fbpx
สาระอสังหา

คอนโดตึกนึงมียูนิตเป็นร้อยเป็นพัน จะเลือกชั้นไหน? ห้องไหน? ให้เหมาะกับเรา (ตอน 1)

สวัสดีครับ หลังจากที่คราวก่อน เราพูดเรื่องการเลือกทำเล ที่ดูแค่ติดรถไฟฟ้าอย่างเดียวไม่พอกันไปแล้ว (ใครยังไม่ได้อ่านคลิกที่นี่ฮะ) วันนี้มีอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของการเลือกตำแหน่งห้องในโครงการ เป็นเรื่องที่หลังจากเลือกโครงการไปแล้วหลายคนก็ลงเลว่า เอ๊ะ ตำแหน่งไหนดี ชั้นนี้จะดีมั้ย?

เราเลยขอยกเรื่องนี้มาคุยกันครับ ว่าหลักๆ ก่อนที่เราจะตกลงปลงใจเลือกห้องซักห้องนึงแล้วจ่ายเงินไปอีกหลายปี มีอะไรที่ควรคำนึงถึงบ้าง โดยในบทความนี้จะเน้นไปในมุมสำหรับการอยู่อาศัยเองเป็นหลักนะครับ ซึ่งต้องบอกว่าพอเป็นการอยู่อาศัยเองเนี่ย แต่ละคนก็มีความต้องการหรือการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นแต่ละข้อที่เรายกมาในวันนี้จะเป็นหลักกลางๆ ที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าต้องการอะไร จะมีอะไรบ้าง เราลองมาดูกันครับ



ห้องทิศไหนดี?

จะเลือกห้องทิศไหน? น่าจะเป็นข้อแรกๆ ที่หลายๆ คนนึกถึง อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วตกทางทิศตะวันตก แต่จริงๆ แล้วพระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นทางทิศตะวันออกไปตกแบบตรงๆ นะครับ โดยในช่วงฤดูหนาวพระอาทิตย์จะเฉียงอ้อมมาทางทิศใต้ ซึ่งทำให้ทิศใต้โดนแดดด้วยเช่นกันแต่ไม่ได้รับตรงๆ เหมือนกับอีก 2 ทิศ ห้องก็จะเย็นสบายกว่า สำหรับทิศใต้จะมีข้อดีอีกข้อตรงที่ทิศนี้จะได้ลมพัดที่ดีกว่าเพราะทิศนี้จะได้รับลมตะวันตกเฉียงใต้นานประมาณ 8 เดือนต่อปี ถ้าอยากปลูกต้นไม้ริมระเบียงบ้าง หรือชอบเปิดหน้าต่าง ทิศใต้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี

ส่วนทิศเหนือจะเป็นทิศที่โดนแดดน้อยกว่าทิศใต้ แต่เรื่องของลมก็อาจจะน้อยกว่าทางทิศใต้ โดยจะได้ลมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาวครับ ดังนั้นถ้าจะเลือกห้องแบบให้โดนแดดน้อยที่สุด ทิศเหนือก็จะตอบโจทย์นี้ แต่เวลาตากผ้าอาจจะแห้งช้าหน่อย

ถ้าห้องเราอยู่ทิศตะวันตก ก็จะได้รับแสงอาทิตย์ยามบ่ายแบบนี้

สำหรับทิศที่เหลือ 2 ทิศ ทิศตะวันออกจะได้แดดตอนเช้าจนถึงเที่ยง ก็จะร้อนหน่อยในช่วงเช้า ส่วนทิศตะวันตกหลายคนมักจะบอกว่าให้เลี่ยงทิศนี้ เพราะแดดบ่ายจะร้อนกว่า ข้อนี้ก็ต้องบอกว่า จริงครับ ถ้าเลี่ยงได้ทิศเหนือ ใต้ หรือตะวันออกก็อาจจะดีกว่า แต่ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ห้องด้านนี้มักจะถูกกว่า หรือบางตึกมีให้เลือกแค่ทิศตะวันออก/ตก ห้องทิศนี้ก็ยังมีข้อดีตรงที่เหมาะกับคนที่ตื่นสาย ตอนเช้าไม่มีแสงแดดมาแยงตา ทำงานเลิกช้ากลับมาห้องค่ำๆ ห้องก็ไม่ได้ร้อนมากเท่าไหร่แล้ว เป็นต้น

