เมื่อถามว่าใครยืนหนึ่งในวงการค้าปลีกไทย หนึ่งในคำตอบของหลายๆ คน น่าจะเป็น กลุ่มเซ็นทรัล ที่มีแบรนด์ในวงการค้าปลีกมากมาย ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าต่างๆ อีกมากมาย ที่ไม่ได้แค่ปักหลักแค่ในกรุงเทพฯ แต่ยังได้ไปปักหลักอีกหลายจังหวัดมากมาย รวมไปถึงการไปลุยต่างประเทศอีกหลายที่มากมายด้วย ในวันนี้ที่กลุ่มเซ็นทรัลอยู่คู่คนไทยมากว่า 75 ปีแล้ว LivingPop ขอพาทุกคนมาสำรวจแบรนด์ต่างๆ ของกลุ่มเซ็นทรัลกันดีกว่าครับ ว่ามีอะไรบ้าง..

(ขอขอบคุณรูปภาพจากเซ็นทรัลพัฒนา)
พาสำรวจอาณาจักรเซ็นทรัล
ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ๆ คือ..
- เซ็นทรัลรีเทล ผู้นำด้านวงการค้าปลีกในหลากหลายแบรนด์ หลากหลายประเภท ในไทย เวียดนาม และอิตาลี รวมไปถึงการทำศูนย์การค้าด้วย
- เซ็นทรัลพัฒนา ผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ออฟฟิศ โรงแรม ซึ่งภายหลังก็หันมาทำอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยด้วย
- เซ็นทารา และ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ผู้นำด้านการโรงแรม รีสอร์ต และร้านอาหารหลากหลายแบรนด์
- เซ็นทรัล ไฟแนนเชียล โปรดักต์ ให้บริการด้านการเงินต่างๆ ทั้งบริการรับชำระบิล นายหน้าขายประกัน กองทุน รับส่งเงินระหว่างประเทศ รวมไปถึงการทำบัตรของขวัญสำหรับการซื้อสินค้าในเครือเซ็นทรัลรีเทล
- เดอะวัน โปรแกรมสะสมคะแนนและสิทธิประโยชน์ที่เริ่มแรกเป็นเพียงบัตรสะสมคะแนนสำหรับร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัลเท่านั้น แต่ตอนนี้ได้พัฒนาแคมเปญเพื่อใช้ร่วมกับร้านค้าอื่นๆ นอกกลุ่มเซ็นทรัลได้อีกด้วย
- ธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัล ธุรกิจที่กลุ่มเซ็นทรัลและบริษัทในเครือไปจับมือกับพันธมิตรต่างๆ ทั้ง JD Fintech (Dolphin), Grab, Pomelo, Mercular และ Common Ground
- เฟลิซ โฮเทล กรุ๊ป เครือโรงแรมในประเทศญี่ปุ่นที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปร่วมลงทุนด้วย ซึ่งในขณะเดียวกัน เซ็นทาราก็กำลังจะเปิดโรงแรมแห่งแรกในญี่ปุ่น ปี 66 ที่จะถึงนี้
- และกลุ่มเซ็นทรัล (ตัวแม่) เอง ที่พัฒนาศูนย์การค้าหลายๆ แห่ง นอกเหนือจากที่เซ็นทรัลพัฒนาและเซ็นทรัลรีเทลดูแล รวมไปถึงการเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าในยุโรป (ยกเว้นอิตาลี) และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นเจ้าของที่ดินต่างๆ ที่ให้ธุรกิจในเครือมาเช่าไปทำธุรกิจ รวมไปถึงบิ๊กซีบางสาขาที่ยังเช่าที่ดินอยู่ และยังเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟเดอะวินเทจ คลับ ที่อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการอีกด้วย
ใน 8 กลุ่มที่ได้กล่าวไป ก็มีหลากหลายแบรนด์มากมาย มีทั้งแบรนด์ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า และแบรนด์อื่นๆ อีกเพียบ! ซึ่งคำว่า “เซ็นทรัล” ก็ถูกไปเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ แบรนด์ โดยเฉพาะ “แบรนด์ศูนย์การค้า” และ “แบรนด์ห้างสรรพสินค้า” ที่สร้างความสับสนไม่น้อย ว่าเซ็นทรัลที่อยู่ในเซ็นทรัลคือยังไง แล้วโรบินสันที่อยู่ในเซ็นทรัล คือมีทั้งเซ็นทรัลและโรบินสันอยู่ในที่เดียวกันเลยรึเปล่า งั้นก่อนเราจะไปดูภาพรวมของแบรนด์ในกลุ่มเซ็นทรัลเรามาดูเฉพาะแบรนด์ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลมีอะไรบ้าง และแตกต่างกันยังไง..

(ขอขอบคุณรูปภาพจากกลุ่มเซ็นทรัล)
ศูนย์การค้า – ห้างสรรพสินค้า ต่างกันยังไง?
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆ คนจะสับสนว่าศูนย์การค้า กับห้างสรรพสินค้าต่างกันยังไง เพราะโดยทั่วไป ก็มักจะใช้คำว่าคนเราก็มักจะเรียก “ห้าง” เป็นชื่อเล่นเรียกแทนทั้งศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า อีกทั้งห้างสรรพสินค้าเกือบทุกที่ ก็มักจะตั้งอยู่ในศูนย์การค้าอีกด้วย
อธิบายๆ แบบสั้นๆ เข้าใจง่ายก็คือ..
- ห้างสรรพสินค้า คือร้านค้าขายปลีกขนาดใหญ่ที่มีการแบ่งสินค้าเป็นหมวดหมู่ไปอยู่ตามแผนกต่างๆ ซึ่งสินค้ามักจะเป็นเสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องประดับ ของใช้ภายในบ้าน โดยสินค้าจำพวกอุปโภคบริโภคอย่างอาหาร ของสด สินค้าอุปโภคที่ใช้แล้วหมดอย่างผงซักฟอก สบู่ ยาสระผม จะไปอยู่ในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตแทน
- ศูนย์การค้า คืออาคารขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าต่างๆ ตั้งอยู่ภายในนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ในนั้นด้วย
ศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัล ครอบคลุมทุกระดับขนาดเมือง
สำหรับห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในไทยจะดำเนินงานผ่านเซ็นทรัลรีเทล ทั้งแบรนด์เซ็นทรัลและโรบินสัน ส่วนในฝั่งศูนย์การค้าจะมีทั้งฝั่งเซ็นทรัลพัฒนาและเซ็นทรัลรีเทลเป็นเจ้าของ ซึ่งแบ่งกันด้วยขนาดของศูนย์การค้าตามขนาดของเมืองที่ไปตั้งอยู่
- หัวเมืองหลัก เซ็นทรัลพัฒนาจะเข้าไปพัฒนาศูนย์การค้า โดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลหรือโรบินสันไปตั้งอยู่ในนั้น (แต่บางสาขาก็ไม่มีห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ในนั้น เพราะใกล้กับห้างสรรพสินค้าสาขาเดิมที่มีอยู่แล้ว อย่างเซ็นทรัลศรีราชาที่อยู่ใกล้กับโรบินสันในแปซิฟิคพาร์ค และเซ็นทรัลจันทบุรีที่อยู่ใกล้กับโรบินสันในโรบินสันไลฟ์สไตล์จันทบุรี)
- หัวเมืองรอง เซ็นทรัลรีเทลเข้าไปพัฒนาศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ พร้อมๆ กับห้างสรรพสินค้าโรบินสัน
- เมืองขนาดเล็ก แต่เดิม จะให้เซ็นทรัลรีเทล โดยท็อปส์ไปพัฒนาศูนย์การค้าท็อปส์พลาซ่าพร้อมกับไฮเปอร์มาร์เก็ตท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ แต่ตอนนี้ทางกลุ่มเซ็นทรัลอยู่ในระหว่างทบทวนแผน ทำให้ยังไม่แน่ไม่นอนสำหรับทิศทางต่อไปของท็อปส์พลาซา
- เมืองขนาดเล็ก (ยิ่งกว่า) บุกด้วยแบรนด์ go! เป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมๆ โดยเซ็นทรัลรีเทล ซึ่งจะขอเล่าเต็มๆ ในบทความนี้ต่อไป

