fbpx
รถไฟฟ้า-คมนาคม

รู้จักกับ “เรือด่วนเจ้าพระยา” เคล็ดลับการเดินทางหนีรถติดบนท้องถนนใน กทม. (มีแผนที่+ตารางเรือให้โหลดด้วยนะ)

IN BRIEF

  • หลากหลายสายของเรือด่วนเจ้าพระยา จอดเทียบท่าระหว่างทางแตกต่างกัน ต้องสังเกตสีของธงหน้าเรือให้ดีๆ ก่อนที่จะขึ้น
  • 2565 นี้ เรือด่วนเจ้าพระยาไม่ได้เป็นผู้ดูเรือประจำทางเพียงเจ้าเดียวแล้ว แต่ยังมี MINE Smart Ferry ของ EA เพิ่มมาอีกหนึ่งเจ้าด้วย
  • ในการเดินทาง เรืออาจจะจอดอีกฝั่งแม่น้ำที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับสถานที่ที่เราต้องการไป ซึ่งเราต้องลงเรือข้ามฟาก เพื่อข้ามไปอีกฝั่งอีกทีนึง
  • รถไฟฟ้า BTS สถานีสะพานตากสิน ไม่ได้เป็นเพียงสถานีเดียวที่เชื่อมกับเรือด่วนเจ้าพระยาแล้ว แต่ยังมีอีก 4 สถานี ทั้งสายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีทอง

ดาวน์โหลดตารางและแผนที่เส้นทางเดินเรือในรูปแบบ PDF 



ในขณะที่รถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ การทนทุกข์ทรมานอยู่บนรถเมล์หรือรถตู้นานๆ เวลาผ่านไปชั่วโมงครึ่ง แต่รถเพิ่งกระเถิบไปแค่ครึ่งกิโล แทนที่จะเริ่มต้นการทำงานด้วยอารมณ์ที่ดี กลับกลายเป็นอารมณ์เสียตั้งแต่หัววัน วันนี้ LivingPop ขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเรือด่วนเจ้าพระยา หนึ่งในหลายๆ รูปแบบการเดินทางของกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเรือสำหรับการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นรูปแบบการเดินทางชิ้นดี ที่สามารถพาผู้คนจากปากเกร็ดมาสู่ใจกลางเมืองได้ภายในชั่วโมงเศษเท่านั้น

เพื่อเป็นการช่วยให้คุณได้เริ่มต้นกับการลงเรือในครั้งแรกได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น เราได้รวบรวมทั้งวิธีการลงเรือ เส้นทางหลากหลายสี สถานที่ต่างๆ ริมสองฝั่งแม่น้ำ และที่สำคัญ BTS สถานีสะพานตากสิน ไม่ใช่สถานีเดียวที่เชื่อมต่อกับเรือด่วนเจ้าพระยาอีกต่อไปแล้ว เลื่อนลงไปสำรวจกันได้เลยครับ..


เส้นทางครอบคลุม ไม่ว่าจะเที่ยว หรือไปทำงาน

ดาวน์โหลดตารางและแผนที่เรือด่วนในรูปแบบ PDF


ด้วยความที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลัก (และสายเดียว) ของกรุงเทพฯ ทำให้เรือด่วนเจ้าพระยาที่แล่นอยู่บนแม่น้ำสายนี้ผ่านสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ มากมาย ไล่มาตั้งแต่ย่านชุมชนต่างๆ ริมแม่น้ำในนนทบุรี ทั้งปากเกร็ด สนามบินน้ำ ท่าน้ำนนท์ ติวานนท์ มาจนถึงบางกรวย จากนั้นก็เข้าสู่เขตกรุงเทพฯ ที่มีย่านชุมชนและสถานที่สำคัญๆ อยู่รวมๆ กันไป เริ่มจากบางโพ เกียกกาย ถนนสามเสน ของฝั่งพระนคร และบางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ของฝั่งธนบุรี

