fbpx
วิเคราะห์ทำเล

วิเคราะห์ทำเลย่าน “บางนา” ในปี 2024 …อะไรที่ทำให้ Developer เจ้าต่างๆ สนใจทำเลนี้??

พูดถึงย่าน “บางนา” หลายคนน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกับทำเลนี้กันอยู่แล้ว แต่วันนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาดูกันครับว่า ในเชิงทำเลและการพัฒนาพื้นที่ อะไรที่เป็นปัจจัยให้ย่านนี้มีความน่าสนใจ จะมีอะไรมาอีกหลังจากปี 2024 และอะไรที่ทำให้เราเห็นย่านนี้มีโครงการหมู่บ้านต่างๆ มาเปิดกันเยอะ

วันนี้เราจะขอมาวิเคราะห์ความน่าสนใจของทำเลนี้จากมุมมองของเรา รวมถึงอัปเดตโครงการต่างๆ ของย่านบางนาที่จะมาในอนาคตกันครับ


สนับสนุนคอนเทนต์ชิ้นนี้โดย “SANSIRI 10 EAST”

โครงการ Luxury Community ล่าสุด แลนด์มาร์คใหม่บนบางนากม.10 จากแสนสิริ

คอมมูนิตี้สังคมการอยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบ บนพื้นที่ 165 ไร่ ติดถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) มูลค่ารวมกว่า 18,000 ล้านบาท มาพร้อมบ้านในระดับ Luxury และ Super Luxury ระดับราคา 20-500 ลบ. ใน 4 แบรนด์ ได้แก่ บ้านแสนสิริ, สิริณสิริ, นาราสิริ และเศรษฐสิริ

โดยเตรียมพบ 2 โครงการจากแบรนด์นาราสิริ และเศรษฐสิริปลายปี 67 นี้ ใกล้ Mega Bangna, จุดตัดทางด่วน 2 สาย ใกล้แหล่งงานขนาดใหญ่และสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน



ย้อนอดีต 1995-2010

ในยุคที่ความเจริญยังกระจุกอยู่ที่ “กรุงเทพชั้นใน”

ถ้าจะพูดถึงความเจริญของย่านบางนา ก็อาจจะต้องขอเล่าย้อนไปถึงย่านสุขุมวิทกันก่อนครับ เพราะสองย่านนี้มีความเชื่อมต่อกันพอสมควร

ย้อนกลับไปยุค 90 ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ต้องบอกว่าในยุคนั้นก่อนที่จะมีรถไฟฟ้า ความเจริญต่างๆ ยังกระจุกตัวอยู่แค่ช่วงกรุงเทพชั้นใน โครงการตึกออฟฟิศต่างๆ ที่เปิดใหม่ในตอนนั้น ก็มักจะกระจุกตัวอยู่ในย่านเพลินจิต หรือย่านอโศกเป็นหลักครับ ในยุคนั้นเพิ่งจะมีห้างใหม่อย่าง The Emporium ที่มาเปิดในปี 1997 ความเป็นใจกลางเมืองต่างๆ ก็จะไม่ได้กระจายหนีออกมาจากย่านอโศก-พร้อมพงษ์มากนัก

จนกระทั่งการมาถึงของรถไฟฟ้า BTS ที่ทำให้เมืองเริ่มขยายของมาตามแนวสถานีมากขึ้นแบบก้าวกระโดดครับ ในช่วงยุค 2000 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ เราจะเริ่มเห็นโปรเจคต่างๆ และการเกิดขึ้นของทำเลใหม่ๆ ตามแนวรถไฟฟ้า อย่างในช่วงปลายยุค 2000 เอง เป็นยุคที่คอนโดมิเนียมในเมืองไทยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าเดิม เราเริ่มเห็นการเกิดขึ้นของย่านอ่อนนุช ที่กลายมาเป็นโซน Residential แห่งใหม่ สำหรับคนที่ทำงานในเมือง เข้าถึงด้วยรถไฟฟ้า และเราจะเริ่มเห็นการขยับตัวของมูลค่าที่ดินต่างๆ ในย่านนี้ ตัวอย่างที่ชัดที่นึงก็น่าจะเป็นทองหล่อครับ ซึ่งในช่วงปี 2010 ตอนนั้นคอนโดหน้าปากซอยทองหล่ออย่าง Siri at Sukhumvit ราคาอยู่ที่ตร.ม.ละประมาณ 100,000 บาทนิดๆ (ถูกกว่า 5 แยกลาดพร้าวสมัยนี้อีก!!)

