fbpx
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

คุยยังไงให้รู้เรื่องกับ 5 วิธีเตรียมตัว ก่อนจ้างสถาปนิกให้ออกแบบบ้าน

หลายๆ คนที่กำลังมองหาสถาปนิกเพื่อมาช่วยออกแบบบ้านให้ ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่าเราจะต้องคุยกันแบบไหน เพื่อให้สถาปนิกที่ทำงานด้วยเข้าใจสิ่งที่เราต้องการ ทั้งด้านการออกแบบบ้านให้เป็นไปตามที่เราฝันไว้ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และที่สำคัญคืออยู่ในงบประมาณที่เราตั้งเอาไว้ด้วย วันนี้เรามี 5 วิธีง่ายๆ ในการเตรียมตัวที่จะทำให้เพื่อนๆ คุยกับสถาปนิกรู้เรื่องกันครับ


เมื่อเราซื้อบ้านหรือคอนโดหรืออสังหาฯ เป็นของตัวเองแล้ว ก็ต้องการที่จะตกแต่งให้สวยงามตามที่เราต้องการใช่มั๊ยครับ ทีนี้เราก็ต้องจ้างสถาปนิก เพื่อให้เขาออกแบบให้เรา เราก็จะเห็นภาพรวมของบ้านเราทั้งหมด แต่กว่าจะหาสถาปนิกได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมระยะเวลาในการตกแต่งบ้านก็กินเวลาไปหลายเดือน ดังนั้นถ้าเราจะเลือกสถาปนิกที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของเรา คุยง่าย สามารถปรับเปลี่ยนหรือครีเอทบ้านของเราได้ดี ก็จะทำให้เราแฮปปี้ตั้งแต่เริ่มงาน ไม่ต้องมานั่งปวดหัวแก้ปัญหาต่างๆ ให้เสียเวลา โดยวันนี้เราแบ่งอออกเป็น 5 วิธีในการเตรียมตัวก่อนจะจ้างสถาปนิกให้ออกแบบบ้าน จะมีอะไรบ้างไปดูกันค้าบบบ

1. เลือกสถาปนิกผู้ออกแบบ

ขั้นแรกต้องเริ่มจากหาผู้ออกแบบที่ตรงใจเราก่อน อาจจจะสอบถามจากคนรู้จัก หรือหาทางออนไลน์ โดยดูผลงานที่สถาปนิกเคยออกแบบว่าเป็นแนวที่เราชอบมั้ย มีการรีวิวของลูกค้าที่พอใจกับผลงานรึเปล่า

Tips : ให้ลองหาสถาปนิกหรือทีมผู้ออกแบบหลายๆ เจ้า แล้วลองทักไปคุย สอบถามแนวทางการทำงานและการออกแบบของสถาปนิกเบื้องต้นว่าเป็นไปในแนวทางที่เราคิดไว้หรือไม่ เพราะสถาปนิกแต่ละคนจะมีแนวการออกแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งรสนิยมและสไตล์ความชอบที่แตกต่างกันของสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นเองที่จะทำให้เราเลือกสถาปนิกที่ตรงใจและคุยกันรู้เรื่องมากที่สุด

2. เตรียมบรีฟให้ผู้ออกแบบ

บอกความต้องการให้กับสถาปนิกทราบ ไม่ว่าจะเป็นสีหรือสไตล์ที่ชอบ ถ้าไม่แน่ใจให้ลองปรึกษากับทางสถาปนิกผู้ออกแบบดู ว่ามีแนวทางการออกแบบให้อย่างไรบ้าง ซึ่งสถาปนิกส่วนใหญ่จะใช้วิธีดูจากช่วงอายุ ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยเป็นหลักหรือที่สถาปนิกเรียกว่า “User” นั่นเอง วิธีนี้อาจจะช่วยให้ได้ไอเดียการออกแบบที่ดีกว่าที่คิดไว้ก็ได้ครับ

Tips : บอกความชอบสไตล์เท่าที่พอจะนึกได้ เช่น ชอบแบบ minimal, classic, contemporary เป็นต้น หรือต้องการในการใช้วัสดุแบบไหน เช่น ไม้, ปูนเปลือย, เหล็ก เป็นต้น หรืออาจจะหาภาพตัวอย่างที่ชอบเพื่อเป็นแนวทางการออกแบบ อีกจุดสำคัญคือแนะนำว่าอย่าบอกว่าให้สถาปนิก Copy งานตามรูป เพราะจะทำให้บ้านของคุณไม่แตกต่างจากคนอื่นอีกทั้งยังทำให้ลดความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกผู้ออกแบบอีกด้วย

3. เตรียมงบประมาณและค่าใช้จ่ายต่างๆ

ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้เราต้องใช้จ่ายอย่างระวัดระวัง มีการจำกัดงบประมาณค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเงื่อนไขคลาสสิกของผู้ว่าจ้างหรือ “User” ก็คือ อยากได้การออกแบบที่สวย ได้วัสดุที่ดี ในราคาถูก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันให้เข้าใจทั้งกับผู้ออกแบบและผู้รับเหมาตั้งแต่เริ่มแรก ให้ลองตีงบคร่าวๆ ไว้ในใจก่อน และถ้าไม่แน่ใจว่าจะประมาณงบเท่าไรดี ให้สอบถามทางสถาปนิกถึงราคาค่าก่อสร้างดูครับ โดยปกติจะคิดเป็นราคาต่อ ตร.ม. ซึ่งส่วนมากการประมาณราคาจะบวกลบประมาณ 5-10%

