สวัสดีครับ หลายๆ คงเห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่าช่วงนี้รถไฟฟ้าบ้านเรากำลังสร้างกันหลายสายเลยทีเดียว วันนี้ Living Pop ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่ชาวฝั่งธนน่าจะคุ้นเคยกับโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายนี้ดี เพราะสร้างมาได้นานพอสมควรแล้ว ซึ่งตอนนี้ต้องบอกเลยว่าอีกไม่นานเกินรอ ได้ใช้กันตลอดสายเร็วๆ นี้แน่นอนจ้า
แต่ก่อนจะไปดูเรื่องราวของส่วนต่อขยาย เผื่อใครที่อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับ ⬤ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ว่าเอ๊ะ ต่อขยายมันขยายไปไหน เส้นทางเป็นอย่างไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ กันแบบคร่าวๆ ก่อนนะครับ
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ว่าเอ๊ะ ต่อขยายมันขยายไปไหน เส้นทางเป็นอย่างไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ กันแบบคร่าวๆ ก่อนนะครับ
สำหรับในประเทศไทย (หรือในกรุงเทพมหานคร) รถไฟฟ้าสายแรกจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือที่เราเรียกกันว่า “รถไฟฟ้า BTS” นั่นเองครับ เริ่มให้บริการครั้งแรกใน 2542 โดยเปิดพร้อมกัน 2 สายได้แก่ ⬤ สายสีเขียวอ่อน และ ⬤ สายสีเขียวเข้ม หรือที่เรียกกันว่าสายสุขุมวิท และสายสีลม โดยลักษณะของสายนี้จะเป็นแนววิ่งจากนอกเมืองผ่าเข้ามาในเมือง โดยมีสถานีสยามเป็นศูนย์กลาง
ภาพเปรียบเทียบเส้นทางให้บริการรถไฟฟ้าใน กทม. ปี 2542 กับปี 2547
สำหรับรถไฟฟ้าอีกสายที่สร้างเสร็จถัดมา นั่นคือ ⬤ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เปิดให้บริการในปี 2547 ลักษณะของสายนี้ในตอนที่เปิดจะอยู่ใต้ดินทั้งหมด เริ่มต้นเส้นทางจาก “สถานีหัวลำโพง” ถึง “สถานีบางซื่อ” ซึ่งจะไม่ได้ผ่านเข้าเมืองตรงๆ แบบสายสีเขียว แต่ก็ยังผ่านจุดสำคัญๆ เช่นสีลม, อโศก, รัชดา, ลาดพร้าว โดยเน้นเชื่อมโยงไปจุดต่างๆ ของเมือง
จะเห็นได้ว่า ⬤ สายสีน้ำเงิน ในปัจจุบันที่เปิดให้บริการจะมีเส้นทางเป็นเหมือนครึ่งวงกลมไปรอบๆ เมือง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งปัจจุบันสายสีน้ำเงินเองก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ครึ่งวงกลมนี้ครับ แต่กำลังสร้างส่วนต่อขยายมาด้านฝั่งธนเพิ่มเติม ให้เส้นทางเชื่อมคล้ายกับลักษณะของวงกลม แถมยังมีส่วนที่ต่อเพิ่มออกไปนอกเมืองทางด้านถนนเพชรเกษมด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
ส่วนต่อขยายจากด้านบางซื่อ
ส่วนนี้ปัจจุบันเปิดแล้ว 1 สถานี คือส่วนต่อขยายสถานีเตาปูน ที่เชื่อมกับ ⬤ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง โดยจะขึ้นมาบนดิน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาบนถนนจรัญสนิทวงศ์ และมาจบที่สถานีท่าพระครับ
