างอิงด้านล่างครับ
ความคืบหน้า:
ทาง กทม. ยังไม่มีแผนจะก่อสร้างเร็วๆ นี้ เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นที่น่าพอใจ
กลับไปที่สารบัญ
7. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดง
เดินทางมาถึงสายที่ 7 กันแล้วครับกับซีรีส์อัปเดตความคืบหน้ารถไฟฟ้าแต่ละสายใน กทม. ซึ่งเราจะมาดูรถไฟฟ้าที่ควรจะเป็นเส้นทางสายสำคัญของเมือง ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือเป็นเส้นทางสายด่วนที่จะนำผู้โดยสารย่านชานเมืองเข้ามาทำงาน-เรียน-ติดต่อธุรกิจในใจกลางเมือง “รถไฟฟ้าสายสีแดง” นั่นเองครับ
สำหรับสายสีแดง อย่างที่บอกไปว่าตามแผนถูกวางไว้ให้เป็นรถไฟฟ้าชานเมืองเส้นทางหลักเลย แต่เส้นทางในปัจจุบันที่เปิดบริการไปนั้น อาจจะยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของชาวชานเมืองสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะชานเมืองฝั่งธน และจังหวัดปริมณฑลในฝั่งตะวันตก เพราะรถไฟฟ้ายังกุดอยู่แค่ตลิ่งชัน
ดังนั้นส่วนต่อขยายของสายสีแดงจึงถูกคาดหวังว่าจะได้สร้างเร็วๆ ซึ่งก็มีความล่าช้ามาตามลำดับครับ จนปัจจุบันก็ถือว่าช้ากว่าแผนมาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยโครงการต่างๆ มีดังนี้ครับ
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
ส่วนขยายฝั่งตะวันตก 🔴 ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และ 🔴 ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา รวมถึงการสร้างสถานีเพิ่มที่ “บางกรวย-กฟผ.“ และ ”สะพานพระราม 6“
จริงๆ เส้นทางในส่วนนี้มีการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ผ่านแล้วตั้งแต่ปี 2561 ครับ รวมถึงมีการออกแบบรายละเอียดต่างๆ พร้อมเปิดประมูลแล้วตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่ถูกรัฐมนตรีคมนาคมในยุคนั้นสั่งให้กลับไปศึกษารูปแบบการลงทุนใหม่ จากเดิมที่เป็นโครงการของรัฐโดยการรถไฟสร้างและบริหารงานโดยบริษัทลูก SRTET (แบบสายสีแดงปัจจุบัน) เป็นการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและบริการจัดการทั้งสาย
ก็เลยทำให้เสียเวลาศึกษาไปหลายปี และผลการศึกษาก็ออกมาว่า “ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าที่เอกชนจะมาลงทุน รัฐต้องสร้างทั้งหมดและซื้อรถให้ เอกชนมารับสัมปทานเดินรถเฉยๆ ถึงจะคุ้ม” โครงการก็เลยเดินต่อในรูปแบบเดิม คือรัฐเปิดประมูลหาผู้รับเหมามาก่อสร้างเส้นทางครับ
ปัจจุบันการรถไฟฯ ได้มีการเสนอโครงการให้ ครม. อนุมัติเปิดประมูลก่อสร้างแล้ว แต่ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ สั่งให้กลับไปทบทวนโครงการให้ขยายระยะทางออกไปอีก โดยส่วนขยายฝั่งตะวันตก รมช.สุรพงษ์ให้ความเห็นว่าควรขยายไปให้ถึงนครปฐม
ความคืบหน้า:
การรถไฟฯ นำกลับมาปรับปรุงแผนงานและวงเงินใหม่ จะนำกลับไปเสนอครม. ได้อีกครั้งในช่วงต้นปี 2567
ส่วนขยายฝั่งใต้ 🔴 ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย
ช่วงนี้อันที่จริงเป้นช่วงที่อนาคตอยู่ไกลที่สุดครับ เพราะเพิ่งมีการปรับแนวเส้นทางในร่างแผนแม่บท M-MAP 2 และยังไม่ได้อนุมัติให้เป็นแผนงานจริง โดยสาเหตุที่ปรับแนวเส้นทางเพราะแนวเดิมที่วิ่งบนเส้นทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย มีเส้นทางผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่นและมีปัญหาในเรื่องการเวนคืนมาตลอด
ก็เลยมีการย้ายแนวไปวิ่งใต้ถนนลาดหญ้า อินทรพิทักษ์ เทอดไท และยกระดับเหนือถนนเอกชัยไปจนถึงสมุทรสาครแทน ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญที่น่าจะช่วยให้เส้นทางนี้กลับมาเดินต่อได้หลังจากที่หายไปหลายปีครับ
ความคืบหน้า:
ปรับเส้นทางใหม่บรรจุในแผน M-MAP 2 รอการอนุมัติและมอบหมายหน่วยงานให้ศึกษาออกแบบรายละเอียดต่อไป
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
ส่วนขยายฝั่งใต้ 🔴 ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออก 🔴 ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก
ส่วนนี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า MISSING LINK แปลตรงตัวก็คือ “ส่วนเชื่อมต่อที่ขาดหายไป” ที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีแดงไม่สามารถใช้งานเป็นระบบขนส่งหลักที่พาคนชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกนั่นเองครับ