ผ่านไปแค่ 13-14 ปี คอนโดเปิดใหม่ในย่านนี้ราคาพุ่งไปเกือบ 3 เท่า ทองหล่อกลายมาเป็นย่านที่ราคาคอนโดอยู่ที่ระดับ 300,000 กว่าต่อตร.ม.เป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นเวลาผ่านไป ความเป็นเมืองของย่านนี้ก็เริ่มขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ครับ


ช่วงหลัง 2010

เปิดรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เกิดโซน “สุขุมวิทตอนปลาย” และการขยายตัวของเมือง

พอเข้าถึงยุคปี 2010 ด้วยความที่พื้นที่อย่างสุขุมวิทชั้นในเองก็มีค่อนข้างจำกัด จากการที่ถูกใช้ทำโครงการต่างๆ ไปเยอะแล้ว จะหาพื้นที่ขนาดใหญ่ก็ค่อนข้างยาก รวมไปถึงราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น ประจวบเหมาะกับในช่วงยุค 2010 ที่มีรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายมาถึงย่านแบริ่ง ก็เลยเหมือนกับเป็นการเปิดทำเลใหม่ให้โซนสุขุมวิท ช่วงบางจากถึงแยกบางนา

ในช่วงหลังของปี 2010 เราจะเห็นโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ มาเปิดในย่านนี้กันค่อนข้างเยอะทีเดียว ได้จุดเด่นในการที่เชื่อมต่อกับสุขุมวิทชั้นในได้ แต่ราคาที่ดินถูกกว่า ยังมีที่ทำโครงการขนาดใหญ่ได้หลายแปลง

ปัจจุบันเราจะเห็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้วอย่าง True Digital Park, Sukhumvit Hills, ตึกภิรัชและไบเทคส่วนต่อขยาย, 66 Tower, M Tower, ห้าง Century, ตึกออฟฟิศของเจียไต๋ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามา เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่มีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี่เองครับ ยังไม่นับรวมคอนโดต่างๆ ที่มาเปิดกันในหลักหลายสิบโครงการ ทำให้ตอนนี้ ช่วงสุขุมวิทตอนปลายเองก็เป็นย่านแหล่งงานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง เป็นความเจริญที่ขยายตัวออกมาจากโซนสุขุมวิทชั้นในอย่างชัดเจน


สุขุมวิทตอนปลาย

กับโปรเจคใหม่ที่มาเพิ่มเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในโซนสุขุมวิทตอนปลาย ก็ยังมีโครงการที่กำลังจะมาใหม่อยู่เรื่อยๆ ครับ อย่าง Bangkok Mall ที่เป็นโปรเจคห้างขนาดยักษ์ของกลุ่ม The Mall ตรงนี้จะอยู่บนที่ดินที่เป็นบริเวณหัวมุมแยกถนนบางนา-ตราดตัดกับสุขุมวิท ด้วยพื้นที่กว่า 100 ไร่ ทำออกมาเป็นห้างขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 873,000 ตารางเมตร!! มูลค่าการลงทุนกว่า 150,000 ล้านบาท ใหญ่ที่สุดตั้งแต่กลุ่ม The Mall เคยทำห้างมา มีทั้งในส่วนของห้างและ Arena จัดแสดงคอนเสิร์ตด้านบนความจุ 20,000 คน ความคืบหน้าล่าสุดคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงปี 2026-2027 ครับ ปัจจุบันก่อสร้างส่วน Arena ไปได้เยอะแล้ว กำลังก่อสร้างในส่วนของห้างตามมา

นอกจากนี้อีกหนึ่งโปรเจคใหม่ก็จะเป็น Cloud 11 เป็นโปรเจค Mixed-use ที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีพื้นที่สำหรับ Creator รวมถึงมีพื้นที่ที่จับมือกับ theCOMMONS มูลค่าโปรเจครวม 40,000 ล้านบาท สร้างไปแล้วพอสมควร เตรียมเปิดเร็วๆ นี้ครับ

นอกจากนี้ในพื้นที่ของไบเทคเอง ก็เพิ่งมีการรีแบรนด์เป็นไบเทคบุรี ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่ามีการสร้างส่วนต่อขยายรวมถึงอาคารภิรัชทาวเวอร์ที่เป็นออฟฟิศไป ปัจจุบันกำลังมีการปรับปรุงฮอลล์ 106 เป็น BITEC LIVE รองรับการจัดคอนเสิร์ต 7,000-10,000 คน และ Sama Garden พื้นที่สีเขียวโซนใหม่กว่า 10,000 ตารางเมตรครับ


จากสุขุมวิทตอนปลาย ขยายไปสองด้าน

เมืองยังคงขยายต่อเนื่อง ไปทาง “ปากน้ำ” และ “บางนา-ตราด”

แต่การขยายตัวของเมืองก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่สุขุมวิทตอนปลาย!!

