รถไฟฟ้า-คมนาคม

ทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีทอง” รถไฟล้อยางบนรางปูน เปิดพื้นที่ฝั่งธนเลียบเจ้าพระยา

IN BRIEF

  • แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีทอง มีการศึกษาเบื้องต้นเอาไว้ตั้งแต่ปี 2552 แต่ กทม. ไม่ได้สานต่อ
  • จนไอคอนสยามต้องการให้มีรถไฟฟ้าเชื่อมเข้าสู่โครงการ ไอคอนสยามจึงให้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท กับ กทม. เพื่อปัดฝุ่นโครงการนี้
  • รถไฟฟ้าขนาดเล็กเส้นทางนี้ไม่ใช่โมโนเรลแบบที่หลายๆ คนเรียกผิด แต่เป็นรถไฟฟ้าระบบล้อยาง ไร้คนขับ ที่นิยมใช้กันตามสนามบินในต่างประเทศ


กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรของไทย ที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ก็มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าเกิดขึ้นใหม่ในทุกมุมเมืองเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของกรุงเทพฯ ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น และใช้เวลาน้อยลง แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็มีรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ที่จู่ๆ ก็มีโครงการจะสร้างเส้นทางนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีข่าวให้เราได้ยินมาก่อนเลย อีกทั้งสายนี้ น่าจะใช้เวลาก่อสร้างสั้นที่สุดตั้งแต่เคยมีรถไฟฟ้ามาในไทย นั่นก็คือ “รถไฟฟ้าสายสีทอง”

เหตุผลที่ทำไมสายนี้ถึงใช้เวลาก่อสร้างสั้นที่สุด ก็เพราะว่าสายนี้ยังเป็น “ที่สุด” ในบรรดาทุกๆ สายของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ อีกหลายๆ อย่าง ได้แก่ …

“ระยะทางสั้นที่สุด”

“มีสถานีน้อยที่สุด”

“ขนาดรถเล็กที่สุด”

“บรรจุคนได้น้อยที่สุด” และ

“อู่ซ่อมบำรุงเล็กที่สุด”

วันนี้ Living Pop ขอพาทุกท่านไปสำรวจโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ว่าสายนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสถานีอะไรบ้าง เส้นทางเป็นอย่างไร รวมไปถึงระบบและขบวนรถแบบใหม่ที่แตกต่างจาก BTS และ MRT ในปัจจุบัน ไปติดตามชมกันได้เลยครับ


รถไฟฟ้าเส้นนี้ มีแผนจะทำตั้งแต่ปี 52

หลายๆ คนอาจจะคิดว่ารถไฟฟ้าสายสีทองเส้นทางนี้ จากบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรี ผ่านคลองสาน จนสิ้นสุดใกล้บริเวณแยกถนนประชาธิปกตัดกับถนนสมเด็จเจ้าพระยา เป็นเส้นทางที่ลากขึ้นมาใหม่โดยไอคอนสยาม แต่แท้จริงแล้ว เส้นทางนี้ ทาง กทม. ได้ทำการศึกษาเส้นทางนี้มาก่อนแล้วในปี 2552 ภายใต้ “โครงการศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ของสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552” โดยที่ กทม. ต้องการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติมให้เข้าถึงย่านที่รถไฟฟ้าเส้นทางหลักยังเข้าไม่ถึง โดยศึกษาทั้งหมด 8 เส้นทางด้วยกัน ได้แก่

  • สายที่ 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร – ถนนเพชรบุรี – ถนนหลานหลวง
  • สายที่ 2 มหาวิทยาลัยรางคำแหง – ซอยทองหล่อ
  • สายที่ 3 แยกรัชดา ลาดพร้าว – แยกรัชโยธิน – หมอชิต 2 – สวนจัตุจักร
  • สายที่ 4 ถนนกรุงธนบุรี – ถนนเจริญนคร – ถนนราษฎร์บูรณะ – ถนนสุขสวัสดิ์
  • สายที่ 5 ถนนกรุงธนบุรี – ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
  • สายที่ 6 ถนนสุขสวัสดิ์ – ถนนประชาอุทิศ – เขตทุ่งครุ
  • สายที่ 7 จุฬาฯ – สีลม – สามย่าน
  • สายที่ 8 บางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