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Brand Buffet)
ในหลายๆ สาขาของห้างสรรพสินค้าทั้งเซ็นทรัลและโรบินสันที่ตั้งในลักษณะอยู่นอกศูนย์การค้า (สแตนด์อโลน) จะมีร้านค้าตั้งอยู่ภายในนั้นด้วย อย่างโรบินสันบางรัก เซ็นทรัลป่าตอง และหลายๆ สาขาของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสันก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนาเสมอไป นอกจากหลายๆ สาขาจะเป็นสแตนด์อโลนแล้ว ก็มีหลายสาขาเช่นกัน ที่ไปตั้งอยู่ในศูนย์การค้าของคนอื่น อย่างโรบินสันในซีคอนสแควร์ ซีคอนบางแค แฟชั่นไอส์แลนด์ จังซีลอนภูเก็ต อยุธยาพาร์คซิตี้ แปซิฟิคพาร์คศรีราชา หรือจะเป็นเซ็นทรัลที่อยู่ในสีลมคอมเพล็กซ์ กาดสวนแก้วเชียงใหม่ แต่ก็มีอยู่ศูนย์การค้านึง ที่มีทั้งเซ็นทรัลและโรบินสัน (รวมไปถึงบิ๊กซีที่ในอดีตเป็นของเซ็นทรัล) มาอยู่ในที่เดียวกัน จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจากฟิวเจอร์พาร์ครังสิต
นอกจากห้างและศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลแล้ว กลุ่มค้าปลีกอื่นๆ ก็มักจะให้ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าใช้ชื่อแบรนด์เหมือนกัน อย่างเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ ที่ใช้ชื่อเดียวกันทั้งห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าพารากอน ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าสยามพารากอน หรือห้างท้องถิ่นอย่างเสริมไทย โอเชี่ยน ไดอาน่า ไชยแสง อิมพีเรียล ก็ใช้ชื่อแบรนด์กับทั้งสองอย่างเช่นกัน

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก กลุ่มเซ็นทรัล)
บ๊ายบาย เซ็นทรัลพลาซา-เฟสติวัล ต่อไปนี้เรียกเซ็นทรัลเฉยๆ
ที่ผ่านมา ฝั่งศูนย์การค้าของเซ็นทรัล ชื่อแบบจริงๆ จะไม่ได้เรียกว่าเซ็นทรัลเฉยๆ แต่จะเรียกเป็น เซ็นทรัลพลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล แล้วแต่สาขาไป เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับฝั่งห้างสรรพสินค้าด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 ตั้งอยู่ในเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 แต่ในมุมของลูกค้าทั่วไป ก็เรียกกันสั้นๆ ว่าเซ็นทรัลอยู่ดี ไม่ได้เรียกเต็มว่าเซ็นทรัลพลาซา ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลพัฒนาได้รีแบรนด์ศูนย์การค้าทั้งหมดทั่วประเทศ ให้เหลือแต่คำว่าเซ็นทรัลเฉยๆ โดยที่ไม่มีคำว่าพลาซากับเฟสติวัลต่อท้ายอีกต่อไปแล้ว
จุดเริ่มต้นของศูนย์การค้าเซ็นทรัล
จากปี 2490 ที่กลุ่มเซ็นทรัลเกิดขึ้นมา ซึ่งเริ่มต้นจากธุรกิจค้าปลีกเล็กๆ ในชื่อห้างเซ็นทรัลที่ถนนสี่พระยา จนพัฒนาเป็นรูปแบบห้างสรรพสินค้าจริงๆ จังๆ ที่สาขาวังบูรพาในปี 2499 จากนั้นในปี 2523 ก็ได้ก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัล พลาซา จำกัด ซึ่งนำมาสู่การเปิดตัวศูนย์การค้าแบบมิกซ์ยูสแห่งแรกของไทยในปี 2524 นั่นก็คือเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว (เปิดอย่างเป็นทางการในปี 2526) ทำให้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาใหม่แห่งนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะห้างสรรพสินค้าเหมือนสาขาก่อนๆ แต่มีพื้นที่พลาซาในส่วนของศูนย์การค้าที่รวบรวมร้านค้าต่างๆ ไว้ที่เดียวกันอีกด้วย อีกทั้งยังมีอาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม และโรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซา (โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ในปัจจุบัน) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโรงแรมของกลุ่มเซ็นทรัลอีกด้วย เพราะโรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมแห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ต่อมาได้พัฒนาและขยายสาขาไปอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ

เป็นสภาพภายนอกของอาคารตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2524 ก่อนที่จะรีโนเวตในปี 2554
(ขอขอบคุณรูปภาพจากบล็อกใน Oknation ของคุณ apichart4590)
จนถึงปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้พัฒนาศูนย์การค้ามากมายหลากหลายพื้นที่ ซึ่งในช่วงแรกๆ สาขาส่วนใหญ่จะใช้ชื่อแบรนด์ว่าเซ็นทรัลพลาซา แต่ก็มีบางสาขาที่หลุดธีมไป ทั้งเซ็นทรัลเวิลด์พลาซา เซ็นทรัลทาวน์ รัตนาธิเบศร์ เซ็นทรัลซิตี้ บางนา เซ็นทรัลเฟสติวัลเซ็นเตอร์ พัทยา (ที่นิยมเรียกกันว่าบิ๊กซี พัทยาเหนือ) ทำให้ภายหลังเซ็นทรัลพัฒนาได้ปรับรูปแบบแบรนด์ใหม่เป็น เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา และเซ็นทรัลเฟสติวัล ก่อนที่จะตัดคำว่า พลาซา-เฟสติวัล ออก อย่างที่ได้เล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยสรุปสุดท้าย ปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้มีแบรนด์ศูนย์การค้าต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศูนย์การค้าที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองจังหวัดต่างๆ รีแบรนด์จากเดิมที่เป็นเซ็นทรัลพลาซา-เฟสติวัล
- เซ็นทรัลเวิลด์ ศูนย์การค้าระดับ Flagship ใจกลางกรุงเทพฯ พัฒนาต่อจากเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่เซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าซื้อกิจการ
- เซ็นทรัลภูเก็ต ศูนย์การค้าระดับ Flagship เช่นกันที่ภูเก็ต มีทั้งฝั่งเก่าและฝั่งใหม่ โดยฝั่งเก่า แต่เดิมเป็นของเซ็นทรัลรีเทล
- เซ็นทรัลวิลเลจ เอาต์เลตแห่งแรกของเซ็นทรัลพัฒนา โดยร่วมทุนกับ มิตซูบิชิ เอสเตท
- เซ็นทรัลไอซิตี้ ศูนย์การค้าแห่งแรกนอกประเทศไทยของเซ็นทรัลพัฒนา ร่วมทุนกับ i-Berhad ตั้งอยู่ที่เมืองชาห์อลัม ปริมณฑลของกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
- เซ็นทรัล พาร์ค ศูนย์การค้าในโปรเจกต์มิกซ์ยูส ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ร่วมทุนกับดุสิตธานี (ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนา ถือหุ้นในดุสิตธานี 17.09%)
- เซ็นทรัลเอ็มบาสซี (เฉพาะเฟสใหม่ที่กำลังจะก่อสร้าง) เป็นการร่วมทุนระหว่างเซ็นทรัลพัฒนา กลุ่มเซ็นทรัล (ตัวแม่) และฮ่องกงแลนด์
- เดอะแกรนด์ พระราม 9 เมืองขนาดย่อมๆ ที่มีเซ็นทรัลพระราม 9 คอนโด โรงแรม อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าขนาดย่อมๆ รวมกันอยู่ในนี้ (รวมไปถึงซุปเปอร์ทาวเวอร์ ที่กลายร่างเป็นจ๊อดแฟร์ไปแล้ว)
- ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ ที่เซ็นทรัลพัฒนาได้จากการเข้าซื้อกิจการสยามฟิวเจอร์
- เมกา บางนา และ เมกาซิตี้ บางนา ร่วมทุนกับอิคาโน่ (เจ้าของอิเกียในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก) และเอส.พี.เอส. โกลเบิลเทรด (ซัปพลายเออร์หลักของอิเกียในไทย) (มีแววเป็นไปได้ว่าเมกา บางนา จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็นทรัล … รอติดตามกันต่อไป)
- เอสพลานาด ศูนย์การค้าที่เน้นไปในด้านความบันเทิง ทั้งโรงหนัง โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียร์เตอร์ ของซีเนรีโอ
- มาร์เช ทองหล่อ เฉพาะส่วนที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ โดยส่วนที่เป็นอาคารสำนักงาน จะเป็นของยูนิเวนเจอร์ (เครือ TCC ไทยเบฟ)
- พาวเวอร์เซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าที่รวมไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าต่างๆ เข้าด้วยกัน (สาขาเอกมัยจะรวมตึกกัน แต่สาขาเพชรเกษม จะแยกเป็นตึกๆ ไป บิ๊กซีอยู่ตึกนึง เมเจอร์อยู่ตึกนึง แมคโครอยู่ตึกนึง)
- คอมมูนิตี้มอลล์ ในแบรนด์ ลาวิลลา (อารีย์) อเวนิว และ มาร์เก็ตเพลส
- และศูนย์การค้าใหม่ที่เซ็นทรัลพัฒนาประมูลสิทธิ์การเช่าที่ดินในสยามสแควร์ (สกาลาเก่า) จาก PMCU มาได้ อันนี้ต้องรอติดตามกันต่อว่าจะพัฒนาเป็นอะไร