เราจะเห็นว่าปัจจุบัน ความเป็นเมืองยังถูกขยายออกมาอีกครับ ซึ่งถ้าดูจากบริเวณแยกบางนา ความเจริญจะถูกแบ่งออกมาเป็นสองฝั่งหลักๆ ตามแนวของถนนสายหลักสองเส้นอย่างสุขุมวิทตามแนวเส้นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่วิ่งไปถึงสมุทรปราการและตามแนวถนนบางนา-ตราด (เทพรัตน) ซึ่งเป็นถนนใหญ่อีกสายเช่นกัน อย่างโซนสำโรง-สมุทรปราการ เราก็จะเห็นโครงการคอนโดต่างๆ ขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าเส้นนี้ค่อนข้างเยอะ

ส่วนในด้านถนนบางนา-ตราด ก็จะมีทั้งโปรเจคตึกสำนักงาน, Mixed-use, ห้าง, ที่อยู่อาศัยแนวราบต่างๆ มาเปิดเช่นกัน

ศักยภาพของย่านบางนาในปัจจุบัน

บางนา-ตราด

เชื่อมต่อย่าน “สุขุมวิทตอนปลาย” กับ “โซนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่”

ทีนี้เราลองมาดูศักยภาพของย่านบางนากันครับ ว่าในปัจจุบันอะไรเป็นจุดเด่นของย่านนี้บ้าง

สำหรับถนนบางนา-ตราด หรือถนนเทพรัตนเอง จะไม่ได้เป็นแค่ถนนที่ความเจริญขยายออกมาจากกรุงเทพชั้นในเฉยๆ ครับ เพราะจริงๆ แหล่งงานขนาดใหญ่จะอยู่บนถนนเส้นนี้แบบปิดหัวปิดท้ายเลย ในฝั่งกรุงเทพฯ-สุขุมวิทเราก็จะเห็นความเป็นแหล่งงานในรูปแบบของออฟฟิศและความเป็นเมือง ส่วนในฝั่งสุวรรณภูมิ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ทางด้านนี้ก็จะเป็นย่านอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศครับ มีนิคมชื่อดังต่างๆ มาตั้งอยู่ค่อนข้างเยอะ

ดังนั้นความเจริญของถนนเส้นบางนา-ตราด เลยจะมาจากทั้ง 2 ฝั่งทั้งหัวและท้าย ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ถนนบางนา-ตราดแตกต่างจากถนนในย่านอื่นๆ ที่เป็นทำเลเกิดใหม่จากการที่กรุงเทพขยายตัวออกไปครับ


โครงการขนาดใหญ่ในย่านบางนา-สุวรรณภูมิ

ที่มาจากการขยายตัวของเมืองในโซนตะวันออก

ด้วยความที่แนวโน้มการขยายตัวของเมืองที่ขยายตัวตามแนวถนนบางนา-ตราดจาก 2 ปัจจัยอย่างที่เราบอกไป ทำให้นอกจากความเจริญในแบบที่เป็นออฟฟิศ เราก็จะเห็นโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกันครับ

อย่างช่วงต้นถนนบางนา-ตราดก็จะมีโครงการ Mixed-Use ใหญ่อย่าง The Forestias ถัดออกมาก็มี Mega City บางนา ที่เป็นโครงการปั้นเมืองรอบห้าง Mega Bangna และ IKEA หรือห้างแนวเอาท์เลตที่รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวก็มีทั้ง Central Village และ Siam Premium Outlet ปิดหัวท้ายสนามบินสุวรรณภูมิ ยังไม่นับว่าเราจะเริ่มเห็นตึกออฟฟิศใหม่ๆ ขึ้นหลายโครงการในแถวช่วงบางนา-ตราดตอนต้นอีกนะครับ อย่างอาคาร AIA East Gateway และ WHA Tower

ในฝั่งของอุตสาหกรรม ก็อย่างที่ทราบกันว่าสมุทรปราการเป็นเมืองที่มาคู่กับโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เราจะเห็นทั้งโรงงานใหม่/Warehouse กระจายเปิดใหม่ในจุดต่างๆ ทั้งในและนอกนิคม ซึ่งถ้าเป็นโครงการนิคมใหม่เลยก็จะมีนิคมแพรกษาที่อยู่ข้างๆ นิคมบางปู และนิคม TRA Land (สมุทรปราการ 4.0) ที่อยู่บนถนนบางนา-ตราด กม.32 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ครับ

นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐที่เข้ามารองรับความเจริญของเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เพิ่งเปิดบริการ การขยายสนามบินสุวรรณภูมิในเฟส 2-5 และโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ขยับขยายมาเปิดศูนย์การแพทย์จักรีนฤบดินทร์


แหล่งงานโซนอุตสาหกรรม

รอบข้างมีนิคมขนาดใหญ่หลายแห่ง ประตูสู่ EEC

แล้วนิคมที่ว่าเยอะ เยอะแค่ไหน??