โดยจะเป็นส่วนขยายที่วิ่งลงมาจากทิศใต้ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มุดลงคลองแห้ง (ทางรถไฟที่อยู่ต่ำกว่าระดับดิน คล้ายคลอง แต่ไม่มีน้ำ) ผ่านสถานีสามเสน สถานีราชวิถี แล้วแยกออกเป็น 2 สาย สายนึงตรงเข้าสู่สถานีหัวลำโพง ส่วนอีกสายเลี้ยวไปตามเส้นทางรถไฟสายตะวันออก เชื่อมต่อกับ BTS และ ARL พญาไท ตรงต่อไปและขึ้นมาเป็นทางรถไฟยกระดับตรงสถานีมักกะสัน แล้วไปสุดโครงการช่วงนี้ที่สถานีหัวหมาก
จากการสืบค้นข่าวล่าสุด สายสีแดงส่วนนี้เดิมมีการออกแบบเสร็จแล้ว แต่มีการปรับปรุงบางส่วนก็เลยยังไม่ผ่าน EIA และยังไม่พร้อมเปิดประมูลก่อสร้าง
ความคืบหน้า:
รอปรับปรุงรูปแบบสถานีราชวิถี เพื่อเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
ส่วนขยายฝั่งเหนือ 🔴 ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เส้นทางในส่วนนี้มีการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ผ่านแล้วตั้งแต่ปี 2555 ครับ รวมถึงมีการออกแบบรายละเอียดต่างๆ พร้อมเปิดประมูลแล้วตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่ถูกรัฐมนตรีคมนาคมในยุคนั้นสั่งให้กลับไปศึกษารูปแบบการลงทุนใหม่เช่นเดียวกับส่วนศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายาที่อธิบายไปในภาพแรก
ก็เลยทำให้เสียเวลาศึกษาไปหลายปี และผลการศึกษาก็ออกมาว่า “ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าที่เอกชนจะมาลงทุน รัฐต้องสร้างทั้งหมดและซื้อรถให้ เอกชนมารับสัมปทานเดินรถเฉยๆ ถึงจะคุ้ม” โครงการก็เลยเดินต่อในรูปแบบเดิม คือรัฐเปิดประมูลหาผู้รับเหมามาก่อสร้างเส้นทางครับ
ปัจจุบันการรถไฟฯ ได้มีการเสนอโครงการให้ ครม. อนุมัติเปิดประมูลก่อสร้างแล้ว แต่ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ สั่งให้กลับไปทบทวนโครงการให้ขยายระยะทางออกไปอีก โดยส่วนขยายฝั่งเหนือนี้ รมช.สุรพงษ์ให้ความเห็นว่าควรขยายไปให้ถึงอยุธยา
ความคืบหน้า:
การรถไฟฯ นำกลับมาปรับปรุงแผนงานและวงเงินใหม่ จะนำกลับไปเสนอครม. ได้อีกครั้งในช่วงต้นปี 2567
กลับไปที่สารบัญ
8. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
มาดูส่วนต่อขยายที่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในชาติภพของเรากันครับ กับ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยายจากแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน”
ย้อนไปตอนที่ สนข. และกรมการขนส่งทางรางได้วางแผนแม่บทระบบรางในกรุงเทพฯ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองถูกออกแบบให้มีจุดเริ่มต้นที่สี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไม่ได้มีเส้นทางต่อขยายออกไปทางรัชโยธินตั้งแต่แรกครับ
แต่พอมีการเปิดประมูลหาเอกชนที่สนใจมาร่วมลงทุน ทางกลุ่มบริษัทที่นำโดย BTS Group ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมให้กับ รฟม. ว่าจะสร้างส่วนต่อขยายระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร ให้ไปเชื่อมกับสายสีเขียวที่แยกรัชโยธินให้ฟรี ทางรัฐไม่ต้องจ่ายเงินให้เพิ่ม
โดยข้อเสนอนี้จะต้องสร้างส่วนต่อขยายก่อนที่สายสีเหลืองส่วนหลักจะเปิดให้บริการ ไม่สามารถมาตัดสินใจทีหลังตอนเปิดไปเป็นสิบๆ ปีแล้วได้ เพราะยิ่งเปิดช้า ก็ยิ่งคืนทุนได้ช้าลง
🚝 การต่อขยายนี้ใครได้ประโยชน์บ้าง?
- BTS Group ได้ผู้โดยสารจากสายสีเหลืองไปเทเข้าระบบของตัวเองที่สายสีเขียว
- ประชาชนผู้เดินทาง ได้ประโยชน์จากการเดินทางที่สะดวก ไม่ต้องเปลี่ยนรถหลายต่อ เนื่องจากสายสีเขียวเป็นรถไฟฟ้าสายหลักที่ผ่านย่านสำคัญๆ มากกว่าสายสีน้ำเงิน
⛔️ แล้วใครล่ะที่เสียประโยชน์
แน่นอนว่าพอมีส่วนต่อขยายแล้ว ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่าผู้โดยสารของสายสีเหลืองคงจะไปเปลี่ยนรถที่แยกรัชโยธินแทน ซึ่งทาง BEM ที่เป็นผู้ให้บริการสายสีน้ำเงินก็รู้สึก “ไม่สบายใจ” ในเรื่องนี้เช่นกัน
BEM อ้างว่าตอนที่มีการทำสัญญาสายสีน้ำเงิน มีการประมาณการตัวเลขจำนวนผู้โดยสาร โดยประเมินจากแผนแม่บทรถไฟฟ้าที่วางไว้ ณ ตอนนั้น ซึ่งสายสีเหลืองมาสุดที่สถานีลาดพร้าวอย่างที่เราบอกไปข้างต้น การต่อขยายออกไปจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้ตามตัวเลขที่ประเมินไว้ จึงมีความเสี่ยงที่จะถือว่าเป็นการไม่เป็นไปตามสัญญา
ทาง BEM ก็เลยมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินความเสียหาย ว่าการต่อขยายนี้จะทำให้สูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่ ตลอดอายุสัมปทานที่มีจนถึงปี 2593 เป็นจำนวนเงิน 2,700 ล้านบาท!
