fbpx
สาระอสังหา

คอนโดตึกนึงมียูนิตเป็นร้อยเป็นพัน จะเลือกชั้นไหน? ห้องไหน? ให้เหมาะกับเรา (ตอน 2)

หลังจากที่คราวก่อนเราพูดเรื่องการเลือกตำแหน่งห้องในคอนโด 3 หัวข้อ ได้แก่เรื่องทิศ, วิว และพื้นที่รอบข้างไปแล้ว ใครที่ยังไม่ได้อ่านลองอ่านกันได้ก่อน กับบทความ “คอนโดตึกนึงมียูนิตเป็นร้อยเป็นพัน จะเลือกชั้นไหน? ห้องไหน? ให้เหมาะกับเรา (ตอน 1)” ซึ่งในตอนแรกเราพูดถึงปัจจัยรอบข้างที่มีผลต่อการเลือกห้อง ใน part นี้เราจะเขยิบเข้ามาพูดถึงตัวคอนโดเองบ้างครับ

ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก คลิกที่ภาพด้านล่างเลยครับ

สำหรับในบทความชุดนี้ เราจะเน้นไปในมุมสำหรับการอยู่อาศัยเองเป็นหลักนะครับ ซึ่งพอเป็นการอยู่อาศัยเอง แต่ละคนก็มีความต้องการหรือการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นแต่ละข้อที่เรายกมาในวันนี้จะเป็นหลักกลางๆ ที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าต้องการอะไรครับ



ชั้น

เรื่องของชั้นเรื่องนี้ก็จะค่อนข้างเกี่ยวๆ กันกับเรื่องวิวและพื้นที่รอบข้างนิดหน่อย สำหรับคอนโดแบบ Highrise ในปัจจุบัน หลักการตั้งราคาส่วนใหญ่ก็จะมาในแนวยิ่งสูงยิ่งราคาแพงขึ้นครับ ด้วยวิวของห้องที่ยิ่งสูงก็จะยิ่งสวยดูโปร่งโล่งมากขึ้น (แต่ต้องไม่มีตึกข้างๆ มาบังนะ)

หลักการเลือกส่วนใหญ่ก็จะเลือกชั้นสูงที่สุดเท่าที่จ่ายไหว หรือถ้าหากราคาเป็นช่วงใกล้เคียงกัน อย่างเช่นสมมุติชั้น 6-15 ราคานึง พอ 16-25 กระโดดไปอีกราคานึง ก็พยายามเลือกชั้นบนสุดในช่วงที่ราคาใกล้กันเท่าที่เราไหวครับ เว้นแต่ว่าสำหรับใครที่ไม่ชอบความสูงหรือไม่เน้นวิวเลยก็อาจจะเลือกที่ชั้นไม่สูงมาก

แต่ว่าในคอนโดเองมันก็จะมีบางชั้นที่ราคาอาจจะแตกต่าง หรือเป็นชั้นที่มีข้อสังเกตไม่เหมือนชั้นอื่นๆ ทั่วไป เราขอยกตัวอย่างมาซัก 5-6 ชั้นที่พบเจอได้บ่อยๆ ในการเลือกซื้อคอนโดมาพูดถึงละกันครับ


ชั้น 1

สำหรับคอนโดบางที่ ที่เป็นอาคารแบบ Low Rise หรือคอนโด High Rise ที่มีตึกจอดรถแยก เราก็อาจจะได้เห็นเริ่มต้นมีห้องตั้งแต่ชั้น 1 เลย ชั้นนี้ส่วนใหญ่จะราคาไม่สูง ถ้าเทียบกับชั้นอื่นๆ ข้อดีก็คือจะเดินเข้าจาก Lobby มาถึงห้องได้โดยที่ไม่ต้องรอลิฟต์ ก็จะสะดวกหน่อย วิวข้างนอกห้องพอจะได้อารมณ์ของความเป็นบ้าน แต่อาจจะมีเรื่องของความเป็นส่วนตัวและวิวแบบตึกสูงที่หายไปครับ เนื่องจากส่วนใหญ่พื้นที่รอบนอกของชั้น 1 จะเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่คนที่อยู่ในโครงการเข้าถึงได้ บางคอนโดที่มีห้องชั้น 1 อาจจะมีการปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้พุ่มบริเวณระเบียง/หน้าต่าง ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับห้อง แต่ในทางกลับกัน ก็อาจจะเป็นการบดบังวิวและแสงแดดที่ส่องเข้าห้องอีกเช่นเดียวกัน