ก็ต้องบอกว่าในโซนตะวันออกตรงนี้ มีนิคมขนาดใหญ่อยู่สิบกว่าแห่งครับ พูดชื่อไปหลายๆ คนก็น่าจะเคยได้ยินชื่อกันเป็นอย่างดี อย่างนิคมบางพลี, นิคมเวลโกรว์, นิคมอมตะซิตี้, นิคมบางปู และมีนิคมใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหลายๆ นิคมก็จะตั้งอยู่ตามแนวของถนนบางนา-ตราดด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อรวมพื้นที่นิคมในย่านนี้ รวมๆ กันก็มีพื้นที่ที่เป็นนิคมกว่า 50,000 ไร่ ยังไม่นับรวมโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตั้งอยู่แบบเดี่ยวๆ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นิคมแบบจัดสรรอีก ทำให้ที่ผ่านมา ย่านถนนบางนา-ตราดเองก็เป็นย่านสำคัญที่คนทำงานอุตสาหกรรมในละแวกนี้มองหาบ้านหรือที่พักอาศัยอยู่กันครับ

ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่าภาคตะวันออก ทางภาครัฐมีโครงการทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่จะเน้นในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมในโซนตามแนวชายฝั่งฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง ย่านบางนา-สุวรรณภูมิ-สมุทรปราการตรงนี้ก็จะเป็นเหมือนกับทั้งจุดเริ่มต้นและเป็นประตูที่เชื่อมต่อสู่ย่าน EEC ด้วยครับ


เมืองอุตสาหกรรม 4,600 ไร่

“TRA LAND” ติดถนนบางนา-ตราด กม.32

อย่างล่าสุดก็กำลังมีโปรเจคใหญ่อย่าง “นิคม TRA Land / สมุทรปราการ 4.0” (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ที่นำที่ดินขนาดใหญ่กว่า 4,600 ไร่ ย่านบางนากม.32 ที่ลึกทะลุไปถึงมอเตอร์เวย์ด้านหลัง มาทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในย่านนี้ครับ เป็นโปรเจคร่วมทุนกันระหว่างกลุ่ม FPIT ร่วมกับโรจนะและนิคมฯเอเชีย ที่จะออกมาเป็นโปรเจคอุตสาหกรรมแบบ Mixed-Use มีทั้งพื้นที่นิคม, โซนที่พัก, โซนสำนักงาน และโลจิสติกส์พาร์ค มูลค่ารวมโครงการกว่า 50,000 ล้านบาทครับ ปัจจุบันเริ่มก่อสร้างแล้ว


ทางด่วนเชื่อมต่อหลายสาย

ทั้งเข้าเมืองและเชื่อมต่อระดับจังหวัด

กลับมาที่ย่านบางนาตอนต้นกันบ้าง แน่นอนว่าอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของย่านนี้ก็คือ “ระบบทางด่วนและมอเตอร์เวย์” ที่มีหลายเส้นทางตีเป็นตารางล้อมรอบ ไม่ว่าจะเป็นทางด่วนบูรพาวิถีที่ซ้อนอยู่บนถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมตัวเมืองกรุงเทพฯ กับชลบุรี มอเตอร์เวย์สาย 7 ที่เป็นอีกเส้นทางคู่ขนานกันไป เชื่อมไกลถึงพัทยา-อู่ตะเภา ส่วนแนวเหนือ-ใต้ก็มีถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกที่เป็นวงแหวนล้อมรอบกรุงเทพฯ สามารถไปโซนต่างๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านเข้าไปกลางเมืองด้วย

ทำให้ย่านนี้มีความสะดวกในการเดินทาง ทั้งการเดินทางเข้าเมือง ที่สามารถใช้ทางด่วนบูรพาวิถีต่อเนื่องไปยังทางด่วนเฉลิมมหานคร วิ่งไปนิดนึงก็มีทางเลือกว่าจะไปจุดไหนของเมือง ถ้าจะไปโซนสีลม สาทร พระราม 4 ดินแดง หรือดาวคะนอง ก็วิ่งตรงไปได้เลย หรือถ้าจะไปโซนเพชรบุรี พระราม 9 ลาดพร้าว รามอินทรา ก็เลี้ยวเข้าทางด่วนฉลองรัชไปได้เช่นกัน

หรือหากจะเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ก็มีทางเลือกให้ทุกทิศทางโดยไม่ต้องวิ่งเข้าเมือง ถ้าจะไปภาคเหนือ-อีสาน ก็วิ่งเส้นกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออกขึ้นไปบางปะอินได้ หรือถ้าจะไปภาคใต้ ก็วิ่งตัดลงทางด่วนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ อ้อมไปพระราม 2 ได้ และแน่นอนว่าถ้าจะไปภาคตะวันออกอย่างชลบุรีหรือพัทยา ก็วิ่งขึ้นบูรพาวิถีไปได้เลย

ต้องบอกว่าพื้นที่ย่านบางนาเอง ก็เป็นย่านชานเมืองที่มีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นจากการขยายตัวของเมือง, การที่อยู่ๆ มีสนามบินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศมาตั้ง หรือการที่ฝั่งอุตสาหกรรมต่างๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็จะเป็นภาพสะท้อนของเมืองที่เติบโตขึ้นในย่านนั้นๆ อย่างสำหรับเมืองไทยเอง จะวัดกันว่าตรงไหนเจริญหรือยัง เรื่องนึงที่หนีไม่พ้นเลยก็เป็นเรื่องของห้าง เพราะคนไทยกับการเดินห้างแทบจะเป็นของคู่กันอยู่แล้ว