เมื่อเรือลอดใต้สะพานพระราม 8 มาเล็กน้อย บนฝั่งพระนครก็จะเป็นพื้นที่ของเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ซึ่งเป็นทั้งย่านประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ และสถานศึกษามากมาย ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามของเกาะรัตนโกสินทร์บนฝั่งธนบุรี ก็เป็นย่านประวัติศาสตร์ของสมัยธนบุรีเช่นเดียวกัน จนเรือลอดใต้สะพานพุทธ ก็เข้าสู่อีกย่านการค้าที่สำคัญในยุคสมัยก่อน ที่ยุคนี้กลายมาเป็นแหล่งรวมสินค้าขายส่ง ผ้า ของสะสม และของอร่อยๆ มากมาย ทั้งพาหุรัด คลองถม โบ๊เบ๊ สะพานเหล็ก เยาวราช ของฝั่งพระนคร และท่าดินแดง ของฝั่งธนบุรี

ที่มาภาพปก Thampapon / Shutterstock.com

ถัดมาอีกหน่อย ก็จะเข้าสู่ย่านบางรักและคลองสาน ย่านที่เต็มไปด้วยโรงแรมสูงๆ ริมสองฝั่งแม่น้ำมากมาย รวมไปถึงแหล่งช้อปปิ้งชื่อดังอย่างไอคอนสยาม อีกทั้งยังมีห้างริเวอร์ซิตี้ ท่าสำหรับลงเรือดินเนอร์ชมวิวสองฝั่งแม่น้ำยามค่ำคืนอีกด้วย

แต่เดิม การเดินเรือของเรือด่วนเจ้าพระยาจะสิ้นสุดที่บิ๊กซี ราษฎร์บูรณะ ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังย่านที่อยู่อาศัยของฝั่งธนตอนใต้ได้ ทั้งราษฎร์บูรณะ สุขสวัสดิ์ ประชาอุทิศ และพระประแดง แต่เมื่อความต้องการในการใช้งานต่ำลง จึงทำให้เส้นทางของเรือด่วนเจ้าพระยา มาสิ้นสุดที่วัดราชสิงขรซึ่งอยู่ใกล้กับเอเชียทีค อีกย่านช้อปปิ้งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

ท่าสาทร ศูนย์กลางการเดินทางด้วยเรือ บนแม่น้ำเจ้าพระยา
(ขอขอบคุณรูปภาพจาก ไอคอนสยาม)

เส้นทางหลากสี ดูธงให้ดีๆ

สำหรับการเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา นอกจากจะต้องสังเกตว่าทิศทางเรือไปทางไหน ระหว่างไปนนทบุรี หรือไปเอเชียทีค ยังจะต้องสังเกตด้วยว่า เรือที่กำลังแล่นมานั้น ธงสีอะไร เพราะแต่ละสายนั้น ท่าที่จอดแวะก็แตกต่างกันออกไป ความถี่ในการให้บริการก็แตกต่างกัน โดยเรือด่วนเจ้าพระยาก็มีเส้นทางให้บริการทั้งหมด 5 สายด้วยกัน ได้แก่


เรือด่วน ธงสีเขียว

สายนี้เป็นสายเดียวที่แล่นถึงปากเกร็ด แล้วมาสิ้นสุดที่สาทร มีทั้งขาไปและขากลับ ให้บริการเฉพาะวันธรรมดา

ขาไป ปากเกร็ด → สาทร เที่ยวแรก 6:10 น. – เที่ยวสุดท้าย 7:45 น. ออกทุกๆ 20 – 25 นาที
ขากลับ สาทร → ปากเกร็ด เที่ยวแรก 16:00 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:45 น. ออกทุกๆ 20 – 25 นาที

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์เรือด่วนเจ้าพระยา)

ค่าบริการ 13, 20 และ 32 บาท


เรือด่วน ธงสีเหลือง

สายนี้จอดน้อยท่ามาก แล่นตั้งแต่นนทบุรี (พิบูลย์สงคราม 3) ไปจนถึงสาทร มีทั้งขาไปและขากลับ ให้บริการเฉพาะวันธรรมดา

ขาไป นนทบุรี → สาทร เที่ยวแรก 6:00 น. – เที่ยวสุดท้าย 8:05 น. ออกทุกๆ 15 – 20 นาที
ขากลับ สาทร → นนทบุรี เที่ยวแรก 17:05 น. – เที่ยวสุดท้าย 19:05 น. ออกทุกๆ 10 – 30 นาที

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์เรือด่วนเจ้าพระยา)

ค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย

ที่มาภาพ Shutterstock.com

เรือด่วน ธงสีส้ม

เป็นเรือด่วนสายเดียวที่ให้บริการทั้งในวันธรรมดาและวันหยุด (วันอาทิตย์หยุดให้บริการชั่วคราว) แล่นตั้งแต่นนทบุรี (พิบูลย์สงคราม 3) ไปจนถึงวัดราชสิงขร มีทั้งขาไปและขากลับ

