‘สถาปนิก คุยด้วยแล้วเข้าใจยาก’ เป็นสิ่งเรามักจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะในวงการสถาปัตยกรรม และการออกแบบมีศัพท์เฉพาะ ที่ใช้อธิบายและเรียกสิ่งต่างๆ อยู่มาก ซึ่งมีความเฉพาะตัว เฉพาะเจาะจง หรือบางคำก็เป็นคำทับศัพท์มาอีกที และเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน หากต้องสื่อสาร ว่าจ้างหรือทำงานร่วมกันกับสถาปนิก วันนี้เราได้รวบรวมภาษาของสถาปนิกเบื้องต้น คำไหนสถาปนิกชอบใช้ คำไหนที่ควรรู้ มาดูกันเลยครับ
“เต็ก (‘tect)”
เริ่มด้วยคำนี้ก่อนเลยครับ เพราะเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ ว่าอันที่จริงแล้วคำว่า “เต็ก” คือคำย่อที่มาจากคำว่า “อาร์คิเทค” (Architect) ที่มีความหมายตรงตัวนั่นคือ สถาปนิกนี่แหละ และคำว่า “เต็ก” ก็ยังนิยมใช้ในหลายๆ บริบทด้วยน้า เช่น แบบเต็ก (แบบสถาปัตย์)
“สเปซ (Space)”
แปลตรงตัวว่า ‘ที่ว่าง’ แต่ในทางสถาปัตยกรรมนั้นหากพูดถึง สเปซ จะหมายถึงคุณภาพของพื้นที่นั้นๆ และการที่เรารับรู้เมื่อเราอยู่ในพื้นที่นั้น ณ ตอนนั้น ตำแหน่งนั้น โดยมักจะมองพื้นที่ว่างเป็น Volumn การรับรู้ขนาดของพื้นที่ ระนาบที่ห้อมล้อมทั้งหมด ความลึก ความสูง ความกว้าง ความยาว ยกตัวอย่างหากสถาปนิกพูดถึงห้องว่า ‘สเปซนี้เตี้ย’ แม้ว่าจะมีความสูงพื้นถึงเพดานมากแล้วก็ตาม นั่นหมายถึง สัดส่วนของความสูงพื้นถึงเพดานค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบความกว้าง-ยาวของห้อง การรับรู้สเปซของผู้ใช้งาน ณ ตอนนั้น เลยจะรู้สึกว่าเตี้ย
“Double Space / Double Volume”
หมายถึง สเปซที่มีความสูงต่อเนื่องกันมากกว่า 1 ชั้น เช่น การเจาะพื้นบริเวณชั้นบน ให้มองเห็นทะลุลงไปที่ชั้นล่างได้ บริเวณที่มีความสูงของสเปซ ต่อเนื่องจากชั้นล่างไปจนถึงชั้นบน สถาปนิกจะเรียกบริเวณนั้นว่า Double Space หรือ Double Volume
“ช่องเปิด (Void)”
เมื่อสถาปนิกพูดถึงช่องเปิด (Void) จะหมายถึงช่องที่ถูกเจาะทะลุในระนาบต่างๆ ทั้งระนาบนอน ที่พื้น ฝ้าเพดาน หรือหลังคา และหากเจาะ Void ในระนาบตั้ง คือที่ผนัง ก็จะทำหน้าที่เป็นหน้าต่าง ช่องแสง หรือช่องกว้าง
“ฟาสาด (Facade)”
Facade อ่านว่า ฟา-สาด หมายถึง เปลือกอาคาร คือส่วนที่อยู่นอกสุด ที่ห่อหุ้มตัวอาคารเอาไว้นอกเหนือจากสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นผนังแท้ๆ ของอาคาร ซึ่ง Facade นอกเหนือจากการห่อหุ้มอาคาร เพื่อความสวยงาม และรูปแบบที่น่าสนใจแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นเช่น สามารถออกแบบให้ช่วยกรองแสงที่เข้ามาในอาคาร ช่วยบังส่วนที่ไม่น่ามองของอาคาร บังคับทิศทาง แดด ลม ฝน เป็นต้น
“ตีบ, ตีฟ หรือ ภาพตีฟ (‘tive)”