ซึ่งแน่นอนว่าทางฝั่งกลุ่ม BTS ไม่โอเค จึงให้ทาง รฟม. เป็นตัวกลางในการเจรจาให้ เพราะ BTS ก็มองว่าคู่สัญญาของเขาคือ รฟม. ไม่ใช่เอกชนเจ้าอื่น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทาง รฟม. ก็ลอยตัว และบอกให้เอกชนไปตกลงกันเอง และแน่นอนว่าไม่สามารถตกลงกันได้
จนกระทั่งถึงเวลาที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนหลักจะเปิดบริการ ซึ่งเป็น deadline ที่ข้อเสนอส่วนต่อขยายนี้จะสิ้นสุดลง ทาง รฟม. ก็ออกมาให้ข่าวยืนยันว่าไม่มีการสร้างแน่นอนแล้ว ซึ่งผมขอยก quote ของ รฟม. จากข่าวมาไว้ด้านล่างนี้ครับ
“…ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเหลือง จากลาดพร้าว-รัชโยธินนั้นเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชน ไม่ได้อยู่ในแผนแม่บทเดิม หรือ M Map ที่วางโครงข่ายสายสีเหลือง สิ้นสุดปลายทางที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ประชาชนสามารถเดินทางต่อเชื่อมได้ ไม่มีผลกระทบและเป็นโครงข่ายระบบรางตามแผนแม่บทที่มีการศึกษาไว้ครบถ้วน…”
รฟม. – 6 ตุลาคม 2566
จากข้อความนี้ก็สรุปได้ว่า ในมุมของ รฟม. นั้นมองว่าการที่สายสีเหลืองกุดอยู่เท่านี้ “เป็นไปตามแผนที่ดีอยู่แล้ว” และ “ประชาชนก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร” ครับ 🥲
ความคืบหน้า:
ยุติโครงการ
กลับไปที่สารบัญ
9. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
สำหรับสายสีชมพูจะมีส่วนต่อขยายเป็น “เส้นทางแยก” ออกจากสายเดิม ต่างจากสายอื่นๆ ที่จะเป็นการขยายต่อจากปลายทางด้านใดด้านหนึ่งออกไปครับ โดยสายแยกนี้ก็คือสายที่จะวิ่งเข้าไปที่ “เมืองทองธานี” นั่นเอง โดยมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีสถานี 2 สถานี ได้แก่
สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01)
ตั้งอยู่ตรงกลางวงเวียน ใกล้กับ IMPACT CHALLENGER โดยทางอิมแพ็คจะมีการสร้างทางเชื่อมจากตัวสถานี ตัดผ่านหน้าชาเลนเจอร์ มาเชื่อมกับห้าง Portal ด้วย ซึ่งจากตรงนี้ก็สามารถเดินเชื่อมไปได้ทุก Hall เลย
สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02)
ตั้งอยู่บนเกาะกลางถนนซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ใกล้กับสี่แยกทะเลสาบ ด้านหน้าของลานกว้างสำหรับจัดอีเวนต์กลางแจ้ง ซึ่งทางอิมแพ็คเรียกตรงนี้ว่า IMPACT LAKESIDE ครับ สถานีนี้จะเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินลอยฟ้าที่อิมแพ็คสร้างเอาไว้ สามารถเดินต่อไปที่สนามธันเดอร์โดม โรงแรม Novotel/IBIS และฮอลล์ต่างๆ ได้เช่นกัน รวมถึง ม.ศิลปากร และอาคารสำนักงานของตำรวจสอบสวนกลางด้วย
ส่วนต่อขยายตรงนี้ ทางบริษัท Bangkok Land ผู้พัฒนา IMPACT ร่วมออกทุนให้ก่อสร้างด้วยครับ ซึ่งก็ไม่แปลกใจเพราะผู้บริหารกลุ่ม Bangkok Lang กับกลุ่ม BTS Group ก็เป็นเครือญาติกันอยู่แล้ว
ความคืบหน้า:
อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความก้าวหน้ารวมในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 44.56% คาดว่าจะเปิดบริการปี 2568
กลับไปที่สารบัญ
10. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีส้ม
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งสายจะมีระยะทางรวมประมาณ 36 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 29 สถานี โดยในการก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงตะวันออก และช่วงตะวันตกครับ
— ช่วงตะวันออก ตั้งแต่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ (OR13) ถึงสถานีแยกร่มเกล้า (OR29) —
ส่วนนี้ได้มีการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างเฉพาะงานโยธาและระบบราง และได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ปัจจุบันสร้างเสร็จสมบูรณ์เกือบ 100% แล้วครับ
— ช่วงตะวันตก ตั้งแต่สถานีบางขุนนนท์ (OR02) ถึงสถานีศูนย์วัฒนธรรม (OR13) —
สำหรับส่วนนี้นอกจากจะเป็นการหาผู้รับจ้างก่อสร้าง เอกชนที่ได้รับคัดเลือกยังได้สิทธิ์ในการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและบริหารการเดินรถทั้งเส้นทางตลอด 30 ปีไปด้วยครับ นั่นหมายความว่าเส้นทางในฝั่งตะวันออกที่สร้างไปแล้ว จะยังไม่มีรถวิ่งจนกว่าจะได้ตัวเอกชนที่ชนะการประมูลในฝั่งตะวันตกนี้
โดยปกติโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่มีการประมูลแยกกันระหว่าง “การก่อสร้าง” และการ “สัมปทานติดตั้งระบบ/การให้บริการ” ก็มักจะมีการเปิดประมูลก่อสร้างไปก่อน เมื่อมีความคืบหน้าพอสมควรแล้วจึงจะดำเนินการประมูลหาเอกชนที่จะมารับสัมปทาน (เพื่อให้ผู้รับสัมปทานสามารถเข้ามาเริ่มขั้นตอนของงานระบบได้เลย)
ซึ่งสายสีส้มนี้ก็มีการเปิดประมูลสัมปทานตาม timeline ที่ควรจะเป็น ก็คือประมาณกลางปี 2563 หลังจากเริ่มก่อสร้างงานโยธาไปแล้วประมาณ 2 ปีกว่าๆ ครับ