ชั้นล่างสุดของชั้นที่พักอาศัย

ชั้นล่างสุดของที่พักอาศัย อาจจะไม่ใช่ชั้น 1 เสมอไป อย่างเช่นบางโครงการชั้น 1-5 เป็นที่จอดรถ โดยมีห้องพักอาศัยเริ่มที่ชั้น 6 เราก็จะนับชั้น 6 เป็นชั้นล่างสุดของชั้นที่มีห้องพักอาศัยครับ

สำหรับระบบท่อระบายน้ำต่างๆ ของคอนโด ส่วนใหญ่ท่อน้ำทิ้งในห้องจะวิ่งไปเชื่อมกับท่อเมน โดยท่อเมนจะใช้ร่วมกันกับ unit อื่นๆ ในแนวดิ่งที่อยู่แถวเดียวกันกับเราตั้งแต่ชั้นบนลงมาชั้นล่าง โดยแต่ละห้องในชั้นเดียวกันก็จะเชื่อมกับท่อเมนของตัวเองลงไปชั้นล่าง ซึ่งเมื่อถึงชั้นล่างสุด ท่อเมนนี้จากที่เป็นแนวดิ่ง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนเป็นแนวนอน เพื่อเชื่อมกับท่อเมนจาก unit แถวอื่นๆ เพื่อรวมกันไปสู่บ่อบำบัดหรือบ่อพักต่อไป

ถ้าห้องเราอยู่ชั้นล่างสุดของส่วนพักอาศัย ใต้พื้นห้องเราก็จะเต็มไปด้วยสารพัดท่อแบบนี้ครับ

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็คือเมื่อท่อเป็นแนวนอน คือเกิดการอุดตันได้ง่ายกว่า แล้วเมื่ออุดตัน สิ่งที่มาในท่อก็จะล้นจนไปหาทางออกทางอื่น ห้องที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกก็คือชั้นที่อยู่ติดกับบริเวณที่อุดตัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชั้นล่างสุดของที่พักที่อยู่เหนือท่อเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ เหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ขึ้นอยู่กับ spec ของตึกและงานก่อสร้างด้วย แต่ก็เคยเกิดขึ้นจนเป็นข่าวมาแล้ว ซึ่งท่อที่เป็นข่าวดันไม่ใช่ท่อระบายน้ำทิ้งธรรมดา แต่เป็นท่อจากชักโครก……

ในบางที่ชั้นล่างสุดของที่พักอาศัย จะมีระเบียงที่กว้างเป็นพิเศษยื่นออกมาจากแนวตึกปกติ เช่นบางห้องอยู่เหนือชั้นจอดรถ ทำให้ทำระเบียงได้กว้าง ซึ่งระเบียงเหล่านี้ตอนอยู่จริงอาจจะต้องระวังในเรื่องของสิ่งต่างๆ ที่อาจจะหล่นมาจากชั้นบนได้ เช่น ขี้บุหรี่ หรือเศษของต่างๆ