ทิศตะวันออก – ได้แดดตอนเช้าถึงเที่ยง
ทิศตะวันตก – แดดร้อนตอนบ่ายถึงเย็น
ทิศใต้ – ได้ลมเกือบทั้งปี โดนแดดช่วงหน้าหนาว โดนฝนสาดบ้าง
ทิศเหนือ – ได้ลมหนาว โดนแดดน้อยที่สุด

ถ้าคอนโดอยู่ทิศเฉียงๆ ก็เอามารวมๆ กันนะฮะ
ที่มาภาพ: Water University

วิว

ถึงเรื่องทิศจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มาคู่กับเรื่องถัดไปเลยครับ คือวิวและพื้นที่รอบข้าง

เรื่องทิศที่พูดมาทั้งหมดในข้อแรกอาจจะไม่มีความหมายเลยก็ได้ ถ้ามีเรื่องของวิวมาเกี่ยวข้อง ลองนึกภาพว่าถ้าหากเป็นคอนโดที่วางตัวในทิศตะวันออก/ตะวันตก แต่ทางทิศตะวันออกติดกับตึกข้างๆ แบบระยะประชิด แต่ทิศตะวันตกไม่มีตึกข้างๆ เห็นวิวเมืองได้ ถึงทิศตะวันตกจะร้อนกว่ายังไง ทิศตะวันตกก็ยังน่าเลือกกว่า ด้วยห้องที่มีวิว มีแดดส่องถึง ดีกว่าห้องที่ต้องเห็นแต่หน้าต่างห้องข้างๆ ใช่ไหมหล่ะครับ ดังนั้นห้องวิวบล็อกก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่หลายๆ คนมักจะเลี่ยงกัน

แต่บางคนอาจจะบอกว่าอยู่ห้องก็ปิดม่านตลอดวิวบล๊อกก็ไม่เป็นไร อันนี้ก็สามารถเลือกได้ครับ ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับก่อนว่าในเวลาขายต่อหรือปล่อยเช่าอาจจะยากกว่าห้องที่วิวเปิดนะครับ (แต่ในหลายๆ โครงการ ห้องวิวบล๊อกก็ราคาดีจริงๆ นะ)


แล้วถ้าวิวที่ไม่บล็อก ส่วนใหญ่จะมีวิวอะไรให้เลือกบ้าง

วิวบ้าน/วิวชานเมือง

วิวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นวิวที่เห็นได้จากคอนโดช่วงรอบนอก หรือส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย คือเมืองอาจจะยังไม่เจริญมาก โดยจะเป็นวิวที่มองออกไปทางนอกเมืองครับ ยังเป็นบ้านเรือนทั่วไปที่ไม่สูงมาก หรือบางทำเลถัดออกไปยังมีพื้นที่สีเขียวเป็นสวนหรือที่ว่างอยู่ อาจจะเป็นวิวที่ไม่ได้มีอะไรมาก ข้อดีก็คือวิวจะค่อนข้างโล่งสบายตา ไม่ค่อยมีอะไรบัง ในช่วงกลางคืนก็อาจจะดูมืดๆ นิดนิง วิวนี้ถ้าเราเลือกชั้นที่สูงไปซักประมาณนึงแล้ว ถ้าเลือกชั้นสูงขึ้นไปอีกก็อาจจะเริ่มไม่รู้สึกถึงความต่างที่มากนัก เพราะยังดูโล่งๆ ไปหมดพอกัน อันนี้ก็ลองบาลานซ์ระหว่างงบที่มี กับชั้นที่สูงขึ้นนะครับ

