IN BRIEF
- ลาวาลิน โครงการรถไฟฟ้าในตำนานของกรุงเทพฯ ที่หยุดการก่อสร้างกลางคันเพราะบริษัทเจ๊ง และทิ้งซากสะพานด้วนกลางสะพานพระปกเกล้าไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลาน
- รุ่นลูกรุ่นหลานอย่าง UddC จึงได้พัฒนาสะพานด้วนแห่งนี้ให้เป็น พระปกเกล้า สกายพาร์ค สวนสาธารณะเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา โดยส่งไม้ต่อให้กับ กทม. ในการก่อสร้าง
- ตลอดความยาว 280 เมตรของสวน จะมีทั้งทางเดินในร่ม ทางจักรยาน จุดชมวิว สโลปที่เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมนันทนาการ
- ตอนนี้โครงการพระปกเกล้า สกายพาร์คอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเราจะได้ใช้กัน ในเดือนพฤษภาคม 2563 นี้แล้ว!!

ย้อนกลับไปช่วงก่อนที่จะมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน กรุงเทพฯ ของเราไม่ได้มีแต่โฮปเวลล์เท่านั้นที่ทิ้งซากปรักหักพังของโครงการรถไฟฟ้าที่สร้างไม่เสร็จเอาไว้ แต่ยังมีอีกโครงการนึงที่อาจจะไม่คุ้นหูเท่าโฮปเวลล์ นั่นก็คือ ลาวาลิน อีกหนึ่งอดีตโครงการรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ ที่เคยให้ความหวังไว้กับคนกรุง แต่สุดท้ายก็ต้องพับแผนกันไป
สิ่งที่ลาวาลินฝากเอาไว้ให้กับคนกรุงก็คือซากปรักหักพังของโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าที่สร้างไม่เสร็จ เพียงแต่ว่าไม่ได้ดูยิ่งใหญ่เท่ากับโฮปเวลล์ที่เราเคยเห็นเรียงรายอยู่ริมถนนวิภาวดีริงสิต (ปัจจุบันส่วนหนึ่งถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มและแอร์พอร์ตเรลลิงก์) เพราะซากของลาวาลินมีเพียงที่เดียว คือที่ “กลางสะพานพระปกเกล้า”
ในวันนี้ กรุงเทพมหานครได้กลับมาปัดฝุ่นโครงการนี้อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้นำกลับมาทำเป็นทางวิ่งรถไฟฟ้า แต่นำมาทำเป็น สวนสาธารณะลอยฟ้าเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา และที่สำคัญ โครงการนี้เริ่มก่อสร้างแล้วด้วย!! โครงการนี้จะเป็นอย่างไร วันนี้ Living Pop ขอพาทุกคนไปชมกัน ตามมากันได้เลยครับ..

ลาวาลิน.. ตำนานรถไฟฟ้าที่ไม่ได้เกิด
ขอย้อนกลับกันไปไกลสักนิด ในปี 2522 โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้เริ่มต้นการศึกษาเส้นทาง ซึ่งช่วงนั้นอยู่ในช่วงของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอนนั้นได้กำหนดว่าจะให้คนกรุงได้ใช้กันในปี 2529 แต่คนกรุงในสมัยนั้นก็ได้แต่ฝัน เพราะกว่ารัฐบาลจะมาลงนามเซ็นสัญญาให้ก่อสร้างกับผู้ชนะการประมูลอย่างบริษัทลาวาลิน ก็ปาไป 11 ปี กว่าจะได้เซ็นสัญญาในปี 2533 ในยุคของนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ (เลื่อนเก่งงงง)
แต่หลังจากเซ็นสัญญาไม่ทันไร เพิ่งก่อสร้างไปได้นิดเดียว ผ่านไป 2 ปี ในปี 2535 โครงการนี้ก็ต้องพับแผนลงอย่างน่าเสียดาย เพราะบริษัทลาวาลินมาประสบกับปัญหาในด้านการเงิน แต่ทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าต่างๆ ของโครงการนี้ ก็ได้ต่อยอดเป็นรถไฟฟ้าหลากหลายเส้นทางในปัจจุบัน ทั้งที่เปิดให้ใช้กันแล้ว และจะเปิดให้ใช้ในอนาคต