ชั้นส่วนกลาง

ชั้นนี้หลายๆ ที่จะราคาสูงกว่าปกติ เนื่องจากเป็นชั้นที่เราสามารถไปใช้ส่วนกลางได้สะดวกครับ ซึ่งมูลค่าความแพงของชั้นนี้ก็จะขึ้นอยู่กับว่าส่วนกลางที่ชั้นนี้เข้าถึงได้นั้นเป็นอะไร เช่นถ้าเป็นสวนเล็กๆ ก็ไม่ควรจะแพงกว่าชั้นติดกันมาก แต่ถ้าเป็นสระว่ายน้ำหรือสวนขนาดใหญ่บนตึกอันนี้ก็อาจจะแพงกว่าชั้นติดกันหน่อย ข้อควรพิจารณาสำหรับชั้นที่มีส่วนกลางคือดูเรื่องความเป็นส่วนตัวครับ เช่นโถงลิฟต์กับห้องพักควรจะมีคีย์การ์ด เพื่อกันคนที่มาใช้ส่วนกลางเข้ามาที่โถงทางเดินที่เป็นส่วนที่พักอาศัยได้ รวมไปถึงวิวของห้อง ถ้าหันออกไปเป็นสระตรงๆ หรือริมหน้าต่าง/ระเบียงเป็นสวนส่วนกลาง ก็จะมีเรื่องของความเป็นส่วนตัวทั้งการมองเห็นและเรื่องเสียงเข้ามา แต่ถ้าส่วนกลางอยู่คนละด้าน คนละฝั่งกันก็ไม่มีปัญหาครับ

ชั้นส่วนกลางของคอนโดบางที่ เนื่องจากต้องการให้ส่วนกลางมีความโปร่ง บางทีชั้นนี้อาจจะเพดานสูงกว่าปกติก็มีครับ ซึ่งบางโครงการจากปกติเพดานสูง 2.6-2.7 เมตร อาจจะกลายเป็นได้ห้องสูง 4-5 เมตรเลยก็มี ก็จะทำให้ห้องเราโปร่งขึ้นและพิเศษกว่าห้องอื่นๆ ในตึก


ชั้นบนสุดของตึก

ชั้นนี้หมายถึงชั้นที่อยู่บนสุดของแต่ละตึกก่อนจะถึงดาดฟ้า เป็นอีกชั้นที่ถ้าราคาไม่ดีจริง เลี่ยงได้แนะนำว่าเลี่ยงดีกว่าครับ เพราะห้องในชั้นนี้นอกจากจะได้รับแดดจากทางผนังแล้ว ตอนเทียง ตอนบ่ายก็จะได้รับแดดจากเพดานด้านบนด้วยอีก ทำให้ร้อนเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีโอกาสมากกว่าที่น้ำจากบนดาดฝ้า อาจจะรั่วลงมาได้เวลาที่ฝนตก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกที่จะเป็นนะ แต่ห้องชั้นนี้ก็มีโอกาสมากกว่าชั้นอื่นๆ


ชั้น 13

ชั้นนี้เป็นชั้นไม่มงคลสำหรับใครหลายๆ คน จนแทบทุกตึกเรียกชั้นนี้ว่าชั้น 12A กันไปหมดแล้ว ซึ่งถ้าใครถือเรื่องนี้อาจจะข้ามชั้นนี้ไป แต่ถ้าใครที่ไม่ถือ ให้ลองดูในบางคอนโด ชั้นนี้ทำราคาออกมาได้ดีเลยหล่ะครับ ถูกกว่าชั้นล่างที่ติดกันบางทีหลายแสนก็มี ซึ่งก็อีกนั่นแหล่ะครับ ชั้นราคาดีๆ บางทีกว่าจะถึงเราก็หมดไปตั้งแต่รอบ VIP หรือรอบก่อนหน้าเราแล้ว แต่ถ้ามีโอกาส ก็อยากให้ลองดูราคาชั้นนี้กันครับ (แต่ก็เป็นเฉพาะบางแบรนด์นะ)


ชั้นที่มี unit น้อยกว่าชั้นอื่นๆ

ข้อดีของการมี unit น้อยกว่าชั้นอื่นๆ คือความเป็นส่วนตัวของชั้นนั้นๆ ก็จะมากขึ้นครับ ราคาก็อาจจะแพงกว่าเล็กน้อย ชั้นที่จะมี unit น้อยกว่าชั้นอื่นๆ ก็อย่างเช่นชั้นส่วนกลาง ที่บางที่ครึ่งฟลออาจจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางและเหลือปีกตึกอีกด้านนึงเป็นที่พักปกติ หรือในคอนโดชั้นสูงๆ ที่มีเรื่องระยะถอยร่นจากถนนเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งชั้นสูงขึ้นจำนวนห้องต่อชั้นก็จะยิ่งน้อยลง

