fbpx
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

เลือก “ผ้าม่าน” อย่างไรให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง (ตอน 1)

นอกจากการตกแต่งห้องต่างๆ ของบ้านหรือคอนโดมิเนียม ด้วยเฟอร์นิเจอร์ พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน อีกองค์ประกอบที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าองค์ประกอบอื่น นั่นก็คือ ‘ผ้าม่าน’ เพราะนอกจาก ‘ผ้าม่าน’ จะทำหน้าที่บังแสง บังสายตา ควบคุมปริมาณของแสง และการมองเห็นแล้วนั้น ยังนับว่า ‘ผ้าม่าน’ เป็นอีกหนึ่งผนังสำคัญของห้องนั้นๆ เลยก็ว่าได้ ดังนั้นจะเลือกม่านอย่างไร ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ และเหมาะกับฟังก์ชันการใช้งาน จึงต้องมาเริ่มทำความรู้จักกับม่านในแต่ละชนิดกันก่อน พร้อมทั้งเทคนิคเล็กๆ น้อย ที่จะทำให้การเลือก ‘ผ้าม่าน’ ตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากที่สุด

หากพูดถึงผ้าม่าน (Curtain) แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงม่านที่ใช้ ‘ผ้า’ เป็นวัสดุหลัก แต่ผ้าที่เรากำลังจะพูดถึงนั้น ก็มีหลากหลายประเภท ซึ่งเหมาะกับการใช้งานที่ต่างกัน อีกทั้งยังมีรูปแบบวิธีการติดตั้งที่หลากหลายเช่นกันครับ

ชนิดของผ้าม่าน

ผ้าม่านธรรมดา (Fabric Curtain)

ผ้าม่านชนิดนี้ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงไปถึงชนิดของผ้าที่ใช้ แต่จะเน้นไปที่ความชอบของสี ของลวดลายของผ้าม่านมากกว่า ผ้าม่านชนิดนี้จึงเหมาะในแง่การต้องการตกแต่งห้อง ให้ถูกใจเลือกชนิดและลวดลายได้อิสระ สามารถเลือกผ้าต่างๆ มาประยุกต์ได้หลากหลาย เช่น เลือกผ้าฝ้ายโปร่งๆ สำหรับห้องทำงาน ให้รู้สึกอบอุ่น สบายๆ

เลือกผ้าสีโทนอ่อน ให้โทนคล้ายผ้าฝ้ายสำหรับส่วนใช้งานที่ไม่ต้องการกันแสงมากนัก แต่เน้นให้โทนห้องดูละมุน

ผ้าม่านกันแสงแบบ Dimout (Dimout Curtain) หรือผ้าม่าน UV

หรือที่มักจะเรียกกันว่า ผ้าม่าน UV ส่วนมากผลิตจากผ้าใยสังเคราะห์จำพวกโพลีเอสเตอร์ (Polyester) มีเส้นใยสีดำที่แทรกไปกับเนื้อผ่าม่าน ซึ่งนั่นทำให้ผ้าม่านชนิดนี้ มีความสามารถกันแสงได้ถึง 80-95% ทั้งยังสามารถกันความร้อนทำให้ช่วยลดอุณหภูมิภายในห้องได้อีกด้วย สามารถใช้ได้กับทั้งห้องนอนและห้องนั่งเล่น อาจเลือกผ้าสีพื้นที่เข้ากับการตกแต่งภายใน และนิยมใช้คู่กับกับผ้าม่านโปร่ง (Sheer Fabric)

มีเทคนิคเล็กน้อย สำหรับคนที่กังวลผ้าม่านจะจับฝุ่น แนะนำว่าอาจจะเลือกผ้าที่มีความมันสักเล็กน้อย เส้นใยละเอียดๆหน่อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรหมั่นทำความสะอาด โดยดูดฝุ่นผ้าม่านสักเดือนละหนึ่งครั้ง และส่งร้านผ้าม่านซัก อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

เลือกผ้าม่านกันแสงแบบ Dimout ในโทนสีพื้นที่เข้ากับห้อง เพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่งผนังของการตกแต่งภายใน

ผ้าม่านกันแสงแบบ Blackout  (Blackout Curtain)

มีลักษณะค่อนข้างคล้ายกับผ้าม่านกันแสงแบบ Dimout แตกต่างกันชัดๆ ในแง่ของความสามารถในการกันแสง ซึ่งผ้าม่านกันแสงแบบ Blackout สามารถกันแสงได้ถึง 100% จึงเป็นที่นิยมในการใช้ในห้องนอน เหมาะสำหรับคนที่ชอบห้องนอนที่มืดสนิท ไม่มีแสงเข้ามารบกวน

มีเทคนิคเล็กน้อยตอนติดตั้ง หากต้องการให้ห้องมืดสนิทจริงๆ นอกจากเลือกผ้าม่านชนิดนี้แล้ว ตอนติดตั้งอาจจะต้องดีไซน์หลืบม่านหรือบังราง ให้มีความลึกที่เหมาะสม และอาจจะให้ม่านกองพื้นสัก 1-2 เซนติเมตร รับรองได้ว่าห้องนอนจะมืดสนิท ทั้งกลางวันและกลางคืน