แต่การประมูลดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องของเงื่อนไขกติกาต่างๆ จนทำให้มีการฟ้องร้อง และยกเลิกการประมูล ไปจนถึงการเปิดประมูลใหม่ ซึ่งถึงแม้จะเปิดประมูลรอบใหม่เรียบร้อยจนได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ทาง รฟม. ก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญากันได้ เพราะยังมีคดีความค้างคาอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด
ความคืบหน้า
จากการสอบถามกับทาง รฟม. ได้ความว่า ตอนนี้เรื่องราวของสายสีส้มอยู่ระหว่างการรอผลคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งสามารถออกได้ 2 แนวทางหลักๆ ครับ
- ถ้าตัดสินว่าการประมูลไม่มีปัญหา — ก็สามารถเซ็นสัญญากับบริษัท BEM ที่ชนะการประมูลในรอบที่ 2 ได้เลย จากนั้นก็รอการติดตั้งระบบ สั่งซื้อขบวนรถไฟ และทดสอบ รวมประมาณ 2 ปีครึ่ง จึงจะสามารถเปิดให้บริการใน “ส่วนตะวันออก” ได้ก่อน ส่วนฝั่งตะวันตกก็จะเปิดบริการตามหลังเมื่อสร้างเสร็จ
- ถ้าตัดสินว่าการประมูลมีปัญหา ต้องยกเลิกและประมูลใหม่ — จะต้องกลับไปเริ่มขั้นตอนการร่าง TOR และเปิดประมูลใหม่หมด โดยจะเสียเวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 ปี เมื่อรวมกับระยะเวลาติดตั้งระบบ 2 ปีครึ่ง กรณีนี้เราก็จะได้ใช้ “ส่วนตะวันออก” ในราวๆ 4 ปีนับจากนี้ครับ
กลับไปที่สารบัญ
11. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เป็นรถไฟฟ้าสายน้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งปรากฎใน Masterplan โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองครับ (บรรจุเพิ่มเข้าไปตอนหลัง) โดยออกแบบเป็นรถไฟฟ้าระบบ “โมโนเรล” เหมือนกับสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งถือเป็นระบบคมนาคมสายรอง ที่เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่นอกเมืองเข้ากับรถไฟฟ้าสายหลักๆ ที่จะวิ่งเข้าสู่ใจกลางเมืองอีกที
แนวเส้นทางเริ่มจาก “แยกแคราย” ซึ่งปัจจุบันมีสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ของ “MRT สายสีม่วง” ตั้งอยู่ก่อนแล้ว และใกล้ๆ กันก็มีการก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ที่เพิ่งเปิดบริการไป เมื่อรวมกับสายสีน้ำตาลก็เท่ากับว่าที่แยกแครายนี้จะเป็นชุมทางรถไฟฟ้าถึง 3 สายเลย
จากแยกแคราย แนวเส้นทางจะวิ่งตรงไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านถนนวิภาวดี ม.เกษตรศาสตร์ แล้ววิ่งเข้าสู่ถนนประเสริฐมนูกิจ หรือถนนเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งในส่วนตรงนี้จะเป็นส่วนที่ซ้อนทับกับ “ทางด่วนขั้นที่ 3” ที่จะมีการก่อสร้างเร็วๆ นี้
พอถึงแยกตัดกับถนนนวมินทร์ แนวรถไฟฟ้าจะเลี้ยวขวาวิ่งไปตามถนนนวมินทร์ แล้วไปสุดที่สถานี “แยกลำสาลี” ซึ่งตอนนี้มีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีส้มกำลังก่อสร้างรออยู่แล้วครับ
รวมระยะทางประมาณ 22.1 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 20 สถานี โดยจะเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสายอื่นๆ ถึง 5 สถานีเลยครับ
เดิมทีแนวเส้นทางเกษตร-นวมินทร์เนี่ย ไม่ได้มีการคิดสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมาแต่แรก มีเพียงแค่โครงการทางด่วนเท่านั้น ซึ่งได้สร้างฐานรากเจาะเสาเข็มเตรียมเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2539 แต่พอการทางพิเศษเตรียมจะกลับมาทำทางด่วนต่อ เมื่อปี 2555-56 ก็มีมหาวิทยาลัยใหญ่ในย่านนั้นประท้วงค้านการมีทางด่วนมาผ่านหน้ามอ และเรียกร้องให้สร้างรถไฟฟ้าแทน ช่วงนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็น “ช่วงเวลาสับสน” ว่าจะเอาอะไรดี จนกระทรวงคมนาคมต้องตั้งที่ปรึกษามาหาคำตอบกัน ได้ข้อสรุปเมื่อปี 2559 ว่า “รถไฟฟ้าก็ควรมี แต่ทางด่วนก็จำเป็น” เพราะในย่านนั้นแนวทางด่วนที่มีอยู่มีแต่เส้นแนวเหนือ-ใต้วางขนานกัน แต่ไม่มีเส้นเชื่อมเข้าหากันในแนวตะวันออก-ตะวันตกเลย
ดังนั้นฝั่ง รฟม. ก็เลยเริ่มมีการศึกษาออกแบบเส้นทางและตำแหน่งสถานีของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลกันมาตั้งแต่นั้น ส่วนฝั่งการทางพิเศษฯ ก็ง่วนอยู่กับการออกแบบเส้นทางของทางด่วนว่าจะทำยังไงให้มหาลัยแห่งนั้นพอใจ จะยกสูงผ่านด้านหน้าก็ไม่ได้ อ้อมไปด้านหลังไปวกกลับมาเลียบมอฝั่งวิภาวดีก็ไม่โอเค จะคลุมหลังคาให้มิดชิดก็ไม่เอา ล่าสุดจนถึงวันนี้ (3 กุมภา 2567) ยังประชุมกันอยู่เลยว่าช่วงที่ผ่านหน้ามอจะขุดเป็นอุโมงค์ลึก 60 เมตรเลยดีไหม
