ใน Part 1 ของ “ขั้นตอนการสร้างบ้านฉบับย่อ” เป็นขั้นตอนของการเตรียมเอกสารต่างๆ ทั้งแบบก่อสร้าง การขออนุญาตก่อสร้าง สัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา และใน Part 2 นี้ จะเป็นการเริ่มลงมือลงแรงก่อสร้างบ้านกันแล้ว แม้ขั้นตอนส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยผู้รับเหมาที่เราว่างจ้างมา แต่หากเราทราบขั้นตอนการก่อสร้างทั้งหมด เราจะสามารถติดตามการก่อสร้าง ทราบรายละเอียดต่างๆ ทำให้เราสามารถตรวจสอบความคืบหน้า และดูแลการก่อสร้างให้เรียบร้อยสมบูรณ์แบบที่สุดได้ครับ มาดู Part 2 ต่อเลยว่ามีอะไรบ้าง
ถ้าเพื่อนๆ ยังไม่ได้อ่าน คู่มือสร้างบ้านฉบับย่อ Part 1 หรือ 4 Checklists แบบสำรวจความพร้อม ก่อนสร้างบ้านด้วยตัวเอง สามารถไปอ่านก่อนจะอ่าน Part 2 ได้นะครับ เพราะแบบสำรวจจะช่วยตอบความต้องการและความพร้อมของเราในการคิดริเริ่มสร้างบ้านของตัวเอง ว่าเราพร้อมแค่ไหน มีเวลาในการจัดการเรื่องราวต่างๆ มากแค่ไหน มีอะไรที่เราต้องรู้หรือเตรียมพร้อมก่อนที่สร้างบ้านสักหลังบ้าน
งานเตรียมพื้นที่และวางผังอาคาร
ขั้นตอนนี้ผู้รับเหมาจะเริ่มทำการปรับพื้นที่ที่จะก่อสร้างบ้านของเรา โดยอาจจะมีการรื้อถอน หากมีโครงสร้างเดิม เคลียร์พื้นที่ ขุดดิน หรือถมดินให้ได้ระดับ จากนั้นจะมีการขอน้ำประปา ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคต่างๆ ชั่วคราว ที่จะใช้ในการก่อสร้าง ในบางแห่งอาจจะตั้งแคมป์คนงาน หรือออฟฟิศชั่วคราวในพื้นที่ด้วย เมื่อตระเตรียมพื้นที่เรียบร้อย ต่อมาจะเป็นการวางผังอาคาร โดยอ้างอิงจากแบบก่อสร้าง ในขั้นตอนนี้จะเริ่มเห็นเค้าของแปลนบ้าน ว่ามีขนาดอย่างไรเมื่อวางลงบนที่ดิน และยังเป็นการกำหนดตำแหน่งในการลงเสาเข็มตามแบบ หากในขั้นตอนนี้พบอุปสรรคในไซต์ เช่น ตรงตำแหน่งต้นไม้ใหญ่ หรือแนวเข็มโครงสร้างของอาคารเดิม ก็จะเป็นโอกาสในการพูดคุย ปรับระยะ ร่วมกันของทุกฝ่าย
- เคลียร์พื้นที่ ขุดดิน ถมดินให้ได้ระดับ
- ขอน้ำประปา ไฟฟ้า และสาธารณูประโภค เพื่อใช้ระหว่างก่อสร้าง
- วางผังอาคาร โดยอ้างอิงจากแบบก่อสร้าง เพื่อให้เห็นว่าแปลนบ้านมีขนาดเท่าไหร่เมื่อวางลงบนดิน
- กำหนดตำแหน่งการลงเสาเข็ม
งานเสาเข็มและโครงสร้าง
เมื่อปรับพื้นที่ดินเสร็จ ต่อมาเป็นส่วนของงานเสาเข็มและโครงสร้าง โดยชนิดของเสาเข็มก็จะถูกกำหนดและคำนวณโดยวิศวกร หลังขั้นตอนของงานเสาเข็ม ก็จะเป็นขั้นตอนของงานโครงสร้างทั้งหมด โดยเริ่มจากส่วนต่างๆ ดังนี้
- งานฐานราก
- งานโครงสร้างเสา
- งานโครงสร้างคาน
- งานโครงสร้างพื้น
- งานโครงสร้างบันได
งานโครงสร้างจะก่อสร้างจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน และส่วนมากในขั้นตอนของงานโครงสร้างก็จะมีส่วนงานระบบประปา ระบบสุขาภิบาล เริ่มทำไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก็คือติดตั้งถังบำบัด ถังเก็บน้ำใต้ดิน ท่อน้ำทิ้ง ท่อระบายน้ำในไซต์ต่างๆ
