fbpx
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

ต้องปรับบ้านแบบไหน เมื่อมีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ด้วยในบ้าน?

สำหรับบ้านที่อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ และในบ้านมีคุณพ่อ คุณแม่ หรือ ปู่ย่า ตายาย อาศัยอยู่ด้วย เรื่องที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องคำนึงถึง ก็คงจะเป็นเรื่องความปลอดภัยต่างๆ มาดูกันเราควรปรับบ้านแบบไหน ให้ปลอดภัยและสะดวก เมื่อมีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ในบ้านด้วย


จัดการกับพื้นต่างระดับ

สำหรับบ้านที่มีพื้นต่างระดับ หากอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยที่อาจจะใช้ไม้เท้า หรือวีลแชร์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นต่างระดับเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเคลื่อนที่ของผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นสำคัญมากๆ ที่เราจะต้องจัดการกับพื้นต่างระดับทุกจุด ที่ผู้สูงวัยต้องเข้าไปใช้งาน

หลักๆ เลยก็จะเป็นทางเข้าบ้าน ซึ่งโดยส่วนมากเรามักจะยกระดับพื้นบ้านให้สูงเหนือดินเล็กน้อย ฉะนั้นหากพอมีระยะหน้าบ้าน เราควรจะทำทางลาดเพิ่มเติม โดยความชันของทางลาด จะอยู่ที่ slope 1:12 (อธิบายง่ายๆ คือ หากระดับต่างกัน 1 เมตร ความยาวของทางลาดที่จะไปถึงระดับนั้น ต้องใช้ความยาว 12 เมตรนั่นเอง) แต่หากต้องปรับโดยเพิ่มทางลาดจริงๆ จะต้องศึกษาข้อมูล ข้อกำหนด ข้อแนะนำที่ละเอียดๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องคำนึงอีกหลายจุดเลยน้า เช่น ความสูงราวจับ หรือระยะชานพัก เป็นต้น

กรณีที่อาจจะมีพื้นที่ไม่พอต่อการทำทางลาด อาจจะใช้อุปกรณ์จำพวก Stair Climbing life หรือ Platform Lift เพื่ออำนวยความสะดวก ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจครับ


มีที่จับคอยช่วยพยุงตัว

ราวจับก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญ ที่คอยช่วยให้ผู้สูงวัยใช้จับ ใช้พยุงตัว เมื่อจะเคลื่อนที่ จะลุก จะนั่ง และเคลื่อนตัวไปตามที่ต่างๆ โดยส่วนมากลักษณะของราวจับที่เหมาะสม จะมีลักษณะหน้าตัดเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 3-5 เซนติเมตร ตำแหน่งที่ติดตั้ง ก็สามารถเลือกติดในตำแหน่งต่างๆ ที่ผู้สูงวัยจะต้องเข้าไปใช้งานหรือเคลื่อนที่ผ่าน โดยเฉพาะในห้องน้ำ จำเป็นอย่างมากที่จะมีราวจับที่ช่วยพยุงในจุดที่สำคัญๆ ดังนี้ครับ

  • ราวทรงตัวข้างโถสุขภัณฑ์
  • ราวทรงตัวข้างอ่างล้างหน้า
  • ราวทรงตัวบริเวณที่อาบน้ำ

ระวังวัสดุพื้นที่ลื่น

หากวัสดุพื้นเดิมของบ้าน เป็นวัสดุที่มีผิวมัน จำพวกพื้นกระเบื้องผิวมัน พื้นหินผิวมัน ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงต่อการลื่นล้ม วิธีแก้ในระยะยาวเลยก็ควรจะเปลี่ยนวัสดุพื้นให้เป็นวัสดุที่มีผิวหยาบ อาจจะหยาบด้วยพื้นผิว หรือเป็นวัสดุที่มีผิวสัมผัสเซาะร่อง เซาะเป็นลวดลาย เป็นต้น
อีกหนึ่งวีธีแก้ หากไม่ต้องการเปลี่ยนวัสดุพื้นทั้งบ้านไปเลย เพราะอาจจะดูยุ่งยาก อาจปรับโดยการติดวัสดุกันลื่นเป็นจุดๆ เฉพาะจุดที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม ซึ่งในปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้


ปรับระดับความสูงของสิ่งต่างๆ

พื้นที่ใช้งานสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องให้ความสำคัญอีกเรื่อง ก็คือเรื่องระดับความสูง อย่างในกรณีที่ผู้สูงวัยใช้วีลแชร์ ระยะความสูงของโต๊ะ อ่างล้างมือ และเคาน์เตอร์ต่างๆ ก็ควรจะปรับลดระดับลงมา ให้เป็นระยะที่ใช้สบายสำหรับวีลแชร์ โดยที่ระดับบนสุดของ โต๊ะ อ่างล่างหน้า และเคาน์เตอร์ ควรมีระยะความสูงจากพื้นประมาณ 75-80 เซนติเมตร และที่สำคัญคือ ด้านล่างควรมีช่องว่างสูง 60 เซนติเมตรและลึก 40 เซนติเมตรขึ้นไป สำหรับให้วีลแชร์เข้าไปใช้งานได้