ซึ่งถ้าแนวทางเป็นไปว่าจะต้องทำอุโมงค์ทางด่วน ก็จะต้องมีการปรับรูปแบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบางส่วนเพื่อหลบหลีกในจุดที่ทางด่วนจะเปลี่ยนจากใต้ดินขึ้นมาลอยฟ้า แอบเห็นว่ามีการเปลี่ยนจากเดิมที่จะให้ทางด่วนอยู่ชั้นบน รถไฟฟ้าอยู่ชั้นล่าง มาเป็นให้รถไฟฟ้าอยู่ชั้นบนสุดแทนด้วย ซึ่งก็ยังไม่ได้สรุปว่าจะออกมาเป็นยังไงครับ
ความคืบหน้า:
ในส่วนของ #ความคืบหน้า ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ตอนนี้ทาง รฟม. อยู่ระหว่างการแก้ไขรายงาน EIA ควบคู่ไปกับการเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เริ่มขั้นตอนการประมูลคัดเลือกเอกชนมาร่วมทุน
แต่จากข่าวเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคมนาคมได้ตีกลับโครงการกลับมาให้ รฟม. ศึกษาเพิ่มเติม เพราะต้องการให้ค่าโดยสารตลอดสายราคาไม่เกิน 20 บาท จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ 15-45 บาท ซึ่ง รฟม. บอกว่าจะสามารถปรับแก้ข้อมูลต่างๆ และส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ได้ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ครับ 😅
กลับไปที่สารบัญ
12. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเทา
มาถึงสายที่ 1️⃣2️⃣ กันแล้วครับ กับ #รถไฟฟ้าสายสีเทา สายนี้มีให้เห็นในแผนแม่บทนานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เห็นการสร้างจริงสักที ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวแล้วครับ มาดูกัน
— แผนดั้งเดิมของสายสีเทา —
เดิมทีในแผนตั้งต้นของรถไฟฟ้าสายสีเทา จะเริ่มจากแยกต่างระดับวัชรพล วิ่งมาตามถนนประดิษฐ์มนูธรรมลงมาจนถึงแยกเอกมัยเหนือ เลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรี แล้วไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนนทองหล่อ วิ่งลงมาจนถึงสุขุมวิท จากนั้นเวนคืนตัดแนวไปเข้าถนนพระราม 4 จนถึงแยกพระราม 4 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาภิเษก ผ่านตลาดคลองเตย ถนนพระราม 3 ผ่านเซ็นทรัลพระราม 3 แล้วไปสุดสายที่เชิงสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร (ไม่ข้ามไปฝั่งธน)
— การปรับแนวเส้นทางใหม่และตัดสายสีเทาเป็น 2 ท่อน —
แต่เมื่อปี 2557 ทาง กทม. ได้ศึกษาแนวเส้นทางเบื้องต้น และได้ตัดช่วงโครงการออกเป็น 2 ท่อน “ที่ไม่เชื่อมต่อกัน” โดยส่วนแรก ระยะที่ 1 จะเริ่มจากวัชรพลเหมือนเดิม แต่ตัดจบที่หัวถนนทองหล่อ เชื่อมกับ BTS ทองหล่อ
และระยะ 2 จะเปลี่ยนไปเริ่มจากถนนพระราม 4 ตรงแยกพระโขนงแทน แล้ววิ่งตามถนนพระราม 4 ยาวมาจนถึงแยกวิทยุ แล้วเลี้ยวเข้าถนนสาทร วิ่งตรงไปถึงแยกสาทร-นราธิวาส (BTS ช่องนนทรี) แล้วเลี้ยวเข้าถนนราธิวาสราชนครินทร์ วิ่งทับแนว BRT ไปตามถนนนราธิวาสฯ ถนนพระราม 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสุดที่สี่แยกท่าพระ
เหตุผลของ กทม. ในการเปลี่ยนเส้นทางในครั้งนั้นคือ เพื่อที่จะไม่ต้องเวนคืนแนวเส้นทางจากทองหล่อมาเชื่อมถนนพระราม 4 และมีการอ้อมมาตรงช่องนนทรีเพื่อเชื่อมพื้นที่ย่านธุรกิจสาทรเข้ากับย่านสุขุมวิท ตลอดจนทดแทนเส้นทาง BRT ที่ในอนาคตจะยกเลิกแล้วเปลี่ยนเป็นระบบรางแทน
นอกจากนี้ในการศึกษาแผนแม่บทการขนส่งทางราง ระยะที่ 2 (M-MAP 2) โดยกรมการขนส่งทางราง ได้มีการออกแบบแนวเส้นทางสายสีเทา ต่อขยายจากส่วนเดิมขึ้นไปทางทิศเหนือ จากวัชรพลขึ้นไปถึงถนนลำลูกกาด้วย โดยจะไปสิ้นสุดที่ลำลูกกาคลอง 4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในอนาคตด้วย
ทั้ง 3 ส่วนมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง มาดูกันครับ 😄
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
— การศึกษารายละเอียดของสายสีเทา “ระยะที่ 1” —
ทาง กทม. ได้นำโครงการสายสีเทาระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มาศึกษารายละเอียดเส้นทางและตำแหน่งสถานีเบื้องต้นเมื่อปี 2558 มีการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้วในปี 2565 และได้มีการนำมาศึกษาทบทวนเพื่อหารูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชนที่เหมาะสมในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา สถานะโครงการล่าสุดจึงมีความพร้อมที่จะเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจมาร่วมลงทุน
— กทม. เสนอขอโอนสายสีเทาให้ รฟม. ดูแลแทน —
เนื่องจากนโยบายของ กทม. ยุคปัจจุบัน “ไม่เน้นลงทุนโครงการใหญ่” ในปี 2566 ที่ผ่านมา จึงมีความต้องการที่จะขอโอนโครงการ “สายสีเทา ระยะที่ 1” ที่ กทม. ได้มีการศึกษารายละเอียดต่างๆ เอาไว้แล้ว ไปให้ รฟม. รับผิดชอบโครงการแทน ซึ่งจากข่าวที่เราติดตามมา พูดถึงแค่ “ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ” เท่านั้น ส่วนระยะที่ 2 ไม่ได้มีการพูดถึง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะให้ รฟม. ดูแลต่อในอนาคตด้วยครับ
ความคืบหน้า:
อยู่ระหว่างโอนโครงการจาก กทม. ให้ รฟม.