แหล่งรวมห้างขนาดใหญ่

เป็นโซนชานเมืองที่มีศูนย์การค้าใหญ่มาเปิดเยอะที่สุด

ทีนี้ถ้าเราลองมาดูห้างต่างๆ ในย่านบางนาเอง พบว่าในย่านนี้มีห้างใหญ่ระดับพื้นที่หลายแสนตารางเมตรมาเปิดกันเยอะมากครับ ไม่ว่าจะเป็นซีคอนสแควร์บนถนนศรีนครินทร์ ที่มาเปิดเมื่อ 30 ปีก่อน ด้วยพื้นที่ 500,000 ตร.ม.

และในช่วงสิบกว่าปีก่อนก็มี Mega Bangna มาเปิด พื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตรเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็อย่างที่ทราบกันว่าในวันเสาร์อาทิตย์ พื้นที่ขนาดนี้ที่นี่ก็ยังมีคนมาเดินกันแน่น และที่น่าสนใจคือลูกค้าที่มาเดิน ค่อนข้างที่จะมีกำลังซื้อด้วยครับ เราจะเห็นหลายร้านที่เป็นร้านระดับค่อนไปทางบนหน่อย จากสาขาใจกลางเมือง ก็มีมาเปิดที่นี่ด้วยเช่นกัน ส่วนนึงก็มาจากการที่รอบข้างย่านแถวนี้ มีหมู่บ้านระดับ Premium มาเปิดกันค่อนข้างเยอะด้วย

แต่นอกจากนี้ บนพื้นที่หัวมุมแยกบางนาเอง ตรงนี้ก็จะเป็นโครงการใหญ่ของกลุ่ม The Mall ที่จะมาพร้อมพื้นที่ใหญ่ที่สุด แตะระดับ 800,000 ตารางเมตร กับโครงการ “Bangkok Mall” ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างอยู่ เมื่อสร้างเสร็จก็น่าจะยิ่งทำให้ย่านนี้คึกคักขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าพูดถึงการขยายตัวของเมืองที่ออกมา ภาพที่ชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นภาพเปรียบเทียบภาพนี้ครับ

ที่เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ในช่วงแค่ 20 ปีนิดๆ ที่ผ่านมา โซนบางนา-บางพลี จากย่านที่เป็นพื้นที่ทุ่งสีเขียว ปัจจุบัน เมืองได้มีการขยาย กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยแบบเต็มรูปแบบ มีโครงการอสังหา, ถนนตัดใหม่ รวมไปถึงห้างต่างๆ เป็นอีกหนึ่งย่านที่ถือว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อนาคตของย่านบางนา

เราน่าจะเห็นภาพจุดเด่นความเป็นเมืองที่ขยายตัวออกมาของบางนาในปัจจุบันแล้ว นอกจากโปรเจคโซนสุขุมวิทตอนปลาย, Bangkok Mall และ นิคม TRA Land ที่บางนากม.32 ที่พูดไปแล้ว แล้วอนาคตย่านบางนาจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง?? เราขอพาไปดูในมุมของด้าน Infrastructure ต่างๆ ของย่านนี้ ที่กำลังจะมีมาเพิ่มเติมกันบ้างครับ


ถนนวงแหวนรอบ 3

เชื่อมต่อจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีถนนที่จัดว่าเป็นถนนวงแหวนรอบเมืองเส้นสำคัญอยู่ 2 วง คือวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบใน และถนนกาญจนาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบนอก ความสำคัญของถนนวงแหวนก็คือการเป็นเส้นทางเลี่ยงสำหรับคนที่ต้องการเดินทางไปอีกฝั่งของเมือง โดยไม่ต้องผ่านทะลุเข้าไปในตัวเมืองให้รถติด แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันถนนวงแหวนที่เรามีอยู่ทั้งสองวงเริ่มมีปริมาณจราจรที่หนาแน่นขึ้นเนื่องจากเมืองที่ขยายตัวออกมา ทำให้ทางภาครัฐมีแนวคิดที่จะสร้างถนนวงแหวนเพิ่มขึ้นอีกวงนึงครับ

โดยถนนวงแหวนรอบที่ 3 มีการศึกษาแนวเส้นทางเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการแบ่งช่วงในการก่อสร้างเอาไว้ 6 ช่วง บางช่วงก็มีการศึกษารายละเอียดไปบ้างแล้วครับ โดยในโซนบางนาจะอยู่ในช่วงที่ 3 ซึ่งจะเริ่มจากถนนรังสิต-นครนายก วิ่งลงมาจนถึงถนนบางนา-ตราด ซึ่งจากแผนงานของกระทรวงคมนาคมก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2570 ตอนนี้อยู่ในช่วงของการออกแบบรายละเอียดและทำรายงาน EIA รวมถึงการเตรียมการเวนคืนที่ดิน

