fbpx
วิเคราะห์ทำเล

เปิดแผนพัฒนาเมืองย่านพหลโยธิน-รามอินทรา นอกจากรถไฟฟ้าจะมีโครงการอะไรอีกบ้างมาดูกัน!

สวัสดีครับ มีเพื่อนๆ คนไหนอยู่แถวพหลโยธิน-รามอินทรา หรือกำลังดูๆ บ้านในทำเลแถวนี้อยู่ไหมครับ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของย่านนี้ไปพอสมควรกับการที่เริ่มมีรถไฟฟ้าสายใหม่ มีถนนตัดใหม่มาตัด ทำให้ในอนาคตแถบนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งทำเลที่น่าจะเดินทางสะดวกขึ้น

แต่มีรถไฟฟ้าสายอะไรกำลังสร้างบ้าง มีรถไฟฟ้าสายอะไรอยู่ในแผนมาแถวนี้อีก? จะมีถนนไหนมาช่วยให้แถวนี้เดินทางสะดวกขึ้นได้บ้าง? วันนี้ LivingPop เลยจะขอพาไปดูถึงโครงการที่กำลังก่อสร้างในย่านนี้และที่กำลังจะมาในอนาคตที่จะช่วยให้ชาวพหลโยธิน-รามอินทราเดินทางได้สะดวกขึ้นกันครับ



โครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างใกล้เปิดบริการ

1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ

สถานะ : เปิดบริการแล้วบางส่วน

มาเริ่มกันที่สายแรก กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ สายนี้จะเป็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิม หรือ รถไฟฟ้า BTS นั่นเองครับ เส้นทางส่วนต่อขยายจะต่างจากสถานีหมอชิต มาทางห้าแยกลาดพร้าว ผ่านรัชโยธิน มา ม.เกษตร วิ่งบนถนนพพลโยธินมาเรื่อยจนสุดสายที่สถานีคูคตบนถนนลำลูกกา

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (เหนือ) หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ข้อดีของสายนี้คือเป็นเส้นที่ต่อขยายมาจากรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิทเดิมที่เป็นแกนหลักแกนนึงของรถไฟฟ้ากรุงเทพ ดังนั้นถ้าขึ้นรถที่สายนี้ ก็ไม่ต้องเปลี่ยนสาย ได้ผ่านจุดสำคัญๆ หลายจุดเลยครับไม่ว่าจะเป็น ห้าแยกลาดพร้าว, อนุสาวรีย์ชัยฯ, สยาม, อโศก, ทองหล่อ หรือบางนา แต่ถ้าจะไปรถไฟฟ้าสายอื่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวก็มีจุดตัดกับรถไฟฟ้าสายอื่นหลายจุดเช่นกัน เช่น ตัดกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่วงเวียนหลักสี่ หรือตัดกับสายสีน้ำเงินที่หมอชิตและอโศก

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือหลังจากก่อสร้างมาซักพักใหญ่ ก็เริ่มเปิดให้บริการส่วนต่อขยายบางสถานีมาจนถึง ม.เกษตร แล้วครับ และในปีหน้าก็จะเปิดบริการได้ทั้งสายไปจนถึงคูคต


2. รถไฟฟ้าสายสีชมพู

สถานะ : กำลังก่อสร้าง เปิดปี 2564

เรียกได้ว่าใครอยู่รามอินทรา ต้องรู้จักสายนี้เป็นอย่างดี เพราะเค้าสร้างตลอดสาย ตั้งแต่ต้นรามอินทราไปจนถึงมีนบุรีนู่นเลย เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะเริ่มจากบริเวณใกล้แยกแคราย เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี วิ่งมาตามถนนติวานนท์ เลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนจะข้ามถนนวิภาวดี ข้ามแยกวงเวียนหลักสี่ และวิ่งบนถนนรามอินทราทั้งเส้น ไปจบที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณมีนบุรี-รามคำแหง