แผนที่และภาพจำลองของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินในอดีต
(ที่มาภาพ : 2Bangkok.com ผ่าน archive.today)
หลายๆ คนที่เคยนั่งรถผ่านสะพานพระปกเกล้า น่าจะเคยเห็นโครงสร้างสะพานเก่าๆ ที่ดูสร้างไม่เสร็จ อยู่ตรงกลางของสะพานพระปกเกล้าระหว่างขาไปฝั่งธนฯ กับขาไปฝั่งพระนคร ซึ่งซากที่ว่านี้ก็เป็นของโครงการลาวาลิน โดยเป็นซากเดียวเท่านั้นที่ลาวาลินทิ้งไว้ให้กับเรา
แต่ก่อนที่ กทม. จะนำ “สะพานด้วน” แห่งนี้มาปัดฝุ่นเป็นสวนนั้น หลายๆ คนก็น่าจะเคยเดาๆ กันไว้ว่า โครงสร้างแห่งนี้ ในอนาคตคงจะนำไปเป็นทางวิ่งของรถไฟฟ้า แต่ลักษณะเส้นทางของรถไฟฟ้าที่ผ่านจุดนี้ คือรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงใต้ (เตาปูน – สามเสน – ราษฎร์บูรณะ – ครุใน) ซึ่งช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะใช้วิธีขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำแบบสายสีน้ำเงินที่มุดแม่น้ำไปบางแค ทำให้ไม่สามารถเอาโครงสร้างของลาวาลินมาทำเป็นทางวิ่งของสายสีม่วงได้นั่นเอง


สะพานด้วนฝั่งธนบุรี (รูปที่ไม่มีรั้ว) และฝั่งพระนคร (รูปที่มีรั้ว) ที่วันนี้กำลังแปลงโฉมเป็นสวน
(ที่มาภาพ : Render Thailand)
จุดเริ่มต้นไอเดีย.. สวนลอยฟ้ากลางแม่น้ำ
จากซากสะพานข้ามแม่น้ำของรถไฟฟ้าลาวาลินที่เปล่าไว้เฉยๆ ก็ดูเกะกะเสียเปล่าๆ ทางศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านการพัฒนาเมือง ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือของ สสส. และจุฬาฯ ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาเมืองในย่านต่างๆ ภายใต้โครงการ กรุงเทพฯ 250 ซึ่งมีย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นหนึ่งในนั้น โดยย่านนี้เป็นที่ตั้งของทางขึ้น-ลงสะพานพระปกเกล้าฝั่งธนฯ ทาง UddC ก็ได้มีแนวคิดที่จะปัดฝุ่นปรับโฉมซากสะพานนี้ด้วย ให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าเหนือแม่น้ำ ซึ่งสวนแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดย N7A ในด้านของสถาปัตยกรรม และ LandProcess ในด้านของภูมิสถาปัตยกรรม

กทม. ขอจริงจัง ไม่ได้มาเล่นๆ !!
หลังจากที่ UddC ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้เสร็จแล้ว ก็ได้ส่งต่องานให้กับ กทม. ในการก่อสร้างสวนแห่งนี้ต่อไป จนในปี 2561 ที่ผ่านมา กทม. ก็ได้เริ่มต้นโครงการนี้อย่างจริงๆ จังๆ โดยจัดสรรงบประมาณที่จะก่อสร้างสวนแห่งนี้กว่า 129.61 ล้านบาท จนได้ผู้ชนะประมูลก่อสร้างนั่นก็คือบริษัท เอสจีอาร์ เอนเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งประมูลโครงการนี้ไปในราคา 122 ล้านบาท และได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะสร้างเสร็จในมีนาคมปีหน้านี้แล้ว!!

(ที่มาภาพ : LandProcess)
แต่งานนี้ กทม. จะโชว์เดี่ยวไม่ได้ กทม. ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ด้วย ทั้งกรมทางหลวงชนบท เจ้าของที่ดินบริเวณใต้สะพานพระปกเกล้า ไปรษณีย์ไทย เจ้าของไปรษณียาคาร พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ไทยในอดีต กรมเจ้าท่า ที่ดูแลเรื่องการสัญจรของเรือที่ลอดใต้สะพานแห่งนี้ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงสร้างสะพานด้วน เพราะสมัยก่อน ยังไม่มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม. เจ้าของโครงการ MRT) การทางพิเศษฯ จึงได้รับหน้าดูแลโครงการรถไฟฟ้าของลาวาลินไปด้วย