ย่อมาจากคำว่า Perspective ซึ่งในทางสถาปัตย์จะหมายถึงรูปภาพ 3D Rendering หรือภาพจำลองเสมือนจริงของงานออกแบบนั่นเอง
“แมส (Mass) / ฟอร์ม (Form)”
“Mass” เป็นคำเรียกสั้นๆ ของคำว่า Massing คือการรวมของรูปทรง หรือลักษณะของรูปทรง ส่วนมากมักพูดถึงรูปทรงโดยรวมของอาคาร หรือของวัตถุที่สถาปนิกกำลังออกแบบอยู่ ส่วน Form ก็หมายถึงรูปทรงของอาคารและของสิ่งของนั่นเอง
“สเกล (Scale)”
สเกลในเชิงสถาปัตย์ ถูกใช้ใน 2 ความหมายด้วยกัน อย่างแรกคือ หมายถึงมาตราส่วนของขนาดในการแสดงแบบต่างๆ ทั้งแบบ Drawing หรือ Model ลองนึกตามว่า งานที่เป็น Final ของงานสถาปัตย์ คือของที่เป็นขนาดจริง จะเรียกว่า สเกล 1:1 แต่ในขั้นตอนการทำงาน แบบแปลน และโมเดลจำลองต่างๆ จะถูกย่อส่วนลง และสิ่งที่จะบอกว่า แบบที่เราย่อลง เวลาเราพิมพ์ออกมานั้น อัตราส่วนเท่าไหร่ สถาปนิกจะเรียกว่า สเกล เช่น สเกล 1:25, 1:100 เป็นต้น ซึ่งก็จะหมายความว่า ความยาว 1 เซนติเมตรในแบบ จะเท่ากับความยาวจริง 25 หรือ 100 เซนติเมตรตามลำดับ
อย่างที่สอง สเกล อาจจะถูกพูดถึงในความหมายเรื่อง ขนาด เช่น สเกลเล็ก สเกลใหญ่ สเกลสวย สเกลกำลังเหมาะ เป็นต้น
“แบบคอนฯ”
ย่อมาจากคำว่า แบบ Construction หรือแบบก่อสร้างนั่นเอง เป็นแบบที่พัฒนาต่อจากแบบ Conceptual Deisgn โดยแบบคอนฯ จะใช้ในการก่อสร้าง มีการระบุรายละเอียดทุกอย่างที่จำเป็น ทั้งขนาด ระยะ วัสดุ และดีเทลในการก่อสร้าง
“ฟังก์ชัน (Function)”
อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ หน้าที่ของการใช้งาน เช่น ห้องนี้มีฟังก์ชันอเนกประสงค์ เป็นห้องนั่งเล่น และห้องทำงาน หรือบริเวณนี้มีฟังก์ชันอื่นนอกเหนือจากการเป็น Lobby นั่นคือ เป็น Co-working space ไปด้วย
“บริบท (Context)”
บริบท หมายถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดยมากมักจะพูดถึง บริบทของโครงการ ซึ่งก็จะหมายความไปถึงตั้งแต่เรื่อง ที่ตั้ง สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ โครงการ สิ่งที่เป็นข้อดี มุมมองทางสายตา มลภาวะที่เกิดขึ้น ย่านโดยรอบ ตึกที่อยู่ข้างๆ การจราจร ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่สถาปนิกใช้เป็นปัจจัยที่ใช้พิจารณาในขั้นตอนของการออกแบบนั่นเอง
เป็นยังไงกันบ้างครับกับภาษาสถาปนิกที่เรารวบรวมมาอธิบายให้อ่านกัน ซึ่งนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นจากคลังศัพท์เฉพาะอันมากมาย เพื่อนๆ ล่ะ เคยเจอคำไหนกันมาบ้าง นำมาเม้นหรือส่ง inbox มาให้ชาว LivingPop ได้ชมหรือเล่าสู่กันฟังได้นะครับ เผื่อเราจะได้ช่วยกันรวบรวมคำต่างๆ มาทำเป็น Part 2 ต่อไปได้ เพื่อที่เพื่อนๆ จะได้ทำความเข้าใจสถาปนิก ที่ขึ้นชื่อเรื่องความติสท์กันได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น แล้วเจอกันใหม่โอกาสหน้าฮะ ^^