สำหรับวันธรรมดา
ขาไป นนทบุรี → สาทร → วัดราชสิงขร เที่ยวแรก 6:00 น. – เที่ยวสุดท้าย 18:10 น. ออกทุกๆ 15 – 50 นาที
(เฉพาะเที่ยวในช่วง 6:30 – 7:25 น. (3 เที่ยว) และ 16:00 – 17:00 น. (3 เที่ยว) จะจอดเพิ่มในอีก 3 ท่า*)
ขากลับ วัดราชสิงขร → สาทร → นนทบุรี เที่ยวแรก 6:20 น. – เที่ยวสุดท้าย 18:10 น. ออกทุกๆ 20 – 50 นาที
(เฉพาะเที่ยวในช่วง 7:05 – 7:30 น. (2 เที่ยว) และ 16:00 – 16:45 น. (3 เที่ยว) จะจอดเพิ่มในอีก 3 ท่า*)

สำหรับวันหยุด วันเสาร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (วันอาทิตย์หยุดให้บริการชั่วคราว)
ขาไป นนทบุรี → สาทร → วัดราชสิงขร เที่ยวแรก 8:00 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:00 น. ออกทุกๆ 30 – 40 นาที
ขากลับ วัดราชสิงขร → สาทร → นนทบุรี เที่ยวแรก 8:30 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:30 น. ออกทุกๆ 30 – 40 นาที
(ไม่มีการจอดเพิ่มในอีก 3 ท่า*)

*3 ท่า ได้แก่ เขียวไข่กา กรมชลประทาน และวัดเศวตฉัตร (ดูภาพประกอบเพิ่มเติมในแผนที่ด้านล่าง)

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์เรือด่วนเจ้าพระยา)

ค่าบริการ 15 บาทตลอดสาย


เรือด่วน ธงสีแดง

เป็นเรือด่วนสายใหม่ล่าสุด เรือก็ลำใหม่ล่าสุด ติดแอร์ นั่งสบายๆ ชิลล์ๆ แล่นตั้งแต่นนทบุรี (พิบูลย์สงคราม 3) ไปจนถึงสาทร แต่จำนวนเที่ยวที่ให้บริการ จะให้บริการเที่ยว 4 เที่ยวต่อวันเท่านั้น (รวมทั้งขาไปขากลับ) ให้บริการเฉพาะวันธรรมดา

ขาไป นนทบุรี → สาทร เที่ยวแรก 6:50 น. และเที่ยวสุดท้าย 7:10 น.
ขากลับ สาทร → นนทบุรี เที่ยวแรก 17:00 น. และเที่ยวสุดท้าย 17:30 น.

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์เรือด่วนเจ้าพระยา)

ค่าบริการ 30 บาทตลอดสาย (จากราคาปกติ 50 บาท)

เรือด่วน ธงแดง ใหม่ล่าสุด
(ขอขอบคุณรูปภาพจาก เรือด่วนเจ้าพระยา)

เรือท่องเที่ยว ธงสีฟ้า

เป็นสายเพื่อการท่องเที่ยว วิ่งระยะสั้น จากท่าพระอาทิตย์ไปสาทร และจะขยายเส้นทางไปจนถึงเอเชียทีคเฉพาะช่วงเย็น ให้บริการทุกวัน

ขาไป พระอาทิตย์ → สาทร (→ เอเชียทีค) เที่ยวแรก 8:30 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:00 น. ออกทุกๆ 30 นาที (ตั้งแต่เที่ยว 15:30 เป็นต้นไป จะขยายเส้นทางไปจนถึงเอเชียทีค)
ขากลับ สาทร → พระอาทิตย์ ให้บริการตั้งแต่เวลา 9:00 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:30 น. ออกทุกๆ 30 นาที

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา)

ค่าบริการ 30 บาทตลอดสาย จากราคาปกติ 60 บาท
บัตรเดินทางได้ไม่อั้นในหนึ่งวัน 150 บาท จากราคาปกติ 200 บาท

จุดให้บริการสำหรับเรือท่องเที่ยว
(ขอขอบคุณรูปภาพจาก เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท)

