fbpx
สาระอสังหา

บ้าน – คอนโด จองแล้วเปลี่ยนใจ ได้เงินคืนไหม? ถ้ายกเลิกสัญญาจะต้องเสียอะไรบ้าง?

เวลาเปลี่ยนไป ใจคนเราก็เปลี่ยนตามครับ ไม่เฉพาะแค่เรื่องความรัก…เดี๋ยวสิ จะดราม่าทำไม เราเป็นเพจแนวบ้านช่องห้องหับนะ! เข้าเรื่องดีกว่า คืองี้ครับ เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหม สมมติเราไปจองคอนโดหรือจองบ้านโครงการนึงมา เพราะรู้สึกว่าเฮ้ย! นี่มันคือสุดยอดตัวเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถหาได้ในตอนนี้ ก็เลยตัดสินใจจองไป พร้อมทำสัญญาเรียบร้อยสบายใจ แต่จู่ๆ ดันไปเจอโครงการใหม่ที่ดีกว่า คุ้มค่ามากกว่าในหลายด้าน ก็เกิดข้อสงสัยมากมายว่า ถ้าทำสัญญาไปแล้ว ยกเลิกไปจะมีผลอะไรตามมาไหม? เงินค่าจอง หรือผ่อนดาวน์ที่จ่ายไป จะได้คืนหรือเปล่า? แล้วถ้าไม่อยากจะเสียเงินต้องทำอย่างไร? ถ้าอยากรู้ว่าคำตอบจะเป็นยังไง ตามไปอ่านต่อด้านล่างเล้ยยย


ถ้าจองไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจ จะเสียอะไรบ้าง?

เงินจองและเงินค่าทำสัญญา

ปกติเวลาจองซื้ออสังหาฯ โครงการจะขอเงินมัดจำเราจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าโครงการนั้น คิดอย่างไร รวมไปถึงค่าทำสัญญา เพื่อการันตีว่าผู้ซื้อสนใจจริงๆ ถ้าเกิดลูกค้าเปลี่ยนใจ คุยกันมาตั้งนาน พอถึงวันจะโอนบ้าน หรือวันที่ต้องไปตรวจรับบ้านก่อนโอน จู่ๆ ก็ไม่เอาแล้ว… สิ่งที่ลูกค้าจะเสียคือเงินค่าจอง และเงินค่าทำสัญญา ซึ่งโครงการสามารถทำได้ เพราะมีระบุไว้ในสัญญาที่เราตกลงกันไว้ มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการครับ 

เงินผ่อนดาวน์

เงินก้อนใหญ่ที่ทำให้หลายคนลังเลถ้าจะเปลี่ยนโครงการ เนื่องจากเงินผ่อนดาวน์ อาจมีจำนวนที่ค่อนข้างสูง เพราะเป็นเงินที่ให้ลูกค้าผ่อนก่อนจนถึงวันโอน จากนั้นเหลือเท่าไหร่ก็เอาเงินผ่อนดาวน์ไปหักลบกับราคาเต็มของทรัพย์ที่เราซื้อไป ถ้าเกิดเปลี่ยนใจไม่เอาโครงการนี้แล้ว เงินผ่อนดาวน์ทั้งหมดที่จ่ายไป อาจจะถูกหักในบางส่วนหากมีการเสียหายเกิดขึ้น และผู้ขายพิสูจน์ความเสียหายนั้นได้ว่าผู้ซื้อทำให้เกิด ความเสียหายในที่นี้อาจหมายถึงโอกาสทางการขายก็เป็นได้ แต่ถ้าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น หรือโครงการพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ซื้อผิดจริง เงินดาวน์ไม่สามารถยึดไปได้


แล้วถ้าไม่อยากเสียอะไรเลยมีวิธีไหนบ้าง?

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะเสียทุกอย่างเสมอไป หากการซื้อ – ขาย ครั้งนี้มีปัญหาหรือติดขัดเราก็สามารถได้เงินคืนได้ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ครับ

กู้ไม่ผ่าน : ในสัญญาของโครงการส่วนใหญ่ หรือกระทั่งคำโฆษณามักระบุไว้ให้ลูกค้าได้สบายใจว่า กรณีที่กู้ไม่ผ่านก็คืนเงินจ้า ซึ่งการคืนเงินก็มีทั้งแบบคืนเงินหมดเลยจริงๆ อีกเงื่อนไขนึงคือมีการหักค่าดำเนินการนิดหน่อยจากเงินจองอาจจะ 10%  – 20% แล้วค่อยคืนเงินกลับมา ส่วนเงินผ่อนดาวน์ และค่าทำสัญญาทางโครงการจะไม่หักอะไร 

