ช่วงนี้จะเห็นได้ว่าเชื้อไวรัส COVID-19 แพร่กระจายเร็วมากๆ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ในไทยก็พุ่งไปอยู่ที่ 827 รายแล้วครับ (ข้อมูล ณ วันที่ 24/3/2020 เวลา 10.16 น.) ซึ่งยอดคงไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะว่าคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อนั้นก็ยังมีอีกแน่นอน คนไทยเองก็ถือว่าตื่นตัวมากๆ และจะน่าหวั่นวิตกกว่านี้หากคนใกล้ตัวของเรากลายเป็นผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศ ญาติในบ้าน หรือผู้ที่อาศัยอยู่คอนโดเดียวกันก็ตาม ดังนั้นหากเราเป็นผู้ใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านี้ เราต้องมีวิธีรับมือกับมัน ถ้าเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเอง เราจะมาบอกขั้นตอนและวิธีการรับมือกันครับ
ตั้งสติอยู่เสมอ
อันดับแรกเมื่อเรารู้ข่าวนะครับ ขอเลย “อยากให้ทุกคนตั้งสติก่อน” อย่าตื่นตูม หรือแตกตื่นจนเว่อร์เกินไป เพราะจะทำให้เราทำอะไรไม่ถูก เมื่อมีสติ พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาแล้ว เราจะเริ่มอธิบายเป็น Step นะครับ ว่าเพื่อนๆ ควรทำอะไรบ้าง
Step 1
กักตัวเองก่อน
แต่ก่อนจะกักตัวเองก็ต้องบอกบริษัทหน่อยนะครับ ว่าที่มาที่ไปในการกักตัวของเราคืออะไร ต้องอธิบายน้า ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ไปบอกขอกักตัวแล้วก็หายไปเลย มันก็จะแปลกๆ หน่อย เพราะแต่ละที่ก็มีมาตรการต่างกัน อย่างที่ออฟฟิศของเรามีพนักงานในออฟฟิศอยู่คอนโดเดียวกับคนที่ติดเชื้อ ก็บอกทางบริษัท แจ้งให้คนในออฟฟิศรู้ และทำการกักตัว เพื่อลดความเสี่ยงครับ
แล้วถ้าเกิดว่าเพื่อนๆ ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 หรือมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่ 1422 เป็นสายด่วนของกรมควบคุมโรค ถ้าเพื่อนๆ คิดว่าตัวเองเสี่ยง ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเองนะครับ โทรไปสายด่วนเขาจะให้เจ้าหน้าที่มารับตัวเราไปที่โรงพยาบาล หรือโทร 1330 เป็นสายด่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล, ให้คำแนะนำและวิธีใช้สิทธิอย่างถูกต้อง, รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์, ประสานส่งต่อผู้ป่วย เพื่อเข้ารับการรักษาตามระบบ และถ้าเราเจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรงสามารถโทร 1669 ได้ครับ
1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
1330 สายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพฯ
1669 สายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน
เมื่อเรารู้แล้วว่ามีคนใกล้ตัวเราติดเชื้อไวรัส เมื่อเราอยู่ในช่วงกักตัว ต้องสังเกตอาการของตัวเองว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงหรือเปล่า อาทิ เป็นไข้ (บางคนก็ไม่มีไข้ แค่รู้สึกร้อนๆ รุมๆ พอไปตรวจคือพบเชื้อจริงก็มี) อาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ซึ่งจากงานวิจัยล่าสุดที่ประเทศจีนพบว่า อาการที่เด่นที่สุดของคนไข้ คือ ไอ 70% ในขณะที่ไข้ตอนแรกจะมีเพียง 40% เท่านั้น
ถ้าเราไม่ได้อยู่คนเดียว จะกักตัวยังไงดีนะ?
