fbpx
รถไฟฟ้า-คมนาคม

ชวนใช้ VIABUS แอปที่จะทำให้คนเมืองแฮปปี้กับรถเมล์มากขึ้น

IN BRIEF

  • ViaBus แอปดูเส้นทางและพิกัดรถเมล์ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากโปรเจกต์ส่งเข้าประกวดของนิสิตวิศวจุฬาฯ
  • ไม่เพียงแต่รถเมล์เท่านั้น แต่ ViaBus ยังสามารถดูเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า เรือโดยสาร เรือข้ามฟาก และรถทัวร์
  • บทความนี้จะสรุปความสามารถที่แอปนี้ทำได้ และวิเคราะห์จุดเด่นรวมถึงจุดที่ต้องระวังในการใช้งาน

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา รถเมล์ ขสมก. ได้มีการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาในรถมากมาย ถึงแม้ว่าหลายๆ อย่างจะใช้งานไม่ได้อย่างเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบหยอดเหรียญที่สุดท้ายก็ต้องถอดออกไป แต่มีหนึ่งสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร นั่นก็คือ “GPS” ระบบติดตามรถเมล์ที่ทุกๆ คนสามารถติดตามได้ว่ารถเมล์อยู่ไหนแล้ว ผ่านแอป ViaBus

วันนี้ Living Pop จะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักแอปนี้กันครับ รับรองว่ามีติดเครื่องไว้ ชีวิตแฮปปี้แน่นอนจ้า


ViaBus ไม่ใช่ผลงานของ ขสมก. แต่แอปตัวนี้เริ่มต้นมาจากนิสิตวิศวจุฬาฯ 3 คน ได้แก่ อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์ และ ธนโชติ โชติสรยุทธ์ ได้ทำแอปนี้ขึ้นมาเพื่อติดตามพิกัดของรถเมล์รวมทั้งตำแหน่งของป้ายรถเมล์ต่างๆ ซึ่งแอปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chula Engineering Innovation Hub ตลอดจนได้รางวัลจากการประกวดผลงานการพัฒนานวัตกรรมโมบายแอปพลิเคชันภาครัฐ หรือ MEGA 2015

ผู้จัดทำแอปทั้งสามคน ยืนอยู่ตรงกลางของแถวบน
ผู้จัดทำแอปทั้งสามคน ยืนอยู่ตรงกลางของแถวบน (ที่มา www.eng.chula.ac.th/th/15961)

ทำไมแอปนี้ถึงควรเป็นแอปสามัญประจำเครื่อง

ชีวิตคนกรุงที่หลายๆ คนยังต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ ก็คงมีหลายๆ โมเมนต์ที่ต้องหงุดหงิดกับการขึ้นรถเมล์ ทั้งรอนานบ้าง เห็นรถเมล์อยู่ข้างหน้าแต่วิ่งขึ้นรถไม่ทันบ้าง ยิ่งอากาศร้อนๆ แบบนี้ การที่ต้องรอที่ป้ายรถเมล์เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะป้ายที่ไม่มีศาลาพักผู้โดยสารให้นั่งรอ ก็คงจะทรมานจิตใจกันน่าดู จะดีกว่ามั้ย ถ้าเรานั่งรอในที่เย็นๆ หรือทำกิจกรรมอื่นระหว่างรอรถเมล์ แล้วคอยติดตามพิกัดของรถเมล์ว่าใกล้ถึงป้ายรถเมล์ที่เราจะขึ้นรึยัง ผ่านแอป ViaBus

การใช้งานแอปนี้ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนวุ่นวาย เริ่มแรกก็ต้องโหลดมาใช้กันก่อน ซึ่งแอปตัวนี้มีให้ใช้ทั้งบน iOS และ Android พอเปิดหน้าแรกขึ้นมา ก็จะพบกับแผนที่ที่ในเริ่มต้นจะแสดงในพื้นที่ที่เรากำลังยืนอยู่ก่อน บริเวณรอบตัวเราก็จะมีตำแหน่งของป้ายรถเมล์มากมาย เราจะขึ้นรถเมล์ตรงไหน ก็สามารถกดเลือกได้เลย

หน้าแรกของแอป และรายละเอียดสายรถเมล์ที่ผ่านป้ายรถเมล์ที่เราเลือก
หน้าแรกของแอป และรายละเอียดสายรถเมล์ที่ผ่านป้ายรถเมล์ที่เราเลือก