บางคอนโดในชั้นบนๆ อาจจะเริ่มเปลี่ยนขนาดไซส์ห้อง จากที่ชั้นล่างเน้น 1 ห้องนอนเยอะ ชั้นบนอาจจะกลายเป็นมีห้อง 2 ห้องนอน/3 ห้องนอนมากขึ้น ก็จะช่วยให้ความหนาแน่นของจำนวน unit ในชั้นนั้นลงไปได้อีก


อาจจะมีเรื่องอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่นการดูว่าแปลนชั้นบนชั้นล่างว่าห้องเราติดกับอะไรควบคู่ไปด้วยเวลาเลือก บางห้องอยู่ใต้สระว่ายน้ำหรือแทงค์น้ำของตึก อันนี้เลี่ยงได้ก็เลี่ยงจะดีกว่า หรือบางโครงการชั้น 1 เป็นโซนร้านค้าก็พยายามหลีกเลี่ยงห้องชั้น 2 ที่อยู่ห้องเหนือขึ้นมาครับ บางทีเจอเป็นร้านอาหาร ยิ่งถ้าเป็นอาหารตามสั่งขึ้นมา การตากผ้าหรือเปิดหน้าต่างก็อาจจะมีเรื่องของกลิ่นมารบกวนได้

คร่าวๆ ก็ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องการเลือกชั้น


สำรวจแปลนตึก

หลังจากเรื่องของชั้นไปแล้ว ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของแปลนตึกในแต่ละชั้นครับ จริงๆ แปลนตึกเนี่ย มันก็จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะที่ดิน, ระยะถอยร่น, การหลบมุมบล๊อกวิว รวมไปถึงหน้าตาของอาคารภายนอกโดยรวม หรือบางที่มีเรื่องฮวงจุ้ยตึกเข้ามาเกี่ยวด้วยอีก ทำให้แปลนของตึกจะค่อนข้างหลากหลายมากๆ

แต่ก็จะมีบางแบบที่เราจะได้เห็นกันบ่อยๆ เช่นแปลนตึกรูปตัว I, ตัว H, ตัว L และตัว U อย่างในภาพตัวอย่างครับ

อย่างแปลนตัว I ที่หันออกด้านนอกหมดก็จะไม่เห็นตึกตัวเองบังวิว ถ้าเป็นแปลนรูปตัว L ฝั่งที่อยู่ด้านในตัว L ใกล้มุมก็อาจจะเห็นห้องอีกปีกนึงของตึกบ้าง ขึ้นอยู่ว่าใกล้/ไกลมุมแค่ไหน และขึ้นอยู่กับความยาวของตึกอีกมุมนึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและวิวก็อาจจะลดลงเล็กน้อย

ส่วนแปลนตึกแบบ H และแบบ U จะเห็นได้ในโครงการที่มี unit เยอะหน่อยครับ ห้องฝั่งที่อยู่ด้านในตัว H และตัว U อันนี้จะค่อนข้างเสียเปรียบฝั่งด้านนอก เนื่องจากจะมีบางมุมที่หันไปหาห้องฝั่งตรงข้ามแบบตรงๆ เลย หรือห้องด้านใน ในมุมที่ไม่มีฝั่งตรงข้าม ก็ยังมีปีกตึกอีกสองข้างอยู่ซ้ายขวา ก็จะดูไม่โล่งและเป็นส่วนตัวเท่าห้องฝั่งด้านนอกครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าระยะห่างของปีกตึกสองด้านห่างกันแค่ไหนนะครับ ถ้าปีกอยู่ห่างกันมาก หรือไม่ได้เป็นปีกตึกที่ยาวมาก ก็อาจจะไม่รู้สึกอึดอัด หรืออาจจะมองไม่เห็นจากวิวห้องก็ได้

