fbpx
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

“มันมากับฝน” ศาสตร์การกำจัดสัตว์ร้ายที่พร้อมก่อกวนบ้านของคุณ

หน้าฝนทีไร ใจสั่นทุกที ไม่ใช่เพราะบรรยากาศชวนเหงาหรืออะไรหรอกนะ แต่เพราะขนลุกไปกับพวกสัตว์ต่างๆ ที่ชอบบุกเข้ามาในบ้านช่วงฤดูฝนน่ะสิ นอกจากจะหน้าตาน่ากลัวแล้ว บางตัวยังมีพิษร้าย ที่ถ้าโดนกัดต่อยเข้าไป มีเจ็บหนักแน่ๆ ทำเอาต้องไปเสียค่ารักษาพยาบาลแบบไม่จำเป็นอีก

ในฐานะที่เราเป็นเจ้าบ้าน เมื่อรู้อยู่แล้วว่ากองทัพสัตว์ร้ายจะเข้ามาจู่โจมบ้านเราในช่วงนี้ ก็ต้องเตรียมรับมืออย่างเต็มรูปแบบ เราจึงควรรู้วิธีป้องกันและปราบปราม เมื่อมันเข้ามาอยู่ในบ้านแล้วจะเสกคาถาอะไรเพื่อกำจัดให้มันออกไปอย่างเห็นผล จัดไปเลยกับ 5 สัตว์ร้ายที่ต้องพบเจอกันบ่อยๆ ไปดูกัน

บทความด้านล่างนี้ไม่มีรูปกิ้งกือ งู ตะขาบ ฯลฯ ที่เป็นรูปตัวเป็นๆ สามารถอ่านได้แบบสบายๆ ไม่ต้องกลัวรูปสยองโผล่มาในหน้าจอจ้า


“งู”

แค่เห็นเกล็ดเรียงมาก็รู้ทันทีเลยว่าสัตว์ตัวแรกเป็นงูอย่างแน่นอน โดยงูเป็นสัตว์ที่มีพิษหลายระดับ ทั้งประเภทที่ไม่มีพิษเลย กับมีพิษรุนแรงต่อระบบประสาทและระบบเลือด สร้างความอันตรายในระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับชีวิตเลย ดังนั้นความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับงู จะช่วยให้เราเข้าใจและป้องกันงูเมื่อมันเข้ามาในบ้านได้

ธรรมชาติของ “งู” ที่ควรรู้

งูเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อกลิ่นมาก

ดังงั้นงูจึงไม่ชอบสิ่งของที่มีกลิ่นฉุน ดังนั้น ถ้านำเอาน้ำมันก๊าด หรือน้ำมันรถราดไว้รอบๆ บ้าน จะช่วยไล่งูให้หนีน้ำไปทางอื่นได้

งูเป็นสัตว์กินเนื้อโดยธรรมชาติ

และแม้ว่าพื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนเป็นเมืองไปแล้ว งูก็ยังต้องออกหากินเช่นเดิม การที่บ้านของเราสกปรกจนหนูหรือแมลงสาบมาชุมนุมกันเป็นหมู่คณะ ก็เปรียบเป็นการส่งบัตรเชิญให้พวกงูมากินโต๊ะบุฟเฟ่ต์ เราจึงควรหมั่นทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ ได้ไล่ทั้งงูและเสริมให้บ้านน่าอยู่ไปอีกทางด้วยนะ

งูเป็นสัตว์ที่ตกใจง่ายมาก

หลายๆ ครั้งที่พบเจองูแล้วโดนฉกกัดเอา ก็เกิดจากการที่เราไปทำงูตกใจนี่ล่ะ เราจึงต้องพึ่งพาสัตว์ประสาทสัมผัสไวอย่าง สุนัข ที่จะเห่าไล่เมื่อรู้สึกถึงสิ่งแปลกปลอม ทั้งนี้งูขนาดใหญ่อาจจะไม่ได้กลัวเสียงเห่าของสุนัขมากเท่าไร จึงควรป้องกันขั้นแรกด้วยสองวิธีข้างต้นนะครับ


ถ้าเจอ ”งู” ทำอย่างไรดี

อย่างที่บอกไปว่างูเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย เมื่อเจอในระยะประชิด จึงต้องใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว และอดทนรอจนกว่างูจะเลื้อยผ่านไป จากนั้นให้รีบคว้ามือถือโทรไปที่เบอร์ 199 เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาจับตัวงูออกไปจากบ้านให้เร็วที่สุด ข้อควรระวังคือ ไม่ควรไปทำร้ายงูหรือออกล่างูด้วยตนเองเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อคนในบ้านได้หากงูแตกตื่น รอเจ้าหน้าที่กันเถอะครับ