จาก 8 สายที่ได้กล่าวมา บางสายก็เคยมีข่าวให้เห็นประปราย อย่างสายที่ 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง – ซอยทองหล่อ และสายที่ 7 จุฬา – สีลม – สามย่าน แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป บางสายก็ได้ถูกพัฒนาต่อ อย่างบางส่วนของสายที่ 3 ช่วงแยกรัชดา ลาดพร้าว – แยกรัชโยธิน ที่ปัจจุบันมาเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนที่บีทีเอสยื่นข้อเสนอให้กับ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ว่าขอสร้างส่วนนี้เพิ่ม หรืออย่างสายที่ 8 บางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ถูกบรรจุเป็นอีกเส้นทางหนึ่งของแผนรถไฟฟ้าระยะที่ 2 (M-MAP 2) รวมไปถึงสายที่ 5 ถนนกรุงธนบุรี – ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ที่ถูกปัดฝุ่นใหม่จนกลายเป็นรถไฟฟ้าสายสีทองอย่างในปัจจุบัน

แผนรถไฟฟ้าสายที่ 5 ในอดีต ที่กลายมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีทองในปัจจุบัน
(ที่มาภาพ : รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง)

ถ้าไม่มีไอคอนสยาม ก็คงไม่ได้สร้าง

จากงานสัมมนา Thailand 2019 ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คุณชฎาทิพ จูตระกูล CEO ของสยามพิวรรธน์ หนึ่งในผู้ร่วมทุนของโครงการไอคอนสยาม ได้ขึ้นเป็นแขกรับเชิญของงานสัมมนานี้ในการบรรยายเกี่ยวกับเบื้องหลังของโครงการไอคอนสยาม ซึ่งบางช่วงบางตอนได้พูดถึงรถไฟฟ้าสายสีทองด้วย ว่าทางคุณชฎาทิพ อยากให้ไอคอนสยามที่อยู่ริมแม่น้ำ เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ทั้งระบบรถ ราง และเรือ จึงได้ไปขอคำปรึกษาจากคุณคีรี กาญจนพาสน์ CEO ของบีทีเอสกรุ๊ป ซึ่งคุณคีรีแนะนำว่าให้สร้าง Feeder line ให้เชื่อมต่อระหว่างบีทีเอสกับไอคอนสยาม และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มและสายสีม่วงอีกด้วย ทางไอคอนสยามจึงประสานงานกับ กทม. และกรุงเทพธนาคม (วิสาหกิจของ กทม.) เพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองนี้ขึ้นมา


ไอคอนสยามออกเงินให้สร้าง แลกกับสัมปทานโฆษณา 30 ปี

เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาทในการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ ไอคอนสยามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับ กทม. และกรุงเทพธนาคมทั้งหมด (เฉพาะช่วง กรุงธนบุรี – ไอคอนสยาม – คลองสาน ที่ไอคอนสยามออกเงินให้ ส่วนช่วง คลองสาน – ประชาธิปก กทม. ออกเงินสร้างเอง และยังไม่มีแผนสร้างในช่วงนี้) ซึ่งเงินทั้งหมดนี้ใช้ไปกับการก่อสร้างเท่านั้น ไม่มีค่าเวรคืน เพราะโครงการนี้ไม่มีการเวรคืนใดๆ โดยแลกกับสัมปทานการจัดการพื้นที่และพื้นที่โฆษณาภายในโครงการตลอดระยะเวลา 30 ปี จากจุดนี้เอง ทำให้บางคนมองโครงการนี้ว่า รัฐบาลเอื้อนายทุนรึเปล่าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายทางนี้เพื่อขนส่งคนเข้าสู่โครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนรายใดรายหนึ่งเท่านั้น