แต่สำหรับคอนโดแบบ Low Rise ก็จะเป็นอีกอย่างนึงนะครับ เนื่องจากตึกไม่ได้สูงเห็นวิวเปิดโล่งเท่าไหร่อยู่แล้ว การที่อยู่ห้องด้านในได้เห็นวิวส่วนกลางสวยๆ บางทีก็อาจจะดีกว่า  ซึ่งถ้าเลือกได้การเลือกห้องที่เห็นวิวด้านในในมุมแนวยาว ก็จะทำให้รู้สึกโปร่งกว่าครับ


เห็นภาพแปลนคร่าวๆ กันไปแล้ว ทีนี้ในแต่ละชั้นส่วนใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยห้องพัก, โถงทางเดิน, โถงลิฟต์ ห้อง service ต่างๆ เราก็มีข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกห้องมาฝากกันครับ

Single Corridor vs Double Corridor

ข้อนี้หมายถึงโถงทางเดินมีห้องพักอยู่กี่ฝั่งครับ ถ้ามีอยู่ฝั่งเดียวจะเรียก Single Corridor แต่ถ้ามีฝั่งตรงข้ามด้วยจะเป็นแบบ Double Corridor ความแตกต่างคือ Single Corridor จะมีความสงบและเป็นส่วนตัวกว่า เนื่องจากไม่มีห้องตรงข้าม จะไม่ได้ยินเสียงเปิดปิดประตู หรืออะไรต่างๆ จากห้องตรงข้าม รวมถึงทำให้ unit ต่อชั้นมีน้อยลงด้วย ส่วนใหญ่พบได้ในคอนโดราคาสูงหน่อย แต่บางทีในคอนโดระดับทั่วไปก็อาจจะพอพบได้บ้างบางทีจากลักษณะของที่ดินบีบให้รูปแบบตึกออกมาเป็น Single Corridor หรือบางตึกชั้นสูงๆ ติดระยะถอยร่นทำให้ห้องเหลือแค่ฝั่งเดียว

ถ้าชอบสงบ เลือกห้องไกลลิฟต์

สำหรับใครที่ชอบความสงบ ให้ลองดูห้องที่อยู่ไกลลิฟต์ออกไปครับ เพราะยิ่งเราอยู่ห่างจากลิฟต์มากเท่าไหร่ คนที่เดินผ่านหน้าห้องเราก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น หรือถ้าคอนโดบางทีขนาดใหญ่ มีโถงลิฟต์หลายจุด การอยู่จุดกึ่งกลางระหว่างโถงลิฟต์ 2 จุดก็จะเป็นจุดที่คนเดินผ่านน้อยกว่า แต่ก็อาจจะต้องขยันเดินกันนิดนึงนะ

ห้องมุม

ห้องมุมของตึกจะมีข้อดีตรงที่จะมีผนังติดกับห้องข้างๆ เพียงแค่ฝั่งเดียว เพราะอีกฝั่งติดด้านนอกตึก ความสงบและเสียงรบกวนที่อาจจะมาจากข้างห้องก็จะน้อยกว่า หรือเราทำอะไรเสียงดังในห้องก็ไม่รบกวนห้องข้างๆ บางที่อาจจะมีการใส่หน้าต่างมาให้เพิ่ม ช่วยในเรื่องแสงและการถ่ายเทอากาศให้ดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ราคาก็จะแพงกว่าห้องปกติ รวมไปถึงอาจจะต้องดูว่าผนังอีกฝั่งหันไปหาทิศแดดหรือเปล่าเพราะจะทำให้ห้องร้อนขึ้นได้ในตอนกลางวัน หรือถ้ามีหน้าต่างเพิ่มการอาจจะมีเรื่องของการรั่วซึมถ้าหากก่อสร้างไม่ดี