MINE Smart Ferry ผู้เดินเรือน้องใหม่ จากผู้ผลิตไฟฟ้าระดับประเทศ

หลายๆ คนน่าจะคุ้นชินกันว่าเรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีแต่เรือด่วนเจ้าพระยา แต่ ณ ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะล่าสุด ได้มีผู้ให้บริการรายใหม่ที่มาเพิ่มเส้นทางให้กับแม่น้ำสายนี้ นั่นก็คือ MINE Smart Ferry นั่นเอง แล้วจู่ๆ เจ้านี้มีที่มาที่ไปยังไง? ผู้เดินเรือน้องใหม่เจ้านี้ เป็นของ “พลังงานบริสุทธิ์” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า EA นี่เอง

EA เป็นผู้ผลิตพลังงานทางเลือก ทั้งไบโอดีเซล และไฟฟ้าพลังงานสะอาด อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม และที่ในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมา หลายๆ คนน่าจะได้ยินชื่อของ EA กันบ่อยมากขึ้น เพราะว่า EA มาลุยตลาด EV อย่างเต็มตัว ตั้งแต่ผลิตแบตเตอรี่, ผลิตรถยนต์ EV ที่มียอดจองถล่มทลายใรงานมอเตอร์โชว์ เมื่อปี 2019, รถบัส EV, สถานีชาร์จรถ EV ที่มีอยู่ทั่วเมือง และที่ขาดไม่ได้ ก็คือเรือ EV ที่ผลิตเองและมาให้บริการอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไม่ได้มาให้บริการแบบเล่นๆ เพื่อโชว์นวัตกรรม แต่มาให้บริการแบบจริงจัง 3 สายด้วยกัน ทั้ง City Line, Metro Line และ Urban Line ติดแอร์ นั่งชิลๆ เย็นสบาย

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Facebook MINE Smart Ferry

City Line

เป็นสายที่แล่นสั้นที่สุดในบรรดาสามสาย แล่นจากท่าพระปิ่นเกล้า มาสุดที่ท่าสาทร มีทั้งขาไปและขากลับ ให้บริการทุกวัน

ขาไป พระปิ่นเกล้า → สาทร เที่ยวแรก 8:30 น. – เที่ยวสุดท้าย 18:00 น. ออกทุกๆ 30 นาที
ขากลับ สาทร → พระปิ่นเกล้า เที่ยวแรก 8:00 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:30 น. ออกทุกๆ 30 นาที

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์ MINE Smart Ferry)

ค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย


Metro Line

เป็นสายที่แล่นยาวขึ้นมาอีกหนึ่งสเต็ป แล่นจากท่าพระราม 7 มาสุดที่ท่าสาทร มีทั้งขาไปและขากลับ ให้บริการทุกวัน

สำหรับวันธรรมดา
ขาไป พระราม 7 → สาทร ช่วงเช้า 4 เที่ยว 6:45 น., 7:15 น., 8:55 น., 9:55 น. / และช่วงเย็น 2 เที่ยว 16:00 น. และ 17:00 น.
ขากลับ สาทร → พระราม 7 ช่วงเช้า 2 เที่ยว 7:30 น. และ 8:00 น. / ช่วงบ่าย 2 เที่ยว 13:00 น. และ 13:30 น. / และช่วงเย็น 2 เที่ยว 16:45 น. และ 17:45 น.

สำหรับวันหยุด วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ขาไป พระราม 7 → สาทร ช่วงเช้า 3 เที่ยว 7:00 น., 7:30 น. และ 8:30 น. / และช่วงบ่าย 6 เที่ยว 11:45 น., 12:55 น., 13:15 น., 13:55 น., 14:25 น. และ 15:25 น.
ขากลับ สาทร → พระราม 7 ช่วงบ่าย 6 เที่ยว 11:00 น., 12:10 น., 12:30 น., 13:10 น., 13:40 น. และ 14:40 น / และช่วงเย็น 3 เที่ยว 16:15 น., 17:15 น. และ 18:15 น.