ทำไมมีห้างเซ็นทรัลแล้ว ยังมีโรบินสันอีก?
แต่เดิม ห้างสรรพสินค้าโรบินสันได้ก่อตั้งขึ้นปีใน 2522 โดยเปิดสาขาแรกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าวิคทอรี่ ฮับ ใกล้ป้ายรถเมล์ฝั่งเกาะดินแดง) เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2538 ทำให้เจ้าของเดิมต้องขายกิจการให้กับกลุ่มเซ็นทรัล แต่เนื่องจากกลุ่มเซ็นทรัลก็มีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอยู่แล้ว ก็เลยวางโพซิชันของแบรนด์ต่างกัน โดยให้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลจับกลุ่มลูกค้าระดับบน มีความหรูหรากว่า ส่วนโรบินสันจับลูกค้าระดับกลาง มีความหรูหราที่น้อยกว่าเซ็นทรัล
ส่วนเจ้าของเดิม อย่างคุณมานิต อุดมคุณธรรม ปัจจุบันมาเป็นผู้บริหารของโฮมโปรและสปอร์ตเวิลด์ อีกทั้งยังมีธุรกิจคอนโดตากอากาศที่เขาใหญ่ โคราช ในชื่อว่าสวอนเลคอีกด้วย นอกจากโรบินสันที่คุณมานิตจะให้กลุ่มเซ็นทรัลดูแลต่อแล้ว แบรนด์เสื้อผ้าอย่าง S’Fare ที่คุณมานิตเป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันแบรนด์นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป (ตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในเครือเซ็นทรัลรีเทล) อีกด้วย
ที่ผ่านมา เริ่มมีการรีแบรนด์ห้างสรรพสินค้าโรบินสันในบางสาขาที่มีกำลังซื้อสูง ให้เป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแทน ทั้งสาขาเมกาบางนา อุดรธานี และขอนแก่น ส่วนสาขาไหนที่กำลังซื้อสูง แต่ยังไม่เท่ากับระดับของเซ็นทรัล จะได้ยกระดับเป็นโรบินสันป้ายดำ แทนระดับเดิมที่เป็นป้ายเขียว อย่างสาขา แปซิฟิคพาร์คศรีราชา เซ็นทรัลอยุธยา โรบินสันไลฟ์สไตล์บ้านฉางระยอง และฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Sanook)

(ขอขอบคุณรูปภาพจากกลุ่มเซ็นทรัล)


(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage Tops Thailand)
จากห้างเซ็นทรัลรุ่นเก่า แปลงโฉมมาเป็นศูนย์การค้า
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หลายๆ ทำเลของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเริ่มไม่ได้รับความนิยม ห้างก็ต้องปิดตัวไป แต่ถ้าเลิกกิจการไปเฉยๆ ก็คงจะดูง่ายไป ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลก็เลยส่งไม้ต่อให้กับกลุ่มเซ็นทรัลที่เป็นบริษัทแม่ใหญ่สุดเลย ไปพัฒนาเป็นศูนย์การค้ารูปแบบต่างๆ แทน ไม่ว่าจะเป็น
- เซ็นทรัล สาขาวังบูรพา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแห่งแรก เปลี่ยนเป็นไชน่าเวิลด์ วังบูรพา ศูนย์รวมร้านขายผ้าต่างๆ มากมาย ซึ่งย่านวังบูรพาก็ขึ้นชื่อเรื่องผ้าอยู่แล้ว
- เซ็นทรัล สาขาวงศ์สว่าง เปลี่ยนเป็นวงศ์สว่าง ทาวน์เซ็นเตอร์ โดยมีไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างบิ๊กซีอยู่ด้วย และล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อเป็น มาร์เก็ตเพลส วงศ์สว่าง โดยเป็นการยืมชื่อจากเซ็นทรัลพัฒนาที่ได้แบรนด์นี้จากการซื้อกิจการสยามฟิวเจอร์มา
- เซ็นทรัล สาขาหัวหมาก เปลี่ยนเป็นหัวหมาก ทาวน์เซ็นเตอร์ มีไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นบิ๊กซีเช่นกัน
- เซ็นทรัล สาขาลาดหญ้า เปลี่ยนมาเป็นโรบินสันแทน แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นแพลตฟอร์ม วงเวียนใหญ่อีกครั้งนึง โดยที่นี่เป็นศูนย์รวมสถาบันกวดวิชามากมาย ซึ่งหลายๆ สถาบันก็ย้ายมาจากที่เดิม คืออาคารเอ็มเพลส ใกล้สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ (รถไฟสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย) จนปัจจุบันอาคารเอ็มเพลสก็ร้างไปแล้ว
- เซ็นทรัล สาขาสีลม เปลี่ยนมาเป็นเซ็นทรัลสีลมทาวเวอร์ เป็นอาคารสำนักงานของบริษัทต่างๆ ในกลุ่มเซ็นทรัล และด้านล่างมีท็อปส์ มาร์เก็ต และร้านอาหาร

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage เมืองไทยสมัยก่อน)