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
— รถไฟฟ้าสายสีเทา “ระยะที่ 2” —
ถึงแม้ว่า กทม. ได้มีการศึกษาแนวเส้นทางและปรับแนวเส้นทางของสายสีเทาเอาไว้แล้วเมื่อปี 2558 แต่เนื่องจากทาง กทม. ได้แบ่งเส้นทางเอาไว้เป็น 2 ระยะ และมีการศึกษารายละเอียดและทำ EIA ไปเฉพาะโครงการระยะที่ 1 ทำให้ยังไม่ได้มีการศึกษารายละเอียดของระยะที่ 2 เอาไว้ รวมถึงไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่จะก่อสร้าง/เปิดบริการที่ชัดเจนเอาไว้
ความคืบหน้า:
ในช่วงระยะที่ 2 จึงยังไม่มีความคืบหน้าและกำหนดเวลาที่ชัดเจนเลยครับ
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
— รถไฟฟ้าสายสีเทาส่วนขยายเพิ่มเติมจาก M-MAP 2 —
ในการศึกษาแผนแม่บทการขนส่งทางราง ระยะที่ 2 (M-MAP 2) โดยกรมการขนส่งทางราง เมือปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการออกแบบแนวเส้นทางสายสีเทา ต่อขยายจากส่วนเดิมขึ้นไปทางทิศเหนือ จากวัชรพลขึ้นไปถึงถนนลำลูกกาด้วยครับ
โดยแนวเส้นทางจะเกาะแนวทางด่วนฉลองรัชขึ้นไปจนถึงแยกสุขาภิบาล 5 ตัดกับวัชรพล และถนนร่วมมิตรพัฒนา จากนั้นจะไปวิ่งบนถนนสุขาภิบาล 5 ไปจนถึงสามแยกตัดกับถนนสายไหม-หทัยราษฎร์ แล้วตัดแนวใหม่ไปสุดที่ถนนลำลูกกา บริเวณคลอง 4 เชื่อมกับสถานีคลองสี่ของ BTS สายสีเขียวส่วนต่อขยายที่มีแผนจะสร้างในอนาคตครับ
ความคืบหน้า:
เนื่องจากเป็นเส้นทางใหม่ที่เพิ่งบรรจุในแผน M-MAP 2 ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างสรุปแผนและเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติ หลังจากนั้นจึงจะสามารถเริ่มการศึกษาออกแบบโครงการเบื้องต้นต่อไปครับ
กลับไปที่สารบัญ
13. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเงิน
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน หรือชื่อทางการคือ “โครงการระบบรถไฟรางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของ กทม. ที่ทาง กทม.วางเส้นทางและศึกษาออกแบบเอง ไม่ได้อยู่ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า (M-MAP 1) ครับ ถ้าใครเปิดดูแผนที่รถไฟฟ้าของกรมราง จะเห็นว่าไม่มีสายนี้อยู่ในระบบ โดยทาง กทม. ได้ศึกษาออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น กำหนดแนวเส้นทางและตำแหน่งสถานีเอาไว้ตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา โดยในสมัยนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดสีของสายนี้เอาไว้เลย
หลังจากนั้นโครงการก็ค่อนข้างจะเงียบๆ ไป จนมาในปี 2564-2565 ที่ กทม. ได้มีการจ้างที่ปรึกษาให้ศึกษาทบทวนโครงการ และวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนร่วมกับเอกชน ว่าจะให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานในรูปแบบไหนดี และชื่อสาย “สีเงิน” ก็เพิ่งจะมากำหนดในการศึกษารอบนี้เอง
ซึ่งหลังจากสรุปผลการศึกษาแล้ว ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรต่อครับ
อ้อ! ถึงแม้ว่าสายนี้จะไม่ได้อยู่ในแผนแม่บท M-MAP 1 อย่างที่เราบอกไป แต่ในการศึกษาวางแผน M-MAP 2 ที่กำลังรอให้ ครม. เคาะเร็วๆ นี้ ได้บรรจุเส้นทางสายนี้เข้าไปในแผนที่เรียบร้อยครับ … แต่เขาไม่ได้ใช้เส้นสีเงินนะ ไปใช้เส้นสีน้ำเงินเข้มแทน
สำหรับข้อมูลและภาพตัวอย่างของรถไฟฟ้าสายสีเงิน เราเคยเขียนเอาไว้ที่ www.livingpop.com/10-facts-light-rail-bangna-suvarnabhumi-silver-line ซึ่งถ้าจะเอามาสรุปสั้นๆ ไว้ตรงนี้ด้วย ก็จะมีประมาณนี้ฮะ
- แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเงินจะอยู่บนถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) เริ่มตั้งแต่หัวถนนตรงแยกบางนา ยาวไปจนถึงทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเลี้ยวเข้าสนามบินไปสิ้นสุดที่ตำแหน่งที่ตั้งของอาคารผู้โดยสารทิศใต้
- มีระยะทางรวมโดยประมาณ 19.7 กิโลเมตร มีสถานี 14 สถานี โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงเนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ อยู่บริเวณด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ ใกล้กับทางเข้าสนามบิน
- ตามแผนเดิมจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ ส่วนที่อยู่บนถนนบางนา-ตราด จะสร้างก่อน และส่วนที่เลี้ยวเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ จะสร้างเมื่อมีการขยาย Terminal สนามบินมาทางฝั่งทิศใต้
- ออกแบบระบบรถไฟเบื้องต้นเอาไว้ให้เป็นรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา หรือ Light Rail หน้าตาคล้าย BTS/MRT แต่ขนาดเล็กกว่านิดหน่อย
- แนวเส้นทางหลักๆ จะปักเสาอยู่บนร่องคูน้ำที่กั้นทางหลักกับทางขนาน “ฝั่งขาออก” ของถนนบางนา-ตราด โดยจะมีบางช่วงที่จะหลบไปอยู่ชิดฝั่งทางเท้า เช่น ช่วงที่มีด่านเก็บเงินหรือทางขึ้นลงทางด่วน