ถ้าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ในคอนโดหรือในบ้านยังมีเพื่อนๆ ญาติๆ อีกหลายคน เราจะกักตัวอย่างไร เรามี 7 วิธีในการกักตัวที่จะทำให้คนในบ้านไม่สุ่มเสี่ยงไปกับเราครับ
- อยู่ในบ้าน แยกห้องนอน
ควรจะพักอยู่ในบ้าน ถ้าเป็นไปได้อยู่บ้านก็ควรจะแยกจากสมาชิกในบ้าน เช่น ถ้ามีห้องนอนแยกกันก็ควรจะแยกห้องนอน สมาชิกในบ้านก็ไม่ควรจะเข้าไปในห้อง ที่ผู้ถูกกักตัวอยู่ประจำ และเมื่อจะต้องทำงาน ถ้างานนั้นเราสามารถทำจากที่บ้านได้ก็จะลดความเสี่ยง - งดให้คนมาเยี่ยม
ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะงดให้คนอื่นเข้ามาจะดีมาก แล้วก็งดเดินทางออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น การจะไปพบปะเพื่อนฝูงหรือว่าคนรู้จักก็อาจจะต้องเลี่ยงไว้ก่อนจะดีกว่า - เลี่ยงการใกล้ชิดกับคนในบ้าน
กรณีถ้าต้องเข้าใกล้ชิดกับสมาชิกในบ้าน ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย แล้วก็อยู่ในระยะที่ไม่ควรจะสัมผัสใกล้ชิดเกิน 3 ฟุตหรือ 1 เมตร หรือถ้าเป็นไปได้เวลาสื่อสารกัน ให้สวมหน้ากากอนามัยทั้งสองฝ่ายจะดีที่สุด โดยพูดเสียงให้ดังขึ้น หรือใช้โทรศัพท์ติดต่อจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ส่วนการใช้สิ่งของร่วมกันบางชิ้น เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะทำงานก็อาจจะเช็ดทำความสะอาด สม่ำเสมอ - สั่งอาหารออนไลน์ เลี่ยงการสัมผัส
ถ้าในที่ๆ มีการส่งอาหารถึงได้ก็เป็นวิธีที่ดี แต่ว่าเวลาไปรับอาหารคสรต้องสวมหน้ากาอนามัยไว้ เพื่อลดความเสี่ยง ที่สำคัญถ้าสั่งอาหารด้วยวิธีการชำระเงินผ่านมือถือหรือออนไลน์ ก็จะปลอดภัยเพราะจะไม่ต้องหยิบจับเงินให้กับผู้ที่มาส่งอาหารให้ ลดความเสี่ยงแพร่ให้กับผู้มาส่งอาหาร - แยกภาชนะ ห้ามกินข้าวใกล้กัน
เวลาที่รับประทานอาหารเป็นเวลาที่เราสวมแมสก์ไม่ได้ ถ้าเรามีเชื้อโรค อากาศจากทางเดินหายใจเราสามารถออกไปจากตัวเราแล้วไปแพร่กระจายให้คนรอบข้างได้ เพราะฉะนั้นช่วงรับประทานอาหารควรจะต้องแยกนั่งอย่างน้อยห่างกับ 3 ฟุตหรือ 1 เมตรขึ้นไป และควรแยกภาชนะ ชาม ช้อน แก้วน้ำ อะไรต่างๆ ที่ต้องใช้รับประทานอาหาร ถ้าเป็นไปได้ล้างในอ่างที่แยกออกจากกันก็จะดี - เข้าห้องน้ำต่อกัน ต้องเช็ดแอลกอฮอล์
ถ้าเป็นไปได้ตอนเข้าห้องน้ำ ถ้าไม่ใช่เป็นการอาบน้ำ ก็อาจจะสวมหน้ากากอนามัยไว้ เวลาเข้าห้องน้ำเรียบร้อย คนที่มาใช้ต่ออาจจะมีแอลกอฮอล์ เอาไว้เช็ดทำความสะอาด บริเวณผิวสัมผัสที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น กลอนประตู ชักโครก สายชำระ และควรจะต้องล้างมือทุกครั้ง หลังจากที่ทำกิจธุระในห้องน้ำเสร็จ แต่ถ้ามีห้องน้ำแยกกันได้ก็จะดีที่สุด - แยกขยะ ใส่ถุง 2 ชั้น
ถ้ามีถุงพลาสติกที่จะเป็นถุงรวบรวมขยะ ที่เกิดจากการเช็ดมีน้ำมูก หรือเสมหะต่างๆ ต้องทิ้งใส่ถุงที่มิดชิด 2 ชั้น เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าไม่ขาด ไม่ปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็เวลาทิ้งก็ไม่ควรไปทิ้งรวมกับขยะทั่วๆ ไปที่สมาชิกในบ้านทิ้งกัน ก็ควรไปใส่รวมกับขยะอันตรายถ้าเป็นไปได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ รพ.ราชวิถี
อ้างอิงข้อมูลจาก : Workpointnews
Step 2
ตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19
ถ้าเพื่อนๆ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอาการ ในช่วงที่เรากักตัว เราควรจะไปตรวจนะครับ เพราะหากเราติดเชื้อขึ้นมา จะได้รักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากบางคนก็แสดงอาการ แต่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการเท่าไหร่ ดังนั้นมันยากที่จะแยกระหว่างเราติดเชื้อหรือยังนะ หรือยังไม่ติดกันแน่ โดยโรงพยาบาลที่รับตรวจ มีดังนี้ครับ
โรงพยาบาล | เบอร์โทรศัพท์ |
---|---|
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ | 02-649 4000 |
โรงพยาบาลราชวิถี | 02-354 8108 |
โรงพยาบาลเปาโล | 02-271 7000 |
โรงพยาบาลรามาธิบดี | 02-201 1000 |
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล | 02-109 9111 |
โรงพยาบาลพญาไท | 1772 |
โรงพยาบาลศิริราช | 02-419 1000 |
โรงพยาบาลวิชัยยุทธ | 02-265 7777 |
โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน | 02-625 9000 |
โรงพยาบาลพระราม 9 | 02-202 9999 |
สถาบันบำราศนราดูร | 02-951 1171 |
โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ | 02-066 8888 |
คณะสหเวชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ | 02-986 9213 ต่อ 7274 |
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล | 02-306 9199 |
ค่าใช้จ่ายแต่ละโรงพยาบาลจะแตกต่างกันไป แนะนำให้โทรไปถามรายละเอียดกับทางโรงพยาบาลดูก่อน เพราะแต่ละที่มีบุคลากรทางการแพทย์ ห้องรักษา และเตียงไม่เท่ากัน บางที่คนก็เริ่มเต็มแล้ว ถ้าเราไปโดยไม่ถามให้ดีก่อน จะเสียเที่ยว เสียเวลามากๆ ถ้าบ้านหรือคอนโดของเราอยู่ใกล้โรงพยาบาลไหน แนะนำให้ไปโรงพยาบาลนั้นครับ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แต่ถ้าใครไม่มีอาการ ไม่อยากไปตรวจก็เฝ้าระวังตัวเองอยู่ที่ห้องหรือที่บ้านได้นะครับ แต่ก็ยังต้องกักตัวอยู่ และทำตามวิธีในการกักตัวตาม Step 1 ก็ได้ฮะ
Step 3
เฝ้ารอผลอย่างมีความหวัง
เชื้อไวรัส COVID-19 จะตรวจด้วยกันทั้งหมด 2 Lab ถ้าเราตรวจ Lab แรกแล้วไม่ติดเชื้อคุณหมอก็จะทำการรักษาเราในแบบอื่นต่อไป แต่ถ้า Lab แรกเรามีผลว่าติดเชื้อ เขาจะให้เราตรวจ Lab 2 ต่อ เพื่อยืนยันว่าเราติดเชื้อไวรัสจริงๆ โดยผลการตรวจจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ ผลลบ หรือ Negative หรือ Undetectable = ไม่ติดเชื้อ แต่ถ้าเป็นผลบวก หรือ Positive หรือ Detectable = ติดเชื้อ ถ้าใครไม่ได้ติดเชื้อก็ทำการรักษาปกติตามอาการที่เป็น แต่ก็ยังคงกักตัวอยู่ เพราะว่าเราป่วย อาจทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ ไม่ควรจะออกไปในที่มีคนเยอะๆ ส่วนถ้าใครติดเชื้อก็จะได้รับการรักษา และดูและอย่างใกล้ชิดโดยโรงพยาบาลต่อไป
Step 4
ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ดูแลตัวเองอยู่เสมอ