(ที่มาภาพ : กรุงเทพฯ 250)
ไปรษณียาคาร.. อาคารย่อส่วน จากในอดีต ที่ทุบทิ้งเพื่อสร้างสะพาน
ไปรสะนียาคาร (สะกดแบบดั้งเดิม) เป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของกิจการไปรษณีย์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพุทธ แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไป ความต้องการทางคมนาคมของเมืองมีมากขึ้น ในปี 2525 ทำให้ไปรษณียาคารแห่งนี้ต้องถูกทุบทิ้ง เพื่อหลบทางให้การก่อสร้างของสะพานพระปกเกล้า ที่พาดผ่านบริเวณของไปรษณียาคารพอดิพอดี
แต่หลังจากนั้น ผ่านไป 21 ปี ในปี 2546 ไปรษณียาคารก็ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง จากการที่ไปรษณีย์ไทยได้สร้างไปรษณียาคารขึ้นมาใหม่ ข้างๆ ทางขึ้นสะพานพระปกเกล้าบนฝั่งพระนคร โดยสร้างในขนาดย่อส่วนที่เล็กลงกว่าเดิม กว่า 75 เท่า และให้ที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ไทยในอดีตนั่นเอง..

(ที่มาภาพ : Wikimedia Commons)
เนรมิตสะพานด้วน ทั้งแคบ ทั้งสั้น ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมือง
ด้วยความที่สะพานด้วยแห่งนี้ มีความยาวเพียง 280 เมตร และกว้างประมาณ 9 เมตรเท่านั้น ถ้าจะทำแค่ปลูกต้นไม้ แล้วมีทางขึ้นลงสองฝั่ง ก็น่าจะง่ายเกินไป และคงเป็นได้แค่ทางเดินผ่านสำหรับการข้ามแม่น้ำ ไม่ต่างอะไรกับทางเดินข้างสะพานอื่นๆ เพื่อการใช้งานให้คุ้มค่ากับพื้นที่ที่มีน้อยนิด สวนแห่งนี้จึงทำเป็นสองชั้นด้วยกัน แต่ไม่ได้แบ่งเป็นสองชั้นชัดเจน มีสโลปทางเดินขึ้นลงสลับไปมาเรื่อยๆ คล้ายๆ กับสยามสแควร์วัน ที่มีสโลปเชื่อมต่อชั้นต่างๆ

ตลอดแนวของสวนตามความยาว 280 เมตร จะมีทั้งทางเดินในร่ม ทางจักรยาน จุดชมวิว สโลปที่เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งทางขึ้นลงของสวนแห่งนี้ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ จะมีลิฟต์สำหรับการขึ้นลงของผู้พิการและคนชราอีกด้วย




แบบจำลองการก่อสร้าง ที่ UddC และ กทม. ร่วมออกแบบกับ N7A และ LandProcess
(ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ กรุงเทพฯ 250)
สำหรับพื้นที่สองชั้นของสวนฯ ที่เป็นสโลปขึ้นๆ ลงๆ ที่ได้กล่าวไป เมื่อเรายืนมองจากสะพานพุทธไปที่สวนแห่งนี้ จะมองเห็นเป็นส่วนโค้งสามส่วนด้วยกัน ซึ่งการออกแบบนี้ ตั้งใจให้คล้ายกับสะพานพุทธ ที่มีโครงเหล็กเป็นส่วนโค้งสามส่วนด้วยกัน

วิวสวย ถ่ายรูปได้เพลินๆ บนโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา
จุดนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่น่าไปถ่ายรูปอีกหนึ่งจุดของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็น่าถ่ายรูปทั้งนั้น ทั้งพระปรางค์วัดอรุณฯ พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรฯ วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน สะพานพุทธ ไปรษณียาคาร ยอดพิมาน ไอคอนสยาม และสามารถมองไกลไปได้ถึงตึกสูงๆ ในย่านสามย่านอีกด้วย (ระยะทางแบบวัดตรงๆ จากสวนฯ ไปยังสามย่าน ประมาณ 3.2 กิโลเมตรเองเท่านั้น)