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

สังเกตเส้นทางสายนี้จะไม่ได้วิ่งเข้าเมืองตรงๆ เลยใช่ไหมครับ แต่จะเป็นการวิ่งรอบนอก เพื่อให้คนที่อยู่ในโซนต่างๆ เหล่านี้สามารถขึ้นรถไฟฟ้าสายสีชมพู แล้วไปเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายหลักสายอื่นๆ ที่วิ่งเข้าเมืองอีกที เช่นสายสีเขียว, สายสีส้ม หรือ สายสีม่วง ซึ่งข้อดีก็คือทำให้สถานที่สำคัญที่อยู่ในย่านอาจจะไม่กลางเมืองมาก อย่างเช่น เมืองทองธานี และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เซ็นทรัล/แฟชั่นรามอินทรา คนที่อยู่ย่านนี้ก็สามารถไปได้สะดวกขึ้น

รูปแบบของรถไฟฟ้าสายสีชมพูอาจจะแปลกตากว่ารถไฟฟ้าเดิมๆ ที่เราเคยมีเล็กน้อย ด้วยการที่สายนี้จะเป็นรถไฟฟ้า Monorail 2 สายแรกในไทยครับ (มีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอีกสายที่สร้างพร้อมกัน) ซึ่งด้วยรูปแบบโครงการที่เป็น Monorail จึงทำให้การก่อสร้างค่อนข้างไวพอสมควร สังเกตว่าหลังก่อสร้างมาประมาณปีกว่า ตอนนี้โครงสร้างคืบหน้าไปเยอะมากแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 ครับ


3.รถไฟฟ้าสายสีแดง

สถานะ : กำลังก่อสร้าง เปิดปี 2564

อีกหนึ่งสายรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างกันมาพักใหญ่ๆ จนใกล้จะเปิดให้บริการในอีก 1-2 ปีข้างหน้าแล้ว กับรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่เส้นทางการวิ่งจะอยู่บนทางรถไฟเดิม เริ่มตั้งแต่จากสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีกลางสำหรับรถไฟสถานีใหม่ที่ใหญ่โตมาก เตรียมสร้างเพื่อมาแทนที่หัวลำโพง ใครที่ขึ้นทางด่วนผ่านแถวๆ บางซื่อน่าจะต้องเคยเห็นกัน โดยจะวิ่งมาเลียบกับถนนวิภาวดีไปจนถึงบริเวณรังสิต ในอนาคตมีแผนที่จะสร้างส่วนต่อขยายออกไปถึง ม.ธรรมศาสตร์ด้วยเช่นกัน

สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟศูนย์กลางแห่งใหม่แทนที่หัวลำโพง

รถไฟฟ้าสายสีแดง อาจจะแตกต่างจาก รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หรือ รถไฟฟ้า BTS บ้างตรงที่รถสายนี้เค้าไม่ได้มีสถานีจอดทุกๆ หนึ่งกิโลเมตร เหมือนรถไฟฟ้าในเมืองนะครับ แต่ตัวสถานีเค้าจะห่างกันหน่อย เพราะเริ่มออกมานอกเมืองแล้ว ข้อดีคือพอสถานีห่างก็ทำความเร็วได้สูงกว่า ดังนั้นทำให้จากรังสิต/ดอนเมือง เข้ามาในเมืองจะใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องจอดบ่อยๆ เน้นส่งคนเข้าเมืองได้อย่างรวดเร็ว (ใครนึกภาพไม่ออกลองนึกถึง Airport Rail Link ก็ได้ครับ สายนั้นขึ้นไม่นานมาก แปปๆ ถึงลาดกระบัง/สุวรรณภูมิแล้ว)

หน้าตาของขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีความคืบหน้าไปพอสมควร เราอาจจะเห็นตัวสถานีต่างๆ เสร็จเกือบหมดแล้ว แต่เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อมีขนาดใหญ่มาก และต้องเปิดพร้อมกัน เลยทำให้คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 ครับ


โครงการรถไฟฟ้าที่เพิ่งอนุมัติ

4. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

สถานะ : ประมูลเสร็จแล้ว เตรียมเวนคืนและเข้าพื้นที่ก่อสร้าง

โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่เพิ่งอนุมัติไปเมื่อไม่นานนี้เองครับ โดยจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกัน 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินอู่ตะเภา โดยโครงการนี้จะเป็นเหมือนกับส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า Airport Rail Link เดิม ที่วิ่งจากพญาไทไปสุวรรณภูมิ