จาก Step ทั้งหมดที่เรากล่าวมา ไม่ว่าเพื่อนๆ จะเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ติดก็ควรดูแลตัวเองเป็นประจำเลยนะครับช่วงนี้ สำคัญมากจริงๆ บางบริษัทได้ Work From Home ไม่ต้องออกไปไหน แต่บางที่ก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ดังนั้นเพื่อนๆ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด จะไปไหนมาไหนก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยไว้เสมอ รวมไปถึงการล้างมือ ควรใช้สบู่ร่วมด้วย อย่าล้างแค่น้ำเปล่า และต้องล้างอย่างจริงจัง อย่าล้างลวกๆ เพราะเชื้อไวรัสมีโอกาสที่จะติดอยู่ ไม่ไปไหน หรือจะใช้เจลแอลกอฮอลล์ล้างมือก็ดีครับ แต่ต้องมีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ 70% ขึ้นไป แล้วถ้าใครกักตัวอยู่บ้านเริ่มรู้สึกป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ แนะนำให้ไปหาหมอนะครับ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้างนะ
เรามีเว็บไซต์ดีๆ ที่อัปเดตยอดผู้ติดเชื้อล่าสุด รวมไปถึงสถานที่ต่างๆ ของผู้ติดเชื้อเดินทางไปไหน วันที่เท่าไหร่ มาให้เพื่อนๆ ได้ดูข้อมูล และหลีกเลี่ยงย่านที่มีความเสี่ยงครับ
Thailand Covid-19 [MThai]
เป็น Link ที่สร้างขึ้นโดย MThai ซึ่ง MThai เองก็มีการอัปเดตข่าวสารตลอดเวลา โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ภายในเว็บจะมีแผนที่ประเทศไทย ยอดผู้ป่วยจำนวนเท่าไหร่ กำลังรักษาอยู่กี่ราย รักษาหายแล้วกี่ราย เสียชีวิตกี่ราย มีทุกจังหวัดกดดูได้เลย แถมยังบอกด้วยว่าผู้ที่ติดเชื้อมาจากกลุ่มไหน อาทิ กลุ่มสนามมวย กลุ่มที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ และกลุ่มสถานบันเทิง เป็นต้น ค่อนข้างครบถ้วนทีเดียวครับ เพื่อนๆ สามารถคลิ๊ก Link ในไอคอนสี่เหลี่ยมด้านล่างเพื่อไปยังเว็บไซต์ได้เลยฮะ
กรมควบคุมโรค
สำหรับกรมควบคุมโรคบอกค่อนข้างละเอียด มีทุกอย่างที่เว็บของ MThai มีครับ การอัปเดตบอกด้วยว่าวันไหน กี่โมง ในวันนั้นๆ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มกี่ราย แล้วรักษาหายจนกลับบ้านได้กี่ราย แถมยังมีสถิติอายุของผู้ติดเชื้อ ข้อมูลที่ยืนยันวันที่ติดเชื้อ สาเหตุที่ติดและสถานที่ที่ไปด้วยครับ
Workpointnews
สำหรับ Workpointnews จะมีการอัปเดตยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทย บอกค่อนข้างละเอียดถึงข้อมูลของผู้ติดเชื้อ มีทั้งวันที่ตรวจพบ เพศ อายุ อาชีพ สัญชาติ สาเหตุ รักษาที่โรงพยาบาลไหน และสถานะตอนนี้เป็นอย่างไร รักษาอยู่หรือหายดีแล้ว นอกจากจะมีข้อมูลของประเทศไทยแล้ว ยังอัปเดตข้อมูลจากทั่วโลกด้วย มีแผนที่โลกที่เข้าใจง่าย ส่วนตัวแล้วคิดว่าเว็บไซต์ของทาง Workpointnews ทำออกมาได้สวยที่สุด อ่านง่ายที่สุด ข้อมูลแน่นที่สุดครับ
สรุปแล้ว 4 Step มีอะไรบ้าง?
Step 1 | กักตัวเองก่อน |
Step 2 | ตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 |
Step 3 | เฝ้ารอผลอย่างมีความหวัง |
Step 4 | ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ดูแลตัวเองอยู่เสมอ |
และนี่ก็เป็น 4 Step ในการรับมือเมื่อคนใกล้ตัวของเราติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ญาติสนิทมิตรสหาย คนในคอนโดเดียวกัน หรือบ้านใกล้เรือนเคียง สามารถนำวิธีรับมือทั้ง 4 ของเราไปปรับใช้ได้นะครับ ที่สำคัญคือ “ต้องมีสติ” นะ จะทำอะไรคิดให้รอบคอบ คิดถึงตัวเองและคนรอบข้างนะครับ สำหรับสถานการณ์แบบนี้คงได้แต่บอกให้เพื่อนๆ “ดูแลตัวเองให้ดี” เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน!!! ^^