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์ MINE Smart Ferry)

ค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย


Urban Line

เป็นสายที่แล่นยาวที่สุดของ MINE Smart Ferry แล่นจากท่าสะพานพระนั่งเกล้า ท่าใหม่ที่มาเชื่อมกับ MRT สายสีม่วง มาสุดที่ท่าสาทร มีทั้งขาไปและขากลับ ให้บริการทุกวัน

สำหรับวันธรรมดา
ขาไป สะพานพระนั่งเกล้า → สาทร เที่ยวแรก 6:15 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:30 น. ออกทุกๆ 15 นาที – 1 ชั่วโมง
ขากลับ สาทร → สะพานพระนั่งเกล้า
เที่ยวแรก 7:30 น. – เที่ยวสุดท้าย 18:45 น. ออกทุกๆ 15 นาที – 1 ชั่วโมง

สำหรับวันเสาร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ขาไป สะพานพระนั่งเกล้า → สาทร เที่ยวแรก 6:50 น. – เที่ยวสุดท้าย 17:10 น. ออกทุกๆ 35 – 50 นาที
ขากลับ สาทร → สะพานพระนั่งเกล้า
เที่ยวแรก 8:05 น. – เที่ยวสุดท้าย 18:25 น. ออกทุกๆ 35 – 50 นาที

สำหรับวันอาทิตย์
ขาไป สะพานพระนั่งเกล้า → สาทร ช่วงเช้า 4 เที่ยว 7:50 น., 8:50 น., 9:50 น. และ 10:50 น. / และช่วงบ่าย 4 เที่ยว 13:50 น., 14:50 น., 15:50 น. และ 16:50 น.
ขากลับ สาทร → สะพานพระนั่งเกล้า
ช่วงเช้า 4 เที่ยว 9:05 น., 10:05 น., 11:05 น. และ 12:05 น. / และช่วงบ่าย 4 เที่ยว 15:05 น., 16:05 น., 17:05 น. และ 18:05 น.

(โปรดตรวจสอบเวลาการให้บริการอีกครั้ง ที่เว็บไซต์ MINE Smart Ferry)

ค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย


บ้างก็จ่ายบนท่า บ้างก็จ่ายบนเรือ

เรือด่วนเจ้าพระยา – สำหรับท่าเรือหลักๆ เช่น ท่าสาทร ท่าพรานนก (วังหลัง) ท่าสี่พระยา ฯลฯ สามารถชำระค่าโดยสารบนท่าเรือได้เลย แล้วนำตั๋วไปแสดงกับพนักงานเก็บค่าโดยสารบนเรือ (ในกรณีที่ขอตรวจ) สำหรับท่าเรือที่ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารบนท่าเรือ สามารถลงเรือแล้วไปจ่ายค่าโดยสารกับพนักงานเก็บค่าโดยสารบนเรือได้เลย และตอนนี้สามารถจ่ายเงินผ่านบัตร Rabbit ได้อีกด้วย (ถ้าเป็นบัตร Rabbit ที่แปลงร่างมาเป็น Rabbit LINE Pay แล้ว ต้องเติมเงินเข้าบัตร Rabbit ที่เป็นกระเป๋า Rabbit ธรรมดาก่อน ดูวิธีที่ Facebook ของ Rabbit)

เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา – ท่าที่เรือท่องเที่ยวจอด (ยกเว้นเอเชียทีค เพราะไม่รับคนลงเรือที่นี่) จะมีจุดให้บริการในการขายตั๋ว ทั้งแบบเที่ยวเดียว และแบบเดินทางได้ไม่อั้น หรือสามารถซื้อทางออนไลน์มาได้ก่อน ที่นี่

MINE Smart Ferry – ไม่รับชำระเงินสด ชำระด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรพรีเพด ที่มีสัญลักษณ์ Contactless (คลื่นสี่เส้น) เท่านั้น โดยแตะชำระที่เครื่องรับชำระบนเรือโดยสารได้เลย หรือถ้าลืมพกบัตรไป ก็สามารถซื้อบัตร HOP (เป็นบัตรพรีเพด เติมเงินเข้าไปผ่านแอปธนาคาร) ได้กับพนักงานบนเรือ แล้วใช้บัตร HOP ในการชำระค่าโดยสาร ก็ได้เช่นเดียวกัน


*รวบรวมข้อมูลจาก เรือด่วนเจ้าพระยา เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา MINE Smart Ferry กรมเจ้าท่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไอคอนสยาม เอเชียทีค Google Maps Pantip.com (1,2) และ Change.org

ดาวน์โหลดตารางและแผนที่ในรูปแบบ PDF


ท่าเรือที่แต่ละสายจอดและตารางเวลา อาจมีการเปลี่ยนแปลง
ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สภาพอากาศ มรสุม ระดับน้ำ ความปลอดภัย และการปิดปรับปรุงของท่าเรือ
โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนเดินทางกับผู้ให้บริการเดินเรือ