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage Market Place Wongsawang)
นอกจากหลายๆ แห่งที่กลุ่มเซ็นทรัลได้เปลี่ยนจากห้างเซ็นทรัลมาเป็นศูนย์การค้าต่างๆ แล้ว ก็มีอีกหลายแห่งที่กลุ่มเซ็นทรัลริเริ่มขึ้นมาใหม่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น..
- จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ ศูนย์รวมร้านค้าและบริการที่เกี่ยวกับอัญมณีขนาดใหญ่ อาคารสำนักงานและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ตั้งอยู่ตรงข้ามเซ็นทรัลสีลมทาวเวอร์ ซึ่งย่านสีลม – บางรักก็ขึ้นชื่อเรื่องอัญมณีอยู่แล้ว โดยที่นี่เป็นอาคารสูงกว่า 58 ชั้น เคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในไทยด้วย ในปี 2539 – 2540 ก่อนที่จะถูกตึกไบหยก 2 แย่งชิงตำแหน่งไปในภายหลัง
- บางกอกแฟชั่นเอาต์เล็ต เอาต์เล็ตกลางใจเมืองแห่งแรงของกรุงเทพฯ โดยแบ่งบางส่วนของ 5 ชั้นด้านล่างของจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์มาเปลี่ยนโฉมเป็นเอาต์เล็ต ภายในมีแบรนด์ต่างๆ จากเซ็นทรัลรีเทลมาเปิดร้านเอาต์เล็ตต่างๆ มากมาย ทั้งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ซูเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ รวมไปถึงงานอีเวนต์ลดราคาที่ผลัดเปลี่ยนกันมาจัดอยู่เรื่อยๆ ทั้งจากโรบินสัน ออฟฟิศเมท และท็อปส์
- บ้านสีลม คอมมูนิตี้มอลล์เล็กๆ น่ารักๆ ข้างๆ จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ มีร้านอาหารอร่อยๆ และคาเฟ่ร้านกาแฟน่านั่งสบายๆ มารวบรวมกันอยู่ที่นี่
- ท็อปส์ มาร์เก็ตเพลส อุดมสุข ต่อยอดจากแบรนด์ท็อปส์ มาร์เก็ต แต่บริษัทแม่อย่างกลุ่มเซ็นทรัลมาเป็นผู้บริหารที่นี่แทนเซ็นทรัลฟู้ดรีเทล (ชื่ออย่างเป็นทางการของกลุ่มท็อปส์ที่อยู่ภายใต้เซ็นทรัลรีเทล) โดยที่นี่จะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ในย่านชุมชนอย่างอุดมสุข
- จริงใจเซ็นทรัล ตลาดนัดเล็กๆ น่ารักๆ รวบรวมสินค้าต่างๆ จากทั้งเชียงใหม่มาอยู่ที่นี่ ทั้งงานคราฟต์ งานแฮนด์เมด สินค้าเกษตร ผักผลไม้จากเกษตรกร ตั้งอยู่ที่ย่านคำเที่ยง ถนนอัษฎาธร เชียงใหม่
- ปอร์โต เดอ ภูเก็ต คอมมูนิตี้มอลล์เล็กๆ สไตล์สบายๆ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยว
- วงศ์อมาตย์ บีช วิลเลจ คอมมูนิตี้มอลล์แนวโอเพนแอร์ติดชายหาดที่พัทยา คาดว่าจะเปิดตัวครั้งแรกในช่วงเดือนธันวาคมนี้
- เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มเซ็นทรัล ในการเป็นร้านขายหนังสือ และสินค้านำเข้าต่างๆ ตั้งอยู่ในย่านบางรัก-เจริญกรุง เปิดขึ้นในปี 2493 แต่กิจการของกลุ่มเซ็นทรัลก็ได้ขยายโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ร้านขายหนังสือแห่งนี้ได้ปิดตัวลง หลายสิบปีผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลได้มีการปรับปรุงอาคารแห่งนี้ให้ขึ้นมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง โดยมีทั้งพื้นที่นิทรรศการที่เล่าความเป็นมาของกลุ่มเซ็นทรัล ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร มิวสิกบาร์ และคาเฟ่
- เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ศูนย์การค้าสุดหรูที่เป็นส่วนต่อขยายมาจากเซ็นทรัลชิดลมที่เป็นห้างสรรพสินค้า ด้านบนของศูนย์การค้าเป็นโรงแรม พาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ แต่เดิมโครงการนี้บริหารงานโดยเซ็นทรัลรีเทล แต่ในช่วงที่เซ็นทรัลรีเทลจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เซ็นทรัลรีเทลได้เอาเซ็นทรัลเอ็มบาสซีไปให้บริษัทแม่อย่างกลุ่มเซ็นทรัลบริหารงานแทน

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage Central: The Original Store)

แฟชั่นไอส์แลนด์ ศูนย์การค้าของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่จริงๆ แล้ว เซ็นทรัลก็ถือหุ้นอยู่
นอกจากฟิวเจอร์พาร์ครังสิตที่มีสองห้างสรรพสินค้าอย่างเซ็นทรัลและโรบินสันอยู่ด้วยกันแล้ว จริงๆ ก็ยังมีอีกศูนย์การค้านึงที่เซ็นทรัลและโรบินสันเคยอยู่ด้วยกันมาก่อน ก็คือแฟชั่นไอส์แลนด์ เป็นศูนย์การค้าของ บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ที่กลุ่มเซ็นทรัลและโรบินสัน (ตั้งแต่ที่โรบินสันยังไม่ได้เป็นของเซ็นทรัล) เข้าไปร่วมลงทุนร่วมกับตระกูลอัศวโภคิณในนามส่วนตัว โดยที่ฝั่งอัศวโภคิณเป็นผู้บริหารโครงการ กลุ่มเซ็นทรัลและโรบินสันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แรกเริ่มที่นี่ยังมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอยู่ แต่ในช่วงปี 2543 – 2544 (หลังจากที่โรบินสันเป็นของกลุ่มเซ็นทรัลแล้ว) กลุ่มเซ็นทรัลได้ตัดสินใจปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่นี่ไป โดยเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัลพาวเวอร์เซ็นเตอร์แทน ซึ่งภายในนั้นจะประกอบไปด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างบิ๊กซี รวมไปถึงเพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส และร้านค้าอื่นๆ ของกลุ่มเซ็นทรัลแทน ปัจจุบัน แบรนด์เซ็นทรัลพาวเวอร์เซ็นเตอร์ไม่มีแล้ว แต่บิ๊กซี เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต และบีทูเอส ยังอยู่ในแฟชั่นไอส์แลนด์เหมือนเดิม
ตัวสยามรีเทลฯ เอง นอกจากจะเป็นเจ้าของแฟชั่นไอส์แลนด์แล้ว ก็ยังเป็นเจ้าของเดอะพรอมานาด ไลฟ์เซ็นเตอร์สาทร และเทอมินัล 21 เฉพาะสาขาโคราช อีกด้วย ส่วนเทอมินัล 21 สาขาอื่นๆ จะเป็นของบริษัทย่อยและกองทรัสต์ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทของตระกูลอัศวโภคิณ
รู้หรือไม่ เดอะมอลล์ก็ต้องซื้อสินค้าจากเซ็นทรัลไปขายนะ
ในเครือเซ็นทรัลรีเทล มีอีกบริษัทนึงที่หลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อ อย่างเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG) ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ต่างๆ มากมายในประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องสำอาง นาฬิกา เปียโน ไปจนถึงเครื่องชั่งน้ำหนัก และเครื่องคิดเลข อย่างแบรนด์ Lee, Fitflop, Dyson, Casio, Guess, Tanita, G200, Hush Puppies และอีกมายมาย (ในยุคนึง CMG เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายมือถือโนเกียด้วย!) ซึ่งนอกจาก CMG แล้ว ก็ยังมีซีอาร์ซี สปอร์ต (บริษัทแม่ของซูเปอร์สปอร์ต) เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแนวกีฬาและรองเท้าในแบรนด์ต่างๆ อย่าง Cross, Fila, New Balance และอีกมากมาย จึงทำให้ห้างสรรพสินค้าอื่นๆ นอกจากเซ็นทรัล โรบินสัน ทั้งกลุ่มเดอะมอลล์ สยามพิวรรธน์ หรือห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ต้องซื้อสินค้าจากเซ็นทรัลไปจำหน่ายด้วยนั่นเอง

