fbpx
รถไฟฟ้า-คมนาคม

ทำไม เมลเบิร์น ถึงให้คนขึ้นรถรางไฟฟ้าฟรี แล้วรัฐบาลจะได้อะไรจากนโยบายนี้?

“เมลเบิร์น ออสเตรเลีย” เป็นเมืองที่ถูกยกให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกมา 7 ปีซ้อน บางปีอันดับของเมลเบิร์น ก็พุ่งมาอยู่อันดับ 1 เลย โดยมีเวียนนา ออสเตรีย สลับกันแซงเบียดไปมาโดยตลอด ทำไมเมลเบิร์นถึงถูกเลือกให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับต้นๆ ของโลก? ก็ในเมื่อเมืองมีเยอะแยะมากมายในโลก คุณภาพชีวิตประชากร ค่าครองชีพ ความปลอดภัย สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และระบบขนส่งมวลชนคือสิ่งที่ถูกนำมาคิดเป็นคะแนนทั้งหมดครับ แต่หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เมลเบิร์น โดดเด่นมากๆ จนได้รับเลือกให้เป็นเมืองน่าอยู่หลายปีซ้อนก็เพราะสวัสดิการขึ้นรถรางฟรีในพื้นที่ CBD ซึ่งถูกเรียกว่า “Free Tram Zone” 


ขอย้อนเล่าก่อนเล็กน้อยครับว่าเมลเบิร์น เป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่มีระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลักๆ เป็นรถราง (หนึ่งในนั้นคือเวียนนา เมืองน่าอยู่ที่เป็นคู่แข่งของเมลเบิร์น ที่มีระบบรถรางยาวที่สุดในโลก) ขณะที่ประเทศอื่นอาจเป็นรถไฟฟ้า หรือรถบัส แต่ที่เมลเบิร์น ระบบรถรางพัฒนานามาตั้งแต่ปี 1885 หรือเมื่อ 137 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับประเทศไทยที่เริ่มต้นมีรถรางใช้เหมือนกันนะครับ โดยในไทยมีรถรางใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1888 ตามหลังเมลเบิร์นแค่ 3 ปี แต่ระบบรถรางในไทยถูกเลิกใช้ไปเมื่อปี 1968 เพราะมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น 

กลับมาที่เมลเบิร์นต่อครับ ถึงเมลเบิร์น จะใช้รถรางมา 137 ปี แต่สวัสดิการให้คนใช้รถรางได้ฟรี ในโซนเศรษฐกิจกลางเมืองเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2015 มานี่เอง นโยบาย Free Tram Zone ถูกเสนอขึ้นมาเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเมลเบิร์น และมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ 8 คนลงคะแนนในปี 2014 แต่ประเด็น Free Tram Zone เป็นไอเดียที่ตั้งต้นมาตั้งแต่ปี 2009 แล้วโดย ‘โจน คอนเนอร์’ อดีตมุขมนตรีของรัฐวิคตอเรีย  

กระทั่งหลังจากที่มีการศึกษาเรื่องผลกระทบ ข้อดี ข้อเสียต่างๆ ในที่สุด 5 ปีถัดมา คณะกรรมการของรัฐวิคตอเรีย ที่ดูแลโปเจกต์นี้ก็เห็นว่า ในแต่ละวันมีคนกว่า 1 ใน 5 ของประชากรในเมลเบิร์น เข้าออกเมืองทุกวัน หรือเฉลี่ยวันละ 8 แสนคนจนถึง 1 ล้านคน หากรัฐฯ มาช่วยสนับสนุนการเดินทางตรงนี้ อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนจ่ายค่าเดินทางน้อยลงต่อเที่ยว จะอยู่ที่ราวๆ 100 บาท และนโยบายขึ้นรถรางฟรี ก็มีส่วนช่วยในการลดใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมถึงแก้ไขเรื่องรถติดในย่าน CBD ได้ด้วย 