โดยจากพญาไทก็จะมีการสร้างเส้นทางต่อมาที่สถานีกลางบางซื่อ และมาสิ้นสุดที่บริเวณหน้าสนามบินดอนเมือง เส้นทางฝั่งนี้จะขนานกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่กำลังก่อสร้างอยู่ในตอนนี้ ส่วนในด้านที่ไปสนามบินอู่ตะเภาจะสร้างต่อจาก Airport Rail Link บริเวณลาดกระบังครับ มีความเร็วสูงสุด 160 – 250 กม./ชม.

ข้อดีของสายนี้คือทำให้ผู้ให้สนามบินที่ต้อง Transit ข้ามกันระหว่างสนามบินสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องปวดหัวกะรถติด แต่ถามว่าแล้วคนที่ไม่ใช้สนามบินได้ประโยชน์ไหม อันนี้ก็ได้ประโยชน์เช่นกันเพราะมันไม่ได้แค่เชื่อมต่อสนามบินอย่างเดียวครับ แต่เรายังสามารถใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงไปในการไปเที่ยวภาคตะวันออกอย่างชลบุรี ศรีราชา พัทยา หรือ ระยองได้ด้วยนะ

ที่สำคัญโครงการนี้ไม่ได้เป็นโครงการเพ้อฝันอีกต่อไปแล้วเพราะล่าสุดทางกลุ่ม CP ได้เซ็นสัญญาประมูลการก่อสร้างและเดินรถเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2567 ครับ


แผนในอนาคต

หมายเหตุ

ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่แผน ยังไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน และอาจจะเปลี่ยนแปลงได้นะครับ แต่ทีมงานขอรวบรวมมาเพื่อให้เห็นภาพว่าในแถบนี้มีแนวทางหรือแนวโน้มจะพัฒนาไปทางไหน โดยอ้างอิงข้อมูลจากผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร 2556 (ฉบับปัจจุบัน) และข้อมูลโครงการของหน่วยงานต่างๆ ครับ

แผนตัดถนนสายใหม่

5. ถนนเทพรักษ์ส่วนต่อขยาย

สำหรับชาวพหลโยธิน-รามอินทรา น่าจะต้องเคยเห็นถนนเส้นนี้กันบ้าง กับถนนเทพรักษ์ (อ่านว่า เทพ-รัก) อย่าสับสนกับถนนเทพรัตน์ หรือ ถนนเทพารักษ์ กันนะฮะ

ถนนสายนี้จะวิ่งจากบริเวณพหลโยธิน 50 ตรงไปเรื่อยๆ ตัดกับถนนวัชรพล และสิ้นสุดที่ถนนสุขาภิบาล 5 ข้อดีของเส้นนี้ก็คือจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางแถบนี้ และใช้เป็นทางเลี่ยงรถติดของถนนรามอินทราได้ สามารถเข้าเส้นนี้เพื่อไปขึ้นทางด่วนจตุโชติบริเวณสุขาภิบาล 5 ได้สะดวกมาก ปัจจุบันถนนเทพรักษ์ก็เปิดมาได้ประมาณ 2-3 ปีแล้ว มีหมู่บ้านต่างๆ มาขึ้นพอสมควรตั้งแต่ระดับ 10-30 ล้าน แต่ในแผนนั้นถนนเทพรักษ์ยังไม่ได้สุดแค่นี้นะครับ ยังมีส่วนต่อขยายอยู่ในแผนด้วยเช่นกัน ได้แก่