แล้วถ้าแวะถ่ายรูปบนพระปกเกล้า สกายพาร์คยังไม่หนำใจ ก็ยังสามารถมาถ่ายริมแม่น้ำเจ้าพระยากันต่อได้อีก ทั้งยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค คอมมูนิตี้มอลล์ขนาดย่อมๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ในโซนปากคลองตลาด และทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาในโซนชุมชนกุฎีจีนฝั่งธนฯ ซึ่งชุมชนนี้บอกเลยว่าน่าไปเที่ยวมาก เพราะมีบ้านเรือนสไตล์วินเทจ และศาสนสถานสวยๆ อย่างวัดประยุรฯ วัดซางตาครู้ส มัสยิดบางหลวง และศาลเจ้าเกียนอันเกงอีกด้วย ทริปนี้ต้องเคลียร์เม็มมือถือไปให้พร้อมๆ ซะแล้ว!!

(ที่มาภาพ : Christopher PB / Shutterstock.com)
วิธีเดินทางมาพระปกเกล้า สกายพาร์ค
สำหรับการเดินทางมาที่แห่งนี้ สามารถมาได้หลายวิธี เปิดวันแรกปุ๊บ ก็มาได้เลย ไม่ว่าจะเป็น..
- รถเมล์ มาลงที่ใต้สะพานพุทธ ได้ทั้งสาย 3, 7ก, 9, 42, 8, 73, 73ก และ 82 (ดูสายรถเมล์สะดวก ด้วย ViaBus)
- เรือด่วนเจ้าพระยา วิธีนี้สะดวกไม่แพ้รถเมล์ ลงที่ท่าสะพานพุทธ จอดท่านี้เฉพาะเรือด่วนธงสีส้ม และเรือประจำทาง (แบบธรรมดา ไม่มีธง) เท่านั้น (ขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยา ง่ายกว่าที่คิด)
- รถไฟฟ้า ให้ลงจากรถไฟฟ้าที่ MRT สถานีสนามไชย ประตู 3, 4 หรือ 5 แล้วเดินมาทางปากคลองตลาด ไปสะพานพุทธประมาณ 800 เมตร หรือสามารถออกประตู 2 แล้วเดินไปขึ้นรถเมล์สาย 9 หรือ 82 หน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ ฝั่งถนนพระพิพิธ แล้วลงรถเมล์ที่ใต้สะพานพุทธ (ย่านนี้ ที่เที่ยวเพียบ.. เดินทางสะดวก ด้วย MRT)

การเป็นเมืองที่สมบูรณ์ พื้นที่สีเขียวต้องมากกว่านี้
อัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร องค์การอนามัยโลกบอกว่าไว้ว่าในเมืองๆ นึง ควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ซึ่งกรุงเทพฯ ของเรา ยังมีพื้นที่สีเขียวแค่ 6 ตร.ม.ต่อคนเท่านั้น ในขณะที่เมืองเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มีพื้นสีเขียวมากถึง 66 ตร.ม.ต่อคน หรือเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็มีถึง 16.97 ตร.ม.ต่อคน ในขณะที่อีกเมืองใหญ่ที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกัน อย่างโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่สีเขียวเพียง 4.03 ตร.ม.ต่อคนเท่านั้น น้อยกว่ากรุงเทพฯ ซะอีก
ในฐานะประชาชนคนนึงของกรุงเทพฯ ก็อยากให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และทำให้พื้นที่สีเขียวที่มากขึ้นนั้น สะดวกต่อการเข้าถึงของประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนๆ ของกรุงเทพฯ ด้วยนะครับ
[อัปเดตล่าสุด!] สำหรับ พระปกเกล้า สกายพาร์ค จะเปิดให้ได้เดินเที่ยวชมกันแล้ว (แบบ Social Distancing) ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งกำหนดการเดิมคือพฤษภาคม เลยกำหนดการเดิมไปนิดนึง ใครที่อยากมาถ่ายรูปเล่นกันท่ามกลางวิวสวยๆ ก็สามารถไปเที่ยวกันได้เลยนะครับ ส่วนใครที่อ่านจบแล้วก็ขอฝากกดแชร์ ส่งต่อบทความนี้ให้เพื่อนๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ สำหรับในครั้งต่อไป Living Pop จะนำเรื่องอะไรดีๆ มานำเสนอ ก็ขอให้ติดตามกัน สำหรับบทความนี้ สวัสดีครับ 😀