โครงการทำผิดสัญญา : ในสัญญาที่เราเซ็นทุกโครงการจะมีระบุมาอยู่แล้วครับในเรื่องของการบอกเลิกสัญญาทั้งฝั่งผู้ซื้อ และฝั่งผู้ขาย ในสัญญามีข้อตกลงที่ระบุไว้ร่วมกันในการบอกเลิกสัญญา ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราจะเลิกสัญญากับผู้ขาย เงื่อนไขที่มีก็อย่างเช่น สร้างบ้านช้ากว่าที่ระบุในสัญญา, สร้างผิดแบบ หรือไม่เป็นไปตามที่ตกลง ก็สามารถบอกยกเลิกสัญญาได้ หรือถ้าไม่บอกยกเลิกสัญญา เรายังอยากได้โครงการนี้อยู่นะ ลูกค้าก็สามารถเรียกเงินค่าปรับได้ตามระบุในสัญญาเช่นกัน ดังนั้นอ่านสัญญาดีๆ นะครับ

ตกลงกับโครงการ : บางทีการเจรจากันตรงๆ กับโครงการว่าเราไม่พร้อม ก็อาจจะทำให้เรามีโอกาสได้เงินคืน อาจไม่ทั้งหมด แต่ก็ดีกว่าไม่ได้พูดคุยกันเลย สมมติว่าเราเปลี่ยนโครงการ เพื่อไปซื้อโครงการใหม่ แต่เป็นแบรนด์เดียวกัน กรณีนี้สามารถเจรจาเพื่อเอาส่วนที่เคยจ่ายไปมาหักลบกับโครงการใหม่ได้ เหตุการณ์จริงของผมคือ จองโครงการ A ไปจ่ายค่าจอง 20,000 บาท แต่จู่ๆ ตัดสินใจไปเอาโครงการ B แต่แบรนด์เดียวกัน เซลล์โครงการ B เลยยื่นข้อเสนอว่าจะนำเงินจอง 20,000 บาทที่จ่ายไปในโครงการ A มาเป็นส่วนลดในโครงการ B ให้ได้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเสียเงินฟรี ก็แฮปปี้กันไป  


ถ้าเรายกเลิกสัญญาจะผิดกฎหมายไหม?

คำตอบก็คือ ‘ไม่ผิดกฎหมาย’ เพราะสัญญาที่เราทำกับโครงการเป็นสัญญาเพื่อแสดงความต้องการจะซื้อจะขายของทั้งคู่ การเซ็นต์สัญญาเป็นการตกลงกันที่มีน้ำหนักมากกว่าคุยกันปากป่าว เลยต้องทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นสัญญาที่เซ็นกันไป โครงการจะแนบไปกับเอกสารประกอบการกู้เงินต่างๆ ของลูกค้ากับธนาคาร เพื่อเป็นการ ‘ยืนยัน’ ว่ามีความต้องการในการซื้อขายจริงๆ เพื่อจะได้ดำเนินธุรกรรมต่อไปได้ 

กรณีที่จู่ๆ เราเปลี่ยนใจยกเลิกสัญญา ไม่ซื้อแล้วด้วยเหตุผลส่วนตัวอาจจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือสถานะทางการเงิน คำนวณดูแล้วไม่เอาดีกว่า ก็ยกเลิกได้ ส่วนจะได้เงินคืนไหมต้องแล้วแต่ข้อตกลง พูดแบบเข้าใจง่ายก็คือ สัญญายกเลิกได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่จะได้เงินคืนไหมนั้นก็อีกเรื่องนึงฮะ


โดยสรุปคือทุกการทำสัญญา ลูกค้าสามารถเปลี่ยนใจ หรือมองหาโอกาสใหม่ๆ ได้เสมอหากเราเจอตัวเลือกที่ดีกว่า และยังไม่ได้มีการโอนบ้าน เพราะตราบใดที่ยังไม่โอน ยังไงอำนาจการตัดสินใจก็อยู่ในมือของเรา แต่ทั้งนี้ก็ต้องอ่านสัญญาอย่างละเอียดว่าเงื่อนไขการยกเลิกสัญญาเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งเซ็นก่อนอ่านจบ เพราะถ้าจรดปากกาลงไปเมื่อไหร่ เกิดปัญหาขึ้นมาทีหลัง เราจะเรียกร้องไม่ได้ครับ


Related posts
สาระอสังหา

เปิดข้อมูล “บ้านกลางเมือง” 5 โครงการใหม่ อยู่ทำเลไหนบ้าง พร้อมรายละเอียด

สาระอสังหา

ย้อน Timeline เกิดอะไรขึ้นกับ Ashton Asoke ทำไมถึงโดนสั่งเพิกถอนก่อสร้าง? แล้วจะต้องทำยังไงต่อ?

สาระอสังหา

ปี 2023 Developer แต่ละเจ้ามีแผนธุรกิจอะไร และจะทำอะไรกันบ้าง?

สาระอสังหา

เปิดอาณาจักร 75 ปี กลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่ร้านเล็กๆ ไปจนถึงห้างไซส์ใหญ่ ที่ทุกคนชอบช้อป!