ผ้าม่านกันแสงแบบ blackout สำหรับห้องนอน อาจจะเพิ่มบังรางม่านหรือหลืบม่านลึก 10-15 เซนติเมตร ช่วงกันแสงลอดเข้ามา ติดตั้งคู่กับผ้าม่านโปร่ง ให้แสงค่อนข้างซอฟท์ และบังสายตาในเวลากลางวัน
(ที่มาภาพ : Pitchaya Poonsin)

ผ้าม่านโปร่ง (Sheer Fabric)

ผ้าม่านอีกหนึ่งชนิดที่มีความสำคัญในการช่วยเรื่องโทนการตกแต่งของห้อง และฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยผ้าม่านโปร่งมีคุณลักษณะที่สามารถบังสายตาได้ส่วนหนึ่ง และแสงสามารถผ่านเข้ามาได้ จึงเป็นที่นิยมใช้คู่กับผ้าม่านกันแสง โดยติดตั้งคู่กันอีกหนึ่งราง

เหมาะกับทั้งห้องนอนและห้องนั่งเล่น เมื่อเราเปิดผ้าม่านกันแสง แต่ยังคงปิดผ้าม่านโปร่ง แสงจะผ่านเข้ามาในห้องในแบบละมุนๆ อีกทั้งยังช่วยบังสายตา ยังมีความเป็นส่วนตัวและได้แสงธรรมชาติไปพร้อมๆกัน

ผ้าม่านโปร่งนอกจากช่วยเรื่องกรองแสง บังสายตา แต่นับว่าเป็นอีกองค์ประกอบที่ช่วยคุมโทนของห้องได้เป็นอย่างดี
(ที่มาภาพ : Pitchaya Poonsin)

วิธีการติดตั้งผ้าม่านแบบต่างๆ

1. ผ้าม่านจีบ

เป็นรูปแบบการติดตั้งที่เป็นที่นิยม เนื่องจากรูปแบบมีความเรียบร้อย เรียบง่าย ลอนของผ้าม่านเรียงตัวสวยงาม เหมาะกับทุกพื้นที่ใช้สอย สำหรับห้องนอนนั้น ตัวจีบม่านด้านบน ยังช่วยบังแสงที่จะลอดผ่านระหว่างช่องบริเวณรางได้อีกด้วย

ผ้าม่านกันแสงติดตั้งแบบผ้าม่านจีบติดตั้งคู่กับผ้าม่านโปร่ง ในตอนกลางวันเปิดเฉพาะผ้าม่านกันแสง
ผ้าม่านโปร่งจะกรองทั้งมุมมองทางสายตา และความเข้มของเแสงให้ละมุน

2. ผ้าม่านลอน

เป็นอีกรูปแบบที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม โดยลอนของม่านจะมีการทิ้งตัวสบายๆ ในพักหลังจึงเป็นที่นิยมใช้ในการตกแต่งแบบโมเดิร์น จะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างทันสมัย อิสระ สบายๆ

การติดตั้งแบบผ้าม่านลอน จะสังเกตว่าลอนด้านบนจะค่อนข้างจะให้ตัว ดูสบายๆ
(ที่มาภาพ : Stylesourcebook.com)

3. ผ้าม่านตาไก่

ตัวม่านจะมีรูบริเวณปลายด้านบนของผ้า และร้อยเข้ากับรางม่านให้เห็นชัดเจน เป็นอีกรูปแบบการติดตั้ง ในกรณีที่ไม่เน้นเรื่องการกันแสงมากนัก

ผ้าม่านตาไก่

4. ผ้าม่านพับ

ผ้าม่านพับมีจุดเด่นในเรื่องการพับเก็บของม่าน ที่ค่อนข้างประหยัดพื้นที่และใช้ผ้าน้อยกว่าการติดตั้งประเภทอื่นๆ เหมาะกับหน้าต่างบานเล็ก ที่ไม่กว้างมาก เพราะม่านพับจะสวยในสัดส่วนที่ความกว้างที่ไม่มากจนเกินไป

ผ้าม่านพับมักใช้กับหน้าต่างบานเล็กๆ อาจใช้ในบริเวณที่ไม่ต้องการกันแสงมากนัก
(ที่มาภาพ : anmblog.typepad.com)

นอกเหนือจาก ‘ผ้าม่าน’ ที่ถูกกล่าวถึงมาทั้งหมดข้างต้น ทั้งชนิดของผ้า และรูปแบบการติดตั้ง ยังมี ‘ม่าน’ ในรูปแบบอื่นอีกที่ได้รับความนิยม และเหมาะกับการใช้งานในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งในบทความต่อไปถึงคิวที่เราจะมาเล่าถึง ‘ม่าน’ ในแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจ และเหมาะจะเป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวเลือกในการตกแต่งบ้านไม่แพ้ ‘ผ้าม่าน’ แน่นอนครับ ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ไปอ่าน Part 2 กันต่อเลยยย ^^

Related posts
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

พาไปดูเทคโนโลยีล่าสุด “AIS Fibre Home Network Solution” เดินสายไฟเบอร์โปร่งใสทั้งหลัง เน็ตแรง 1Gbps เท่ากันทั้งบ้าน

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

12 ข้อที่ต้องรู้ก่อนจ้างบริษัท Built-in ตกแต่งห้อง!!!

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

7 เทคนิค Life Hack เปลี่ยนห้องขนาดจำกัด ให้จัดพื้นที่ได้เยอะขึ้น

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

สร้างบ้านแบบล้ำๆ ด้วยเทคโนโลยี 3D-PRINTED อยู่ได้จริงไม่จกตา!