งานหลังคา
ถัดจากงานส่วนโครงสร้าง ต่อมาผู้รับเหมาจะเริ่มขึ้นโครงหลังคาตามรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม ซึ่งส่วนมากแล้วโครงหลังคาก็มักจะเป็นโครงหลังคาเหล็ก ทั้งอะเส จันทัน และแป เมื่อติดตั้งแป และแผ่นรองใต้หลังคา ซึ่งระยะและรูปแบบก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของหลังคาที่เราเลือกไว้ ผู้รับเหมาก็จะมุงหลังคา หากมีดีเทลของรางน้ำต่างๆ ก็จะทำพร้อมกันในขั้นตอนนี้
งานผนัง
ต่อมาจะเป็นขั้นตอนที่เราจะเริ่มเห็นบ้านของเราเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ได้เห็นว่าห้องไหนเป็นยังไง ความกว้างและความยาวเป็นแบบไหน เพราะเราเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อผนัง ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็จะมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็น งานทำเสาเอ็น คานเอ็น สำหรับเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนัง การติดตั้งวงกบประตูและหน้าต่าง และการฝังท่อร้อยสายไฟ ฝังกล่องสวิตซ์และปลั๊ก เดินท่อน้ำที่ต้องซ่อนฝังอยู่ในผนัง ซึ่งพอก่อผนังเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนถัดมาคือการฉาบผนังให้เรียบร้อยสวยงาม
งานฝ้าเพดาน
งานฝ้าเพดานเป็นขั้นตอนต่อมา โดยผู้รับเหมาจะเริ่มติดตั้งโครงฝ้าเพดาน และงานที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนส่วนนี้ ก็คืองานระบบไฟต่างๆ ผู้รับเหมาจะต้องเช็กตำแหน่งดวงไฟในตำแหน่งต่างๆ เพื่อเตรียมเดินสายไฟไปไว้ในบริเวณดังกล่าว ก่อนที่จะปิดฝ้าเพดานและฉาบให้เรียบร้อย โดยงานระบบอื่นๆ ที่ต้องติดตั้งเหนือฝ้า ก็จะต้องเข้ามาในช่วงนี้ เพื่อให้ตำแหน่งของงานในส่วนต่างๆ สอดคล้องกันนั่นเอง
งานวัสดุตกแต่งผิวต่างๆ และงานติดตั้งอุปกรณ์
การสร้างบ้านดำเนินมาถึงขั้นตอนท้ายๆ ของการก่อสร้างแล้ว ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ นั่นคือ การติดตั้งวัสดุตกแต่งผิวต่างๆ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในบ้านทั้งหมด โดยในส่วนนี้จะมีผลมากในเรื่องความสวยงาม เนี๊ยบหรือไม่เนี๊ยบ ทำถูกต้องตรงตามแบบหรือไม่ เพราะงานส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ปรากฏออกมาค่อนข้างชัดกว่างานในส่วนอื่น โดยมีขั้นตอนต่างๆ ได้แก่
- งานวัสดุพื้นต่างๆ บัวพื้น พื้นกระเบื้อง พื้นหิน พื้นกระเบื้องยาง หรือลามิเนต ที่จะเนี๊ยบไม่เนี๊ยบขึ้นอยู่กับฝีมือช่างเขาเลย
- งานผนัง ติดตั้งวัสดุกรุผนัง เริ่มทาสีรองพื้นผนัง
- ติดตั้งสุขภัณฑ์ ในห้องน้ำ ในครัว
- ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า ดวงโคม และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เตาไฟฟ้า ที่ดูดควัน เครื่องทำน้ำอุ่น แอร์
- ติดตั้งประตูและหน้าต่าง ไม่ว่าจะเป็นบานไม้ บานอะลูมิเนียม ก็จะเริ่มเข้ามาติดตั้งได้เลยในช่วงนี้
- งาน Built-in ตกแต่งภายในต่างๆ หากมีการออกแบบส่วนของงานตกแต่งภายในไว้เรียบร้อยแล้ว อาจจะให้ทีมตกแต่งภายในเริ่มๆ เข้ามาได้ช่วงนี้ เพราะงานบางส่วนก็ต้องทำควบคู่ หรือสอดคล้องกับงานก่อสร้างไปเลย
งานเก็บรายละเอียด
หลังจากการก่อสร้าง และติดตั้งวัสดุปิดผิวอุปกรณ์ต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ในขั้นตอนสุดท้าย จะเป็นการเริ่มเก็บรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เก็บงานสี เริ่มทาสีรอบสุดท้าย เก็บดีเทลรอยต่อต่างๆ ให้เรียบร้อย ส่วนเจ้าของบ้านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาตรวจความเรียบร้อย ส่วนไหนที่ต้องการปรับ ต้องการแก้ หรือทำให้เรียบร้อยขึ้น ก็สามารถแจ้งเป็นจุดๆ เพื่อให้ผู้รับเหมาได้ดำเนินการแก้ไข ก่อนจะส่งมอบบ้านที่เสร็จสมบูรณ์ให้กับเราในที่สุด
สรุปแล้ว 7 ขั้นตอนใน Part 2 มีอะไรบ้าง?
- งานเตรียมพื้นที่และวางผังอาคาร
- งานเสาเข็มและโครงสร้าง
- งานหลังคา
- งานผนัง
- งานฝ้าเพดาน
- งานวัสดุตกแต่งผิวต่างๆ และงานติดตั้งอุปกรณ์
- งานเก็บรายละเอียด
ใน Part 1 มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน และ Part 2 มีอีก 7 ขั้นตอน รวมเป็น 11 ขั้นตอนครับ ใน Part 2 นี้ ต้องบอกว่าถ้าเพื่อนๆ อ่านจนจบ จะดูเหมือนแปบเดียว ระยะเวลาน้อยนิด แต่ในความเป็นจริง เมื่อเราต้องคอบควบคุมและเฝ้ามองผู้รับเหมาในขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ ค่อนข้างใช้เวลามากๆ เพราะคงไม่ได้สร้างบ้านเสร็จได้ภายในอาทิตย์เดียว ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมายที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นอยากให้เพื่อนๆ ใจเย็นกับทุกขั้นตอนในการสร้างบ้าน ไม่ใช่ว่าจะได้ดั่งใจเราทุกอย่างในระยะเวลาอันสั้น เราจะต้องเจออุปสรรคปัญหาอีกมากครับ และเมื่อบ้านออกมาเสร็จสมบูรณ์อย่างที่เราต้องการแล้ว จะต้องมีความภูมิใจอย่างแน่นอน เพราะเราเองก็มีส่วนร่วมกับทุกขั้นตอนในการสร้างบ้านหลังนี้
จะเห็นว่าใน 7 ขั้นตอนของการสร้างบ้านที่เราสรุปมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันนั้น ไม่ได้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากจนเกินไป เราในฐานะเจ้าของบ้านสามารถทำความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ เพื่อควบคุมและดูแลการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามแบบที่เราตั้งใจไว้ เพื่อให้บ้านที่เราตั้งใจสร้างและวาดฝันเอาไว้ ออกมาสมบูรณ์และตรงกับความตั้งใจของเรามากที่สุด