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Central Retail Company Profile 2022)
go! แบรนด์ใหม่ อีโคโนมีคลาสจากเซ็นทรัล ลุยตั้งแต่รีเทล ศูนย์การค้า ยันโรงแรม
ก่อนจะเล่าถึง go! ต้องขอเท้าความไปถึงบิ๊กซีก่อน บิ๊กซีเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่กลุ่มเซ็นทรัลสร้างขึ้นมากับมือในประเทศไทย แต่พอประเทศไทยประสบพบเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ในปี 2542 ได้ขายหุ้นกว่า 66% ให้กับคาสิโน เชนไฮเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศฝรั่งเศส ในช่วงนี้เอง ที่บิ๊กซีอยู่ในมือของคาสิโน คาสิโนก็ได้นำแบรนด์บิ๊กซีไปเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนามอีกด้วย จนถึงปี 2559 คาสิโนได้ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นผู้เล่นไฮเปอร์มาร์เก็ตในภูมิภาคนี้ ทำให้ได้ขายกิจการออกไป โดยแบ่งเป็นบิ๊กซีในไทย และบิ๊กซีในเวียดนาม สำหรับในไทย ทางบีเจซี (กลุ่มทีซีซี-ไทยเบฟ) เป็นผู้ชนะประมูลได้บิ๊กซีไป โดยที่ทางบีเจซีได้ซื้อหุ้นของบิ๊กซีที่เหลือ ในส่วนที่กลุ่มเซ็นทรัลถืออยู่ทั้งหมดมาเป็นของบีเจซีเองอีกด้วย ส่วนบิ๊กซีในประเทศเวียดนาม ทางกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ชนะประมูลไป
จากจุดนี้เอง กรรมสิทธิ์ในการใช้แบรนด์ “บิ๊กซี” ถูกรวมอยู่ในกิจการบิ๊กซีประเทศต้นกำเนิดอย่างประเทศไทย ทำให้กรรมสิทธิ์แบรนด์บิ๊กซีนี้ถูกตกเป็นของบีเจซีอีกด้วย ส่งผลให้บิ๊กซีในเวียดนามของกลุ่มเซ็นทรัลต้องทยอยเลิกใช้แบรนด์เดิม และเปลี่ยนเป็นแบรนด์ใหม่ ก่อนที่จะส่งแบรนด์บิ๊กซีคืนกลับไปให้บีเจซี ส่วนแบรนด์ใหม่ที่กลุ่มเซ็นทรัลเลือกนำมาใช้แทนบิ๊กซี นั่นก็คือ โก! แบรนด์ใหม่ที่กลุ่มเซ็นทรัลปลุกปั้นขึ้นมาใหม่เอง โดยแบรนด์ โก! ในเวียดนาม ถูกแบ่งออกเป็น 3 แบรนด์ย่อยๆ ดังต่อไปนี้
- โก! มอลล์ (GO!) ศูนย์การค้าที่มีทั้งโซนพลาซาและไฮเปอร์มาร์เก็ตตั้งอยู่ด้านใน พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือบิ๊กซีสาขาใหญ่ๆ ที่ในโซนพลาซามีร้านค้าร้านอาหารมากมาย
- โก! ไฮเปอร์มาร์เก็ต (GO🛒) ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ตั้งอยู่ในโก! มอลล์ และตั้งอยู่ตามศูนย์การค้าอื่นๆ
- มินิ โก! (go!) ซูเปอร์มาร์เก็ตที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก เซ็นทรัลรีเทลเวียดนาม)
จากแบรนด์ go! ตัวเล็กนี้ กลุ่มเซ็นทรัลก็ได้นำแบรนด์นี้เข้ามาในประเทศไทยด้วย โดยแบรนด์นี้จะเน้นไปที่ราคาประหยัด เข้าถึงง่าย ครอบคลุมตั้งแต่รีเทล ศูนย์การค้าขนาดเล็ก ไปจนถึงโรงแรม
- โก! (go!) ศูนย์การค้าขนาดย่อม อยู่ตามเมืองรอบนอกของจังหวัดต่างๆ เพิ่งเปิดสาขาแรกไป ที่อำเภอจันดี จังหวัดนครศรีธรรมราช ในศูนย์การค้านี้จะมีร้านแบรนด์โก! แบรนด์ต่างๆ รวมกันอยู่ในนี้ รวมไปถึงสนามเด็กเล่นในร่ม ซันเดย์ (Sunday) และร้านอาหาร แอนด์จอย (&Joy) บริหารโดยโรบินสัน ในเครือเซ็นทรัลรีเทล
- โก! ไฮเปอร์มาร์เก็ต (go! Hypermarket) พื้นที่ขายสินค้าที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าโก! เน้นไปที่เสื้อผ้าแฟชั่น ของใช้ต่างๆ อาหาร ของสด ถึงแม้ว่าจะใช้ชื่อว่าไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่จริงๆ แล้วขนาดพอๆ กับซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น ปกติแล้วถ้าเป็นแนวนี้จะบริหารโดยท็อปส์ แต่ในแบรนด์ของ go! นี้ จะบริหารโดยโรบินสัน ในเครือเซ็นทรัลรีเทล
- โก! ว้าว (go! WOW) ร้านขายของเบ็ดเตล็ด แนว MR.DIY บริหารโดยซีอาร์ซี ไทวัสดุ ในเครือเซ็นทรัลรีเทล มีสาขามากมายทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในศูนย์การค้าโก! ศูนย์การค้าต่างๆ และสแตนด์อโลน โดยประเดิมสาขาแรกที่บีเอ็นบี โฮม ขอนแก่น
- โก! เพาเวอร์ (go! Power) ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แค่มีบัตรประชาชนก็ผ่อนได้ บริหารโดยเพาเวอร์บาย ในเครือเซ็นทรัลรีเทล มีสาขาทั่วประเทศเช่นเดียวกับ โก! ว้าว เริ่มต้นจากสาขาแรกที่หัวหิน โดยเป็นการปรับเปลี่ยนร้านเพาเวอร์บายเดิมมาเป็น โก! เพาเวอร์
- โก! โฮเทล (go! Hotel) โรงแรมระดับบัดเจ็ดพรีเมียม ราคาประมาณ 1,000 บาทต่อคืน เหมาะกับการหาที่พักชั่วคราวระหว่างการเดินทาง บริหารโดยเซ็นทรัลพัฒนาในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ และเซ็นทาราในส่วนของการให้บริการโรงแรม ประเดิมสาขาแรกที่โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ บ่อวิน ซึ่งจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช)
กลุ่มเซ็นทรัล กับห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในต่างประเทศ
บุกอาเซียน กับสามประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย
หลังจากที่เซ็นทรัลรีเทลได้ไปสร้างห้างสรรพสินค้านอกประเทศไทยแห่งแรกที่จีน และเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าในอิตาลี ก็ได้มาเปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแห่งแรกในจาการ์ตา อินโดนีเซีย ที่แกรนด์ อินโดนีเซีย ศูนย์การค้ากลางใจเมือง (เทียบกับไทย น่าจะประมาณสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์) ในปี 2557 ซึ่งในตอนนั้น ทางเซ็นทรัลรีเทลได้ให้ข่าวว่าจะขยายสาขาให้ครบ 5 สาขาภายในปี 2560 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีศูนย์การค้าเซ็นทรัลเพียงแห่งเดียวในอินโดนีเซีย (สำหรับในประเทศจีน ตอนนี้เซ็นทรัลได้ปิดกิจการหมดแล้ว)
สำหรับในเวียดนาม ได้เริ่มต้นเข้าไปจำหน่ายสินค้าในกลุ่มแฟชั่นก่อน ในปี 2555 และหลังจากนั้น ในปี 2558 เซ็นทรัลรีเทลก็ได้จริงจังในการเข้าสู่เวียดนามมากขึ้น ด้วยเการเข้าซื้อกิจการ เหงียนคิม ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า และ ลานซี มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ตามท้องถิ่นทั่วประเทศ ถัดมา 1 ปี ในปี 2559 เซ็นทรัลรีเทลก็ได้เข้าซื้อบิ๊กซีในประเทศเวียดนาม และได้ทยอยเปลี่ยนเป็น โก! และท็อปส์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าอย่างโรบินส์ (บิดชื่อนิดหน่อยเป็น Robins เพื่อไม่ให้ซ้ำกับห้างในต่างประเทศที่มีการใช้ชื่อว่า Robinson ในหลายแห่ง) และซูเปอร์สปอร์ตอีกด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีบีทูเอสเข้าไปเปิดกิจการด้วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงต้องปิดตัวไป

หลังจากที่เซ็นทรัลรีเทลได้ไปบุกต่างประเทศแล้ว เซ็นทรัลพัฒนาก็ไปลุยต่างประเทศบ้าง โดยประเดิมศูนย์การค้าแรก อย่างเซ็นทรัลไอซิตี้ ร่วมทุนกับกลุ่มไอเบอร์ฮัด (i-Berhad) ตั้งอยู่โครงการไอซิตี้ โปรเจกต์เมืองของกลุ่มไอเบอร์ฮัด ที่เมืองชาห์อลัม ปริมณฑลของกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยที่เซ็นทรัลไอซิตี้นี้ มีเพียงศูนย์การค้าอย่างเดียว ฝั่งเซ็นทรัลรีเทลไม่ได้ไปเปิดร้านค้าและห้างสรรพสินค้าในศูนย์การค้านี้ด้วย ส่วนประเทศเวียดนามที่เซ็นทรัลรีเทลเข้าไปลงทุนอย่างหนักก่อนหน้านี้แล้ว เซ็นทรัลพัฒนาได้บอกว่าอยู่ในช่วงที่กำลังศึกษาตลาดอยู่ กำลังจะเข้าไปลงทุนเร็วๆ นี้