เรียกเจ้าหน้าที่จับงู โทร.199
ถ้าอยู่ในหมู่บ้าน เรียก รปภ. / แจ้งนิติ


วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด

เพื่อลดหรือชะลอการแทรกซึมของพิษงู และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

  1. รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด และนำซากงูที่กัดไปด้วย (ถ้ามี) หรือจดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อความถูกต้องในการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหางู
  2. ล้างแผลบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
  3. พยายามให้บริเวณที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด สามารถทำการดามโดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
  4. ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด และไม่ควรใช้สมุนไพรพอก เพราะจะทำให้แผลสกปรกเกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นบาดทะยักในภายหลังได้
  5. ไม่ควรขันชะเนาะหากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี เพราะอาจทำให้บริเวณที่ถูกกัดบวมและเนื้อตายมากขึ้น

ข้อมูลวิธีปฐมพยาบาลจาก โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์


“กิ้งกือ”

สัตว์อะไรเอ่ยออกจากบ้านช้าที่สุด?

เฉลย กิ้งกือ เพราะอะไรหรอ ก็มัวแต่ใส่รองเท้าทั้งห้าร้อยคู่อยู่นะสิ

มุกตลกขำขันเกี่ยวกับกิ้งกือที่เมื่อได้เจอตัวเป็นๆ แล้ว บางคนก็ขำกันไม่ออก แม้ว่ากิ้งกือจะเป็นสัตว์ที่พิษไม่ได้ร้ายแรงมากนักก็ตาม แต่ด้วยรูปร่างและขาหยึกหยึยจึงตัดสินได้ว่าเป็นสัตว์ (หน้าตา) ร้ายเช่นกัน

ธรรมชาติของ “กิ้งกือ” ที่ควรรู้

กิ้งกือรักความชื้นเป็นอย่างมาก

ด้วยหน้าฝนที่เปียกแฉะกันทุกพื้นที่ คงไม่แปลกถ้ากิ้งกือจะมาขออาศัยในมุมรกๆ ชื้นๆ ภายในบ้าน จึงต้องคอยตรวจสอบและจัดการไม่ให้มีกองสิ่งของหรือซอกหลืบที่กิ้งกือจะเข้าไปอยู่ได้

กิ้งกือกินซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร

ไม่ได้กินสิ่งมีชีวิตเป็นๆ อย่างที่เราเข้าใจกัน บ้านที่ปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้าน หรือมีต้นไม้ใหญ่ที่จะผลัดใบเสมอ ควรกวาดเศษใบไม้ทิ้ง เพื่อกำจัดแหล่งอาหารอันโอชะของกิ้งกือ เพื่อจะได้ไปหาอาหารกินที่อื่นจ้า บ้านฉันไม่ต้อนรับ

กิ้งกือก็เป็นสัตว์ที่ไม่ชอบกลิ่นฉุน

การใช้ตัวช่วยที่หาซื้อได้ง่ายอย่างลูกเหม็น จะเป็นอาวุธชั้นเลิศที่ใช้ต่อกรกับกิ้งกือ เพียงแค่โรยลูกเหม็นไว้ในบริเวณที่กิ้งกือชอบโผล่มา เท่านี้กิ้งกือจะหลบหน้าหายไปจากบ้านเราเอง ที่สำคัญ ยังดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อีก คุ้มสุด


กิ้งกือไม่กัด แต่ก็มีพิษเหมือนกันนะ

กิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่กิ้งกือบางชนิดก็มีพิษหากสัมผัสถูกตัว สารพิษของกิ้งกือจะถูกปล่อยออกมาจากบริเวณข้างลำตัว มีฤทธิ์ฆ่าสัตว์เล็กๆ เช่น มด แมลง และหากคนสัมผัสจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง หรือทำให้ตาระคายเคืองในกรณีถูกพิษกิ้งกือเข้าตา

หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลวิธีปฐมพยาบาลจาก ThaiHealth