ส่วนต่อขยาย ง.1 ออกถนนวิภาวดี เชื่อมสนามบินดอนเมือง

สถานะ : เตรียมก่อสร้าง เปิดปี 2564

ทุกวันนี้ถ้าใครที่อยู่ถนนฝั่งพหลโยธิน จะไปสนามบินดอนเมืองก็จะต้องอ้อมไปออกวิภาวดีก่อนใช่ไหมครับ แต่ว่าแผนส่วนต่อขยายนี้ จากเดิมที่แยกตรงพหลโยธิน 50 จะเป็น 3 แยกเข้าถนนเทพรักษ์ ก็จะทำเป็น 4 แยก เพื่อตัดถนนใหม่สามารถไปออกวิภาวดี 72 ได้ โดยในช่วงกลางของถนนตัดใหม่นี้จะมีทางที่สามารถเข้าออกทางทิศใต้ของสนามบินดอนเมืองได้ เรียกได้ว่าถ้ามาจากถนนเทพรักษ์ก็สามารถเข้าสนามบินได้เลย โดยจะสังเกตว่าในปัจจุบันได้มีการขยับสถานีรถไฟฟ้าสายหยุดให้ห่างจากแยกเล็กน้อย เพื่อให้สามารถสร้างสะพานข้ามแยกนี้ในอนาคตได้ด้วย คาดว่าจะเปิดปี 2564 (ข้อมูลเพิ่มเติม)

ส่วนต่อขยาย จ.1 ไปนิมิตรใหม่

สถานะ : แผนงานในอนาคต

ในอีกฝั่งหนึ่งของถนนเทพรักษ์ ที่ปัจจุบันสุดอยู่ที่ถนนสุขาภิบาล 5 ในอนาคตก็จะมีโครงการส่วนต่อขยายเพิ่มเติมไปถึงฝั่งของถนนนิมิตรใหม่เช่นกัน ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่เพิ่มความสะดวก และเลี่ยงรถติดของการต้องวิ่งบนถนนสายหลักสายเดิมอย่างรามอินทราลงไปได้ครับ


6. ถนนตัดใหม่ ข.10

สถานะ : แผนงานในอนาคต

สำหรับถนนเทพรักษ์ที่พูดถึงก่อนหน้าจะวิ่งขนานกับรามอินทราใช่ไหมครับ ส่วนสายนี้จะเป็นสายที่มาตัดตรงกลางของถนนเทพรักษ์ครับ โดยจุดเริ่มต้นของโครงการจะอยู่ที่ถนนรามอินทราบริเวณแยกลาดปลาเค้า ที่ปัจจุบันเป็น 3 แยก ตัดขึ้นมาทางซอยรามอินทรา 19 ผ่านถนนเทพรักษ์ ไปจบที่ถนนเพิ่มสิน ช่วยให้รูปแบบถนนบริเวณนี้เป็นตาราง สามารถเลือกเดินทางได้มากขึ้น สะดวกกว่าเดิม ไม่ต้องใช้ซอยย่อยๆ ในการลัดเลาะเพียงอย่างเดียว (ข้อมูลเพิ่มเติม)

ตามผังเมืองปัจจุบัน ถนนนี้จะมีแผนพัฒนาเป็นถนนระดับ ข. (กว้าง 16 เมตร) แต่ผังเมืองใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มใช้เร็วๆ นี้ จะปรับเป็นถนนระดับ ค. (กว้าง 20 เมตร) ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง


7. ขยายหัวท้ายถนนเพิ่มสินให้เข้าออกสะดวกขึ้น (ข.8)

สถานะ : แผนงานในอนาคต

ถนนเพิ่มสินเป็นถนนสายหลักอีกสายหนึ่งของย่านสายไหม เชื่อมต่อระหว่างซอยพหลโยธิน 54/1 กับถนนสุขาภิบาล 5 ปัจจุบันช่วงกลางของถนนนี้เป็นถนนกว้าง 4 เลนพร้อมทางเท้าอยู่แล้ว แต่ปลายถนนทั้งสองด้านเป็นถนนสองเลนแคบๆ ไม่มีทางเท้า ในอนาคตจึงมีโครงการที่จะตัดเส้นทางหัวท้ายของถนนสายนี้เพิ่มเติม โดยฝั่งพหลโยธิน จะสามารถไปทะลุออกที่ถนนพหลโยธินได้เลย (ใกล้ๆ กับ รพ.ภูมิพลฯ) และฝั่งสุขาภิบาล 5 จะต่อขยายไปบรรจบกับถนนจตุโชติครับ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

ทำความเข้าใจกับประเภทของถนนตามผังเมือง

หากข้อมูลถนนสายใหม่ๆ ด้านบน จะเห็นว่าชื่อถนนในผังเมือง จะเป็นตัวอักษรภาษาไทยแล้วตามด้วยตัวเลข เช่น ง.1 เราเลยอยากอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เพราะตัวอักษรที่ต่างกัน ก็สื่อถึงขนาดของถนนที่แตกต่างกันครับ

ง.