เรือด่วนเจ้าพยะยา | เว็บไซต์FacebookLINE @CPXCARE
เรือท่องเที่ยวเจ้าพยะยา | เว็บไซต์Facebook
MINE Smart Ferry | เว็บไซต์FacebookLINE @MINESmartFerry

และสามารถดูตำแหน่งของเรือได้อย่าง Real time ที่แอป ViaBus | Google PlayApp Store


สาทร – ราษฎร์บูรณะ ยังมีให้บริการ

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น ว่าเรือด่วนเจ้าพระยานั้นไม่ได้ให้บริการถึงท่าราษฎร์บูรณะแล้ว แต่จะมีเรือของทางบริษัท ทรัพย์ธนนคร จำกัด ที่เดินเรือในเส้นทาง สาทร – ราษฎร์บูรณะ เฉพาะวันธรรมดา ในเวลา 6:45 – 8:15 น. สำหรับขาไปสาทร และในเวลา 17:00 – 19:00 น. สำหรับขากลับราษฎร์บูรณะ ราคา 30 บาท

กทม. ขอเดินเรือกับเขาบ้าง

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ลงมาเดินเรือเองด้วย ผ่านบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รัฐวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหนึ่งสายที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา

สายคลองผดุงกรุงเกษม

เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นเรือไฟฟ้า เริ่มจากสถานีรถไฟหัวลำโพง มาสิ้นสุดที่ตลาดเทวราชเชื่อมต่อกับท่าเทเวศร์ของเรือด่วนเจ้าพระยา

ให้บริการในวันธรรมดา 6:00 – 9:30 น. ออกทุกๆ 15 นาที 9:30 – 16:00 น. ออกทุกๆ 30 นาที และ 16:00 – 19:00 น. ออกทุกๆ 15 นาที
ส่วนในวันหยุด 8:00 – 9:30 น. ออกทุกๆ 15 นาที 9:30 – 16:00 น. ออกทุกๆ 30 นาที และ 16:00 – 19:00 น. ออกทุกๆ 15 นาที

ให้บริการฟรี (จากการสอบถามกับกรุงเทพธนาคม ณ กุมภาพันธ์ 2565 ได้รับคำตอบมาว่าจะให้บริการฟรีถึงกันยายน 2565)
ตรวจสอบการให้บริการได้ที่ Facebook โครงการขนส่งมวลชนทางน้ำกรุงเทพมหานคร

ขอขอบคุณรูปภาพจาก สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี

เรือต่อรถ เรือต่อราง เรือต่อเรือ

ในแง่ของ “เรือต่อราง” หลายๆ คนก็น่าจะนึกถึงสถานีสะพานตากสินของ BTS สายสีเขียวเข้ม (สายสีลม) เพียงสถานีเดียว แต่เร็วๆ นี้ เรือด่วนเจ้าพระยาจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอีกหลากหลายสถานีด้วยกัน

ท่าสาทร

เชื่อม BTS สายสีลม สถานีสะพานตากสิน แต่ในเร็วๆ นี้ สถานีสะพานตากสินจะปิดปรับปรุง เพื่อขยายสถานีให้มีทางรถไฟสองทาง ก็ต้องมาดูกันว่า มาตรการรองรับของ BTS และผู้ให้บริการจะทำอย่างไรบ้าง

ท่าไอคอนสยาม

เชื่อม รถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีเจริญนคร โดยเดินเชื่อมระหว่างท่าเรือไปสถานีรถไฟฟ้าผ่านอาคารของไอคอนสยามได้เลย

ท่าราชินี (ปิดปรับปรุง)

เชื่อม MRT สายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย สถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ด้านใต้มิวเซียมสยาม ขณะนี้ท่าเรือปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากกำลังปิดปรับปรุง

ท่าบางโพ

เชื่อม MRT สายสีน้ำเงิน สถานีบางโพ ในช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ได้ปิดท่าเรือนี้ไปชั่วคราว แต่ตอนนี้ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ท่าพระนั่งเกล้า