ที่มาภาพ: Narai Property

วิวเมือง

วิวนี้ก็ตามชื่อครับ เป็นวิวที่มองเข้ามาในเมือง ซึ่งก็จะได้วิวของความเป็นตัวเมือง ตึกต่างๆ ทั้งกลางวันและแสงไฟจากตัวตึกในตอนกลางคืน ความสวยก็ขึ้นอยู่กับว่าตัวคอนโดนั้นตั้งอยู่ที่ไหนแล้วมองไปเมืองฝั่งไหน ถ้าเป็นคอนโดที่อยู่ในเมืองหากเลือกชั้นที่สูงขึ้นก็จะยิ่งได้เห็นเมืองในมุมกว้างและวิวก็จะยิ่งดูโปร่งโล่งขึ้นเพราะยิ่งสูงตึกที่อยู่ในระดับความสูงเดียวกันก็จะยิ่งน้อยลงไป จะไม่ค่อยอึดอัด แต่ราคายิ่งชั้นสูงราคาห้องก็จะยิ่งสูงขึ้นตาม วิวเมืองบางมุมถ้ามีถนนขนาดใหญ่หรือทางด่วนบางทีก็จะช่วยให้วิวในตอนกลางคืนดูมี dynamic มากยิ่งขึ้นด้วย แต่ด้วยความที่อยู่ในเมือง ในอนาคตก็อาจจะมีตึกอื่นขึ้นมาในระยะใกล้ในวิวของเราเช่นเดียวกัน ดังนั้นอาจจะต้องลองทำการบ้านเรื่องนี้ด้วยครับ

วิวสวนและส่วนกลาง

วิวนี้แทนที่เราจะต้องไปพึ่งวิวข้างนอก ก็เลือกวิวที่เป็นสวนหรือส่วนกลางของโครงการเป็นวิวของห้องเราซะเลย วิวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชั้นที่ไม่สูงมาก เช่นถ้าตึก 30 ชั้น วิวสวนอาจจะเป็นห้องที่ชั้น 6-7 ที่เห็นสวนบนชั้นโพเดียมชั้น 6 เหนือที่จอดรถของตึกเป็นต้น ห้องประเภทนี้ก็จะไม่แพงมากเพราะยังเป็นชั้นที่ไม่สูง แต่ก็ยังมีจุดเด่นที่วิวที่แตกต่างจากชั้น 8 ที่ถ้าเทียบกันก็ไม่ได้สูงต่างกันมาก แต่มองออกมานอกหน้าต่างก็ไม่เห็นอะไร (ถ้ากังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวไม่อยากอยู่ชั้นเดียวพอดีกับสวนเลย เขยิบขึ้นมาจากชั้นสวนซักชั้นนึงก็ได้ครับ ก็น่าจะยังได้วิวของต้นไม้อยู่)

หรือบางห้องอาจจะเห็นส่วนกลางที่เป็นสระว่ายน้ำ อันนี้อาจจะต่างกันกับวิวสวนนิดนึงตรงที่พยายามอย่าเลือกอยู่ชั้นเดียวกับสระว่ายน้ำ แต่เลือกชั้นที่มองลงมาแล้วเห็นวิวสระ (ถ้าเห็นสระแนวยาวได้จะยิ่งดี) สูงขึ้นไปซัก 2-3 ชั้น เพื่อให้ยังได้ความเป็นส่วนตัวอยู่ นึกภาพว่าใครอยู่ที่สระก็มองเห็นห้องเราหมดคงไม่ค่อยเป็นส่วนตัวเท่าไหร่ รวมถึงเรื่องของเสียงจากสระทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็จะเบาลง