- ระดับความสูงของรางรถไฟ จะอยู่สูงกว่าพื้นถนนของทางด่วนบูรพาวิถีประมาณ 1-2 เมตร
ความคืบหน้า:
เช่นเดียวกับสายสีเทา ก็คือปัจจุบันทาง กทม. มีนโยบายที่จะไม่สร้างโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และต้องการโอนความรับผิดชอบในการก่อสร้างและบริหารงานรถไฟฟ้าสายนี้ไปให้ รฟม. ดำเนินการแทน โดยตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประสานงานกันครับ 😀
กลับไปที่สารบัญ
14. ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีฟ้า
คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่
ปิดท้ายซีรีส์กันกับ #รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สายที่อยู่ยงคงกระพันสุด รายละเอียดน้อยสุด และมีความเป็นไปได้น้อยสุดครับ
รถไฟฟ้าสายนี้ปรากฎขึ้นมาครั้งแรกในปี 2552 ในแผนแม่บทระบบราง M-MAP 1 โดยเป็น “รถไฟฟ้าโมโนเรลแบบยกระดับ” เริ่มจากบริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) วิ่งลงมาตามถนนประชาสงเคราะห์จนถึงแยกโบสถ์แม่พระ
แนวเส้นทางจากโบสถ์แม่พระค่อนข้างไม่ชัดเจน จากช่วงเวลาที่ผ่านมาเคยเห็นมีภาพตัวอย่างปรากฎอยู่ในแผน mega project ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมักกะสันคอมเพล็กซ์ หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน หรือมีแนวเส้นทางปรากฏในผังเมืองรวม กทม. แบ่งออกได้เป็น 3 แนวหลักๆ ประมาณนี้ครับ
- จากแยกโบสถ์แม่พระ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอโศก-ดินแดง ถึงแยกพระราม 9 แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนอโศก-ดินแดง ซ้อนไปบนเส้นทางเดียวกับ MRT สายสีน้ำเงิน เลี้ยวขวาที่แยกอโศก-เพชรบุรี วิ่งไปตามถนนเพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิทยุ ตรงมาถึงแยกวิทยุ แล้วซ้อนทับกับเส้นทาง #รถไฟฟ้าสายสีเทา ไปสุดที่แยกสาทร-นราธิวาส
- จากแยกโบสถ์แม่พระ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอโศก-ดินแดงประมาณ 750 เมตร แล้วตัดแนวใหม่เลี้ยวเข้าไปทะลุผ่ากลางทุ่งร้างมักกะสัน ด้านข้างฝั่งตะวันตกของสถานี ARL จากนั้นตัดเข้าถนนเพชรบุรีแล้วไปตามเส้นทางข้อ 1.
- จากแยกโบสถ์แม่พระ ตรงไปตามถนนที่เชื่อมกับถนนจตุรทิศ แล้วข้ามทางด่วนวิ่งตรงไปเข้าทุ่งร้างมักกะสัน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายหลักในย่านสถานี ARL มักกะสัน ไปเลี้ยวซ้ายออกถนนอโศก-ดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรบุรีแล้วไปตามเส้นทางข้อ 1.
ซึ่งจากในภาพแผนที่ที่เราทำมา เรายึดตามข้อ 1. ซึ่งเป็นเส้นทางที่ระบุอยู่ในร่างผังเมืองรวมฉบับล่าสุดครับ
ความคืบหน้า:
ทาง กทม. ไม่มีการเอ่ยถึงเส้นทางนี้มานานแล้ว และยังไม่มีเคยมีรายงานการศึกษารายละเอียดโครงการ แต่ล่าสุดได้มีการบรรจุเส้นทางนี้เข้าไปในแผนแม่บทระบบรางฉบับใหม่ (M-MAP 2) ด้วยครับ ก็คงจะได้ไปต่อในอนาคตอันไกลครับ 🙈
กลับไปที่สารบัญ
ทั้งหมดนี้ก็เป็น 14 สาย 14 สีที่เรารวบรวมมาให้ โดยจะเป็นสรุป ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ครับ ในอนาคตหากมีความคืบหน้าอีก เราก็จะทยอยมาอัปเดตกันเพิ่มเติม ฝากติดตามได้ที่ LivingPop นะครับ 😀
ลิงก์ข่าวสำหรับอ่านเพิ่มเติม
- (2567) กรุงเทพธุรกิจ – กทม.ลุยต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘บางหว้า-ตลิ่งชัน’ 1.4 หมื่นล้าน https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1108748
- (2561) Thai Publica – ซีพีชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เสนอ 117,227 ล้านบาท – ต่ำกว่าบีทีเอส 52,707 ล้านบาท https://thaipublica.org/2018/12/high-speed-train-bidding-21-12-2561/
- (2562) The Standard – ซีพีเซ็นสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน https://thestandard.co/cp-sign-contract/
- (2562) The Matter – กว่าจะได้เซ็น กว่าจะเริ่มสร้าง สรุปที่มาและความวุ่นวายของโครงการ ‘รถไฟ 3 สนามบิน’ https://thematter.co/social/fact-about-3-airport-train/88127
- (2563) We Are CP – รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินโครงสร้างธุรกิจใหม่ “เครือซีพี” https://www.wearecp.com/train180563-4652/
- (2566) MGR Online – ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน 3 ปีไร้แววก่อสร้าง แก้ไขสัญญาโครงการ https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000014994
- (2566) Thairath – รอรัฐบาลใหม่ตัดสิน “ซีพี” รัฐเมินแก้ไขสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2643313
- (2566) อิศรา – ‘อีอีซี-คมนาคม-รฟท.’ สางเงื่อนไขไฮสปีด 3 สนามบิน บีบซี.พี.เริ่มสร้าง ม.ค. 67 https://www.isranews.org/article/isranews-news/124543-news-657.html