เชื่อม MRT สายสีม่วง สถานีสะพานพระนั่งเกล้า แต่เดิมเรือธงสีเขียวของเรือด่วนเจ้าพระยาแล่นผ่านจุดนี้อยู่แล้ว แต่ ณ บริเวณนี้ยังไม่เคยมีท่าเรือมาก่อน รฟม. ผู้เป็นเจ้าของโครงการรถไฟฟ้า ก็เลยได้สร้างท่าเรือนี้ขึ้นมาเพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้า

ท่าเรือพระนั่งเกล้า ก่อสร้างโดย รฟม.
(ขอขอบคุณภาพจาก MGR Online)

ในแง่ของ “เรือต่อรถ” ก็มีรถเมล์ รถสองแถว รถกระป๊อ เชื่อมต่อในทุกๆ ท่า เนื่องจากหลายๆ ท่า ก็อยู่ใกล้กับถนนใหญ่ ทั้งถนนเจริญกรุง ถนนสามเสน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อไปยังแหล่งชุมชนและแหล่งสำคัญๆ ทั่วกรุงเทพฯ


และสำหรับ “เรือต่อเรือ” นั้น เนื่องจากตลอดเส้นทางของเรือด่วนเจ้าพระยา บ้างก็จอดท่าฝั่งธน บ้างก็จอดท่าฝั่งพระนคร หากต้องการเดินทางไปยังท่าฝั่งตรงข้าม ก็จะต้องต่อเรือข้ามฟากอีกทีหนึ่ง อย่างในกรณีที่อยากจะไป ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เรือด่วนเจ้าพระยาไม่มีการแวะจอดฝั่งท่าพระจันทร์ ผู้โดยสารจึงต้องลงที่วังหลังแทน แล้วต่อเรือข้ามฟากไปยังฝั่งท่าพระจันทร์

ขอขอบคุณรูปภาพจาก เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา

อย่าลืมว่า! ก่อนที่จะเดินทางไปกับเรือ ไม่ว่าจะเป็นผู้เดินเรือเจ้าไหน ก็อยากจะให้ทุกๆ คนได้ติดตามช่องทางข่าวสารของผู้เดินเรือเจ้าต่างๆ ก่อน เพราะสถานการณ์ในการเดินเรือไม่แน่ไม่นอน ทั้งท่าเรือชำรุด ปิดปรับปรุงท่าเรือ มรสุมเข้ากรุงเทพฯ หรือปิดการจราจรทางน้ำเนื่องจากพระราชพิธีต่างๆ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนในการเดินเรือ ก็อยากจะให้ติดตามกันนะครับ สำหรับวันนี้ ต้องขอจบบทความเพียงเท่านี้ แล้วเจอกันในบทความต่อไป สวัสดีครับ 😀


ดาวน์โหลดตารางและแผนที่เรือด่วนเจ้าพระยาในรูปแบบ PDF ได้ที่นี่


รู้หรือไม่? บริษัทที่เดินเรือด่วนเจ้าพระยา ตอนนี้มีอายุครบ 100 ปีแล้วนะ
และตอนนี้ BTS ก็มาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย!

ย้อนกลับไปในปี 2463 ตอนนั้น คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ ร่วมกับหุ้นส่วนชื่อนางเผือก ได้ก่อตั้งธุรกิจเดินเรือแจวข้ามฟาก ข้ามฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างท่าพรานนกกับท่าวัดมหาธาตุ จากนั้นในปี 2506 ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท สุภัทรา จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเดินเรือ ทั้งเรือด่วน เรือประจำทาง เรือข้ามฟาก และธุรกิจต่างๆ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมๆ ทั้งท่ามหาราชและท่าวังหลัง และโรงแรมอีกสองแห่ง ทั้ง Riva Surya และ Riva Arun

สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยา ให้บริการโดยบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ซึ่งตอนนี้ BTS ก็ได้ถือหุ้นอยู่ด้วย ในสัดส่วน 27.5% อีกทั้งยังมีบริษัท แอดซ์ เจ้าพระยา จำกัด ที่ให้บริการพื้นที่โฆษณาบนเรือและท่าเรือ (มีทั้งเรือ/ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา และเรือ/ท่าเรือคลองแสนแสบด้วยนะ) โดย VGI บริษัทให้บริการพื้นที่โฆษณาในเครือของ BTS ก็ถือหุ้นในบริษัทนี้อยู่ 25.01% อีกด้วย

ข้อมูลจาก National Geographic ฉบับภาษาไทย และ BTS Group

Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2