รถไฟฟ้า-คมนาคม

ปิดสะพานข้ามแยกบางกะปิ 2 ปี สร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองพร้อมสร้างสะพานใหม่

Good Bye สะพานข้ามแยกบางกะปิ จนกว่าเราจะพบกันใหม่ … ในอีก 2 ปีข้างหน้า!

รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงแยกบางกะปิได้ฤกษ์สร้างต่อเสียทีครับ หลังจากที่ถกเถียงกันมานานระหว่าง รฟม. (หน่วยงานสร้างรถไฟฟ้า) กับ กทม. (เจ้าของพื้นที่) ว่าจะเอายังไงกับสะพานข้ามแยกบางกะปิดี ฝั่ง รฟม. อยากจะแค่ปรับปรุงสะพานให้มีช่องตรงกลางให้สอดเสารถไฟฟ้าแทรกลงไปได้ แต่ฝั่ง กทม. อยากให้ทุบสร้างให้ใหม่เลย (แต่ไม่อยากออกตังค์นะ) เถียงกันไปเถียงกันมาเป็นปีๆ แล้วครับ ในที่สุดก็ลงตัวซะทีว่า …. เอาทั้งคู่นั่นแหละ แบ่งครึ่งสะพานซะเลย ครึ่งนึงให้ผู้รับเหมารถไฟฟ้ารื้อสร้างใหม่ อีกครึ่งให้ กทม.ปรับปรุงเองละกัน

พอตกลงกันได้ปุ๊บก็ปิดสะพานปั๊บ เดินหน้าก่อสร้างกันต่อทันทีเลยครับ เพื่อไม่ให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง delay จากกำหนดการที่จะต้องเปิดบริการเดือนตุลาคม 2564 นี้ฮะ วันนี้เราก็เลยเอาภาพมาให้ดูกัน ว่าบทสรุปของสะพานข้ามแยกบางกะปิจะเป็นอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันเลยครับ ^^



สะพานข้ามแยกบางกะปิในปัจจุบัน

ภาพตัวอย่างสะพานข้ามแยกบางกะปิในปัจจุบัน จะเห็นว่าตรงกลางของสะพานไม่มีช่องว่างให้ลงเสารถไฟฟ้าเลยครับ ซึ่งแผนตอนแรกคือจะมีการขยับสะพานให้ออกมาด้านข้างเพิ่มเล็กน้อยเพื่อเปิดช่องกลางให้ตั้งเสารถไฟฟ้าได้ แต่ กทม. ไม่ยอมเพราะกลัวว่าจะกระทบกับความปลอดภัยของโครงสร้างสะพาน ก็เลยจะเป็นการรื้อออกทั้งหมดแล้ววางเสาใหม่แทน “เฉพาะช่วงที่ทับซ้อน” ครับ ซึ่งแนวรถไฟฟ้าจะวิ่งผ่านหน้าเดอะมอลล์บางกะปิ แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยกบางกะปิ ไปทางศรีนครินทร์ฮะ


หลังจากปิดปรับปรุง

หลังจากปรับปรุงแล้ว ตรงนี้จะเป็นสะพานสองชั้น มีรถไฟฟ้าอยู่ชั้นบน รถยนต์อยู่ชั้นล่าง ซ้อนไปจนถึงสามแยกบางกะปิ หลังจากนั้นรถไฟฟ้าจะเลี้ยวออกไป และสะพานรถยนต์จะเป็นแบบเดิมครับ


การแบ่งส่วนความรับผิดชอบในการปรับปรุงสะพาน

ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร

อย่างที่เกริ่นไปว่า รฟม. ตกลงกับ กทม. ได้แล้ว โดยสรุปว่าจะมีทั้งการ “รื้อสะพานสร้างใหม่โดยใช้โครงสร้างร่วมกับรถไฟฟ้า” และ “ปรับปรุงโครงสร้างสะพานเดิม” โดยแนวสะพานจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ครับ