(ขอขอบคุณรูปภาพจากมติชน)
บุกยุโรป ในการเข้าไปซื้อกิจการห้างสรรพสินค้ามากมาย
ในยุโรปนั้น ทางเซ็นทรัลรีเทลได้เข้าไปซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่เดิมต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่ รีนาเซนเต (Rinascente) ประเทศอิตาลี ในปี 2554 อิลลุม (Illum) ประเทศเดนมาร์ก ในปี 2556 และในปี 2558 เข้าซื้อกลุ่มธุรกิจคาเดเว ทำให้ได้เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าในประเทศเยอรมนีทั้ง 3 แบรนด์ ได้แก่ คาเดเว (Kadewe) โอเบอร์พอลลิงเงอร์ (Oberpollinger) และอัลสเตอร์เฮาส์ (Alsterhaus) และเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ก่อนที่เซ็นทรัลรีเทลจะเข้าซื้อขายบนกระดานตลาดหลักทรัพย์ กลุ่มเซ็นทรัลได้มีการจัดพอร์ตธุรกิจใหม่ ทำให้เหลือแต่รีนาเซนเตเท่านั้นที่ยังอยู่ในเครือเซ็นทรัลรีเทล ส่วนห้างสรรพสินค้าแบรนด์อื่นๆ รวมถึงสาขาในอินโดนีเซีย โยกกลับให้ไปเป็นของกลุ่มเซ็นทรัลตัวแม่โดยตรง

(ขอขอบคุณรูปภาพจากเซ็นทรัลรีเทล)
นอกจากนั้น กลุ่มเซ็นทรัลยังได้ร่วมมือกับกลุ่มซิกนา (Signa) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังจากประเทศออสเตรีย ในการเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าโกลบัส (Globus) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2563 และเข้าซื้อกลุ่มธุรกิจเซลฟริดเจสในปี 2564 เพื่อได้เข้าไปเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส (Selfridges) ประเทศอังกฤษ บราวน์ โทมัส (Brown Thomas) ประเทศไอร์แลนด์ อาร์นอตส์ (Arnotts) ประเทศไอร์แลนด์เช่นกัน และเดอ แบเยนคอร์ฟ (de Bijenkorf) ประเทศเนเธอร์แลนด์ อีกด้วย

กลุ่มเซ็นทรัลในจังหวัดใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี
นอกจากในกรุงเทพฯ และปริมาณฑล ที่โครงการของกลุ่มเซ็นทรัลอยู่ตามจุดต่างๆ มากมาย ในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะมีห้างหรือศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลแค่แห่งเดียวในจังหวัดนั้นๆ แต่ 3 จังหวัดนี้ กลุ่มเซ็นทรัลได้ไปบุกอย่างเต็มที่ สร้างศูนย์การค้าในหลายๆ แห่งในจังหวัดนั้นๆ ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี
ชลบุรี เมืองที่เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและเมืองอุตสาหกรรม
ชลบุรี จังหวัดที่ไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดแรกที่เซ็นทรัลพัฒนาได้ออกไปทำศูนย์การค้านอกกรุงเทพฯ ในชื่อเซ็นทรัล เฟสติวัล เซ็นเตอร์ พัทยา เป็นศูนย์การค้าที่ไม่ได้มีห้างสรรพสินค้า แต่มีไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างบิ๊กซี มาอยู่ในนี้แทน (ในปี 2538 ที่ศูนย์การค้านี้เปิด บิ๊กซียังเป็นของกลุ่มเซ็นทรัล) จึงทำให้คนในย่านนี้เรียกกันติดปากว่า “บิ๊กซี พัทยาเหนือ” แทนที่จะเรียกชื่อว่าเซ็นทรัล ผ่านมาหลายปี จนปี 2552 เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้เปิดตัวศูนย์การค้าอีกแห่งนึงในพัทยา ชื่อว่าเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช โดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลตั้งอยู่ภายใน และที่ศูนย์การค้านี้ เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ทำโรงแรมอีกด้วย โดยได้ฮิลตันเข้ามาบริหารงานด้านโรงแรม ซึ่งการมาในศูนย์การค้านี้ ทำให้ศูนย์การค้าแรกที่เปิดไป ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเซ็นทรัลเซ็นเตอร์ พัทยา เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับที่ใหม่ จนถึงปัจจุบัน ทั้งสองที่ก็ได้เปลี่ยนชื่อ จากเซ็นทรัลเซ็นเตอร์ พัทยา เป็นเซ็นทรัล มารีนา และเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช ก็ตัดชื่อให้สั้นลง เป็นเซ็นทรัล พัทยา
ในปีเดียวกันนี้ นอกจากจะเปิดตัวศูนย์การค้าใหม่ที่พัทยาแล้ว เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ขยายตัวออกจากพัทยามาอยู่ที่ตัวเมืองของชลบุรีอีกด้วย กับศูนย์การค้าเซ็นทรัล ชลบุรี (เดิมชื่อเซ็นทรัลพลาซา ชลบุรี) ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแรกของเซ็นทรัลพัฒนาที่มีห้างสรรพค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่ร่วมกัน ฝั่งห้างสรรพสินค้าจะเป็นของโรบินสัน และไฮเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นของคาร์ฟูร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นบิ๊กซีแล้ว) และศูนย์การค้าล่าสุดของเซ็นทรัลพัฒนาอย่างเซ็นทรัล ศรีราชา ก็เพิ่งได้เปิดตัวไปได้ไม่นานเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเดิมทีเป็นโครงการเดิมของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การค้าดาราฮาร์เบอร์ แต่ภายหลังพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคก็ได้ขายกิจการศูนย์การค้านี้ให้กับเซ็นทรัลพัฒนาตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างเลย

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ)
ในฝั่งของโรบินสันเอง ก่อนที่จะมีสาขาห้างสรรพสินค้าที่เซ็นทรัล ชลบุรี ก็ได้เปิดสาขาแรกไปก่อนนานแล้วที่แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา นอกจากในรูปแบบห้างสรรพสินค้าแล้ว ในรูปแบบศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ก็เปิดถึง 2 สาขาด้วยกัน ทั้งอมตะนคร และบ่อวิน
ในฝั่งของกลุ่มเซ็นทรัลตัวแม่เอง ก็ทำศูนย์การค้าในพัทยาเช่นกัน กับ วงศ์อมาตย์ บีช วิลเลจ ศูนย์การค้าชั้นเดียวแบบโอเพนแอร์ แนวเดียวกับปอร์โต เดอ ภูเก็ต ซึ่งจะแตกต่างจากที่ภูเก็ตตรงที่ที่นี่จะติดชายหาดแบบไม่มีถนนกั้นอีกด้วย คาดว่าจะเปิดได้ในช่วงธันวาคมปีนี้ นอกจากนี้ในส่วนของโรงแรมเซ็นทารา ก็มีโรงแรมตั้งอยู่ทั่วทั้งพัทยารวมกันกว่า 8 แห่งอีกด้วย