ที่มาภาพ: Narai Property

วิวที่มีจุดเด่นจากพื้นที่รอบข้าง

วิวนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างเช่นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา หรือวิวสวนลุมพินี/วิวสวนจตุจักรเป็นต้น เป็นวิวที่มีจุดเด่น จุดขายในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นการเลือกชั้นอาจจะต้องลองดูเช่น วิวแม่น้ำ ชั้นไหนที่โค้งน้ำกำลังดูสวย ไม่สูงเกินไป ไม่เตี้ยเกินไป หรืออย่างวิวสวนเอง บางคอนโดอยู่ตรงข้ามสวนเลย การเลือกชั้นคอนโดที่ไม่สูงมาก เช่นประมาณชั้น 10 นิดๆ ก็กลับได้วิวสวนที่ดูสวยกว่าไปอยู่ชั้น 30-40 ก็มี แต่ข้อที่ต้องระวังก็คือระหว่างวิวเรานั้น มีอะไรสามารถมาบดบังในอนาคตได้หรือไม่ ไม่งั้นจ่ายเงินซื้อวิวไปซะดิบดี กลายเป็นเสียเงินฟรีไปซะอย่างงั้น

วิวผสม

วิวผสมนี้อาจจะเป็นหลายๆ ข้อรวมกันครับ เช่น ห้องเหนือสระที่เห็นวิวสระว่ายน้ำ แล้วยังมองลงออกไปเห็นวิวเมืองกว้างๆ อันนี้วิวที่ออกมากก็ค่อนข้างที่จะสวยทีเดียว แต่แน่นอนว่าราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ที่มาภาพ: Sansiri PLC

ดังนั้นเรื่องวิว หลักๆ คือพยายามหลีกเลี่ยงวิวที่ถูกบล๊อกก็โอเคแล้วครับ ส่วนจะเลือกวิวแบบไหนอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ, ทำเล และ กำลังทรัพย์ครับ


สำหรับคอนโด Low Rise

ลักษณะของคอนโดประเภทนี้จะสูงไม่เกิน 8 ชั้น ดังนั้นลักษณะของวิวที่ได้ชั้น 2-8 ก็จะต่างกันนิดหน่อย ไม่ถึงกับมากนัก ถ้าหากเป็นโครงการเล็กๆ ห้องก็อาจจะหันออกไปด้านนอกโครงการหมด แต่ถ้าหากโครงการที่ใหญ่ขึ้นมา ก็จะเริ่มมีห้องที่หันเข้าด้านใน ซึ่งในหลายๆ ที่พื้นที่ตรงกลางด้านในอาจจะทำเป็นสวน หรือสระว่ายน้ำ ช่วยให้วิวที่มองออกไปผ่านหน้าต่างดูผ่อนคลายมากขึ้นและเงียบสงบกว่า และก็การันตีในอนาคตได้ด้วยว่าวิวมันก็จะเป็นแบบนี้ไปตลอดเพราะอยู่ในโครงการเอง ในหลายๆ ที่ ที่เป็นคอนโดแบบ Low Rise วิวด้านในจึงแพงกว่าด้านนอก

ที่มาภาพ: Sansiri PLC

ส่วนวิวด้านนอก อันนี้ก็จะแล้วแต่ว่าพื้นที่รอบข้างเป็นอะไร ถ้าเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ก็อาจจะได้มุมมองที่กว้างกว่าวิวด้านใน แต่ก็อาจจะต้องลองดูความเป็นไปได้ว่าที่ข้างๆ เค้าจะมีอะไรขึ้นมาในอนาคตหรือไม่

ในเรื่องระดับความสูง สำหรับวิวภายในชั้นที่ไม่สูงมากเช่นประมาณชั้น 2-4 ก็จะได้เห็นวิวสวนและต้นไม้ต่างๆ ได้ แต่ถ้าวิวด้านนอกก็อาจจะเลือกเป็นชั้นสูงหน่อย เพื่อหลบตึกรอบข้างที่อาจจะเป็นบ้านหรือตึกแถว ซึ่งเราจะพูดถึงในหัวข้อถัดไปครับ


