fbpx
รถไฟฟ้า-คมนาคม

ย้อนดู Timeline “ตั๋วร่วม” เมืองไทย 🕷 แมงมุมติดอะไร? 🐇 ทำไมแรบบิทไม่เกิด? แล้วเมื่อไหร่จะได้ใช้?

วันนี้ LivingPop ขอพาทุกคนไปย้อนเวลา สืบตำนานประวัติศาสตร์ 14 ปีของ “ตั๋วร่วม” หรือโครงการบัตรโดยสารใบเดียวใช้ระบบคมนาคมได้ทุกประเภทกันครับ ว่าโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ มีเส้นทางการพัฒนาเป็นยังไงบ้าง ทำไมถึงได้ช้าเหลือเกิน

แล้วข้อสรุปถึงสาเหตุของปัญหา ที่มากกว่าข้อความสูตรสำเร็จที่มักจะตอบกันว่า “อ๋อ ก็แบ่งเค้กไม่ลงตัวน่ะ!” คืออะไรบ้าง

ขอบอกว่าเรื่องนี้อาจยาวสักหน่อย แต่เราพยายามจะเลือกช่วงเวลาที่สำคัญๆ มาปักหมุดให้ได้ไล่ timeline กัน ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ตามไปดูกันครับ


การอธิบายตอบคำถามของผู้บริหาร BTS ในวันที่ 26 เมษายน 2564 ทำให้ทีมงานไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมมาพยายามอธิบายเล่า timeline ให้อ่านกันในวันนี้ครับ

สำหรับใครที่อยากชมบันทึกการแถลงข่าว หรืออยากอ่านเนื้อความของคุณสุรพงษ์เต็มๆ ตามไปดูได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ

26/04/2564 (นาทีที่ 25:20) บีทีเอส ชี้แจงความคืบหน้า ในการดำเนินงาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

https://www.facebook.com/watch/live/?v=1017305648799260

26/04/2564 “บีทีเอส” แฉเหตุใด? “ตั๋วร่วม” ไม่เกิดสักที ยันวันนี้ระบบแมงมุมพร้อมแล้ว…
https://www.dailynews.co.th/economic/839483


ก่อนจะเริ่ม มาดูเลเวลของตั๋วร่วมกันก่อน อันนี้เป็นการแบ่งให้เข้าใจง่ายๆ โดยพวกเราเองนะครับ

1. แค่ใช้บัตรใบเดียวกันเฉยๆ ตัวกระเป๋าเงินหรือแพกเกจเที่ยวเดินทางแยกกันเด็ดขาด

ตัวอย่างก็บัตรที่บอกว่ามีหลายชิป หลายวงเงิน ก็เช่น “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่มีวงเงินสำหรับรถไฟฟ้าก้อนนึง รถไฟก้อนนึง ซื้อของอุปโภคบริโภคก้อนนึง หรือจะเป็นพวกบัตรเครดิต/เดบิตร่วมที่เราเคยเห็นเช่นบัตร Be1st Rabbit หรือ Krungthai เดบิตแมงมุม ที่มีกระเป๋าเงินสำหรับใช้ขึ้นรถไฟฟ้าแยกต่างหาก แค่รวมเอาไว้ในบัตรเดียวกันครับ

จริงๆ ถ้าเป็น Level แค่นี้ บางทีอาจจะสามารถทำบัตรใบนึงที่มีกระเป๋าแรบบิท กระเป๋าแมงมุม แยกต่างหากจากกันก็ยังได้นะครับ …. แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้เดินทางสะดวกขึ้นเนอะ ต้องเติมเงินไว้สองที่อะไรทำนองนั้น