ห้องติดบันไดหนีไฟ

ฟังดูไม่น่าจะดีใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วเป็นอีกห้องที่หลายคนเลือกกัน เพราะผนังด้านนึงของห้องเราจะไม่ติดกับคนอื่น เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ได้คล้ายๆ กะห้องมุมข้อที่แล้ว และยังสะดวกเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่ต้องเป็นคอนโดที่ไม่ได้ใช้ทางหนีไฟเป็นทางเดินร่วมด้วยนะครับ ไม่งั้นกลายเป็นว่าจากหนีเสียงห้องข้างๆ ต้องมาฟังเสียงปิดประตูบันไดหนีไฟแทน เสียงมันไม่เบาเลยหล่ะ

ห้องติดโถงลิฟต์ หรือใกล้ห้องขยะ

อันนี้เป็น 2 ห้องคลาสสิคเวลาเลือกคอนโด ที่หลายๆ คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผึ้งหนีไปลูก หนีไปปปป!! เหตุผลก็คือห้องหน้าโถงลิฟต์คนทั้งชั้นจะเดินมาใช้งาน ทั้งเสียงเดิน เสียงลิฟต์ การคุยกันระหว่างรอลิฟต์ ส่วนใหญ่ก็จะเล็ดลอดเข้ามาในห้อง รวมถึงเรื่องฝุ่นต่างๆ ที่จะเข้ามาในห้องผ่านประตูหน้าก็จะมีมากกว่า ส่วนห้องขยะก็อาจจะมีเรื่องของกลิ่น, แมลง และเสียงเปิดปิดประตูเมื่อมีคนมาใช้งานห้องขยะ แต่ห้องเหล่านี้ก็มันจะมีราคาที่ถูกกว่าห้องตำแหน่งอื่นพอสมควร

เอาเป็นว่าข้อนี้ก็อาจจะต้องชั่งน้ำหนักกันดูความว่าคุ้มหรือไม่กับราคาที่ถูกกว่า อย่างเช่นบางห้องเป็นแปลนห้องที่เปิดประตูเข้ามาแล้วเจอห้องครัวแบบครัวปิด มีบานสไลด์กั้นอีกที่ก่อนถึงห้องนั่งเล่น อันนี้เสียงทึ่เกิดขึ้นจากทางเดินก็อาจจะไม่ถึงห้องนั่งเล่น การเลือกห้องติดโถงลิฟต์ก็อาจจะยังพอน่าสนใจถ้าราคาดีครับ

ห้องมุมตึกด้านใน

เป็นห้องที่จะเจอได้ในแปลนตึกที่เป็นรูปตัว S, ตัว U หรือตัว H ครับ ตำแหน่งห้องที่ว่าจะเป็นตำแหน่งห้องที่อยู่ตรงส่วนมุมของตึกด้านใน ส่วนใหญ่ตำแหน่งนี้ในการออกแบบมักจะเป็นที่ตั้งของโถงลิฟต์และบันไดหนีไฟ หรือห้องงานระบบต่างๆ ที่ไม่ต้องจำเป็นต้องมีวิว แต่อย่างตึกที่แปลนตึกที่มีมุมหลายมุม ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีบางห้องอยู่ในตำแหน่งมุมด้านในตรงนี้ ข้อเสียงของห้องมุมตรงนี้ก็คือ ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ติดนอกอาคารน้อยกว่าห้องตำแหน่งอื่น เพราะอยู่ในมุมพอดี ทำให้อาจจะมีหน้าต่างแคบกว่าปกติ หรือแปลนห้องบางทีก็จะมีลักษณะแปลกๆ ไป หรือบางที่ก็เว้นระยะห่างพอให้ทำหน้าต่างได้ แต่ก็เปิดไปเจอกำแพงทึบของปีกตึกอีกฝั่งนึง