ขนาดของถนน

1

ลำดับที่
  1. ถนนแบบ ก ขนาดเขตทาง 12 เมตร กว้าง 2 ช่องจราจร ส่วนใหญ่จะเป็นถนนซอยย่อยในชุมชน
  2. ถนนแบบ ข ขนาดเขตทาง 16 เมตร กว้างประมาณ 2-4 ช่องจราจร
  3. ถนนแบบ ค ขนาดเขตทาง 20 เมตร กว้างประมาณ 4-6 ช่องจราจร
  4. ถนนแบบ ง ขนาดเขตทาง 30 เมตร กว้างประมาณ 6-8 ช่องจราจร
  5. ถนนแบบ จ ขนาดเขตทาง 40 เมตร กว้างประมาณ 6-10 ช่องจราจร
  6. ถนนแบบ ฉ ขนาดเขตทาง 50 เมตร กว้างประมาณ 8-12 ช่องจราจร
  7. ถนนแบบ ช ขนาดเขตทาง 60 เมตร กว้างประมาณ 8-14 ช่องจราจร

แผนรถไฟฟ้าสายใหม่

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา และสายสีน้ำตาล

8. รถไฟฟ้าสายสีเทา

สถานะ : แผนงานในอนาคต

รถไฟฟ้าสายสีเทาเป็นสายนึงที่ถูกพูดถึงบ่อย โดยเส้นทางในแผนจะเริ่มจากบริเวณ BTS สถานีทองหล่อ วิ่งผ่านมาบนซอยทองหล่อ ก่อนจะหักเลียวเล็กน้อยเข้ามาถนนเพชรบุรี แล้วเข้ามายังถนนเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา ผ่านถนนลาดพร้าว และมาสิ้นสุดที่ถนนรามอินทราที่สถานีวัชรพล รถไฟฟ้าสายนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกของคนในย่านรามอินทรา-ลาดพร้าว ที่จะเข้ามาทำงานในแถบสุขุมวิทให้ไม่ต้องไปอ้อมขึ้นรถไฟฟ้าสายอื่น โดยสายสีเทาจะตัดตรงเข้ามาในบริเวณสุขุมวิทตอนกลางได้เลย

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบของตัวโครงการอยู่ครับว่าจะออกมาในรูปแบบใด โดยล่าสุดคาดว่าจะเป็นรถแบบ Monorail โดยโครงการอยู่ภายใต้การดูแลของกทม. ยังไม่มีกำหนดเวลาก่อสร้างแน่นอน


8. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย – ลำสาลี)

สถานะ : แผนงานในอนาคต

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเป็นอีกสายที่เชื่อมต่อจากบริเวณแยกแครายที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (เชื่อมกับสายสีม่วงและสายสีชมพู) โดยจะวิ่งมาทางถนนงานวงศ์วาน ผ่านเดอะมอลล์งามวงศ์วานและข้ามถนนวิภาวดี ผ่านม.เกษตรและถนนพหลโยธินวิ่งเข้าถนนเกษตร-นวมินทร์ เมื่องถึงถนนนวมินทร์จะเลี้ยวเข้าถนนนวมินทร์ จนมาสุดสายที่บริเวณแยกลำสาลี ซึ่งมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองผ่านที่บริเวณแยกนี้

นอกจากนี้ตัวโครงสร้างบางส่วน จะมีการก่อสร้างใช้ร่วมกับทางด่วนขั้นที่ 3 ที่มีแผนกำลังจะสร้างด้วย โดยรูปแบบจะเป็นรถไฟฟ้า Monorail ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายนี้อยู่ในช่วงการศึกษา คาดว่าจะเปิดได้เร็วสุดในปี 2568


