ค่าส่วนกลาง เรียกว่าเป็น fixed cost ที่คนมีบ้านยังไงต้องจ่ายทุกปีครับ ส่วนใหญ่แล้วค่าส่วนกลาง 1 ปีก็อาจจะมีเท่ากับกับค่าผ่อนบ้าน 1 เดือนถ้าพูดให้เห็นภาพ (และภาระที่เพิ่มขึ้น) ก็เหมือนเราผ่อนบ้านไป 13 เดือนนั่นแหละฮะ ทีนี้อาจก็มีคำถามว่า “ค่าส่วนกลางเนี่ย ไม่จ่ายได้ไหม…” เพราะค่าส่วนกลางเกือบจะเท่ากับค่าผ่อนบ้าน 1 เดือนนี่แหละ อาจจะหลายพัน หลายหมื่น เสียดายเงินอ่ะ…
เดี๋ยวผมจะมาสรุปให้ฟังว่าค่าส่วนกลางไม่จ่ายจะเป็นอย่างไรผิดกฎอะไรบ้าง
กรณีที่ 1 : ด้านของกฎหมู่บ้าน
เริ่มจากถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลาง เราจะโดนไล่ออกจากหมู่บ้าน ไล่ออกจากคอนโดไหม?
คำตอบง่ายมากๆ #นิติบุคคลทำไม่ได้ครับ
ต่อให้ไม่จ่าย เราก็ยังสามารถอยู่ในพื้นที่ของตัวเองได้ ได้ยินแบบนี้บางคนบอก โอเค…ไม่จ่ายเลยแล้วกัน บัยยย เดี๋ยวครับ! ฟังผมก่อนใจเย็นนน ถึงนิติบุคคลจะไม่มีอำนาจไล่ใครออกจากบ้าน แต่ก็มีอำนาจระงับสทธิ์บริการจากส่วนกลางที่ควรได้รับในกรณีที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง 3 – 6 เดือนขึ้นไปนะฮะ
อาจจะเริ่มจากเรื่องเล็กที่สุดอย่างการไม่เก็บขยะหน้าบ้านไปทิ้งให้ ตัดสิทธิ์การใช้พื้นที่ส่วนกลาง ไปจนถึงไม่มีสิทธิลงเสียงมติในหมู่บ้านหรือคอนโด แต่นิติบุคคลหลายแห่งเลือกที่จะใช้มาตรการอย่างระงับการจ่ายน้ำประปา (อันนี้ลูกบ้านในคอนโดนะครับ) ไม่ออกสติกเกอร์ที่จอดรถให้ ไปจนถึงถึงไม่ให้ใช้คีย์การ์ดในการเข้า – ออกพื้นที่ไปเลย
… เรื่องใหญ่นะครับ …
เป็นเรื่องเป็นราวฟ้องร้องกันมาแล้ว ซึ่งเอาจริงๆ แล้วนิติบุคคล บางกรณีก็แพ้นะครับ บางกรณีก็ชนะ เช่น กรณีของการระงับใช้น้ำประปา หรือไม่ให้คีย์การ์ดกับลูกบ้านที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง เพราะศาลอาจถือว่าการระงับสิทธิ์ดังกล่าวทำให้ลูกบ้านเสียสิทธิในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล (เข้าห้องตัวเองไม่ได้ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตในห้องตัวเองได้)
แต่ถ้าลูกบ้านอ้างว่าไม่จ่ายค่าส่วนกลาง เพราะที่จอดรถไม่พอ หรือนิติบุคคลไม่กันที่จอดรถให้ หรือไม่ได้ใช้ส่วนกลางเลยก็เลยไม่จ่าย กรณีนี้อาจเอามาอ้างไม่ได้ กรณีนี้ลูกบ้านก็อาจจะแพ้ไป
จริงๆ เรื่องนิติบุคคลกับลูกบ้าน ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องไปคุยกับที่ศาลแหละครับว่าศาลจะตัดสินอย่างไร คือทางออกที่สันติวิธีที่สุด
ดูวุ่นวายจังเลยนะครับ ขนาดผมสรุปเองยังรู้สึกว่าวุ่นวายเลย ฮ่าๆๆ
กรณีที่ 2 ด้านของกฎหมาย
แล้วในเชิงกฎหมายล่ะ นิติบุคคลทำอะไรได้ไหม เพื่อกดดันให้ลูกบ้านที่เอาเปรียบคนอื่นด้วยการไม่จ่ายค่าส่วนกลาง ให้ต้องรับผิดชอบสังคมบ้าง เพื่อให้คนที่จ่ายค่าส่วนกลางตลอดรู้สึกว่าไม่โดนเอาเปรียบ ก็ในเมื่อตัดน้ำไม่ได้ คีย์การ์ดก็ใช้ได้ ที่จอดรถก็ยังใช้ได้ (เรื่องสิทธิในการจอดรถต้องดูเป็นกรณีไปนะครับ)
