fbpx
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

4 Checklist สำรวจความพร้อมก่อนสร้างบ้านหลังใหม่ด้วยตัวเอง

“จุดเริ่มต้น มักยากที่สุดเสมอ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องที่เรากำลังจะพูดถึงครับ นั่นก็คือเรื่องของ “การสร้างบ้านหลังแรก” เชื่อว่าหลายต่อหลายคนที่กำลังจะสร้างบ้านสักหลังนั้น มักจะมีชุดคำถามต่างๆ ที่ทำเอาคนจะสร้างบ้านคนไหนๆ ต่างสับสนและหัวหมุนไปตามๆ กัน ขนาดบ้านเท่านี้ งบประมาณเท่าไหร่? ควรเริ่มต้นจากตรงไหน ทำอะไรก่อนดี? หาผู้รับเหมาหรือสถาปนิกก่อนดี? อยู่สามคน บ้านต้องขนาดเท่าไหร่? กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ? บ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น? ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างไหม? สถาปนิกและวิศวกรต้องเซ็นหรือไม่?

แต่ก่อนอื่น ทาง LivingPop อยากจะแนะนำให้เพื่อนๆ ที่กำลังอยากสร้างบ้านทุกคนทำการสำรวจตัวเองก่อน โดยเริ่มจาก 4 ข้อหลักต่อไปนี้ ซึ่งถ้าตอบตัวเองได้ครบ เราเชื่อว่าเรื่องที่น่าปวดหัวมากๆ จะเบาลงจนกลายเป็นแค่เรื่องปวดหัวนิดหน่อยเท่านั้นครับ

1. สร้างที่ไหน?

สร้างที่ไหนในที่นี้หมายถึง สร้างบนที่ดินแปลงไหน และที่ดินแปลงนั้น เป็นของใคร ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้นๆ ที่ต้องรู้ก่อนสร้างบ้าน ในแง่ต่างๆ ได้แก่

ก่อนสร้างบ้านต้องทำความเข้าใจกับบริบท
  • ขนาดและรูปร่างของที่ดิน ข้อนี้มีผลโดยตรงต่อกายภาพของบ้านเลยทีเดียว ซึ่งต้องคิดควบคู่ไปกับ ขนาดพื้นที่ใช้สอยของบ้านและรูปแบบที่เราต้องการ เช่น หากเราต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เยอะ ในขณะที่ขนาดที่ดินไม่ใหญ่นัก ก็จะส่งผลโดยตรง ว่าบ้านของเรานั้น จะต้องมีการซ้อนชั้น เป็นต้น หรือหากที่ดินมีขนาดใหญ่ ก็เป็นโอกาสให้สามารถออกแบบบ้าน และบริเวณของบ้านให้ส่งเสริมกัน 
  • เจ้าของที่ดิน ข้อนี้ผลในแง่เอกสารต่างๆ โดยกรณีที่ง่ายที่สุดคือ เราเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่เราจำปลูกสร้างบ้านนั่นเอง แต่หากเป็นที่ดินของพ่อแม่ ของครอบครัว หรือมีชื่อพี่น้องร่วมกันในโฉนดหลายคน ก็จะต้องโน้ตไว้ว่า ในขั้นตอนการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง จะต้องเตรียมการยื่นเอกสาร และมีการเซ็นยินยอมให้ปลูกสร้างในที่ดินเพิ่มเติม
  • ตำแหน่งที่ตั้งและบริบท คือการทำความเข้าใจกับพื้นที่บ้านในอนาคตของเรา เป็นต้นว่าบริเวณโดยรอบเป็นอะไร ใกล้กับอะไร ติดกับใครบ้าง ในละแวกนั้นมีอะไรที่มีโอกาสจะเป็นปัญหา หรืออะไรที่เป็นข้อดี รอบรั้วทุกบ้านติดกับอะไร ด้านไหนมุมมองดี ด้านไหนคือด้านที่ต้องบังสายตา เป็นต้น
รูปร่างของที่ดินก็มีส่วนกำหนดรูปแบบของบ้าน

2. อยู่กับใคร?