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage Wongamat Beach Village)
เชียงใหม่ เมืองชั้นนำแห่งภาคเหนือ
เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่สอง ต่อจากชลบุรี ที่เซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าไปทำศูนย์การค้า เริ่มจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต (แรกเริ่มใช้ชื่อว่าเซ็นทรัล แอร์พอร์ต พลาซา เชียงใหม่ และเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ภายหลัง) จากการเข้าซื้อกิจการต่อจากตันตราภัณฑ์ซึ่งเป็นศูนย์การค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว มาพร้อมกับห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และบีเอ็นบี โฮม ที่สร้างภายหลัง ตั้งอยู่ด้านหลังของเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ส่วนอีกมุมหนึ่งของเชียงใหม่ ก็มีศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ (เดิมชื่อเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่) ตั้งอยู่ใกล้แยกศาลเด็ก
ส่วนบริเวณย่านคำเที่ยง ถนนอัษฎาธร ก็มีโครงการเล็กๆ อย่างจริงใจเซ็นทรัล ฟีลตลาดนัดสไตล์สโลวไลฟ์ล้านนา ที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มเซ็นทรัล (ตัวแม่) ซึ่งในจริงใจเซ็นทรัลนี้ ก็จะประกอบไปด้วยสามส่วน ทั้งจริงใจมาร์เก็ต พื้นที่ที่รวมร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านค้าต่างๆ จริงใจวิลเลจ พื้นที่ตลาดนัดที่มีทั้งอาหาร ศิลปะงานออกแบบ และงานฝีมือ รวมไปถึงร้าน good goods ร้านขายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของ CMG และท็อปส์ กรีน ซูเปอร์มาร์เก็ตแนวออร์แกนิค และจริงใจแกลเลอรี พื้นที่จัดแสดงงานศิลป์ นอกจากนี้ในส่วนของโรงแรมเซ็นทารา ก็มีโรงแรมในเชียงใหม่อีก 2 แห่งด้วย
เดิมที ในเชียงใหม่ก็มีห้างสรรพสินค้าอีกหนึ่งแห่ง นั่นก็คือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแห่งแรกที่เกิดขึ้นนอกกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ซึ่งภายหลังห้างสรรพสินค้านี้ก็ได้เปลี่ยนเป็นเซ็นทรัล เอาต์เลตแทน แต่ท้ายที่สุด จากวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเชียงใหม่ ทำให้กาดสวนแก้วต้องปิดกิจการลงชั่วคราว ซึ่งทำให้เซ็นทรัล เอาต์เล็ตต้องปิดตัวตามไปด้วย

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage Jing Jai Central)
ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวแห่งทะเลอันดามัน
ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวขึ้นชื่อของไทย ที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต ซึ่งบริหารโดยเซ็นทรัลรีเทล ไม่ใช่เซ็นทรัลพัฒนาเหมือนกับศูนย์การค้าอื่นๆ โดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลตั้งอยู่ในนั้น ฝั่งตรงข้ามของศูนย์การค้านี้ ฝั่งทิศตะวันออก ก็มีบีเอ็นบี โฮมตั้งอยู่ ซึ่งภายหลังได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาเป็นไทวัสดุอีกด้วย และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้พัฒนาที่ดินฝั่งตรงข้ามของศูนย์การค้าเดิมนี้ ฝั่งทิศตะวันตก เป็นศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง และเซ็นทรัลทรัลพัฒนาก็ได้เช่าศูนย์การค้าฝั่งเดิมจากเซ็นทรัลรีเทลเข้ามารวมกันอีกด้วย จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น เซ็นทรัล ภูเก็ต โดยฝั่งเก่าจะเรียกว่า ฝั่งเฟสติวัล และฝั่งใหม่เรียกว่า ฝั่งฟลอเรสต้า ซึ่งในฝั่งฟลอเรสต้านี้ จะมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่ย้ายจากฝั่งเดิมมาตั้งอยู่ฝั่งนี้ และมีไฮไลต์สำคัญ อย่าง AQUARIA อควาเรียมชื่อดังจากมาเลเซีย มาตั้งอยู่ที่นี่อีกด้วย

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Brand Inside)
ส่วนย่านป่าตอง ย่านขึ้นชื่อของนักท่องเที่ยว ที่เดิมมีห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าจังซีลอนอยู่แล้ว ฝั่งตรงข้ามของศูนย์การค้านี้ ก็มีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลป่าตอง มาตั้งอยู่ตรงนี้ในรูปแบบสแตนด์อโลนอีกด้วย และในอีกฝากหนึ่งของภูเก็ตอย่างย่านบางเทา-เชิงทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัยกำลังซื้อสูง ก็มีศูนย์การค้า ปอร์โต เดอ ภูเก็ต ศูนย์การค้าเล็กๆ ชั้นเดียวแบบโอเพนแอร์ บริหารโดยกลุ่มเซ็นทรัล (ตัวแม่) มาตั้งอยู่ตรงนี้
ตัดมาที่แบรนด์โรบินสัน ก็มีห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โอเชี่ยน ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับโอเชี่ยนช้อปปิ้งมอลล์ ในการเปิดบางสาขาของโรบินสันทั่วภาคใต้ โดยสาขาในภูเก็ตนี้ ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตั้งอยู่ข้างโอเชี่ยนช้อปปิ้งมอลล์ที่แยกตึกกัน และล่าสุด กับศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ถลาง ที่เพิ่งเปิดไปในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง และในอนาคต ก็จะมีศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ที่ย่านเจ้าฟ้า-ฉลอง อีกด้วย นอกจากนี้ในส่วนของโรงแรมเซ็นทารา ก็มีโรงแรมในภูเก็ต ตั้งอยู่ทั่วทั้งเกาะรวมกันกว่า 7 แห่งอีกด้วย