2. บัตรใบเดียวกัน ใช้กระเป๋าเงินสดร่วมกัน แต่ต่างคนต่างคิดค่าโดยสารของตัวเอง

อันนี้เป็น “ตั๋วร่วมจริงๆ” ในขั้นแรกครับ คือเป็นบัตรใบเดียวที่มีกระเป๋าเงินอยู่ก้อนเดียว สามารถใช้แตะเข้าระบบรถไฟฟ้าได้ทุกสายโดยหักเงินที่เติมเอาไว้จากกองเดียวกัน โดยในขั้นนี้ขอแค่เอาให้มันใช้ข้ามสายกันได้ก่อน ยังไม่ต้องคิดไปถึงการคิดค่าโดยสารแบบต่อเนื่องตามระยะทาง ไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อเปลี่ยนสาย อะไรแบบนี้นะครับ


3. บัตรใบเดียว กระเป๋าเงินเดียว เดินทางข้ามสายได้เหมือนเป็นระบบเดียวกัน ไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน

เป็นระดับสูงสุดที่โครงการตั๋วร่วมพยายามจะไปให้ถึงครับ หลายคนฝันว่าเราจะมีระบบรถไฟฟ้าที่ไม่เกี่ยงงอน อันนี้สายของฉัน อันนั้นสายของเธอ จะข้ามมาเธอต้องเสียเงินใหม่นะ

ซึ่งความยากของการจะไปสู่ระดับนี้คือ “แล้วใครจะรับผิดชอบค่าแรกเข้าที่หายไป” ซึ่งด้วยความที่รถไฟฟ้าส่วนใหญ่บ้านเราให้บริการโดยเอกชน มันก็เลยยากนิดนึงที่จะไปบังคับให้เขาเหล่านี้ตัดรายได้ตัวเองลงไปโดยที่ไม่มีอะไรมารองรับครับ


เรามาเริ่มกันที่ปี 2550 ย้อนหลังไปเกือบ 14 ปีครับ

เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นความ “จริงจัง” เรื่องการเดินทางเชื่อมต่อด้วยตั๋วร่วม โดยจะเป็นการรายงานการดำเนินงานประจำปีของกระทรวงคมนาคม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2550 ครับ ในรายงานบอกเอาไว้ว่า กระทรวงคมนาคมได้ประสานงานกับ BTS – BMCL – ขสมก – การรถไฟฯ – แบงค์ชาติ – ก.คลัง เพื่อวางแผนกันเรื่องการพัฒนาระบบตั๋วร่วม

โดยรายงานเรื่องนี้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “จะเร่งรัดให้ BTS และ BMCL สามารถใช้ระบบตั๋วร่วมกันได้ภายในเดือนธันวาคม 2550”

*BMCL คือบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT ในขณะนั้น ภายหลังมีการควบรวมกับบริษัท BECL (ซึ่งให้บริการทางด่วน) กลายเป็นบริษัท BEM ในตอนนี้ครับ

เมษายน 2554

คณะรัฐมนตรีอนุมัติ “โครงการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” จัดตั้งหน่วยงาน แต่งตั้งคณะกรรมการ วางนโยบาย จัดงบประมาณ ฯลฯ



เมษายน 2555 บีทีเอสเปิดตัว “แรบบิท”

เริ่มใช้งานบัตรแรบบิทครั้งแรก พร้อมกับการเริ่มเก็บเงินค่าโดยสารส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ข่าวช่วงแรกๆ บอกว่าสามารถใช้งานได้ทั้ง BTS และ MRT ด้วยนะครับ มีการให้ข้อมูลว่าอยู่ระหว่างการทดสอบระบบภายใน จะใช้ได้ในเร็ววัน แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

มีใครทันบัตรรุ่น Limited ลายนี้บ้างครับ ผมเคยมี 2 ใบ แต่หายไปแล้วอ่ะ T_T


มกราคม 2557

สนข. เปิดประมูลให้เอกชนจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Clearing House) สำหรับระบบตั๋วร่วม โดยมีกลุ่มบริษัท BSV ที่นำโดย BTS ชนะการประมูล งบประมาณ 338 ล้านบาท