แผนทางด่วนสายใหม่

9. ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ

สถานะ : คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564

เป็นโครงการที่จะเชื่อมต่อทางด่วนในกรุงเทพฯ โซนเหนือเข้าด้วยกัน โดยจะสร้างอยู่บนแนวถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) ตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษก มาจนเกือบถึงแยกเกษตรครับ แต่ตามแผนงานใหม่ แนวเส้นทางจะเลี้ยวขึ้นไปตามคลองบางบัว ไปเลาะทางทิศเหนือของ ม.เกษตรศาสตร์ จากนั้นวกกลับมาเลียบถนนวิภาวดีรังสิตจนถึงแยกต่างระดับรัชวิภา แล้วเลี้ยวขวาไปบรรจบกับทางด่วนศรีรัช และทางด่วนสายใหม่ที่ไปฝั่งธนบุรี

จากข่าวล่าสุด ทางการทางพิเศษฯ จะสร้างจากกาญจนาภิเษกมาสุดที่แยกเกษตรก่อนครับ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่กับ ม.เกษตรศาสตร์ และการสร้างตามแนวใหม่ที่อ้อมไปเลียบวิภาวดีจะค่อนข้างยุ่งยาก ต่างจากช่วงเกษตร-นวมินทร์ ที่มีการเตรียมฐานรากเอาไว้หมดแล้ว คาดว่าจะเริ่มสร้างในปี 2564 เสร็จปี 2567 ครับ (ข้อมูลเพิ่มเติม)

แนวเส้นทางของทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และทางเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช

10. ทางด่วน ฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี

สถานะ : แผนงานในอนาคต

เป็นโครงการต่อขยายทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระยะทางรวมประมาณ ๑๐๒ กิโลเมตร เริ่มจากปลายทางด่วนฉลองรัชบริเวณถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก) ไปทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ ถนนลำลูกกา ถนนรังสิต–นครนายก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓ (ถนนสุวรรณศร) ไปสิ้นสุดที่ถนนมิตรภาพ ใกล้กับจังหวัดสระบุรี

ปัจจุบันการศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) (ข้อมูลเพิ่มเติม)

แนวเส้นทางของทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี

Sponsored by พฤกษาวิลล์ พหลโยธิน – รามอินทรา

หลังจากที่มีรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ มีถนนตัดใหม่ตัดเข้ามาในย่านถนนพหลโยธินรามอินทรา สังเกตได้ว่าบริเวณสถานีรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างในปัจจุบัน จะมีโครงการคอนโดมิเนียมมาขึ้นหลากหลายเต็มไปหมด ทั้งตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) หรือสายสีเขียว (ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต) แต่วันนี้เราจะขอพาไปรู้จักกับโครงการ พฤกษาวิลล์ พหลโยธิน – รามอินทรา เป็นโครงการที่อยู่ในทำเลถัดออกมาจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเล็กน้อย เพียงประมาณ 2 กิโลเมตรจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสามารถออกทางถนนตัดใหม่เทพรักษ์เพื่อไปรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ด้วยเช่นกัน แต่ในราคาที่ไม่ได้หนีคอนโดมิเนียม 2 ห้องนอนมาก ที่นี่จะได้บ้านทาวน์โฮมทั้งหลังเลยรวมถึงได้ที่ดินด้วย ราคาเริ่มต้นประมาณ 3 ล้านกลางๆ เราลองมาทำความรู้จักโครงการนี้กันครับ

ทำเลของโครงการพฤกษาวิลล์ พหลโยธิน-รามอินทรา จะตั้งอยู่ในซอยรามอินทรา 5 โดยเข้ามาในซอยประมาณ 2 กม. กว่าๆ ก็จะถึงตัวโครงการเลยครับ เเต่ถ้าหากเรามาจากฝั่งเลียบทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา ก็สามารถกลับรถที่แยกลาดปลาเค้า แล้วเข้า-ออกที่ซอย รามอินทรา 19, 21 เเละ 23 ก็ได้เช่นกันครับ