Tips : แนะนำให้เตรียมรูปแบบหรือวัสดุคร่าวๆ ที่อยากจะใช้เพื่อที่ทางสถาปนิกจะช่วยหา Option ของวัสดุที่เหมือนหรือใกล้เคียงในราคาที่ถูกลง ช่วยให้การคำนวนราคากลางของวัสดุง่ายและแม่นยำขึ้นอีกด้วย

4. ตกลงเรื่องระยะเวลาการทำงาน

สอบถามทางสถาปนิกผู้ออกแบบให้กำหนดกรอบเวลาการทำงาน ทั้งการออกแบบและการก่อสร้างว่าจะใช้เวลาเท่าไร เนื่องจากสถาปนิกมีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการวางแผนและออกแบบงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างหรือ User บางทีการวางแผนและออกแบบที่กินเวลามากกว่าปกติสักหน่อย แต่แบบที่ออกมาชัดเจน คำนวนวัสดุไม่ขาดไม่เกิน ปัญหาหน้างานน้อย ก็จะช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง ทำให้งบประมาณการก่อสร้าง งบการจ้างคนงานลดลงตามไปด้วย

Tips :  ในขั้นตอนการออกแบบสามารถคุยระยะเวลาว่าสามารถแก้แบบว่าได้จำนวนกี่ครั้ง แก้กี่ครั้งคิดเงินเพิ่มเท่าไหร่ และควรมีสัญญาการก่อสร้าง ว่าแต่ละงวดงานเป็นอย่างไรบ้าง ต้องจ่ายแต่ละงวดเท่าไหร่ แล้วถ้าเสร็จไม่ตามเวลาก็ต้องมีค่าปรับ เป็นต้น

5. สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ไม่ว่าจะกับตัวผู้ว่าจ้างหรือ User สถาปนิกผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาเอง ควรสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกัน เนื่องจากการทำงานต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย สถาปนิกจะเป็นศูนย์กลางการทำงานเพื่อให้งานเป็นไปอย่างราบรื่นและเข้าใจแบบต่างๆ ตรงกัน

Tips : เข้าใจการทำงานของสถาปนิก ให้เวลา ให้เกียรติงานออกแบบที่สถาปนิกแนะนำ (แต่สามารถปรับได้แบบมีเหตุผล) จงเป็นเพื่อนกับสถาปนิกเนื่องจากการทำงานจะกินเวลาค่อนข้างนาน ทั้งงานออกแบบไปจนถึงก่อสร้างเสร็จ และการเป็นเพื่อนกับสถาปนิกจะช่วยให้คุยกันง่ายมากขึ้น เพราะสถาปนิกคือคนกลางที่จะช่วยให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น และอีกเรื่องที่สำคัญ คือการชำระการเงินตามงวดงานให้ตรงเวลา เพราะถ้าไม่จ่ายตามสัญญา ผู้รับเหมาก็จะไม่สามารถดำเนินการขั้นต่อไปได้นั่นเองครับ


นี่เป็น 5 วิธีง่ายๆ ในการเตรียมตัวก่อนที่เราจะจ้างสถาปนิกให้มาออกแบบบ้าน เพื่อนๆ จะได้มองเห็นภาพรวมว่าควรจะเริ่มยังไง หรือต้องเตรียมอะไรบ้าง เวลาเราหาสถาปนิกจะได้คุยและทำความรู้จักถูกครับ ถ้าเกิดว่าความเข้าใจตรงกัน รสนิยมเข้ากัน หรือไลฟ์สไตล์การออกแบบไปด้วยกันได้ ก็อย่าลืมคำนวณงบประมานของเราไว้ด้วยนะ ที่สำคัญเลยคืออย่าลืมดูรีวิวของสถาปนิกที่เราจะจ้างเยอะๆ ว่างานออกแบบของเขา ตรงกับสไตล์ที่เราต้องการรึป่าวด้วยนะครับ

แล้วถ้าเพื่อนๆ กลัวจะงงกับคำศัพท์สถาปนิก ผมแนะนำบทความนี้เลยครับ “รวมภาษาสถาปนิกเบื้องต้น คุยอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน” สามารถคลิ๊กที่รูปหรือตามลิ้งก์นี้ได้เลยฮะ www.livingpop.com/architect-language


Related posts
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

พาไปดูเทคโนโลยีล่าสุด “AIS Fibre Home Network Solution” เดินสายไฟเบอร์โปร่งใสทั้งหลัง เน็ตแรง 1Gbps เท่ากันทั้งบ้าน

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

12 ข้อที่ต้องรู้ก่อนจ้างบริษัท Built-in ตกแต่งห้อง!!!

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

7 เทคนิค Life Hack เปลี่ยนห้องขนาดจำกัด ให้จัดพื้นที่ได้เยอะขึ้น

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

สร้างบ้านแบบล้ำๆ ด้วยเทคโนโลยี 3D-PRINTED อยู่ได้จริงไม่จกตา!