พื้นที่รอบข้าง

ต่อมานอกจากเรื่องวิวบล๊อกแล้ว เราก็มาดูว่ารอบข้างโครงการเราเป็นอะไรครับ

พื้นที่รอบข้างในที่นี้ เราหมายถึงพื้นที่สี่ด้านที่คอนโดเราไปสร้างติดอยู่นั้นเป็นอะไรครับ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะจะมีผลในเรื่องของเสียง/แสง/กลิ่น ต่างๆ ที่จะมารบกวนได้ อย่างพื้นฐานที่คอนโดส่วนใหญ่จะอยู่ติดแน่ๆ ก็คือถนนครับ ซึ่งถ้าเป็นโครงการ Low Rise ที่อยู่ในเมืองบางที่มีขนาดที่ดินค่อนข้างจะจำกัด ทำให้ต้องสร้างอาคารติดกับซอยหรือถนนเลย ห้องทางทิศที่ติดถนนนอกจากจะได้ยินเสียงรถที่วิ่งได้จากในซอยได้ชัดเจนแล้ว ถ้าระยะห่างไม่มากก็จะมีเรื่องของความเป็นส่วนตัวของชั้นล่างๆ ที่คนที่เดินอยู่ในซอย/ถนนสามารถมองขึ้นมาในห้องได้ ส่วนถ้าเป็นตึกสูง High Rise ที่ติดถนนใหญ่ เสียงจากท้องถนนก็จะดังกว่ารถวิ่งในซอยพอสมควร ถ้าอยากได้ห้องที่สงบขึ้นอาจจะต้องลองดูเป็นห้องที่ทิศไม่ได้หันเข้าหาถนนโดยตรงครับ

หรือนอกจากถนนแล้ว รถไฟฟ้าที่อยู่บนดินเองก็เป็นอีกจุดที่มีเสียงดังเวลาวิ่งเช่นกัน โดยจุดที่มักจะมีเสียงดังเป็นพิเศษจะอยู่บริเวณสถานี, ทางโค้งต่างๆ หรือ ช่วงรางที่มีประแจสับรางอยู่พอดี ดังนั้นถ้าห้องอยู่ใกล้จุดเหล่านี้ อาจจะต้องเลือกห้องที่สูงหน่อยหรือเลือกทิศอื่นครับ

ที่มาภาพ: Sansiri PLC

และถ้าใครที่ชอบความสงบ อาจจะต้องหลีกเลี่ยงด้านที่เป็นศาสนสถานต่างๆ, โรงเรียน, สถานบันเทิง หรือสถานที่ที่มีเสียงดัง (วัสดุที่โครงการเลือกใช้ก็ผลต่อการได้ยินเสียงรบกวนเช่นกัน ถ้าหากเป็นตึกที่สร้างเสร็จแล้วก็จะมีข้อดีตรงที่เราได้ลองฟังเสียงจากรอบข้างบริเวณนั้นจริงๆ บางโครงการที่สร้างติดกับศาสนสถานอาจจะเพิ่มกระจกเป็นกระจกสองชั้นเก็บเสียงให้ก็ช่วยกันได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลือกมุมไม่ติดก็จะเสียงเบากว่าอยู่ดี)

ที่มาภาพ: 2p2play / Shutterstock.com

นอกจากเรื่องสิ่งรบกวนที่มาจากพื้นที่รอบข้างแล้ว ถัดมาคือให้ลองดูอนาคตของพื้นที่รอบด้านว่าเป็นอะไรบ้าง ทิศที่เราเลือกซื้อห้องมีโอกาสจะสร้างตึกสูงขึ้นมาติดเราในระยะประชิด หรือระยะไกลออกไปไหม แล้วเรารับได้หรือเปล่าในอนาคต