การประมูลนี้มีเรื่องราวที่ค่อนข้างอื้อฉาวครับ มีการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใส ความไม่ถูกต้องของชื่อบริษัทที่เข้าประมูล ฯลฯ จนทำให้แผนงานที่ตอนแรกจะเปิดให้ยื่นประมูลเดือนมกราคม และประกาศผลในเดือนเมษายน 2557 ล่าช้าไปจนกว่าจะเซ็นสัญญาเริ่มงานกันจริงๆ ก็ปาเข้าไปเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โน่นเลย

Timeline การทำงาน จากข่าวคือ

“ตั้งแต่กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2558 จะเป็นการออกแบบระบบ จากนั้นสิงหาคม 2558 -กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการติดตั้งระบบ และช่วงมีนาคม-สิงหาคม 2559 เป็นช่วงการทดสอบระบบ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นไป จะนำร่องใช้ระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จากนั้นจะขยายเพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เป็นต้น”


กุมภาพันธ์ 2558

สนข. จะจัดตั้ง “บริษัทจัดการระบบตั๋วร่วม” มาบริหารจัดการ คาดว่าจะจัดตั้งเรียบร้อยในปี 2558

บริษัทนี้จะทำหน้าที่อะไร? ก็จะเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของบัตรตั๋วร่วม ทำหน้าที่ผลิตบัตร จัดจำหน่าย ทำการตลาด ดูแลรักษาเงินที่ผู้ใช้งานเติมเข้ามา จัดสรรเงินส่งไปให้ผู้ให้บริการแต่ละรายตามสัดส่วนการแบ่งรายได้ และดูแลรักษาระบบเทคโนโลยีต่างๆ ครับ

โดยมีแนวคิดคือจะให้หน่วยงานของรัฐถือหุ้น 50% ที่เหลือจะให้เอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบตั๋วร่วม เช่น ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ธนาคาร ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ อะไรประมาณนี้ครับ โดยขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็จะเสร็จไล่เลี่ยกับการติดตั้งระบบของกลุ่ม BSV ในภาพที่แล้วพอดีครับ ยอดไปเลย 😛



กรกฎาคม-ตุลาคม 2558

สนข. จัดการประกวดชื่อและตราสัญลักษณ์ตั๋วร่วม

การประกวดชื่อและตราสัญลักษณ์ตั๋วร่วม ภายใต้แนวความคิด “One for All Better” ดี๊ดี…ทุกจังหวะการใช้ชีวิต โดยสื่อถึงความเชื่อมโยงที่เป็นหนึ่งเดียว ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา ในการเดินทาง และการใช้ชีวิตที่ดีกว่า ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 160,000 บาท

จากผลการประกวดนี้ ทำให้ถือกำเนิดชื่อ “แมงมุม – MANGMOOM” ซึ่งเป็นผลงานชนะเลิศของคุณววรรธิชา อเนกสิทธิสิน มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีครับ เราเอาตัวอย่างรางวัลที่ 2-3 และรางวัลชมเชยมาให้ดูด้วยครับ นี่ถ้ารางวัลที่ 3 “ตั๋วช้าง” ได้ชนะเลิศ ตอนนี้คงได้แซะกันเป็นว่าเล่นแล้ว ฮ่าๆ


พฤษภาคม 2559 ติดตั้งระบบเสร็จแล้ว พร้อมทดสอบ!

ทาง สนข. ออกมาให้ข้อมูลสรุปเรื่องการพัฒนาระบบตั๋วร่วมครับ ซึ่งจากข่าวสรุปได้ว่า

  • ระบบตั๋วร่วมส่วนกลางที่จ้างติดตั้งนั้น เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในช่วงทดสอบ จะสมบูรณ์พร้อมใช้ในเดือนสิงหาคม 2559
  • ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ จะต้องไปปรับปรุงหัวอ่านบัตรของตัวเอง โดยใช้เวลาอีกไม่เกิน 6-7 เดือน
  • สายไหนพร้อมก่อน ก็เริ่มใช้ได้ก่อน บางสายจะสามารถเปิดได้ในปี 2559 แน่นอน
  • รถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังสร้าง ก็จะต้องรองรับระบบบัตรแมงมุมด้วย
  • รถไฟ รฟท. รถไฟความเร็วสูง เรือด่วนเจ้าพระยา ถ้าติดตั้งเครื่องอ่านเรียบร้อย ก็ใช้งานบัตรแมงมุมได้ด้วย