ส่วนต่อขยายจากด้านหัวลำโพง
ในส่วนนี้จะมีบางช่วงเป็นใต้ดิน โดยจะผ่านทางเยาวราช มาทางวังบูรพา และลอดใต้แม่น้ำผ่านถนนอิสรภาพ ก่อนที่ขึ้นมาบนดินที่สถานีท่าพระ เป็น interchange กันกับ ⬤ สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ที่มาจากทางจรัญฯ แต่ไม่สุดแค่นั้น สายนี้ยังวิ่งต่อไปทางถนนเพชรเกษมอีกไปจนถึงสถานีหลักสองที่หน้าเดอะมอลล์บางแคครับ
แต่ถึงแม้ว่าเส้นทางจะคล้ายกับวงกลม แต่การเดินรถของสายนี้ก็ไม่ได้เป็นวงกลมซะทีเดียวครับ โดยการเดินรถจะเป็นแบบวิ่งไปกลับคล้ายเลข 9 จากด้านหลักสอง วิ่งเข้าไปในเมืองไปเรื่อยๆ ผ่านสถานีท่าพระ ผ่านบางซื่อ ผ่านถนนจรัญฯ แล้วมาสุดที่สถานีท่าพระอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็ย้อนกลับทางเดิมเข้าเมือง และมาจบที่สถานีหลักสอง
แต่ใครที่อยู่ด้านจรัญฯ แล้วอยากจะมาสีลมก็ไม่ยากครับ ก็นั่งมาที่สถานีท่าพระซึ่งเป็นสถานี interchange เปลี่ยนขบวนมาขึ้นสายสีน้ำเงินเหมือนเดิม แต่เป็นฝั่งที่วิ่งไปสีลม ก็เรียบร้อย ไม่ต้องแตะบัตรออก เพียงแค่เปลี่ยนไปขึ้นรถอีกชานชาลาเท่านั้นเองครับ
แล้วทำไมถึงไม่ทำเป็นสายวงกลมซะเลย?
ไม่เคยมีเหตุผลที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่ออกแบบโครงการ แต่พอจะมีข้อมูลเก่าๆ อยู่ว่าแต่เดิมนั้นส่วนต่อขยายของสายสีน้ำเงินไม่ได้ขดมาเป็นวงกลมอย่างนี้ โดยแผนเก่านั้นส่วนต่อขยายจากบางซื่อจะวิ่งเลี้ยวไปทางแคราย ไปสุดที่สะพานพระนั่งเกล้า (สายสีม่วงปัจจุบัน) และส่วนต่อขยายทางหัวลำโพงจะไปตามทางปัจจุบัน และสิ้นสุดที่บางแค
แต่เมื่อมีการปรับแนวเส้นทางใหม่ ส่วนต่อขยายของเดิมที่จะวิ่งออกจากบางซื่อไปทางนนทบุรี ได้เปลี่ยนเส้นทางข้ามแม่น้ำแล้วเลี้ยวเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์แทน ทำให้เมื่อวิ่งตรงลงมาเรื่อยๆ ก็จะมาบรรจบกับส่วนต่อขยายที่ออกมาจากหัวลำโพง กลายเป็นสายที่เหมือนจะเป็นวงกลมไป
ประกอบกับสภาพพื้นที่บริเวณแยกท่าพระที่ทำให้การสร้างเส้นทางจากจรัญฯ ให้เลี้ยววกกลับไปเป็นวงกลมที่สมบูรณ์นั้นทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเส้นทางจะต้องลดระดับลงไปเป็นทางใต้ดินเพื่อมุดลอดใต้แม่น้ำ (คือถ้าจะทำก็ต้องเลี้ยวแล้วมุดดินเลย ทำสถานีท่าพระไม่ได้) ดังนั้นจึงออกแบบให้เป็นสถานียกระดับตัดกันตรงทางแยกท่าพระแทน ใครจะวกเข้าเมืองก็เปลี่ยนขบวนรถเอา
ซึ่งในอนาคตอีกไม่ไกล ในปี 2566 เมื่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่กำลังสร้างในปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว ⬤ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เป็นเหมือนกับตัวกลางที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายต่างๆ น่าจะทำให้หลายๆ คนเดินทางได้สะดวกกว่าปัจจุบันนั่นเองครับ
ค่าโดยสารจะแพงมั้ย??
สำหรับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะคิดค่าโดยสารตามระยะทางครั้งเดียวต่อเนื่องกันทั้งสาย (ไม่ได้คิดแยกส่วนหลัก-ส่วนต่อขยายแบบ BTS) โดยจะมีค่าโดยสารอยู่ที่ 16-42 บาทถ้าอยู่ในสายสีน้ำเงินอย่างเดียว และ 16-70 บาท ถ้าข้ามไปสายสีม่วงครับ
วิธีการคิดราคากรณีที่ข้ามสายไปสีม่วง หรือจากสีม่วงข้ามมาสายสีน้ำเงิน มีสูตรคำนวณง่ายๆ คือ
(ค่าโดยสารสายสีน้ำเงิน + ค่าโดยสารสายสีม่วง) – ค่าแรกเข้า 14 บาท
ตัวอย่างจากสถานีสวนจตุจักรไปศูนย์ราชการนนทบุรี ก็จะเป็น (21 + 28) – 14 = 35 บาทนั่นเองครับ ก็หวังว่าในอนาคตทาง รฟม. และ BEM จะมีโปรโมชั่นบัตรส่วนลดหรือบัตรเหมาจำนวนเที่ยวกลับมาใหม่ ให้เราได้เสียค่าโดยสารถูกลงกว่านี้ครับ
จะมีขบวนรถไฟมาเพิ่มหรือเปล่า ปัจจุบันก็แน่น+รอนานอยู่แล้ว…
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีขบวนรถไฟให้บริการอยู่ 19 ขบวน ความยาวขบวนละ 3 ตู้ จุคนได้ขบวนละประมาณ 1,000 คนครับ ซึ่งใครที่ใช้บริการประจำก็จะมีภาพจำว่าในชั่วโมงเร่งด่วนมักจะมีปัญหารถไฟเต็ม ต้องรอหลายขบวนกว่าจะได้เดินทาง
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ก็จะต้องมีการสั่งซื้อขบวนรถไฟมาเพิ่ม โดยส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินที่กำลังจะเปิดให้บริการนั้น ได้มีการสั่งขบวนรถไฟมาเพิ่มอีก 35 ขบวน (ยาว 3 ตู้/ขบวน) เมื่อรวมกับของเก่า 19 ขบวนแล้วจะทำให้มีรถไฟให้บริการได้ถึง 54 ขบวนเลยทีเดียว โดยขบวนแรกมาถึงไทยตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา และจะทยอยส่งมาจนครบภายในต้นปี 2563 ครับ
จาก 19 ขบวน เพิ่มเป็น 54 ขบวนในปี 2563
จะได้ใช้งานเมื่อไหร่??
สำหรับกำหนดการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะแบ่งการเปิดออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
- ช่วงสถานีหัวลำโพง ถึง สถานีหลักสอง เริ่มเปิดทดลองให้ประชาชนมาใช้บริการฟรีในบางสถานีตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2562 และเปิดเต็มรูปแบบรวมถึงเริ่มเก็บค่าโดยสาร 29 กันยายน 2562 เป็นต้นไป
- ช่วงสถานีเตาปูน ถึง สถานีท่าพระ เริ่มเปิดทดลองใช้บริการฟรีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2563
แปลว่าอีกไม่นานเราจะได้เริ่มใช้ ⬤ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายกันแล้วครับ น่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าเมืองให้กับใครหลายๆ คนได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะชาวฝั่งธนที่จะมีตัวเลือกในการเดินทางที่มากขึ้นกว่าเดิม
คราวหน้าเราจะมีเรื่องอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามที่ เพจ Living Pop ไว้นะครับ แล้วพบกันใหม่คร้าบ ^^