ถ้าเจอ ”กิ้งกือ” ทำอย่างไรดี

วิธีไล่กิ้งกือที่ง่ายที่สุด คือการหาไม้หรือสิ่งของเขี่ยมันให้ขดตัว และหยิบไปทิ้งนอกบ้าน หรือถ้ารู้สึกขยะแขยงไม่กล้าจับ อาจจะใช้ไม้เขี่ยกิ้งกือใส่ที่ตักผงและนำไปปล่อยนอกบ้าน ไม่ต้องโดนตัวให้รู้สึกขนลุกเปล่าๆ ด้วย


“ตะขาบ”

เลื้อยไหวๆ วิ่งไวๆ มีตั้งแต่ตัวเล็กเท่าข้อนิ้ว ไปจนเท่าฝ่ามือ ซ้ำยังพิษร้ายไม่เบา โดนกัดทีนึงก็มีปวดแสบปวดร้อนแน่ๆ ใช่แล้วครับ ผมพูดถึงตะขาบ สัตว์หน้าตาคล้ายกิ้งกือ (สำหรับบางคน) ยิ่งช่วงหน้าฝน กองทัพตะขาบจะออกอาละวาดแบบยุ่งเหยิงมากๆ ทำให้เราตกใจกลัวไม่พอ ยังพร้อมจะกัดเจ้าของบ้านอย่างเราอีก แบบนี้มันต้องกำจัดเสียให้เข็ด

ธรรมชาติของ “ตะขาบ” ที่ควรรู้

ตะขาบกินแมลงและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร

โดยอาหารยอดฮิตในบ้านที่ตะขาบชื่นชอบ คือแมลงสาบ ซึ่งก็จะเข้ามาอยู่ในบ้านจากความสกปรกที่เราก่อไว้ ดังนั้น ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ อย่าทิ้งเศษอาหารไว้ล่อแมลงสาบ เพราะนั่นหมายความว่า เราเองก็ล่อตะขาบเข้าบ้านเช่นกัน

ตะขาบอาศัยอยู่ตามที่ชื้น

เมื่อเจอแหล่งความชื้นแล้ว ก็จะใช้เป็นจุดวางไข่และขยายพันธุ์อย่างน่าสยดสยอง เผลอเพียงแปบเดียว ก็จะกระจายไปอยู่ตามจุดต่างๆ ในบ้านอย่างรวดเร็ว จึงควรเช็กพื้นที่อับชื้นในบ้าน และทำให้แสงแดดส่องถึง รวมไปถึงทำความสะอาดมุมในบ้าน เพื่อกำจัดจุดที่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของตะขาบได้

ตะขาบมักจะเข้าบ้านผ่านทางท่อ

ทั้งท่อห้องน้ำ หรือท่อน้ำในห้องครัว การปิดด้วยสบู่จะช่วยได้ เพราะความด่างในสบู่จะทำให้ตะขาบกลัวอันตราย รวมไปถึงความลื่นจากสบู่ จะทำให้ตะขาบไต่ขึ้นมาไม่ได้ด้วยนะ


ถ้าเจอ ”ตะขาบ” ทำอย่างไรดี

เมื่อเจอตะขาบวิ่งเล่นอยู่ในบ้าน ข้อแรกที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อน คือตอนนี้มีรังตะขาบอยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแหล่งอาศัยของตะขาบมักจะเป็นจุดที่มีความอับชื้น เช่น ท่อระบายน้ำ หรือซอกผนัง และเมื่อเจอแหล่งหรือคาดว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่ ให้ใช้ปูนขาวโรยให้ทั่ว พร้อมทั้งโรยดักไว้ในห้องสำคัญๆ อย่างห้องนอน และสามารถใช้ผงล้างห้องน้ำแทน ในกรณีที่พบว่าท่อระบายน้ำเป็นที่อยู่ของตะขาบ ได้ทั้งทำความสะอาดและทำให้ตะขาบแสบร้อนจนหนีหายไปเอง สองต่อไปเลยจ้า


วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อตะขาบกัด

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
  2. สามารถประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการปวด
  3. หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน
  4. ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้
  5. ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล
  6. ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงเช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที

ข้อมูลวิธีปฐมพยาบาลจาก โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์


“หนู”

สัตว์ตัวที่สี่ เราจะมาพูดถึงสัตว์พาหะนำโรคที่ยืนหนึ่งมาตลอดในช่วงฤดูฝน และเมื่อมันได้เข้ามาอยู่ในบ้านก็จะทำความเสียหายให้กับข้าวของต่างๆ ด้วยการกัดแทะอย่างไม่เลือกหน้า แม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ถูกสังเวยให้มันมาหลายต่อหลายชิ้นแล้ว นั่นก็คือหนูนี่เอง และการจะชนะหนูในบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ไปดูเรื่อง หนูๆ กันดีกว่า