ส่วนที่ต่อเนื่องจากบางนา-ตราด ลงไปอ้อมทางทิศใต้ข้ามแม่น้ำไปทางสมุทรสาคร จะเป็นโครงการช่วงที่ 4 ซึ่งปัจจุบันถูกโอนให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบเช่นเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2569 ครับ


รถไฟฟ้าสายสีเงิน

เพิ่มทางเลือกการเดินทางในโซนบางนา

“รถไฟฟ้าสายสีเงิน” รถไฟฟ้าสายใหม่ที่คนบางนารอคอย เดิมโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ซึ่งดำเนินการไปถึงขั้นตอนการออกแบบและเตรียมเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนแล้ว แต่เนื่องจากนโยบายของผู้ว่า กทม. ปัจจุบัน ที่ไม่ต้องการลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้า ก็เลยมีการโอนโครงการกลับไปให้ทางรัฐบาล เพื่อให้ทาง รฟม. ดำเนินการต่อ

แนวเส้นทางจะเริ่มจากแยกบางนา ตรงหน้าห้าง Bangkok Mall วิ่งไปตามทางคู่ขนานขาออกของถนนบางนา-ตราด จนถึง กม.15 จากนั้นเลี้ยวเข้าไปตามถนนทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ เข้าสู่อาคารผู้โดยสารใหม่ที่จะสร้างใน Phase 5 ในอนาคต รวมระยะทางประมาณ 19.7 กม. มีสถานีทั้งหมด 14 สถานีครับ

ปัจจุบันเส้นทางนี้ถูกบรรจุเอาไว้ในแผนแม่บทระบบรางฉบับใหม่ (M-MAP2) เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะถูกพิจารณาให้เริ่มสร้างได้เร็วๆ นี้ครับ


สนามบินสุวรรณภูมิ

ขยาย Phase 2-5 รองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี

“สนามบินสุวรรณภูมิ” ที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารอยู่ 60 ล้านคน/ปี ก็มีโครงการจะขยับขยายด้วยเช่นกันครับ โดยจากแผนล่าสุดที่เราไปฟังมาในงานครบรอบ 45 ปีของ AOT ก็จะมีเฟสต่างๆ ทั้งหมด 5 เฟสด้วยกัน โดยจะเสร็จทั้งหมดในปี 2573 ครับ (รายละเอียดเดี๋ยวใส่ให้ในช่องคอมเมนต์นะฮะ)

ซึ่งส่วนที่หลายคนรอคอยก็น่าจะเป็นอาคารผู้โดยสารหลักหลังใหม่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นเฟสสุดท้ายที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่ได้ทราบช่วงเวลาที่แน่นอนว่าจะทำเมื่อไหร่ แต่ ณ ปัจจุบันมีแผนออกมาแล้วดังนี้ครับ

  • ปี 2567-2568 ศึกษาแผนแม่บท
  • ปี 2568-2569 ออกแบบรายละเอียด
  • ปี 2570 จัดหาผู้ก่อสร้าง
  • ปี 2573 เปิดบริการ

ซึ่งอาคารหลักทางทิศใต้ ก็จะมารับกับการเป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีเงินพอดีครับ

ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้ Developer เจ้าต่างๆ เลือกมาเปิดทำเลนี้

แสนสิริก็เช่นกัน กับ “SANSIRI 10 EAST”

ดังนั้นจากศักยภาพของทำเล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทิศทางการขยายตัวของตัวเมือง, โปรเจคใหม่ๆ ในย่าน, ความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อแหล่งงานย่านต่างๆ, สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในย่านนี้ รวมไปภาพในอนาคตของย่านนี้ จากทั้งหมดที่เล่ามาก็น่าจะเป็นคำตอบได้ว่าทำไม Developer หลายๆ เจ้าถึงสนใจทำเลนี้กันครับ

และแสนสิริก็เป็นอีกหนึ่ง Developer ที่สนใจในย่านนี้ ด้วยการลงทุนซื้อที่ดินผืนใหญ่ติดถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) บริเวณกม.10 ครับ ด้วยพื้นที่กว่า 165 ไร่ ปั้นเป็นโปรเจคใหม่

“SANSIRI 10 EAST”

โครงการ Luxury Community ระดับ 20-500 ลบ. ที่มีมูลค่าโครงการรวมแตะ 18,000 ลบ. ถือว่าเป็นอีกโปรเจคใหญ่ในย่านนี้เลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งทำเลนี้เองแสนสิริก็น่าจะค่อนข้างมั่นใจ จากที่ก่อนหน้านี้เคยมาเปิดโครงการบ้านนาราสิริที่นี่ ก็สามารถทำยอดขายได้ดี ปิดการขายไปได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน การกลับมารอบนี้ก็เหมือนกลับมาในทำเลที่แสนสิริเคยพรูฟความสำเร็จไปแล้วครับ


บางนา กม.10

จุดตัดถนนสายหลัก เชื่อมต่อแหล่งงานรอบด้าน

แล้วทำไมต้องบางนากม.10??