เมษายน 2560 ขสมก. เปิดประมูลติดตั้งระบบ E-Ticket

ในฝั่งของรถเมล์นั้นก็มีโครงการปรับปรุงระบบจ่ายเงินให้เป็นระบบที่ทันสมัยด้วยเหมือนกันครับ โดยกำหนดว่าต้องสามารถรองรับมาตรฐานตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม (แมงมุม) ได้ โดยบริษัท ช.ทวีฯ ชนะการประมูล เริ่มงานเดือนมิถุนายน จะเสร็จ 100 คันแรก เดือนตุลาคม 2560

ระบบที่ ขสมก. จะทำ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือระบบ E-Ticket ที่เป็นเครื่องแตะบัตรที่ประตูทางขึ้น-ลง และเครื่องเก็บเงิน Cash Box ที่ใช้หยอดเหรียญซื้อตั๋วโดยสารสำหรับคนที่ไม่มีบัตรเติมเงิน ซึ่งจากการทดลองใช้งานก็มีข่าวเป็นระยะๆ ว่ามีข้อติดขัดมากมาย ทั้งความช้าของระบบ ความไม่เคยชิน จนสุดท้ายก็มีการยกเลิกสัญญาไป

ซึ่งเราจะมาพูดถึงอีกทีเมื่อเราไล่ timeline ไปถึงตอนนั้นครับ



29 สิงหาคม 2560

คณะรัฐมนตรีมีมติโอนงานระบบตั๋วร่วม จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้สำนักธุรกิจบัตรโดยสาร รฟม. เป็นผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

ตอนนี้ระบบบริหารจัดการตั๋วร่วม ไปอยู่ในมือ รฟม. เรียบร้อยครับ ซึ่ง รฟม. เองก็มีรถไฟฟ้าที่กำกับดูแลอยู่แล้ว คือสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ขีดเส้นตรงนี้เอาไว้นะครับ


ตุลาคม 2560

เปิดตัวบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น รฟม. โดยประกาศว่าจะมีการแจกบัตรฟรี 200,000 ใบ ภายในปี 2561 จะใช้ได้กับคมนาคมทุกระบบทั้ง BTS MRT ARL และ ขสมก.

โดยจะเริ่มใช้ได้ 1 ตุลาคม เริ่มจาก “สถานีร่วม” ก่อน เช่น หมอชิต พญาไท ซึ่งอันนี้เราอ่านข่าวแล้วก็งงเหมือนกัน มันจะเป็นไปได้หรือที่จะใช้ได้แค่บางสถานี เพราะถ้าเราแตะบัตรเข้า มันก็ต้องเอาบัตรเดิมแตะออก แล้วถ้าเราไปออกสถานีอื่นล่ะ ก็เท่ากับว่าออกไม่ได้หรือเปล่า?

ใช่ครับ เนื่องจากระบบยังไม่พร้อมใช้งาน หลังจากนั้นก็เลยยังไม่ได้แจกบัตรแมงมุมอย่างที่ว่ามา กว่าจะได้แจกบัตรจริงๆ ก็อีกเกือบๆ ปีหลังจากนี้เลยฮะ


ตุลาคม 2560

รัฐบาลออก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รุ่นพิเศษสำหรับชาวกรุงเทพฯ และอีก 6 จังหวัด โดยจะเป็นบัตรที่มี “ชิปแมงมุม” ซึ่งตามข่าวบอกว่าจะสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้า รถเมล์ ขสมก. รถไฟ รฟท. และรถโดยสาร บขส. พร้อมใส่เงินให้ระบบละ 500 บาท/เดือน