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็ถือว่าไอคอนสยามเอง ก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องการลดผลกระทบทางจราจรจากรถที่จะเข้าโครงการ โดยการให้ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีทองแทน ที่ในอนาคต จุดนี้จะไม่ได้มีเพียงไอคอนสยามเท่านั้น แต่ยังจะมีหอชมเมืองกรุงเทพมหานครที่สร้างอยู่ติดกับไอคอนสยามอีกด้วย ที่ในอนาคตจะเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากมาย

อย่างในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นฮ่องกง ก็มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าเข้าสู่โครงการฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ จึงไม่แปลกเลย หากจะมีโครงการลักษณะแบบนี้อยู่ในประเทศไทยของเราบ้าง

รถไฟฟ้าสายดิสนีย์แลนด์ รีสอร์ต เชื่อมต่อดิสนีย์แลนด์ ฮ่องกง เข้ากับรถไฟฟ้าเส้นทางหลัก ให้บริการโดย MTR ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในเกาะฮ่องกง
(ที่มาภาพ : shawn michael / Shutterstock.com)

4 สถานี ตลอดเส้นทาง 2.72 กิโลเมตร

ตลอดเส้นทางกว่า 2.72 กิโลเมตร ของรถไฟฟ้าสายสีทอง ถูกแบ่งออกเป็น 2 เฟสด้วยกัน

  • เฟสที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างตอนนี้ ระยะทาง 1.77 กิโลเมตร จากสถานีกรุงธนบุรี ผ่านไอคอนสยาม สิ้นสุดที่สถานีคลองสาน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มในอนาคต ในเฟสนี้ ไอคอนสยามออกเงินทุนในการก่อสร้างให้ กทม. และกรุงเทพธนาคม
  • เฟสที่ 2 ขยายไปอีก 1 สถานี ระยะทาง 0.95 กิโลเมตร จากสถานีคลองสานในเฟสเดิม มาสิ้นสุดที่สถานีประชาธิปก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงในอนาคต ในเฟสนี้ กทม. เป็นผู้ออกเงินทุนในการก่อสร้างเอง ซึ่งยังไม่มีแผนที่จะก่อสร้างในเร็วๆ นี้
แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟสที่ 1 (สัดส่วนไม่อิงกับขนาดจริง)

สถานีกรุงธนบุรี

สถานีนี้อยู่ร่วมกับศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ อยู่เหนือถนนกรุงธนบุรีฝั่งมุ่งหน้าขึ้นสะพานตากสิน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม (สีเขียวเข้ม) ที่สถานีกรุงธนบุรี ที่ชั้นชานชาลามีความยาว 48.5 เมตร กว้าง 17 เมตร

โดยทั่วไปเรามักจะพบเห็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าเป็นอาคารที่อยู่แยกจากเส้นทางของรถไฟฟ้าออกไป แต่ศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าสายนี้สามารถตั้งอยู่เหนือถนนและสร้างร่วมกับสถานีรถไฟฟ้าเลย เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าของเส้นทางนี้มีขนาดที่เล็ก ใช้พื้นที่น้อยสำหรับการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า


สถานีเจริญนคร

ถัดจากสถานีแรกไปประมาณ 1.16 กิโลเมตร สถานีที่สองของรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ อยู่เหนือถนนเจริญนคร เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าไอคอนสยามทั้งชั้น M และชั้น UG อีกทั้งยังเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อไอคอนสยามทั้งเฟสเก่าและเฟสใหม่เข้าด้วยกัน ที่ชั้นชานชาลามีความยาว 42 เมตร กว้าง 22 เมตร

ซึ่งไอคอนสยามเฟสสองนั้น อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเฟสเก่าที่อยู่อีกฝั่งของถนนเจริญนคร โดยในเฟสนี้ คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งเฟสใหม่นี้ จะมีทั้งร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ โคเวิร์กกิ้งสเปซ และโรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ กรุงเทพฯ โรงแรมฮิลตันสาขาที่สองของฝั่งธนบุรี ซึ่งสาขาแรกก็อยู่ไม่ไกลไปจากสาขาที่สอง เพราะสาขาแรกก็อยู่ติดกับไอคอนสยามเฟสแรกนี่เอง


