fbpx
มาแต่งบ้านกัน

นักแต่งห้องมือใหม่ ตัดสินใจอย่างไร ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ Built-in กับ ลอยตัว

สำหรับชาว Living Pop ที่กำลังตัดสินใจจะตกแต่งคอนโดมิเนียมหรือแต่งบ้าน แต่ยังลังเลอยู่ว่า จะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบไหน จึงจะตอบโจทย์การอยู่อาศัยของตัวเองมากที่สุด ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ built-in (เฟอร์นิเจอร์แบบยึดติดอยู่กับที่) กับเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว

วันนี้ทาง Living Pop ได้รวบรวมเกร็ดความรู้ และเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ทั้งเรื่องความแตกต่าง ข้อดี ข้อด้อย ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ทั้งสองแบบ

เฟอร์นิเจอร์ที่กำลังจะพูดถึง แน่นอนว่าหมายถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักๆ เช่น ตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของ ชั้นวางของ ครัว หรือเตียง เป็นต้น เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ จำพวก เก้าอี้ทำงาน โต้ะหน้าโซฟา น่าจะเป็นประเภท Loose Furniture อยู่แล้ว


เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน (Built-in Furniture)

เฟอร์นิเจอร์แบบ Built-in สามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ เฟอร์นิเจอร์ที่สั่งทำแบบ Custom made โดยจะเน้นไปที่ ขนาดที่พอดี พอเหมาะพอเจาะกับพื้นที่ และดีไซน์ที่ค่อนข้างตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้าน โดยจะติดตั้งยึดติดกับพื้นที่ไปเลย

หนังสือ-ตู้เก็บของ ออกแบบให้เป็นผนังด้านหลังโซฟา ความสูงสุดฝ้าเพดาน มีส่วน Display เล็กน้อยตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่เน้นการเก็บของให้ได้เยอะๆ
หนังสือ-ตู้เก็บของ ออกแบบให้เป็นผนังด้านหลังโซฟา ความสูงสุดฝ้าเพดาน มีส่วน Display เล็กน้อยตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่เน้นการเก็บของให้ได้เยอะๆ
(ที่มาภาพ : Pitchaya Poonsin)

How to

  • วัดขนาดของพื้นที่ ที่จะทำเฟอร์นิเจอร์ built-in ทั้งความกว้าง ความลึก ความสูง ไปจนถึง ตำแหน่งปลั๊ก และสวิตซ์ ในบริเวณที่จะทำด้วยนะ
  • เลือกรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการ ในขั้นตอนนี้หากมีดีไซน์เนอร์ช่วยออกแบบให้ จะเป็นการบอกถึงความต้องการคร่าวๆ ของเจ้าของ เช่น อยากได้ตู้เรียบร้อบๆ ปิดหน้าบานให้หมด หรือตู้เป็นช่องๆ ไม่มีหน้าบาน
  • เลือกวัสดุปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งความสนุกจะอยู่ตรงนี้ เพราะวัสดุมีความหลากหลายมากๆ เช่น ลามิเนตลายไม้ จะไม้อ่อน ไม้เข้ม สามารถเลือกให้เข้ากับดีไซน์ห้องได้เลย หรืออาจจะเป็นลามิเนตลายหิน ลายคอนกรีต ก็จะดูคูลๆ ไปอีกแบบ
  • อินทีเรียดีไซน์เนอร์ทำแบบอย่างแข็งขัน จากนั้นส่งไม้ต่อให้ผู้รับเหมาเข้าทำงานได้เลย
วัสดุ Finishing ของเฟอร์นิเจอร์บิวต์อินมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทาสี ปิดด้วยลามิเนต หรือแม้แต่การเลือกผ้าบุโซฟา
วัสดุ Finishing ของเฟอร์นิเจอร์บิวต์อินมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทาสี ปิดด้วยลามิเนต หรือแม้แต่การเลือกผ้าบุโซฟา
ตู้เสื้อผ้าที่ออกแบบให้เสมอกับผนัง เรียบร้อยเข้ากับห้องในโทนสีสว่าง
ตู้เสื้อผ้าที่ออกแบบให้เสมอกับผนัง เรียบร้อยเข้ากับห้องในโทนสีสว่าง
ครัวเป็นอีกจุดสำคัญที่จำเป็นจะต้องเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ built-in เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่เฉพาะตัว ขนาดต่างๆ จำเป็นจะต้องพอดี เหมาะกับการใช้งาน
ครัวเป็นอีกจุดสำคัญที่จำเป็นจะต้องเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ built-in เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่เฉพาะตัว ขนาดต่างๆ จำเป็นจะต้องพอดี เหมาะกับการใช้งาน

ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์ Built-in

  • เฟอร์นิเจอร์จะถูกออกแบบและติดตั้ง พอดีกับพื้นที่และการใช้สอย โดยส่วนมากเฟอร์นิเจอร์ built-in ประเภทตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของในห้องนั่งเล่น มักจะออกแบบให้สูงชนฝ้าเพดานไปเลย สามารถใช้พื้นที่ในตู้ได้อย่างเต็มที่ ลดบริเวณเก็บฝุ่นเหนือตู้ และสำคัญที่สุดคือ ตู้จะดูสวยเป็นส่วนหนึ่งของดีไซน์ห้องด้วย
  • เพิ่มความน่าสนใจได้ในแง่อินทีเรียดีไซน์ เช่น อาจออกแบบให้ตู้เนียนเป็นส่วนเดียวไปกับผนัง หรือออกแบบ Shelf โดยวัสดุหลักเป็นเหล็กในแบบ Industrial
  • สามารถเลือกรูปแบบและวัสดุได้หลากหลายตามต้องการ เช่น ตู้เสื้อผ้าปิดผิวไม้วีเนียร์ หรือ เคาท์เตอร์บาร์ ท็อปหินอ่อน เป็นต้น
  • ได้เฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ตรงตามต้องการ และตอบโจทย์การอยู่อาศัยของเจ้าของได้มากที่สุด

ข้อด้อยของเฟอร์นิเจอร์ Built-in

  • ขั้นตอนการผลิตจะค่อนข้างยุ่งยากกว่าแบบลอยตัว
  • เฟอร์นิเจอร์ built-in ไม่เอื้อต่อการเคลื่อนย้าย หรือปรับเปลี่ยนในภายหลัง รวมถึงการรื้อถอนก็ยุ่งยากเช่นกัน
  • ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่า เมื่อเทียบกับการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ทั้งค่าจ้างผู้รับเหมาเฟอร์นิเจอร์ หรือการจ้างอินทีเรียดีไซเนอร์ในการออกแบบและเขียนแบบ
  • ระยะเวลาในการออกแบบและติดตั้งนานกว่าเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว

เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว (Loose Furniture)

เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปแบบสำเร็จมาแล้ว แต่ในหนึ่งแบบอาจจะมีสีให้เลือกอยู่บ้าง โดยมีแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นที่นิยม เช่น Index, SB, IKEA, Muji หรือจะเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอลของไทยเอง ก็มีให้เลือกหลากหลายเช่นกัน ได้แก่ Flo, Neat, Niiq, Odst เป็นต้น ซึ่งขนาดโดยส่วนมาก จะเป็นขนาดมาตรฐานทั่วไป ทั้ง เล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งสามารถเลือกขนาดที่พอดีกับห้องได้เช่นกัน

ห้องทำงานที่เน้นดีไซน์แบบแปลนโล่งๆ เลือกใช้ Loose Furniture แบบโชว์โครงและโชว์ข้าวของ ดูสบายๆ ไม่ทึบตัน
ห้องทำงานที่เน้นดีไซน์แบบแปลนโล่งๆ เลือกใช้ Loose Furniture แบบโชว์โครงและโชว์ข้าวของ ดูสบายๆ ไม่ทึบตัน

How to

  • วัดขนาดของพื้นที่ห้อง อาจจะคิด Furniture layout คร่าวๆ เพื่อที่จะรู้ว่า จะซื้ออะไรมาใส่ตรงไหน และขนาดต้องเป็นเท่าไร
  • เลือกรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการไว้คร่าวๆ ในขั้นตอนนี้อาจจะเริ่ม Research หาข้อมูลเช่นว่า แบบที่เราต้องการ เป็นแบรนด์อะไร หาซื้อที่ไหน
  • ช้อปปิ้งได้เลย จริงๆแล้วในยุคนี้ ขนาดเฟอร์นิเจอร์เองก็สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้แล้ว แต่อยากแนะนำว่าถ้ามีเวลาอยากให้ไปเดินเลือกด้วยตัวเอง เพราะจะได้เห็นสีจริง สัมผัส Texture จริง อ้อ.. สิ่งที่ห้ามลืมเมื่อออกช้อปปิ้งคือ ตลับเมตร และแปลนห้องที่มีขนาดของพื้นที่ต่างๆ อย่างครบถ้วนด้วยนะ
เลือกตู้เก็บของแบบเตี้ย สำหรับดีไซน์ห้องที่ค่อนข้าง โปร่ง โล่ง เหลือพื้นที่ผนัง สำหรับ Display สิ่งต่างๆ ซึ่งแบบนี้ไม่จำเป็นจะต้อง Built-in เพียงแต่หาซื้อตู้ที่ไม่สูงนักมาวางเรียงกัน ชิดผนังเป็นเป็นแนว
เลือกตู้เก็บของแบบเตี้ย สำหรับดีไซน์ห้องที่ค่อนข้าง โปร่ง โล่ง เหลือพื้นที่ผนัง สำหรับ Display สิ่งต่างๆ ซึ่งแบบนี้ไม่จำเป็นจะต้อง Built-in เพียงแต่หาซื้อตู้ที่ไม่สูงนักมาวางเรียงกัน ชิดผนังเป็นเป็นแนว
(ที่มาภาพ : www.ikea.com)
เสื้อผ้าแบบลอยตัว หากความสูงของตู้ยังไม่ถึงฝ้า อาจหากล่องเก็บของมาไว้เหนือตู้ เป็นการเพิ่มพื้นที่เก็บของ อีกทั้งยังเพิ่มความเรียบร้อยอีกด้วย
เสื้อผ้าแบบลอยตัว หากความสูงของตู้ยังไม่ถึงฝ้า อาจหากล่องเก็บของมาไว้เหนือตู้ เป็นการเพิ่มพื้นที่เก็บของ อีกทั้งยังเพิ่มความเรียบร้อยอีกด้วย
(ที่มาภาพ : www.ikea.com)
ในบางดีไซน์ เราก็ไม่ต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่สูงชนฝ้า หน้าบานทึบเสมอไป การมีชั้นวางโปร่งๆบ้าง และจัดเก็บข้าวของที่บ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์ ก็ช่วยให้บ้านน่าอยู่ขึ้นไม่น้อย
ในบางดีไซน์ เราก็ไม่ต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่สูงชนฝ้า หน้าบานทึบเสมอไป การมีชั้นวางโปร่งๆบ้าง และจัดเก็บข้าวของที่บ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์ ก็ช่วยให้บ้านน่าอยู่ขึ้นไม่น้อย
(ที่มาภาพ : www.muji.com)

ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว

  • การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ สามารถเห็นตัวอย่าง ทดลองใช้งานจริง และสัมผัส Texture ของจริงได้เลย
  • มีความ Flexible สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้เรื่อยๆ ปรับฟังก์ชันการใช้งานพื้นที่ได้ตลอดเวลา
  • เมื่อเทียบราคากับ Built-in Furniture แล้ว Loose Furniture ถูกกว่าและมีหลายระดับราคาให้ตัดสินใจอีกด้วย
  • เฟอร์นิเจอร์ในบางรุ่น ก็มีความสวยเฉพาะตัวเช่นกัน มีหลายแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ เฉพาะตัว บ้างก็ถูกออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชื่อดัง

ข้อด้อยของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว

  • เนื่องจากเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกออกแบบและผลิตเรียบร้อยแล้ว จะเกิดปัญหาที่ขัดใจอยู่บ้างเช่น แบบที่ชอบไม่มีสีที่ต้องการ หรือสีที่ต้องการดันไม่มีขนาดที่ใช่ เป็นต้น
  • รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์จะค่อนข้างมีโอกาสซ้ำ ในหลายรุ่นที่สวย แน่นอนว่าเป็นที่นิยมของคนอื่นเช่นกัน (นึกภาพเวลาเพื่อนมาบ้านแล้วอุทานว่า “ว้ายยย!! ตู้นี้ที่บ้านชั้นก็มี แหม ใช้แบบเดียวกันเลยนะ” ดูสิ)
  • ความแข็งแรงคงทน จะแปรผันตามราคา เพราะเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวจะมีหลายเกรด หลากวัสดุ จึงต้องเลือกให้ดีด้วย
  • วัสดุโครงสร้างของเฟอร์นิเจอร์ประเภทตู้ จะไม่สามารถเลือกวัสดุที่เป็นโครงสร้างได้ ซึ่งโครงตู้แบบลอยตัวมักจะผลิตจากวัสดุที่ความคงทนน้อยกว่าวัสดุโครงตู้ Built-in

เมื่อชาว Living Pop ได้ทราบถึงลักษณะทั่วไป ความแตกต่าง ข้อดีและข้อเสียของเฟอร์นิเจอร์ Built-in กับเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแล้วนั้น เชื่อว่าจะช่วยให้ตัดสินใจเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ได้เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเลือกใช้ร่วมกันทั้งสองรูปแบบได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไลฟ์สไตล์ของการอยู่อาศัยก็มักจะเกิดจากหลายๆ อย่างรวมกัน จนกลายมาเป็นความสุขของบ้านนั่นเอง 😀

Related posts
มาแต่งบ้านกัน

จะทำบ้านทั้งที เลือกใช้วัสดุปูพื้นแบบไหนถึงจะดี ไม่มีปัญหาจุกจิกตามมา

มาแต่งบ้านกัน

7 ไอเดียแต่งโต๊ะอาหาร สร้างบรรยากาศอบอุ่นสุดโรแมนติก

มาแต่งบ้านกัน

7 ไอเดีย มาจัดพื้นที่ทำงานส่วนตัวช่วง Work from Home ให้มีชีวิตชีวากัน!!!

มาแต่งบ้านกัน

3 เคล็ดลับ แปลงโฉมห้องน้ำใหม่ ด้วยกระเบื้องหลากสไตล์