fbpx
รถไฟฟ้า-คมนาคม

เดือนตุลาคมนี้ รถไฟฟ้า BTS และ MRT จะใช้บัตรร่วมกันได้แล้ว!! [Update: เลื่อนอีก ตามคาดฮะ]

อย่างที่หลายคนอาจจะเคยได้ยิน และติดตามกันมานานแสนนาน กับเรื่อง “ตั๋วร่วม” ที่เป็นความพยายามของภาครัฐที่จะทำให้เราสามารถถือบัตรใบเดียว แล้วใช้บริการระบบขนส่งมวลชนได้ทุกสายทุกระบบ ซึ่งผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว เราก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าสักเท่าไหร่

ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนนโยบายแล้วครับ โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ BTS BEM รฟม. รฟท.  ไปพัฒนาระบบให้ “ใช้งานร่วมกันได้” โดยมีเดดไลน์คือเดือนตุลาคมนี้ครับ



📍 เรื่องนี้มีอะไรใหม่? ต่างจากข่าวเก่าๆ ยังไง?

ก่อนหน้านี้หลายปีที่ผ่านมา ความคิดเรื่องการมีบัตรใบเดียวเดินทางได้ทุกสาย โฟกัสไปอยู่ที่ #การประดิษฐ์บัตรยี่ห้อใหม่ขึ้นมาแล้วไปบังคับให้ทุกคนใช้ นั่นคือที่มาของ “บัตรแมงมุม” ที่เข็นกันออกมาเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ซึ่งต่างจากข่าวนี้คือ “เปลี่ยนจากการบังคับให้ทุกคนต้องรับแมงมุม เป็นการบอกให้ทุกบริษัทต้องใช้งานบัตรของเจ้าอื่นได้ด้วย” แทนนั่นเองครับ


📍 ย้อนอดีตกว่า 10 ปี ไอเดียตั๋วร่วมที่ไม่คืบหน้า

ความคิดเรื่องตั๋วร่วมเริ่มมีประมาณปี 2549 เมื่อมีการวางแผนแม่บทสร้างรถไฟฟ้าหลายสายใน กทม. โดยในระยะแรกนั้น นโยบายของภาครัฐ คือการตั้งบริษัทกลางขึ้นมาเพื่อเป็นคนกลางในการเก็บรายได้ (Clearing House) แล้วค่อยกระจายให้แต่ละสายตามสัดส่วน โดยบริษัทนี้จะถือหุ้นร่วมกันระหว่างบริษัทขนส่งมวลชนทุกสาย และธนาคาร ซึ่งการทำแบบนี้จะคล้ายๆ กับหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่จะมีบริษัท TransitLink เป็นบริษัทกลางดังกล่าวครับ 

โดยเริ่มมีการมอบหมายหน่วยงานไปดำเนินงานตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งหน่วยงานที่รับเรื่องนี้ไปบริหารจัดการ คือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีความคืบหน้า กระทั่งต่อมาในช่วงปี 2560 รัฐบาลดึงกลับมาให้ รฟม. เป็นหน่วยงานหลักที่จะตั้งบริษัทขึ้นมาจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีการเปิดตัว “บัตรแมงมุม” อย่างยิ่งใหญ่ โดย รฟม. ได้แจกบัตรแมงมุมให้คนทั่วไปเมื่อกลางปี 2561 ซึ่งสามารถใช้ได้แค่กับ MRT สายสีน้ำเงินและม่วง #ไม่ต่างอะไรกับบัตรเติมเงินของMRTที่ใช้อยู่ตอนนั้น พร้อมกับให้ความหวังว่าจะสามารถใช้กับรถไฟฟ้าสายอื่นได้ภายในปี 2562 ที่ผ่านมา

ซึ่งก็อย่างที่เห็นครับ การพยายามบังคับให้คนอื่น “รับบัตรแมงมุมของตัวเอง” ไปใช้แต่ฝั่งเดียว ไม่สามารถทำให้หน่วยงานอื่นยอมเสียเปรียบได้ ลองนึกภาพว่าคนใช้บัตร MRT/บัตรแมงมุม มีไม่ถึง 2.5 ล้านใบ แต่บัตรแรบบิทของ BTS มีถึง 12 ล้านใบ ในทางธุรกิจก็ควรจะต้อง WIN-WIN ฉันรับบัตรเธอ เธอก็ต้องรับบัตรฉันด้วย นั่นจึงทำให้เรื่องต่างๆ ล่าช้ามาตลอดครับ