🚗 ตั้งแต่เชิงสะพานฝั่งตะวันนา ผ่านเดอะมอลล์ ไปจนถึงสามแยกบางกะปิ

ส่วนนี้จะเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทาง รฟม. จะให้ผู้รับเหมารื้อสะพานออก เพื่อสร้างเสาตอม่อใหม่ที่จะรับทั้งโครงสร้างรถไฟฟ้าและสะพานรถยนต์ครับ

🚗 ตั้งแต่สามแยกบางกะปิ ถึงเชิงสะพานฝั่งนิด้า

ตั้งแต่สามแยกบางกะปิ ถึงเชิงสะพานฝั่งนิด้า — ส่วนนี้จะไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้า ดังนั้น กทม. จะเป็นผู้รับผิดชอบปรับปรุงโครงสร้างของสะพาน (น่ารื้อสร้างใหม่คล้ายๆ กับที่ปรับปรุงสะพานข้ามแยกเพชรบุรี)

โดยมีกำหนดปิดสะพาน 2 ปี หลังจากนั้นก็จะกลับมาวิ่งได้เหมือนเดิม มีเลนถนนฝั่งละ 2 เลนเท่าเดิมครับ


ปิดสะพานแล้วจะทำอะไรต่อ?

มาดูกันว่าหลังจากปิดสะพานแล้วจะทำอะไรบ้าง? อันนี้เฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับรถไฟฟ้านะครับ (ส่วนสีแดงในแผนที่ภาพก่อนหน้านี้)

STEP แรก : การ “รื้อ” สะพานเดิมออก

เนื่องจากสะพานนี้เป็นโครงสร้างเหล็ก สามารถรื้อย้ายได้ง่าย (ไม่ต้องทุบ) ก็จะมีการยกออกเป็นส่วนๆ คล้ายกับตอนรื้อสะพานข้ามแยกเกษตร หรือสะพานรัชโยธินครับ โดยจะรื้อออกจนหมดรวมถึงเสาสะพานด้วย เพื่อเคลียร์พื้นที่สร้างเสาใหม่ต่อไป


STEP 2 : สร้างเสาใหม่และวางทางวิ่งรถไฟฟ้า

หลังจากนั้นก็จะเป็นการสร้างเสาสะพานใหม่ โดยจะเป็นเสาแบบทูอินวัน มีทั้งรถไฟฟ้าและสะพานข้ามแยกในเสาเดียว คล้ายกับแยกเกษตรศาสตร์เลยครับ พอทำเสาเสร็จ ก็วางทางวิ่งรถไฟฟ้า ติดตั้งระบบในส่วนของรถไฟฟ้าต่อไปได้เลย เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ทันเดือนตุลาคม 2564 (ปีหน้านี้แล้ว)


STEP 3 : สร้างสะพานรถยนต์คืน

จากนั้นก็ติดตั้งคานของสะพานรถยนต์ข้ามแยกคืนที่เดิม โดยจะใช้เสาของเดิมมาติดตั้งคืนด้วย เพื่อช่วยรับน้ำหนักร่วมกับเสาใหม่ โดยสะพานข้ามแยกที่สร้างคืนให้จะหน้าตาเหมือนของเดิม มีสองเลนเท่าเดิมครับ


ภาพบรรยากาศเมื่อสร้างเสร็จ


และทั้งหมดนี้คือข้อมูลสรุปสั้นๆ ของการปิดปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิครับ ช่วงนี้หลายคนทำงานอยู่บ้าน อาจจะไม่ได้สังเกตว่าสะพานปิดแล้ว การจราจรแถวนั้นจะเป็นอย่างไรบ้างคงต้องรอสถานการณ์กลับมาปกติแล้วดูกันอีกทีฮะ

ขอบคุณที่ติดตาม LivingPop แล้วเราจะมาอัพเดตข่าวคราวเรื่องรถไฟฟ้ากันเรื่อยๆ นะฮะ ^^


ขอบคุณภาพจาก โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2