เริ่มแจกบัตรจริงๆ 17 ตุลาคม 2560 โดยในช่วงแรกยังใช้งานกับรถไฟฟ้าไม่ได้ และในส่วนของรถเมล์ก็ยังล่มอยู่เรื่อยๆ หลังจากนั้นเกือบปี ในเดือนกรกฎาคม 2561 ถึงจะสามารถใช้งานที่ MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงโดยแตะบัตรที่ประตูอัตโนมัติได้ แต่สำหรับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ วิธีการใช้งานก็คือ เอาบัตรไปยื่นที่ห้องจำหน่ายตั๋วเพื่อซื้อตั๋วเดินทางจริงๆ อีกทีครับ

บัตรรุ่นนี้ บางทีก็ถูกเรียกว่าบัตรคนจนเวอร์ชัน 2.0 หรือ 2.5 ครับ เพราะบัตรรุ่นถัดมาที่เป็นบัตรคนจนเวอร์ชัน 4.0 ไม่มีชิปแมงมุมแล้ว ต้องนำบัตรมาซื้อตั๋วเดินทางที่ห้องโดยสารเท่านั้น โดยบัตรรุ่นใหม่ 4.0 จะเป็นบัตรแบบ EMV ซึ่งเราจะพูดถึงในภาพต่อไปครับ



เมษายน 2561

ช่วงนี้มีการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของผู้ว่าการ รฟม. เลยมีการแถลงโชว์วิสัยทัศน์กันหน่อยครับ

รฟม. บอกว่ามีนโยบายที่จะจริงจังในการปรับปรุงระบบตั๋วร่วมเป็นระบบเปิด แบบ EMV (คือเอาบัตร Visa/Master ที่มีอยู่แล้วมาใช้แตะประตูได้เลย) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานได้มากๆ ครับ ซึ่งตามกำหนดการแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน ระบบดังกล่าวก็จะสามารถใช้งานได้ หรือก็คือ ประมาณต้นปี 2563 ครับ

… แต่สุดท้ายด้วยความเร่งรีบอยากรีบเปิดตัว “บัตรแมงมุม” ที่เพิ่งจะโอนรับงานมา ทาง รฟม. ก็เลยออกบัตรแมงมุมภายใต้ระบบเดิมของ รฟม. (MRT PLUS) ไปก่อน โดยจะเริ่มแจกบัตร 2 แสนใบในอีก 2 เดือนนับจากนี้ครับ


แล้วเจ้า EMV นี่มันคืออะไร? แตกต่างจากระบบเดิมยังไงกันนะ?

เราขอแวะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเพิ่มเติมถึงข้อแตกต่างระหว่างตั๋วร่วมแบบเดิม (แบบบัตรเติมเงินแมงมุม/แรบบิท) กับแบบ EMV กันก่อนครับ

— แบบเดิม —

ผู้ใช้งานเติมเงินลงในบัตร แล้วเมื่อนำไปแตะเข้าออกรถไฟฟ้าสายต่างๆ บริษัทรถไฟฟ้าก็จะส่งข้อมูลมาที่ “บริษัทตัวกลาง” หักจากเงินที่เก็บไว้ในบัตร ดังนั้นบริษัทตัวกลางก็จะต้องมีภาระในการดูแลรักษาเงินในบัตร ต้องจัดการระบบเติมเงิน ซื้อบัตร คืนบัตร รวมถึงทำการตลาดในการขายบัตรเองด้วย

— แบบ EMV —

ผู้ใช้งานสามารถใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต/บัตรเงินสดอื่นๆ ที่รองรับการแตะ เช่น Visa Paywave หรือ Mastercard Contactless ของธนาคารอะไรก็ได้ มาแตะเข้าออกรถไฟฟ้า “บริษัทตัวกลาง” จะหักเงินจากบัตรนั้นโดยตรง หักเงินกันเป็นรายครั้ง ไม่ต้องเติมเงินเก็บไว้ ทำให้บริษัทตัวกลางไม่ต้องคอยจัดการเงินสะสมในบัตร ไม่ต้องขายบัตรเอง ไม่ต้องทำการตลาดเองเพราะธนาคารเจ้าของบัตรแต่ละเจ้าจะแข่งกันขายให้