เมื่อเราเลือกป้ายรถเมล์แล้ว แอปก็จะแสดงสายรถเมล์หรือรถสาธารณะประเภทอื่นๆ อย่างรถกระป๊อ รถสองแถวที่ผ่านป้ายรถเมล์นี้ โดยแต่ละสายก็จะระบุด้วยว่ามี GPS ให้ติดตามพิกัดได้หรือไม่ด้วย.. (ติดตามทุกสายไม่ได้? ใช่ครับ.. ตอนนี้ยังสามารถติดตามพิกัดได้ในบางสายเท่านั้น ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาพูดถึงสาเหตุของเรื่องนี้กันอีกทีนึง) สำหรับสายที่ไม่มี GPS ระบบก็จะแสดงเส้นทางของสายนั้นๆ ให้เราได้เห็นกัน

ซึ่งเส้นทางนั้นจะแสดงแค่ขาๆ เดียว จากจุดเริ่มต้น ผ่านป้ายที่เราสนใจ และสุดที่จุดสิ้นสุดของสายนั้นๆ ไม่แสดงอีกขานึง ยกตัวอย่างอย่างสาย 21 วัดคู่สร้าง – จุฬาฯ ถ้ากดที่ป้ายหัวลำโพง เส้นทางจะสิ้นสุดที่ท่ารถเมล์ใกล้ๆ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ถ้ากดที่ป้ายสยาม เส้นทางจะเริ่มต้นที่ท่ารถเมล์ดังกล่าว ผ่านหัวลำโพง แล้วไปสิ้นสุดที่วัดคู่สร้าง จุดนี้อาจจะทำให้ผู้โดยสารเข้าใจผิดได้ว่าสาย 21 ไปสยามไม่ได้เพราะสุดสายที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งที่ความเป็นจริงรถเมล์จะจอดพักที่ท่ารถเมล์ไม่นาน แล้วจะออกรถไปสยามต่อ แต่ระบบจะถือว่าเป็นขากลับ ก็เลยไม่ได้โชว์เป็นเส้นต่อไปถึงสยาม ตรงนี้เป็นจุดนึงที่อาจจะต้องรู้ข้อมูลเบื้องต้นของสายรถอยู่บ้าง

และสำหรับสายที่มี GPS ก็จะมีพิกัดของรถเมล์แสดงอยู่ด้วย ซึ่งพิกัดนั้นจะเป็นพิกัดแบบเรียลไทม์ เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาตามตำแหน่งรถจริงๆ

สาย 21 วัดคู่สร่าง - จุฬาฯ ที่จุดสิ้นสุดของเส้นทางอาจทำให้เกิดความสับสนของผู้โดยสาร
สาย 21 วัดคู่สร้าง – จุฬาฯ ที่จุดสิ้นสุดของเส้นทางอาจทำให้เกิดความสับสนของผู้โดยสาร

สำหรับการรอรถเมล์ผ่านแอป ViaBus นั้น ในบางกรณีเราอาจจะต้องรอเก้อ เพราะพิกัดของรถเมล์คันที่เราเห็นบนหน้าจอ อาจจะไม่ใช่สายนั้นจริงๆ ก็ได้ อย่างในกรณีมีการเช่ารถเมล์ ขสมก. ไปทำภารกิจอย่างอื่น หรือมีเหตุที่รถเมล์สายหนึ่ง ต้องขอเอารถจากอีกสายหนึ่งไปวิ่งให้บริการ โดยสายที่เอารถคันนั้นไปก็จะทำการเปลี่ยนเลขสายหน้ารถ แต่ดันไม่ได้เปลี่ยนในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย รวมถึงกรณีที่รถเสีย กลับเข้าอู่ รถคันนั้นก็ยังแสดงพิกัดอยู่บนแอป แต่กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นน้อย ไม่ต้องกังวลไปนะครับ

สายไหนที่มีรถน้อย รอนานก็จะมีสัญลักษณ์นาฬิกาทรายกำกับไว้ด้วย
สายไหนที่มีรถน้อย รอนานก็จะมีสัญลักษณ์นาฬิกาทรายกำกับไว้ด้วย

วางแผนการเดินทาง ต่อรถตรงไหน แอปนี้ก็บอกได้

นอกจากจะสามารถใช้ดูเส้นทางรถโดยสารและพิกัดของแต่ละสายได้แล้ว ก็ยังสามารถให้แอปแนะนำการขึ้นรถโดยสารได้อีกด้วย โดยใส่จุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางลงไป แต่น่าเสียดายที่ผลที่แสดงออกมามีเฉพาะเส้นทางที่ต่อสายน้อย กับเส้นทางที่ขึ้นเฉพาะรถแอร์เท่านั้น ทำให้ในบางเส้นทางที่น่าจะสะดวกกว่านั้นกลับไม่ได้ถูกแนะนำในการค้นหา

แทนที่จะให้นั่งรถไฟฟ้ายาวๆ กลับให้ช่วงหนึ่งไปขึ้นรถเมล์แทน
แทนที่จะให้นั่งรถไฟฟ้ายาวๆ กลับให้ช่วงหนึ่งไปขึ้นรถเมล์แทน

ทำไมบางสาย บางคัน ถึงยังดูพิกัดไม่ได้?