แต่อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญและถูกพูดถึงก็คือนโยบาย “Free Tram Zone” จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไปอีกทาง เพราะถ้านักท่องเที่ยวต้องจ่ายเงินค่ารถครั้งละ 100 บาทต่อการเดินทางครั้งนึง นักท่องเที่ยวน่าจะคิดหนัก อย่างน้อยๆ การได้ขึ้นรถรางฟรีในจุดที่กำหนด ก็เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทาง

แน่นอนครับว่าผมเองก็โคตรชอบ อยู่เมลเบิร์น แทบไม่เสียค่ารถเลย แม้ว่านโยบายนี้รัฐฯ จะต้องอุดหนุนเงินราวๆ 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งก็คือภาษีของประชาชนที่นำมาใช้จ่ายตรงจุดนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ได้นั้น พวกเขามองว่าได้มากกว่าเสีย ประชาชนได้ประโยชน์ ตัวเมืองเองก็ได้ประโยชน์ ก็เลยตัดสินใจเคาะให้นโยบายนี้ผ่าน

อ้าว…แล้วรัฐฯ จะได้อะไรจากนโยบายนี้?

อันที่จริงสวัสดิการรถสาธารณะฟรี หรือลดราคาให้ถูกลงไปเลยหลายประเทศ ที่เห็นถึงประชาชนก็ทำครับ ซึ่งรัฐไม่มีทางกำไรอยู่แล้ว แต่รัฐฯ ที่เห็นประโยชน์ต่อประชาชนจะมองว่าการคมนาคม คือเรื่องพื้นฐานที่ต้องดูแลประชาชนนั่นเอง ถ้าจำกันได้เมืองไทยเองก็เคยมีรถเมล์ และรถไฟชั้น 3 ฟรีจากภาษีประชาชน คอยให้บริการในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่ถูกยกเลิกไปเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2560 แล้วเปลี่ยนเงื่อนไขการให้บริการแทนก็คือถ้าจะขึ้นรถไฟ รถเมล์ฟรี ต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถามว่าแบบเดิมดีกว่าไหม อันนี้แล้วแต่มุมมองฮะ

ดังนั้นถ้าถามว่ารัฐฯ จะได้อะไรจากนโยบาย Free Tram Zone ถ้าในแง่ของตัวเงิน อาจจะไม่กำไร แต่การสร้างเมืองให้น่าอยู่ ด้วยระบบขนส่ง อาจจะเป็นกำไรที่มากกว่าตัวเงิน เหมือนจะดีมาก แต่ก็มีคนที่อยากให้ยกเลิกเหมือนกันนะครับ มีบทความและข่าวที่ผมไปเจอมาเกี่ยวกับฝั่งของคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย Free Tram Zone เหตุผลที่พวกเขาเสนอว่าควรยกเลิกนโยบายนี้เถอะ เพราะจริงๆ แล้วงบในการอุดหนุนให้คนแค่ใช้รถรางใน CBD นั้น มันสิ้นเปลือง สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือคนในเมืองมากกว่าคนนอกเมือง

หากเอางบอุดหนุน 2,500 ล้านบาทต่อปี ไปเพิ่มหรือพัฒนารถบัส ที่วิ่งจากชานเมือง เพื่อเข้ามาในเมืองอาจจะดีกว่า เพราะในตอนนี้ชานเมืองมีรสบัสวิ่งน้อยมาก เฉลี่ย 30 – 40 นาที จะมีรถสักคันที่ผ่านมารับ สุดท้ายแล้วคนที่อยู่ชานเมืองก็ต้องขับรถเข้าเมืองอยู่ดี และแน่นอนว่า คนจากชานเมืองก็มีเยอะมาก สุดท้ายรถก็อาจจะติดอยู่ดี อย่างไรก็ตามถึงจะมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า Free Tram Zone เป็นนโยบายที่ทำให้เมลเบิร์น เป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลกจริงๆ และดึงดูดอยากให้คนมาเยือนสักครั้ง 


Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2