อีกคำถามที่สำคัญมากเช่นกัน เพื่อที่เราจะสามารถทราบในเบื้องต้นได้ว่า บ้านจะต้องประกอบด้วยห้องนอนกี่ห้อง ห้องน้ำกี่ห้อง ห้องครัว ห้องนั่งเล่นต่างๆ ต้องมีพื้นที่ใช้สอยตรงไหนเป็นพิเศษหรือไม่ เป็นต้นว่า หากเป็นบ้านของครอบครัวใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย พ่อแม่ และครอบครัวของเราเอง ซึ่งในอนาคตกำลังวางแผนจะมีลูก จำนวนห้องนอนอย่างน้อยก็ควรต้องมี 3 ห้องนอน เป็นต้น โดยเมื่อทราบจำนวนของห้องต่างๆ คร่าวๆ แล้ว ก็จะย้อนกลับไปคิดร่วมกับข้อแรกคือ สร้างที่ไหน? ทีนี้เราก็จะทราบเป็นเค้าลางๆ แล้วว่า บ้านของเราจะเป็นยังไง

จัดสรรปันส่วนพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสมกับคนในครอบครัว

นอกจากเรื่องขนาดของพื้นที่ การที่เราตอบได้ชัดเจนว่า บ้านหลังนี้จะอยู่กับใครนั้น ยังมีผลถึงเรื่องลักษณะของพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสมกับแต่ละคน ชอบโปร่ง ชอบสว่าง ชอบโทนสีเข้ม ชอบสวนกว้างๆ ชอบครัวใหญ่ๆ ก็เหมือนจะเป็นการรีวิวคำตอบคร่าวๆ ของข้อถัดไปได้ดีทีเดียวครับ

หากวางแผนจะมีเจ้าตัวน้อยก็ต้องคิดเผื่อเค้าด้วยน้า

3. ชอบบ้านแบบไหน ?

เชื่อแน่ว่าทุกคน มีแบบบ้านในฝันอยู่ในใจ แต่ในข้อนี้เหมือนเป็นการรวบยอดความคิด ลองค่อยๆ เริ่มลิสต์ โดยเริ่มจากตัวเราเอง และรวมกับความต้องการของคนในบ้านด้วย เช่น เราชอบบ้านสไตล์โมเดิร์น แฟนชอบให้มีสวนกว้างๆ มีคุณแม่ที่ชอบครัวใหญ่ๆ ซึ่งในทีแรกอาจจะดูเหมือนความต้องการมาคนละทิศคนละทาง จับต้นชนปลายไม่ได้

อาจจะเริ่มหารูป Reference Image แบบบ้านที่สนใจ 

แต่เรามีเคล็ดลับง่ายๆ โดยจะแบ่งเป็นหัวข้อๆ ให้ลองคุย ลองถกเถียงกัน และอาจจะมีรูป Reference Image ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

  • ชอบบ้านกี่ชั้น เพราะบางคนอาจจะชอบบ้านชั้นเดียว บางคนก็ชอบหลายๆ ชั้น จะได้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น
  • ขนาดโดยรวมของบ้าน เพราะมีทั้งคนที่ชอบพื้นที่ขนาดพอดีๆ แต่คนที่ชอบพื้นที่กว้างๆ ดูโอ่โถง
  • รูปแบบบ้านโดยรวม เช่น บ้านหลังคาจั่ว บ้านทรงกล่อง บ้านยกใต้ถุน เป็นต้น
  • บ้านสไตล์ไหน เช่น สไตล์โมเดิร์นดูเรียบๆ ไทยประยุกต์ แบบร่วมสมัย สไตล์มินิมอล Loft Industrial ฯลฯ
  • บรรยากาศโดยรวมของบ้าน เช่น ชอบบ้านที่สว่างๆ หน้าต่างเยอะๆ หรือดูสบายๆ คล้ายรีสอร์ต
  • โทนสีและวัสดุ บางคนอาจจะชอบโทนสีเข้ม ผู้ใหญ่ๆ หรือที่กำลังฮิตคือวัสดุจะออกแนว ขาวๆ ไม้ๆ เป็นต้น
  • พื้นที่พิเศษเพิ่มเติม เช่น อยากมีครัวแยกจากตัวบ้าน ห้องทำงาน ห้องดูหนัง เป็นต้น
บ้านในสวนเน้นต้นไม้เยอะๆ

ซึ่งพอสำรวจความชอบ ความต้องการทั้งหมดแล้ว อาจจะได้รูปแบบบ้านคร่าวๆ ที่ชัดพอสมควร สำหรับการเริ่มออกแบบบ้าน หรือเริ่มมีข้อมูลที่ชัดเจนเตรียมไว้สำหรับพูดคุยกับดีไซน์เนอร์และสถาปนิก ซึ่งจะช่วยให้ในขั้นตอนต่อๆ ไปง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

บ้านรูปทรงเรียบง่ายหลังคาทรงจั่ว

4. งบประมาณเท่าไหร่และงบประมาณจากไหน?