นอกจากนี้ ทั้งเตียงนอน ที่นั่ง และโซฟาต่างๆ หากจะให้ดี ระยะต้องไม่สูงจนเกินไป และเก้าอี้ควรจะมีพนักพิง เพื่อจะได้เป็นตัวช่วยพยุง เมื่อจะลุกจะนั่งด้วยน้า


ระยะห่างต้องกว้างขวางเข้าไว้

ระยะห่างที่ต้องให้กว้างเข้าไว้ มีเหตุผลหลักๆ ก็คือ สำหรับให้ผู้สูงวัยที่ใช้วีลแชร์สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ได้ทั่วถึง และในบางจุดควรกว้างเป็นพิเศษ เพื่อที่จะสามารถหมุนวีลแชร์กลับตัวได้นั่นเอง โดยบริเวณที่จำเป็นต้องเผื่อความกว้างไว้ ได้แก่

ประตูต่างๆ

ทางที่ดีควรมีความกว้างเคลียร์ไปเลยไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตรน้า และถ้าจะให้ดีควรเป็นประตูบานสไลด์ ถ้าได้มือจับแบบก้านโยก ก็จะสะดวกมากๆ เลย

รอบๆ เตียงนอน

ควรเว้นรอบเตียงเป็นที่ว่าง กว้างประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการขึ้นลง และสำหรับวีลแชร์อีกด้วย

ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากระยะติดตั้งสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ราวจับต่างๆ แล้ว ที่สำคัญคือ ที่ว่างภายในห้องน้ำ ต้องเคลียร์โล่งเป็นระยะเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อการใช้งานของวีลแชร์ที่สามารถเข้าไปใช้งานได้สะดวก และหมุนตัวกลับได้สบายๆ


ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

มาถึงหัวข้อสุดท้าย แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากๆ ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลผู้สูงวัยที่เราเคารพรัก โดยอุปกรณ์ที่เราแนะนำก็ได้แก่

Emergency call bell

หรือเครื่องส่งสัญญาณการช่วยเหลือ โดยติดไว้ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องนั่งเล่น ควรติดในตำแหน่งที่ชัดเจน ระดับความสูงพอเหมาะ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือผู้สูงวัยต้องการความช่วยเหลือ จะได้กดปุ่มแล้วมีเสียงกริ่งดังแจ้งเตือนให้เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ยิ่งในสมัยนี้ การแจ้งเตือนสามารถเชื่อมต่อ และส่งไปยังสมาร์ตโฟนได้อีกด้วย

Lighting motion sensor

คือการติดไฟเซนเซอร์ตามจุดสำคัญต่างๆ เช่น ไฟใต้ฐานเตียง ไฟตามทางเดินไปห้องน้ำ กรณีที่ผู้สูงวัยต้องตื่นเข้าห้องน้ำกลางดึก จะได้แน่ใจว่ามีแสงสว่างนำทางเพียงพอ

CCTV

หรือหากในบางครั้ง ที่เราอาจจะไม่ได้อยู่บ้านตลอดเวลา การติดตั้งกล้องวงจรปิดก็ช่วยได้มาก ในการคอยสังเกตดูแล ผ่านสมาร์ทโฟนของเรา ทำให้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถไปช่วยได้ทันท่วงที


หาผู้ช่วย ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

จากข้อมูลต่างๆ ด้านบน หากเรายังไม่มั่นใจว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร หรืออยากจะหาคนให้คำปรึกษา ขอคำแนะนำเรื่องวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงช่างที่ไว้ใจได้ ก็อาจจะลองปรึกษาทาง SCG Experience ดูได้ เพราะเขามี Eldercare Solution ที่สามารถให้คำปรึกษาโดยสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการปรับปรุงบ้านของเราให้พร้อมรับสำหรับผู้สูงวัย โดยสามารถโทรไปสองถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-586-2222 หรือแวะเข้าไปที่ SCG Experience เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทราได้เลยครับ


ทั้งหมดนี้ก็คือเทคนิคในการปรับบ้านให้เหมาะสมกับการที่มีผู้สูงวัยอยู่ในบ้าน สำหรับครอบครัวใหญ่ๆ นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก จะได้อุ่นใจ อยู่สบายกันทั้งบ้านน้า


ที่มารูปภาพ : Freepik, Shutterstock, Unsplash, Mi.com

Related posts
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

พาไปดูเทคโนโลยีล่าสุด “AIS Fibre Home Network Solution” เดินสายไฟเบอร์โปร่งใสทั้งหลัง เน็ตแรง 1Gbps เท่ากันทั้งบ้าน

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

12 ข้อที่ต้องรู้ก่อนจ้างบริษัท Built-in ตกแต่งห้อง!!!

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

7 เทคนิค Life Hack เปลี่ยนห้องขนาดจำกัด ให้จัดพื้นที่ได้เยอะขึ้น

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

สร้างบ้านแบบล้ำๆ ด้วยเทคโนโลยี 3D-PRINTED อยู่ได้จริงไม่จกตา!