สถานีคลองสาน

หลังจากผ่านสถานีเจริญนครไปประมาณ 0.53 กิโลเมตร เส้นทางจะเลี้ยวเข้าสู่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถึงแม้ว่าถนนเส้นนี้จะมีลักษณะที่แคบและไม่มีเกาะกลางถนน แต่ถนนเส้นนี้ก็ติดอยู่กับคลองที่ชื่อว่า “คลองสาน” พอดี มีเพียงทางเท้าที่คั่นกลางระหว่างถนนกับคลอง ทำให้สถานีนี้ต้องปักตอหม้อลงบนทางเท้าดังกล่าว และตัวสถานีคร่อมอยู่เหนือทั้งถนนและคลอง ที่ชั้นชานชาลามีความยาว 42 เมตร กว้าง 20 เมตร

สถานีนี้จะมีสกายวอล์กเชื่อมเข้าสู่โรงพยาบาลตากสินซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดของ กทม. เอง และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สถานีคลองสาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ต่อมาจากช่วงบางซื่อ – รังสิต และจะขยายเส้นทางลงมาทางหัวลำโพง คลองสาน วงเวียนใหญ่ และไปสิ้นสุดที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ในอนาคต ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มในช่วงหัวลำโพง – ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา – คลองสาน – วงเวียนใหญ่ จะเป็นระบบใต้ดิน

ถึงแม้ว่ารถไฟฟ้าสายสีทองจะอยู่ลอยฟ้า ไม่ต้องไปหลบพื้นที่ให้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มที่อยู่ชั้นใต้ดิน แต่สถานีเจริญนครก็ดันไปตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานลาดหญ้า – มหาพฤฒาราม โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ทำให้สถานีนี้มีระดับที่อยู่สูงกว่าสถานีอื่นประมาณ 3 – 4 เมตร


สถานีประชาธิปก (สถานีในอนาคต)

สถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าสายสีทองในแผนปัจจุบัน อยู่ถัดจากสถานีก่อนหน้าประมาณ 950 เมตร ตั้งอยู่ปากซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ซึ่งเป็นทางเข้าของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าศรีนครินทราบรมราชชนนี ถึงแม้ว่าจะเป็นสถานีสุดท้าย แต่ในอนาคต กทม. อาจมีแผนขยายเส้นทางออกไปอีก ทำให้สถานีนี้มีการก่อสร้างไว้ 2 ชานชาลาแบบสถานีอื่นๆ ของรถไฟฟ้าสายสีทอง แต่จะมีชานชาลาฝั่งหนึ่งที่ปิดการใช้งานชั่วคราว และปูพื้นคลุมบนรางของรถไฟฟ้า เพื่อให้พื้นที่ในการเดินเข้าออกของผู้โดยสารมีพื้นที่ที่กว้างยิ่งขึ้น เมื่อมีแผนจะสร้างเส้นทางต่อ ก็สามารถรื้อชานชาลานี้เพื่อใช้รางรถไฟฟ้าได้เลย ซึ่งชั้นชานชาลานี้มีความยาว 42 เมตร กว้าง 20 เมตร

สถานีนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีสะพานพุทธ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ต่อมาจากช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ (บางใหญ่ จ.นนทบุรี) และจะขยายเส้นทางลงมาสามเสน เกาะรัตนโกสินทร์ วงเวียนใหญ่ บางปะกอก พระประแดง และมาสิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งสถานีของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย มีระยะห่างกันประมาณ 350 เมตร