อย่างแรกก็เป็นเรื่องของความ “ใกล้ห้างใหญ่” ของย่านอย่าง Mega Bangna ครับ ที่นี่น่าจะไม่ต้องอธิบายมากกับความเป็นศูนย์กลางของย่านและมีความทุกอย่าง โดยที่ที่ตั้งของ SANSIRI 10 EAST จะอยู่ถัดออกมานิดเดียวและติดถนนใหญ่เทพรัตนครับ

อย่างต่อมาคือ “ใกล้จุดตัดถนนสายหลัก” ทั้ง 2 สายในย่าน อย่างถนนเทพรัตนและถนนกาญจนาภิเษก ทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปได้หลายทาง และจุดขึ้นลงทางด่วนต่างๆ ก็อยู่ตรงนี้หมดครับ

อีกเรื่องคือการ “โดนขนาบรอบทิศด้วยแหล่งงานขนาดใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นโซนออฟฟิศอย่างสุขุมวิทตอนปลาย โซนสนามบินอย่างด้านสุวรรณภูมิ โซนนิคมต่างๆ ทั้งในด้านบางนา-บางพลี และบางปู-แพรกษา ทั้งหมดอยู่ในระยะไม่ไกลมาก

เมื่อรวม 3 ด้านนี้เข้าด้วยกัน ก็จะเป็นจุดเด่นในเรื่องของทำเลของ “SANSIRI 10 EAST” ตรงนี้ครับ


การมาของแสนสิริ

เสริมภาพความ Luxury ของย่านให้ชัดขึ้น

ถ้าว่ากันตามตรง บนถนนเทพรัตนตอนต้นก็เรียกได้ว่าหาหมู่บ้านที่ทำเลติดถนนใหญ่เลยแบบนี้ได้ค่อนข้างยากแล้วครับ ด้วยที่ดินแปลงขนาดใหญ่ที่เหลือน้อยลง รวมไปถึงราคาที่ดินที่สูงขึ้น ทำเลที่ตั้งของที่นี่เลยถือว่าค่อนข้างโดดเด่นพอสมควร

ซึ่งการมาของแสนสิริที่เลือกมาทำบ้านระดับ 20-500 ลบ.ตรงนี้ ก็ยิ่งเป็นการย้ำความเป็นทำเลหมู่บ้านระดับบนของโซนบางนาขึ้นไปอีกครับ ซึ่งถ้าเราลองดูย่านที่หมู่บ้านระดับ Luxury เลือกที่จะไปตั้ง จะสังเกตได้ว่าโซนหมู่บ้านเหล่านี้จะมีการไปตั้งอยู่กันแบบเกาะกลุ่มกันครับ ไม่ว่าจะเป็นย่าน “กรุงเทพกรีฑา” “เลียบด่วนรามอินทรา” หรือย่าน “ราชพฤกษ์ตอนต้น” เนื่องจากองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทำเลการเดินทาง, บรรยากาศในย่าน รวมไปถึง Facility และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่รองรับ Lifestyle

อย่างย่านบางนา ถ้าเราดูร้านที่เลือกมาเปิดที่ Mega Bangna, สนามกอล์ฟต่างๆ และจำนวนโรงเรียนนานาชาติในย่านนี้ ก็น่าจะพอเห็นภาพว่าย่านนี้ก็เป็นอีกย่านที่มีหมู่บ้านระดับบนมาเปิดกันเยอะ โดยตั้งแต่ในอดีตที่เราจะเห็นหมู่บ้านติดสนามกอล์ฟ, หมู่บ้านติดทะเลสาบขนาดใหญ่ ยิ่งมาในปัจจุบันหมู่บ้านในแถบนี้ได้ขยับมีช่วงระดับราคา 50-100 ล้านให้เห็นกันหลายโครงการ

ดังนั้นแสนสิริที่มาเปิดบ้านระดับ 20-500 ล้าน ก็จะยิ่งทำให้ภาพรวมแนวโน้มการเป็นโซนหมู่บ้านระดับ Luxury ของแถบนี้ชัดเจนขึ้น และทำให้ภาพรวมของบางนามีการลงทุนทำโปรเจคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง


มีอะไรใน SANSIRI 10 EAST บ้าง??