เช่นถ้าพื้นที่ติดกันเป็นพื้นที่ดินเปล่า เป็นตึกแถว หรือเป็นอาคารเก่าที่ไม่สูงมาก ก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะมีคนมาซื้อที่ดินแล้วทุบทำเป็นตึกขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้าตึกใหม่เป็นคอนโดที่สร้างในที่ดินที่ติดกันเลย ส่วนมากตึกที่มาก่อนก็จะค่อนข้างเสียเปรียบครับ เนื่องจากตึกใหม่ก็จะพยายามบิดรูปแบบตึกเพื่อไม่ให้วิวของห้องพักบล๊อกกับตึกข้างๆ แต่จะหันส่วนของตึกที่ไม่ต้องใช้วิวเช่นแกนลิฟต์ บันไดหนีไฟ หรือสันของตึก เข้าหาตึกเดิมแทน คือตึกใหม่ก็จะมีห้องที่บล๊อกวิวน้อยที่สุดเท่าที่จะพยายามทำได้ แต่ตึกที่มาก่อนก็อาจจะหลีกเลี่ยงตรงนี้ไม่ได้

วิวที่หันหลังให้ถนน มีโอกาสที่จะมีตึกอื่นมาบล็อกวิวในอนาคตน้อยกว่าวิวด้านอื่น

ส่วนใหญ่ตึกสูงมักจะสร้างติดกับถนนใหญ่ ดังนั้นวิวที่หันหลังให้ถนนก็เป็นอีกวิวที่มีโอกาสน้อยกว่าที่จะมีตึกอื่นมาสร้างข้างๆ ในทิศนี้ (แต่ก็แล้วแต่ทำเลนะครับ บางคอนโดด้านหลังเป็นซอยเข้าไป อาจจะมีอีกตึกสูงตึกอื่นที่สร้างในซอยตามมาที่ทิศนี้ก็ได้ แต่ก็มีกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าถ้าซอยที่กว้างน้อยกว่า 10 เมตร จะไม่สามารถสร้างตึกที่สูงเกิน 23 เมตร หรือเกินประมาณ 8 ชั้นได้)

ข้อนี้ก็ต้องบอกว่าในเมืองสมัยนี้ก็มีตึกใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้นในบางทำเลที่เป็นกลางเมือง การที่จะมีตึกขึ้นมาบังวิวบ้างก็อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ข้อนี้อาจจะดูเท่าที่เป็นไปได้ก็พอครับ


วันนี้ก็ประมาณนี้ก่อนครับ 3 ข้อหลักๆ เรื่องของปัจจัยรอบนอกกันก่อน เดี๋ยวคราวหน้าเราจะมาต่อเรื่องการเลือกห้องที่จากตัวเลือกต่างๆ ที่มีในอาคารกันบ้าง เช่น ชั้นไหน ตำแหน่งไหน กับบทความ “คอนโดตึกนึงมียูนิตเป็นร้อยเป็นพัน จะเลือกชั้นไหนห้องไหนดี?? Part 2” อย่าลืมติดตามกันนะครับ ^ ^

ตอน 2 มาแล้วน้าาา คลิกที่ภาพด้านล่างได้เลย

ที่มาภาพ: Thisislove / Shutterstock.com
Related posts
สาระอสังหา

เปิดข้อมูล “บ้านกลางเมือง” 5 โครงการใหม่ อยู่ทำเลไหนบ้าง พร้อมรายละเอียด

สาระอสังหา

ย้อน Timeline เกิดอะไรขึ้นกับ Ashton Asoke ทำไมถึงโดนสั่งเพิกถอนก่อสร้าง? แล้วจะต้องทำยังไงต่อ?

สาระอสังหา

ปี 2023 Developer แต่ละเจ้ามีแผนธุรกิจอะไร และจะทำอะไรกันบ้าง?

สาระอสังหา

เปิดอาณาจักร 75 ปี กลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่ร้านเล็กๆ ไปจนถึงห้างไซส์ใหญ่ ที่ทุกคนชอบช้อป!