ความพิเศษของซอยนี้ก็คือนอกจากจะเข้าจากทางรามอินทราได้แล้ว อีกด้านนึงของซอยยังสามารถออกไปเชื่อมกับถนนตัดใหม่เทพรักษ์ (พหลโยธิน 50) ซึ่งถนนเส้นนี้จะไปเชื่อมเข้าถนนพหลโยธิน อีกทีนึง จากทางด้านนี้จะใช้ระยะทางประมาณ 4 กม. จากโครงการถึงรถไฟฟ้าสถานีสายหยุด ทำให้โครงการนี้ในระยะ 2-4 กม. จากตัวโครงการ มีรถไฟฟ้าถึง 2 สายมาให้เลือก

จุดเด่นของโครงการพฤกษาวิลล์ พหลโยธิน-รามอินทรา

โครงการนี้จะเป็นโครงการพฤกษาวิลล์ที่ไม่เหมือนพฤกษาวิลล์ก่อนๆ ที่เคยทำมา โดยจะมีการปรับแบบบ้าน และแบบของโครงการใหม่ อัปเกรดให้ spec และการ design ดูดีขึ้น สังเกตได้จากทั้งทางเข้าโครงการ สวนในพื้นที่ส่วนกลาง Club House และแบบบ้าน ทั้งหมดจะถูกออกแบบให้มาในสไตล์เดียวกันเป็นสไตล์ Colonial ดูหรูหรายิ่งขึ้น

สำหรับแบบบ้านของที่นี่ก็มีความพิเศษเช่นกัน คือบ้านทุกหลังของที่นี่จะเป็นบ้านแบบ “เพดานสูง” โดยในชั้น 2 เพดานจะสูง 3-3.5 เมตร แบบบ้านเริ่มต้นของที่นี่จะเริ่มที่ 113-128 ตารางเมตร ทำออกมาได้เป็น 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เหมาะกับครอบครัวเริ่มต้นที่อยากได้พื้นที่ห้องต่างๆ เป็นสัดเป็นส่วน และเผื่อครอบครัวขยายในอนาคต

นอกจากบ้านแบบ 2 ชั้นแล้ว โครงการพฤกษาวิลล์ยังมีบ้านแบบ Duplex 2.5 ชั้น ที่ห้องนั่งเล่นชั้นล่างเปิดโล่งแบบ Double Volume ทำให้บ้านดูโปร่ง โล่งเป็นพิเศษ แถมให้กระจกขนาดใหญ่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้าน ในบ้าน type นี้จะได้ชั้นลอยเพิ่มเติมมาด้วย แบบบ้านนี้จัดออกมาได้ 5 ห้องนอนเลยทีเดียว สำหรับราคาจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านครับ

สำหรับใครที่สนใจโครงการนี้ เรามีรีวิวแบบเต็มๆ ของโครงการนี้ทำเอาไว้ด้วยครับ สามารถไปอ่านรีวิวโครงการพฤกษาวิลล์ พหลโยธิน-รามอินทรา เต็มๆ ได้ที่บทความด้านล่างนี้เลยครับ ^^

Related posts
วิเคราะห์ทำเล

วิเคราะห์ทำเลย่าน “บางนา” ในปี 2024 ...อะไรที่ทำให้ Developer เจ้าต่างๆ สนใจทำเลนี้??

วิเคราะห์ทำเล

ส่องทำเลและอนาคตของย่าน “เลียบด่วน เอกมัย-รามอินทรา” น่าสนใจยังไง และกำลังจะมีอะไรอีกบ้าง

วิเคราะห์ทำเล

ส่องทำเล "จรัญ-บางอ้อ" ย่านติดรถไฟฟ้าสายหลักที่ราคาคอนโดยังถูกอยู่!... 😄

วิเคราะห์ทำเล

พาไปดู 4 คอนโดใหม่ ในย่าน "ตลาดพลู" สุดยอดแหล่งของกินฝั่งธนฯ ใกล้ BTS ตลาดพลู และ BRT ราชพฤกษ์