อย่างที่บอกไปว่า ที่นี่จะเป็น Luxury Community โดยด้านในจะมี 4 โครงการหมู่บ้านระดับ Luxury และ Super Luxury อย่างเศรษฐสิริ, นาราสิริ, สิริณสิริ และ บ้านแสนสิริ ในระดับราคา 20-500 ล้านบาท ซึ่งตำแหน่งและรูปแบบของแต่ละโครงการว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แสนสิริยังไม่ได้ประกาศออกมานะครับ แต่ดูจากรูป Artwork ที่แสนสิริทำออกมา เราเลยลองเอามา Plot บนแผนที่ คาดว่าโครงการแต่ละแบรนด์น่าจะมีตำแหน่งที่ตั้งประมาณนี้ครับ โดยที่ในปี 67 นี้ แสนสิริจะเปิด 2 โครงการก่อนคือบ้านเศรษฐสิริและนาราสิริ

ซึ่งแสนสิริเองก็เป็นเจ้านึงที่ประสบความสำเร็จในการทำที่อยู่อาศัยแบบเป็น Community หลายโครงการครับ อย่างก่อนหน้านี้เองก็มี T77 ที่ย่านอ่อนนุช ที่เป็นคอมมูนิตี้คอนโด บรรยากาศภายในโครงการค่อนข้างดีเลย หรืออย่าง Krungthep Kreetha Community ที่ย่านกรุงเทพกรีฑา ก็เป็นอีกที่ที่รวมบ้านระดับ Luxury ของแสนสิริเช่นกัน

สำหรับรูปแบบของบ้านแต่ละแบรนด์ที่มาใน “SANSIRI 10 EAST” จะเป็นอย่างไรบ้าง เราขอนำไปทำความรู้จักกับแต่ละแบรนด์กันครับ


“เศรษฐสิริ”

แบรนด์บ้านระดับ Luxury ที่อยู่คู่แสนสิริมาแล้วกว่า 20 ปี กว่า 30 โครงการที่ผ่านมา แบรนด์นี้จะเป็นบ้านที่ทำออกมาเน้นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ ในแนวคิด “The Portrait of Success” กับการที่ให้บ้านที่นี่เป็นตัวพูดแทนสำเร็จ

โดยที่ระดับราคาของบ้านแบรนด์เศรษฐสิริจะเริ่มต้นที่ 15-30 ล้านบาท แล้วแต่ทำเลที่ตั้งครับ


“นาราสิริ”

จุดเด่นของบ้านนาราสิริจะเป็นบ้านที่มีความงดงามที่มาจากความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ โดยเมื่อปีสองปีที่แล้วหลายคนอาจจะเคยเห็นข่าวโครงการที่กรุงเทพกรีฑา ที่สามารถปิดการขายทั้งโครงการไปได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือน


“สิริณสิริ”

สำหรับสิริณสิริ จะเป็นบ้านแบรนด์ใหม่ สำหรับข้อมูลโครงการยังไม่มีออกมา คาดว่าเราจะได้เห็นบ้านแบรนด์นี้ในช่วงปีหน้าครับ


“บ้านแสนสิริ”

บ้านระดับ Super Luxury ระดับท็อปที่สุดของแสนสิริ เป็นอีกโครงการนึงที่เราจะไม่ได้เห็นแสนสิริเปิดบ่อยนักครับ ต้องค่อนข้างพิเศษพอสมควร ที่ผ่านมามีบ้านแสนสิริเปิดมาแค่ 2 โครงการเท่านั้นครับ

บ้านแสนสิริที่แรกเกิดขึ้นเมื่อช่วงสิบกว่าปีก่อน บนที่ดินผืนใหญ่ผืนสุดท้ายใกล้กับ BTS พระโขนง ที่ปัจจุบันหาที่ใจกลางเมืองแบบนี้ทำหมู่บ้านไม่ได้อีกแล้ว ส่วนโครงการล่าสุดเป็นบ้านแสนสิริพัฒนาการ มากับบ้านระดับราคา 65-240 ล้านบาท (เมื่อ 5 ปีที่แล้ว) ต้องมารอดูกันครับว่าการกลับมาของ “บ้านแสนสิริ” รอบนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง


สำหรับใครที่สนใจบ้านจากแสนสิริทำเลนี้ โครงการ SANSIRI 10 EAST น่าจะเปิดตัวโครงการในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้แล้วครับ รอติดตามดูกันได้

Related posts
วิเคราะห์ทำเล

ส่องทำเลและอนาคตของย่าน “เลียบด่วน เอกมัย-รามอินทรา” น่าสนใจยังไง และกำลังจะมีอะไรอีกบ้าง

วิเคราะห์ทำเล

ส่องทำเล "จรัญ-บางอ้อ" ย่านติดรถไฟฟ้าสายหลักที่ราคาคอนโดยังถูกอยู่!... 😄

วิเคราะห์ทำเล

เปิดแผนพัฒนาเมืองย่านพหลโยธิน-รามอินทรา นอกจากรถไฟฟ้าจะมีโครงการอะไรอีกบ้างมาดูกัน!

วิเคราะห์ทำเล

พาไปดู 4 คอนโดใหม่ ในย่าน "ตลาดพลู" สุดยอดแหล่งของกินฝั่งธนฯ ใกล้ BTS ตลาดพลู และ BRT ราชพฤกษ์