(ขอขอบคุณรูปภาพจากปอร์โต เดอ ภูเก็ต)
6 โครงการใหญ่ที่น่าจับตามองของกลุ่มเซ็นทรัล
นอกจากที่กลุ่มเซ็นทรัลจะมีศูนย์การค้ามากมายทั่วประเทศแล้ว ก็ยังมีโปรเจกต์ขนาดใหญ่อีก 6 แห่งที่น่าจับตามองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โครงการที่พัฒนาร่วมกับกลุ่มดุสิตธานี ในการสร้างศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และคอนโด บนพื้นที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานีแห่งแรก ตั้งอยู่หัวมุมแยกศาลาแดง ตรงข้ามสวนลุมพินี โดยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มเซ็นทรัลเกือบจะได้มีโครงการขนาดใหญ่ที่บริเวณสวนลุมไนท์บาร์ซาเก่าแล้ว (ตรงแยกวิทยุ) โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้ชนะการประมูลการเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อในขณะนั้น) แต่หลังจากที่ประมูลได้ไป ก็ยังไม่ได้พัฒนาโครงการอะไร จนสำนักงานฯ ได้เอาที่ดินคืน แล้วนำไปรวมกับที่ดินแปลงอื่นๆ ที่อยู่ติดกันเพื่อนำมาประมูลใหม่ โดยผู้ประมูลที่ชนะไป นั่นก็คือ ทีซีซี แลนด์ (กลุ่มไทยเบฟ) ที่กำลังพัฒนาเป็นโครงการ One Bangkok ในปัจจุบันนั่นเอง
- เดอะแกรนด์ พระราม 9 โปรเจกต์ยักษ์ที่ตั้งอยู่แยกพระราม 9 ซึ่งเดิมทีเป็นโครงการของจีแลนด์ โดยที่เซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ในการพัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 (ชื่อในขณะนั้น) จนภายหลังเซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าซื้อหุ้นของจีแลนด์จนได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ผู้ถือหุ้นร่วมเดิมอย่างกลุ่มช่อง 7 ไม่ยอมขายหุ้น จึงยังเป็นผู้ถือหุ้นร่วมอยู่) จึงได้โปรเจกต์ยักษ์นี้เข้ามาอยู่ในมือด้วย ในโครงการนี้ก็มีทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 อาคารสำนักงานต่างๆ ทั้งจีทาวเวอร์ เดอะไนน์ทาวเวอร์ส ยูลินีเวอร์ เฮาส์ และคอนโดเบลล์ แกรนด์ พระราม 9 ส่วนซุปเปอร์ทาวเวอร์ อาคารสูงทะลุ 600 เมตร น่าจะพับแผนไปแล้ว ตอนนี้จึงกลายเป็นตลาดนัดจ๊อดแฟร์ไปก่อนชั่วคราว (LivingPop เราเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเดอะแกรนด์ พระราม 9 สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่นี่เลย)
- เซ็นทรัล แบงคอก เป็นชื่อที่เรียกรวมระหว่าง เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลเอ็มบาสซี ซึ่งตอนนี้ ที่ดินด้านหลังเซ็นทรัลเอ็มบาสซีที่กลุ่มเซ็นทรัลตัวแม่ ร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนา และฮ่องกงแลนด์ประมูลได้มาจากสถานทูตอังกฤษ ก็กำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นเซ็นทรัลเอ็มบาสซี เฟส 2 อยู่ หน้าตาจะออกมาจะเป็นยังไง ยังคงต้องรอติดตามกันต่อไป
- เมกาซิตี้ บางนา โปรเกจต์ยักษ์ที่ตั้งอยู่บางนา กม.8 เป็นโครงการใหญ่ที่ครอบตัวศูนย์การค้าเมกาบางนาอีกทีนึง โครงการนี้กลุ่มเซ็นทรัลได้มาจากการที่เซ็นทรัลพัฒนาได้เข้าซื้อบริษัทสยามฟิวเจอร์มา ตัวโครงการนี้นอกจากศูนย์การค้าแล้ว ก็ยังมีคอนโด สวนสาธารณะ และโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งในตอนนี้ตัวศูนย์การค้าเองก็กำลังขยายอาคารให้ใหญ่ขึ้น และจะมีทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม และอื่นๆ อีกมากมายตามมาอีกด้วย เมกาบางนาจะใหญ่ขึ้นอีกเพียงใด ที่จอดรถก็ยังไม่พอสักที
- ที่ดินถนนพหลโยธิน ตรงข้ามกับแดนเนรมิตเก่า ใกล้ BTS สถานีพหลโยธิน 24 เดิมทีเป็นโครงการร่วมระหว่างจีแลนด์และกลุ่มบีทีเอส ถือหุ้นกันคนละครึ่งในบริษัทเบย์วอเตอร์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้ จนจีแลนด์ได้มาเป็นของเซ็นทรัลพัฒนา ทางเซ็นทรัลพัฒนาจึงได้ซื้อหุ้นอีกครึ่งนึงที่เหลือนี้จากบีทีเอสมาด้วย มีการคาดการณ์กันว่า หากเซ็นทรัลพัฒนาไม่สามารถชนะการประมูลการเช่าที่ดินจาก รฟท. ในการทำศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าวได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะมาสร้างศูนย์การค้าใหม่ที่ที่ดินแห่งนี้ แต่หากยังสามารถประมูลได้ ก็ต้องมาดูกันว่าที่ดินแห่งนี้จะพัฒนาเป็นอะไร เพราะตัวที่ดินมีขนาดใหญ่ และยาวจนติดถนนฝั่งวิภาวดีรังสิต ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะไม่ได้มีแค่ศูนย์การค้า แต่จะเป็นมิกซ์ยูสที่มีทั้งอาคารสำนักงานและคอนโดด้วย
- ที่ดินย่านรังสิต หรือที่เรียกกันว่าไทยเมลอน อยู่ห่างจากฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่ดินผืนใหญ่ที่น่าจะพัฒนาศูนย์การค้าและสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ตอนนี้ได้แบ่งที่ดินมาส่วนนึง พัฒนาเป็นไทวัสดุ สาขารังสิต และเมื่อศูนย์การค้านี้ได้ถูกพัฒนาเสร็จสิ้น ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จะไม่ใช่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในย่านนี้เพียงแห่งเดียวอีกต่อไปแล้ว

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก เอกสาร EIA ของโครงการฯ บนศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม)

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook Fanpage Central Group)
ธุรกิจที่ทุกคนรู้จัก แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล
นอกจากกลุ่มเซ็นทรัลแล้ว ตระกูลจิราธิวัฒน์ก็ยังมีกิจการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ไม่ว่าจะเป็น
- โรงแรมศาลา ของคุณทศ จิราธิวัฒน์ ร่วมกับศุกตา จิราธิวัฒน์ ผู้เป็นภรรยา
- ค่ายเพลงสไปร์ซซี่ดิสก์ ของคุณพิชัย จิราธิวัฒน์ ที่มาเป็นนักร้องเองด้วยในชื่อ Unkle T.
- โปเตโต้ คอร์เนอร์ ร้านเฟรนช์ฟรายส์จากฟิลิปปินส์ที่พีช พชร จิราธิวัฒน์นำเข้ามาเปิดในไทย
- เซ็นกรุ๊ป เครือร้านอาหารที่มีแบรนด์ต่างๆ มากมาย อย่างเซ็น (ZEN) อากะ (AKA) ออนเดอะเทเบิล (On The Table) ตำมั่ว เขียง และอีกมากมาย เป็นของคุณสรรคนนท์ จิราธิวัฒน์ และคุณจอมขวัญ จิราธิวัฒน์
- บางกอก โพสต์ ธุรกิจสื่อ ที่มีทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบางกอก โพสต์ และนิตยสารหัวต่างๆ ในไทยอย่าง Elle, Forbes และ Cleo รวมไปถึงเว็บไซต์ข่าวโพสต์ทูเดย์และนิวส์เคลียร์ที่เพิ่งขายให้กับเครือเนชั่นไป โดยบางกอก โพสต์นี้ เป็นธุรกิจเดิมที่มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2489 ซึ่งในช่วงหลังมานี้ ตระกูลจิราธวัฒน์ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมด้วย ระหว่างทางการได้มีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นไปมา ทั้ง South China Morning Post และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายนี้ได้ขายหุ้นออกไปหมดแล้ว จนในปี 2559 คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ จึงได้ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ร่วมกับลูกๆ ของคุณสุทธิเกียรติ และสมาชิกคนอื่นๆ ของตระกูลจิราธิวัฒน์

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Sala Hospitality)
มาลองทำ Quiz กันก่อนจบ
อ่านมาถึงตรงนี้กันแล้วกับเรื่องราวมากมายของกลุ่มเซ็นทรัล เราลองมาตอบ Quiz เล่นๆ กันครับว่า เรารู้จักกลุ่มเซ็นทรัลดีแค่ไหนกัน?
- จุดเริ่มต้นของกลุ่มเซ็นทรัล ห้างเซ็นทรัล และศูนย์การค้าเซ็นทรัล คือที่ไหน?
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลแห่งแรก และห้างเซ็นทรัลแห่งแรกนอกกรุงเทพฯ คือที่จังหวัดไหน?
- ห้างเซ็นทรัลที่เปลี่ยนมาเป็นศูนย์การค้า มีที่ไหนบ้าง?
- ห้างของเซ็นทรัลที่ยุโรปมีแบรนด์อะไรบ้าง ที่ประเทศใดบ้าง?
- เซ็นทรัลรีเทลให้บริการ E-Book และแพลตฟอร์มแต่งนิยายสุดฮิต ชื่อว่าอะไร?
- บริษัทของเซ็นทรัลรีเทลที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนำเข้าสินค้าต่างๆ ที่เดอะมอลล์ยังต้องซื้อไปขายต่อ ชื่อว่าอะไร?
- แบรนด์ใหม่ของเซ็นทรัลอย่าง “โก!” ระหว่าง GO! GO🛒 go! ในเวียดนาม และ go! ในไทย ต่างกันยังไง?
ลองทายกันเล่นๆ นะครับ ใครตอบได้ถูกหมดเลย เป็นแฟนพันธุ์แท้กลุ่มเซ็นทรัลตัวยงเลยนะครับเนี่ย 😆
สรุปส่งท้าย
เป็นยังไงกันบ้างครับกับบทความนี้ ค่อนข้างยาวประมาณนึง แต่เนื้อหาอัดแน่นไปทุกส่วนของกลุ่มเซ็นทรัลเลย กลุ่มเซ็นทรัลก็อยู่คู่กับคนไทยมา 75 ปีแล้ว ก็หวังว่าเราจะได้เจอกับสิ่งใหม่ๆ จากกลุ่มเซ็นทรัลในทุกๆ ปีเรื่อยๆ ตลอดไป ถ้าชอบบทความนี้ ฝากแชร์บทความนี้ต่อด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ต้องขอจบบทความไว้เพียงเท่านี้ ไว้เจอกันบทความใหม่ สวัสดีครับ ^^