ธรรมชาติของ “หนู” ที่ควรรู้

หนูมีความว่องไวและสามารถมุดตัวไปตามช่องที่เล็กกว่าตัวมันถึง 3 เท่า

แม้แต่มุมที่เล็กที่สุดในบ้านที่ดูไม่น่าจะเป็นที่อยู่ของหนูได้ ก็อาจจะกลายเป็นรังชั้นดีที่ปล่อยไว้ให้เสวยสุข การจัดการพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านให้สะอาดและเป็นสัดส่วนจะลดโอกาสให้หนูเข้ามาอยู่ในบ้านได้

ถึงแม้ว่าหนูจะกินแค่วันละ 15-60 มิลลิลิตรต่อวัน

แต่ถ้าเป็นเรื่องอาหาร ต้องบอกว่านิสัยกินจุ๊บจิ๊บของหนูก็ไม่ต่างจากคนเลย เพราะหนูจะกินอาหารทีละนิดและกินเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารอะไรก็ตาม บ้านของมนุษย์จึงไม่ต่างกับร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ไม่จำกัดเวลาสำหรับหนู เราจึงควรเก็บอาหารไว้อย่างมิดชิด ใส่ในภาชนะที่หนูไม่สามารถเข้าถึงได้ อย่างโหลแก้ว หรือกล่องทัปเปิ้ลแวร์ต่างๆ

นอกจากจะทำความเสียหายให้กับบ้านแล้ว หนูยังเป็นเหยื่อล่อชั้นดีที่จะเชิญชวนให้งูเข้ามาในบ้าน

เพราะหนูเป็นหนึ่งในอาหารตามธรรมชาติที่งูชื่นชอบ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้อยากได้งูมาเป็นสัตว์เลี้ยงเพิ่ม ก็ควรสังเกตบ้านและป้องกันให้ปลอดหนู


ถ้าเจอ ”หนู” ทำอย่างไรดี

เช่นเดียวกับตะขาบ เมื่อหนูได้เข้ามาอยู่ในบ้านของเรา ให้คิดเสียเลยว่า มีหนูอีกมายมายซ่อนตัวอยู่ เพราะในปีนึง หนูสามารถออกลูกได้ถึง 4-7 ครอก ครอกละ 8-12 ตัว แค่เห็นจำนวนก็ขนลุกแล้วนะ ลองนึกถึงความเสียหายที่มันจะสร้างให้กับบ้านเรา ก็ปวดหัวจะแย่ ดังนั้น เมื่อเจอหนูในบ้าน ให้ลองใช้กาวดักหนูพร้อมอาหารที่มีกลิ่นแรง เพื่อเช็กจำนวนประชากรหนูในบ้าน

ซึ่งถ้ามีเยอะมาก เราคนเดียวอาจจะไม่ไหวแล้ว บางบ้านที่เลี้ยงแมว ก็จะได้เจ้าแมวเป็นมือปราบหนูคนเก่ง แต่ถ้าไม่ได้มีแมวอยู่ในบ้านแล้ว การจ้างมืออาชีพเข้ามาช่วย จะเป็นหนทางที่คืนความสุขให้กับบ้านได้เร็วที่สุดครับ


“ปลวก”

สัตว์ตัวสุดท้าย อาจจะดูธรรมดา แต่ระดับความร้ายกาจระดับโครงสร้างบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีไม้เป็นส่วนประกอบ พี่เขาจะแทะจนถึงขั้นบ้านทรุดของพังแน่ๆ สัตว์ตัวนี้ก็คือปลวกครับ โดยหลายบ้านอาจจะมีปลวกเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงไปแล้วแบบไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นจึงต้องรีบตรวจสอบ ก่อนเกิดความเสียหายรุนแรง