ว่าด้วยเรื่อง “บริษัทตัวกลาง” หรือ “บริษัทจัดการระบบตั๋วร่วม”

จากที่เคยบอกไปในช่วงปี 2558 ตอนที่ตั๋วร่วมยังอยู่ในมือของ สนข. ว่าจะมีการจัดตั้ง “บริษัทตัวกลาง” ขึ้นมาจัดการระบบตั๋วร่วม พอมาอยู่ในมือ รฟม. และมีนโยบายที่จะเปลี่ยนเป็นระบบ EMV แล้ว ดังนั้น รฟม. จึงเริ่มคิดว่าการตั้ง “บริษัทตัวกลาง” ที่ต้องมีการร่วมทุนกันระหว่างรัฐและเอกชนผู้ให้บริการรายต่างๆ อาจจะไม่จำเป็นแล้ว เพราะไม่ต้องมีภาระในการจัดการเรื่องเงิน เรื่องบัตร สิ่งที่ต้องทำมีแค่การจัดสรรเงินในแต่ละเที่ยวการเดินทางไปให้ผู้ให้บริการเลย ซึ่งสามารถตั้งหน่วยงานย่อยใน รฟม. มาบริหารจัดการเองได้


EMV เป็นระบบเปิดก็จริง แต่ไม่ฟรี

เพราะทุกการใช้จ่ายจะถูกหักค่าธรรมเนียม 0.8% โดยจะถูกนำไปแบ่งให้ 3 ส่วน คือ

  • 0.3% ให้ธนาคารเจ้าของบัตรที่ใช้งาน
  • 0.38% ให้ธนาคารกรุงไทยที่เป็นผู้พัฒนาระบบ
  • 0.12% ให้ รฟม. ที่เป็นตัวกลางในการจัดแบ่งเงิน

ยุ่งยากใช่เล่นเลยจริงไหมครับ?



มิถุนายน 2561 รฟม. จัดงานเปิดตัวบัตรแมงมุมอย่างเป็นทางการ

ใช่ครับ เนื่องจากระบบ EMV นั้นต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการพัฒนา ดังนั้น รฟม. ก็เลยแจก ”บัตรแมงมุม” จำนวน 200,000 ใบ ซึ่งจะใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วงเท่านั้น และบอกว่าจะใช้ขึ้นรถเมล์ ขสมก. ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ส่วน Airport Rail Link อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบเครื่องอ่านบัตร

ในส่วนของ BTS นั้นให้ความเห็นว่า ในเมื่อ รฟม. มีแผนจะปรับปรุงระบบให้เป็น EMV อยู่แล้ว ก็จะรอปรับทีเดียวเลยดีกว่า เพราะถ้าปรับปรุงหัวอ่านให้อ่านบัตรแมงมุมได้วันนี้ อีกไม่ถึงปีก็ต้องมาปรับใหม่ให้รับกับระบบใหม่อีกอยู่ดี


มีนาคม 2562 รถเมล์วิ่งแซงไปแล้ว

เนื่องจากระบบ E-Ticket ของ ขสมก. ถูกออกแบบให้ใช้มาตรฐานเดิมของ สนข. แต่เมื่อมีการโอนงานตั๋วร่วมมาให้ รฟม. ซึ่งใช้เทคโนโลยีบนพื้นฐานของบัตร MRT PLUS ที่ รฟม. มีอยู่เดิม (จะได้แจกบัตรและใช้งานได้ไวๆ)ระบบของ ขสมก. จึงไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ ขสมก. ยกเลิกสัญญากับบรัษัท ช.ทวีฯ

จากนั้นประจวบเหมาะกับที่ธนาคารกรุงไทย ยื่นมือเข้ามาช่วยพัฒนาระบบ EMV และให้ยืมเครื่องสแกนอ่านบัตร 3,000 เครื่องไปใช้ก่อน ซึ่งเครื่องนี้สามารถแตะจ่ายเงินด้วยบัตรเดบิต/เครดิต บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายด้วย QR CODE ก็ได้ เรียกว่ารับได้หมดแทบทุกช่องทางการชำระเงิน