ตามแผนของ กทม. นั้น สถานีประชาธิปก กทม. ต้องการให้เป็นเพียงแค่สถานีชั่วคราวในเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงเท่านั้น เพราะในอนาคต กทม. มีแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองเข้าถนนประชาธิปกและถนนอิสรภาพ ซึ่งระหว่างทางจะมีสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีสะพานพุทธ ที่มีระยะทางเดินในการเชื่อมต่อกับสายสีทองประมาณ 100 เมตรเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่ากับการที่เชื่อมต่อกับสถานีประชาธิปกของสายสีทอง ที่ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 350 เมตร


รถไฟฟ้าล้อยาง “ที่ไม่ใช่โมโนเรล”

ระบบที่รถไฟฟ้าสายสีทองได้เลือกมาใช้ ก็คือระบบ AGT ซึ่งย่อมาจาก Automated Guideway Transit หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า ระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ไม่มีคนขับ ซึ่งล้อของขบวนรถจะเป็นล้อยาง ต่างจากล้อของขบวนรถไฟฟ้าระบบอื่นๆ อย่างที่ BTS กับ MRT ใช้ที่เป็นล้อเหล็ก อีกทั้งรางรถไฟฟ้าก็ไม่ใช่รางเหล็ก แต่เป็นรางปูนซีเมนต์ที่ออกแบบมาให้เข้ากับล้อยางของขบวนรถไฟฟ้าชนิดนี้โดยเฉพาะ

ในบางครั้ง รถไฟฟ้าสายสีทองก็ถูกเรียกว่าเป็นรถไฟฟ้าระบบ APM ซึ่งย่อมาจาก Automated People Mover ซึ่งความแตกต่างกับ AGT นั้นก็ไม่ชัดเจน (สรุปว่าสายสีทอง เป็นทั้ง AGT และ APM แล้วแต่จะเรียก) โดยรถไฟฟ้าชนิดนี้ นิยมใช้เชื่อมต่อระหว่างอาคารในสนามบิน อย่างในสนามบินชางงีที่สิงคโปร์ ที่ใช้รถไฟฟ้าระบบนี้เชื่อมต่อระหว่างอาคาร และในสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ และใช้รถไฟฟ้าระบบนี้เชื่อมต่อระหว่างอาคารใหม่กับอาคารเก่า

รถไฟฟ้า AGT ภายในสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างสามอาคารผู้โดยสารให้เดินทางไปมาหากัน
ลักษณะของรางของรถไฟฟ้า AGT จะต่างจากรถไฟฟ้าระบบอื่น ตรงที่ไม่มีรางเหล็กมาวางอยู่

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าชนิดนี้ ยังถูกใช้เป็นรถไฟฟ้าเส้นทางรองเชื่อมต่อระหว่างย่านชุมชนกับรถไฟฟ้าเส้นทางหลัก อย่างประเทศสิงคโปร์ ในย่าน Bukit Panjang, Sengkang และ Punggol หรืออย่างในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้รถไฟฟ้าระบบนี้ในเกาะโอไดบะ เกาะที่ประเทศญี่ปุ่นถมขึ้นมาใหม่ ก็หวังว่าในอนาคต ย่านชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่รถไฟฟ้าเส้นทางหลักยังไม่เข้าถึง จะมีรถไฟฟ้าเส้นทางรองที่ใช้ระบบ AGT มาให้ใช้งานเหมือนอย่างต่างประเทศบ้าง

รถไฟฟ้า AGT ทำหน้าที่เชื่อมต่อย่านชุมชนขนาดรองของประเทศสิงคโปร์เข้ากับรถไฟฟ้าสายหลัก
(ที่มาภาพ: Sam’s Studio / Shutterstock.com)
พอรถไฟฟ้ามีขนาดเล็ก ตัวสถานีก็มีขนาดเล็กลงไปด้วย – สถานี Ranggung ในรถไฟฟ้าสาย Sengkang LRT ประเทศสิงคโปร์
(ที่มาภาพ : Wikipedia)