- (2567) ประชาชาติธุรกิจ – ย้อนไทม์ไลน์ รถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 2 แสนล้าน เกือบ 5 ปียังนิ่ง https://www.prachachat.net/economy/news-1486709
- (2567) มติชน – อีอีซี ยื่นคำขาด ซี.พี. ไม่เร่งสร้าง ไฮสปีดเทรน3 สนามบินบอกเลิกสัญญา https://www.matichon.co.th/economy/news_4401724
- (2562) LivingPop – ทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีทอง” รถไฟล้อยางบนรางปูน เปิดพื้นที่ฝั่งธนเลียบเจ้าพระยา https://www.livingpop.com/what-is-gold-line/
- (2565) สำนักข่าวอิศรา – ‘กรุงเทพธนาคม’ รับ 1 ม.ค. 66 ขึ้นราคา ‘สายสีทอง’ 1 บาท ดับฝัน ยังไม่คิดทำส่วนต่อขยาย https://isranews.org/article/isranews-news/114228-isranews-1000-524.html
- (2565) ฐานเศรษฐกิจ – ผู้โดยสารลดฮวบ กทม.พับแผนสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’เฟส 2 https://www.thansettakij.com/economy/534162
- (2566) สำนักข่าวอิศรา – กทม.เล็งโอน ‘สายสีทอง’ ให้ รฟม.ดูแล หลังแบกขาดทุนเดือนละ 12.6 ล้านบาท https://isranews.org/article/isranews-news/124772-news-658.html
- (2566) MGR Online – ขาดทุนอ่วม! กทม.เล็งโอน “สายสีทอง” ให้ รฟม.ดูแล เหมือน “สีเทาและสีเงิน” https://mgronline.com/business/detail/9660000113496
- (2566) MGR Online – 4 ปี!รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายไม่คืบ ผ่าน 3 รัฐบาลนโยบายเปลี่ยน”รื้อแล้ว…รื้ออีก”ปรับใหม่ยืดแนวถึงอยุธยา,นครปฐมรับเมืองโต https://mgronline.com/business/detail/9660000115263
- (2564) MGR Online – รถไฟสีแดงสรุป PPP รัฐลงโยธา-ซื้อรถ เร่งชง ครม.เห็นชอบสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางในปี 65 https://mgronline.com/business/detail/9640000126125
- (2564) Prachachat – ร.ฟ.ท. ศึกษารวบ PPP สายสีแดงทั้งต่อขยาย 4 สาย+เดินรถ https://www.prachachat.net/property/news-772932
- (2563) Prachachat – ดึงเอกชนเหมาเข่ง รถไฟฟ้าสายสีแดง “ศักดิ์สยาม” เปิดสัมปทาน 50 ปี https://www.prachachat.net/property/news-493787
- (2563) MGR Online – รถไฟสีแดงสร้างมาราธอน 10 ปี “ศักดิ์สยาม” สบช่องล้มบริษัทลูก ปั้น “อภิโปรเจกต์” เปิด PPP จุดเปลี่ยนรถไฟไทย 100 ปี https://mgronline.com/business/detail/9630000048850
- (2566) MGR Online – รฟม.เผยข้อเสนอขยาย “สีเหลือง” ไปรัชโยธินจบแล้ว แผนแม่บทเชื่อมสีน้ำเงินที่ลาดพร้าวเดินทางไม่กระทบ https://mgronline.com/business/detail/9660000088502
- (2566) ฐานเศรษฐกิจ – “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” ฟันหลอ ประชาชนเสียประโยชน์ รฟม.เสียรายได้ https://www.thansettakij.com/real-estate/577575
- (2564) ข่าวหุ้น – BTS งัดข้อ BEM อีกรอบ! ปมต่อสีเหลืองผ่านศาล “รฟม.” กุมขมับปัญหารอบด้าน สีม่วงใต้ก็ไม่เว้น https://www.kaohoon.com/news/local/426856
- (2564) ประชาชาติธุรกิจ – ชง ”คมนาคม” เคลียร์ปมชดเชย 3 พันล้าน ”สีเหลืองต่อขยาย” แย่งผู้โดยสารสายสีน้ำเงิน https://www.prachachat.net/property/news-633695
- (2563) RYT9 – BTS ยืนยันไม่ยอมรับจ่ายชดเชยให้ BEM จากการทำส่วนต่อขยายสายสีเหลืองต่อเชื่อมสายสีเขียว https://www.ryt9.com/s/iq05/3136348
- (2567) Bangkok Biz News – คนไทยเสียโอกาส ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ เปิดไม่ทัน ซีเกมส์ 2025 https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1109308
- (2566) เดลินิวส์ – รฟม. คาดเซ็นสัญญา “BEM” ปีนี้ เปิดบริการ “สายสีส้ม” ส่วนออกปี 69 https://www.dailynews.co.th/news/2776109/
- (2566) ฐานเศรษฐกิจ – สายสีส้ม แบกต้นทุนอ่วม รอเคลียร์คดี-รัฐบาลใหม่ ช่วงตะวันออกเดือนละ 41 ล้าน https://www.thansettakij.com/business/economy/559354#
- (2566) มติชนออนไลน์ – รายงานพิเศษ : รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก โอกาสและทางเลือกใหม่ของการเดินทางของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก https://www.matichonweekly.com/scoop/article_713375
- (2567) ฐานเศรษฐกิจ – กทม.ชง คจร.ไฟเขียวโอน “รถไฟฟ้าสายสีเงิน-สายสีเทา” 1.5 แสนล้าน https://www.thansettakij.com/business/economy/586288
- (2566) ข่าวสด – เร่งโอนรถไฟฟ้าสีเทา-สีเงินให้รฟม. กทม.แจงส่งให้‘สนข.’ชงเข้าที่ประชุม‘คจร.’สัปดาห์นี้ https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_8017112
- (2566) ประชาชาติ – กทม.ชงรัฐบาลลงทุนรถไฟฟ้า ผุดสายใหม่ “สีเงิน-เทา” 7.7 หมื่นล้าน https://www.prachachat.net/general/news-1384202
- (2565) เดลินิวส์ – ให้ รฟม.ทำสายสีเทา ‘ชัชชาติ’ หวั่นซ้ำรอยสายสีเขียว มีปัญหาค่าแรกเข้า https://www.dailynews.co.th/news/1316458/