ขสมก. จึงเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกที่รองรับเทคโนโลยี EMV ในขณะที่รถไฟฟ้าสายต่างๆ ยังได้แค่ “มีนโยบาย-เจรจา-รอติดตั้ง” ครับ


มิถุนายน 2562

รฟม. ยอมรับว่าการพัฒนาระบบตั๋วร่วม EMV ยืดเยื้อ โดยเพิ่งคุยกับกรุงไทยเสร็จ ทำให้ต้องปรับเป้าหมายจากที่ต้องการจะให้เปิดใช้งานได้ในเดือนธันวาคม 2562 ไปเป็นเดือนกันยายน 2563 โดยยังเจรจากันอยู่ว่าใครจะเป็นคนออกเงินค่าวางระบบ ซึ่งถ้ายังสรุปไม่ได้ รฟม. จะออกเงินค่าวางระบบเอง โดยมีต้นทุนค่าวางระบบ 800 ล้านครับ



กุมภาพันธ์ 2563

มีการเสนอร่างระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครับ โดยเป็นการกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ เพื่อกำกับดูแลโครงการอย่างเป็นทางการ จากก่อนหน้านี้ที่ทำงานกันโดยยึดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 โดยยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายมารองรับการปฏิบัติงาน ประมาณนั้นครับ


ตุลาคม 2563

BEM ขอเงิน รฟม. ค่าปรับปรุงระบบหัวอ่านบัตรให้รองรับบัตรรถไฟฟ้าข้ามระบบ แต่ถูก รฟม. ตีกลับเพราะแพงเกินไป

จากที่ตอนนี้เส้นทางการพัฒนาระบบตั๋วร่วมถูกแยกออกเป็น 2 เส้นทาง คือ

  1. ทำระบบเครื่องแตะบัตรของเดิม ให้อ่านบัตรของเจ้าอื่นได้ด้วย (BTS-MRT-ARL)
  2. พัฒนาระบบ EMV

ทำให้ทางผู้ให้บริการแต่ละเจ้าต้องปรับปรุงเครื่องอ่านบัตรของตัวเอง ให้สามารถอ่านบัตรและส่งข้อมูลไปตัดเงินจากบัตรของเจ้าอื่นได้ด้วย โดยแต่ละเจ้าประเมินค่าใช้จ่ายออกมาดังนี้ครับ

  • BTS 120 ล้านบาท
  • ARL 105 ล้านบาท
  • BEM สายสีน้ำเงิน 100 ล้านบาท
  • BEM สายสีม่วง 140 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า BTS ไม่ขัดข้องครับ

และในส่วนของ ARL นั้นมีการประมูลปรับปรุงระบบอ่านบัตรและยกเลิกสัญญาไปแล้วเนื่องจากผู้รับเหมาไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนด

แต่ฝั่ง BEM นั้น ก็ตามข่าวเลยครับว่ามีการตั้งเบิกมาที่ รฟม. ทุกบาททุกสตางค์โดยที่บอร์ด รฟม. ก็ไม่อนุมัติเนื่องจากเห็นว่าแพงเกินไป และให้กลับไปต่อรองกับ BEM ใหม่ ซึ่งในส่วนของสายสีม่วง 140 ล้านบาท รฟม. สามารถลงทุนเองได้ ส่วนสายสีน้ำเงิน 100 ล้านบาท นั้น BEM บอกว่า “จ่ายไม่ไหว” ก็เลยยังไม่มีการปรับปรุงระบบดังกล่าวเกิดขึ้นครับ


มีนาคม 2564

รมว.ศักดิ์สยามบอกว่ากำลังเร่งให้จัดทำระบบตั๋วร่วมโดยเน้นให้ “บัตรที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถใช้งานข้ามระบบกันได้ก่อน” ส่วนเรื่องการพัฒนาระบบให้เป็นแบบ EMV ก็ให้เป็นแผนงานระยะต่อไป

โดยธนาคารกรุงไทยอาสาจะเข้ามาร่วมพัฒนาระบบ EMV ให้กับสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง รวมถึงร้านค้าหรือระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ สามารถมาสมัครได้ กรุงไทยจะลงทุนให้แต่ในการใช้งานก็จะมีค่าธรรมเนียมนะ



สรุปจะได้ใช้เมื่อไหร่? BTS ติดปัญหาอะไร?