บีทีเอสเดินรถตลอด 30 ปี

ทางกรุงเทพธนาคม ได้มอบหมายให้บีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทานในการเดินรถเส้นทางนี้ เป็นเวลา 30 ปี วงเงินจ้างเดินรถประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งบีทีเอสจะต้องเป็นผู้จัดหาขบวนรถมาให้บริการด้วย โดยบีทีเอสได้เลือกใช้รถจาก Bombardier รุ่น Innovia APM 300 ซึ่งเป็นซีรีส์เดียวกับรุ่น Innovia Monorail 300 ที่บีทีเอสได้เลือกมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูและสีเหลืองที่บีทีเอสได้สัมปทานเช่นเดียวกัน

ตัวรถ Bombardier รุ่น Innovia APM 300 บีทีเอสได้สั่งนำเข้าเพื่อมาให้บริการจำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ หนึ่งตู้สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 103 คนต่อตู้ ให้บริการด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ตามสเป็กสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เมื่อคิดจากจำนวนขบวน จำนวนตู้ ระยะทาง และความเร็วแล้ว รถไฟฟ้าเส้นทางนี้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 4,000 – 12,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ความถี่ประมาณ 3-5 นาทีเลยทีเดียว

เปรียบเทียบขนาดและความยาวตัวรถไฟ ระหว่าง AGT สายสีทอง กับโมโนเรลสายสีชมพู และ MRT สายสีน้ำเงิน

ทำไมอยู่ใจกลางเมืองแต่ไม่ต้องสร้างลงใต้ดิน ?

จากมติคณะรัฐมนตรีในปี 2537 ที่ให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าในย่านเกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่อื่นๆ ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งรวมไปถึงย่านคลองสาน ต้องเป็นระบบใต้ดินเท่านั้น แต่เนื่องด้วยรถไฟฟ้าเส้นทางนี้เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ประกอบการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ ที่มีจุดตัดกับรถไฟฟ้าสายสีทองบริเวณคลองสานมีแนวโน้มจะเป็นระบบใต้ดิน หากสายสีทองเป็นระบบใต้ดิน จะต้องอยู่ลึกลงไปมากๆ เพื่อหลบให้กับสายสีแดงเข้ม การก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินจึงไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่ต้องเสียไป

ในปี 2560 ทางกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของ กทม. จึงได้ขอคณะรัฐมนตรีให้ยกเว้นข้อกำหนดของคณะรัฐมนตรีในปี 2537 เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีทองสามารถก่อสร้างเป็นระบบลอยฟ้าได้

รถไฟฟ้าสายสีทองอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีในปี 2537 กำหนดให้รถไฟฟ้าต้องเป็นระบบใต้ดินเท่านั้น
(ที่มาภาพ : รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง)

เส้นทางแค่นี้ ค่าโดยสารเท่าไหร่ ?

สำหรับค่าโดยสารของสายนี้ จะอยู่ที่ 15 บาทตลอดสาย ไม่ว่าจะขึ้นใกล้ขึ้นไกลแค่ไหน ซึ่งโดยลักษณะของสถานีกรุงธนบุรีของสายสีทองนั้น ไม่ได้มีพื้นที่ชำระเงิน (Paid Area) ที่เชื่อมต่อกับสถานีของ BTS จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าค่าโดยสารของสายสีทองและ BTS จะ “แยกกันต่างหาก” ไม่ได้คิดราคารวมกันครับ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของ กทม. และ BTS อีกทีนึงว่าจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

แต่ทั้งนี้หากรถไฟฟ้าสายสีทองแยกเก็บเงินกับรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางปัจจุบัน หลายๆ คนที่นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสมาไอคอนสยาม ก็มีตัวเลือกอื่นในการไปไอคอนสยามแทนการขึ้นรถไฟฟ้าสายสีทองเช่น อาจจะลงที่สถานีสะพานตากสินแทน แล้วไปลงเรือเพื่อไปไอคอนสยาม ซึ่งเรือเส้นทางนี้ให้บริการฟรีครับ


โควิดมา ทำเลื่อนเปิด.. แต่เปิดปีนี้แน่นอน!

ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โควิด-19 เพิ่งเริ่มระบาดใหม่ๆ ที่จีน ช่วงนั้นทาง กทม. ก็ได้ออกข่าวว่าการผลิตและขนส่งขบวนรถจากจีนมาที่ไทยอาจจะได้รับผลกระทบนิดหน่อย แต่จะเปิดให้ได้ใช้บริการกันในช่วงมิถุนายน – กรกฎาคมของปีนี้ แต่พอโควิด-19 หนักขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นไปทุกที ทั้งในไทยและทั่วโลก ทำให้กำหนดการล่าสุด ขบวนรถจะมาถึงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ทดสอบระบบช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน ทดลองเดินรถเสมือนจริงในช่วงเดือนกันยายน และเปิดให้ใช้จริง ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ อีกไม่กี่เดือนก็จะได้นั่งกันแล้ว

ซึ่ง ณ ตอนนี้ (22 เมษายน 2563) ความก้าวหน้าโดยรวมของทั้งโครงการ ก็ไปถึง 86% แล้ว แต่ถ้าแยกดูในแต่ละส่วน ส่วนงานโครงสร้างด้านโยธาก็คืบหน้าไปกว่า 91% และส่วนงานระบบการเดินรถก็คืบหน้าไปกว่า 79% แล้ว ถึงแม้ว่ากำหนดการเดิมที่ไอคอนสยามตั้งใจอยากจะให้เปิด คือช่วงปลายปี 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี หลังจากที่ไอคอนสยามได้เปิดในปี 2561 แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ต้องเลทออกไป จนจะได้เปิดให้ใช้บริการกันหลังจากที่ห้างเปิดไปแล้วประมาณ 2 ปี ถึงขนาดที่บริษัทแม่ของสยามทาคาชิมายะที่ญี่ปุ่นต้องให้เหตุผลที่ห้างสาขานี้ในไทยขาดทุนไปกว่า 122 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เป็นเพราะว่ารถไฟฟ้าสายสีทองยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการห้างไม่ถึงเป้า


“สายสีทอง” สีนี้เคยเกือบจะอยู่ที่นนทบุรี

ในช่วงปี 2556 จ.นนทบุรีได้เสนอกับคณะรัฐมนตรี ให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ จากสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่ ขึ้นเหนือไปตามถนนกาญจนาภิเษก เลี้ยวขวาเข้าถนนชัยพฤกษ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับสะพานพระราม 4 และมาสิ้นสุดที่ห้าแยกปากเกร็ด เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีปากเกร็ด ซึ่ง จ.นนทบุรีได้ตั้งชื่อให้กับรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ว่า “รถไฟฟ้าสายสีทอง” จากนั้น ในปี 2559 รฟม. ได้เตรียมเสนอรถไฟฟ้าเส้นนี้ เข้าบรรจุเป็นแผนรถไฟฟ้าระยะที่ 2 (M-MAP 2) แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จน กทม. กับไอคอนสยาม นำสีทอง มาเป็นสีประจำรถไฟฟ้าเส้นใหม่ที่ย่านคลองสานก่อนไปแล้ว


เมื่อรถไฟฟ้าสายสีทองเปิดให้ใช้บริการแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางของชาวคลองสานได้มากน้อยเพียงใด เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นนี้มีระยะทางที่สั้น การจะขึ้นรถเมล์ รถสองแถวเล็ก ก็ดูเป็นอะไรที่สะดวกอยู่แล้ว รถไฟฟ้าสายสีทองคงจะสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมายังไอคอนสยามที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพราะไม่ต้องรอคิวขึ้นเรือหรือขึ้นรถรับส่งจากสถานีรถไฟฟ้า แล้วเปลี่ยนมาขึ้นรถไฟฟ้าแทนครับ

ใครที่อ่านจบแล้วก็ขอฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้เราด้วยนะครับ สำหรับในครั้งต่อไป Living Pop จะนำเรื่องอะไรดีๆ มานำเสนอ ก็ขอให้ติดตามกัน สำหรับบทความนี้ สวัสดีครับ 😀

Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2