ในเชิงอำนาจที่กฎหมายมอบให้นิติบุคคล นิติบุคคลมีสิทธิคิดค่าปรับล่าช้า และสามารถคิดดอกเบี้ยสำหรับลูกบ้านที่ตีเนียนไม่จ่ายค่าส่วนกลางได้ครับ โดยค่าปรับนั้นนิติบุคคลเป็นผู้กำหนด และต้องแจ้งให้ลูกบ้านทราบก่อนตั้งแต่วันที่เข้าอยู่ ถ้าค้างจ่ายนานเข้า นิติบุคคล สามารถฟ้องศาลให้ลูกบ้านจ่ายค่าส่วนกลางได้ด้วยนะ
อีกเรื่องหนึ่งที่บางคนอาจจะไม่รู้ และเป็นเรื่องใหญ่มากๆ คือ… ถ้าค้างจ่ายค่าส่วนกลาง 6 เดือนขึ้นไป เจ้าของทรัพย์จะ ‘ไม่สามารถ’ ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์บ้านหรือคอนโดได้ เรื่องใหญ่นะครับ เพราะคุณมีหนี้ที่ต้องจ่ายให้ครบถ้วน (รวมดอกเบี้ย) ก่อนครับ หากเป็นคอนโด ถ้าจะทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ ต้องได้รับหนังสือที่เรียกว่า ‘#ใบปลอดหนี้’ จากนิติบุคคล เพื่อไปทำเรื่องโอนยังกรมที่ดิน ใบปลอดหนี้จะรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้ง ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าส่วนกลาง ถ้าเจ้าของทรัพย์ไม่จ่าย คอนโด ก็ไม่ออกใบปลอดหนี้ให้
ส่วนหมู่บ้านจัดสรร ไม่มีใบปลอดหนี้ออกให้ลูกบ้านเหมือนคอนโดครับ แต่นิติบุคคลมีอำนาจ ในการระงับนิติกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ โดยนิติบุคคล ต้องทำหนังสือไปแจ้งยังกรมที่ดินล่วงหน้าก่อนว่า บ้านหลังดังกล่าวค้างค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือน ขอให้ระงับการทำนิติกรรมไว้ก่อนได้ แต่ถ้านิติบุคคล ไม่ได้ยื่นไปแจ้งกรมที่ดินก่อน อันนี้ถือว่ายกประโยชน์ให้เจ้าของบ้านที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลางไป นิติบุคคลต้องไปฟ้องร้องภายหลังจากเจ้าของเดิมเท่านั้น (เจ้าของใหม่ลอยตัวไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปโดยปริยาย)
อ่านมายาวๆ อาจจะงง อ่ะ…ผมขอสรุปสั้นๆ อีกทีว่าถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลางจะเกิดอะไรขึ้น
- นิติบุคคล อาจระงับสิทธิ์การใช้พื้นที่ส่วนกลางในคอนโด หรือหมู่บ้านเพื่อกดดันได้ภายใต้สิทธิ์ที่นิติบุคคลทำได้
- นิติบุคคลมีสิทธิ์คิดค่าปรับ และดอกเบี้ย กรณีที่จ่ายช้า โดยค่าปรับและดอกเบี้ยจะแจ้งลูกบ้านก่อน
- นิติบุคลสามารถฟ้องศาลให้ลูกบ้านจ่ายค่าส่วนกลางได้
- ลูกบ้านที่ค้างค่าส่วนกลาง อาจจะขายทรัพย์สินไม่ได้จนกว่าจะจ่ายค่าส่วนกลาง
ผมสรุป (สรุปอีกแล้วเหรอ…) สั้นๆ สุดท้ายเลยนะครับเกี่ยวกับการจ่ายค่าส่วนกลาง
ถ้าอยากเป็นคนดีของสังคม ยังไม่ต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่
… เริ่มต้นจากจ่ายค่าส่วนกลางก่อนครับ