อ้างอิงจากการให้ข้อมูลของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ระบบตั๋วร่วมล่าสุด แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

— ระยะสั้น —

ให้เร่งจัดทำระบบให้บัตรโดยสารที่ประชาชนมีอยู่ในปัจจุบัน สามารถใช้บัตรข้ามระบบได้ ซึ่งเมื่อสามารถใช้บัตรข้ามระบบระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนและส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางข้ามระบบสูงขึ้น
(อันนี้ไม่ได้บอกเวลาเอาไว้ บอกแค่ไปเร่งทำละกันนะ)

— ระยะยาว —

มีการจัดทำระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) โดยใช้บัตร EMV Contacless มาใช้ โดย รฟม.มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับสถาบันการเงินที่มีระบบ EMV ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารกรุงไทย ที่แจ้งว่ามีความพร้อมที่จะลงทุนในระบบ EMV ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการของธนาคารกรุงไทย สำหรับสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน โดยในเดือน ต.ค. 2564 จะใช้ได้ประมาณ 50% และจะใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือน ม.ค. 2565


อ่านมาถึงตรงนี้ พวกเรา LivingPop เลยคิดว่าควรจะสรุปมาให้ ตามความเข้าใจและการติดตามข่าวของพวกเราครับ เราคิดว่าที่โครงการตั๋วร่วมในเมืองไทย ไม่สามารถใช้งานได้จริงๆ สักที เป็นเพราะ…

  • เอกชนมีศักยภาพที่จะทำ (แรบบิท) แต่หน่วยงานของรัฐไม่เข้าร่วม ต้องการทำเอง จึงเกิดระบบที่ซ้ำซ้อน (แมงมุม)
  • ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ที่ทำอะไรก็ทำได้ไม่ดี ไม่สุดสักทาง นโยบายที่เปลี่ยนไปมา และไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน
  • รูปแบบการทำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าในสายแรกๆ ไม่ได้กำหนดเรื่องการร่วมมาตรฐานตั๋วร่วมเอาไว้ ทำให้มีปัญหาเมื่อต้องการลดค่าโดยสารแรกเข้าเมื่อใช้บริการระหว่างสาย
  • การตกลงผลประโยชน์ทางธุรกิจ เนื่องจากผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแต่ละสายเป็นเอกชนที่ต้องการผลกำไร การบังคับให้มาร่วมกันจึงต้องมีภาครัฐมาเป็นตัวกลางในการจัดสรร ไม่ให้ฝ่ายไหนเสียประโยชน์มากเกินไป เช่น การชดเชยให้กับผู้ให้บริการในกรณีที่ไม่คิดค่าแรกเข้าข้ามระบบ (ยังไม่รวมถึงหากต้องมีการจ่ายเงินชดเชย จะต้องเอาเงินจากภาษีส่วนไหนมาจ่ายด้วยนะครับ)

และสุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนได้ใช้งานตั๋วร่วมในเร็ววันครับ จะแมงมุม กระต่าย EMV หรืออะไรสักอย่างก็มาเถอะ รอนานแล้วววววว แต่ระหว่างรอพวกเราก็ขอฝากให้เพื่อนๆ ที่ผ่านมาถึงหน้านี้ ช่วยกด Like กดติดตามเพจเป็นกำลังใจให้เราด้วยนะครับ

บอกเลยว่าถ้าได้กำลังใจจากทุกคน จะให้เราคุ้ยข้อมูลย้อนอีก 20 ปีก็คุ้มค่าเหนือยครับ 55555


อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2