ธรรมชาติของ “ปลวก” ที่ควรรู้

โดยธรรมชาติ ปลวกจะทำรังอยู่ในดินจนลามไปถึงต้นไม้บางต้น

แต่เมื่อเจอน้ำในช่วงฤดูฝน ปลวกก็อยู่ไม่ได้ จนต้องอพยพขึ้นที่พ้นน้ำ ซึ่งก็ไม่ใช่ที่ไหนไกล คือบ้านเรานี่เอง ยิ่งเป็นบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์หรือโครงสร้างเป็นไม้ จะกลายเป็นที่อยู่อย่างดีให้ปลวก เพราะฉะนั้น จึงควรมีการฝังเหยื่อล่อปลวกไว้รอบบ้าน เพื่อป้องกันการบุกรุกเข้ามาในบ้านได้

ปลวกมีสองชนิด

คือ ปลวกใต้ดินกับปลวกไม้แห้ง ซึ่งทั้งสองชนิดจะสร้างความเสียหายให้กับไม้ต่างกัน โดยปลวกใต้ดินจะกินไม้จากด้านในออกมาด้านนอก ถ้าทิ้งไว้นานก็อาจจะไม่เหลืออะไรไว้เลย แต่สำหรับปลวกไม้แห้ง จะกินเพียงเนื้อไม้ด้านในเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าพบเจอเร็ว ข้าวของในบ้านก็จะไม่เสียหายมากเท่าไร

รังปลวกที่พบเจอในบ้าน เป็นเพียงรังปลวกย่อยที่ขึ้นมาจากใต้ดินเท่านั้น

การใช้ยาฆ่าแมลงฉีดใส่ตัวปลวกจะกำจัดได้แค่ปลวกที่โดนสาร ในขณะที่เหลือก็อาจจะย้ายไปสร้างรังใหม่ เพื่อทำลายบ้านส่วนอื่นต่อ

แมลงเม่า คือปลวกที่โตเต็มวัยและอพยพไปหาบ้านใหม่

ในช่วงหน้าฝนหรือช่วงเย็นๆ ก่อนฝนตก เราอาจจะเคยเห็นฝูงแมลงเม่าบินหาแสงไฟเป็นฝูงใหญ่ อันที่จริงแมลงเม่าเหล่านั้นคือปลวกวัยเจริญพันธุ์ที่บินออกจากรังไปหาที่เหมาะๆ สร้างอาณาจักรปลวกแห่งใหม่นั่นเอง

ถ้าเจอ ”ปลวก” ทำอย่างไรดี

เราอาจจะเห็นสัญญาณของปลวกในบ้านจากทางเดินปลวกที่มีลักษณะเป็นดินสีน้ำตาล ซึ่งเป็นการยืนยันการมาถึงของปลวกเรียบร้อย เราจึงควรตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ที่สามารถเป็นอาหารของปลวกได้ เช่น ประตู เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่กองหนังสือ กระดาษใช้แล้วที่ไม่ได้สนใจมานาน

ถ้ามั่นใจแล้วว่าเป็นรังปลวก สามารถไล่ปลวกได้หลายวิธี ทั้งการนำของสิ่งนั้นไปตากแดดจัด 2-3 วัน รวมไปถึงการใช้สมุนไพรหาง่าย อย่างใบขี้เหล็ก มาคั้นน้ำและพ่นไปในรัง หรือเดี๋ยวนี้มีย่าฆ่าแมลงที่ใช้กำจัดปลวกโดยเฉพาะหลากหลายแบบ บางชนิดก็ออกแบบมาให้ปลวกกลับไปแพร่กระจายตายยกรัง เท่านี้ก็จะกำจัดปลวกในบ้านได้แล้ว


สำหรับใครที่ต้องพบเจอสัตว์พวกนี้ภายในบ้าน ลองเอาวิธีพวกนี้ไปใช้ดูนะครับ ได้ผลอย่างไร มาคอมเมนต์บอกกันได้ หรือถ้ามีวิธีเจ๋งๆ อื่นๆ อยากแชร์ให้กับคนอื่น ก็ inbox มาบอกได้เลยจ้า

Related posts
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

พาไปดูเทคโนโลยีล่าสุด “AIS Fibre Home Network Solution” เดินสายไฟเบอร์โปร่งใสทั้งหลัง เน็ตแรง 1Gbps เท่ากันทั้งบ้าน

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

12 ข้อที่ต้องรู้ก่อนจ้างบริษัท Built-in ตกแต่งห้อง!!!

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

7 เทคนิค Life Hack เปลี่ยนห้องขนาดจำกัด ให้จัดพื้นที่ได้เยอะขึ้น

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

สร้างบ้านแบบล้ำๆ ด้วยเทคโนโลยี 3D-PRINTED อยู่ได้จริงไม่จกตา!