ถึงแม้ว่าแอป ViaBus จะรวมรวมเส้นทางรถสาธารณะที่หลากหลาย ทั้งรถเมล์ ขสมก. รถร่วม รถสองแถว รถกระป๊อ รวมไปถึงเรือโดยสาร แต่มีเฉพาะบางเส้นทางเท่านั้น ที่สามารถแสดงพิกัดของรถได้ รถเมล์ ขสมก. สามารถใช้ได้บางสาย สายที่ยังไม่สามารถแสดงพิกัดได้ เนื่องจาก Distar ผู้ติดตั้งระบบ GPS และกล้องวงจรปิด ให้กับ ขสมก. ยังติดตั้งไม่ครบทุกสาย

รถร่วมบริการที่มีชื่อเสียงในเรื่องความเร็วอย่างสาย 8 ก็สามารถดูพิกัดได้เช่นกัน จากการที่ Traffy ของ NECTEC ได้เข้าไปติดตั้ง GPS ในช่วงก่อนหน้านี้ และรถร่วมบริการของบริษัทต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตลอดจนรถทัวร์ ก็สามารถดูพิกัดของรถโดยสารได้เช่นกัน

เรือข้ามฟาก เรือโดยสาร และรถสองแถว
รถเมล์ในต่างจังหวัด และรถทัวร์

แว้บไปดูแอปเพื่อนบ้าน

นอกจาก ViaBus แล้ว ก็ขอเล่าไปถึงบ้านใกล้เรือนเคียงกันสักนิดนึง อย่างในประเทศสิงคโปร์ แอปแผนที่ชื่อดังอย่าง Google Maps ก็สามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับรถเมล์บนแอปได้เช่นกัน โดยบอกทั้งพิกัดระเมล์ และระยะเวลาที่รถเมล์จะเดินทางถึง ณ ตำแหน่งของป้ายรถเมล์ต่างๆ ซึ่งเป็นเวลาแบบเรียลไทม์ ไม่ใช่ตารางเวลาที่ทำไว้ก่อนอยู่แล้ว

ผู้เขียนเองก็หวังว่า ViaBus ในอนาคต นอกจากจะบอกพิกัดรถโดยสารได้แล้ว จะยังสามารถบอกระยะเวลาในการรอ เพื่อที่ผู้โดยสารจะสามารถกะระยะเวลาในการทำสิ่งอื่นๆ ระหว่างระรอเมล์ หรือกะเวลาในการเดินไปป้ายรถเมล์ได้

ระยะเวลาในการรอรถเมล์

PROS & CONS

ข้อดี

  • สามารถดูเส้นทางและพิกัดของรถเมล์ได้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ที่กำลังเพิ่มข้อมูล
  • สามารถดูเส้นทางและพิกัดของรถเมล์ในหัวเมืองใหญ่ๆ ของประเทศได้
  • สามารถแนะนำเส้นทางในการเดินทางด้วยรถเมล์และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้

ข้อเสีย

  • ยังไม่สามารถบอกพิกัดของรถเมล์ได้ครบทุกสาย ซึ่งในส่วนนี้ต้องรอให้ผู้เดินรถเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์ GPS ให้กับสายที่ยังไม่มีอุปกรณ์ให้ครบถ้วน
  • พิกัดรถเมล์ที่เห็นอยู่บนหน้าจอ อาจเป็นคันที่ไม่ได้ให้บริการในสายนั้นๆ เป็นการชั่วคราว
  • ในบางกรณี การแนะนำเส้นทางยังไม่สามารถแนะนำเส้นทางที่สะดวกที่สุดให้ได้ อย่างในกรณีการขึ้นรถไฟฟ้า
  • ยังไม่สามารถบอกระยะเวลาในการรอรถเมล์ได้


สำหรับผู้อ่านท่านไหนที่ยังไม่มีแอป ViaBus ผู้เขียนก็อยากจะแนะนำว่าให้โหลดมาใช้จริงๆ แอปนี้จะทำให้ผู้ใช้ได้ประหยัดเวลาในการรอรถเมล์ ตัวช่วยคนเมืองที่แท้ทรู เลือกโหลดกันได้ข้างล่างนี้เลย

แล้วอย่าลืมกด Like แฟนเพจของ Living Pop เพื่อติดตามบทความต่างๆ ของเราได้เลย บทความดีๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองจะมีมาฝากกันเรื่อยๆ อย่างแน่นอน วันนี้ต้องขอตัวลาไปก่อน บั๊ยบาย สวัสดีครับ


เรื่อง : Living Pop
Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2