📍 สุดท้ายก็ยอมให้ทุกระบบรับบัตรข้ามกันได้ (ซะที)

นั่นล่ะครับ ผมถึงรู้สึกว่าข่าวล่าสุดที่บอกว่าจะใช้ตั๋วข้ามกันได้ในเดือนตุลาคมนี้ “มีความเป็นไปได้จริง” มากกว่าข่าวเก่าๆ ในรอบก่อนๆ อย่างน้อยตอนนี้หน่วยงานที่ทำได้แน่นอนก็มี BTS สายสุขุมวิท/สายสีลม และ MRT สายสีน้ำเงิน/สายสีม่วง ก็นับได้ 4 สายแล้ว

ส่วนที่ยังมีปัญหาคือ Airport Rail Link ที่แจ้งว่ามีการประมูลติดตั้งระบบแล้ว แต่ปล่อยให้ผู้รับเหมาทำงานล่าช้าเกินสัญญามา 11 เดือนแล้ว! รอกันต่อไปครับสำหรับสายนี้…


📍 ระบบตั๋วร่วมแบบใช้บัตรเครดิต/เดบิต (EMV)

ก่อนหน้านี้มีคำว่า EMV ปรากฎในข่าวเกี่ยวกับตั๋วร่วม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่องคนละราวกับระบบที่กำลังถกเถียงกันอยู่ครับ เพราะเป็นการขยับไปอีก step นึงเลย คือการไม่มีคำว่าแมงมุม ไม่มีคำว่าแรบบิท แต่เป็นระบบกลางที่ใช้บัตร Visa หรือ Mastercard อะไรก็ได้ที่มีสัญลักษณ์ PayWave มาแตะเข้าประตู แล้วตัดเงินจากบัตรนั้นๆ ได้เลย ซึ่งระบบนี้ ทั้ง BTS และ MRT ก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาครับ 

แต่อย่าลืมนะว่า “ถ้าผู้ให้บริการมีบัตรของตัวเอง ก็จะได้ลูกค้าอยู่ในมือ” มีทั้งเงินสำรองที่ได้จากการเติมเงินของลูกค้า (เป็นหลักประกันว่ายังไงเขาก็ต้องมาใช้บริการ) และยังได้ข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางของลูกค้าด้วย ซึ่งในยุคนี้ของพวกนี้ถือว่ามีค่ามาก การทำระบบ EMV อาจจะทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเติมเงินทิ้งไว้ในบัตรแรบบิท/แมงมุมอีกต่อไป แล้วใครจะยอมเสียประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้ จริงไหมฮะ? ^^’


📍 ใช้บัตรเติมเงินข้ามระบบได้เฉยๆ ส่วนค่าแรกเข้ายังเหมือนเดิม

ความพยายามของโครงการตั๋วร่วม ณ ปัจจุบัน อยู่ที่การ “ลดจำนวนบัตรในกระเป๋า” ด้วยการให้บัตรของผู้ให้บริการเจ้าหนึ่ง ใช้กับระบบของอีกเจ้าหนึ่งได้ แต่ในเรื่องของค่าโดยสารข้ามสายที่หลายๆ คนอยากให้ถูกลง ไม่คิดค่าแรกเข้าหลายรอบ ยังคงอยู่ระหว่างการตกลงกันระหว่างผู้ให้บริการแต่ละราย รวมถึงเจ้าของสัมปทาน เพราะการฟรีค่าแรกเข้าข้ามสาย ต้องมีการจัดการว่าใครจะเป็นคนมารับภาระค่าโดยสารที่หายไป ซึ่งอาจจะกระทบกับสัญญาสัมปทานนั่นเองครับ


สุดท้ายนี้ก็หวังว่าระบบตั๋วร่วมของเราจะเกิดขึ้นจริงๆ แบบดีๆ ซะที ถือซะว่าเดือนตุลาคมนี้ก็เป็นอีก 1 ก้าวที่มีความหวังนะครับ 🙂

ข้อมูลอ้างอิง : สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ไทยรัฐออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจ, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

Related posts
รถไฟฟ้า-คมนาคม

UPDATE สถานะความคืบหน้า!! รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แจกฟรี! แผนที่รถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล แบบชัดคมกริบ รวมทุกสาย! [TH/EN]

รถไฟฟ้า-คมนาคม

แผนที่สถานี "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" พร้อมทางขึ้นลง-จุดเชื่อมต่อ ครบทุกสถานี!

รถไฟฟ้า-คมนาคม

ความคืบหน้าแผนแม่บทรถไฟฟ้า-ระบบราง M-MAP2