ห้อง Rare

ห้อง Rare หรือห้องหายากในตึกแต่ละตึก ไม่ได้เป็นห้องที่มีทั่วไป ห้องที่หายากอาจจะเป็นในเรื่องของขนาดห้องครับ เช่นบางโครงการทั้งตึกมีเป็นห้อง 1Bedroom เกือบหมด แต่มีห้อง 2 Bedroom แค่ชั้นละห้อง หรืออาจจะเป็นเรื่องของแปลนห้องที่ไม่เหมือนใคร, บางโครงการชั้นส่วนกลางมีเพดานสูงพิเศษ 4-5 เมตร ซึ่งมีห้องในชั้นนั้นแค่ไม่ถึงสิบห้อง, บางโครงมีห้องวิวพิเศษที่มีแค่บางห้องเท่านั้นที่จะเห็น ซึ่งห้องเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับราคาที่แพงเป็นพิเศษกว่าห้องทั่วไป จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความพิเศษของห้องนั้นๆ

จริงๆ ข้อนี้น่าจะเป็นข้อที่สำคัญน้อยกว่าข้ออื่นๆ เลยสำหรับการอยู่อาศัยเอง แต่กลับกันถ้าเป็นการซื้อเพื่อลงทุนข้อนี้จะมีผลทันที เนื่องจากห้องของเราจะแตกต่างจากคู่แข่งในตึกเดียวกันเลย แต่ในบทความนี้เราพูดถึงเรื่องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองเป็นหลัก การเลือกห้อง Rare สำหรับอยู่เองก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในตัวห้องและการรับได้ของราคาเป็นหลักครับ ก็ถ้าเราได้ห้องที่เราชอบจริงๆ แล้วจ่ายไหวยังไงก็แฮปปี้ครับ ผลพลอยได้คือเมื่อถือวันนึงที่จะขยับขยายย้ายที่อยู่ ห้องเราก็ค่อนข้างจะมีแต้มต่อในการขาย/ปล่อยเช่า แต่ถ้ามีเรื่องงบประมาณต่างๆ ในคำนึงถึงอยู่ การเลือกห้องที่ไม่ได้ Rare แต่ตำแหน่งดีก็ไม่แย่เช่นกันนะ ไม่จำเป็นต้อง Rare เสมอไป


สรุป

จริงๆ แล้ว 6 ข้อที่พูดถึงมาทั้งหมดในการเลือกคอนโด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทิศ, วิว, พื้นที่รอบข้าง, ชั้น, ตำแหน่งห้องในแต่ละชั้น และความหายากของห้อง อยากจะบอกว่าเป็นแนวคิดกว้างๆ ในการเลือกนะครับ แต่ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนอีกทีนึงนะครับว่าต้องการอะไรจากการซื้อคอนโดซักที่นึง ห้องตำแหน่งต่างๆ ในคอนโดก็เหมาะกับการใช้งานและการอยู่อาศัยที่แตกต่างกัน

ห้องที่เราอยู่แล้วแฮปปี้อาจจะไม่ใช่ห้องที่ติ๊กถูกในทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด แต่เป็นห้องที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราในงบประมาณที่จ่ายไหวต่างหาก


หวังว่าบทความนี้จะพอช่วยเป็นแนวทางสำหรับใครที่กำลังมองหาคอนโดอยู่นะครับ แล้วคราวหน้า LivingPop จะเอาสาระเกี่ยวกับการอสังหาต่างๆ มาฝากกันอีกแน่นอน อย่าลืมติดตามกันนะ ^ ^

Related posts
สาระอสังหา

เปิดข้อมูล “บ้านกลางเมือง” 5 โครงการใหม่ อยู่ทำเลไหนบ้าง พร้อมรายละเอียด

สาระอสังหา

ย้อน Timeline เกิดอะไรขึ้นกับ Ashton Asoke ทำไมถึงโดนสั่งเพิกถอนก่อสร้าง? แล้วจะต้องทำยังไงต่อ?

สาระอสังหา

ปี 2023 Developer แต่ละเจ้ามีแผนธุรกิจอะไร และจะทำอะไรกันบ้าง?

สาระอสังหา

เปิดอาณาจักร 75 ปี กลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่ร้านเล็กๆ ไปจนถึงห้างไซส์ใหญ่ ที่ทุกคนชอบช้อป!