เพื่อนๆ อาจเคยได้ยินกันอยู่บ้างที่มีคนพูดเอาไว้ว่า “พอเราสร้างบ้าน งบจะบานเสมอ” แต่เราเชื่อว่า หากวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายให้ดี การที่จะสร้างบ้านให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป

งบประมาณเท่าไหร่ดี? การคาดคะเนคร่าวๆ เรื่องงบประมาณในการก่อสร้างบ้าน วิธีที่ง่ายที่สุดและได้รับความนิยม คือการคำนวณจากราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร ซึ่งเราจะรู้พื้นที่บ้านได้อย่างไร ก็คือการคิดข้อ 1-3 รวมๆ กัน ดูขนาดที่ดินและขนาดการใช้สอย เช่น บ้านขนาดพอดีๆ สำหรับการอยู่อาศัย 2-4 คน (2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ห้องนั่งเล่น) คิดพื้นที่คร่าวๆ ได้สัก 120-180 ตารางเมตร ราคาค่าก่อสร้างสำหรับบ้านพักอาศัยตอนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 15,000 บาทต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะของบ้านและการเลือกใช้วัสดุ นำมาคำนวณ (ใช้ค่าเฉลี่ย) ก็จะได้ว่า

150 x 12,500 = 1,875,000 บาทโดยประมาณ

มีอีกวิธีก็คือการมีงบประมาณอยู่แล้ว เช่น ตั้งงบประมาณสำหรับสร้างบ้านไว้เลยที่ 3 ล้านบาท หรือ 5 ล้านบาท แล้วขนาดพื้นที่ใช้สอยหรือรูปแบบการออกแบบของบ้าน ก็พยายามทำให้ได้ในงบประมาณที่ตั้ง แต่ทั้งนี้งบประมาณ รูปแบบบ้านและความต้องการ จะต้องคิดให้รอบคอบสอดคล้องกัน หากวางแผนจะสร้างบ้านเรื่องสำคัญมากคือค่าใช้จ่ายอาจจะต้องสำรองเงินส่วนนี้ไว้ด้วยน้า 

หากวางแผนจะสร้างบ้านเรื่องสำคัญมากคือค่าใช้จ่ายอาจจะต้องสำรองเงินส่วนนี้ไว้ด้วยน้า 

หลังจากที่กำหนดงบประมาณในการสร้างบ้านเรียบร้อย สำหรับคนที่มีเงินก้อนในส่วนนี้เตรียมไว้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือการวางแผนและเตรียมจัดสรร สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างสถาปนิกหรือค่าออกแบบเขียนแบบก่อสร้าง ค่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น แต่สำหรับคนที่วางแผนว่าเงินส่วนนี้จะมาจากการกู้สถาบันการเงิน ขั้นตอนในการยื่นกู้ก็จะมีขั้นตอนและรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งอาจจะบอกได้เลยว่าไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป หากเตรียมตัวให้ดี ก็สามารถทำได้ผ่านฉลุยอย่างแน่นอน


สำหรับ Checklist ทั้ง 4 ข้อที่เรานำมาเสนอเพื่อนๆ ก็เพื่อสำรวจความต้องการเบื้องต้น ก่อนที่จะลงมือสร้างบ้านกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เจ้าของบ้านเองได้เห็นภาพชัดๆ กันก่อน และเตรียมความพร้อมเพื่อจะรับมือกับความวุ่นวายในขั้นตอนต่างๆ ของการสร้างบ้าน หากมีคำตอบที่ชัดเจนทั้ง 4 ข้อแล้ว เชื่อว่าในขั้นตอนต่อๆ ไป จะสามารถผ่านไปได้ไม่ยากเลยครับ ^^


Related posts
เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

พาไปดูเทคโนโลยีล่าสุด “AIS Fibre Home Network Solution” เดินสายไฟเบอร์โปร่งใสทั้งหลัง เน็ตแรง 1Gbps เท่ากันทั้งบ้าน

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

12 ข้อที่ต้องรู้ก่อนจ้างบริษัท Built-in ตกแต่งห้อง!!!

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

7 เทคนิค Life Hack เปลี่ยนห้องขนาดจำกัด ให้จัดพื้นที่ได้เยอะขึ้น

เรื่องน่ารู้ของคนมีบ้าน

สร้างบ้านแบบล้ำๆ ด้วยเทคโนโลยี 3D-PRINTED อยู่ได้จริงไม่จกตา!